Wednesday, 9 July 2025
ค้นหา พบ 49289 ที่เกี่ยวข้อง

จับตา น้ำมันปาล์มขวดเริ่มขาดตลาด - ขายแพง จี้กรมการค้าภายใน เช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในโมเดิร์นเทรด พร้อมช่วยตรวจสอบ ใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือไม่

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง - ปลีกไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศ ว่า ขณะนี้ร้านค้าส่งได้รับผลกระทบปัญหาน้ำมันปาล์มขวดขาดตลาด โดยเมื่อสั่งสินค้าไปแต่ได้รับของมาขายลดลงไป 60 - 70% เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มหลายยี่ห้อได้ลดสัดส่วนการส่งสินค้าลงโดยให้เหตุผลว่าผลผลิตปาล์มมีน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ทั้งนี้ ในช่วงปกติร้านจะสั่งสินค้าเข้ามารอบละ 200 - 300 ลัง แต่ขณะนี้สั่งไป 300 ลัง แต่รับมาแค่รอบละ 50 - 100 ลังเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเหมือนกันในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะสมาชิกร้านค้าส่งในต่างจังหวัดก็เล่าให้ฟังว่า ปกติเคยสั่งซื้อยกคันรถ 1,000 ลัง ก็ได้ของเข้ามาขายแค่ 400 - 500 ลังเท่านั้น

อย่างไรก็ตามราคาขายปลีก - ขายส่งตอนนี้ขยับสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นทาง โดยปัจจุบันต้นทุนราคาส่งตกลังละ 580 บาท หรือตกขวดละ 48 บาทเศษ หากขายให้ร้านโชห่วยนำไปขายต่อจะบวกเป็นลัง 590-595 บาท เพื่อให้ไปทำกำไรขายต่อได้ที่ 52 บาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยากให้กรมการค้าภายใน เข้าไปช่วยเช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ว่า มีปัญหาขาดหรือไม่ รวมถึงดูด้วยว่าใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือเปล่า แต่ก็ได้แจ้งว่าในเดือนมี.ค.64 ปัญหาน่าจะคลี่คลายลงเพราะจะเริ่มมีผลปาล์มฤดูใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนได้

ประชาธิปัตย์ กางแผนปิดเกม เลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช ดึงกุนซือเด่นทะลวงเป้า ยันดัน ‘พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์’ ชนะลูกเดียว

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม มีวาระหารือที่สำคัญประเด็นหนึ่งคือ ‘การกำหนดยุทธศาสตร์สู่ชัยชนะ’ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีนายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ เป็นผู้สมัครในนามพรรค

โดยมียุทธศาสตร์สำคัญที่จะเน้นการเข้าถึงประชาชนทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงนำเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ๆ และผลงานพรรคจากอดีต ปัจจุบันและอนาคต ที่ประชุมจึงได้มีมติตั้งทีมยุทธศาสตร์เพื่อช่วยสนับสนุนการหาเสียงขึ้นมาสามคณะ ดังนี้

1.) ทีมยุทธศาสตร์ด้านโซเชียลมีเดีย ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ในการรณรงค์หาเสียงผ่านโลกออนไลน์ มีนายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคฯ เป็นหัวหน้าทีม และมีทีมงานหลักประกอบไปด้วยนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานประสานงานเครือข่ายองค์กรภายนอกพรรค นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค และนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคฯ และประธานคณะกรรมการ Smart Democrat เป็นที่ปรึกษาฯ

2.) ทีมปฏิบัติการพิเศษ ทำหน้าที่ในการดูแลตรวจสอบความโปร่งใสในการเลือกตั้ง มี พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ หรือ ผู้การแต้ม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าทีม

3.) ทีมประสานงานเครือข่ายองค์กรภายนอกพรรค ทำหน้าที่ในการประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอกพรรคเพื่อช่วยสื่อสารนโยบายที่สำคัญ มี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพิช ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานเครือข่ายองค์กรภายนอกพรรคเป็นหัวหน้าทีม

ทั้งหมดนี้จะทำงานประสานกับผู้อำนวยการการเลือกตั้งของพรรค ตัวผู้สมัคร และทีมงานของผู้สมัครในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดความสุจริตในการหาเสียง นำเสนอนโยบายและผลงานที่เกิดขึ้นเป็นประจักษ์แล้ว ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคได้กำชับและให้แนวทางไว้ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคใต้ของพรรคเมื่อไม่นานมานี้

นางดรุณวรรณ ยังกล่าวต่อด้วยว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช ในครั้งนี้ พรรคเชื่อมั่นว่าจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน นอกจากตัวผู้สมัครคือนายพงศ์สินธุ์ ที่มีความได้เปรียบเพราะทำงานคลุกคลีอยู่กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด เป็นคนรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจและทุ่มเทในการทำงาน

