การรุกตรุษญวน (Tet Offensive) เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามเวียตนาม เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 1968 โดยกองกำลังเวียตกง (VC) และกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) กับกองกำลังเวียตนามใต้ สหรัฐอเมริกา และพันธมิตร เป็นการรบแบบการจู่โจมต่อที่ตั้งของกองบัญชาการทหารและพลเรือน ตลอดจนศูนย์ควบคุมและสั่งการทั่วประเทศเวียตนามใต้ การรุกนี้ได้ชื่อจากวันหยุดตรุษญวน (Tết) ด้วยกำลังผสมของกองกำลังเวียตกงและกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือประมาณ 5 แสนนาย เปิดฉากการบุกโจมตีพร้อมกันหลาย ๆ จุดในหลาย ๆ เมืองของเวียตนามใต้ จนเป็นการสู้รบที่ดุเดือดต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 1968
ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้มีการตระเตรียมกำลังพลถึง 1 ใน 3 (กว่าสี่แสนนาย) ของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และระดมกำลังพลของเวียตกงอีกประมาณ 70,000 คน โดยผู้บัญชาการทหารของฝ่ายเวียตนามเหนือ พลเอกโวเหงียนเกี๊ยบได้เลือกเอาวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ในปฏิทินจันทรคติของชาวเวียตนามเป็นการเปิดฉากจู่โจมในครั้งดังกล่าว โดยพลเอกเกี๊ยบได้วาดหวังผลทางยุทธศาสตร์เอาไว้ว่า การบุกจู่โจมดังกล่าวจะสามารถพิชิตกองทัพของฝ่ายเวียตนามใต้ (ARVN : Army of the Republic of Vietnam) ลงได้ ทั้งยังจะสามารถสร้างความวุ่นวายและปลุกปั่นกระแสต่อต้านรัฐบาลเวียตนามใต้ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังต้องการที่จะกระตุ้นตอกย้ำรอยร้าวของความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างรัฐบาลเวียตนามใต้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ หาทางเจรจาและต้องถอนกำลังทหารออกไปจากเวียตนามใต้
ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทำการโจมตีเป็นระลอกในกลางดึกของวันที่ 30 มกราคมในเขตยุทธวิธีที่ 1 และที่ 2 ของกองทัพเวียตนามใต้ การโจมตีช่วงแรกนี้ไม่นำไปสู่มาตรการป้องกันอย่างกว้างขวาง เมื่อปฏิบัติการหลักของคอมมิวนิสต์เริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้น การรุกก็ลามไปทั่วประเทศและมีการประสานงานอย่างดี จนสุดท้ายมีกำลังคอมมิวนิสต์กว่า 80,000 นายเปิดฉากโจมตีเมืองต่าง ๆ กว่า 100 แห่ง ซึ่งรวมเมืองหลักของ 36 จาก 44 จังหวัด เขตปกครองตนเอง 5 จาก 6 แห่ง เมืองรอง 72 จาก 245 แห่ง และกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียตนามใต้ ในเวลานั้น การโจมตีครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารใหญ่ที่สุดของทั้งสองฝ่าย การโจมตีในระยะแรกทำให้กองทัพสหรัฐฯ และเวียตนามใต้สับสนจนเสียการควบคุมในหลายเมือไปชั่วคราว แต่ที่สุดก็สามารถจัดกำลังใหม่จนสามารถต่อต้านการโจมตีและตีโต้จนฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยกลับไป
แผนการบุกจู่โจมของฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มขึ้นตรงตามที่ได้มีการวางวางแผนไว้ ในกรุงไซง่อนซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียตนาม ที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลเวียตนามใต้ เช่น สถานทูตสหรัฐฯ ถูกก่อวินาศกรรมโดยหน่วยกล้าตายเวียตกงประมาณ 19 นาย หน่วยจู่โจมดังกล่าวปะทะกับทหารเวียตนามใต้และสหรัฐฯ และสามารถยึดที่มั่นสำคัญของฝ่ายเวียตนามใต้แห่งนี้ได้นานถึง 6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายเวียตนามใต้และสหรัฐฯ จนเสียชีวิตหมด หน่วยกล้าตายเวียตกงอีกหน่วยสามารถบุกไปยังทำเนียบประธานาธิบดี สถานีวิทยุ ศูนย์กลางกองทัพเรือ กองพลทหารพลร่ม ศูนย์กลางตำรวจ รวมถึงคลังน้ำมันที่ 4, 5. 