Tuesday, 3 December 2024
KnowledgeTimesBizView

'แซม แบงก์แมน-ฟรายด์'​ มหาเศรษฐีแสนล้านในวัย 29 ผู้สะเทือนวงการโลกการเงินดิจิทัล! | Knowledge Times EP.18

????Knowledge Times BizView
????'แซม แบงก์แมน-ฟรายด์'​ มหาเศรษฐีแสนล้านในวัย 29 ผู้สะเทือนวงการโลกการเงินดิจิทัล!

หนทางพิสูจน์ม้า​ กาลเวลาพิสูจน์คน​ อาจจะใช้ไม่ได้กับ​ มหาเศรษฐี​แสนล้าน วัย​ 29​ อย่าง​ “แซม แบงก์แมน-ฟรายด์” ผู้ทรงอิทธิพล แห่งวงการคริปโตเคอร์เรนซี ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี​ สะสมประสบการณ์และสร้างความมั่งคั่งจากช่องโหว่ของวงการเงินดิจิทัล

แซม เป็นเด็กหนุ่มชาวอเมริกันผู้มีความสนใจในคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เขาสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง MIT ในสาขาวิชาฟิสิกส์ 

เขาได้มีโอกาสฝึกงานเป็นนักพัฒนาโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ หรือ “Quantitative Trading”

และดูเหมือนการฝึกงานในครั้งนี้​ จะพาเขาก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการเงินแบบถอนตัวไม่ออก... 

เมื่อแซมจบการศึกษา เขาก็มุ่งหน้าเอาดีทางด้านนี้ โดยเข้าทำงานที่ Jane Street Capital ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจ Quantitative Trading โดยเฉพาะ 

นอกจากนี้​ บริษัทดังกล่าว​ ก็ยังมีอีกธุรกิจ นั่นก็คือ “Liquidity Provider” หรือผู้ให้บริการเสริมสภาพคล่องของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อควบคุม Bid Offer หรือราคาซื้อขายสินทรัพย์ให้มีเสถียรภาพ

3​ ปีในบริษัทแห่งนี้​ ช่วยทำให้เขาเข้าใจโลกแห่งสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับสูง

สูงเสียจน​ ประสบการณ์ที่ได้มาจากการทำงานนั้น​ แซมเข้าใจถึงไส้ในของคริปโตฯ​ โดยในปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่คริปโตฯ​ กำลังเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลกนั้น เขาได้เข้าไปหาโอกาสโดยทันที

แซมทำยังไง? 
แซมเห็นช่องโหว่จากพื้นฐานและระบบที่รองรับนักลงทุน

เขามองเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบที่จะมารองรับนักลงทุนในตลาดแห่งนี้ ยังไม่มีศักยภาพมากพอ

โดยเฉพาะเมื่อมีนักลงทุนให้ความสนใจในคริปโตฯ​ เกินกว่าสภาพคล่องทั้งระบบจะรับไหว 

มักจะเกิด​ 'ส่วนต่าง'​ ระหว่าง​ 'ราคารับซื้อ'​ และ 'ราคาเสนอขาย' หรือที่เรียกว่า​ Spread อย่างมาก

ทันทีที่เขาเห็นภาพของส่วนต่างด้านราคานี้​ จึงคาดการณ์ว่าธุรกิจให้บริการเสริมสภาพคล่องรวมถึงโมเดลการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลนี่แหละจะเติบโตไปได้อีกมากในอนาคต

เขาจึงได้ก่อตั้งบริษัท Alameda Research ขึ้นทันที ในปี 2017

Alameda Research เรียกได้ว่าถอดแบบมาจากประสบการณ์การทำงานของแซม

ที่บอกแบบนี้ก็เพราะว่าบริษัทดำเนินธุรกิจเหมือนกับสิ่งที่เขาเคยทำแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโมเดลคณิตศาสตร์เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าหรือการให้บริการเสริมสภาพคล่อง

โดยสิ่งที่แตกต่างกันเพียงอย่างเดียว ก็คือ Alameda Research จะโฟกัสไปที่สินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซีโดยเฉพาะ

และสิ่งที่แซมคาดการณ์ไว้ก็เป็นไปตามนั้น เพราะในเวลาต่อมา คริปโตฯ​ ได้กลายมาเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจสูงมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน​ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและให้บริการด้านสภาพคล่องในตลาดแห่งนี้​ ยังหาได้ยาก!! 

ทำให้ Alameda Research ของแซม​ ที่นาทีนี้เริ่มมีความพร้อมทั้งด้านการลงทุนและให้บริการสภาพคล่อง​ จึงเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ มีสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การจัดการ สูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท

หลังจาก Alameda Research สำเร็จ ด้วยความที่เป็นนักเทรดอยู่แล้ว แซมจึงได้มองไปที่การต่อยอดธุรกิจ Exchange เพื่อซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีที่เป็นของตัวเองอีกด้วย

โดย แซม ได้ร่วมมือกับ แกรี่ หวัง ก่อตั้งบริษัท “FTX” ธุรกิจ Exchange ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี

และแน่นอนว่า​ ด้วยความที่เขาคลุกคลีกับการลงทุนตั้งแต่สมัยฝึกงาน จึงทำให้เขาออกแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเรียกได้ว่าซับซ้อน ลงบนแพลตฟอร์มแห่งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น... 

- Options สิทธิ์ในการซื้อหรือขายคริปโทเคอร์เรนซี
- Leveraged Token โทเคนแบบมีอัตราทด ที่อ้างอิงตามมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล
- Volatility Products อนุพันธ์ที่อิงตามความผันผวนของตลาด

ส่งผลให้ ปัจจุบัน​ FTX มีมูลค่าการซื้อขายถึงราว 4.6 แสนล้านบาทต่อวัน

แซมยังไม่หยุด​ เขาได้สร้างเหรียญเป็นของตัวเอง ชื่อว่า FTX Token หรือ FTT ที่พัฒนาขึ้นให้เป็นเหรียญประจำ Exchange คล้ายกับ Binance Coin บน Binance หรือ Bitkub Coin บน Bitkub ซึ่งผู้ถือครอง FTT ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ​ อาทิ จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหรือนำไปฝากไว้กับระบบเพื่อรับผลตอบแทน 

ปัจจุบัน FTX ได้รับการประเมินมูลค่ากิจการอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.9 แสนล้านบาท 

โดยแซม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของ มีทรัพย์สินอยู่กับตัวมากถึง 2.8 แสนล้านบาท​ ส่งเจ้าตัวเข้าสู่มหาเศรษฐีอันดับที่ 274 ของโลก​ และถูกยกให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการคริปโทเคอร์เรนซี 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ​ แซม​ ที่ปัจจุบันมีอายุ 29 ปี...

.

.


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
- ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
- รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
- สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
- แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

ค่ายรถสะเทือน 'Xiaomi' ทุ่มหมื่นล้าน ลุยตลาด 'รถยนต์ไฟฟ้า' พร้อมปล่อยรถ 2023 I Knowledge Times EP.20

???? KnowledgeTimes BizView 
???? ค่ายรถสะเทือน!! 'Xiaomi' !! ทุ่มหมื่นล้าน ลุยตลาด 'รถยนต์ไฟฟ้า' พร้อมปล่อยรถ 2023 !