รวมถึงผลงานของพรรคก็เป็นที่ประจักษ์หลายด้าน เช่น โครงการประกันรายได้ยางพารา โครงการสำคัญที่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก รวมถึงประกันรายได้ชาวสวนปาล์ม ที่ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่ผ่านมาการทำงานของพรรคในรัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานที่ยึดถือประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน เน้นการทำงานไปสู่เป้าหมายที่ต้องทำได้ไวทำได้จริงในทุกเรื่อง

“การเลือกตั้งในครั้งนี้ พรรคมีเป้าหมายเดียว คือ ‘ชัยชนะ’ จึงเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ มีการวางแผนที่ดีและมียุทธศาสตร์ที่ครบด้าน ขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของพรรคที่เป็นพรรคของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และให้โอกาสผู้สมัครของพรรคคือนายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ ได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการทำงานเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันกับพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช” นางดรุณวรรณ กล่าว

วันวาเลนไทน์ปีนี้ ใครยังโสด! มาลองบอกรักด้วยขนมดูไหม ขนมอะไรบ้างที่น่าจะเอาไปให้เขาหรือเธอ ให้รู้กันไปเลยว่า I love you.

คอลัมน์ "ข้างครัวริมแม่น้ำบริสเบน"

“วาเลนไทน์อีกปีเวียนบรรจบ ยังไม่พบประสบเจอเธอเลยหนา อันตัวเราเปล่าเปลี่ยวสุดพรรณนา อยากจะหาใครสักคนเป็นคู่ใจ” อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันของคนไม่โสดแล้ว ส่วนคนโสดก็คงจะไม่อยากถวิลหาวันนี้กันสักเท่าไรนะคะสำหรับวันวาเลนไทน์ ปีนี้ถ้าใครยังโสดมาลองบอกรักสาวรักหนุ่มกันด้วยขนมดูไหม ไปดูกันสิว่ามีขนมอะไรที่น่าจะเอาไปให้เขาหรือเธอให้รู้กันไปเลยว่า I love you.

1.) Chocolate แน่นอนว่า chocolate เป็นสัญลักษณ์คู่กับวันวาเลนไทน์ เป็นโอกาสเหมาะที่สาว ๆ หรือคนที่ขี้อายมาก ๆ จะแสดงความรักให้กับคนที่ตัวเองรักด้วยการมอบ chocolate ให้กับเขาหรือเธอ Chocolate กล่องสวย ๆ พร้อมการ์ดใบเล็ก ๆ บ่งบอกถึงความในใจก็ดูเป็นหนึ่งไอเดียที่ไม่เลวเหมือนกัน

2.) Red velvet cake, Strawberry, Cookies หรือขนมอบอะไรก็ได้ฝีมือเราเองแต่ขอแดง ๆ ไว้ก่อน ไม่ว่าหนุ่มหรือสาวคนไหนได้ไป รับรองว่าต้องรู้ตัวแน่ว่ามีใครคนหนึ่งแอบรักเธออยู่ ไอ้ที่ว่าอะไรก็ได้ขอแดง ๆ ไว้ก่อนก็อย่าเผลอเอาซกเล็กตับสดใส่ถุงให้ไปหละ เพราะนอกจากจะไม่โรแมนติกเอาซะเลย ยังจะกลายเป็นสยองขวัญไปซะแทน

3.) ขนมครก ถือว่าเป็นขนมแห่งความรัก ซึ่งมาจากคำว่า ค-ร-ก “คนรักกัน” โดยมีตำนานมาจากความรักของหนุ่มสาวคู่หนุ่มสาวที่ถูกพ่อของฝ่ายหญิงกีดกัน และบังคับให้แต่งงานกับชายอื่น ในวันแต่งงานพ่อของหญิงสาวได้ขุดหลุมขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ชายหนุ่มมาขัดขวาง เมื่อหญิงสาวรู้จึงรีบวิ่งมาบอกคนรัก แต่เธอกลับพลัดตกลงไปในหลุมเสียเอง เมื่อชายหนุ่มเห็นดังนั้น ก็รีบกระโดดลงไปเพื่อช่วยเธอ พอลูกสมุนในบ้านเห็นชายหนุ่มตกลงในหลุม ก็รีบโกยดินฝังกลบทันที โดยไม่รู้ว่ามีหญิงสาวตกลงไปด้วย กระทั่งผู้เป็นพ่อสั่งลูกสมุนโกยดินขึ้นมา ก็พบลูกสาวกับชายคนรัก นอนกอดกันด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยความสุข ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านต่างศรัทธาความรักของคนทั้งสองจึงได้ทำขนมชนิดหนึ่ง ที่ทำจากแป้ง และกะทิ ใส่ลงในหลุม พอสุกก็นำมาประกบกัน เรียกว่า ขนมครก เป็นสัญลักษณ์ว่าเราจะอยู่ร่วมกันตลอดไป

