โลกหลังโควิด!! “Tele Health” ใกล้หมอ..แค่ปลายนิ้ว มิติใหม่ของการพบแพทย์ | Knowledge Times EP.36

???? Knowledge Times BizView | EP.36
???? โลกหลังโควิด!! “Tele Health” ใกล้หมอ..แค่ปลายนิ้ว มิติใหม่ของการพบแพทย์

เราอาจจะเริ่มคุ้นหู หรือได้เห็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับบริการสุขภาพทางไกล ที่เรียกว่า “Tele Health” กันมาบ้าง... ซึ่งเจ้า Tele Health นี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การใช้งานอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ด้วยช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานี้ ทำให้ “Tele Health” กลับกลายเป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ส่งผลให้ความต้องการในการใช้งานเติบโตอย่างก้าวกระโดดของวงการแพทย์  

กรณีตัวอย่างของสหรัฐฯ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากในปี 2020 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนช่องทางการใช้บริการด้านสุขภาพ มาสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยจากงานวิจัยของ “McKinsey” พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ หันมาใช้บริการ Tele Health เพิ่มขึ้นจาก 11% ของผู้บริโภคในปี 2019 มาอยู่ที่ 46% ในปี 2020

เนื่องจาก Tele Health เป็นรูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์ที่สุดในสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้ป่วยมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังโรงพยาบาล ในกรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้มีการเลื่อนการรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินออกไป

แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางส่วนยังมีความต้องการคำปรึกษาและคำแนะนำในการรักษาอาการป่วยทั่วไป ทำให้หันมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม Tele Health ในการรักษาพยาบาลออนไลน์กันมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายแล้วแต่ Tele Health ยังเป็นรูปแบบของการให้บริการด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจากผลสำรวจของ McKinsey ดังกล่าวข้างต้นยังพบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ราว 76% ตอบว่ายังสนใจจะใช้บริการ Tele Health ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว เช่นเดียวกันกับในหลาย ๆ ประเทศที่ Tele Health เข้ามามีบทบาทมากขึ้น  

ขณะที่ ‘Statista’ ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดชั้นแนวหน้าของโลก ได้มีการคาดมูลค่าตลาด Tele Health ของโลกในช่วงปี 2019 ถึงปี 2026 จะเติบโตราว 21% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 6 ล้านล้านบาทไทย

สำหรับในไทย Tele Health ถูกนำมาใช้มากขึ้นโดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาลทางไกล หรือที่เรียกว่า “Telemedicine” ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นไปที่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษาและควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง แต่โควิด-19 นับเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ส่งผลให้ Telemedicine เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่เพียงแต่การให้คำปรึกษาการรักษาพยาบาลขั้นต้น เช่น อาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง เท่านั้น

แต่ Telemedicine มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ในการรักษา สำหรับกรณีที่ต้องมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งผู้ป่วยต้องมีการนัดพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) นี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับเทรนด์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้น Telemedicine จึงเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์การรักษาอย่างดีในหลายด้าน

นอกจากนี้ยังมีทั้งความสะดวกสบาย ที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลเกินความจำเป็น และลดความแออัดของสถานพยาบาล โดยเฉพาะสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลยังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดียิ่งขึ้นด้วย 

แม้ว่า Tele Health จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโต เนื่องจากการตรวจของแพทย์ผ่านทาง VDO ยังมีข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยที่ต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ร่วมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ Tele Health ประสบความสำเร็จจากการให้บริการสุขภาพทางไกลแบบครบวงจรอีกด้วย ซึ่งแพลตฟอร์ม “Ping An Good Doctor” เป็นตัวอย่างของแพลตฟอร์มด้าน Health Tech ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในจีน จากการมีบริการที่ครบวงจรครอบคลุมทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ ตลอดจนการมีเครือข่ายโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังมีระบบที่ผู้ป่วยสามารถรับยาได้อย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศด้วย ซึ่งจุดแข็งอีกด้านหนึ่งของ Ping An Good Doctor คือ การมีบริษัทย่อยเป็นบริษัทประกัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าของบริษัท สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลที่ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มกับบริษัทประกันได้ ทำให้ผู้ป่วยหันมาใช้บริการมากขึ้น และยังได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้บริการ Telemedicine ในไทยเกิดเร็วขึ้น และกลายเป็น New Normal ของการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้เองภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในการผลักดัน และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึง “Tele Health” ให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขในระยะยาว ลดต้นทุน - ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐต้องแบกรับภาระสูง และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย

.

.


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32