Friday, 4 July 2025
ค้นหา พบ 49186 ที่เกี่ยวข้อง

‘สิระ’ งานเข้า!!! ‘ศรีสุวรรณ’ เตรียมบุกกกต.จี้สอบปม ‘สิระ’ แจกข้าวสาร - หน้ากากอนามัยช่วงโควิด เกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ตามที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ แจกข้าวสาร 1 หมื่นถุงๆ 5 กิโลกรัม ให้ประชาชนชาวหลักสี่ จตุจักร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 เมื่อเดือนเม.ย. - พ.ค.63

ที่ผ่านมา และช่วงใหม่ 2564 จำนวน 1 หมื่นถุง รวมถึงแจกหน้ากากอนามัย 2 หมื่นชิ้น เพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาด ในนามกลุ่มเพื่อนสิระ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ เมื่อตรวจสอบราคาขายในตลาดจะตกถุงละ 79 บาท รวมเป็นเงิน 1,580,000 บาท ส่วนหน้ากากอนามัยประมาณ 5 หมื่นบาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 1,630,000 บาท

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นสิ่งที่ดีและสามารถทำได้ เมื่อมีเหตุอันสมควรและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ แต่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควร

และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป พ.ศ. 2561 กำหนดโดยมีราคาหรือมูลค่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะให้ได้ไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่าจำนวนที่กำหนดกฎหมายกำหนดให้นำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ซึ่งการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.62 กกต.กำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคนได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ซึ่งการแจกข้าวและหน้ากากอนามัย ของนายสิระ มูลค่าประมาณ 1,630,000 บาท เกินกว่าที่ กกต.กำหนด จึงอาจเป็นเหตุทำให้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นายสิระอาจไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกเพราะแค่ค่าสมัครอย่างเดียวก็ 1 หมื่นบาทแล้ว ดังนั้นทางสมาคมฯจะนำพยานหลักฐานมอบให้กกต.

เพื่อสั่งการให้เลขาธิการ กกต.ตรวจสอบและบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนด ในวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.นี้เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการ

‘ธนกร’ โต้ ‘เพื่อไทย’ ชี้เศรษฐกิจทรุดเพราะโควิด-19 ลั่น ‘บิ๊กตู่’ ทำดีที่สุดแล้ว แจงยิบทุกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจได้แน่ แต่ต้องใช้เวลา แขวะอย่าจ้องแต่จะค้านไปทุกเรื่อง ย้อนเอาเวลาไปประสานรอยร้าวในพรรคก่อนดีกว่า

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่าทำเศรษฐกิจทรุดต่อไปอีก 10 ปีว่า พรรคเพื่อไทยเอาเวลาไปประสานรอยร้าวภายในพรรคก่อนจะดีกว่า เพราะหลังจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ลาออกไป ทำให้เกิดรอยร้ายในพรรคถึงขนาดนายพิชัย นริพทะพันธ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่เผาผีกับนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย

ตนบอกหลายครั้งแล้วว่าเศรษฐกิจแย่เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระทบทั่วโลก พล.อ.ประยุทธ์ทำดีที่สุดแล้ว มาตรการเยียวยาต่างๆ ก็สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่ต้องใช้เวลา ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยหลายอย่างรัฐบาลก็ดูอยู่ ไม่ว่าจะเป็น

1.) เร่งปรับโครงสร้างภาษีให้เก็บเงินคนรวยมากขึ้นเพื่อมาช่วยคนจน ในภาวะที่คนจนกำลังลำบากนี้ รัฐบาลได้ศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการจำเป็นต้องอาศัยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม หลักความเป็นธรรมทางภาษี พิจารณาข้อดีข้อเสีย ขีดความสามารถในแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และความยั่งยืนทางการคลังประกอบกัน

2.) เร่งหารายได้เข้ารัฐเพิ่มจากทางอื่นนอกจากภาษีนั้น ปัจจุบันมีการดำเนินการหารายได้เข้ารัฐเพิ่มเติมนอกจากรายได้จากภาษีอย่างต่อเนื่อง เพราะคำนึงถึงการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

3.) เร่งปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มราชการ หรือ Digitalization รวมถึงการใช้ระบบบล็อกเชน ซึ่งจะแก้ปัญหาได้หลายอย่าง รวมถึงปัญหาระบบศุลกากรที่นักลงทุนต่างประเทศร้องเรียน ปัญหาการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว รัฐบาลมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบต่าง ๆ เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร ท่าเรือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