4.) ขนมผูกรัก เป็นขนมขึ้นชื่อของเมืองสตูล มีอีกชื่อหนึ่งในภาษามลายูว่า ‘ซิมโป้ยซายังกาเซะ’ หากแบ่งออกเป็นคำแล้ว แต่ละคำก็จะมีความหมาย เช่น คำว่า มโป้ย แปลว่า ผูก ซายัง แปลว่า ที่รัก และกาเซะ แปลว่า ขอบคุณ เมื่อนำมารวมกันแล้ว ก็จะกลายเป็นขนมผูกรักอย่างที่เรารู้จักนั่นเอง การทำขนมผูกรักในแต่ละชิ้นต้องอาศัยฝีมือและความใส่ใจ เพราะการผูกในแต่ละครั้งนั้นจะต้องกะปริมาณของไส้ให้พอดี หากใส่มากเกินไปก็อาจจะทำให้ไส้แตกได้ หรือหากใส่น้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้เสียรสชาติ ก็เช่นเดียวกันกับความรัก หากคุณใส่ใจน้อยไปหรือมากไปจนเกินความพอดี มันก็อาจจะทำให้ความรักของคุณไม่อร่อยเหมือนเข่นขนม เพราะฉะนั้นต้องหาจุดตรงกลางให้เจอเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

5.) ขนมจีบ ถ้าคิดจะจีบใคร มุกนี้ก็เล่นแบบซื่อ ๆ ไปเลยแล้วกันนะ ชื่อก็บอกแล้วว่าขนมจีบ รับรองว่าให้ปุ๊บ เขาหรือเธอจะต้องรู้ปั๊บว่ากำลังโดนจีบอยู่แน่นอน นอกจากนี้ขนมจีบยังถือเป็นขนมมงคลที่ใช้ในงานแต่งงาน เป็นตัวแทนของคู่รักและความรัก บางทีการแต่งงานกันไปนานๆอาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ขนมจีบจึงเป็นเหมือนขนมแก้เคล็ดเพื่อให้ความรักหวานชื่นเหมือนตอนจีบกันใหม่ ๆ

6.) ขนมชั้น ให้ขนมชั้นแล้วอาจต้องมีต่อด้วยว่า “ขนมชั้น ชั้นรักเธอ” ไม่เช่นนั้นคนรับอาจจะยืนงงอยู่ในดงลาเวนเดอร์ได้ ขนมชั้น ชั้นรักเธอยังถูกใช้เป็นขนมมงคลในงานแต่งงานซึ่งมีความหมายให้คู่ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้าในการงานและความรักยิ่ง ๆ ขึ้นไปเหมือนชั้นขนมที่มีถึง 9 ชั้นอีกด้วย

7.) น้ำผึ้ง แค่อยากเรียกเธอว่า Honey น้ำผึ้งดี ๆ สักขวดมันคงไม่ดูเห่ยไปมั้ง นอกจากคำว่า Honey จะสามารถแปลได้หลายความหมายทั้ง “น้ำผึ้ง” และ “ที่รัก” แล้ว ความหวานจากธรรมชาตินี้ยังมีดีหลายอย่าง ทั้งช่วยรักษาสิว บำรุงผิว เสริมความงาม แล้วยังบรรเทาอาการเจ็บคอ รักษาโรคกระเพาะ แก้โรคนอนไม่หลับ และอื่น ๆ อีกมากมาย ว่าแล้วก็เอา Honey ไปมอบให้ ว่าที่ Honey กันดีกว่าค่ะ

วิธีข้างต้นที่ว่านี้ไม่รับประกันผลว่าจะทำให้คุณได้คนรักตัวเป็น ๆ หรือเปล่านะ บางคนอาจกินแห้ว บางคนอาจสมหวัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่คุณควรจะมอบความรักให้มาก ๆ ในทุก ๆ วันไม่เฉพาะวันวาเลนไทน์ก็คือตัวคุณเอง อย่าลืมดูแลสุขภาพและมอบความรักให้กับตัวเองในทุก ๆ วันนะคะ


แพร

อดีตผู้ประกาศข่าว สำนักริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชีวิตดิ้นรนมาเป็นเชฟในเมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ประเทศออสเตรเลีย สรรหามุมมองเรื่องเล่าจากดินแดนดาวน์อันเดอร์ มาให้อ่านกันบ่อย ๆ

ทำความรู้จักกับ ‘Music Medication’ เพราะเรียนดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก บทสัมภาษณ์จากประสบการณ์ตรงของครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัด ที่สอนได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กพิเศษ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้วัยสูงอายุ (ตอนที่ 1)

