Saturday, 17 May 2025
ค้นหา พบ 48168 ที่เกี่ยวข้อง

‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ CEO ปตท. คว้ารางวัลเกียรติยศ ‘THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2023’


เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับรางวัลเกียรติยศ ‘THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2023 ประเภทอุตสาหกรรมพลังงาน’ เป็นการเชิดชูเกียรติผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีความโดดเด่นในแต่ละอุตสาหกรรม ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘สุดยอดผู้นำองค์กรแห่งปี’ จัดโดยนิตยสาร BUSINESS+ โดย บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นุรักษ์ มาประณีต องคมนตรี เป็นประธานในพิธี ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

รางวัลดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งรางวัลสำคัญในการเสริมสร้างกำลังใจแก่ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งทุกรางวัลผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบด้าน อาทิ ความสามารถในการบริหารองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ความเป็นผู้นำและสร้างความผูกพันในองค์กร การตอบแทนสังคม ชุมชน และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยต่อไป
 

‘ดีอีเอส’ เดินหน้าพัฒนากฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพิ่มความปลอดภัย คุ้มครองประชาชน มีผล 21 ส.ค.นี้

‘ดีอีเอส’ ประกาศ กฎหมาย Digital Platform จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ พร้อมประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลาง อาทิ โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ sharing economy บริการสืบค้น (search engine) บริการรวมรวมข่าว โฮสติ้ง คลาวด์ แจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ‘ETDA’

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เพื่อรองรับ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ ‘กฎหมาย Digital Platform’ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล คือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา หรือมีจำนวนผู้ใช้บริการเกิน 5,000 รายต่อเดือน มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร

โดยกฎหมาย Digital Platform จะกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของการให้บริการและผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ และกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน 90 วันซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 หากไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“กฎหมาย Digital Platform กำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้มีมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม มีการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังนั้น ขอย้ำว่าผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์ หรือคนไลฟ์สด หรือคนทำ content เผยแพร่ บนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาแจ้งให้ ETDA ทราบตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด” นายชัยวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กฎหมายมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ETDA จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.ฎ. Digital Platform (Public hearing) รวม 4 ครั้ง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการมาจนถึงครั้งที่ 4 ในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 เกี่ยวกับ (ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การหลอกลวง การไม่ทราบตัวคนที่ต้องรับผิด เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดโต๊ะหารือ 2 ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ‘Pantip – Blockdit’ ถึงวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการผ่าน User ID เร่งดัน ‘(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ’ สู่การสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) และการดูแลผู้ใช้บริการที่เหมาะสม ภายใต้ กฎหมาย Digital Platform Services ด้วย

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการดูแล ป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ ผ่านกลไกการลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งาน เนื่องจาก Pantip และ Blockdit ถือเป็นตัวอย่างผู้ให้บริการ social media ที่มีการใช้กลไกการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการ หรือ User ID ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องและมีบัญชีผู้ใช้บริการที่ยังใช้งานอยู่ในระบบจำนวนมาก จากพูดคุยพบว่า ทั้ง 2 ผู้ให้บริการได้มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งานตามความเสี่ยงของการใช้งาน เช่น ถ้าเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไปที่มีความเสี่ยงน้อย ก็จะเน้นลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย ชื่อ-สกุล อีเมล หรือ เบอร์โทรศัพท์ แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น ขายสินค้า ก็จะต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ อย่าง Digital ID ที่ออกโดยแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง ซึ่งจากการให้บริการของ 2 แพลตฟอร์ม พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความตระหนักในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน หรือ สมัครเข้าใช้บริการ โดยเฉพาะการกรอกเลขบัตรประชาชนและเลขโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

โดยข้อมูลที่ได้จากการประชุมร่วมครั้งนี้ จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะที่จะนำไปปรับปรุง ‘(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ’ กฎหมายลำดับรองภายใต้ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น Public Hearing ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ลดการฉ้อโกงออนไลน์

โดยเนื้อหาของร่างคู่มือฉบับนี้ จะครอบคลุมทั้ง การจัดประเภทผู้ใช้งานที่ควรพิสูจน์และยืนยันตัวตน กำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน List ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล การแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่าดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว โดย (ร่าง) คู่มือ ฉบับดังกล่าว นับเป็นหนึ่งตัวอย่างของการสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสม สอดคล้องตามเจตนารมณ์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
 

เกิดเหตุระเบิดร้านปิ้งย่างในนครอิ๋นชวน เสียชีวิตแล้ว 31 ราย คาด เกิดจากมี ‘ก๊าซปิโตรเลียมเหลว’ รั่วไหลภายในร้าน

วันที่ (22 มิ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, อิ๋นชวน รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา หน่วยงานท้องถิ่นของจีน รายงานยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่ร้านอาหารแบบปิ้งย่าง หรือบาร์บีคิวในนครอิ๋นชวน เมืองเอกของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 31 รายแล้ว

เหตุระเบิดเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.40 น. บนถนนสายพลุกพล่านในเขตซิงชิ่งของอิ๋นชวน เนื่องจากมีก๊าซปิโตรเลียมเหลวรั่วไหลจากพื้นที่ของร้านอาหารดังกล่าว

คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 38 ราย ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว 31 ราย แม้จะมีความพยายามดำเนินงานกู้ภัย ขณะที่ผู้บาดเจ็บอีก 7 ราย ซึ่งรวมถึง 1 รายที่มีอาการขั้นวิกฤต กำลังเข้ารับการรักษาทางการแพทย์
 

