Saturday, 17 May 2025
ค้นหา พบ 48168 ที่เกี่ยวข้อง

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ

วันนี้ เมื่อ 107 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘สถานีรถไฟหัวลำโพง’

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง ตามชื่อคลองและฝูงวัววิ่งกันอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียกว่า ‘ทุ่งวัวลำพอง’ และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น ‘หัวลำโพง’ ในภายหลัง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ‘ต้นลำโพง’ ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้ 

สถานีรถไฟหัวลำโพงเริ่มก่อสร้างในปี 2453 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะเรอเนซองซ์ มีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟฟรังค์ฟูร์ท ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามานโญ มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ 

ด้านหน้ามี ‘อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร’  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีหัวลำโพงมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูปช้างสามเศียร มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน

ภายในประดับด้วยหินอ่อน เพดานมีการสลักลายนูนต่าง ๆ จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตรซึ่งสั่งทำเป็นพิเศษ ติดตั้งอยู่อย่างกลมกลืน นับเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุด เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย รองรับรถไฟประมาณ 200 ขบวนต่อวัน จากรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ ก่อนจะรถไฟทางไกล สายเหนือ อีสาน และใต้ จะเปลี่ยนไปให้บริการที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา
 

‘ดร.อานนท์’ รวบรวมเสียงสะท้อน จากนักเรียนเตรียมพัฒน์ ถึงพฤติกรรมของ ‘หยก’

วันที่ 23 มิ.ย.2566 - ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีน้องหยก ธนลภย์ อายุ 15 ปีว่า ผมให้น้องศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการลงไปถามน้องนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 และชั้นอื่น ทั้งที่เรียนห้องเดียวกันกับหยกและต่างห้อง น้องๆ ได้แสดงความคิดเห็นมาดังนี้ ลองฟังเสียงจากน้องๆ เตรียมพัฒน์กันนะครับ ผมว่าน่าสนใจมากครับ
ความเห็นน้องๆในโรงเรียน

-เอือมระอากับพฤติกรรมของน้อง และกลุ่มที่อยู่หน้าโรงเรียน
-เพื่อนๆในห้องไม่คุยกับหยก
-บรรยากาศการเรียนการสอน อาจารย์จะตักเตือน ตำหนิ เพราะน้องทำผิดกฎโรงเรียน มันทำให้นักเรียนคนอื่นเสียเวลาเรียน
เพื่อนในห้องจะรู้สึกว่าทำไมต้องมาเสียเวลากับคนแบบนี้
-เพื่อนๆในห้องแยกโต๊ะหยกออกไปนั่งแยกคนเดียว
-มีคนเตือนหยกแต่หยกไม่ฟัง
-ทำให้เดือดร้อนกับคนที่เดินเข้ามาในโรงเรียน นักเรียนบางคนรู้สึกกลัว หวาดระแวงกับบุคคลที่อยู่หน้าโรงเรียน
-นักเรียนหลายคนรู้สึกไม่โอเคกับการที่มีนักข่าวมารอหน้าโรงเรียนเต็มไปหมด
-พ่อแม่หลายคนเป็นห่วงลูกระหว่างการเดินเข้า-ออกภายในโรงเรียน
-อยากให้โรงเรียนtake action
-รู้สึกไม่พอใจที่มาเหยียดหยามยาม ครู และบุคลากรในโรงเรียน
-เรามีสิทธิที่เราจะแสดงออก มีความคิดที่แปลกใหม่ในปัจจุบัน เรามีสิทธิที่จะผลักดันทุกเรื่องให้เกิดขึ้นได้แต่ ในการผลักดันนั้น มันจะต้องมองทุกๆคนในสังคมการที่คนรุ่นใหม่บางคนมองว่าคนรุ่นเก่ามีความคิดที่โบราณ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เขาลืมคิดไปคือแล้วคนโบราณเหล่านั้นไม่ใช่คนที่อยู่ในประเทศไทยหรอ? ไม่ใช่คนที่มีสิทธิเหมือนกับพวกคุณหรอ เด็กรุ่นใหม่บางคนยังไม่ตรรหนักพอที่จะปรับเปลี่ยนได้ คนรุ่นใหม่ยังคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนึงเราควรจะมองทุกคนในสังคมว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเขาก็ยังมีชีวืตอยู่ มีสิทธิมีเสียงเหมือนกัน
-การยกเลิกเครื่องแต่งกาย ยกเลิกทรงผม ความคิดส่วนตัวผม ผมเห็นด้วยนะ แต่มันจะต้องมาในกระบวนการที่ถูกต้อง ถูกจุดของมัน นี่มันถึงจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ รู้สึกว่าน้องหยกทำแบบนี้มันกลายเป็นว่าจากเดิมมันเหมือนจะดี กลายเป็นส่งผลเสียให้กับโรงเรียน จนมันลามไปเรื่อยๆ ไม่สามารถหยุดคนพวกนี้ได้แล้ว ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยหยุดเหตุการณ์พวกนี้ได้อย่างไร ฝากความหวังไว้กับโรงเรียน
-ตัวแทนนักเรียนบอกจะมีกิจกรรมคอนเสิร์ตในโรงเรียน ตั้งใจประสานงานกับทางโรงเรียนและผู้จัด เพื่อให้กระทบตารางเรียนน้อยที่สุด เตรียมจัดคอนเสริ์ตมานาน แต่ไมได้จัดเพราะมีเหตุการณ์แบบนี้ กลัวว่าในอนาคตงานปัจฉิมนิเทศ หรืองานกิจกรรมต่างๆถ้าเกิดจะเชิญศิลปินมา หรือขอสปอนเซอร์จากบริษัทต่างๆ เขาจะมาร่วมกับเราไหม ในเมื่อโรงเรียนเกิดข่าวเสียหายแบบนี้ จากกลุ่มคนพวกนี้