ณ สตูดิโอเปียโนแห่งหนึ่ง ย่าน ม.เกษตร บางเขน ที่ที่ครูส้ม ครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัดหรือนักแก้ไขการพูดใช้เป็นสถานที่สอนดนตรีและสอนอรรถบำบัด สตูดิโอนี้ดูเหมือนกับห้องนั่งเล่นของเพื่อนมากกว่าห้องเรียนดนตรี ครูส้มนั้นเป็นครูที่มีเทคนิคสอนดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากครูเรียนจบด้านความผิดปกติของการสื่อความหมายจากคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี พร้อมประสบการณ์นักอรรถบำบัดมาหลายปี และผันตัวเองมาเป็นนักดนตรีเพราะใจรักอย่างเต็มตัว 

ทักษะ ประสบการณ์ และความรู้เฉพาะทางของครูส้มบูรณาการกัน ออกมาเป็นสูตรการสอนที่มีความเฉพาะ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม เน้นผลลัพธ์และสามารถปรับใช้กับทุกเพศทุกวัยได้อย่างหาตัวจับยากในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ และคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หากได้พูดคุยกับครู

ตอนนี้ครูส้มทำอะไรบ้างคะ?

ตอนนี้ส้มเป็นครูสอนเปียโน สอนดนตรีเด็กเล็ก สอนอรรถบำบัด แล้วก็สะสมเครื่องเล่นดนตรีสไตล์วินเทจจนตอนนี้กลายเป็นอีกงานนึงไปด้วย

เครื่องเล่นดนตรีสไตล์วินเทจหรอคะ? 

ใช่ค่ะ เครื่องดนตรีวินเทจ มันมีเสน่ห์ ทั้งเสียงและดีไซน์ไม่เหมือนใคร เล่นง่าย เล่นสนุก ทำให้นึกถึงความทรงจำตอนเด็ก ๆ แล้วก็หาซื้อไม่ได้แล้ว

ครูสอนเปียโนระดับไหน สอนวัยอะไรบ้าง?

ส้มสอนได้ทุกระดับทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยผู้ใหญ่ไปจนอายุ 80 ปีก็มี

ทำไมตอนนั้นถึงเลือกเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางการสื่อสาร?

เอาจริง ๆ คือตอนนั้นอยากเรียนภาษามือ แล้วก็คิดเอาเองว่าเรียนคณะนี้แล้วจะได้เรียนภาษามือ พอได้เข้ามาเรียนแล้ว เราก็แบบ อ้าว ภาษามือมันต้องไปเรียนอีกคณะนึงนี่หน่า (ครูหัวเราะ) แต่เราก็ยังเลือกที่จะเรียน และได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมาย

พอได้หลงเข้าไปเรียนแล้วเป็นไงบ้าง?

สนุกดี จบมาก็ได้ทำงานตรงสาย เป็นนักอรรถบำบัดมากว่า 10 ปีแล้ว แล้วส้มได้เรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาด้วย ซึ่งส้มเอาหลักจิตวิทยามาใช้ในการสอนดนตรี เวลาเจอเด็กพิเศษ เราก็สามารถช่วยเค้าได้มากกว่าครูสอนดนตรีทั่วไป จริง ๆ จิตวิทยาไม่ใช่วิชาหลักของคณะที่เรียนแต่มันเป็นส่วนสำคัญในการบำบัดที่ส้มนำมาปรับใช้ได้ดีจนถึงทุกวันนี้ 



ครูส้มคิดว่าการให้ลูกเรียนดนตรีมันดียังไง?

การเรียนดนตรีเป็นผลดีทั้งนั้น ทั้งนี้ ส้มอยากให้กลับไปดูที่วัตถุประสงค์ก่อน ว่ามาเรียนเพราะอะไร อย่างที่มาเรียนกันบางคนมาเรียนตามเทรนด์ บางคนอยากให้ลูกมีโปรไฟล์ความสามารถพิเศษ หรือพ่อแม่ที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ก็อยากให้ลูกไปเรียน เหตุผลสุดท้ายคือ เด็กอยากมาเรียนเอง ซึ่งเคสนี้เจอน้อยสุด สามเคสแรกจะเจอบ่อย แต่เหตุผลสามอันแรกที่ไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเองส้มว่าไม่จำเป็น 

เพราะประโยชน์จากดนตรีมันไม่ใช่ว่าจะหาจากที่อื่นไม่ได้ สามารถหาจากกิจกรรมอื่นก็ได้ อย่างเช่น ปั้นดินก็ได้ เรียนศิลปะก็ได้ กวนทรายก็ได้ หรืออย่างของส้มเป็นเปียโน หลาย ๆ ครั้ง ส้มก็จะใช้กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเปียโนมาเสริม ในฐานะครู ส้มรู้ว่าได้ประโยชน์เหมือนกัน ส่วนตัวส้มว่าอิงจากความชอบดีกว่า ถ้าเค้าชอบเค้าจะทำได้ดี และเค้าจะได้ประโยชน์ในเรื่องพัฒนาสมองได้เต็มที่กว่าด้วย

แปลว่าถ้าเค้าชอบและอยากมาเรียนเอง เค้าก็จะเรียนได้ดีด้วยมั้ย?

