Friday, 4 July 2025
ค้นหา พบ 49186 ที่เกี่ยวข้อง

ยอดติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 103 ล้านคน ‘หมอธีระ’ ระบุมีโอกาสเห็นการระบาดในไทยที่รุนแรงขึ้นไปอีกได้ หลังจากผ่อนคลายมาตรการ 1 ก.พ.นี้ เชื่อยังมีผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวอีกมากในสังคม แนะออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ไม่กินดื่มในร้าน ซื้อกลับบ้านปลอดภัยกว่า

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thira Woratanarat’ ระบุว่า

สถานการณ์ทั่วโลก 31 มกราคม 2564 ทะลุ 103 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 542,482 คน รวมแล้วตอนนี้ 103,067,009 คน ตายเพิ่มอีก 13,591 คน ยอดตายรวม 2,226,554 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 169,432 คน รวม 26,631,590 คน ตายเพิ่มอีก 3,471 คน ยอดตายรวม 449,916 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 19,631 คน รวม 10,746,871 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 58,462 คน รวม 9,176,975 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,032 คน รวม 3,832,080 คน

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 23,275 คน รวม 3,796,088 คน

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

อีก 3 วัน สาธารณรัฐเชคจะแตะหลักล้าน ในขณะที่เนเธอร์แลนด์จะใช้เวลาอีกราว 1 สัปดาห์จะแตะล้านเช่นกัน เป็นประเทศที่ 20 และ 21 ตามลำดับ

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 349 คน ตายเพิ่มอีก 10 คน ตอนนี้ยอดรวม 139,864 คน ตายไป 3,125 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%...

วิเคราะห์จากข้อมูลที่มี..

ประเทศที่มีการระบาดซ้ำ ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถกดให้การระบาดจนหมดไปได้แบบระลอกแรก

ส่วนใหญ่แล้วจะประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจสังคม และข้อจำกัดด้านทรัพยากรในระบบสุขภาพ ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินไปจะทำได้อย่างมากคือกดการระบาดให้ต่ำลง

มีทั้งที่กดไม่ได้ แล้วระบาดรุนแรงขึ้นไปอีก

และมีทั้งที่กดลงมาได้ แต่จะมีจำนวนการติดเชื้อต่อวัน เป็นหลักสิบ หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ช่วง 4 สัปดาห์แรกของการระบาดซ้ำนั้นเป็นช่วงเวลาทองที่จะกดการระบาด หากทำสำเร็จจะมีโอกาสระบาดซ้ำรุนแรงน้อยกว่าระลอกแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักคือ การดำเนินมาตรการเคร่งครัดเฉียบขาดอย่างทันเวลา, การตรวจคัดกรองโรคอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง, และความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้หากทำได้ทั้งสามองค์ประกอบ ก็จะมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น โดยจากสถิติที่ติดตาม พบว่า มีประเทศที่รุนแรงน้อยกว่าระลอกแรก 12% ในขณะที่ส่วนใหญ่จะระบาดซ้ำรุนแรงกว่าระลอกแรก เฉลี่ยแล้วจะมียอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าเดิม 5 เท่า และสู้ยาวนานกว่าเดิมอย่างน้อย 2 เท่า

เคยคาดการณ์เพื่อให้เตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้วว่า หากเราเป็นแบบประเทศส่วนใหญ่ 88% นั้น จะมีโอกาสตรวจพบติดเชื้อต่อวันสูงราว 940 คน และสู้ยาวราว 88 วัน หรือสามเดือน เพื่อหวังให้เราวางแผนการใช้ชีวิต และเตรียมรับมืออย่างมีสติ ภายใต้ข้อมูลความรู้ที่มีไว้เพื่อเป็นไฟส่องนำทาง

พรุ่งนี้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ขอให้ดำรงชีวิตโดยเน้นความปลอดภัยนะครับ เพราะสัจธรรมคือ หากมีการเคลื่อนที่ของประชากรมากขึ้น การแพร่เชื้อรับเชื้อจะมีโอกาสมากขึ้น และด้วยข้อมูลที่ชี้ให้เห็นข้างต้นว่า น่าจะยังไม่จบศึกสงคราม จะมีผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว และใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในสังคมอยู่อีกจำนวนไม่น้อย หากทุกคนป้องกันตัวเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่จะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้ออยู่ก็ตาม โอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อกันก็จะน้อยลง แต่หากไม่ป้องกัน เพิกเฉย ละเลย รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน ก็จะมีโอกาสเห็นการระบาดที่รุนแรงขึ้นไปอีกได้

