Tuesday, 10 September 2024
KNOWLEDGE TIMES

เจาะโลกอนาคต รถเหาะได้!! “AIR CAR” พร้อมทะยานสู่ท้องฟ้า ปี 2024!! | Knowledge Times EP.40

???? Knowledge Times BizView
???? เจาะโลกอนาคต รถเหาะได้!! “AIR CAR” พร้อมทะยานสู่ท้องฟ้า ปี 2024!! 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นช่วงเวลาที่วงการ ‘รถบินได้’ คึกคักมากเป็นพิเศษ เริ่มต้นจากการที่บริษัททางการเงินและการลงทุนระดับโลกอย่าง Morgan Stanley ออกมาบอกว่าอุตสาหกรรม ‘รถบินได้’ จะทำรายได้มหาศาลและมีเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาทในปี 2040 หรืออีกแค่ 20 ปีข้างหน้า! ซึ่งจุดชนวนให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาแข่งขันและพัฒนานวัตกรรมนี้ เพื่อเป็นคนแรกในตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง ขณะที่บนท้องฟ้ายังเปิดกว้างและเป็นตลาดใหม่ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ!  

อย่างเช่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท Klein Vision ในประเทศสโลวาเกีย ได้ทดลองรถต้นแบบ Air car ที่ใช้เวลาพัฒนายาวนานตั้งแต่ยุค 1980 โดยใช้เวลาทดลองบินบนฟ้าราว 35 นาที รวมระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร 

สำหรับรถต้นแบบ Air car ของ Klein Vision เป็นรถที่มีรูปทรงสปอร์ต สามารถวิ่งบนถนน พับปีกเข้าหาลำตัวได้ ใช้เวลาแปลงร่างจากรถยนต์ธรรมดาให้มีปีกออกมา 2 นาที 15 วินาที 

และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์อย่าง Honda ก็ประกาศแผนพัฒนาและผลิต ‘Honda Jet’ ตัวต้นแบบในอีก 2 ปีข้างหน้า และกำหนดที่จะเข้าสู่วงจรการผลิตแบบเต็มรูปแบบในปี 2030 ซึ่งจะสามารถบินได้ไกลกว่าที่โลกเคยผลิตออกมากว่า 4 เท่า หรือสามารถบินได้ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร

ดูเหมือนว่าปี 2030 จะเป็นหมุดหมายสำคัญของบริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่มหานครลอสแอนเจลิสได้กลายเป็นเมืองอันดับต้น ๆ ของโลกที่จะมีบริการแท็กซี่ Urban Air Mobility หรือ ‘บริการแท็กซี่ทางอากาศส่วนบุคคล’ ซึ่งมีแผนการที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 เช่นกัน ภายใต้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่างฮุนได ซึ่งนอกจากจะเอาจินตนาการมาจากรถบินได้ ที่ถูกปรับให้เป็น Vertical Takeoff and Landing มีลักษณะเป็นเครื่องบินแท็กซี่ขนาดเล็กแล้ว ยังออกแบบ Hub สำหรับการจอดรวมไปถึงรถ Shuttle bus รับส่งผู้คนเรียกได้ว่าครบวงจร ซึ่งตอนนี้อยู่ภายใต้การพูดคุยและทำงานร่วมกันกับสภาเมืองลอสแอนเจลิส 

และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง ‘เอแอลไอ เทคโนโลยี’ (A.L.I Technologies) บริษัทสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโดรน ได้เปิดตัวโฮเวอร์ไบค์ มอเตอร์ไซค์บินได้รุ่นเอ็กซ์ทูริสโม ลิมิเต็ด อิดิชั่น ในราคาคันละ 77.7 ล้านเยน (หรือราว 22.6 ล้านบาท) ที่ติดตั้งเครื่องยนต์แบบดั้งเดิมและมอเตอร์พลังงานแบตเตอรี่ 4 ตัว ซึ่งทำให้บินได้นานถึง 40 นาทีที่ความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

‘ไดสุเกะ คาตาโนะ’ ซีอีโอของ เอแอลไอ เทคโนโลยี เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ‘โฮเวอร์ไบค์’ มีลักษณะเหมือนรถมอเตอร์ไซค์ที่ตั้งอยู่ด้านบนของใบพัดและมีฐานจอดอยู่ด้านล่าง บริษัทของเขา ซึ่งมีบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริคและเคียวเซรา สองบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุน ได้สาธิตการนำโฮเวอร์ไบค์ขึ้นบินเป็นช่วงระยะทางสั้น ๆ เพียงไม่กี่เมตรที่สนามแข่งรถแห่งหนึ่งใกล้ภูเขาฟูจิ และยังระบุว่า ในช่วงแรก ๆ โฮเวอร์ไบค์จะถูกจำกัดการใช้งานในสถานที่บางแห่งเท่านั้น และจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำไปบินเหนือท้องถนนทั่วไปในญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี คาดว่าโฮเวอร์ไบค์อาจเป็นประโยชน์ต่อทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. นี้เอง แบรนด์รถ EV สัญชาติจีน ก็ได้รุกตลาดยุโรป เปิดตัวนวัตกรรมสุดว้าวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าบินได้ โดย HT Aero บริษัทผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศในเขตเมือง หรือ (UAM : Urban air mobility) บริษัทในเครือ XPENG (เสี่ยวเผิง) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ได้นำโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าบินได้ไปนำเสนอในงาน EUROPEAN ROTOR 2021 ที่จัดขึ้นในเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นที่แรกที่เปิดตัวรถยนต์ดังกล่าว

โดย HT Aero ได้เริ่มพัฒนา "X2" ยานยนต์ 2 ที่นั่งที่สามารถเดินทางทั้งบนบกและอากาศตั้งแต่ปี 2013 ผ่านการทดสอบมาแล้วมากกว่า 15,000 ครั้ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้มีการอัปเกรดคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ รวมถึงระบบควบคุมการบิน ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และระบบร่มชูชีพ ภายนอกมีลักษณะคล้ายรถซูเปอร์คาร์ แต่มีการติดตั้งใบพัดขนาดใหญ่ข้างตัวรถ ซึ่งสามารถพับเก็บได้โดยอัตโนมัติ และมีการออกแบบให้มีน้ำหนักเบา บริษัทเผยว่ายานยนต์ดังกล่าวมีน้ำหนักอยู่ที่ 560 กิโลกรัม ยาว 4.97 เมตร กว้าง 4.78 เมตร สูง 1.36 เมตร สามารถทำความเร็วสูงสุด 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้ในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร

โดยขณะนี้ X2 ยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่วางจำหน่าย แต่คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2024 นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของบริษัท XPENG ในยุโรป 

มาถึงวันนี้ รถบินได้ คงไม่ใช่นวัตกรรมที่ไกลเกินเอื้อมของมนุษย์อีกต่อไป เราเดินทางมากับจินตนาการที่จะมี ‘รถเหาะได้’ มานานนับศตวรรษ และคงเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะจินตนาการของมนุษย์นั้น มีพลังมหาศาลที่จะขับเคลื่อนโลกใบนี้เสมอ 

ซึ่งไม่ว่ามันจะล้ำหน้าขนาดไหน แต่หัวใจสำคัญของนวัตกรรมที่ดี คือ นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และทำให้สังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เพียงตอบสนองต่อประโยชน์แค่กับคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมใด ทรัพยากรที่ใช้ก็คือทรัพยากรที่เราใช้ร่วมกัน

ฉีดครบก็ไม่รอด! ‘สหรัฐฯ' วิกฤตยอด ‘ป่วยหนัก-ตาย’ พุ่ง เล็งหาทางออกด้วย ‘เข็มบูสเตอร์’!! | Knowledge Times EP.39

????รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
????ฉีดครบก็ไม่รอด! ‘สหรัฐฯ' วิกฤตยอด ‘ป่วยหนัก-ตาย’ พุ่ง เล็งหาทางออกด้วย ‘เข็มบูสเตอร์’!!

