Thursday, 15 May 2025
ค้นหา พบ 48112 ที่เกี่ยวข้อง

เชียงใหม่-กิจกรรมหน่วยมิตรประชากองบิน 41 ครั้งที่ 1/68 โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นาวาอากาศเอก ปรธร จีนะวัฒน์ ผู้บังคับการกองบิน 41 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมหน่วยมิตรประชากองบิน 41 ครั้งที่ 1/68 โดยมี ดร.โรจนไชย์ สมจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 พร้อมด้วยผู้นำชุมชน คณะครู และผู้ปกครอง ให้การต้อนรับ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองบิน 41 ข้าราชการ และสมาชิกชมรมแม่บ้านทหารอากาศกองบิน 41 ร่วมกิจกรรม ณ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ภายในกิจกรรม ผู้บังคับการกองบิน 41 ได้มอบทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวัน ถุงยังชีพ และผ้าห่มกันหนาว ให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 และผู้ปกครองที่มาร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้คณะหน่วยมิตรประชากองบิน 41 ได้ให้บริการ ด้านการแพทย์ตรวจรักษา ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ จากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลกองบิน 41 และบริการตัดผม โดยแผนกสวัสดิการกองบิน 41 พร้อมทั้งได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ขนมโดนัทรวมถึงน้ำผลไม้อีกด้วย

ทีมThink Tank 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' เผยแนวทางขับเคลื่อนโครงการโลว์คาร์บอน ไทยแลนด์เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าพัฒนาป่าชุมชนสู่ป่าคาร์บอนเพิ่มรายได้ชุมชนทุกภาค 1.1 หมื่นแห่ง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยวันนี้หลังจากเป็นประธานการประชุมที่ปรึกษาของรมว.ทส. ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆจากทุกภาคส่วนทำหน้าที่เสมือนคลังสมอง(Think Tank)เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางนโยบายรวมทั้งโครงการต่างๆภายใต้ภารกิจของกระทรวง ทส.โดยได้มีการประชุมหารือภารกิจหลัก 6 ด้าน
1.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2.ด้านทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
3.ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขยะ และมลพิษ 
4. ด้านยุทธศาสตร์ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเมกะโปรเจค
5.ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
6.ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอใหม่ๆที่น่าสนใจหลายประเด็นเช่น
การขยายความร่วมมือกับองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ(FAO)ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก องค์การยูเนสโกธนาคารโลกและ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)ทางด้านการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)เช่นปัญหาความมั่นคงอาหาร ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งประเด็นBlue BondและGreen Bond นอกจากนี้ยังมีการหารือแนวทางการพัฒนาป่าชุมชน(Community Forest) สู่ป่าคาร์บอน(Carbon Forest)เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกว่า1.1หมื่นแห่งทุกภาคทั่วประเทศให้เป็นแหล่งอาหารชุมชน (Community Food Bank) แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Bank)แหล่งคาร์บอน (Carbon Bank) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecological Tourism)โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการใหม่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในพื้นที่ด้วยโมเดล3หุ้นส่วน ( 3‘P : Public-Private-People Partnership model) ซึ่งถอดบทเรียนจากโครงการสระบุรี แซนด์บ็อก รวมทั้งข้อเสนอโครงการ โลว์คาร์บอน ไทยแลนด์ (Low Carbon  Thailand)ประกอบด้วยโครงการย่อยเชิงโครงสร้างเช่น โลว์คาร์บอน ซิตี้ โลว์คาร์บอน แคมปัส โลว์คาร์บอน อินดัสตรีฯลฯ

“ที่ประชุมยังหารือแนวทางนโยบายการแก้ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาPM2.5 ปัญหาขยะ การพัฒนาระบบน้ำในระดับประเทศระดับภาคและEEC การพัฒนาระบบน้ำใต้ดินการลดคาร์บอนด้วยพลังงานทดแทนเช่นโซล่าเซลล์และพลังงานลม  การแก้ปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร การสร้างระบบเตือนภัยความร้อน (Heat Sensor) และการพัฒนาระบบความเย็นในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ การสร้างเมืองน่าอยู่ (Liveable City) และแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนสถานภาพและการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครในสังกัดกระทรวง ทส.ที่มีอยู่เกือบ3แสนคนเป็นต้น โดยจะนำเสนอต่อรัฐมนตรี ทส.เพื่อพิจารณาต่อไป“ นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีที่ปรึกษาที่เข้าร่วมประชุมแบบอินไซท์และออนไลน์ได้แก่ ศจ.ดร.ดุสิต เครืองาม ,รศ.ดร. ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา ,ดร.ประกอบ รัตนพันธ์ ,พล.ร.อ.ดร.สมัย ใจอินทร์ ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา,นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท,นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์,พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์,ร.ต.ปรพล อดีเรกสาร,พล.อ.รักเกียรติ พันธุ์ชาติ,ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร,นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร,นายภานุ สุขวัลลิ ฯลฯ