6, 7, 8 ในกรุงไซง่อน ความสำเร็จในการบุกจู่โจมกรุงไซง่อนของเวียตกงได้แสดงให้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของสงครามว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอย่างที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ เคยบอกตลอดมา นอกจากนี้ความจริงดังกล่าวยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของทหารอเมริกัน ในวันเดียวกันของการเริ่มปฏิบัติการที่เมืองเว้ ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถบุกยึดเมืองดังกล่าวได้สำเร็จ และปล่อยนักโทษที่ถูกฝ่ายตรงข้ามคุมขังให้เป็นอิสระได้ถึง 2,000 คน
ในกรุงไซง่อนการขับไล่กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ของทหารเวียตนามใต้และอเมริกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก หน่วยจู่โจมฝ่ายคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่ทั่วกรุงไซง่อนมาหลายสัปดาห์แล้ว อาศัยเสบียงที่พอจะประทังชีวิตได้ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ กองทัพอเมริกันได้โต้กลับด้วยวิธีการที่รุนแรงด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่เข้าทำลายพื้นที่ทั้งหมดในทั้งกรุงไซง่อนและพื้นที่อื่น ๆ ที่มีกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ ระหว่างยุทธการที่เมืองเว้มีการสู้รบอย่างดุเดือดกินเวลาถึงหนึ่งเดือน ทำให้กองกำลังสหรัฐต้องทำลายเมืองเว้จนเสียหายอย่างหนัก และระหว่างการยึดครองเมืองเว้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้ประหารชีวิตประชาชนหลายพันคน (เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เมืองเว้)
ขณะเดียวกัน ยังมีการสู้รบบริเวณรอบ ๆ ฐานทัพสหรัฐฯ ที่เคซานต่อมาอีกสองเดือน แม้ว่าปฏิบัติการจู่โจมดังกล่าวจะไม่ได้ประสบกับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องสูญเสียกำลังพลมหาศาล และถือเป็นความพ่ายแพ้ทางทหารสำหรับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่กลับสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะทำให้สาธารณชนชาวอเมริกันต้องตกตะลึงจากความเชื่อซึ่งถูกผู้นำทางการเมืองและการทหารบอกว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังปราชัย และไม่สามารถดำเนินความพยายามขนาดมโหฬารเช่นนี้ได้ การสนับสนุนสงครามของสาธารณชนชาวอเมริกันจึงลดลงเรื่อย ๆ และในที่สุดสหรัฐฯ ต้องแสวงหาการเจรจาเพื่อยุติสงคราม
การรุกในวันตรุษญวนทำให้ทหารของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และเวียตกง (VC) เสียชีวิตกว่า 1 แสนนาย ทหารของกองทัพสหรัฐฯ เวียตนามใต้ และพันธมิตรเสียชีวิตกว่า 10,000 นาย เหตุการณ์นี้กองกำลังทหารไทยในเวียตนามใต้ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบด้วย แม้ว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่การรุกในวันตรุษญวนส่งผลในทางจิตวิทยาเป็นอย่างมาก โดยเป็นการแสดงศักยภาพด้านการทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นการจุดกระแสต่อต้านสงครามเวียตนามในสหรัฐฯ จนติด และนำไปสู่การถอนทหารสหรัฐฯ จากเวียตนามใต้ และที่สุดนำไปการล่มสลายของเวียตนามใต้ (สาธารณรัฐเวียตนาม) ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1975
หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’