ในช่วงที่ผ่านสหรัฐอเมริกา ได้ประสบปัญหายอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นรวมไปถึงผู้ที่ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต ซึ่งจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮ็อปกินส์ ได้ระบุว่า มีจำนวนผู้สังเวยชีวิตให้กับโควิด-19 ในปี 2021 แซงหน้าปี 2020 ไปเป็นที่เรียบร้อย และจะยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

โดยก่อนหน้านี้ นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ ได้กล่าวโทษประชาชนราว 60 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ฉีดวัคซีนแต่ไม่เข้ารับวัคซีนว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น 

และได้อ้างถึงข้อมูลของอิสราเอลที่บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันโควิดเข็มบูสเตอร์ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อและป่วยหนัก ซึ่งทางนักวิจัยในอิสราเอลได้เปิดเผยผลการศึกษาผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ / ไบออนเทคแล้วเกือบ 4.8 ล้านคน

พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนลดน้อยลงเรื่อย ๆ โดยคนทุกกลุ่มอายุที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็สอดคล้องกับเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังพุ่งสูงขึ้นในสหรัฐฯ 

โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตือนว่า กำลังพบจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนครบเข็มแล้ว แต่ยังป่วยหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือต้องเข้าห้องฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันลดลงในการป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรง 

ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ถูกคาดหมายว่าจะอนุมัติฉีดเข็มกระตุ้นวัคซีนไฟเซอร์ / ไบออนเทค สำหรับบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป

โดยแพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) รายงานพบประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงในหมู่คนชราและผู้พักอาศัยในสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งจำนวนมากเป็น กลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เมื่อฤดูหนาวปีที่แล้ว

โดยเธอได้กล่าวว่า "แม้ความเสี่ยงสูงสุดคือคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน แต่เรากำลังพบเห็นคนชราอายุ 65 ปีขึ้นไป ถูกส่งเข้าแผนกฉุกเฉินเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้กลับมาสูงกว่ากลุ่มคนอายุต่ำกว่าอีกครั้ง”

และเธอได้ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลเปรียบเทียบ จากอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มกับคนที่ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว โดยกล่าวว่า "อัตราการติดเชื้อต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัดสำหรับคนที่ฉีดเข็มกระตุ้น แสดงให้เห็นว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นของเรากำลังได้ผล" 

อย่างไรก็ตาม แม้เคสฉีดวัคซีนครบเข็มแล้วแต่ยังป่วยหนักถึงเข้าโรงพยาบาล แต่ทั้งเฟาซีและวาเลนสกี เน้นย้ำว่าผู้ป่วยหนักเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

โดยจากข้อมูลของทางซีดีซีระบุว่าจนถึงตอนนี้มีประชาชนชาวสหรัฐฯ อย่างน้อย 31 ล้านคนที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของไฟเซอร์ โมเดอร์นาและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แม้อัตราคนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ แต่ เฟาซีคาดหมายว่าจะมีคนฉีดวัคซีนแล้วเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น เนื่องจากวัคซีนไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการป่วยหนัก

โดยล่าสุดคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบสหรัฐฯ ได้ขยายขอบเขตผู้มีสิทธิ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น แก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ทุกคน เปิดทางให้ชาวอเมริกันอีกหลายล้านคนได้รับภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม เพื่อต้านทานไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางเคสผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับคนที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค หรือ โมเดอร์นา ครบ 2 เข็ม มาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

หลังจากก่อนหน้านี้คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบสหรัฐฯ ได้อนุมัติฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นวัคซีนเข็มเดียวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 2 เดือนหลังฉีดเข็มแรกไปแล้ว 

และที่ผ่านมา สหรัฐฯ อนุมัติฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่บุคคลที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ กลุ่มคนชราอายุ 65 ปีขึ้นไปและบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ ที่ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงติดเชื้ออาการรุนแรง รวมไปถึงคนที่มีอาชีพหรือสภาพความเป็นอยู่เสี่ยงติดเชื้อไวรัส ซึ่งจนถึงตอนนี้มีชาวอเมริกันเข้าฉีดเข็มกระตุ้นแล้วมากกว่า 32 ล้านคน

ในขณะที่ ปัจจุบันมีชาวสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนครบเข็มแล้วคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ซึ่งหมายถึงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคหรือโมเดอร์นา ครบ 2 เข็ม และฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเข็มเดียว 

ดังนั้นปัญหายอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในสหรัฐฯ ที่สวนทางกับยอดผู้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีน ทำให้ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ตระหนักถึงปัญหาและได้ออกนโยบายให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อหวังให้ยอดผู้ติดเชื้อและป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้นลดลง ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ว่าสหรัฐฯ จะสามารถก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้หรือไม่

เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้! วิกฤตตลาดหุ้น ‘สหรัฐ’ ! ‘รักษาหน้า’ จนฟองสบู่ ‘ใกล้แตก’! | Knowledge Times EP.38

????Knowledge Times BizView | EP.38
????เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้! วิกฤตตลาดหุ้น ‘สหรัฐ’ ! ‘รักษาหน้า’ จนฟองสบู่ ‘ใกล้แตก’!

จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร คนตกงาน ธุรกิจต่าง ๆ ปิดตัวลง ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างดูเหมือนจะเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น

โดยในภาค Main Street ซึ่งก็คือ ภาคเศรษฐกิจจริง อันมีธุรกิจที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นการทำธุรกิจแบบยั่งยืน โดยสหรัฐฯ นั้นย่ำแย่มานานจากผลของการระบาดจากโควิด-19 รวมไปถึงปัญหาการเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ อันเป็นระบอบที่เน้นชนชั้นสูง ผู้นำทางการเงิน ชนชั้นในตลาดหุ้นเป็นหลัก หรือ The winner Takes All (ใครมือยาวสาวได้สาวเอา)

ในขณะเดียวกันที่ภาค Main Street ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 แต่ในด้านของตลาดหุ้นกลับดูเหมือนว่าไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้น NASDAQ (แนสแด็ก) ตลาดหุ้นที่เกี่ยวกับ Tech Company ซึ่งราคาในตลาดหลักทรัพย์มีแต่ขึ้นกับขึ้น แต่ในความเป็นจริง นี่คือลักษณะของการเกิดฟองสบู่ เสียมากกว่า

ย้อนกลับไปในยุคที่สหรัฐฯ นั้นรุ่งเรืองมากที่สุด ซึ่งผลิตสินค้าโภคภัณฑ์มากมายในอดีต เช่น Ford ซึ่งในยุคนั้นสหรัฐฯ เน้นผลิตจากภาคการผลิตจริง ในช่วงยุค 60s 70s 

แต่หลังจากนั้นสหรัฐฯ มีความเชื่อว่าการอัดฉีดเงินเข้าไปในตลาดหุ้น เป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ตลาดหุ้นยังกลายเป็นที่ทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้น และ CEO แต่ละบริษัทจะได้กำไรมากหรือน้อยไปขึ้นอยู่กับผลประกอบการ

จึงยิ่งทำให้คนไปเน้นตัวเลขที่ตลาดหุ้น มากกว่าการผลิตจริง แน่นอนว่าการที่จะสร้างกำไรมหาศาลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ต้องมีการตัดค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท 

ซึ่งการตัดค่าใช้จ่ายในจุดต่าง ๆ นั้น ทำให้ภาคการผลิตจริงอ่อนแอ ไม่ว่าจะแรงงานครัวเรือน ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง อ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ เพราะยิ่งลดค่าใช้จ่ายมากเท่าไหร่ ผู้ถือหุ้นก็จะสร้างกำไรได้มากขึ้นเท่านั้น และในขณะเดียวกัน CEO ก็จะได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นี่จึงกลายเป็นจุดตัดของ ‘Main Street’ กับ ‘Wall Street’