ใช่ อันนี้ตอบได้เต็มปาก ตัวชี้วัดที่ส้มให้ว่าใครจะเรียนได้ดีหรือไม่ดีมีสองตัวชี้วัด คือ ความชอบกับวินัย ส้มให้ความชอบกับวินัยอย่างละครึ่ง ๆ เลย ถึงจะชอบแต่ไม่มีวินัยเรียนให้ตายก็เล่นไม่ได้ ได้เล่นเพื่อผ่อนคลายเฉย ๆ หรือถ้าเด็กถูกฝึกให้มีวินัยแต่ไม่ชอบ ส่วนใหญ่จะเล่นได้แต่ไม่มีความสุข พอถึงจุดหนึ่งเมื่อเค้าเจอสิ่งที่เค้าชอบเค้าจะหยุด เค้าจะไปเอาดีอย่างอื่น ไม่เอาอันนี้ ที่ฝึกมาก็สูญเปล่า สูญเสียเวลาที่จะไปใช้ฝึกฝนกับสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ ด้วย

อย่างเด็กที่ส้มสอน เด็กบางคนมาเพราะความชอบเลย เค้าก็ทำได้ดีไปเลย หรือกับบางคนเค้าดูเหมือนชอบตอนแรก เพราะเราจะสร้าง trust กับเค้าก่อน แต่พอถึงตอนที่ต้องใช้ความพยายามเด็กก็ไม่อยากทำ 

เด็กไปบอกพ่อแม่ว่า ไม่ทำแล้วมันยาก ซึ่งถ้าถึงตรงนี้พ่อแม่ให้กำลังใจเพื่อให้เค้าไปต่อจนเค้าผ่านคอขวดตรงนี้ได้ เค้าจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกได้ทำสิ่งที่ยากสำหรับเค้าได้ด้วยตัวเอง แล้วเค้าจะเริ่มสร้าง self-confidence หรือความเชื่อมั่นในตนเอง หลังจากนั้นจะสบายละ เค้าจะไปต่อได้ของเค้าเอง แต่ถ้าพ่อแม่คิดว่าลูกไม่ชอบ คิดว่าดนตรีคงไม่ใช่ทางของเค้าและหยุดก่อนที่จะหลุดคอขวดนี้ไปได้ พอเค้าไปเรียนวิชาอื่นหรือเรียนสิ่งอื่น เค้าก็จะไม่หลุดคอขวดของความยากไปได้เหมือนกัน เค้าจะหยุดแค่นั้น

สุดท้ายไม่ก่อเกิดการสร้าง self-confidence แล้วทีนี้เราต้องมาใช้ reinforcement หรือแรงผลักจากภายนอก เช่น การให้รางวัล หนูทำอันนี้สิจะได้รางวัล ส่วนตัวส้มมองว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบเหมือนกับสินค้าจีนแดงกับสินค้าญี่ปุ่น สินค้าที่พอใช้ได้แต่คุณภาพอาจไม่ดี การเล่นดนตรีหรือกิจกรรมอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าใช้แรงภายนอกมากระตุ้น ก็พอให้ทำได้แต่คุณภาพอาจจะไม่ดี

(การสร้าง trust หรือสร้างความไว้ใจที่ครูส้มกล่าวถึง เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะเรียนกับเรา) 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเค้าจะชอบหรือไม่ชอบ?

อันนี้ถ้าในเด็กที่ยังเล็กอยู่ ต้องอาศัยความแม่นยำของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องมองให้ขาด ถ้าพ่อแม่มองไม่ขาด พ่อแม่จะเห็นเหมือนกับว่าลูกไม่ชอบอะไรเลยซักอย่าง อย่างเช่นเด็กกลุ่มที่ชอบเล่นแบบ Free Play หรือการเล่นแบบอิสระ เค้าจะไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เค้าจะเหมาะกับการเล่น playground ในสนามเด็กเล่นที่ได้สร้างจินตนาการเปิดโลกมากกว่า ซึ่งแบบนี้จะไม่ค่อยได้ทำอะไรซ้ำ ๆ  ส่วนดนตรีเป็นกลุ่มการเรียนที่ต้องการการทำซ้ำ ต้องฝึกฝนถึงจะทำได้ ได้ฝึกความอดทน ถ้าพ่อแม่มองไม่ขาด คิดว่าลูกไม่ชอบ แล้วให้ลูกเรียนเป็นสิบ ๆ อย่าง แต่ผลสัมฤทธิ์ไม่ดีซักอย่างเลย เพราะไม่ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างจริงจัง ของพวกนี้มันต้องใช้เวลา

อายุมีผลต่อการเรียนดนตรีมั้ย? 