‘อนุรัตน์’ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เร่งแก้ปัญหาถนนชำรุด กระทบการขนส่งพืชผล ของเกษตรกร

นายอนุรัตน์ ตันบรรจง ส.ส.เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จ.พะเยา กล่าวภายหลังการรายงานตัวรับรองเป็น ส.ส.ว่า ตนจะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาอย่างยาวนานให้พี่น้องประชาชน เช่น ปัญหาถนนชำรุด ปัญหาการเกษตร ในจังหวัดพะเยาเป็นพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าว รวมถึงผลไม้ต่างๆ เช่น มะม่วง ลำไย และลิ้นจี่ แต่ถนนเพื่อการเกษตรยังขาดการดูแล ทำให้การขนส่งพืชผลมีภาระต้นทุนสูงขึ้น เพราะว่าถนนนั้นยังชำรุดอยู่ หรือทางเข้าออกยากลำบาก การจะนำพืชผลทางการเกษตรออกมาขายได้ต้องใช้เวลานาน จึงทำให้เกิดการเสียหาย 

นายอนุรัตน์ กล่าวต่อถึงเรื่องของบุคลากรอย่าง อสม.ว่า อสม.เป็นหน่วยงานที่ส่งสริมเรื่องของสุขภาพ ที่ผ่านมา อสม.ถือเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง แต่ตอนนี้ยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อที่จะเข้าไปดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในตำบอล ในหมู่บ้าน ตนจึงอยากจะผลักดันเรื่องของเงินเดือนของ อสม.ให้มีเงินเดือนสูงขึ้น อสม.เป็นจิตอาสา ทำงานอย่างหนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนที่ยังไม่คุ้มค่ากับการลงแรงทำงาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ ที่มี อปพร.กับ ตำรวจบ้าน ทำงานร่วมกันแต่ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนเช่นกัน

นายอนุรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนยังมองถึงแผนงานที่จะเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านได้ ก็คือส่งเสริมอาชีพพื้นบ้าน เช่น สินค้าหัตถกรรม โดยเป็นสินค้าที่ทางชุมชนเราผลิตหรือสร้างเอง และนำออกไปขายได้ อย่างเช่น กว๊านพะเยา เป็นแหล่งน้ำที่จะมีผักตบชวา ชาวบ้านจะนำผักตบชวามาตากแห้ง เพื่อเอามาทำเป็นงานจักสานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็จะสามารถสร้างรายได้ 

"อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากในพื้นที่จังหวัดพะเยา คือ เรื่องของแหล่งน้ำ เพราะในช่วงฝนตกหนักจะไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ ดังนั้น เราจะต้องเร่งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเขื่อนหรือฝาย หรืออ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำ เพราะปัจจุบันอ่างเก็บน้ำมีจำนวนน้อย ดังนั้นเวลาฝนตกลงมาก็จะมีปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ"นายอนุรัตน์ กล่าว