ซึ่งถ้าหากพูดถึงภาค Main Street ของสหรัฐฯ ในขณะนี้ ไม่ว่าจะมีการแพร่ระบาดของ Covid-19 หรือไม่ ต่างก็ถูกกดทับในเชิงโครงสร้างมาโดยตลอดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลพวงจากวิธีคิดเหล่านี้

และยิ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม จึงทำให้ขณะนี้ในสหรัฐฯ มีคนตกงานไปแล้วกว่า 107 ล้านคน จากการรายงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed อันเป็นผลพวงจากโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปในทุกจุดของโลก อันทำให้แรงงานต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ

แต่ในทางกลับกันภาค ‘Wall Street’ ที่ยึดผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ดังนั้นการที่หุ้นตกลง นั่นเป็นเสมือนการเสียหน้า อันมีความเชื่อว่าถ้าดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ต่ำเมื่อไหร่ แสดงถึงเศรษฐกิจที่ไม่ดี

เรียกว่าเป็น ‘ตลาดหุ้นแบบสุดโต่ง’ โดยที่แทบไม่ได้สนใจในภาค Main Street และที่ผ่านมา เพื่อรักษาหน้าตลาดหุ้น ‘ธนาคารกลางสหรัฐฯ’ ได้พิมพ์แบงก์จำนวนมหาศาล มาอัดฉีดในตลาดหุ้น 

แทนที่จะนำเงินมาอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจจริง หรือนำไปทำประโยชน์อื่น ๆ แต่ปรากฏว่าในสมัยใหม่ ลัทธิที่ใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเข้าไปอัดระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในอดีตเงินส่วนนี้มักนำไปใช้ในการสร้างโปรเจกต์ยักษ์เพื่อสร้างงานให้กับคน รวมไปถึงการพิมพ์แบงก์ 

แต่ในปัจจุบันกลับนำเงินเข้าไปอัดในตลาดหุ้น ซึ่งเหตุผลที่สหรัฐฯ เลือกทำเช่นนี้ นั่นเป็นเพราะนี่คือวัฒนธรรมที่ต้องรักษาภาพพจน์ของตลาดหุ้น เพราะมีความเชื่อว่าตัวเลขในตลาดหุ้นดีเท่าไหร่ นั่นยิ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ดี

ดังนั้นเมื่อมีการอัดฉีดเงินเข้าไปอยู่ตลอด จึงทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในสหรัฐฯ นั้นมีภาพที่ดี เพราะมักใช้ตัวเลขดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ แล้วอัดเงินเข้าไปตรงจุดนี้ให้เยอะ ๆ เพื่อดึงเงินจากทั่วโลกให้มาลงในตลาดหุ้นสหรัฐ 

ซึ่งเป็นเทคนิคในการล่อใจนักลงทุนทั่วโลก ด้วยการเอาหุ้นบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่เป็นหลักในการฉีดเงินเข้าไป เพื่อให้เกิดอุปทานหมู่และเงินจากทั่วโลกก็จะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่หากมองเนื้อในที่แท้จริง มีเพียง 20% เท่านั้น ที่ราคาตลาดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ นั้นดีจริง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่สมดุล

ดังนั้น การอัดฉีดเงินเข้าไปโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงย่อมทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้น ซึ่งในขณะนี้ก็กำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะขาดรากฐานจากความเป็นจริง 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ แท้จริงแล้วรากฐานอาจไม่ได้แข็งแรงและมั่นคงอย่างที่คิด แต่การอัดฉีดเงินเข้าไปมหาศาล เพื่อสร้างภาพพจน์ออกมาให้ดูดี และดึงดูดนักลงทุนนี้ แม้จะเป็นกลยุทธ์ที่อาจใช้ได้ผลในระยะหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่ ‘ฟองสบู่’ อาจจะ ‘แตกสลาย’ ลงเมื่อไหร่ก็ได้ 

ตำนานบทใหม่ ‘จีน 3.0’ !! “มติครั้งประวัติศาสตร์” ส่ง ‘สี จิ้นผิง’ นั่งแท่นปกครองจีนตลอดกาล?! | Knowledge Times EP.37

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
???? ตำนานบทใหม่ ‘จีน 3.0’ !! “มติครั้งประวัติศาสตร์” ส่ง ‘สี จิ้นผิง’ นั่งแท่นปกครองจีนตลอดกาล?! 

การประชุมใหญ่แบบเต็มคณะครั้งที่ 6 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจบลงแล้ว! ซึ่งก็เป็นไปตามคาดการณ์ เมื่อที่ประชุมมีการรับรอง “มติประวัติศาสตร์” คือ การยกย่องให้ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ปูทางให้ครองอำนาจต่อสมัยที่ 3 รวม 15 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น…หลังจากก่อนหน้านี้จีนได้แก้กฎหมายที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ 2 สมัย เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา

ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า “มติประวัติศาสตร์” เป็นความพยายามเสริมสร้างสถานะของ “สีจิ้นผิง” ให้เทียบเท่า “เหมาเจ๋อตง” ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ “เติ้งเสี่ยวผิง” ผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากประธานเหมา และเป็นผู้ที่เปิดประเทศจีน

เพราะในอดีตมีการผ่านมติลักษณะดังกล่าวเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือในยุคของประธาน “เหมาเจ๋อตง” และครั้งที่ 2 คือ “เติ้งเสี่ยวผิง” นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า นัยสำคัญของ “มติประวัติศาสตร์” คือการใช้เป็นเครื่องมือ หรือช่องทางแก้ไขความผิดพลาดในอดีต และเป็นหมุดหมายในการปรับทิศทางสังคมครั้งใหญ่

ย้อนไปเมื่อครั้งแรกที่ประกาศในที่ประชุมใหญ่พรรคเมื่อปี 1945 “มติประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 1” ช่วยให้ “เหมาเจ๋อตง” รวบรวมความเป็นผู้นำเพื่อให้มีอำนาจเต็มที่ ก่อนการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ส่วน “มติประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 2” เกิดขึ้นเมื่อปี 1981 หลังเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจได้ 2 ปี ในคราวนั้นได้พยายามชำระประวัติศาสตร์ด้วยการวิจารณ์ความผิดพลาดนโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ของ “เหมาเจ๋อตง” ที่ทำให้ประชาชนอดอยากและล้มตายเป็นจำนวนมาก   

ด้าน BBC รายงานบทวิเคราะห์ของ “อดัม นี” บรรณาธิการ China Neican ว่า “สีจิ้นผิง” กำลังทำตัวเองให้เหมือนเป็นฮีโร่ในมหากาพย์เส้นทางการเดินทางของประเทศ ด้วยการผลักดันผ่านมติประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้เขาเข้าไปอยู่เป็นศูนย์กลางเรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์และจีนสมัยใหม่

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิเคราะห์ว่า “มติประวัติศาสตร์” นี้ เป็นสัญญาณว่าจีนอาจย้อนกลับไปสู่ ‘ลัทธิบูชาบุคคล' หลัง “สีจิ้นผิง” เดินหน้ากระชับอำนาจมานานหลายปี เพราะจีนมีบทเรียนที่เคยพาประเทศไปสู่โศกนาฏกรรมมาแล้วในอดีต ย้อนไปสมัย “เหมาเจ๋อตง” ผู้นำคนแรกที่นำแนวคิด “มาร์กซิส” มาใช้ ส่งผลให้ในทศวรรษถัดมา จีนเผชิญกับ ‘ทุพภิกขภัย’ ครั้งใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตจากความอดอยากมากถึง 30 ล้านคน!! 

