Saturday, 26 April 2025
ค้นหา พบ 47684 ที่เกี่ยวข้อง

จเรตำรวจแห่งชาติประชุม ฉก.88 ร่วมกับ 32 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้เห็นผลชัดเจนภายใน 3 เดือน เน้นใช้มาตรการ "ระเบิดสะพานโจร" อย่างเคร่งครัด

วันนี้ (21 เม.ย. 68) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ผอ.ฉก.88) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) ครั้งที่ 1/2568 โดยมีผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 , ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล , ผู้บัญชาการสำนักงบประมาณและการเงิน , ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ , ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) พร้อมด้วย นายบุญช่วย หอมยามเย็น ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย/รอง ผอ.ฉก.88 , นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง/รอง ผอ.ฉก.88 , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท./รอง ผอ.ฉก.88 , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว/ผู้ช่วย ผอ.ฉก.88 , ผู้แทนฝ่ายตำรวจทุกหน่วย และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 32 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์

ตามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 83/2568 เรื่อง การจัดตั้งกลไกอำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งตำรวจ ทหาร ภาครัฐ เอกชน ฝ่ายปกครอง โดยตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะกรรมการ ปชด.) มีศูนย์ปฏิบัติเฉพาะกิจ 4 ศูนย์ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) มี พล.ต.อ.ธัชชัยฯ เป็นผู้อำนวยการฯ ทำหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการค้ามนุษย์ ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมาและประเทศกัมพูชา

ในที่ประชุมได้มีการติดตามสถานการณ์ภาพรวมของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการค้ามนุษย์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ตามพื้นที่แนวชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา และแนวชายแดนที่ติดกับประเทศกัมพูชา และแนวทางการดำเนินการในการป้องกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการค้ามนุษย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยจะไม่ยอมให้กลุ่มคนไทยที่เดินทางไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อถูกจับกุมแล้วอ้างว่าตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม โดยล่าสุดจากปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะฝั่งกัมพูชามีการกวาดล้าง 2 ครั้ง จับกุมคนไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องส่งกลับประเทศรวมจำนวน 175 คน พบว่าทุกคนไม่ใช่เหยื่อการค้ามนุษย์ แต่เป็นคนที่มีส่วนร่วมกับอาชญากรรมข้ามชาติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทุกคน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในไทยใน 4 ข้อหาใหญ่

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมทุกหน่วยงานครั้งแรก โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานเข้าร่วมประชุม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเน้นการใช้มาตรการ "ระเบิดสะพานโจร" อย่างเคร่งครัด ได้แก่ 
1. ป้องกันการลักลอบส่งเสา สาย ซิม โดยการตัดสายเคเบิ้ลผิดกฎหมาย ตัดเสาสัญญาณผิดกฎหมาย ปราบปรามซิมผี วิเคราะห์จุดที่ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์จาก IP address และที่ตั้งทางกายภาพ  
2. ตรวจสอบป้องกันการใช้บัญชีธนาคารและบัญชีคริปโตเคอร์เรนซี โดยตรวจสอบสาขาของธนาคารที่มีการเปิดบัญชีม้าจำนวนมาก การถอนเงินจากธนาคารและตู้กดเงินสดตามแนวชายแดน การลักลอบขนเงินสดข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติและด่านศุลกากร และการวิเคราะห์เส้นทางการเงินจากบัญชีธนาคารและบัญชีคริปโตเคอร์เรนซี
3. ป้องกันการลักลอบเดินทางเข้าออกประเทศไทยของชาวไทยและชาวต่างชาติตามแนวชายแดน เพื่อปิดกันไม่ให้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อเดินทางไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นภัยความมั่นคงของชาติรูปแบบใหม่ เรียกว่า Cyber War ที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยบูรณาการการปฏิบัติร่วมกันทุกหน่วยงาน เชื่อว่าหากทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจกันทำจริง และเด็ดขาดพอ จะทำให้การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์เห็นผลสัมฤทธิ์ภายใน 3 เดือน

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเปิดโครงการ  “เสริมสร้างทักษะดนตรี กีฬา ช่วงปิดภาคการศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ”