4.) เร่งส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มเอกชน เร่งส่งเสริมการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีสมัยใหม่ เร่งสร้างยูนิคอร์น ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ และ เร่งเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ สำหรับการเก็บภาษี Platform ต่างประเทศนั้น รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ จากต่างประเทศ (e-Service)) (ร่างพระราชบัญญัติฯ) โดยรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ความคืบหน้าล่าสุดร่างพระราชบัญญัติฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย

และ 5.) ลดภาษีที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐบาลได้ช่วยเหลือโดยการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตราต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว ทั้งที่มีการปล่อยความร้อนสูงกว่าน้ำมันเบนซิน แต่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า เพื่อสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ การจำหน่ายน้ำมันดีเซลในท้องตลาดมีการนำไบโอดีเซลมาผสมในสัดส่วนต่าง ๆ ซึ่งน้ำมันไบโอดีเซลไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลในท้องตลาดถูกลงด้วย

นายธนกร กล่าวด้วยว่า ส่วนนโยบายด้านการเงิน การช่วยเหลือ SMEs ในภาพรวม รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือ SMEs มาโดยตลอด โดยการให้แหล่งเงินต้นทุนต่ำควบคู่ไปกับการกำหนดกลไก ลดความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งกลไกดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในต่างประเทศ โดย SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือควรเป็น SMEs ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ (Commercial Viability) แต่ประสบปัญหาจาก โควิด-19 เท่านั้น

ทั้งนี้ หากภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือ SMEs ทั้งระบบ ซึ่งรวมถึง SMEs ไม่มีศักยภาพหรือ อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้าง ก็อาจส่งผลให้ภาครัฐมีภาระทางการคลังในอนาคตที่มากเกินความจำเป็น และ SMEs กลุ่มที่ไม่มีศักยภาพก็ยังคงจะเสียเวลาและต้นทุนไปกับการดำเนินธุรกิจที่ไม่สามารถอยู่รอดได้แทนการใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการปรับเปลี่ยนและเริ่มธุรกิจใหม่ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ดังนั้น การเพิ่มวงเงินค้ำประกันหนี้เสียที่พรรคเพื่อไทยเสนอโดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกการดำเนินการนั้น อาจไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับ SMEs และประเทศโดยรวม เนื่องจากอาจเป็นเพียงการเพิ่มวงเงินของรัฐบาลเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่สถาบันการเงิน เช่น หากเสนอให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินค้ำประกันหนี้เสียอีกร้อยละ 10 ของวงเงินรวมของโครงการ 900,000 ล้านบาท จะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกถึง 90,000 ล้านบาท เป็นต้น แต่ข้อเสนอนั้นไม่มีกลไกที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพื่อยืนยันว่า SMEs กลุ่มเป้าหมายแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากโควิด-19 จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเงินงบประมาณที่รัฐบาลใช้เพิ่ม ดังนั้น ในการเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันอาจจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน เพื่อให้แนวทางที่เสนอมาก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและ SMEs อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณากลไกเพิ่มเติมในการให้ความช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงจุด (Targeted) คุ้มค่ากับเงินงบประมาณ (Cost Effective) และเห็นผลได้จริง (Effective) และเหมาะสมกับสถานะหรือบริบทของ SMEs นอกจากนี้ สำหรับประเด็นเงิน 900,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan และ พ.ร.ก. BSF นั้น หากพรรคเพื่อไทยได้ศึกษา พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับแล้ว จะพบว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช้สินทรัพย์ของ ธปท. แต่เป็นเพดานวงเงินที่ ธปท. สามารถใช้อำนาจในฐานะธนาคารกลางเพื่อจัดสรรสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบการเงิน และนำไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. 2 ฉบับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนออะไรที่เป็นประโยชน์รัฐบาลก็รับฟัง แต่ไม่ใช่ค้านไปทุกเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรก็ผิดไปหมด ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง และอยากบอกว่าพล.ประยุทธ์อยู่แล้วประเทศดีขึ้น ไม่ได้อยู่แบบถ่วงความเจริญปล่อยให้มีการทุจริตคอรัปชันเหมือนรัฐบาลในอดีต

‘ยุทธพงศ์’ อัด ‘บิ๊กตู่’ บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว ทำราคา ‘พริก - ลอตเตอรี่’ พุ่งสูง เปิดสถิติข้อมูลพาณิชย์พบพริกแพงขึ้น 4 เท่า ซัดรัฐบาลไม่ใส่ใจหามาตรการช่วยดูแลราคาสินค้าให้ประชาชน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ม.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่าวันนี้รัฐบาลล้มเหลวทุกเรื่อง วันนี้มีประเด็นพริกเม็ดละ 1 บาท ตอนเช้าตนไปซื้อพริกจินดาที่ตลาด ราคา 12 บาท ได้ 22 เม็ด และพริกขี้หนูที่คนส่วนใหญ่ใช้บริโภคเป็นหลัก ตนตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ช่วงเดือน ม.ค.63 ราคาพริกจินดาเฉลี่ยอยู่ที่ขีดละ 4.50 บาท ช่วงเวลาเดียวกันปี 64 ราคาเฉลี่ยขีดละ 17 บาท