ความสุดโต่งของนโยบายนี้เอง จึงทำให้ “เติ้งเสี่ยวผิง” ผู้นำคนถัดมา ได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหาร ป้องกันการรวมอำนาจปกครองไว้ที่ผู้นำเพียงคนเดียว ด้วยการให้คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สูงสุดจำนวน 7 คน เพื่อคานอำนาจผู้นำพรรค

อย่างไรก็ตาม ข้ามเวลามาใน ปี 2018 สภาประชาชนแห่งชาติจีน กลับลงมติรับรองให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกบทบัญญัติที่จำกัดจำนวนวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่เกิน 2 สมัย เพื่อเปิดทางให้ “สีจิ้นผิง” ครองอำนาจในฐานะประมุขของประเทศไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะสละตำแหน่ง ส่งผลให้ในปัจจุบัน “สี จิ้นผิง” คือ ผู้นำจีนที่ทรงอำนาจที่สุดนับตั้งแต่ยุคเหมาเจ๋อตง และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก ซึ่งมาไกลเกินกว่าที่คนรุ่นก่อนจะคาดคิด

ขณะที่ “ดร.ชง จา เอียน” จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า จีนยืนอยู่ในจุดที่สามารถมองย้อนกลับไปเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหาร และการได้รับการยอมรับสถานะในฐานะชาติมหาอำนาจของโลก โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และบรรดาผู้นำต่างอยู่ในอำนาจโดยที่ไม่มีฝ่ายค้านในประเทศ "อาจพูดได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุค สี จิ้นผิง ได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จสำหรับตัวพรรคและสำหรับประเทศจีน"

ถึงอย่างนั้นแล้ว การเมืองเป็นเรื่องที่อาจพลิกผันได้ และแม้จะมีหลักฐานมากมายว่า “สี จิ้นผิง” ได้กุมอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ในขณะเดียวกัน “อดัม นี” ก็กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกด้วยว่า “แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในอนาคต การเมืองระดับชนชั้นนำของจีนเต็มไปด้วยความลับ และมีเรื่องราวอีกมากที่เรายังไม่รู้" 

ส่วนความท้าทายใหญ่ที่สุดในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 กำลังเผชิญกับศึกใหญ่ทั้ง 2 ทาง คือการแข่งขันกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ สงครามการค้าและเทคโนโลยี บวกกับบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่เป็นมิตร รวมทั้งกรณีไต้หวันและทะเลจีนใต้ 

และการเผชิญกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยโครงสร้างประชากรสูงอายุ และความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจ แม้ว่า “สีจิ้นผิง” มองว่าความท้าทายเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้นำที่แข็งแกร่ง... แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความเสี่ยงมหาศาลที่ต้องพิสูจน์ฝีมือตัวเองเช่นกัน

โลกหลังโควิด!! “Tele Health” ใกล้หมอ..แค่ปลายนิ้ว มิติใหม่ของการพบแพทย์ | Knowledge Times EP.36

???? Knowledge Times BizView | EP.36
???? โลกหลังโควิด!! “Tele Health” ใกล้หมอ..แค่ปลายนิ้ว มิติใหม่ของการพบแพทย์

เราอาจจะเริ่มคุ้นหู หรือได้เห็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับบริการสุขภาพทางไกล ที่เรียกว่า “Tele Health” กันมาบ้าง... ซึ่งเจ้า Tele Health นี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การใช้งานอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ด้วยช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานี้ ทำให้ “Tele Health” กลับกลายเป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ส่งผลให้ความต้องการในการใช้งานเติบโตอย่างก้าวกระโดดของวงการแพทย์  

กรณีตัวอย่างของสหรัฐฯ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากในปี 2020 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนช่องทางการใช้บริการด้านสุขภาพ มาสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยจากงานวิจัยของ “McKinsey” พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ หันมาใช้บริการ Tele Health เพิ่มขึ้นจาก 11% ของผู้บริโภคในปี 2019 มาอยู่ที่ 46% ในปี 2020

เนื่องจาก Tele Health เป็นรูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์ที่สุดในสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้ป่วยมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังโรงพยาบาล ในกรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้มีการเลื่อนการรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินออกไป

แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางส่วนยังมีความต้องการคำปรึกษาและคำแนะนำในการรักษาอาการป่วยทั่วไป ทำให้หันมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม Tele Health ในการรักษาพยาบาลออนไลน์กันมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายแล้วแต่ Tele Health ยังเป็นรูปแบบของการให้บริการด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจากผลสำรวจของ McKinsey ดังกล่าวข้างต้นยังพบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ราว 76% ตอบว่ายังสนใจจะใช้บริการ Tele Health ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว เช่นเดียวกันกับในหลาย ๆ ประเทศที่ Tele Health เข้ามามีบทบาทมากขึ้น  

ขณะที่ ‘Statista’ ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดชั้นแนวหน้าของโลก ได้มีการคาดมูลค่าตลาด Tele Health ของโลกในช่วงปี 2019 ถึงปี 2026 จะเติบโตราว 21% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 6 ล้านล้านบาทไทย

สำหรับในไทย Tele Health ถูกนำมาใช้มากขึ้นโดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาลทางไกล หรือที่เรียกว่า “Telemedicine” ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นไปที่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษาและควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง แต่โควิด-19 นับเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ส่งผลให้ Telemedicine เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่เพียงแต่การให้คำปรึกษาการรักษาพยาบาลขั้นต้น เช่น อาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง เท่านั้น

แต่ Telemedicine มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ในการรักษา สำหรับกรณีที่ต้องมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งผู้ป่วยต้องมีการนัดพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) นี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับเทรนด์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้น Telemedicine จึงเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์การรักษาอย่างดีในหลายด้าน

นอกจากนี้ยังมีทั้งความสะดวกสบาย ที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลเกินความจำเป็น และลดความแออัดของสถานพยาบาล โดยเฉพาะสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลยังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดียิ่งขึ้นด้วย 

แม้ว่า Tele Health จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโต เนื่องจากการตรวจของแพทย์ผ่านทาง VDO ยังมีข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยที่ต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ร่วมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ Tele Health ประสบความสำเร็จจากการให้บริการสุขภาพทางไกลแบบครบวงจรอีกด้วย ซึ่งแพลตฟอร์ม “Ping An Good Doctor” เป็นตัวอย่างของแพลตฟอร์มด้าน Health Tech ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในจีน จากการมีบริการที่ครบวงจรครอบคลุมทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ ตลอดจนการมีเครือข่ายโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังมีระบบที่ผู้ป่วยสามารถรับยาได้อย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศด้วย ซึ่งจุดแข็งอีกด้านหนึ่งของ Ping An Good Doctor คือ การมีบริษัทย่อยเป็นบริษัทประกัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าของบริษัท สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลที่ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มกับบริษัทประกันได้ ทำให้ผู้ป่วยหันมาใช้บริการมากขึ้น และยังได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้บริการ Telemedicine ในไทยเกิดเร็วขึ้น และกลายเป็น New Normal ของการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้เองภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในการผลักดัน และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึง “Tele Health” ให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขในระยะยาว ลดต้นทุน - ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐต้องแบกรับภาระสูง และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย

‘ยาเม็ด’ พลิกโลก!! ‘โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด’ พิชิตโควิด-19 !! | Knowledge Times EP.35

????รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
????‘ยาเม็ด’ พลิกโลก!! ‘โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด’ พิชิตโควิด-19 !!