(21 เม.ย. 68) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ “เสริมสร้างทักษะดนตรี กีฬา ช่วงปิดภาคการศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ” โดยมี พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล/โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.เศรษฐศักดิ์  ยิ้มเจริญ ผู้บังคับการกองสวัสดิการ (ผบก.สก.) , รอง ผบก.สก. , ข้าราชการตำรวจกองสวัสดิการ และผู้เข้าร่วมโครงการ ร่วมพิธี ณ สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร 

พล.ต.ท.อาชยนฯ กล่าว่า กองสวัสดิการ สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการ "เสริมสร้างทักษะดนตรี กีฬา ช่วงปิดภาคการศึกษาแก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ" ขึ้น ระหว่างวันที่ 21 – 30 เมษายน 2568 เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการตำรวจ และส่งเสริมให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ช่วงปิดภาคการศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 นโยบายข้อที่ 15 สวัสดิการตำรวจ โดยโครงการดังกล่าวจะมีการส่งเสริมทักษะด้านดนตรี 7 ชนิด ประกอบด้วย เปียโน กีตาร์ อูคูเลเล่ ขลุ่ย ขิม ไวโอลิน และขับร้อง ให้แก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ อายุตั้งแต่ 7 - 15 ปี จำนวน 104 คน ณ สโมสรตำรวจ และส่งเสริมทักษะด้านกีฬา 4 ชนิด ประกอบด้วย กรีฑา ฟุตบอล ฟุตซอล และว่ายน้ำ ให้แก่บุตรหลานข้าราชการตำรวจ อายุตั้งแต่ 8 - 15 ปี จำนวน 80 คน ณ สนามกีฬาบุณยะจินดา และสระว่ายน้ำสโมสรตำรวจ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายหลักในการบริหารราชการคือเรื่องการส่งเสริมสวัสดิการตำรวจ ดูแลข้าราชการตำรวจและครอบครัว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญ เพื่อลดปัญหาด้านยาเสพติด มีมาตรการดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน โดยใช้กิจกรรมสันทนาการประเภทต่าง ๆ เป็นสื่อในการเข้าถึงเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดภาคการศึกษา ไม่พึ่งพาอบายมุขและยาเสพติด ด้วยการเรียนดนตรี เล่นกีฬา เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะทางด้านร่างกายและจิตใจ ให้มีน้ำใจนักกีฬา และมีระเบียบวินัย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์สำหรับบุตรหลานข้าราชการตำรวจอย่างเต็มที่

โจมตีจีนคือธุรกิจ แต่ใส่ของจีน!! ชาวเน็ตเหน็บแรงโฆษกสหรัฐฯ ใส่เดรสราคาแพง 'Made in China'

(22 เม.ย. 68) ชาวเน็ตจีนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Sina Weibo และ Xiaohongshu ได้วิพากษ์วิจารณ์หลังมีการเปิดเผยภาพของโฆษกทำเนียบขาว แคโรไลน์ ลีวิตต์ (Karoline Leavitt) ขณะกำลังแถลงข่าวโดยเธอสวมชุดเดรสสีแดงขอบลูกไม้สีดำ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ผลิตในประเทศจีน?”

ประเด็นนี้เริ่มเป็นที่สนใจเมื่อจาง จื้อเซิง กงสุลใหญ่ของจีนประจำเมืองเดนปาซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชุดดังกล่าว โดยระบุว่า “แม้จะกล่าวหาจีนว่าไม่ยุติธรรมด้านการค้า แต่คนในรัฐบาลกลับยังสวมใส่ผลิตภัณฑ์จากจีนเอง” ซึ่งข้อความนี้จุดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์จีน

ขณะที่ ผู้ใช้โซเชียลจำนวนมากแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่า “เป็นเรื่องตลกร้าย” และสะท้อนถึง “ความหน้าไหว้หลังหลอก” ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนมาโดยตลอดในประเด็นสงครามการค้า

ทั้งนี้ ชุดดังกล่าวจะมาจากแบรนด์ Self-Portrait ของอังกฤษ แต่ก็มีรายงานว่าผู้ออกแบบคือ ฮั่น จง (Han Chong) ดีไซเนอร์เชื้อสายจีนจากมาเลเซีย และที่สำคัญคือมีการผลิตในจีน ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตจีนมองว่าเป็น “ความย้อนแย้ง” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มักวิจารณ์จีนเรื่องการค้า ขณะเดียวกันก็ยังใช้สินค้าจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ครูแหม่ม เจ้าของโรงเรียนเลิศคณิต สมาทเซ็นเตอร์ กล่าวถึงกรณีที่มีคนออกมาโจมตี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