หากประเมินตามเงื่อนเวลา จุดตัดสินลักษณะการระบาดในอนาคตของเรา จะอยู่ในช่วงกลางมีนาคมเป็นต้นไป หากสามารถกดการระบาดให้จำนวนติดเชื้อต่อวันเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะมีช่วงเวลาที่ระบาดแบบน้อยๆ ไปเรื่อย ๆ ได้นานหน่อย แต่หากขยับหลักขึ้นไปจากสิบเป็นร้อยจากร้อยเป็นพันหรือเป็นหมื่น ระยะเวลาปลอดการระบาดรุนแรงก็จะน้อยลงตามลำดับ ทุกหลักที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระยะเวลาปลอดการระบาดรุนแรงสั้นลงประมาณ 3 สัปดาห์

ขณะนี้หลายประเทศมักเจอระบาดระลอกสอง แต่มีถึง 13 ประเทศแล้วที่ประสบปัญหาระลอกสามครับ ทั้งนี้ 12 ประเทศ (92.3%) มีการระบาดซ้ำที่หนักกว่าเดิม

หวังว่าพวกเราจะร่วมด้วยช่วยกัน ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างจากคนอื่นหนึ่งเมตร

ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ไม่กินดื่มในร้านหากไม่จำเป็นจริงๆ ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ต้องหยุดเรียนหยุดงานแล้วรีบไปตรวจรักษา

สวัสดีวันอาทิตย์ครับ


ที่มา : เพจ Thira Woratanarat

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ พบประชาชนส่วนใหญ่กังวลผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด - 19 แต่พร้อมฉีด ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ - ไบโอเอ็นเทค คนรู้จักมากสุด

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “คนไทยกับวัคซีนโควิด-19” จำนวน 1,570 คน สำรวจวันที่ 22 - 29 มกราคม 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนรู้จักวัคซีนไฟเซอร์ - ไบโอเอ็นเท็ค (Pfyzer- BioNTech) มากที่สุด ร้อยละ 64.27 รองลงมาคือ อ๊อกฟอร์ด-แอสตราเซเนกา (Oxford-Astrazeneca) ร้อยละ 52.55

ขณะที่ สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ ผลข้างเคียงของวัคซีน ร้อยละ 82.71 โดยต้องการจะฉีดวัคซีน แต่ขอดูผลข้างเคียงก่อน ร้อยละ 65.99 ทั้งนี้ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะป้องกันโควิด-19 ได้ ร้อยละ 63.88 และหลังจากฉีดวัคซีนแล้วจะยังดูแลสุขภาพตัวเองเหมือนช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 60.83

เรื่องวัคซีนโควิด -19 เป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อการบริหารงานของรัฐบาล เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินงานของหลายประเทศต่างมีความคืบหน้าอย่างมากในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด

ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจทั้งในเรื่องยี่ห้อวัคซีน ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง กระบวนการจัดซื้อ ความล่าช้า ราคา และความโปร่งใส นับว่าเรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลอย่างยิ่งในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน

นายวิทวัส รัตนถาวร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า จากผลสำรวจในเรื่อง “คนไทยกับวัคซีนโควิด-19” บ่งชี้ได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งในด้านของประสิทธิภาพ ราคา และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังจากการได้รับวัคซีน

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับความเชื่อมั่นของประชาชนในด้านความปลอดภัยของวัคซีน โดยสะท้อนจากผลสำรวจ ที่พบว่า ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนมากถึงร้อยละ 82.71 ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการเร่งชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละบริษัท

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ประชาชนยังคงต้องมีการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเชื้อโควิด-19 จะยังไม่ได้หายไปในระยะเวลาอันสั้นนี้ การฉีดวัคซีนมีจุดมุ่งหมายในการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง

อีกทั้งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อลง ดังนั้นการป้องกันตนเองโดยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันต่อไป