“Xiaomi” แบรนด์เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่เรารู้จักกันในฐานะเจ้าของแบรนด์ Smartphone และอุปกรณ์เทคโนโลยีที่มีสินค้าและบริการอีกมากมาย ประกาศเปิดตัวธุรกิจ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท

โดย “Lei Jun” CEO และผู้ก่อตั้ง Xiaomi ได้ออกมาประกาศว่าตอนนี้เขาได้จดทะเบียนตั้งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการแล้ว โดยใช้ชื่อว่า “Xiaomi EV Inc.” พร้อมเผยความมั่นใจผ่านคำกล่าวด้วยว่า “ยินดีที่จะนำชื่อเสียงของตัวเองมาเสี่ยง และต่อสู้เพื่ออนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะของเรา”

ทั้งนี้หากย้อนไปเมื่อราว ๆ ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Xiaomi ได้เข้าซื้อบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาในด้านเทคโนโลยีการขับรถยนต์แบบอัตโนมัติจากจีนที่ชื่อ “DeepMotion” ด้วยเงินกว่า 77 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมของ Xiaomi อย่างชัดเจนถึงการเข้ามาสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

โดยนักวิเคราะห์มองว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่ Xiaomi จะพัฒนาขึ้นนั้น อาจมาพร้อมเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติใน Level 4 คือระดับที่รถสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self Driving Mode) ได้อย่างสมบูรณ์รวมถึงสามารถรับมือกับการขับในเขตเมืองได้ด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าเทียบเคียงกับ Full Self Driving อย่าง ‘Tesla’ ของ ‘อีลอน มัสก์’ เลยก็ว่าได้ 

สำหรับ “Xiaomi EV Inc.” ในปัจจุบัน มีพนักงานแล้วกว่า 300 ตำแหน่ง จากผู้สมัครทั้งหมดกว่า 20,000 คน และยังได้วางแผนอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่มเติมอีกกว่า 50,000 ล้านบาท ภายในเวลา 10 ปี 

ขณะที่ทาง Xiaomi ก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงปี 2023 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยรถยนต์ดังกล่าวจะมากับความสามารถที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Smart Devices เพื่อตอบสนองประสบการณ์การใช้งานทุกผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi ทั้งหมดได้อีกด้วย 

สำหรับสิ่งที่เข้ามาสนับสนุนก้าวครั้งใหม่ของ Xiaomi ในครั้งนี้ เชื่อกันว่ามาจากแรงส่งของผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่บริษัทมีรายได้สุทธิสูงถึง 87,790 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 64% จนส่ง Xiaomi ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์ 2 ของโลก แซงหน้า Apple ได้สำเร็จ

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า Xiaomi คือ แบรนด์ที่สามารถทำได้ดีในทุกอุตสาหกรรม! หากคิดจะออกตัวทำ แถมทำได้ดีในเชิงคุณภาพสูง แต่ราคาต่ำกว่าผู้เล่นรายอื่น ๆ เสมอในทุกผลิตภัณฑ์สินค้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ค่ายสมาร์ทโฟนอย่าง Xiaomi เท่านั้นที่ก้าวเข้าสู่ตลาดนี้แบบเต็มตัว แม้แต่ Apple ก็เล็งเห็นถึงโอกาส โดยได้ลงทุนร่วมกับ Hyundai และ Kia Motor Corp กว่า 3,600 ล้านดอลลาร์ไปก่อนหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า Apple Car รุ่นแรกจะเป็นรถไฟฟ้าที่มี Performance สูงกว่ารถยนต์ไฟฟ้าปกติทั่วไปในตลาดปัจจุบัน และตั้งเป้าเปิดตัวในปี 2025

ก็เรียกได้ว่า ตลาดรถยนต์ในนาทีนี้ อาจจะไม่ใช่เวทีของค่ายรถยนต์เหมือนในอดีตอีกต่อไปเสียแล้ว...

.

.


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
- ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
- รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
- สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
- แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

อานิสงส์โควิด!! ดันอนาคตค้าปลีกออนไลน์ 'อินเดีย' พุ่ง โตก้าวกระโดด 3 เท่าในอีก 10 ปี | Knowledge Times EP.24

เกือบสองปีแล้วที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า วิถีชีวิต พฤติกรรมผู้บริโภค ฯลฯ จนถึงขั้นที่ธุรกิจมากมายต้องล้มหายตายจากไปและผู้คนก็รู้สึกสิ้นหวังไปตาม ๆ กัน 

แต่ทุกวันนี้มุมมองของผู้คนทั่วโลก เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยตั้งตาคอยว่าเมื่อไหร่โควิด-19 จะหมดไปจากโลกนี้เสียทีนั้น ก็เริ่มเปลี่ยนมาถามตัวเองว่า นับแต่นี้ไปเราจะอยู่กับโควิด-19 กันอย่างไร เพราะดูแล้วโควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกนาน มนุษย์ต่างหากที่ต้องปรับตัวเองเพื่ออยู่กับโควิด-19 ให้ได้ตามวิถีปกติใหม่หรือ New Normal

ถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว จะพบว่าอินเดียเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนทั่วโลกจับตามองด้วยความเป็นห่วง เพราะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตรายวันเป็นจำนวนสูงมาก ถึงขนาดว่าเผาศพกันไม่ทันเลยทีเดียว 

แต่มาถึงวันนี้ก็พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศอินเดียกลับดีขึ้นมาก มาตรการที่เคยเข้มงวดต่าง ๆ ก็ได้รับการผ่อนคลาย และล่าสุดก็มีข่าวว่ารัฐบาลอินเดียกำลังจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 

ล่าสุดรัฐบาลอินเดีย ได้มีการอนุญาตให้ร้านอาหารเปิดบริการให้ลูกค้าเข้าไปรับประทานที่ร้านได้แล้วจนถึง 4 ทุ่ม และร้านอาหารทุกร้านต่างก็ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า มียอดขายดีกว่าช่วงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกต่างหาก เพราะคนอินเดียนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

โดยตอนนี้ทางสมาคมที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารในอินเดีย กำลังต่อรองกับรัฐบาลเพื่อขอขยายเวลาปิดร้านจาก 4 ทุ่มเป็นถึงเที่ยงคืน เนื่องจากธรรมชาติของผู้บริโภคชาวอินเดียมักจะชินกับการรับประทานอาหารค่ำในช่วงเวลาที่ค่อนข้างดึก 

ฉะนั้นการที่ร้านอาหารต้องปิดร้านแค่ 4 ทุ่มตามระเบียบของราชการ จึงกลายเป็นปัจจัยกดดันให้คนอินเดียต้องรับประทานอาหารค่ำเร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งถ้าสมาคมฯ สามารถเจรจาให้เปิดร้านอาหารได้จนถึงเที่ยงคืน ก็จะยิ่งทำให้ขายดีมากยิ่งขึ้น เพราะร้านอาหารจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างน้อยสองรอบ 

ผู้ประกอบการร้านอาหารจึงต้องรอลุ้นการตัดสินใจจากรัฐบาลอินเดียว่าจะโอนอ่อนผ่อนตามตามเสียงเรียกร้องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ร้านอาหารกลับมาขายดิบขายดีแบบคาดไม่ถึง แต่ถ้าไปส่องดูที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่าง ๆ กลับพบว่า “เงียบเป็นป่าช้า” 

นั่นก็เพราะผู้บริโภคยังไม่กล้าเข้าไปเดินช็อปปิ้งสักเท่าไหร่ 

ซึ่งหากมาลองวิเคราะห์ดูแล้ว จะพบว่า สาเหตุสำคัญก็คือ ผู้บริโภคชาวอินเดียมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะกับการช็อปปิ้งผ่านระบบออนไลน์

โดยในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวอินเดียเคยชินกับการช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น จนกระเทือนไปถึงโครงสร้าง 'ตลาดค้าปลีก' ในอินเดียให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย

ทั้งนี้  หากย้อนไปเมื่อปี 2554 จะพบว่า ตลาดค้าปลีกของอินเดีย ประกอบไปด้วยธุรกิจค้าปลีกอยู่สองประเภทหลัก คือ... 

>> ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Retailing/Unorganized Retailing) หรือ “Kirana” ถ้าเรียกภาษาบ้าน ๆ แบบประเทศไทยก็คือ “ร้านโชห่วย” นั่นเอง โดยร้านโชห่วยประเภทนี้มีสัดส่วนสูงถึง 95% 

>> ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกอีกประเภทหนึ่ง คือ ธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade Retailing/Organized Retailing) มีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 5% 

>> แต่ถัดมาอีกประมาณ 4 ปีคือ ในปี 2558 ก็พบว่าสัดส่วนในตลาดค้าปลีกของอินเดียก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยร้านโชห่วยมีสัดส่วนลดลงเหลือ 92% และร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 8% 

หลังจากนั้น จนถึงปี 2562 ก็พบว่าโครงสร้างในธุรกิจค้าปลีกของอินเดียได้เริ่มเปลี่ยนไปอีกรอบ โดยครั้งนี้เริ่มมี 'ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์' เพิ่มเข้ามา

ส่งผลทำให้สัดส่วนของร้านโชห่วยลดลงเหลือ 88% สัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 9% และสัดส่วนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์แทรกเข้ามา 3% ภายใต้มูลค่าตลาดค้าปลีกรวมของอินเดียปี 2562 ที่มีตัวเลขประมาณ 790,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ยิ่งไปกว่านั้น มีการคาดการณ์กันว่า ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในอินเดียน่าจะเติบโตต่อไปอีก!!