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฟอกเงิน รุ่นที่ 1

วันนี้ (22 มิ.ย.66) เวลา 14.00 น. พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปปง.ตร. เป็นประธานปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พุทธศักราช 2542 ประจำปีพุทธศักราช 2566 รุ่นที่ 1 ณ ห้องประชุม โรงแรมคลาสสิก คามีโอ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง 

ทั้งนี้ ศปปง.ตร. ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พุทธศักราช 2542 ประจำปีพุทธศักราช 2566 รุ่นที่ 1ในระหว่างวันที่ 19 – 22 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ข้าราชการตำรวจที่เข้ารับการอบรมมีความรู้ความสามารถ เข้าใจอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมเสริมสร้างทักษะในการปฏิบัติงานด้านการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และเพื่อให้เกิดระบบที่เป็นมาตรฐานในการดำเนินคดีด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 , ภาค 2 , ภาค 7 , ภาค 8 , ภาค 9 และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งสิ้นจำนวน 116 นาย โดยผู้เข้ารับการอบรมจากหน่วยต่าง ๆ จะเป็นครูต้นแบบ ที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับข้าราชการตำรวจ ในหน่วยงานสังกัดของตนต่อไป 

ทั้งนี้ ในพิธีปิดโครงการฝึกอบรม ฯ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ ได้มอบประกาศนียบัตร และมอบโอวาทแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้ง 116 นาย โดยกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีผลกระทบต่อภาครัฐและประชาชน ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ถ่องแท้ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมเน้นย้ำให้ข้าราชการตำรวจที่เข้ารับการฝึกอบรมทุกนาย นำความรู้ที่ได้รับการโครงการนี้ไปใช้ในการปฏิบัติงานจริงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับข้าราชการตำรวจในหน่วยของตนต่อไป

ผบ.ตร. นั่งหัวโต๊ะประชุมเข้ม แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง วางระบบป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ 

พัฒนาระบบรับส่งข้อมูล ผ่านระบบBanking เร่งช่วยเหลือผู้เสียหาย เดินหน้าปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า อย่างจริงจัง  พร้อมประชาสัมพันธ์ประชาชนทำข้อสอบ 80 ข้อ ให้ความรู้การป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์ หวังสร้างภูมิคุ้มกันโจร
 
วันนี้ (22 มิ.ย.66) เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2566  โดยมีนายเวทางค์  พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธาน  พร้อมผู้แทน สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, ปปง., กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กสทช., สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน เป็นอนุกรรมการ
 
โดยสาระสำคัญในครั้งนี้ ได้วางมาตรการตรวจสอบ พฤติการณ์เหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า ธุรกรรมต้องสงสัย ซิมม้า การสื่อสารที่ใช้หลอกลวงประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ในเชิงรุก และหารือเรื่องระบบ ช่องทาง และ วิธีการ รับส่งข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการทั้งด้านการเงินและโทรคมนาคม และผู้เสียหาย
 
โดยที่มติประชุมได้เร่งให้ กสทช. ธนาคาร และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำระบบ กระบวนการเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นขั้นตอนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว  พัฒนาระบบ Banking ให้มีช่องทางในการรับแจ้งเหตุฯ เพื่อขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพในการระงับความเสียหาย ป้องกันปราบปราม และดำเนินคดีกับคนร้ายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น
 
หลังจากที่ พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมา สถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีลดลงได้ระดับหนึ่ง  ลดลงโดยเฉลี่ยจาก 790 เรื่อง/วัน ลงไปเป็น 684 เรื่อง/วัน  การอายัดบัญชีจากเดิมอายัดได้ทันโดยประมาณร้อยละ 6.5 มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 15 เป็นต้น  แต่ทั้งนี้ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติ และประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก  จึงต้องเร่งบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในทิศทางเดียวกัน  ทั้งวิธีการรับแจ้งจากผู้เสียหาย  การอายัด การระงับธุรกรรม การส่งต่อข้อมูล  ตลอดจนการดำเนินคดีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
ด้านการปราบปราม ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในห้วงเดือน พ.ค.66 สามารถจับกุมผู้กระผิดได้ 3,366 คดี ผู้ต้องหา 3,262 ราย ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้า 179 คดี ผู้ต้องหา 168 ราย และความผิดเกี่ยวกับซิมม้า 40 คดี ผู้ต้องหา 48 ราย
 
และในด้านการประชาสัมพันธ์ ผบ.ตร. ได้จัดทำข้อสอบ Cyber Vaccine จำนวน 80 ข้อ กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  ให้ประชาชนทดสอบ เป็นการฉีดวัคซีนไซเบอร์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ รูปแบบกลโกงต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถเข้าทดสอบได้ผ่าน QR Code (ที่แนบมาพร้อมนี้)
 
ผบ.ตร. เชื่อว่าหลังจากการประชุมขับเคลื่อนในวันนี้ ทุกหน่วยจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ข้อขัดข้อง จัดวางระบบการส่งต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูล การบังคับใช้กฎหมายและการระงับธุรกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ ได้อย่างทันท่วงที และกล่าวอีกว่า “ขอฝากประชาสัมพันธ์ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ติดต่อสายด่วนธนาคารที่ตนเป็นเจ้าของเพื่อระงับบัญชีโดยเร็ว โดยธนาคารจะออก Bank ID ผ่าน sms และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว  โดยไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุ ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อให้ระงับความเสียหายและดำเนินคดีต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว  หากประสงค์จะแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ทาง https://thaipoliceonline.com  สายด่วน 1441 ปรึกษา-ขอคำแนะนำ 081 866 3000 ตลอด 24 ชั่วโมง”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top