Saturday, 17 May 2025
ค้นหา พบ 48168 ที่เกี่ยวข้อง

เปิดปูม ‘ไททัน’ มีคนเตือนเรื่องความปลอดภัย แต่สุดท้าย ตัวคนเตือนกลับโดน ‘ไล่ออก’

สื่อต่างประเทศเผยเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ของบริษัท OceanGate ซึ่งสูญหายระหว่างพาผู้บริหารและนักท่องเที่ยวลงไปสำรวจซากเรือไททานิคเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) เคยถูกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2018 ก่อนที่คนเตือนจะถูก ‘ไล่ออก’

เรือดำน้ำไททันซึ่งมีซีอีโอของ OceanGate เป็นกัปตันผู้ควบคุมเรือ พร้อมผู้โดยสารอีก 4 คน ซึ่งได้แก่ เฮมิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ พอล-อองรี นาร์เจอเลต (Paul-Henri Nargeolet) นักดำน้ำมืออาชีพฝรั่งเศส และ 2 พ่อลูกมหาเศรษฐีปากีสถาน คาดว่าจะยังเหลือออกซิเจนเพียงพอจนถึงเวลา 10.00 GMT วันนี้ (22 มิ.ย.) หรือประมาณ 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย

เรือดำน้ำไททันความยาว 6.7 เมตร ของบริษัท OceanGate ซึ่งมีฐานในเมืองเอเวอเร็ตต์ รัฐวอชิงตัน ถูกส่งลงไปใต้ทะเลลึกครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2018 โดยดำลงไปถึงระดับความลึก 4,000 เมตร ตามข้อมูลของเว็บไซต์บริษัท และเคยดำลงไปยังซากเรือไททานิคบนพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกที่ความลึก 3,800 เมตร ครั้งแรกในปี 2021

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมหลายคน รวมถึงอดีตพนักงานคนหนึ่งได้เคยแสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททัน เนื่องจาก OceanGate เลือกที่จะไม่ขอการรับรองจากหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยที่ได้รับความเชื่อถือ เช่น American Bureau of Shipping ซึ่งเป็นสมาคมจำแนกประเภทการเดินเรือของอเมริกา หรือบริษัท DNV ของทางยุโรป

วิล โคห์เนน (Will Kohnen) ประธานคณะกรรมการสอบทานด้านยานดำน้ำของ Marine Technology Society ระบุในจดหมายลงวันที่ 27 มี.ค. ปี 2018 ที่ส่งไปถึง สต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ OceanGate ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือดำน้ำที่สูญหาย โดยเขาได้ย้ำเตือนความกังวลของคนในแวดวงอุตสาหกรรมเรื่องที่ OceanGate ไม่ได้นำเรือไททันผ่านกระบวนการรับรองด้านการออกแบบ การผลิต และการทดสอบกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

ก่อนหน้านั้น เดวิด ล็อคริดจ์ (David Lochridge) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของ OceanGate ได้ส่งรายงานด้านวิศวกรรมไปยังผู้บริหารของบริษัท ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการวิจัยและพัฒนายานดำน้ำลำนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของวัสดุที่ใช้ผลิตลำตัวเรือ (hull) และการที่บริษัทไม่ได้ดำเนินการทดสอบอย่างเข้มข้นว่าตัวเรือจะสามารถทนต่อแรงดันมหาศาลใต้ทะเลลึกได้หรือไม่

OceanGate ได้เรียกประชุมในวันถัดมาเพื่อหารือข้อกังวลของ ล็อคริดจ์ ซึ่งในตอนท้ายเจ้าตัวยืนยันว่ารับไม่ได้กับการออกแบบยานดำน้ำของทางบริษัท และจะไม่เซ็นอนุญาตให้ส่งคนลงไปกับเรือลำนี้จนกว่าจะมีการทดสอบเพิ่มเติม

จุดยืนของ ล็อคริดจ์ ทำให้เขาถูก OceanGate ไล่ออกในเวลาต่อมา นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ยื่นฟ้องเอาผิดกับเขาในปีเดียวกัน ฐานนำข้อมูลลับภายในบริษัทไปหารือกับบุคคลภายนอกอย่างน้อย 2 คน