รู้จัก ‘Teddy Park’ เบื้องหลังความสำเร็จ ‘ลิซ่า - BLACKPINK’ | Knowledge Times EP.26

????Knowledge Times BizView
????รู้จัก ‘Teddy Park’ เบื้องหลังความสำเร็จ ‘ลิซ่า - BLACKPINK’

ทราบหรือไม่ว่า ก่อนที่ Solo เดี่ยว ‘LALISA’ ของสาว ‘ลิซ่า BLACKPINK’ จะไต่ขึ้นอันดับหนึ่งในหลายแพลตฟอร์มชาร์จเพลงทั่วโลกและสร้างปรากฏการณ์สะเทือนวงการ K-POP อย่างทุกวันนี้ มีชายคนหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังสำคัญอยู่

ชายคนนั้น คือ ‘Teddy Park’

Teddy Park คือ ชาวเกาหลีที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอเมริกา และซึมซับพร้อมศึกษาวัฒนธรรมเพลงในฟากตะวันตกไว้กับตัวอย่างมากมาย โดยเฉพาะแนวฮิปฮอป

ตอนอายุได้ 17 ปี Teddy ได้ตัดสินใจเดินทางกลับมาที่เกาหลี เพื่อออดิชันกับค่าย YG Entertainment ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงค่ายระดับกลางที่เต็มไปด้วยศิลปินฮิปฮอป และยังไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในตอนนี้

แน่นอนว่าด้วยความสามารถที่หาตัวจับอยากของ Teddy จึงได้โอกาสเซ็นสัญญากับทาง YG Entertainment ทันที และได้กลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงฮิปฮอปที่ชื่อว่า ‘1TYM’ 

ด้วยความเจ๋งของ ‘1TYM’ ทำให้วงดังกล่าว เจ๋งพอจะคว้ารางวัล Rookie of the year จากเวที Golden Disc Awards และกลายมาเป็นต้นแบบไอดอลสายฮิปฮอปของหลายๆ วงใน YG ยุคต่อมา

อย่างไรก็ตามในปี 2006 ‘1TYM’ ก็ได้ยุติบทบาทลง แต่บทบาทของ Teddy ไม่ได้จบตาม ด้วยความสามารถที่มี เขาได้ถูกดึงมาเป็น Producer ให้กับ YG อย่างเต็มตัว ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก่อนหน้า เขาก็เคย Produce ให้กับศิลปินใน YG มาก่อนแล้วทั้ง SE7EN และ Jinusean (จีนูฌอน) 

นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสร่วมงานกับวง Idol Boy Group วงแรกของ YG อย่าง BIGBANG ในเพลง We belong together ซึ่งผลงานส่วนใหญ่มักเป็นเพลงประกอบในอัลบั้ม หรือเพลง Solo ของสมาชิกในวงเสียมากกว่า

จากนั้นพอเข้าปี 2009 เมื่อ YG ได้เดบิวต์วง Girl Group วงแรกอย่าง ‘2NE1’ ขึ้นมา ตัวเขาก็ได้รับโอกาสมาโชว์ของอย่างเต็มตัว โดย Teddy ได้เป็น Producer หลักทั้งอัลบั้ม ผ่านแนวดนตรี เรกเก้/ป็อป/แดนซ์/เฮาส์ 

แน่นอนว่า ‘2NE1‘ ได้กลายเป็นสุดยอดวงไอดอลหญิงแห่งยุคนั้น โดยมี Teddy เป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานระดับตำนานกับวงไว้มากมาย ตั้งแต่เพลง Fire / I Don’t Care / I Am the Best หรือแม้แต่เพลง Come Back Home

หลังจากนั้น ความเจิดจรัสในฐานะ Producer มือทอง ก็ทำให้เขากลายมาเป็นตัวเลือกให้กับอีกหลายโปรเจกต์ของ YG โดยในปี 2012 Teddy ได้เข้ามามีบทบาทกับวง BIGBANG อีกครั้ง ซึ่งหนนี้เขาเป็น Producer หลักของอัลบั้ม Alive ที่นำดนตรีแนว Electronic เข้ามาผสมผสาน จนได้สร้างผลงานระดับตำนานให้ BIGBANG ผ่านผลงานเพลง Fantastic Baby และถูกยกสถานะให้กลายเป็น Producer คนสำคัญที่ BIGBANG ขาดไม่ได้อีกต่อไป 

และ YG ก็ไม่ผิดหวัง เมื่อ Teddy เขย่าฟอร์ม BIGBANG ในโปรเจกต์ MADE ที่เขย่าวงการ K-POP ด้วยการทำยอดขายอัลบั้มกว่า 2 ล้านชุด และติดชาร์จเพลงอันดับ 1 ทั้งในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ส่งเจ้าตัวให้กลายเป็น Producer ระดับตำนานของวงการไปโดยปริยาย

และแน่นอนว่า ความสำเร็จของไอดอลหญิงรายใหม่กระฉ่อนโลกของ YG อย่าง BLACKPINK ก็ไม่หลุดมือ Teddy เช่นกัน เขาคือผู้ชายคนสำคัญของสาวๆ ผู้ตระหง่านในวงการ K-POP อย่างรวดเร็ว หลังปล่อยเพลงเดบิวต์ไปเพียง 2 เพลงเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้สร้างสุดยอดความสำเร็จผ่านมินิอัลบั้มชุดแรก SQUARE UP ของสาวๆ BLACKPINK ด้วยการทะยานขึ้นระดับโลกผ่านเพลง DUU-DU-DUU-DU รวมไปถึงเพลง Solo ของพี่รองของวง อย่าง ‘เจนนี่’ ในเพลง ‘SOLO’ ตามด้วย Solo ของ ‘โรเซ่’ ในเพลง ‘On The Ground’ จนดัน BLACKPINK กลายเป็น ไอคอน กลุ่มใหม่ของโลกไม่แพ้ BIGBANG กับ 2NE1 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องเล็กสุดของวง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ สาวไทยหนึ่งเดียวในวง ที่เพิ่งจะปล่อย Solo เดี่ยวเพลง ‘LALISA’ ออกมาและได้สร้างปรากฏการณ์ยอดวิวในยูทูบทะลุ 10 ล้านวิว ภายใน 1 ชั่วโมง แน่นอนว่าเบื้องหลังบทเพลงเขย่าวงการ K-POP นี้ก็ไม่ใช่ฝีมือใครที่ไหนนอกจาก Teddy Park Producer มือทอง ที่มีส่วนร่วมในการสร้างตำนานในครั้งนี้ด้วย

อันที่จริงแล้ว ถ้าลองถอดรหัสความเป็น Teddy และความสำเร็จในทุกโปรเจกต์ที่ได้เข้าไปดูแลแล้วล่ะก็ จะพบว่าจุดสำคัญ คือ เขาเก่งในการสลัดภาพเก่าของไอดอล ทั้งชาย-หญิง ออกไป ไม่ได้สนใจภาพลักษณ์เดิมของไอดอลแบบเกาหลี แต่สนใจที่จะนำเพลงดีๆ ซาวนด์ติดหู และมีความเป็นสากลมาเติมเต็มให้กับไอดอลทุกคนที่เขาต้อง Produce ให้ทั้งนั้น 

งานของเขาจึงเรียกว่ามีทั้งความเป็นสากล ร่วมสมัย และยังมีครีเอทีฟ ที่สะท้อนตัวตนของเพลงและศิลปินนั้นๆ ออกมาได้อย่างลงตัว

แม้ในปัจจุบัน ผลงานเพลงของ YG จะไม่ได้มีออกมามากมาย แต่ Teddy ก็ถือเป็นโปรดิวเซอร์มือทองที่ยุ่งที่สุดในวงการ เพราะแค่ใช้ชีวิตในฐานะ ‘หัวใจ’ ของ YG ที่ตอนนี้ หมดไปกับ BLACKPINK,BIGBANG ก็เกินกลืน

ฉะนั้นในวันนี้  Teddy จึงเป็นบุคคลที่ YG และประธาน หยาง ต้องง้อยิ่งกว่าใครในปฐพีเกาหลี…

“Squid Game” สุดปัง!! ดันหุ้นอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงพุ่งทะยาน | Knowledge Times EP.28

???? KnowledgeTimes BizView
???? “Squid Game” สุดปัง!! ดันหุ้นอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงพุ่งทะยาน 

ปังไม่หยุด! สำหรับซีรีส์เรื่อง “Squid Game” หรือชื่อไทยว่า “เล่นลุ้นตาย” โดยผู้สร้าง “ฮวังดงฮยอก” ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในการสร้างปรากฏการณ์ความฮอตให้คนทั้งโลก รวมถึงทำให้วัฒนธรรมการละเล่น ไปจนถึงการเกิดเทรนด์ใหม่ ๆ ขึ้น จนเป็นไวรัลที่มองข้ามไม่ได้!!