‘OMD2–DITP’ จัดสัมมนายกระดับการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย สู่เวทีการค้าในตลาดโลก

เมื่อไม่นานนี้ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดสัมมนาการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “เปิดประตูสู่โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก” (The Key to Connext) ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ส่งออกไทยด้วยข้อมูลการค้าตลาดภูมิภาคอเมริกา ลาตินอเมริกา ยุโรป CIS แอฟริกา และตะวันออกกลาง จัดโดย สำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 หรือ สพต.2 หรือ ‘OMD2’ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งเป็นการสัมมนาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถ่ายทอดผ่านระบบโปรแกรมผ่านระบบ ZOOM Application โดย ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย และผลักดันการขยายการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดโลก
.
โดยครั้งที่ 1 เป็นการสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้ อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศในเรื่องการใช้ข้อมูลการค้า แนวโน้มตลาด มุมมองเศรษฐกิจ กลุ่มสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว พฤติกรรมผู้บริโภค ในปี 2023 แนวโน้มการค้าโลก การแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามระดับต่างๆ เทคนิคการเจาะตลาด การเลือกตลาดให้เหมาะสมกับสินค้า โอกาสในการเจรจาการค้าในยุค Digital ทั้งเทคนิค ขั้นตอน วิธีการที่สำคัญในการเตรียมตัวสู่การเจรจาการค้าออนไลน์ รวมทั้งแนะนำสำนักงานส่งเสริมการค้าของไทยในต่างประเทศทั้ง 58 แห่ง ที่คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวก แนะนำข้อมูลการค้าต่างๆ พร้อมทั้งเสริมสร้างโอกาสทางการค้า ผ่านกิจกรรมต่างๆ

ครั้งที่ 2 เป็นการแนะนำการเสนอเรื่องราวของสินค้าอย่างไรให้ตรงใจผู้บริโภค การปรับแต่งเรื่องเล่าสำหรับตลาดต่างๆ การสร้างโอกาสผ่านการเล่าเรื่อง การค้นหาจุดเด่น บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องคำนึงถึงอะไร กลยุทธ์การตลาดกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก เลือกวิธีการสื่อสาร ไปจนถึงการนำเสนอรูปแบบสินค้า เทคนิคต่างๆ รวมทั้งการติดตามผลการเจรจาการค้าหรือกลยุทธ์อื่นๆ ที่เหมาะสม โดยวิทยากรที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ในวงการธุรกิจเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน

นอกจากจะยกระดับผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลหรือกิจกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของ สพต. 2 หรือ OMD2 สำหรับผู้ที่สนใจการสัมมนาหรือกิจกรรมที่จะช่วยยกพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศในด้านต่างๆ สามารถติดตามข่าวสาร และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

11 ศิลปินแห่งชาติ ปลุกพลังสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์แก่ต้นกล้าวรรณกรรม โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น 7

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบงานเขียน อาทิ  เรื่องสั้นนวนิยาย กวีนิพนธ์  และสารคดี   สัมผัสประสบการณ์ เทคนิควิธี สร้างสรรค์งาน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น 7 จำนวน 65 คน ณ หออัครศิลปิน จังหวัดปทุมธานี
 
วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 น. นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ฯ เปิดเผยว่า การจัดการฝึกอบรม ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น 7 ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ  ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และงดการจัดกิจกรรมไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายหลังจากที่สถานการณ์ของโรคระบาดคลี่คลายลง  สวธ.จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นอีกครั้งด้วยเห็นว่ากิจกรรมการฝึกอบรมลายลักษณ์วรรณศิลป์ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการสืบทอดรักษามรดกภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และยังเป็นประโยชน์ต่อ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้ที่ต้องการจะเป็นนักเขียนในอนาคต ให้มีโอกาสได้เสริมสร้างประสบการณ์ ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ  ฝึกฝนลีลาในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์  พัฒนาทักษะกระบวนการคิดให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ตามแนวทางของตนเอง และยังมีโอกาสที่จะได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ อัครศิลปิน วิศิษฏศิลปิน ประวัติและผลงานของ ศิลปินแห่งชาติ จากนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่ภายในหออัครศิลปินแห่งนี้อีกด้วย   