ซึ่งราคาพริกสูงขึ้นถึง 4 เท่า คำถามคือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม บริหารประเทศอย่างไรคนเดือดร้อนไปหมด นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ บอกมีผลงานประทับใจ ตนคิดว่าประทับใจมากจริงๆราคาพริกยังขึ้นมาถึง 4 เท่า แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ใส่ใจ ไม่มีมาตรการอะไรที่มาช่วยดูแลราคาสินค้าให้ประชาชน

นายยุทธพงศ์ ยังกล่าวถึงปัญหาการค้าสลากเกินราคาของผู้ค้ารายย่อย ว่า เกิดจากต้นทางคือยี่ปั๊วที่ขายสลากให้ผู้ค้ารายย่อยในราคา 90 - 93 บาท ทั้งที่ต้นทุนจริงอยู่ที่ 70 บาท ทำให้ผู้ค้ารายย่อยต้องมาขายเอากำไรในราคา 100 บาท พอขายเกินราคาก็ถูกตำรวจล่อซื้อจับปรับ 2,000 บาท ถ้าไม่อยากถูกจับต้องจ่ายเงินค่าส่วยลอตเตอรี่ งวดละ 300 บาท ซึ่งคนขายลอตเตอรี่ไม่ได้ขายพื้นที่เดียว ไม่ว่าจะเดินไปขายในเขตพื้นที่ไหนก็ต้องจ่ายส่วยให้แต่ละพื้นที่

โดยเฉพาะงวดวันที่ 1 ก.พ.นี้ มีเลขดัง คือ 36 และ 63 เลขชุด 5 ใบ ขาย 750 บาท ถามว่าแต่ละงวดกองสลากพิมพ์ลอตเตอรี่ทั้งหมด 1 ล้านเล่ม เล่มละ 100 ใบ ต้นทุนจริงๆ 70 บาท ยี่ปั๊วเอามาขาย 90 บาท งวดหนึ่งจะมีผลประโยชน์ประมาณ 2,000 ล้านบาท

"ผู้ค้ารายย่อยไปรอกดตู้ธนาคารกรุงไทย แต่กดไม่ได้เพราะไม่มีให้กด ทำให้ต้องมาซื้อลอตเตอรี่หน้ากองสลากไปขาย นายกฯบอกว่าจะดูแลกองสลากให้ เคยมอบหมายให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ดูแลกองสลาก ก็ไม่เห็นแก้ปัญหาได้ วันนี้ทุกคนเดือดร้อน คนขายลอตเตอรี่ไม่มีใครอยากถูกจับหรือต้องจ่ายส่วย เพราะคนเหล่านี้ยากจนลำบากอยู่แล้ว แต่ทุกคนจำเป็นต้องขาย ถามว่านายกฯในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ปัญหาลอตเตอรี่ยังแก้ไม่ได้แล้วจะไปแก้อะไรได้ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯแก้ปัญหาเรื่องนี้" นายยุทธพงศ์ กล่าว

ขนส่งฯ เปิดแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ให้สิทธิผู้ที่จองคิวล่วงหน้าทำใบขับขี่วันที่ 4 - 31 ม.ค. 64 เลือกจองคิวใหม่ได้ตั้งแต่ 1 ก.พ. - 15 มี.ค. 64 ส่วนผู้ที่จองคิววันที่ 1 ก.พ. 64 เป็นต้นไป เข้ารับบริการตามวันและเวลาที่นัดหมายตามปกติ

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงศึกษาธิการ และกรุงเทพมหานคร พิจารณาเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษา โดยให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงให้กรมการขนส่งทางบกผ่อนคลายการควบคุมการให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถ เพื่อให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งกลับมาเปิดให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถได้ตามปกติทุกกระบวนงาน ทั้งการขอรับใบอนุญาตขับรถใหม่ และการต่ออายุใบอนุญาตที่ต้องเข้าอบรมที่สำนักงานขนส่ง แต่จำกัดจำนวนผู้เข้ารับบริการในแต่ละช่วงเวลาตามมาตรการ Social Distancing โดยได้กำหนดช่วงเวลาการให้บริการ ดังนี้