ล่าสุด Squid Game ได้พิสูจน์ความเป็นซีรีส์ยอดนิยมแห่งปี ที่ไม่ใช่แค่เรตติ้งที่พุ่งกระฉูดเท่านั้น แต่ยังสร้างสถิติเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่สามารถคว้าอันดับ 1 ความยอดนิยมบน Netflix ในสหรัฐฯ ไปเรียบร้อย

ที่สำคัญ ซีรีส์เรื่องนี้ ยังส่งผลไปถึงราคาหุ้นของ Netflix รวมไปถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างซีรีส์เรื่องนี้ มีมูลค่าขยับปรับตัวสูงขึ้นกันถ้วนหน้า 

โดย Bucket Studio ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทต้นสังกัดของนักแสดงนำ “อีจองแจ” มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 2% ในช่วงที่ออนแอร์วันแรกในการซื้อขายตลาดหุ้น KOSPI ของเกาหลีใต้ โดยราคาดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 5,290 วอน เมื่อเทียบกับในช่วงก่อนที่ Squid Game จะออนแอร์ที่ระดับ 2,800 วอน ดันมูลค่าหุ้นจาก 114 พันล้านวอน ขึ้นมาเกือบแตะ 2 แสนล้านวอน (หรือ 170 ล้านดอลลาร์) (ณ วันที่ 17 ก.ย.)

ในขณะที่ Showbox ซึ่งถือหุ้นใน บริษัท Siren Pictures ผู้ผลิตซีรีส์เรื่องดังกล่าว พุ่งขึ้นกว่า 50% โดยราคาหุ้นปรับขึ้นอยู่ที่ 5,980 วอน (ณ วันที่ 17 ก.ย.) ขณะที่ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นเคยตกลงไปถึง 10%

“โอแทวอน” นักวิเคราะห์จาก Korea Investment & Securities กล่าวว่า บริษัทสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง Squid Game ยังทำให้หุ้นในกลุ่มสื่อและโฆษณาของเกาหลีใต้ได้อานิสงส์ไปด้วย เช่น Astory เพิ่มขึ้น 15.7%, Next Entertainment World เพิ่มขึ้น 12.7% และ Samhwa Networks เพิ่มขึ้น 10.2% ในช่วง 3 วันหลังซีรีส์เรื่องนี้ออนแอร์

ส่วนหุ้นของ Netflix เอง ก็ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งปิดการซื้อขายไปที่ 610.34 ดอลลาร์ หลังนักลงทุนให้ความมั่นใจว่าบริษัทยังคงสามารถสร้างฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นอีก 5.2% โดยมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 640.39 ดอลลาร์ 

“Reed Hastings” CEO ของ Netflix ระบุว่า ความสำเร็จของ Squid Game สร้างความประหลาดใจให้กับ Netflix เช่นกัน เนื่องจากบริษัทไม่ได้คาดหวังว่าจะมีผู้ชมทั่วโลกมากมายขนาดนี้ นอกเหนือจากนั้น สินค้าอย่างรองเท้าสลิปออนสีขาว ที่นักแสดงใช้ใส่ในฉากการเล่นเกม ยังมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 7,800% เลยทีเดียว 

ขณะที่ ผู้ชมที่ชื่นชอบซีรีส์เรื่องนี้ยังพยายามหาซื้อชุดวอร์มและรองเท้าผ้าใบสีขาว ที่คล้ายกับที่ผู้เข้าแข่งขันในซีรีส์สวมใส่ ตามข้อมูลของ Lyst Insights พบว่า ยอดขายชุดวอร์ม เพิ่มขึ้น 97% ส่วนรองเท้าผ้าใบสีขาวมียอดขายเพิ่มขึ้น 145% ขณะที่ชุดที่มีลักษณะคล้ายผู้คุมในซีรีส์ ยังมียอดขายเพิ่มขึ้น 35%  

นอกจากนี้ในโลกโซเชียล อย่าง TikTok ยังมีกระแสนำเกมที่ปรากฏในซีรีส์ไปเล่นตาม โดยเฉพาะเกม “AEIOU” ซึ่งมาสคอตเด็กผู้หญิงผมแกะได้รับความนิยมสูงมาก จนถูกนำไปวางตามสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ที่สร้างกระแสอย่างมากคือ เกมแกะน้ำตาล หรือขนมทัลโกนา ที่กลับมาฮิตอีกครั้ง เนื่องจากเป็นเกมที่เด็ก ๆ เกาหลีใต้ ยุค 80- 90 นิยม ก่อนที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา

ไม่เพียงในต่างประเทศเท่านั้น ในไทยเราเองก็ไม่น้อยหน้ากัน เราได้เห็นเหล่าคนบันเทิง มาแต่ง Cover ตามตุ๊กตาเด็กผู้หญิงตัวยักษ์ใหญ่ในเกม AEIOU หรือแม้แต่ขนมทัลโกนาน้ำตาลเคี่ยว ก็ต่างฮิตทำตาม ๆ กัน รวมไปถึงเปิดให้บริการเกมบนมือถือชื่อ “Squid Game Challenge” ที่ดัดแปลงจากซีรีส์ บนระบบ Android ใน Google Play Store ของไทยด้วยเช่นกัน 

ทำให้เห็นว่า Squid Game เป็นเหมือนเครื่องตอกย้ำว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้มีความต้องการจากทั่วโลกไม่น้อย และเป็นที่น่าจับตามองว่า กระแสการตอบรับซีรีส์จากเกาหลีใต้ครั้งนี้ อาจจะทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญของ HOLLYWOOD ในอนาคตก็เป็นได้ 

ถอดรหัส ‘เกาหลีใต้’ ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ สร้างชาติ ทะยานสู่ระดับโลก | Knowledge Times EP.30

????Knowlegde Times BizView
????ถอดรหัส ‘เกาหลีใต้’ ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ สร้างชาติ ทะยานสู่ระดับโลก

ซีรีส์ ดนตรี ภาพยนตร์ เชื่อว่าในยุคนี้ต้องเคยได้สัมผัสกับความบันเทิงที่ส่งตรงมาจากแดนกิมจิ หรือประเทศเกาหลีใต้กันบ้าง ประเทศที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศล้าหลังแห่งเอเชีย แต่ในวันนี้กลับพลิกโฉมหน้าและพุ่งทะยานสู่สุดยอดอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก....เขาทำได้อย่างไร?