(22 เม.ย. 68) นางอุไรวรรณ เอกพันธ์ (ครูแหม่ม) เจ้าของโรงเรียนเลิศคณิต สมาทเซ็นเตอร์ จ.สงขลา โพสต์คลิป Tiktok ผ่านบัญชี lertkanitschool99 ถึงกรณีที่มีคนออกมาโจมตีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในระยะหลังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นเห็นด้วยกับเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดคนที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างคุณพีระพันธุ์จึงมีคนโจมตีและเกลียดชัง

โดยระบุว่า ทําไมจึงเกลียดชังและโกรธคนดี อย่างท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทั้ง ๆ ที่ท่านก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และท่านก็ทําหน้าที่ของท่านอย่างเต็มที่ โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ แต่พอทำไม่ถูกใจ ก็ถูกมองว่าทำผิดไปหมด

ทั้งที่ตลอดเวลากว่า 50 ปี การแก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไม่มีใครทําเลย และหากไม่มีคุณพีระพันธุ์ จะมีใครทำ อีกทั้ง ประโยชน์ที่จะได้จากความสําเร็จของการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน จะมีมหาศาลขนาดไหน เพราะคนไทยทุกวันนี้ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่แพงขึ้นทุกวันทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส และค่าน้ำมัน เรียกได้ว่าเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า กระทั่งท่านพีระพันธุ์ ได้เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ช่วยให้ประชาชนจ่ายน้อยลงไปเยอะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ครูแหม่ม ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดกรณีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จึงถูกหยิบยกมาโจมตีเฉพาะคุณพีระพันธุ์คนเดียวเท่านั้น ทั้งที่ยังมีกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่กลับไม่ถูกโจมตี ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า คนที่ออกมาโจมตีนั้นกำลังพุ่งเป้าโจมตีและทำให้คนจงเกลียดจงชังคุณพีระพันธุ์ ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงพลังงานคนเดียวเท่านั้น ในส่วนนี้คนที่ออกมาโจมตีนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ว่า การกระทำเช่นนั้นหวังผลอะไรกันแน่

เมื่อ ‘เวลา’ กลายเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก่อเกิดเมล็ดพันธุ์แห่งน้ำใจที่มนุษย์จะมอบให้แก่กัน

ในโลกยุคที่ผู้คนต่างเร่งรีบแข่งขันกันกับเวลา 'เวลา' กลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่มักไม่มีใครเหลือให้กันมากนัก แต่ในประเทศเล็ก ๆ กลางเทือกเขาแอลป์อย่างสวิตเซอร์แลนด์ กลับมีแนวคิดหนึ่งที่เปลี่ยนความหมายของคำว่า 'เวลา' ไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ 'ธนาคารเวลา' ครับ 

ธนาคารเวลา ไม่ใช่สถานที่ที่เก็บเงินทอง หรือดอกเบี้ยทางการเงิน แต่เป็นระบบที่ให้ผู้คน "ฝากเวลาแห่งการช่วยเหลือ" เอาไว้ แล้วถอนคืนมาใช้เมื่อถึงวันที่ตนเองต้องการความช่วยเหลือ แนวคิดเรียบง่ายนี้กลับมีพลังมหาศาลครับ เพราะมันทำให้เราเห็นว่า แม้ไม่มีเงินทอง เราก็สามารถดูแลกันและกันได้ด้วยความตั้งใจและการลงมือทำ

เรื่องราวของชายชราคนหนึ่งในเมือง St. Gallen สร้างความประทับใจให้คนทั้งประเทศ หลังเกษียณ เขาใช้เวลาว่างไปช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน พาไปหาหมอ ทำอาหารให้ หรือแค่นั่งฟังพวกเขาเล่าเรื่องชีวิตเก่า ๆ เขาบันทึกทุกชั่วโมงแห่งความเมตตานั้นไว้ในระบบธนาคารเวลา  