กสิกรไทย มองดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้าแกว่งในกรอบ 1,425-1,500 จุด ส่วนค่าเงินบาท ประเมินกรอบการเคลื่อนไหว อยู่ที่ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระบุ การประชุม กนง. - สถานการณ์โควิด-19 - ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/63 ของบจ. และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของไทย

บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (1 - 5 ก.พ.) มีแนวรับที่ 1,455 และ 1,425 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,480 และ 1,500 จุด ตามลำดับ

โดยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (3 ก.พ.) สถานการณ์โควิด-19 ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/63 ของบจ. และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของไทย รวมถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนม.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/63 ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI Composite เดือนม.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและจีน

ขณะที่ ค่าเงินบาท ประเมินว่า จะเคลื่อนไหว อยู่ที่ 29.80 - 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (3 ก.พ.) ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนี PMI และดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนม.ค. 64 ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนธ.ค. 63

นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนม.ค. ของจีน ยูโรโซน อังกฤษ และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/63 ของยูโรโซน ด้วยเช่นกัน

ร่วมด้วยช่วยกัน! กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถกกระทรวงการคลัง ชงมาตรการภาษี จูงใจผู้ประกอบการลดขยะพลาสติก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หลังพบปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะพลาสติก 1.6 ล้านตันต่อปี รีไซเคิลได้ 2 แสนตันเท่านั้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการทางภาษี เพื่อส่งเสริมเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการก่อขยะพลาสติก

อันจะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจ ก่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติก โดยขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ งดบริการถุงพลาสติก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชนเป็นอย่างดี ทำให้เห็นว่าแนวโน้นการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาถุงพลาสติกเป็นไปในทิศทางที่ดี

โดย กระทรวงทรัพยากรฯ มีเป้าหมายงดการนำเข้าเศษพลาสติกต่างจากต่างประเทศ ให้ได้ภายในปี 2569 จากเดิมที่ตั้งเป้าจะงดการนำเข้าเศษพลาสติกภายในปี 2570 ซึ่งจะทำให้ขยะพลาสติกในประเทศถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยระหว่างนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีกระบวนการค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะของประชาชน เพื่อการบริหารจัดการที่ดี เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 1.6 ล้านตันต่อปี สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 2 แสนตัน ดังนั้นหากมีการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถนำขยะพลาสติกกลับใช้ใหม่ได้มากกว่า 2 แสนตัน แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น แต่การคัดแยกขยะ ก็จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ศาล ชี้ ‘ธนาธร’ ไลฟ์วัคซีนโควิดฯ ผิด พ.ร.บ.คอมฯ สั่งปิดกั้น-ลบโพสต์คณะก้าวหน้าที่ทำการเผยแพร่ออกจากระบบแล้ว ส่วนม.112 ตำรวจปอท.อยู่ระหว่างดำเนินคดี ‘พุทธิพงษ์’ ยัน ยึดตามกฎหมายไม่ละเว้น

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มอบหมายทีมกฎหมายไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี( บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดที่พาดพิงสถาบันหลัก ผ่านเพจคณะก้าวหน้า ฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) พร้อมกับได้ยื่นให้ศาลพิจารณาการกระทำดังกล่าว

ล่าสุด ศาลอาญาได้ตรวจสอบ พบเว็บไซต์ เผยแพร่ข้อความภาพและคลิปวีดีโอ ที่มีเนื้อหาอันเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร ปรากฎใน 3 URLs (รายการ) ประกอบด้วย

1.) https://progressivemovement.in.th/article/3258/

2.) https://youtube/Oq7KPO5TBc8

3.) https://fbwatch/3aiaDnGJTi/

โดยพบว่าเป็นโพสต์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊คและยูทูปของคณะก้าวหน้า

ศาลจึงอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) ประกอบมาตรา 20 มีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ การไลฟ์สดของนายธนาธร เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย 3 URLs ดังกล่าว

นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า สำหรับคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ได้ยื่นแจ้งความนายธนาธรต่อ บก.ปอท.ไว้นั้น ต้องติดตามความคืบหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.และที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบหลักฐานดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ยืนยัน เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่สามารถละเว้นได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top