เมื่อย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีนั้นถือว่าเจริญรุ่งเรืองไม่น้อยกระทั่งการเผด็จอำนาจของปักจุงฮี ที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงเสื่อมลงจากการถูกเซนเซอร์และโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งทำให้ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 1988 จนกระทั่งปักจุงฮีเสื่อมอำนาจลง 

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีก็ยังถูกครอบงำด้วยกลุ่มธุรกิจแชโบลมาจนถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้บริษัทใหญ่ในเกาหลีประสบภาวะเสียหายอย่างรุนแรง กลุ่มทุนแชโบลจึงถอยออกจากการครอบงำวงการภาพยนตร์ 

นอกจากนี้วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือที่คนเกาหลีรู้จักกันในชื่อวิกฤต IMF ก็สร้างความเสียหายไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมหนักของเกาหลีใต้ ที่ในขณะนั้นเปรียบเสมือนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของประเทศ จนต้องชะงักลง

ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอื่น ๆ นั่นก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมบันเทิง

โดยในปี 1998 รัฐบาลได้ตั้งกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดองค์การมหาชน และศูนย์วิจัยทางวัฒนธรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ทั้งดนตรี ละคร และภาพยนตร์ เพื่อผลักดันสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้กลายเป็นสินค้า และสามารถส่งออกเพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

‘การวางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ คือกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ดันอุตสาหกรรมบันเทิงจนสำเร็จ เพราะ ทุกอย่างได้ผ่านการวางแผนเป็นอย่างดี ทั้งผลงาน กลุ่มลูกค้าและเนื้อหา เพื่อสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ให้แข็งแรง

โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้มีจุดเด่นอยู่ 4 ประการหลัก ๆ ประกอบไปด้วย...

ประการที่ 1 ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมทางวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไป โดยมี Korea Creative Content Agency ทำหน้าที่วางแผนนโยบายอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งดนตรี ละคร และภาพยนตร์ โดยมีการดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจาก

1.) สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อเอื้อให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม   
ด้วยการออกกฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ลงดาบผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ การออกกฎหมายสนับสนุนภาพยนตร์ในประเทศ โดยกำหนดจำนวนวันฉายภาพยนตร์เกาหลีในโรงภาพยนตร์ รวมถึงจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เพื่อให้เป็นแหล่งพบปะ และแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลก ทำให้เทศกาลภาพยนตร์ที่ปูซานกลายเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย

2.) จัดตั้งกองทุนด้านวัฒนธรรม Korea Venture Investment Corporation ในปี 2005 เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือบริษัทเอกชนสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงต่าง ๆ โดยรัฐบาลลงทุนในสัดส่วน 20% ส่วนอีก 80% เป็นค่ายเพลง และบริษัทเอกชนต่าง ๆ

3.) สนับสนุนกลุ่มนายทุนผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ก่อตั้งบริษัทที่เน้นด้านธุรกิจบันเทิง โดยบริษัทที่โดดเด่นก็คือ CJ Group ซึ่งได้ก่อตั้งบริษัทในเครือ CJ ENM ในปี 1995 ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ของเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของช่องเคเบิลทีวีที่โด่งดัง ได้แก่ Mnet /tvN /OCN 

4.) สร้างบุคลากรที่มีความสามารถ โดยรัฐบาลได้จัดทำโครงการ Broadcast Video Promotion Plan เพื่อสนับสนุนให้มีการเปิดหลักสูตรการสอนนักแสดงและบุคลากรในวงการบันเทิงในรั้วมหาวิทยาลัย และจัดตั้งโรงเรียนสอนการแสดง ที่ร่วมกับค่ายเพลง-บริษัทด้านบันเทิงต่าง ๆ เพื่อปั้น ‘ไอดอล’ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แม้ว่าจะมีกลุ่มคนไม่เห็นด้วยเพราะสัญญาที่ยาวนานและการฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความพร้อมให้กับเหล่าไอดอลได้อย่างมาก

ประการที่ 2 สร้างตัวตนให้โดดเด่น ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร

เมื่อคนและเงินทุนพร้อม ประการต่อมา คือการสร้างภาพลักษณ์ ให้มีความโดดเด่น และน่าดึงดูดใจ อย่างเช่น วงการ K-pop จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพลง มิวสิกวิดีโอให้มีฉากโดดเด่น เน้นขายคุณภาพการเต้น และท่าเต้นที่พร้อมเพรียง รวมไปถึงการวางแผนการสร้างศิลปิน ที่จะถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียด ตั้งแต่จำนวนสมาชิก ภาพลักษณ์  สไตล์เพลง กลุ่มตลาด รวมถึงการบริหารจัดการภาพลักษณ์ไม่ให้มีเรื่องอื้อฉาว 

ในขณะที่วงการซีรีส์ ที่กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสังคมเกาหลี เช่น การวางบทตัวละครเพศชาย ให้อบอุ่น อ่อนโยน เพื่อปลูกฝังและลดพฤติกรรม ‘ชายเป็นใหญ่’ ในสังคมเกาหลี รวมไปถึงสอดแทรกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเข้าไปในซีรีส์และภาพยนตร์หลายเรื่อง 

ประการที่ 3 การวางแผนการตลาดในระดับโลก

การที่เกาหลีใต้ต้องการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตีตลาดโลกให้ได้ ซึ่งได้มีการตั้ง ‘ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี’ ไว้ทั่วทุกมุมโลก ที่ปัจจุบันมีกว่า 33 ประเทศ ใน 6 ทวีป เพื่อใช้ในการเผยแพร่วัฒนธรรม รวมถึงการจัดงานต่าง ๆ เพื่อโปรโมตสื่อเกาหลี

นอกจากนั้นการที่จะซื้อใจคนได้ทั่วโลกต้องเข้าใจตลาดของชาตินั้น ๆ เสียก่อน จะเห็นได้ว่า K-pop บางวงจึงมีการเพิ่มสมาชิกที่เป็นชาวต่างชาติเข้าไป อย่างเช่น วง BLACKPINK ที่มีสมาชิกชาวไทย อย่างสาวลิซ่า ที่โด่งดังและสร้างฐานแฟนคลับทั้งเมืองไทยและชาติอาเซียน 

นอกจากนี้ฝั่งซีรีส์เอง ก็มีการพากย์เสียงภาษาต่าง ๆ ก่อนนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศ และหลีกเลี่ยงการออกอากาศในประเทศที่มีธรรมเนียมปฏิบัติทางเพศที่เข้มงวด

ประการที่ 4 การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง

แน่นอนว่าการมุ่งสร้างแต่คอนเทนต์บันเทิงยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะแต่แรกเริ่ม รัฐบาลเกาหลีใต้มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมบันเทิงควบคู่กัน ดังนั้น สถาบันวิจัยด้านอิเล็กทรอนิกส์และสื่อสารทางไกล, ETRI จึงเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีในการประกอบความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น การใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์ โฮโลแกรมประกอบการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต หรือการออกแบบมิวสิกวิดีโอให้มีความสวยงามล้ำสมัย หรือในวงการภาพยนตร์ ละคร ก็มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมาสร้างสรรค์ฉากที่สวยงามและล้ำสมัย

ในด้านภาคเอกชนเองก็มีบทบาทไม่แพ้กันโดย บริษัท CJ Group ก็เป็นผู้พัฒนา 4DX System ที่กลายเป็นจุดกำเนิดโรงภาพยนตร์ 4 มิติแห่งแรกของโลก ในปี 2009 ที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสความเสมือนจริงไปอีกขั้น ด้วยกลิ่นและการสั่นสะเทือน

นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีการใช้กลยุทธ์ Creative Economy ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าหรือพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น หากแต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สติปัญญา ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในกลุ่ม อุตสาหกรรมแฟชั่น การออกแบบ สื่อ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ เพลง และงานศิลป์ในแขนงต่าง ๆ

เรียกได้ว่าการข้ามผ่านจุดตกต่ำสู่การกลับมาผงาดอีกครั้งของเกาหลีใต้ แบบไม่ง้ออุตสาหกรรมแบบเดิม แต่หันไปจับอุตสาหกรรมใหม่ที่ผ่านการวางแผนอย่างดีและเป็นขั้นเป็นตอน 

ทำให้การดันอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จและไปไกลถึงระดับโลก ทั้งยังกลายเป็นหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในการใช้ Soft Power มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและยังแตกแขนงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านการวางยุทธศาสตร์ที่เฉียบคมของเกาหลีใต้ ที่หลายชาติยากจะเลียนแบบ

จากเวียงจันทน์ ถึงวังมังกร!! ทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางพลิกโฉม เชื่อมเศรษฐกิจอาเซียน!! | Knowledge Times EP.32

???? Knowledge Times BizView
???? จากเวียงจันทน์ ถึงวังมังกร!! ทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางพลิกโฉม เชื่อมเศรษฐกิจอาเซียน!!

