ทำความรู้จักกับ ‘Music Medication’ เพราะเรียนดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก บทสัมภาษณ์จากประสบการณ์ตรงของครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัด ที่สอนได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กพิเศษ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้วัยสูงอายุ (ตอนที่ 2)

จากบทสัมภาษณ์ครูส้ม ตอนที่ 1 เราทิ้งท้ายไว้ว่า การเรียนดนตรีสำหรับผู้ใหญ่ ก็น่าสนใจไม่แพ้กับการเรียนดนตรีของเด็กๆ แต่เหตุผลในการเล่นดนตรี และการเรียนนั้นต่างกันออกไปตามช่วงวัยที่ต่างกัน

สอนดนตรีผู้ใหญ่เป็นยังไงบ้างคะ ทำไมเค้ามาเรียนกัน?

นักเรียนที่เป็นผู้ใหญ่ วัตถุประสงค์หลักของเค้าคือคลายเครียด และโดยพื้นฐานเค้าจะมีความชอบดนตรีอยู่แล้ว มีร้องเพลงบ้าง เรียนเปียโนบ้าง อายุที่มาเรียนก็ประมาณ 30 ปีจนถึง 80 ปี

การเรียนดนตรีของผู้ใหญ่เป็นไงบ้าง แตกต่างจากการเรียนของเด็กมั้ย?

การสอนดนตรีของผู้ใหญ่สำหรับผู้สอนจะท้าทายหน่อย เพราะผู้ใหญ่มีความคาดหวังสูง เค้าได้ยินเพลงมาเยอะ เค้าอยากเล่นเพราะ ๆ ให้ได้เหมือนนักดนตรีที่เค้าชื่นชอบ อย่างโชแปงหรือบีโทเฟน แต่มีข้อจำกัดด้านเวลา ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาซ้อมเนื่องจากงานหรือภาระต่าง ๆ ผู้ใหญ่จะใจร้อนกว่า คิดเยอะ วิเคราะห์เยอะ แต่เอาจริง ๆ แล้วกล้ามเนื้อยังไม่พร้อม ความคิดกับทักษะที่มียังไม่บาลานซ์กัน

ส่วนเด็กเค้าจะพอใจง่ายเมื่อเค้าเล่นโน้ตได้ไม่กี่ตัว สำหรับเด็กแค่เล่นเพลงหนูมาลีได้ก็ดีใจแล้ว มีความสุขแล้ว แต่ผู้ใหญ่ก็ยังมีข้อดีอีกอย่าง คือผู้ใหญ่จะมีแพชชั่นมากกว่าเด็ก ตั้งใจกว่าพยายามเยอะกว่าไปได้เร็วกว่าถ้าเค้าซ้อม ถ้าขยันเล่นแปบเดียวก็เป็นเพลงแล้ว มีข้อจำกัดนิดหน่อยเรื่องมือสวยซึ่งเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ต้องแยกระหว่างเล่นเป็นกับเล่นเพราะ บอกตามตรงเลยคือผู้ใหญ่เล่นเป็นเร็วแต่จะเล่นเพราะช้ากว่าเด็กหน่อย มันเป็นเรื่องเทคนิค เรื่องกล้ามเนื้อ ส่วนเด็กเล่นเป็นช้าแต่ซ้อมสม่ำเสมอก็จะเล่นได้เพราะเอง

 

สิ่งหนึ่งที่ส้มเห็นเลย คือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเรียนดนตรีมาก่อน เค้าจะได้เจอกับมิติที่ไม่ใช่การทำงาน เป็นมิติของความผ่อนคลาย เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่ไม่ต้องคิดเรื่องงาน ปล่อยให้อารมณ์พาไปสู่ความรู้สึกสงบ ต่อให้ยังเล่นไม่เป็นเพลงก็เข้าถึงความสงบได้

แบบนี้เรียกว่า music medication คือดนตรีเพื่อลดหรือบรรเทาอาการเครียด ช่วยให้จิตใจได้ผ่อนคลาย คนละอันกับ music therapy คนไทยอาจเข้าใจสับสนได้ ในภาษาไทยเราชอบใช้คำว่าบำบัด แต่ในภาษาอังกฤษ บำบัด คือคำว่า therapy ซึ่งต้องเป็น therapist หรือนักบำบัดเท่านั้น ส้มจะเลี่ยงใช้คำว่าบำบัด จะไม่เคลมว่าเป็นนักดนตรีบำบัด บ้านเราจะใช้คำว่าบำบัดทั้งในทางการแพทย์และในทางเพื่อผ่อนคลาย อย่างไรก็แล้วแต่ ประโยชน์ที่ทุกคนจะได้แน่ ๆจากดนตรีก็คือช่วยผ่อนคลายช่วยบรรเทาความเครียด

แปลว่าที่ผู้ใหญ่มาเรียนดนตรีเค้ามาเพื่อความผ่อนคลาย?

