จากเวียงจันทน์ ถึงวังมังกร!! ทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางพลิกโฉม เชื่อมเศรษฐกิจอาเซียน!! | Knowledge Times EP.32
???? Knowledge Times BizView
???? จากเวียงจันทน์ ถึงวังมังกร!! ทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางพลิกโฉม เชื่อมเศรษฐกิจอาเซียน!!
นับถอยหลัง! จีน - ลาว เตรียมเปิดหวูดเส้นทางรถไฟสายพิเศษ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 46 ปี วันชาติหรือวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นเส้นทางที่หลายคนกำลังจับตามอง และเป็นหนึ่งในความหวังที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของ สปป.ลาว และเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอาเซียนในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times ได้รายงานคำกล่าวของ ‘พันคำ วิพาวัน’ นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ว่า บริการรถไฟสายระหว่างลาวกับจีนจะเปิดให้บริการตามกำหนดการในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ไม่มีการเปลี่ยนจากแผนเดิม และกำลังทำแผนให้เปิดบริการรถไฟภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน รวมถึงแนวทางเปิดบริการทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว ที่ต้องมีมาตรการใช้สำหรับบริเวณชายแดนลาว-จีนโดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบสินค้าและผู้โดยสารก่อนเข้าและออกอย่างเคร่งครัด
ในระยะแรกทางรถไฟจีน-ลาวนี้ จะเริ่มด้วยการมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ตามมาด้วยการเปิดให้มีการท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์ของโควิดเข้าสู่ระยะที่ควบคุมได้ในระยะต่อไป โดยประเมินกันว่าทางรถไฟระยะทาง 424.4 กิโลเมตรสายนี้ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งผ่านลาว ประมาณ 30 - 40% หากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนนอย่างที่ทำมาตลอด นั่นย่อมจะมีส่วนเกื้อหนุนการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ
สำนักข่าวของลาวรายงานว่า ผู้บริหาร บริษัท นิคมโลจิสติกส์เวียงจันทน์ จำกัด (Vientiane Logistics Park) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาท่าเรือบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry Port) และนิคมโลจิสติกส์เวียงจันทน์ว่า ทางรถไฟสายนี้จะเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้ลาวกลายเป็น “ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” หรือ Global Supply Chain ได้
หนึ่งในประโยชน์ที่จะเกิดให้เห็นได้ชัด คือ การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังยุโรปจะใช้เวลาเพียง 10 วัน เร็วกว่าการขนส่งทางทะเลปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ทำให้ประเมินว่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้เห็นประโยชน์ของการตัดสินใจเลือกขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางรถไฟสายนี้เช่นกัน โดยคาดว่าตู้คอนเทนเนอร์จากลาวอย่างน้อย 300,000 ตู้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากท่าเรือบกท่านาแล้ง จะถูกขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ไปยังยุโรปในแต่ละปี และจะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 1.2-1.8 ล้านตู้ต่อปี
สำหรับจีนแล้วสิ่งนี้ คือ ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ BRI (Belt and Road Initiative) คือการขยายอิทธิพลบนเวทีโลก ผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระดับนานาชาติ และสำหรับ สปป.ลาวนั้น นี่คือแผนยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land-locked country) กลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก (Land-linked country) ซึ่งทางการจีนบอกว่า การสร้างรถไฟสายนี้ได้ใช้มาตรฐานด้านการจัดการและเทคนิคของจีนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2016 และเร่งงานสร้างเสร็จตามกำหนดในระยะเวลา 5 ปี และพร้อมเปิดใช้งานปลายปีนี้
โดยเส้นทางรถไฟลาว-จีน มีระยะทางกว่า 420 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 31 สถานี เริ่มต้นที่ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย ในจุดนี้เองที่เป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทย ที่จะสร้างโอกาสต่อยอดจากเส้นทางรถไฟสายนี้อย่างไร
โดยก่อนหน้านี้ทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ของไทย ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ถึงโอกาสที่จะทำให้ไทยได้อานิสงส์ จากเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าจากไทย ผ่านลาวไปยังตลาดจีน ในทางกลับกันก็จะช่วยลดระยะเวลา ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า และการเดินทางมายังประเทศไทยด้วยเช่นกัน
หากมองถึงโอกาสทางการค้า ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปลาวและจีนได้เพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภค - บริโภค โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศจีนในอดีตนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน ส่งผลให้ผลไม้ไทยได้รับความเสียหาย เพราะผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น การขนส่งที่ใช้เวลานานจะทำให้เกิดการเน่าเสียของสินค้า ดังนั้นการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟลาว-จีน จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตร ให้สามารถกระจายไปยังมณฑลต่าง ๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะอันสั้น
ส่วนในด้านการบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ เช่น กลุ่มบริการสุขภาพ โรงพยาบาล นวดแผนไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นในคุณภาพ และมาตรฐานสาธารณสุขของไทย รวมถึงกลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม เนื่องจากราคาสินค้าและบริการถูก รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มของไทยเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนและลาว ที่จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการค้าขายผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว
ซึ่งเรื่องนี้เป็นการบ้านสำหรับประเทศไทยก็ คือ เราจะใช้ประโยชน์ด้วยการต่อยอดจากการเชื่อมต่อระหว่างตอนใต้ของจีนกับเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ได้มากน้อยแค่ไหน และจะเดินหน้าวางแผนสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับกรุงเทพฯ เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสนี้อย่างไรบ้าง เชื่อว่าเราคงจะได้เห็นกันอีกไม่นานนี้แน่นอน
.
.
แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32