มีผล เด็กมากยังไม่ได้ฝึกวินัย การเลี้ยงดูก็มีส่วน ถ้าเด็กถูกเลี้ยงโดยพี่เลี้ยงเด็ก เค้าถูกตามใจบ่อยและอาจจะไม่มีวินัยได้ ฉะนั้น ส้มจะถามพ่อแม่ที่นำลูกมาเรียนก่อนว่าที่บ้านเด็กช่วยทำงานบ้านมั้ย กินข้าวเองมั้ย ใส่เสื้อเองติดกระดุมเองรึเปล่า ดูตามวิวัฒนาการ ประมาณ 4 ขวบ ควรเริ่มมีวินัยละ เล่นของเล่นเสร็จเก็บของเอง ช่วยเก็บจานที่พอถือไหวได้

เห็นมีสอนเด็กพิเศษด้วย เด็กพิเศษกับเด็กธรรมดาแตกต่างกันยังไงคะ?

ความแตกต่างจะสังเกตอย่างง่าย ๆ ได้ตอนเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป วัย 4 ขวบเค้าจะเริ่มตอบคำถามเชิงเหตุผลได้ ถ้าเด็กตอบไม่ตรงวัย เช่น ถ้าเราถามว่า ทำไมหนูไม่ชอบอันนี้ แล้วเด็กตอบเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ บอกได้แค่ว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น ซึ่งวัย 4 ขวบควรจะเริ่มตอบได้แล้ว หรือสังเกตจากกล้ามเนื้อเด็ก ที่ควรพัฒนาตามวัยด้วย ส้มก็จะใช้วิธีสอนที่ต่างกันให้เหมาะสมกับเด็ก

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษควรส่งลูกไปเรียนดนตรีมั้ย?

ไม่จำเป็น แต่เรียนก็ดี ขึ้นอยู่ที่ครูด้วยว่าครูผู้สอนเข้าใจการสอนเด็กพิเศษมั้ย ถ้าเป็นครูที่ไม่รู้การสอนเด็กพิเศษเรียนไปก็ไม่ได้อะไรเพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กพิเศษ

ถ้าอยากจะแก้ปัญหาจริง ๆ อับดับแรกต้องไปหาหมอก่อนแล้วค่อยไปหานักบำบัด จะเลือกใช้ดนตรีบำบัดก็ต้องเป็นนักดนตรีบำบัดที่มีใบรับรอง ซึ่งหมอก็อาจจะเลือกกิจกรรมอื่นในการบำบัด การเรียนดนตรีเฉย ๆ ไม่ใช่การบำบัด เด็กบางคนอาจไม่ตอบสนองกับดนตรี ดนตรีเป็นเหมือนอาหารเสริม ไม่ใช่อาหารหลัก การเรียนดนตรีเฉย ๆ ยังไม่ใช่ดนตรีบำบัด

ก่อนที่เราจะคุยกับครูส้ม เราได้เข้าไปดูคลิปการสอนในเพจของครูก่อน ในคลาสดนตรีของครูส้มนั้น ครูไม่ได้เพียงสอนเปียโนอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนเปียโนให้เด็กได้เล่นเพื่อเปิดจินตนาการและฝึกกล้ามเนื้อ ที่สำคัญ เด็กสนุกและมีรอยยิ้มตลอดการเรียนในคลาส 

นอกจากเด็ก ๆ แล้ว ยังมีคลาสสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานหรือแม้แต่คุณยาย ซึ่งบรรยากาศการเรียนจะแตกต่างกันไปตามที่ครูส้มจะออกแบบให้เหมาะกับผู้เรียนนั้น ๆ

ส่วนคลาสเรียนดนตรีสำหรับผู้ใหญ่นั้น จะมีวิธีการเรียนอย่างไร และทำไมผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่ควรมาเรียนเรียนดนตรีสไตล์อรรถบำบัด ติดตามในตอนที่  2 ค่ะ 


เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

Credit: เพจ The Study Times
 

ทำความรู้จักกับ ‘Music Medication’ เพราะเรียนดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก บทสัมภาษณ์จากประสบการณ์ตรงของครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัด ที่สอนได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กพิเศษ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้วัยสูงอายุ (ตอนที่ 2)

จากบทสัมภาษณ์ครูส้ม ตอนที่ 1 เราทิ้งท้ายไว้ว่า การเรียนดนตรีสำหรับผู้ใหญ่ ก็น่าสนใจไม่แพ้กับการเรียนดนตรีของเด็กๆ แต่เหตุผลในการเล่นดนตรี และการเรียนนั้นต่างกันออกไปตามช่วงวัยที่ต่างกัน

สอนดนตรีผู้ใหญ่เป็นยังไงบ้างคะ ทำไมเค้ามาเรียนกัน?