จะดีแค่ไหนหากไวรัสตัวร้ายอย่างโควิด-19 จะสามารถรักษาได้ด้วย ‘ยาเม็ด’

โดยยาเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เมื่อมีการตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ในทันที เพื่อป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล

แน่นอนว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่โลกต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ ต่างก็พยายามหาทางออกเพื่อรักษาและป้องกันโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในทางออกก็คือ ‘ยาเม็ด’ ที่จะมาช่วยรักษาและกู้วิกฤตครั้งนี้ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเมอร์คและไฟเซอร์ก็ได้ประกาศว่า พวกเขาบรรลุเป้าหมายยิ่งใหญ่นั้นแล้ว

โดยในต้นเดือนตุลาคม เมอร์ค แถลงว่า กำลังขออนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์กรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯ ในด้านของไฟเซอร์ก็เพิ่งจะขออนุมัติใช้ยาแพกซ์โลวิดเมื่อไม่กี่วันก่อน

สำหรับการทำงานของยาทั้งสองตัวเป็นเสมือนยาต้านไวรัส ที่ช่วยลดความสามารถในการแบ่งตัวของไวรัส พร้อมชะลอการเกิดโรค การันตีด้วยผลการทดลองของเมอร์คและไฟเซอร์ ที่บ่งชี้ว่า ผู้ที่รับยาโมลนูพิราเวียร์มีความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลหายไป 50% ส่วนคนที่รับยาแพกซ์โลวิดลดความเสี่ยงได้เกือบ 90%

แต่แน่นอนว่าการนำยาทั้ง 2 ตัวมาเปรียบเทียบอัตราประสิทธิภาพกันตรง ๆ ก็คงไม่ได้ เนื่องจากใช้ระเบียบวิธีศึกษาแตกต่างกัน

และแม้ในปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาโควิด-19 อยู่แล้วก็ตาม แต่ล้วนเป็นการรักษาในรูปแบบแอนติบอดีสังเคราะห์ ที่ใช้ในผู้ป่วยรุนแรงซึ่งต้องรับยาด้วยวิธีการฉีด ในทางกลับกันการใช้ยาเม็ดย่อมทำให้การรักษาง่ายขึ้น เพียงแค่สั่งยาให้คนไข้นำไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น

ถึงแม้ว่ายาของเมอร์คและไฟเซอร์ที่ใช้ประมาณ 1 ชุด หรือ คอร์สรักษา เป็นเวลา 5 วัน และในปัจจุบันยังไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ แต่นั่นก็ชวนคิดถึงข้อจำกัดของยาเม็ดพิชิตโควิด-19 นี้ ว่าจะมีข้อจำกัดบ้างหรือไม่

เนื่องจากทั้งสองบริษัทออกแถลงการณ์ของตนเองโดยที่ยังไม่เผยแพร่ผลการทดลองทางคลินิก นั่นจึงทำให้ประเมินความเหมาะสมจากยาของเมอร์คและไฟเซอร์ได้ยาก

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชาวฝรั่งเศส ถึงกับออกมาเตือนว่า ต้องระวังกับคำประกาศแบบนี้จนกว่าจะตรวจสอบผลการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เพราะถ้ามียารักษาโควิดย่อมหมายถึงโอกาสทางการตลาดอันมหาศาลของบริษัทยา

แต่แน่นอนว่าแม้จะมีการออกมาเตือน แต่สัญญาณบางอย่างจากเมอร์คและไฟเซอร์ กลับตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าทั้ง 2 บริษัทยักษ์ไม่ได้ให้คำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ จากการที่บริษัทหยุดการทดลองทางคลินิกเร็วเกินคาดเพราะได้ผลน่าพอใจเป็นอย่างยิ่งชนิดที่คณะกรรมการตรวจสอบอิสระเห็นชอบด้วย

อย่างไรก็ตาม ‘ยาเม็ด’ รักษาโควิดทั้ง 2 ตัว ก็ยังคงเป็นความหวังใหม่ของชาวโลกที่จะเข้ามากู้วิกฤตโควิด-19 ซึ่งล่าสุดหน่วยงานสาธารณสุขจากเมืองผู้ดีอย่างสหราชอาณาจักร ก็เป็นชาติแรกที่ไฟเขียว ใช้ยา ‘โมลนูพิราเวียร์’ ในการรักษาโควิด-19

โดยอนุมัติใช้ในผู้ป่วยระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยร้ายแรง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

ในด้านสหรัฐฯ เอง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แถลงว่า ‘รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการสั่งจองยาเม็ดต้านโควิด-19 แพกซ์โลวิดจากบริษัทไฟเซอร์แล้วหลายล้านคอร์ส ซึ่งถ้าหากยาแพกซ์โลวิดได้รับการอนุมัติโดย FDA แล้ว ทางการสหรัฐฯ อาจจะนำยาเม็ดต้านโควิดนี้มาใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทันที ซึ่งการรักษาด้วยยาเม็ดแพกซ์โลวิดจะกลายเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งในการคุ้มครองประชาชนจากผลร้ายแรงที่สุดของโควิด-19'

ในด้านประเทศไทยเอง ก็ได้ลงนามเบื้องต้นกับไฟเซอร์ไว้แล้วเช่นกัน โดยเมื่อผ่านขั้นตอนการอนุมัติจาก อย. สหรัฐอเมริกา และมีการดำเนินการตามขั้นตอน อย. ในไทยแล้วจึงมีการลงนามยืนยันคำสั่งซื้อต่อไป

และถึงแม้ว่าไฟเซอร์ยังไม่ได้กำหนดราคายาแพกซ์โลวิด แต่บริษัทให้คำมั่นว่าจะเป็นยาที่ ‘เข้าถึงได้’ โดยใช้วิธีกำหนดระดับราคาตามฐานรายได้ประเทศผู้ซื้อ และกำลังเจรจาทำสัญญาซื้อขายกับอีก 90 ประเทศเพื่อให้เข้าถึงยาเม็ด ‘แพกซ์โลวิด’ ได้เร็วที่สุด โดยไฟเซอร์คาดว่าจะผลิตยาเม็ดได้ 180,000 คอร์ส ในช่วงสิ้นปีนี้ และอย่างน้อย 50 ล้านคอร์ส ในช่วงสิ้นปีหน้า

ในด้านของเมอร์คฯ ก็ได้มอบสิทธิบัตรผลิตยา ‘โมลนูพิราเวียร์’ ให้กับประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลาง กว่า 105 ประเทศทั่วโลก โดยจะไม่เก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งจะทำให้ยา ‘โมลนูพิราเวียร์’ จะมีราคาถูกลงเหลือเพียงคอร์สละ 20 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 650 บาทเท่านั้น

เรียกได้ว่าการเกิดขึ้นของ ‘ยาเม็ดรักษาโควิด’ เป็นอีกขั้นหนึ่งในการกู้วิกฤตโลกจากไวรัสโควิด-19 ที่ง่าย สะดวก ทั้งยังมีประสิทธิภาพมากกว่าก่อน และนี่อาจเป็นความหวังใหม่ที่จะพลิกโลกในการต่อกรกับไวรัสตัวร้ายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต!

Metaverse โลกเสมือนจริง! ที่พร้อมกลืนกินชีวิตมนุษย์! | Knowledge Times EP.34

????Knowledge Times BizView
????Metaverse โลกเสมือนจริง! ที่พร้อมกลืนกินชีวิตมนุษย์!