ล็อคริดจ์ ได้ยื่นฟ้องกลับในเดือน ส.ค. ปี 2018 โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของ OceanGate และอ้างว่าบริษัทแห่งนี้พยายามข่มขู่ “ผู้เปิดเผยความจริง (whistleblowers) ไม่ให้ออกมาแฉปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้โดยสารที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่”

ขณะเดียวกัน เดวิด พ็อก (David Pogue) ผู้สื่อข่าว CBS ซึ่งเคยมีประสบการณ์ร่วมทดสอบเรือดำน้ำไททัน ก็ออกมาทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (20) ว่า ยานลำนี้เคย “ขาดการติดต่อ” กับเรือแม่หลายชั่วโมงระหว่างที่ดำลงไปใต้ทะเลเมื่อปี 2022 และสิ่งที่ลูกเรือทำในตอนนั้นก็คือการ ‘ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต’ เพื่อไม่ให้นักข่าวแชร์ข้อผิดพลาดนี้ออกไป

“พวกเขายังสามารถส่งข้อความสั้นๆ ไปยังเรือดำน้ำได้ แต่ไม่รู้ว่ามันอยู่ในตำแหน่งไหน” พ็อก ระบุ

“สถานการณ์ตอนนั้นทั้งเงียบและตึงเครียด พวกเขาตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อไม่ให้เราสามารถทวีตข้อมูลออกไปได้”

อ้างอิง : รอยเตอร์, Insider
 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการดูแล ‘หยก ธนลภย์’ เพื่อป้องกันความขัดแย้งบานปลายในสังคม โดยกล่าวว่า…

“สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือการหาตัวผู้ปกครองที่เหมาะสมกับเด็ก ตามกลไลทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองเด็ก ตามสิทธิเด็กที่พึงมี โดยไม่อาจปล่อยให้เด็กเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันเห็นว่าบรรดาพรรคการเมือง ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเด็ก และควรหยุดนำเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แบบรายบุคคล แต่ควรกลับไปคิดเชิงระบบของการแก้ไขปัญหาเด็ก ว่าควรจะทำอย่างไรให้เยาวชนเป็นพลเมืองที่ดีมีภูมิคุ้มกันทางสังคม

ทั้งนี้ จะเห็นว่า คำว่า ‘ชุดนักเรียน’ หรือการแต่งกาย ไม่ได้เป็นข้อจำกัดทางการศึกษาอยู่แล้ว บริบทของปัญหามีความหลากหลายไม่มีถูกผิด เช่น ในตามพื้นที่ห่างไกล ยากไร้ การใส่ชุดนักเรียน เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และในโรงเรียนที่ร่ำรวย และเด็กส่วนใหญ่มีเศษสถานะที่ดี การสวมชุดนักเรียน ช่วยให้เด็กอยู่ระเบียบ และลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละครอบครัว”

‘ประเทศไทย’ ติดอันดับ 2 ปลายทางยอดนิยม นทท. ทั่วโลก ‘กรุงเทพฯ’ คว้าอันดับ 1 เมืองถูกจองเข้าพักมากที่สุด

วันที่ (22 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผลสำรวจ เดือนม.ค. - พ.ค.ปี 2566 ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นบนหลายแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ทั้ง Agoda และ Klook สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสม 5 เดือน กว่า 10.6 ล้านคน สะท้อนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไทย และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล

โดย Agoda แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เปิดเผยสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า การท่องเที่ยวโดยรวมของไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น จากการที่ไทยเปิดประเทศเร็ว โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับ ไทยมีเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวเพียงพอ

ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และมีนักท่องเที่ยวเดินทางภายในประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการจองเข้าพักบนแพลตฟอร์มมากที่สุดในโลก โดย Agoda เชื่อมั่นว่า กรุงเทพฯ สามารถพัฒนาเป็น ศูนย์กลางเทคโนโลยีของเอเชียได้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

นายอนุชา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับ Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวชั้นนำของเอเชีย ในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดภายใต้แคมเปญ ‘Let Your Journey be THAI’ โดยส่งเสริมต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวไทย ผ่านการประชาสัมพันธ์ 5F Soft Power ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติจองกิจกรรมในไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1,200 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดย ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีการจองกิจกรรมไทยบนแพลตฟอร์ม Klook มากที่สุดเป็น 5 อันดับแรก กิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ ทัวร์แบบ Day trip กิจกรรมชมความสวยงามของเมืองไทย และสปา เป็นต้น