1.) ผู้ที่จองคิวล่วงหน้า ไว้ในวันที่ 4 - 31 มกราคม 2564 ให้สิทธิเข้าจองคิวใหม่ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ทางแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก

2.) ผู้ที่จองคิวล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ให้เข้ารับบริการตามวันและเวลาที่นัดหมายได้ตามปกติ

3.) ผู้ที่ไม่เคยเข้าระบบจองคิวมาก่อน ให้เริ่มจองคิวตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรค ในการต่ออายุใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถขนส่ง และใบอนุญาตขับรถสาธารณะ แนะนำให้อบรมผ่านระบบ e-Learning ได้ทาง www.dlt-elearning.com และนำผลการอบรมติดต่อสำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเข้าอบรมที่สำนักงานขนส่ง

พร้อมกันนี้ ให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นไปตามประกาศจังหวัดหรือประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนการดำเนินการของโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถสิ้นอายุเกิน 1 ปี หรือ 3 ปี ในช่วงที่กรมการขนส่งทางบกงดการอบรม ประกอบด้วย 1.) ใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ สิ้นอายุเกิน 1 ปี ระหว่างวันที่ 4 มกราคม - 31 มีนาคม 2564 ได้รับการยกเว้นการทดสอบข้อเขียน 2.) ใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ สิ้นอายุเกิน 3 ปี ระหว่างวันที่ 4 มกราคม - 31 มีนาคม 2564 ได้รับการยกเว้นการทดสอบขับรถ 3.) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก สิ้นอายุเกิน 3 ปี ระหว่างวันที่ 4 มกราคม - 31 มีนาคม 2564 ได้รับการยกเว้นการทดสอบขับรถ

ส่วนเอกสารประกอบคำขอรับหรือต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือผู้ประจำรถ เช่น ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ คำขอที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ผลผ่านการอบรมจากระบบ e-Learning ที่สิ้นอายุ อนุโลมให้ใช้ประกอบการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ผ่อนผันการบังคับใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง กับผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สิ้นอายุแล้ว ยังสามารถใช้แสดงตนได้ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป การดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ใหม่ โดยจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารประกอบในการดำเนินการ

ทั้งการขอรับใบอนุญาตขับรถใหม่ การเปลี่ยนชนิด และการต่ออายุ โดยใบรับรองแพทย์ ต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐานของแพทยสภา มีสองส่วนคือ ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเองและส่วนของแพทย์ตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด

ส่องไส้ใน ส่องออกไทย รู้แล้วจะอึ้ง ! พบผู้ส่งออก 50 อันดับแรกของไทย เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ถึง 80% มีบริษัทคนไทยเพียง 20% เท่านั้น ขณะที่จำนวนบริษัทส่งออกในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 36,164 ราย

ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกของไทย เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่บางปีก็เครื่องสะดุดติดลบบ้างจากหลายเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันของโลก

โดยปี 2563 ล่าสุด ส่งออกไทยสะเทือนจากพิษโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำตัวเลขส่งออกได้มูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงจากปีก่อน -6% ส่วนในรูปเงินบาทมีการส่งออก 7.17 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง -5.9% โดยปี 2563 มีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย โดยในจำนวนนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ”ที่ได้รับจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร เผยถึง ผู้ส่งออกรายใหญ่ใน 50 อันดับแรก พบสัดส่วน 80% เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่สัดส่วน 20% เป็นบริษัทคนไทย โดยรายชื่อบริษัทส่งออก 50 อันดับแรกที่มี่มูลค่าส่งออกสูงสุดตามลำดับ ประกอบด้วย

1.) บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัด (บจก.)

2.) บจก.วาย แอล จี บลูเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล

3.) บจก.เอชจีเอสที (ประเทศไทย)

4.) บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

5.) บจก.เอ็มทีเอสโกลด์ (หรือห้างทองแม่ทองสุก)

6.) บจก.โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิปิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง

7.) บจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช

8.) บจก.ซิเลซติกา (ประเทศไทย)

9.) บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย)

10.) บจก.เวสเทิร์น ดิติตอล (ประเทศไทย)

11.) บจก.บริงค์ส (ประเทศไทย)

12.) บจก.เอเชียนฮอนด้ามอเตอร์

13.) บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (บมจ.)