'พิชัย' โชว์วิชั่นบนเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ดึงดูดการค้า-ลงทุน ให้ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ต่อเนื่อง ย้ำไทยพร้อมเป็นฮับการผลิต PCB - Data Center - AI - ยานยนต์ยุคใหม่ ของอาเซียน

(20 ธ.ค.67) เวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวเปิดงาน 'ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024' ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองและแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมี Mr. Nguyen Hong Dien (นายเหงียน ห่ง เตี้ยน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เลขาธิการอาเซียน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(JCCI) ผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมงานกว่า 300 ราย

นายพิชัยกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างต่อเนื่อง เรามีรัฐประหารในปี 2014 การลงทุนจากต่างชาติลดลงต่อเนื่อง แต่เมื่อเรากลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งการลงทุนก็กลับมา วันนี้เราอยากเห็นญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทยเป็นเบอร์หนึ่งของไทยต่อไป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ PCB เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ยานยนต์ยุคใหม่ และพลังงานสะอาด 

ไทยมีความพร้อมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ ยานยนต์ยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังพร้อมเป็นฮับ PCB ของภูมิภาคด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ UAE ในการทำ Intelligence center และร่วมกับบริษัท  Microsoft และ Google สร้างการลงทุนขนาดใหญ่  พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของ Data Center ของอาเซียน 

“วันนี้ขอต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติที่ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาและการรับมือต่อความท้าทายด้าน AI ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ระบุเพิ่มเติมว่า อาเซียนและญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกัน จึงได้จัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทายทางสังคมระหว่างกัน โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไประหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการร่วมสร้างสรรค์ต่อนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งสองแผนดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 31 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2568 อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยานยนต์ยุคใหม่ รวมถึงการนำดิจิทัลและ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นในทศวรรษต่อไป

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 241,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน เป็นมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,594ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 31,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

'เผ่าภูมิ' นำ EXIM บุกแดนจิงโจ้ ถก CEO Standard Chartered และ EFA เชื่อมกลไกการเงินผลักลงทุน 2 ประเทศ หนุนกระบะไทยในออสฯ

(20 ธ.ค.67)ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากที่ได้นำคณะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หารือกับนาย John Hopkins กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรการส่งออกแห่งประเทศออสเตรเลีย (Export Finance Australia (EFA)) และนาย Jacob Berman ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร Standard Chartered Australia ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ว่า

การหารือกับทั้งสององค์กรได้เน้นถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับ EXIM BANK ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือในรูปแบบ Co-financing และ Blended finance เชื่อมกลไกทางการเงินเพื่อเพิ่มช่องทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน โดยการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจหรือโครงการต่างๆ การแสวงหาโอกาสการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructure)  ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะตลาดรถกระบะซึ่งออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ธุรกิจด้านการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงในรูปแบบ Joint Program นอกจากนั้นยังหารือแนวทางในการให้ไทยเป็นช่องทางเปิดรับการลงทุนของกองทุนบำนาญของออสเตรเลียในอนาคต

นอกจากนั้นยังได้หารือถึงการใช้กลไกทางการเงินของทั้งสองฝ่ายสนับสนุน Digital Asset ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงภายใต้การนำของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และยังหารือถึงช่องทางการนำผู้ประกอบการไทยเข้าลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดอุปทานของที่อยู่อาศัย

พร้อมนี้ยังได้เชิญชวนสถาบันการเงินออสเตรเลียเข้ามาลงทุนใน Financial Hub ของไทยซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในต้นปีหน้า

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมชาวบ้านได้ใช้ไฟราคาถูก

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

จากการลงพื้นที่ภาคใต้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ได้เปิดเผยถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนอีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือ การแปลงพลังงานน้ำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอกระแสน้ำไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนแล้ว ความแรงของกระแสน้ำยังสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของครัวเรือน และยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรได้ด้วย

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า จากการไปตรวจเยี่ยมและพบปะประชาชนครั้งนี้ ตนเห็นว่าในบางพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากและไหลแรงสามารถนำกระแสน้ำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีต้นทุนถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติหลายเท่า โดยตนได้มอบหมายให้ทางพลังงานจังหวัดศึกษาข้อมูลรายละเอียดและประสานงานกับส่วนกลางเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป 

“จากการที่ผมได้ไปตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ บ้านห้วยน้ำเน่า อ.สิชล ผมก็ได้แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกวิธีหนึ่ง พื้นที่ตรงนั้นมีปริมาณน้ำเยอะและไหลแรง แต่ผมไม่ได้เห็นเป็นแค่น้ำ ผมเห็นเป็นไฟฟ้า ผมเลยคิดว่าตรงนี้น่าจะทำเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กให้ชาวบ้าน ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำเวลาถึงฤดูน้ำหลาก และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ขณะเดียวกัน แรงของน้ำที่ไหลผ่านยังสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างน้อย 2 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 400 ครัวเรือน และจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเพราะผลิตจากก๊าซ ขณะที่ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ที่ประมาณ 1 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ผมกำลังให้กระทรวงพลังงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดทำเป็นโครงการต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกแนวทางหนึ่ง” นายพีระพันธุ์กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top