‘จีน’ มีสถานีฐาน 5G ทะลุ!! 2.73 ล้านแห่งแล้ว พร้อมเร่งสร้างขุมเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนมีสถานีฐาน 5G เพิ่มขึ้นเป็น 2.73 ล้านแห่ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลก

สำหรับงานแถลงข่าวของการประชุมเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Economy Conference) ปี 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ระบุว่าจีนกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี 5G โดยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 5G จำนวน 634 ล้านราย

ขณะเดียวกันภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีน จำนวน 45 ภาคส่วน ได้ทำการบูรณาการอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ซึ่งส่งเสริมขนาดอุตสาหกรรมมีมูลค่าสูงเกิน 1.2 ล้านล้านหยวน (ราว 5.82 ล้านล้านบาท) 

สำหรับทางด้านรายได้ของอุตสาหกรรมการผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของจีน ในปี 2022 อยู่ที่ 15.4 ล้านล้านหยวน (ราว 74.64 ล้านล้านบาท) ขณะที่รายได้ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อยู่ที่ 10.8 ล้านล้านหยวน (ราว 52.35 ล้านล้านบาท) และรายได้ของอุตสาหกรรมคลังข้อมูลขนาดใหญ่อยู่ที่ 1.57 ล้านล้านหยวน (ราว 7.61 ล้านล้านบาท) ซึ่งวางรากฐานมั่นคงสำหรับการบูรณาการสารสนเทศและอุตสาหกรรมในจีน
 

‘ดศ.-สธ.’ ประชุม คกก.เฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล เร่งวางแนวทางบริหารจัดการ Big Data เชื่อมข้อมูลแบบไร้รอยต่อ

วันที่ (22 มิ.ย. 66) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประชุมคณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าระบบบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศและระบบคลาวด์กลาง เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพด้วยมาตรฐานเดียวกัน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา แบบไร้รอยต่อ

นายอนุทินกล่าวว่า ระบบสุขภาพดิจิทัล เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธาน ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 22 คน เพื่อจัดทำนโยบายแผนงาน แนวทาง และมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาด้านสุขภาพดิจิทัล กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน ในการบูรณาการและการประมวลผลข้อมูลสุขภาพของประเทศ

ทั้งนี้ การบริหารจัดการ Big Data ด้านสุขภาพของประเทศ และมีการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพด้วยมาตรฐานเดียวกัน จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา แบบไร้รอยต่อ ขณะเดียวกันต้องดำเนินการภายใต้การมีธรรมาภิบาลการบริหารระบบสุขภาพดิจิทัลที่ดี

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัลครั้งแรก ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งมี 2 กิจกรรมหลัก คือ

1.) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ขณะนี้จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และกำหนดราคากลางฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขึ้นประกาศเพื่อประชาพิจารณ์ คาดว่ากระบวนการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างฯ จะแล้วเสร็จ ภายในเดือนสิงหาคม 2566 นี้

2.) การจัดหาบริการระบบคลาวด์กลาง ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ 1 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำ (ร่าง) ขอบเขตของงานและราคากลางฯ พร้อมทั้งวางแนวทางให้ รพ.สต.ที่อยู่ในกำกับของกระทรวงมหาดไทย ใช้แพลตฟอร์มสารสนเทศกลางให้บริการผู้ป่วยนอก เพื่อลดการจัดหาระบบ การบำรุงรักษาและสร้างความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งให้ส่งต่อข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพสำหรับเขตสุขภาพ (MOPH Data Exchange Gateway) และระบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Central Data Exchange Service) เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อ ตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ การแต่งตั้งที่ปรึกษาของคณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ 1.) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร 2.) นพ.โสภณ เมฆธน 3.) นายไชยเจริญ อติแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4.) ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล จำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย

1.) คณะอนุกรรมการธรรมาภิบาลและแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ ต่อร่างนโยบายแผนปฏิบัติงานด้านสุขภาพดิจิทัล แพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ และกฎหมายสุขภาพดิจิทัล

2.) คณะอนุกรรมการวิชาการและระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติ มีผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะต่อสถาปัตยกรรมแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัล หลักเกณฑ์แนวทางการบูรณาการการประมวลผลข้อมูลสุขภาพ และมาตรฐานข้อมูลสุขภาพกลางของประเทศ
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top