นักเรียนที่เป็นผู้ใหญ่ วัตถุประสงค์หลักของเค้าคือคลายเครียด และโดยพื้นฐานเค้าจะมีความชอบดนตรีอยู่แล้ว มีร้องเพลงบ้าง เรียนเปียโนบ้าง อายุที่มาเรียนก็ประมาณ 30 ปีจนถึง 80 ปี

การเรียนดนตรีของผู้ใหญ่เป็นไงบ้าง แตกต่างจากการเรียนของเด็กมั้ย?

การสอนดนตรีของผู้ใหญ่สำหรับผู้สอนจะท้าทายหน่อย เพราะผู้ใหญ่มีความคาดหวังสูง เค้าได้ยินเพลงมาเยอะ เค้าอยากเล่นเพราะ ๆ ให้ได้เหมือนนักดนตรีที่เค้าชื่นชอบ อย่างโชแปงหรือบีโทเฟน แต่มีข้อจำกัดด้านเวลา ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาซ้อมเนื่องจากงานหรือภาระต่าง ๆ ผู้ใหญ่จะใจร้อนกว่า คิดเยอะ วิเคราะห์เยอะ แต่เอาจริง ๆ แล้วกล้ามเนื้อยังไม่พร้อม ความคิดกับทักษะที่มียังไม่บาลานซ์กัน

ส่วนเด็กเค้าจะพอใจง่ายเมื่อเค้าเล่นโน้ตได้ไม่กี่ตัว สำหรับเด็กแค่เล่นเพลงหนูมาลีได้ก็ดีใจแล้ว มีความสุขแล้ว แต่ผู้ใหญ่ก็ยังมีข้อดีอีกอย่าง คือผู้ใหญ่จะมีแพชชั่นมากกว่าเด็ก ตั้งใจกว่าพยายามเยอะกว่าไปได้เร็วกว่าถ้าเค้าซ้อม ถ้าขยันเล่นแปบเดียวก็เป็นเพลงแล้ว มีข้อจำกัดนิดหน่อยเรื่องมือสวยซึ่งเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ต้องแยกระหว่างเล่นเป็นกับเล่นเพราะ บอกตามตรงเลยคือผู้ใหญ่เล่นเป็นเร็วแต่จะเล่นเพราะช้ากว่าเด็กหน่อย มันเป็นเรื่องเทคนิค เรื่องกล้ามเนื้อ ส่วนเด็กเล่นเป็นช้าแต่ซ้อมสม่ำเสมอก็จะเล่นได้เพราะเอง

 

สิ่งหนึ่งที่ส้มเห็นเลย คือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเรียนดนตรีมาก่อน เค้าจะได้เจอกับมิติที่ไม่ใช่การทำงาน เป็นมิติของความผ่อนคลาย เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่ไม่ต้องคิดเรื่องงาน ปล่อยให้อารมณ์พาไปสู่ความรู้สึกสงบ ต่อให้ยังเล่นไม่เป็นเพลงก็เข้าถึงความสงบได้

แบบนี้เรียกว่า music medication คือดนตรีเพื่อลดหรือบรรเทาอาการเครียด ช่วยให้จิตใจได้ผ่อนคลาย คนละอันกับ music therapy คนไทยอาจเข้าใจสับสนได้ ในภาษาไทยเราชอบใช้คำว่าบำบัด แต่ในภาษาอังกฤษ บำบัด คือคำว่า therapy ซึ่งต้องเป็น therapist หรือนักบำบัดเท่านั้น ส้มจะเลี่ยงใช้คำว่าบำบัด จะไม่เคลมว่าเป็นนักดนตรีบำบัด บ้านเราจะใช้คำว่าบำบัดทั้งในทางการแพทย์และในทางเพื่อผ่อนคลาย อย่างไรก็แล้วแต่ ประโยชน์ที่ทุกคนจะได้แน่ ๆจากดนตรีก็คือช่วยผ่อนคลายช่วยบรรเทาความเครียด

แปลว่าที่ผู้ใหญ่มาเรียนดนตรีเค้ามาเพื่อความผ่อนคลาย?

ใช่ค่ะ ผู้ใหญ่ชัดเจนมาก มาเพื่อผ่อนคลาย มาเรียนร้องเพลงบ้าง เรียนเปียโนบ้าง หรือบางคนเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้สมองเสื่อม ส่วนเด็กมาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ นอกจากนั้นสิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้แต่ได้กลับไปหลังจากมาเรียนดนตรี คือพ่อแม่ที่เล่นดนตรีจะช่วยให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ ต่างจากพ่อแม่ที่อยากเรียนแต่กลับส่งลูกไปเรียนแทน ซึ่งถ้าลูกเค้าไม่ได้อยากเรียนเหมือนเรา ลูกจะรู้สึกถูกบังคับถูกกดดัน เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เป็น negative feeling

แต่ถ้าพ่อแม่มาเรียนดนตรีด้วยตัวเองจะช่วยให้พ่อแม่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก คุยเรื่องดนตรีด้วยกันกับลูก พอลูกเห็นเราเล่นดนตรีแล้วรู้สึกสนใจ ลูกก็อยากเรียนกับเราอยากเล่นกับเราไปด้วย เกิด positive feeling เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว

ฉะนั้น พ่อแม่ที่สนใจอยากเรียนดนตรีอยู่แล้วควรมาเรียนด้วยตัวเองจะดีกว่า ได้ทั้งผ่อนคลาย ได้เรียนอะไรใหม่ ๆ และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวไปด้วย

หากใครกำลังคิดจะเริ่มเรียนดนตรี ครูส้มมีวิธีในการเลือกเครื่องดนตรีให้เหมาะกับเรามั้ย?