เมื่อไม่นานมานี้ Facebook ได้ออกมาประกาศรีแบรนด์ บริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ ‘Meta’ ชื่อใหม่ที่แฝงความหมายสุดลึกล้ำ ที่มีความหมายว่า ‘เหนือไปกว่า, ไกลไปกว่า’ แต่นอกจากการเปลี่ยนชื่อที่บอกถึงการก้าวไปอีกขั้นแล้ว นี่ยังสะท้อนให้เห็นถึงก้าวสำคัญของ ‘Facebook’ ด้วยการก้าวเข้าสู่แนวทางใหม่อย่าง ‘Metaverse’ 

ซึ่งการเข้ามาเขย่าโลกของ Metaverse จะทำให้โลกที่เป็นอยู่เหนือขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการทำให้โลกในอนาคตไปได้ไกลกว่าหน้าจอ ทลายข้อจำกัดของระยะทาง และทำให้ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น

ฟังดูแล้ว Metaverse เป็นเหมือนโลกใหม่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าและยังสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เรียกได้ว่านี่อาจกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘จุดเปลี่ยน อารยธรรมมนุษย์’ ก็ว่าได้

หากทวนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไป จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านทางด้านนวัตกรรมของโลกแต่ละครั้ง ในแต่ละรอบใช้ระยะเวลาราว ๆ 30-60 ปี ยกตัวอย่าง การที่มนุษย์รู้จักการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตั้งแต่สมัยเทสลา และเอดิสัน เมื่อยุคปี 1900 หรือเมื่อ 120 ปีที่แล้ว ก็นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง

เมื่อเวลาผ่านไปการเปลี่ยนผ่านของนวัตกรรมก็ได้กลับมาอีกครั้ง โดยในรอบนี้คือการเริ่มเข้าสู่ยุคเซมิคอนดักเตอร์ ในสมัย Fairchild Semiconductor ช่วงปี 1960 ซึ่งบริษัทนี้เอง ที่ได้ต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น บริษัท Intel, HP, Apple, Microsoft ในเวลาต่อมา

และการเปลี่ยนผ่านครั้งล่าสุดนั่นก็คือ การเข้ามาของอินเทอร์เน็ต ในช่วงปี 1990 และนี่ก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีนวัตกรรมมากมาย เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตผู้คน ทั้งโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ หรือแม้แต่ระบบบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐานของคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบัน และทำให้มีบริษัทที่เกิดขึ้นมาในยุคนี้ก็คือ Amazon, Tesla และ Facebook

และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีก่อน Facebook ในวันนั้นได้เติบโตขึ้นและได้กวาดคนกว่าครึ่งโลกเข้าไปใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองได้สำเร็จ 

จนกระทั่งวันนี้ Facebook ได้ประกาศก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘Meta’ ที่จะพลิกโลกด้วย Metaverse และ Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่จะเชื่อมโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกสมมุติ ผ่านคอมพิวเตอร์ได้อย่างกลมกลืน 

ลองคิดดูว่า นวัตกรรมที่เราเห็นในปัจจุบันที่โลกคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในโลกความเป็นจริง เช่น รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่คอมพิวเตอร์ประเมินสภาพแวดล้อมทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่ในทางกลับกันมนุษย์เองก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในโลกเสมือนจริง ที่คอมพิวเตอร์สร้างเอาไว้ได้เช่นกัน ผ่าน Virtual Reality เหมือนอย่างที่เราเคยเห็นกันในหนังไซไฟ ที่คนสวมแว่นตาและเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน

แต่หนังก็อาจจะอธิบาย ได้เพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะอันที่จริงแล้ว Metaverse เป็นระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ที่ถูกสร้างขึ้นในทุกรายละเอียด ตั้งแต่ สังคม การใช้ชีวิต การปกครอง และระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ในโลกใบนั้น

โดยในโลก Metaverse นั้น จะเป็นการผสมผสานความเป็นจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน จนบางครั้งอาจทำให้เราหลงลืมไปได้เลยว่า เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งไหนกันแน่..

แน่นอนว่าการเข้ามาของสิ่งใหม่ โดยเฉพาะสิ่งที่ทำหน้าที่ ‘เสมือนมนุษย์’ นั้น ในช่วงแรกย่อมทำให้เกิดความรู้สึกแปลก แต่เมื่อนานวันไปสิ่งเหล่านี้จะแทรกซึมและทำให้มนุษย์ชอบได้ไม่ยาก

นั่นเพราะ Metaverse จะช่วยลดแรงเสียดทานในสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริงของมนุษย์ สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา หรือเป็นไปไม่ได้ ก็สามารถ ‘เป็นไปได้’ ราวกับมนุษย์นั้นเป็นพระเจ้าในโลกเสมือนใบนี้

แล้วถ้าหากคิดว่าโลกเสมือนจริงแห่งนี้ยังอยู่ไกลตัว....ขอบอกเลยว่าโลกเสมือนแห่งนี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และเราอาจก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปแล้วก็ได้... 

ไม่ว่าเป็นการเพลิดเพลินในเล่นโซเชียลมีเดีย เล่นเกมจนลืมเวลา หรือแม้แต่ใครที่หลงใหลในคริปโทเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ NFT เพราะเราวาดฝันว่าจะได้เป็นเศรษฐี และเจ้าของทรัพย์สินในโลกนั้น

สิ่งเหล่านี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าโลกเสมือนจริงแห่งนี้อยู่ใกล้ตัวเรา แถมเรายังใช้ชีวิตและสัมผัสอยู่ในโลกเสมือนเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ทุกคนกำลังมีตัวตนทางสังคม มีสิ่งแวดล้อม มีทรัพย์สิน ในโลกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และนั่นหมายความว่าเราได้ย่างก้าวเข้าสู่ Metaverse เป็นที่เรียบร้อยแล้ว..

แต่สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือการที่มนุษย์อาจหลงใหลในโลกเสมือนแห่งนี้ จนถอนตัวไม่ขึ้น หรืออาจถึงขั้นที่ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าตนเองได้ตกหลุมพรางโลกเสมือนแห่งนี้เข้าให้แล้ว

นอกจากนั้น คนที่ลองเข้าไปแล้วมีความสุข ก็เริ่มชักชวนคนรอบข้างให้เข้าไปตาม หากใครไม่เข้าร่วมก็จะกลายเป็นคนตกยุค ถ้าไม่มีสิ่งนั้นมาครอบครอง คุณก็จะเหมือนไดโนเสาร์ เต่าล้านปี....

ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ ที่สามารถให้ทั้ง ‘คุณ’ และ ‘โทษ’ ในเวลาเดียวกัน และกลายเป็นหนึ่งโจทย์ใหม่ของมนุษย์ที่ผ่านการใช้ชีวิตในโลกเดิมหรือโลกความเป็นจริง ที่อาจจะเกิดการต่อต้านโลกใบใหม่ 

แต่สุดท้าย ก็ต้องทำใจยอมรับว่า มนุษย์ในยุคใหม่ หรือ เจเนอเรชันถัดไป จะตบเท้าก้าวสู่ Metaverse มากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนคุ้นเคย เหมือนเช่นอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ที่เมื่อหลายสิบปีก่อน คงไม่มีใครคิดว่าจะกลายเป็นสมาร์ตโฟน ที่สามารถย่อโลกทั้งใบไว้ในมือเดียวได้เช่นทุกวันนี้

‘โมเดอร์นา’ สั่นคลอน!! สหรัฐฯ ชะลอใช้ - จ่อเตือน! วัคซีนทำเสี่ยงหัวใจอักเสบ!! | Knowledge Times EP.33

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’ | EP.33
???? ‘โมเดอร์นา’ สั่นคลอน!! สหรัฐฯ ชะลอใช้ - จ่อเตือน! วัคซีนทำเสี่ยงหัวใจอักเสบ!!

สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (FDA) กล่าวเมื่อวันศุกร์ ที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้แจ้งถึงทางโมเดอร์นาว่า “ทางหน่วยงานจำเป็นต้องขยายเวลาเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลวิเคราะห์และศึกษาเรื่องผลข้างเคียง รวมไปถึงความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโมเดอร์นา"

โดยสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การประเมินสำหรับออกคำแนะนำว่าควรฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาให้เด็กอายุ 12 ถึง 17 ปีหรือไม่? อาจใช้เวลาจนถึงเดือนมกราคม ปี 2022 

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ระบุว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง อย่างโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนต้านโควิด-19 ของโมเดอร์นา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายอายุน้อย และกลุ่มเด็กผู้ชาย โดยพบว่าความเสี่ยงของอาการดังกล่าวจะสูงขึ้นอย่างมากหลังจากติดเชื้อโควิด-19 

ขณะเดียวกันผลการศึกษาของซีดีซี ยังพบว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีนเทคโนโลยี mRNA อีกตัว ที่ผลิตโดยไฟเซอร์ - ไบออนเทค เกิดขึ้นน้อยมากและโดยทั่วไปมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งเมื่อวันศุกร์ ที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา ยังได้รับอนุมัติจากสหรัฐฯ สำหรับฉีดให้เด็กอายุ 5 ถึง 11 ขวบ ในปริมาณที่น้อยกว่าวัยผู้ใหญ่แล้ว

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือตุลาคมที่ผ่านมา โมเดอร์นา ก็ได้ออกถ้อยแถลงชี้แจงลักษณะเดียวกัน หลังจากเกิดข่าวการระงับใช้โมเดอร์นาในเดนมาร์ก สวีเดน และฟินแลนด์ ให้มีการหยุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโมเดอร์นาในกลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นการชั่วคราว โดยบอกว่าอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก และสามารถหายได้เองในเวลาอันสั้นเช่นกัน

ซึ่งถ้อยแถลงในครั้งนั้น ระบุด้วยว่าโมเดอร์นา มีความตระหนักถึงประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขของ 4 ชาตินอร์ดิก อย่างประเทศเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ที่แนะนำให้มีการหยุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโมเดอร์นาเป็นการชั่วคราว ซึ่งสวีเดน และฟินแลนด์ ได้มีการระงับการใช้งานวัคซีนของโมเดอร์นากับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ส่วนเดนมาร์ก และนอร์เวย์ได้ออกคำสั่งตามมา แต่ว่าสองประเทศนี้ห้ามใช้วัคซีนโมเดอร์นาฉีดให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

รวมไปถึงไอซ์แลนด์ ที่มีการระงับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของโมเดอร์นาให้กับประชากรทุกวัย ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วยเช่นกัน และจนกว่าจะมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนยี่ห้อดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม โมเดอร์นา ได้กล่าวเพิ่มเติมในคำแถลงว่า ความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เรามีความมุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนับตั้งแต่มีการระบาดมาจนถึงเวลานี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชากรหลายล้านรายทั่วโลก และคร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 4 ล้านราย

สำหรับประเทศไทย โมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือกที่จะได้นำมาใช้ในประเทศโดยภาคเอกชน ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมานี้ ทางคณะกรรมการอาหารและยา ก็ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวในตำรับยาแผนปัจจุบัน ในฐานะยาควบคุมพิเศษ

ล่าสุดวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา วัคซีนโมเดอร์นาล็อตแรก จำนวน 560,200 โดส ได้ถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งขนส่งโดยสายการบิน Lufthasa (ลุฟท์ฮันซ่า) เที่ยวบิน H772 โดยหลังจากนี้ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ในการตรวจสอบคุณภาพวัคซีน แล้วจะกระจายไปยังโรงพยาบาลหรือศูนย์ฉีดต่าง ๆ ที่ได้มีการสั่งจองวัคซีนโมเดอร์นาเอาไว้ 

ส่วนในเรื่องของประกันสุขภาพหลังการรับวัคซีนโมเดอร์นา สำหรับประชาชนจะมีการชดเชยอย่างไรนั้น ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สำหรับการชดเชยหลังฉีดวัคซีนโมเดอร์นาทั้งเข็มกระตุ้น และฉีดแบบ 2 เข็ม ทางองค์การเภสัชกรรมได้ทำประกันจากบริษัท ทิพยประกันภัย ซึ่งติดไปกับการซื้อวัคซีนของ รพ.เอกชน เพื่อฉีดให้ประชาชน เบื้องต้น กรณีโคม่า หรือเสียชีวิตได้รับชดเชย 1 ล้านบาท ทุพพลภาพถาวร ชดเชย 5 แสนบาท สำหรับอาการไข้ หรือต้องเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน มีค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล 1 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม วัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนยังคงมีความต้องการสูง มีประสิทธิภาพทั่วไปในการป้องกันโควิด-19 อยู่ที่ราว 94.1 - 94.5% ซึ่งนับว่าแทบจะสูงที่สุดในบรรดาวัคซีนโควิด-19 ที่มีในปัจจุบัน จากผลการทดลองในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงถึง 94% ในกลุ่มผู้ใหญ่ ขณะที่การรวบรวมผลประสิทธิภาพจากการใช้จริงในการฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ 91% เมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีต่อการยับยั้งสายพันธุ์เดลตาด้วย

ถึงอย่างนั้นแล้วก็คงต้องติดตามกันต่อไป ในส่วนของ FDA ว่าจะเห็นชอบวัคซีนของโมเดอร์นา เพื่อใช้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่ ก่อนจะขออนุมัติใช้กับเด็กอายุต่ำกว่านั้นเป็นลำดับถัดไป

จากเวียงจันทน์ ถึงวังมังกร!! ทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางพลิกโฉม เชื่อมเศรษฐกิจอาเซียน!! | Knowledge Times EP.32

???? Knowledge Times BizView
???? จากเวียงจันทน์ ถึงวังมังกร!! ทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางพลิกโฉม เชื่อมเศรษฐกิจอาเซียน!!

นับถอยหลัง! จีน - ลาว เตรียมเปิดหวูดเส้นทางรถไฟสายพิเศษ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 46 ปี วันชาติหรือวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นเส้นทางที่หลายคนกำลังจับตามอง และเป็นหนึ่งในความหวังที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของ สปป.ลาว และเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอาเซียนในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย 

หนังสือพิมพ์ Vientiane Times ได้รายงานคำกล่าวของ ‘พันคำ วิพาวัน’ นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ว่า บริการรถไฟสายระหว่างลาวกับจีนจะเปิดให้บริการตามกำหนดการในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ไม่มีการเปลี่ยนจากแผนเดิม และกำลังทำแผนให้เปิดบริการรถไฟภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน รวมถึงแนวทางเปิดบริการทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว ที่ต้องมีมาตรการใช้สำหรับบริเวณชายแดนลาว-จีนโดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบสินค้าและผู้โดยสารก่อนเข้าและออกอย่างเคร่งครัด

ในระยะแรกทางรถไฟจีน-ลาวนี้ จะเริ่มด้วยการมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ตามมาด้วยการเปิดให้มีการท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์ของโควิดเข้าสู่ระยะที่ควบคุมได้ในระยะต่อไป โดยประเมินกันว่าทางรถไฟระยะทาง 424.4 กิโลเมตรสายนี้ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งผ่านลาว ประมาณ 30 - 40% หากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนนอย่างที่ทำมาตลอด นั่นย่อมจะมีส่วนเกื้อหนุนการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ

สำนักข่าวของลาวรายงานว่า ผู้บริหาร บริษัท นิคมโลจิสติกส์เวียงจันทน์ จำกัด (Vientiane Logistics Park) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาท่าเรือบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry Port) และนิคมโลจิสติกส์เวียงจันทน์ว่า ทางรถไฟสายนี้จะเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้ลาวกลายเป็น “ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” หรือ Global Supply Chain ได้ 

หนึ่งในประโยชน์ที่จะเกิดให้เห็นได้ชัด คือ การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังยุโรปจะใช้เวลาเพียง 10 วัน เร็วกว่าการขนส่งทางทะเลปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ทำให้ประเมินว่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้เห็นประโยชน์ของการตัดสินใจเลือกขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางรถไฟสายนี้เช่นกัน โดยคาดว่าตู้คอนเทนเนอร์จากลาวอย่างน้อย 300,000 ตู้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากท่าเรือบกท่านาแล้ง จะถูกขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ไปยังยุโรปในแต่ละปี และจะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 1.2-1.8 ล้านตู้ต่อปี

สำหรับจีนแล้วสิ่งนี้ คือ ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ BRI (Belt and Road Initiative) คือการขยายอิทธิพลบนเวทีโลก ผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระดับนานาชาติ และสำหรับ สปป.ลาวนั้น นี่คือแผนยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land-locked country) กลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก (Land-linked country) ซึ่งทางการจีนบอกว่า การสร้างรถไฟสายนี้ได้ใช้มาตรฐานด้านการจัดการและเทคนิคของจีนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2016 และเร่งงานสร้างเสร็จตามกำหนดในระยะเวลา 5 ปี และพร้อมเปิดใช้งานปลายปีนี้