นับถอยหลัง! จีน - ลาว เตรียมเปิดหวูดเส้นทางรถไฟสายพิเศษ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 46 ปี วันชาติหรือวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นเส้นทางที่หลายคนกำลังจับตามอง และเป็นหนึ่งในความหวังที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของ สปป.ลาว และเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอาเซียนในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย 

หนังสือพิมพ์ Vientiane Times ได้รายงานคำกล่าวของ ‘พันคำ วิพาวัน’ นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ว่า บริการรถไฟสายระหว่างลาวกับจีนจะเปิดให้บริการตามกำหนดการในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ไม่มีการเปลี่ยนจากแผนเดิม และกำลังทำแผนให้เปิดบริการรถไฟภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน รวมถึงแนวทางเปิดบริการทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว ที่ต้องมีมาตรการใช้สำหรับบริเวณชายแดนลาว-จีนโดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบสินค้าและผู้โดยสารก่อนเข้าและออกอย่างเคร่งครัด

ในระยะแรกทางรถไฟจีน-ลาวนี้ จะเริ่มด้วยการมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ตามมาด้วยการเปิดให้มีการท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์ของโควิดเข้าสู่ระยะที่ควบคุมได้ในระยะต่อไป โดยประเมินกันว่าทางรถไฟระยะทาง 424.4 กิโลเมตรสายนี้ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งผ่านลาว ประมาณ 30 - 40% หากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนนอย่างที่ทำมาตลอด นั่นย่อมจะมีส่วนเกื้อหนุนการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ

สำนักข่าวของลาวรายงานว่า ผู้บริหาร บริษัท นิคมโลจิสติกส์เวียงจันทน์ จำกัด (Vientiane Logistics Park) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาท่าเรือบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry Port) และนิคมโลจิสติกส์เวียงจันทน์ว่า ทางรถไฟสายนี้จะเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้ลาวกลายเป็น “ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” หรือ Global Supply Chain ได้ 

หนึ่งในประโยชน์ที่จะเกิดให้เห็นได้ชัด คือ การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังยุโรปจะใช้เวลาเพียง 10 วัน เร็วกว่าการขนส่งทางทะเลปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ทำให้ประเมินว่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้เห็นประโยชน์ของการตัดสินใจเลือกขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางรถไฟสายนี้เช่นกัน โดยคาดว่าตู้คอนเทนเนอร์จากลาวอย่างน้อย 300,000 ตู้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากท่าเรือบกท่านาแล้ง จะถูกขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ไปยังยุโรปในแต่ละปี และจะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 1.2-1.8 ล้านตู้ต่อปี

สำหรับจีนแล้วสิ่งนี้ คือ ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ BRI (Belt and Road Initiative) คือการขยายอิทธิพลบนเวทีโลก ผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระดับนานาชาติ และสำหรับ สปป.ลาวนั้น นี่คือแผนยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land-locked country) กลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก (Land-linked country) ซึ่งทางการจีนบอกว่า การสร้างรถไฟสายนี้ได้ใช้มาตรฐานด้านการจัดการและเทคนิคของจีนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2016 และเร่งงานสร้างเสร็จตามกำหนดในระยะเวลา 5 ปี และพร้อมเปิดใช้งานปลายปีนี้

โดยเส้นทางรถไฟลาว-จีน มีระยะทางกว่า 420 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 31 สถานี เริ่มต้นที่ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย ในจุดนี้เองที่เป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทย ที่จะสร้างโอกาสต่อยอดจากเส้นทางรถไฟสายนี้อย่างไร

โดยก่อนหน้านี้ทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ของไทย ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ถึงโอกาสที่จะทำให้ไทยได้อานิสงส์ จากเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าจากไทย ผ่านลาวไปยังตลาดจีน ในทางกลับกันก็จะช่วยลดระยะเวลา ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า และการเดินทางมายังประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

หากมองถึงโอกาสทางการค้า ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปลาวและจีนได้เพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภค - บริโภค โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศจีนในอดีตนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน ส่งผลให้ผลไม้ไทยได้รับความเสียหาย เพราะผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น การขนส่งที่ใช้เวลานานจะทำให้เกิดการเน่าเสียของสินค้า ดังนั้นการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟลาว-จีน จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตร ให้สามารถกระจายไปยังมณฑลต่าง ๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะอันสั้น

ส่วนในด้านการบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ เช่น กลุ่มบริการสุขภาพ โรงพยาบาล นวดแผนไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นในคุณภาพ และมาตรฐานสาธารณสุขของไทย รวมถึงกลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม เนื่องจากราคาสินค้าและบริการถูก รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มของไทยเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนและลาว ที่จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการค้าขายผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว

ซึ่งเรื่องนี้เป็นการบ้านสำหรับประเทศไทยก็ คือ เราจะใช้ประโยชน์ด้วยการต่อยอดจากการเชื่อมต่อระหว่างตอนใต้ของจีนกับเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ได้มากน้อยแค่ไหน และจะเดินหน้าวางแผนสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับกรุงเทพฯ เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสนี้อย่างไรบ้าง เชื่อว่าเราคงจะได้เห็นกันอีกไม่นานนี้แน่นอน 

Metaverse โลกเสมือนจริง! ที่พร้อมกลืนกินชีวิตมนุษย์! | Knowledge Times EP.34

????Knowledge Times BizView
????Metaverse โลกเสมือนจริง! ที่พร้อมกลืนกินชีวิตมนุษย์!

เมื่อไม่นานมานี้ Facebook ได้ออกมาประกาศรีแบรนด์ บริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ ‘Meta’ ชื่อใหม่ที่แฝงความหมายสุดลึกล้ำ ที่มีความหมายว่า ‘เหนือไปกว่า, ไกลไปกว่า’ แต่นอกจากการเปลี่ยนชื่อที่บอกถึงการก้าวไปอีกขั้นแล้ว นี่ยังสะท้อนให้เห็นถึงก้าวสำคัญของ ‘Facebook’ ด้วยการก้าวเข้าสู่แนวทางใหม่อย่าง ‘Metaverse’ 

ซึ่งการเข้ามาเขย่าโลกของ Metaverse จะทำให้โลกที่เป็นอยู่เหนือขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการทำให้โลกในอนาคตไปได้ไกลกว่าหน้าจอ ทลายข้อจำกัดของระยะทาง และทำให้ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น

ฟังดูแล้ว Metaverse เป็นเหมือนโลกใหม่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าและยังสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เรียกได้ว่านี่อาจกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘จุดเปลี่ยน อารยธรรมมนุษย์’ ก็ว่าได้

หากทวนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไป จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านทางด้านนวัตกรรมของโลกแต่ละครั้ง ในแต่ละรอบใช้ระยะเวลาราว ๆ 30-60 ปี ยกตัวอย่าง การที่มนุษย์รู้จักการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตั้งแต่สมัยเทสลา และเอดิสัน เมื่อยุคปี 1900 หรือเมื่อ 120 ปีที่แล้ว ก็นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง

เมื่อเวลาผ่านไปการเปลี่ยนผ่านของนวัตกรรมก็ได้กลับมาอีกครั้ง โดยในรอบนี้คือการเริ่มเข้าสู่ยุคเซมิคอนดักเตอร์ ในสมัย Fairchild Semiconductor ช่วงปี 1960 ซึ่งบริษัทนี้เอง ที่ได้ต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น บริษัท Intel, HP, Apple, Microsoft ในเวลาต่อมา

และการเปลี่ยนผ่านครั้งล่าสุดนั่นก็คือ การเข้ามาของอินเทอร์เน็ต ในช่วงปี 1990 และนี่ก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีนวัตกรรมมากมาย เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตผู้คน ทั้งโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ หรือแม้แต่ระบบบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐานของคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบัน และทำให้มีบริษัทที่เกิดขึ้นมาในยุคนี้ก็คือ Amazon, Tesla และ Facebook

และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีก่อน Facebook ในวันนั้นได้เติบโตขึ้นและได้กวาดคนกว่าครึ่งโลกเข้าไปใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองได้สำเร็จ 

จนกระทั่งวันนี้ Facebook ได้ประกาศก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘Meta’ ที่จะพลิกโลกด้วย Metaverse และ Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่จะเชื่อมโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกสมมุติ ผ่านคอมพิวเตอร์ได้อย่างกลมกลืน 

ลองคิดดูว่า นวัตกรรมที่เราเห็นในปัจจุบันที่โลกคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในโลกความเป็นจริง เช่น รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่คอมพิวเตอร์ประเมินสภาพแวดล้อมทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่ในทางกลับกันมนุษย์เองก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในโลกเสมือนจริง ที่คอมพิวเตอร์สร้างเอาไว้ได้เช่นกัน ผ่าน Virtual Reality เหมือนอย่างที่เราเคยเห็นกันในหนังไซไฟ ที่คนสวมแว่นตาและเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน

แต่หนังก็อาจจะอธิบาย ได้เพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะอันที่จริงแล้ว Metaverse เป็นระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ที่ถูกสร้างขึ้นในทุกรายละเอียด ตั้งแต่ สังคม การใช้ชีวิต การปกครอง และระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ในโลกใบนั้น

โดยในโลก Metaverse นั้น จะเป็นการผสมผสานความเป็นจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน จนบางครั้งอาจทำให้เราหลงลืมไปได้เลยว่า เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งไหนกันแน่..

แน่นอนว่าการเข้ามาของสิ่งใหม่ โดยเฉพาะสิ่งที่ทำหน้าที่ ‘เสมือนมนุษย์’ นั้น ในช่วงแรกย่อมทำให้เกิดความรู้สึกแปลก แต่เมื่อนานวันไปสิ่งเหล่านี้จะแทรกซึมและทำให้มนุษย์ชอบได้ไม่ยาก

นั่นเพราะ Metaverse จะช่วยลดแรงเสียดทานในสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริงของมนุษย์ สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา หรือเป็นไปไม่ได้ ก็สามารถ ‘เป็นไปได้’ ราวกับมนุษย์นั้นเป็นพระเจ้าในโลกเสมือนใบนี้

แล้วถ้าหากคิดว่าโลกเสมือนจริงแห่งนี้ยังอยู่ไกลตัว....ขอบอกเลยว่าโลกเสมือนแห่งนี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และเราอาจก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปแล้วก็ได้... 

ไม่ว่าเป็นการเพลิดเพลินในเล่นโซเชียลมีเดีย เล่นเกมจนลืมเวลา หรือแม้แต่ใครที่หลงใหลในคริปโทเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ NFT เพราะเราวาดฝันว่าจะได้เป็นเศรษฐี และเจ้าของทรัพย์สินในโลกนั้น

สิ่งเหล่านี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าโลกเสมือนจริงแห่งนี้อยู่ใกล้ตัวเรา แถมเรายังใช้ชีวิตและสัมผัสอยู่ในโลกเสมือนเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ทุกคนกำลังมีตัวตนทางสังคม มีสิ่งแวดล้อม มีทรัพย์สิน ในโลกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และนั่นหมายความว่าเราได้ย่างก้าวเข้าสู่ Metaverse เป็นที่เรียบร้อยแล้ว..

แต่สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือการที่มนุษย์อาจหลงใหลในโลกเสมือนแห่งนี้ จนถอนตัวไม่ขึ้น หรืออาจถึงขั้นที่ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าตนเองได้ตกหลุมพรางโลกเสมือนแห่งนี้เข้าให้แล้ว

นอกจากนั้น คนที่ลองเข้าไปแล้วมีความสุข ก็เริ่มชักชวนคนรอบข้างให้เข้าไปตาม หากใครไม่เข้าร่วมก็จะกลายเป็นคนตกยุค ถ้าไม่มีสิ่งนั้นมาครอบครอง คุณก็จะเหมือนไดโนเสาร์ เต่าล้านปี....

ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ ที่สามารถให้ทั้ง ‘คุณ’ และ ‘โทษ’ ในเวลาเดียวกัน และกลายเป็นหนึ่งโจทย์ใหม่ของมนุษย์ที่ผ่านการใช้ชีวิตในโลกเดิมหรือโลกความเป็นจริง ที่อาจจะเกิดการต่อต้านโลกใบใหม่ 

แต่สุดท้าย ก็ต้องทำใจยอมรับว่า มนุษย์ในยุคใหม่ หรือ เจเนอเรชันถัดไป จะตบเท้าก้าวสู่ Metaverse มากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนคุ้นเคย เหมือนเช่นอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ที่เมื่อหลายสิบปีก่อน คงไม่มีใครคิดว่าจะกลายเป็นสมาร์ตโฟน ที่สามารถย่อโลกทั้งใบไว้ในมือเดียวได้เช่นทุกวันนี้

โลกหลังโควิด!! “Tele Health” ใกล้หมอ..แค่ปลายนิ้ว มิติใหม่ของการพบแพทย์ | Knowledge Times EP.36

???? Knowledge Times BizView | EP.36
???? โลกหลังโควิด!! “Tele Health” ใกล้หมอ..แค่ปลายนิ้ว มิติใหม่ของการพบแพทย์

เราอาจจะเริ่มคุ้นหู หรือได้เห็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับบริการสุขภาพทางไกล ที่เรียกว่า “Tele Health” กันมาบ้าง... ซึ่งเจ้า Tele Health นี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การใช้งานอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ด้วยช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานี้ ทำให้ “Tele Health” กลับกลายเป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ส่งผลให้ความต้องการในการใช้งานเติบโตอย่างก้าวกระโดดของวงการแพทย์  

กรณีตัวอย่างของสหรัฐฯ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากในปี 2020 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนช่องทางการใช้บริการด้านสุขภาพ มาสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยจากงานวิจัยของ “McKinsey” พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ หันมาใช้บริการ Tele Health เพิ่มขึ้นจาก 11% ของผู้บริโภคในปี 2019 มาอยู่ที่ 46% ในปี 2020

เนื่องจาก Tele Health เป็นรูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์ที่สุดในสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้ป่วยมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังโรงพยาบาล ในกรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้มีการเลื่อนการรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินออกไป

แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางส่วนยังมีความต้องการคำปรึกษาและคำแนะนำในการรักษาอาการป่วยทั่วไป ทำให้หันมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม Tele Health ในการรักษาพยาบาลออนไลน์กันมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายแล้วแต่ Tele Health ยังเป็นรูปแบบของการให้บริการด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจากผลสำรวจของ McKinsey ดังกล่าวข้างต้นยังพบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ราว 76% ตอบว่ายังสนใจจะใช้บริการ Tele Health ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว เช่นเดียวกันกับในหลาย ๆ ประเทศที่ Tele Health เข้ามามีบทบาทมากขึ้น  

ขณะที่ ‘Statista’ ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดชั้นแนวหน้าของโลก ได้มีการคาดมูลค่าตลาด Tele Health ของโลกในช่วงปี 2019 ถึงปี 2026 จะเติบโตราว 21% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 6 ล้านล้านบาทไทย

สำหรับในไทย Tele Health ถูกนำมาใช้มากขึ้นโดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาลทางไกล หรือที่เรียกว่า “Telemedicine” ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นไปที่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษาและควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง แต่โควิด-19 นับเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ส่งผลให้ Telemedicine เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่เพียงแต่การให้คำปรึกษาการรักษาพยาบาลขั้นต้น เช่น อาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง เท่านั้น

แต่ Telemedicine มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ในการรักษา สำหรับกรณีที่ต้องมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งผู้ป่วยต้องมีการนัดพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) นี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับเทรนด์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้น Telemedicine จึงเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์การรักษาอย่างดีในหลายด้าน

นอกจากนี้ยังมีทั้งความสะดวกสบาย ที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลเกินความจำเป็น และลดความแออัดของสถานพยาบาล โดยเฉพาะสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลยังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดียิ่งขึ้นด้วย 