เลือกจากเสียงเครื่องดนตรีที่เราชอบฟัง เสียงเพลงที่เราชอบฟัง ลองสังเกตว่าเพลงนี้ใช้เครื่องดนตรีอะไรเล่นนะ

 

อยากให้ครูชักชวนคนที่กำลังตัดสินใจมาเรียนดนตรีหน่อย?

ถ้าชอบ มีตังค์ มีเวลา ทำเลย ไม่ต้องกลัว  อะไรที่ทำแล้วมีความสุขทำเลย ส้มมองว่าการคิดว่าอายุเยอะแล้ว แก่แล้วทำไม่ได้หรอกมันเป็นเรื่องทัศนคติ แค่ได้เริ่มเราจะรู้ว่าเราทำได้ ส้มไม่ขายฝันนะ ไม่ง่ายนะ ลองทำสิ่งที่ท้าทายตัวเอง การเล่นดนตรีทำให้เราหลั่งสารอะดรีนาลีนในตอนที่เรากำลังเล่นท่อนนั้นท่อนนี้ อารมณ์เหมือนเรากำลังเล่นเกมเก็บเลเวล พอเล่นได้มันจะฟินนาเล่มาก

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะเสริม คือวัตถุประสงค์หลักของดนตรีคือการได้ผ่อนคลาย ถ้าเราเรียนดนตรีเพื่อไว้โชว์ความสามารถก็ทำได้ แต่มันทำให้เรากลัวที่จะเล่น และความสุขของเราจะไปอยู่แค่ตอนที่เราเล่นได้สำเร็จ ซึ่งจริง ๆความสุขมันเกิดขึ้นตั้งแต่ได้เล่นแล้ว

สุดท้าย ครูมีอะไรอยากจะฝาก?

เราพูดถึงเด็กกับผู้ใหญ่ไปแล้ว ยังไม่ได้พูดถึงนักเรียน นักศึกษา ส้มฝากถึงนักเรียน นักศึกษา ถ้าใจรักจะเป็นนักดนตรีต้องเริ่มจริงจังตั้งแต่เด็ก เก็บไว้แต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่เบบี๋ นี่คือประสบการณ์ตรงของส้มเลย ซึ่งส้มว่ามันสำคัญที่จะแบ่งปัน ถ้าคิดว่าไม่ต้องรีบฝึกหนักก็ได้ในตอนที่เรายังเป็นนักเรียนแล้วมัวทำตามสังคมที่นิยมไปเรื่อย ๆ ทำสิ่งที่คนอื่น ๆ ว่าดี ทั้ง ๆ ที่เราก็ชอบดนตรี พอเรียนจบเราต้องทำงาน มีความรับผิดชอบด้านอื่น มีภาระตามมา พอเราโตแล้วเรารู้ว่าดนตรีคือส่วนหนึ่งของเรา มันจะไม่ทันแล้ว

การเป็นนักดนตรีมืออาชีพกับการเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลายเพื่อความสุขมันคนละเรื่องกัน สำหรับคนเป็นนักดนตรี การเล่นดนตรีคือข้าว อาหารที่เราต้องกินทุกวัน ฉะนั้น ถ้าคิดจะเลือกเป็นนักดนตรีต้องตัดสินใจให้ดีและฝึกฝน นักเรียน นักศึกษาควรคำนึงถึงตรงนี้และวางแผนให้ดีด้วย

มีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดหลากหลายวิธีให้เราเลือก แล้วแต่ความชอบความสะดวกของแต่ละบุคคล  หากการเล่นดนตรีนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินความผ่อนคลายแล้วยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวได้ และยังเสริมสร้างวินัยแก่ผู้เรียนดนตรีอีกด้วย

การเรียนดนตรีน่าจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สมควรรับไว้พิจารณาในช่วงที่เราเริ่มมีเวลา เปิดโอกาสตัวเองให้ได้ลองสัมผัสกับอีกมิติที่ครูส้มบอกทิ้งไว้ว่า มันคืออีกโลกแห่งความสงบของคนเป็นผู้ใหญ่ โลกที่ยังมีอะไรที่ไม่ใช่เพียงการทำงาน


ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ ครูส้ม ณัจยา อร่ามกุล

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

Credit: เพจ The Study Times


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top