14.) บจก.ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย)

15.) บจก.เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย

16.) บจก.นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย)

17.) บจก.ฟาบริเนท

18.) บจก.ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์

19.) บจก.โซนี เทคโนโลยี (ประเทศไทย)

20.) บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

21.) บจก.อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) 22.) บจก.ไทย ไลอ้อน เมนทารี

23.) บจก.แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์ (ประเทศไทย)

24.) บจก.ไมโครชิพ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์)

25.) บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

26.) บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)

27.) บจก.ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย)

28.) บจก.ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย)

29.) บจก.ยูแทคไทย

30.) บจก.มิตซูบิชิ อีเลคทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย)

31.) บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง

32.) บมจ.การบินไทย

33.) บจก.สยามมิชลิน

34.) บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (สาขา 1)

35.) บจก.บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)

36.) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล

37.) บจก.โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์)

38.) บจก.ค้าผลผลิตน้ำตาล

39.) บจก.ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม

40.) ราชการกองบัญชาการกองทัพไทย

41.) บจก.แอลแอลไอที (ประเทศไทย)

42.) บจก.ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์)

43.) บจก.สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น

44.) บจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม

45.) บจก.ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง

46.) บจก.เอสซีจี เพอร์ฟอร์มานซ์ เคมิคอลส์

47.) บจก.โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย)

48.) บจก.แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย)

49.) บจก.สแนชั่น (ไทยแลนด์)

และ 50.) บจก.แคนนอน ปราจีนบุรี (ประเทศไทย)

ทั้งนี้ในภาพรวมปี 2563 มีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย ในจำนวนนี้ที่มีมูลค่าส่งออกระดับแสนล้านบาทมีจำนวน 5 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 630,687 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.79% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ส่วนบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับหมื่นล้านบาท มีจำนวน 108 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.83 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39.47% บริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับพันล้านบาทมีจำนวน 859 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.28 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31.85% มูลค่าการส่งออกระดับร้อยล้านบาทมีจำนวน 3,521 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 1.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.76% และมูลค่าการส่งออกระดับน้อยกว่าร้อยล้านบาท มีจำนวน 31,671 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 296,655 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.13% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม

จากข้อมูลแสดงให้เป็นว่าบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกสูง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยรวมถึงบริษัทส่งออกแถวหน้าของไทย ขณะที่บริษัทส่งออกของไทยโดยรวมมีมูลค่าส่งออกน้อยกว่าร้อยล้านบาทเป็นส่วนใหญ่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การที่บริษัทส่งออกในกลุ่ม 50 อันดับแรกที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างประเทศ หรือบริษัทข้ามชาติสะท้อนให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นฐานผลิตให้กับประเทศอื่น

ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออกให้กับประเทศก็จริง แต่ถ้าพูดถึงเม็ดเงินที่ตกถึงคนไทยเองก็ไม่ได้มาก แต่ตัวเลขส่งออกส่วนใหญ่จะไปตกกับบริษัทแม่ต่างชาติเสียส่วนใหญ่ หากในอนาคตบริษัทแม่เหล่านี้พิจารณาลงทุนหรือขยายฐานการลงทุนในประเทศอื่นที่มีข้อได้เปรียบด้านต่าง ๆ ดีกว่าไทย การส่งออกที่เป็นของประเทศไทยหรือผู้ประกอบการไทยจริง ๆ จึงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วง

ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ภาคการส่งออกของไทยส่วนใหญ่อยู่ในมือของบริษัทต่างชาติแม้จะช่วยสร้างงานและสร้างเงินให้กับประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นในหลายประเด็น เช่น การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของบริษัทไทยยังใช้เทคโนโลยี หรือใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายังไม่มาก

ทำให้มูลค่าการส่งออกยังไม่สูง, ในสินค้าเกษตร หรือเกษตรแปรรูป ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยี หรอนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามาก ส่วนใหญ่ยังส่งออกในรูปวัตถุดิบ หรือแปรรูปเล็กน้อย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ผิดกับ FDI ที่ไปลงทุนในจีนจะถูกบังคับเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ทำให้จีนมีการพัฒนาสินค้ารุดหน้าไปกว่าไทยมาก เป็นต้น

"สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งทำเพื่อผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้น ได้แก่

1.) ประเมินตัวเองว่าอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรม 4.0 เพราะบางคนอาจจะยังอยู่ 1.0 2.0 หรือ 3.0 ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยมาก ซึ่งต้องเร่งปรับตัว

2.) ปรับโครงสร้างการการผลิตให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว)

3.) บริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำสุดและประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด และ

4.) รัฐบาลต้องประกาศตัวเองว่าจะผลักดันสินค้าใดของไทยบ้างให้เป็นสินค้าโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของโลก และมีแผนงานยุทธศาสตร์ในการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top