โดยเส้นทางรถไฟลาว-จีน มีระยะทางกว่า 420 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 31 สถานี เริ่มต้นที่ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย ในจุดนี้เองที่เป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทย ที่จะสร้างโอกาสต่อยอดจากเส้นทางรถไฟสายนี้อย่างไร

โดยก่อนหน้านี้ทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ของไทย ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ถึงโอกาสที่จะทำให้ไทยได้อานิสงส์ จากเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าจากไทย ผ่านลาวไปยังตลาดจีน ในทางกลับกันก็จะช่วยลดระยะเวลา ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า และการเดินทางมายังประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

หากมองถึงโอกาสทางการค้า ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปลาวและจีนได้เพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภค - บริโภค โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศจีนในอดีตนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน ส่งผลให้ผลไม้ไทยได้รับความเสียหาย เพราะผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น การขนส่งที่ใช้เวลานานจะทำให้เกิดการเน่าเสียของสินค้า ดังนั้นการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟลาว-จีน จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตร ให้สามารถกระจายไปยังมณฑลต่าง ๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะอันสั้น

ส่วนในด้านการบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ เช่น กลุ่มบริการสุขภาพ โรงพยาบาล นวดแผนไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นในคุณภาพ และมาตรฐานสาธารณสุขของไทย รวมถึงกลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม เนื่องจากราคาสินค้าและบริการถูก รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มของไทยเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนและลาว ที่จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการค้าขายผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว

ซึ่งเรื่องนี้เป็นการบ้านสำหรับประเทศไทยก็ คือ เราจะใช้ประโยชน์ด้วยการต่อยอดจากการเชื่อมต่อระหว่างตอนใต้ของจีนกับเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ได้มากน้อยแค่ไหน และจะเดินหน้าวางแผนสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับกรุงเทพฯ เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสนี้อย่างไรบ้าง เชื่อว่าเราคงจะได้เห็นกันอีกไม่นานนี้แน่นอน 

เผย 3 สัญญาณลับ !! สงครามโลกรอวันปะทุ!! | Knowledge Times EP.31

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
????เผย 3 สัญญาณลับ !! สงครามโลกรอวันปะทุ!!

เชื่อหรือไม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สงครามโลกอาจปะทุขึ้นอีกครั้ง !! 

แน่นอนว่าการเกิดสงครามไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามโลกในเวลานี้มีสูงมาก 

หากประเมินระยะเวลาแบบช้าที่สุด สงครามโลกนั้นมีโอกาสปะทุขึ้นภายใน 4 - 10 ปีนี้ และแน่นอนว่าก่อนทำการใหญ่ต้องมีการเตรียมการอย่างรัดกุมและแน่นหนา ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 - 5 ปี เพื่อให้เกิดความพร้อมที่สุด

แล้วอะไรคือสัญญาณการเกิดสงครามโลกขึ้นอีกครั้ง?

ประการที่ 1 จุดยุทธศาสตร์ที่จะเกิดสงครามได้ คือ บริเวณทะเลจีนใต้ อย่างที่รู้กัน กลุ่มชาติตะวันตกไม่ต้องการให้จีนขึ้นมามีอำนาจ เพราะจะทำให้ระบบการเงิน การค้า ทรัพยากร เสียระบบ อันจะเห็นได้จากสัญญาณที่เริ่มปรากฏจาก บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ หรือ (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิต ชิป นาโนชิป ที่ครองส่วนแบ่งตลาดชิปทั่วโลก กว่า 55.6% 

ที่ปัจจุบันเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตมาที่ญี่ปุ่น เนื่องจากไต้หวันนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่เป็นชนวนขัดแย้ง จึงมีการถอนบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สำคัญจำนวนมากในไต้หวัน ย้ายฐานการผลิตออกมาทีละนิด เนื่องจากต่างรู้กันดีว่า หากยังคงอยู่ที่ไต้หวันต่อไป อาจเกิดความเสียหายต่อบริษัทได้

ประการที่ 2 สหรัฐอเมริกา เริ่มถอนกำลังทหารสำคัญออกมา เช่น ในอัฟกานิสถาน เป็นต้น แม้ว่าการถอนกำลังในครั้งนี้ ดูเหมือนสหรัฐฯ นั้นได้รับความพ่ายแพ้ แต่แท้จริงแล้วนี่คือกลยุทธ์ ที่สหรัฐฯ ถอนกองกำลังทหารออกมาจากภูมิภาคที่ไม่จำเป็น หรือ จุดที่ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ เพื่อกลับมารวบอำนาจไว้กับตนเองก่อน

ประการที่ 3 เริ่มมีการกักตุนเชื้อเพลิง ในจุดต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำสงคราม นั่นก็คือ ‘น้ำมัน’ ซึ่งมีความสำคัญขนาดที่สามารถชี้ชะตาสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว และเมื่อย้อนกลับไป ในสมัยนาซีเยอรมันเอง ก็เคยทำลายจุดยุทธศาสตร์ของรัสเซียมาแล้ว นั่นก็คือ สตาลินกราด ที่มีความสำคัญเพราะเป็นทางผ่านไปสู่ เมืองบากู ของประเทศอาเซอร์ไบจานปัจจุบัน 

ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันในทะเลสาบแคสเปียน อีกทั้งการสูญเสียยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลางและแถบแอฟริกาเหนือก็นำมาสู่การแพ้สงครามของนาซีเยอรมัน ดังนั้น น้ำมัน จึงเป็นเสมือนปัจจัยชี้ขาด ทั้งกำลัง อาวุธ พาหนะ อุปกรณ์ในสงคราม รวมไปถึงเครื่องบิน ล้วนแต่ต้องพึ่งพาน้ำมันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี แม้สหรัฐฯ ได้ถอนกองกำลังออกจากจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่จำเป็น แต่ล่าสุดกลับมีการเพิ่มกองกำลังบริเวณฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ บริเวณเกาะลูซอน และเกาะกวม โดยเกาะกวมนั้นมีความสำคัญ เพราะเป็นดินแดนสุดท้าย ที่สหรัฐฯ มีอิทธิพล และจุดยุทธศาสตร์นี้เองจะเป็นจุดที่สหรัฐฯ ใช้ในการส่งกำลังบำรุง 

อีกทั้งเกาะกวมยังเป็นทางผ่านไปจนถึงเกาะลูซอน ในประเทศฟิลิปปินส์ และโอกินาวา ในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น หากคิดว่าการถอนกองกำลังของสหรัฐฯ คือ ความพ่ายแพ้ แต่แท้จริงแล้วนี่เป็นเพียงการย้ายฐานกองกำลังมาที่ เกาะลูซอน เกาะกวม และเสริมทัพที่โอกินาวา  

และอย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นนั้นเป็นเสมือนไม้เบื่อไม้เมากับจีน ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่า ญี่ปุ่นจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการร่วมรบ เนื่องจากสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการดูแลด้านความมั่นคงให้กับญี่ปุ่น นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

นอกจากนี้หากสงครามโลกปะทุขึ้น อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ จะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ก็จะขาดแคลนอุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้นไปอีก

ดังนั้นอาณัติสัญญาณที่เกิดขึ้น อันเปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำที่กำลังก่อเคลื่อนตัวไปอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายของบรรดาบริษัทเอกชนต่าง ๆ หรือการถอนกองกำลังของสหรัฐฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสัญญาณ ที่แสดงให้เห็นถึงสงครามที่กำลังก่อตัวและรอวันปะทุในอีกไม่ช้า...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top