หลายปีผ่านไป เขาเองก็เริ่มอ่อนแรง เดินไม่ไหวเหมือนเดิม และนั่นคือวันที่ 'เวลา' ที่เขาเคยมอบให้ผู้อื่น กลับมาดูแลเขาในแบบเดียวกัน เด็กหนุ่มสาวในวัย 20 กว่ามาหาเขาทุกเย็น ช่วยทำอาหาร นั่งคุย และพาไปเดินเล่นริมทะเลสาบ แม้จะไม่ใช่ลูกหลานแท้ ๆ แต่เขาก็ได้กล่าวไว้ว่า “หัวใจฉันอบอุ่นกว่าเดิมทุกครั้งที่เขามาเยี่ยม เหมือนฉันไม่เคยแก่เกินไปสำหรับใครเลย”

ธนาคารเวลาไม่เพียงแค่เป็นระบบการแลกเปลี่ยนบริการ แต่เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ของน้ำใจ ความห่วงใย และการไม่ทอดทิ้งกันในสังคม มันทำให้เรารู้ว่า แม้วันหนึ่งเราจะอ่อนแอ แต่สิ่งที่เราเคยหยิบยื่นให้คนอื่น จะย้อนกลับมาดูแลเราในวันที่เราต้องการมากที่สุด

และบางที ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อาจไม่ใช่เงินทอง หรือทรัพย์สมบัติใด ๆ แต่อาจเป็นเพียงสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดอย่าง "หนึ่งชั่วโมงแห่งน้ำใจ" ที่เรามอบให้กันเท่านั้น

หากจะอธิบายระบบการทำงานให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ 'ธนาคารเวลา' (Time Bank) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากครับ แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนบริการโดยใช้ 'เวลา' เป็นสกุลเงินแทนเงินตรา และแนวคิดนี้มีการนำมาใช้จริงในหลายๆพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือการดูแลซึ่งกันและกันในสังคม

หลักการและแนวคิดของธนาคารเวลาในสวิตเซอร์แลนด์นั้นแสนจะเรียบง่ายดังนี้ครับ 

1. การแลกเปลี่ยนบริการด้วยเวลา
ผู้คนจะ 'ฝากเวลา' โดยให้บริการกับผู้อื่น เช่น ดูแลผู้สูงอายุ, ช่วยทำความสะอาดบ้าน, สอนภาษา ฯลฯ และจะได้รับ 'เครดิตเวลา' ที่สามารถนำไปใช้ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในอนาคต

2. ส่งเสริมสังคมแห่งการดูแล
แนวคิดนี้ถูกใช้ในโครงการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้คนวัยเกษียณมีคุณค่าและรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม ขณะเดียวกันยังได้รับการดูแลเมื่อพวกเขาต้องการในภายหลัง

3. ดำเนินการโดยองค์กรหรือภาครัฐ
ในบางเขต เช่น เมือง St. Gallen รัฐบาลท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งระบบธนาคารเวลานี้ โดยใช้ระบบบันทึกชั่วโมงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

4. ไม่มีการวัดมูลค่าตามทักษะ
ทุกคนมีค่าเท่ากันในแง่เวลา นั่นหมายความว่า 1 ชั่วโมงของการทำสวน = 1 ชั่วโมงของการช่วยสอนหนังสือ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปสิ่งที่ธนาคารเวลาได้มอบให้กับผู้คนก็คือ
- สร้างความสัมพันธ์ในชุมชน
- สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
- ลดภาระของรัฐในด้านสวัสดิการ
- ส่งเสริมความเท่าเทียม

ในท้ายที่สุด ธนาคารเวลาอาจไม่ได้เปลี่ยนโลกทั้งใบในชั่วข้ามคืนครับ แต่สิ่งที่มันทำได้คือการเปลี่ยน 'หัวใจของผู้คน' ให้กลับมาเห็นค่าของกันและกันอีกครั้ง มันเตือนเราว่า บางครั้งสิ่งที่คนเราต้องการไม่ใช่เงิน หรือสิ่งของราคาแพง หากแต่เป็น "เวลา" เวลาที่เราตั้งใจมอบให้กันด้วยความเข้าใจและเมตตา และหากสังคมของเรามีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น มนุษย์เราอาจจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วว่าผู้คนอาจไม่ต้องการสิ่งใดมากไปกว่า หนึ่งชั่วโมงแห่งความห่วงใย ที่ไม่มีดอกเบี้ยใดๆแต่เต็มไปด้วยความหมายและความเอื้ออาทรที่มนุษย์เรามอบให้กันในวันที่อีกฝ่ายต้องการมากที่สุด 

เท่านี้ก็พอครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top