แม้ว่า Tele Health จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโต เนื่องจากการตรวจของแพทย์ผ่านทาง VDO ยังมีข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยที่ต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ร่วมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ Tele Health ประสบความสำเร็จจากการให้บริการสุขภาพทางไกลแบบครบวงจรอีกด้วย ซึ่งแพลตฟอร์ม “Ping An Good Doctor” เป็นตัวอย่างของแพลตฟอร์มด้าน Health Tech ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในจีน จากการมีบริการที่ครบวงจรครอบคลุมทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ ตลอดจนการมีเครือข่ายโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังมีระบบที่ผู้ป่วยสามารถรับยาได้อย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศด้วย ซึ่งจุดแข็งอีกด้านหนึ่งของ Ping An Good Doctor คือ การมีบริษัทย่อยเป็นบริษัทประกัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าของบริษัท สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลที่ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มกับบริษัทประกันได้ ทำให้ผู้ป่วยหันมาใช้บริการมากขึ้น และยังได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้บริการ Telemedicine ในไทยเกิดเร็วขึ้น และกลายเป็น New Normal ของการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้เองภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในการผลักดัน และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึง “Tele Health” ให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขในระยะยาว ลดต้นทุน - ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐต้องแบกรับภาระสูง และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย

เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้! วิกฤตตลาดหุ้น ‘สหรัฐ’ ! ‘รักษาหน้า’ จนฟองสบู่ ‘ใกล้แตก’! | Knowledge Times EP.38

????Knowledge Times BizView | EP.38
????เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้! วิกฤตตลาดหุ้น ‘สหรัฐ’ ! ‘รักษาหน้า’ จนฟองสบู่ ‘ใกล้แตก’!

จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร คนตกงาน ธุรกิจต่าง ๆ ปิดตัวลง ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างดูเหมือนจะเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น

โดยในภาค Main Street ซึ่งก็คือ ภาคเศรษฐกิจจริง อันมีธุรกิจที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นการทำธุรกิจแบบยั่งยืน โดยสหรัฐฯ นั้นย่ำแย่มานานจากผลของการระบาดจากโควิด-19 รวมไปถึงปัญหาการเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ อันเป็นระบอบที่เน้นชนชั้นสูง ผู้นำทางการเงิน ชนชั้นในตลาดหุ้นเป็นหลัก หรือ The winner Takes All (ใครมือยาวสาวได้สาวเอา)

ในขณะเดียวกันที่ภาค Main Street ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 แต่ในด้านของตลาดหุ้นกลับดูเหมือนว่าไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้น NASDAQ (แนสแด็ก) ตลาดหุ้นที่เกี่ยวกับ Tech Company ซึ่งราคาในตลาดหลักทรัพย์มีแต่ขึ้นกับขึ้น แต่ในความเป็นจริง นี่คือลักษณะของการเกิดฟองสบู่ เสียมากกว่า

ย้อนกลับไปในยุคที่สหรัฐฯ นั้นรุ่งเรืองมากที่สุด ซึ่งผลิตสินค้าโภคภัณฑ์มากมายในอดีต เช่น Ford ซึ่งในยุคนั้นสหรัฐฯ เน้นผลิตจากภาคการผลิตจริง ในช่วงยุค 60s 70s 

แต่หลังจากนั้นสหรัฐฯ มีความเชื่อว่าการอัดฉีดเงินเข้าไปในตลาดหุ้น เป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ตลาดหุ้นยังกลายเป็นที่ทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้น และ CEO แต่ละบริษัทจะได้กำไรมากหรือน้อยไปขึ้นอยู่กับผลประกอบการ

จึงยิ่งทำให้คนไปเน้นตัวเลขที่ตลาดหุ้น มากกว่าการผลิตจริง แน่นอนว่าการที่จะสร้างกำไรมหาศาลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ต้องมีการตัดค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท 

ซึ่งการตัดค่าใช้จ่ายในจุดต่าง ๆ นั้น ทำให้ภาคการผลิตจริงอ่อนแอ ไม่ว่าจะแรงงานครัวเรือน ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง อ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ เพราะยิ่งลดค่าใช้จ่ายมากเท่าไหร่ ผู้ถือหุ้นก็จะสร้างกำไรได้มากขึ้นเท่านั้น และในขณะเดียวกัน CEO ก็จะได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นี่จึงกลายเป็นจุดตัดของ ‘Main Street’ กับ ‘Wall Street’

ซึ่งถ้าหากพูดถึงภาค Main Street ของสหรัฐฯ ในขณะนี้ ไม่ว่าจะมีการแพร่ระบาดของ Covid-19 หรือไม่ ต่างก็ถูกกดทับในเชิงโครงสร้างมาโดยตลอดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลพวงจากวิธีคิดเหล่านี้

และยิ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม จึงทำให้ขณะนี้ในสหรัฐฯ มีคนตกงานไปแล้วกว่า 107 ล้านคน จากการรายงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed อันเป็นผลพวงจากโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปในทุกจุดของโลก อันทำให้แรงงานต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ

แต่ในทางกลับกันภาค ‘Wall Street’ ที่ยึดผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ดังนั้นการที่หุ้นตกลง นั่นเป็นเสมือนการเสียหน้า อันมีความเชื่อว่าถ้าดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ต่ำเมื่อไหร่ แสดงถึงเศรษฐกิจที่ไม่ดี

เรียกว่าเป็น ‘ตลาดหุ้นแบบสุดโต่ง’ โดยที่แทบไม่ได้สนใจในภาค Main Street และที่ผ่านมา เพื่อรักษาหน้าตลาดหุ้น ‘ธนาคารกลางสหรัฐฯ’ ได้พิมพ์แบงก์จำนวนมหาศาล มาอัดฉีดในตลาดหุ้น 

แทนที่จะนำเงินมาอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจจริง หรือนำไปทำประโยชน์อื่น ๆ แต่ปรากฏว่าในสมัยใหม่ ลัทธิที่ใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเข้าไปอัดระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในอดีตเงินส่วนนี้มักนำไปใช้ในการสร้างโปรเจกต์ยักษ์เพื่อสร้างงานให้กับคน รวมไปถึงการพิมพ์แบงก์ 

แต่ในปัจจุบันกลับนำเงินเข้าไปอัดในตลาดหุ้น ซึ่งเหตุผลที่สหรัฐฯ เลือกทำเช่นนี้ นั่นเป็นเพราะนี่คือวัฒนธรรมที่ต้องรักษาภาพพจน์ของตลาดหุ้น เพราะมีความเชื่อว่าตัวเลขในตลาดหุ้นดีเท่าไหร่ นั่นยิ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ดี

ดังนั้นเมื่อมีการอัดฉีดเงินเข้าไปอยู่ตลอด จึงทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในสหรัฐฯ นั้นมีภาพที่ดี เพราะมักใช้ตัวเลขดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ แล้วอัดเงินเข้าไปตรงจุดนี้ให้เยอะ ๆ เพื่อดึงเงินจากทั่วโลกให้มาลงในตลาดหุ้นสหรัฐ 

ซึ่งเป็นเทคนิคในการล่อใจนักลงทุนทั่วโลก ด้วยการเอาหุ้นบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่เป็นหลักในการฉีดเงินเข้าไป เพื่อให้เกิดอุปทานหมู่และเงินจากทั่วโลกก็จะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่หากมองเนื้อในที่แท้จริง มีเพียง 20% เท่านั้น ที่ราคาตลาดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ นั้นดีจริง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่สมดุล

ดังนั้น การอัดฉีดเงินเข้าไปโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงย่อมทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้น ซึ่งในขณะนี้ก็กำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะขาดรากฐานจากความเป็นจริง 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ แท้จริงแล้วรากฐานอาจไม่ได้แข็งแรงและมั่นคงอย่างที่คิด แต่การอัดฉีดเงินเข้าไปมหาศาล เพื่อสร้างภาพพจน์ออกมาให้ดูดี และดึงดูดนักลงทุนนี้ แม้จะเป็นกลยุทธ์ที่อาจใช้ได้ผลในระยะหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่ ‘ฟองสบู่’ อาจจะ ‘แตกสลาย’ ลงเมื่อไหร่ก็ได้ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top