ใช่ค่ะ ผู้ใหญ่ชัดเจนมาก มาเพื่อผ่อนคลาย มาเรียนร้องเพลงบ้าง เรียนเปียโนบ้าง หรือบางคนเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้สมองเสื่อม ส่วนเด็กมาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ นอกจากนั้นสิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้แต่ได้กลับไปหลังจากมาเรียนดนตรี คือพ่อแม่ที่เล่นดนตรีจะช่วยให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ ต่างจากพ่อแม่ที่อยากเรียนแต่กลับส่งลูกไปเรียนแทน ซึ่งถ้าลูกเค้าไม่ได้อยากเรียนเหมือนเรา ลูกจะรู้สึกถูกบังคับถูกกดดัน เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เป็น negative feeling

แต่ถ้าพ่อแม่มาเรียนดนตรีด้วยตัวเองจะช่วยให้พ่อแม่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก คุยเรื่องดนตรีด้วยกันกับลูก พอลูกเห็นเราเล่นดนตรีแล้วรู้สึกสนใจ ลูกก็อยากเรียนกับเราอยากเล่นกับเราไปด้วย เกิด positive feeling เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว

ฉะนั้น พ่อแม่ที่สนใจอยากเรียนดนตรีอยู่แล้วควรมาเรียนด้วยตัวเองจะดีกว่า ได้ทั้งผ่อนคลาย ได้เรียนอะไรใหม่ ๆ และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวไปด้วย

หากใครกำลังคิดจะเริ่มเรียนดนตรี ครูส้มมีวิธีในการเลือกเครื่องดนตรีให้เหมาะกับเรามั้ย?

เลือกจากเสียงเครื่องดนตรีที่เราชอบฟัง เสียงเพลงที่เราชอบฟัง ลองสังเกตว่าเพลงนี้ใช้เครื่องดนตรีอะไรเล่นนะ

 

อยากให้ครูชักชวนคนที่กำลังตัดสินใจมาเรียนดนตรีหน่อย?

ถ้าชอบ มีตังค์ มีเวลา ทำเลย ไม่ต้องกลัว  อะไรที่ทำแล้วมีความสุขทำเลย ส้มมองว่าการคิดว่าอายุเยอะแล้ว แก่แล้วทำไม่ได้หรอกมันเป็นเรื่องทัศนคติ แค่ได้เริ่มเราจะรู้ว่าเราทำได้ ส้มไม่ขายฝันนะ ไม่ง่ายนะ ลองทำสิ่งที่ท้าทายตัวเอง การเล่นดนตรีทำให้เราหลั่งสารอะดรีนาลีนในตอนที่เรากำลังเล่นท่อนนั้นท่อนนี้ อารมณ์เหมือนเรากำลังเล่นเกมเก็บเลเวล พอเล่นได้มันจะฟินนาเล่มาก

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะเสริม คือวัตถุประสงค์หลักของดนตรีคือการได้ผ่อนคลาย ถ้าเราเรียนดนตรีเพื่อไว้โชว์ความสามารถก็ทำได้ แต่มันทำให้เรากลัวที่จะเล่น และความสุขของเราจะไปอยู่แค่ตอนที่เราเล่นได้สำเร็จ ซึ่งจริง ๆความสุขมันเกิดขึ้นตั้งแต่ได้เล่นแล้ว

สุดท้าย ครูมีอะไรอยากจะฝาก?

เราพูดถึงเด็กกับผู้ใหญ่ไปแล้ว ยังไม่ได้พูดถึงนักเรียน นักศึกษา ส้มฝากถึงนักเรียน นักศึกษา ถ้าใจรักจะเป็นนักดนตรีต้องเริ่มจริงจังตั้งแต่เด็ก เก็บไว้แต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่เบบี๋ นี่คือประสบการณ์ตรงของส้มเลย ซึ่งส้มว่ามันสำคัญที่จะแบ่งปัน ถ้าคิดว่าไม่ต้องรีบฝึกหนักก็ได้ในตอนที่เรายังเป็นนักเรียนแล้วมัวทำตามสังคมที่นิยมไปเรื่อย ๆ ทำสิ่งที่คนอื่น ๆ ว่าดี ทั้ง ๆ ที่เราก็ชอบดนตรี พอเรียนจบเราต้องทำงาน มีความรับผิดชอบด้านอื่น มีภาระตามมา พอเราโตแล้วเรารู้ว่าดนตรีคือส่วนหนึ่งของเรา มันจะไม่ทันแล้ว

การเป็นนักดนตรีมืออาชีพกับการเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลายเพื่อความสุขมันคนละเรื่องกัน สำหรับคนเป็นนักดนตรี การเล่นดนตรีคือข้าว อาหารที่เราต้องกินทุกวัน ฉะนั้น ถ้าคิดจะเลือกเป็นนักดนตรีต้องตัดสินใจให้ดีและฝึกฝน นักเรียน นักศึกษาควรคำนึงถึงตรงนี้และวางแผนให้ดีด้วย

มีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดหลากหลายวิธีให้เราเลือก แล้วแต่ความชอบความสะดวกของแต่ละบุคคล  หากการเล่นดนตรีนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินความผ่อนคลายแล้วยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวได้ และยังเสริมสร้างวินัยแก่ผู้เรียนดนตรีอีกด้วย

การเรียนดนตรีน่าจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สมควรรับไว้พิจารณาในช่วงที่เราเริ่มมีเวลา เปิดโอกาสตัวเองให้ได้ลองสัมผัสกับอีกมิติที่ครูส้มบอกทิ้งไว้ว่า มันคืออีกโลกแห่งความสงบของคนเป็นผู้ใหญ่ โลกที่ยังมีอะไรที่ไม่ใช่เพียงการทำงาน


ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ ครูส้ม ณัจยา อร่ามกุล

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

Credit: เพจ The Study Times