รองอธิบดี สวธ. กล่าวต่อว่า  สิ่งที่สำคัญที่สุดของการฝึกอบรมครั้งนี้ คือ การสนับสนุนจากศิลปินแห่งชาติ การฝึกอบรมในลักษณะนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากศิลปินแห่งชาติทุกท่านที่เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรม รวมถึงสังคมและประเทศชาติจะได้รับ  ในนามของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอขอบคุณศิลปินแห่งชาติ และวิทยากรทุกท่าน  ที่กรุณาสละเวลาให้เกียรติมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เข้าอบรม  และหวังว่าผู้เข้าอบรมทุกคนจะนำความรู้ ประสบการณ์ คำชี้แนะ วิจารณ์ ที่ได้รับจากศิลปินแห่งชาติ และวิทยากร  ไปปรับใช้กับการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้เข้าอบรมทุกคนในการที่จะร่วมกันรักษาสืบสาน และสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์เพื่อจรรโลงสังคมและวัฒนธรรมให้คงอยู่และดียิ่งขึ้นต่อไป
 
จากนั้น นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม ว่า เพื่อถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติ ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้ที่ต้องการจะเป็นนักเขียน จากทั่วประเทศ ในรูปแบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยในภาคทฤษฎีผู้เข้าอบรมจะได้รับการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานจากศิลปินแห่งชาติ  ในภาคปฏิบัติ  ผู้เข้าอบรมจะได้สร้างสรรค์ผลงานตามความถนัด เมื่อจบหลักสูตรศิลปินแห่งชาติจะพิจารณาคัดเลือกผลงานดีเด่น และนำไปจัดพิมพ์ในหนังสือลายลักษณ์วรรณศิลป์ 7 ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการแล้วยังได้เผยแพร่ผลงานของผู้เข้าอบรมไปยังนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  และผู้อ่านทั่วไป  เป็นการเปิดมุมมอง  สร้างจินตนาการและสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ผู้อ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ต่อไป 

ด้านนางนันทพร ศานติเกษม (ปิยะพร ศานติเกษม) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564  กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ตนเองได้มีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ ในการสร้างสรรค์งานเขียนด้านนวนิยายและอยากจะฝากถึงน้อง ๆ ว่าที่นักเขียนในอนาคตว่า ถ้าใครอยากเป็นนักเขียนต้องเริ่มสำรวจตัวเองเบื้องต้นก่อนว่า เป็นคนรักการอ่านไหม รักตัวอักษรไหม รักการเขียนไหม  หากมีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน น้อง ๆ  ก็สามารถฝึกฝน พัฒนาทักษะ ให้เป็นนักเขียนที่ดีได้ เพราะการเขียนได้ เขียนดี และเขียนงาม จะสามารถก้าวสู่ความสำเร็จบนถนนนักเขียนได้แน่นอนในอนาคต
 
โดยการอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก 11 ศิลปินแห่งชาติ ได้แก่  นายสถาพร ศรีสัจจัง นายเจริญ มาลาโรจน์ นางชมัยภร บางคมบาง นายไพวรินทร์  ขาวงาม รองศาสตราจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ  นายจำลอง ฝั่งชลจิตร นางสาวอรสม สุทธิสาคร นางนันทพร ศานติเกษม นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร นางวรรณี ชัชวาลทิพากร และ ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน ได้แก่  นายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง  และ นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรม ในการใช้ภาษาของตนเองให้สามารถหลอมรวมความรู้  ความคิด  ทัศนคติและประสบการณ์  ด้วยกระบวนการคิดที่เป็นระบบสามารถสื่อสารไปยังผู้อ่านผ่านงานวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน และเมื่อจบหลักสูตรศิลปินแห่งชาติจะพิจารณาคัดเลือกผลงานดีเด่น  ของผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 4 ประเภทได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์  และสารคดี ไปจัดพิมพ์ในหนังสือลายลักษณ์วรรณศิลป์ 7  ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการแล้ว ยังได้เผยแพร่ผลงานของผู้เข้าอบรมไปยังนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  และผู้อ่านทั่วไป  เป็นการเปิดมุมมอง  สร้างจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ผู้อ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ต่อไป

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top