Wednesday, 21 May 2025
SPECIAL

กระบี่ - สถาปัตยุคศรีวิชัย "พระธาตุวัดคลองท่อม" เป็นสถาปัตยกรรมถอดแบบยุคสมัยอาณาจักรศรีวิชัย กำลังก่อสร้างใหญ่ที่สุดภาคใต้ (สูง49 ม.)และพบได้ไม่กี่แห่งในไทย

"พระธาตุวัดคลองท่อม" เป็นสถาปัตยกรรมถอดแบบยุคสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ปัจจุบัน ความงดงามแบบนี้ มีไม่กี่แห่ง พบในภาคใต้ ซึ้งปัจจุบันกำลังก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่สุดในภาคใต้ (ความสูง 49 เมตร) ณ.วัดคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ด้วยแรงศรัทธาเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยพระครูสถิตนราธิการ และสาธุชนทั้งหลาย ร่วมกันทำบุญบริจาค

โดยลักษณะ "พระธาตุวัดคลองท่อม"เป็นสถูปทรงมณฑปให้มีฐานและเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนยอดเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ส่วนฐานปากระฆังสร้างเป็นชึ้นลดหลั่นกันไป มีเจดีย์ประดับมุมและซุ้มบันแถลงในแต่ละทิศ

ยุคศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 - 18)

ยุคศรีวิชัย พบในภาคใต้ ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยไม่ทราบแน่ชัด ในประเทศไทยจะพบร่องรอยการ สร้างสถูปตามเมืองสำคัญ เช่น เมืองครหิ อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองตามพรลิงก์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

โดยการก่อสร้างพระธาตุวัดคลองท่อม ได้มีการเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 61 ณ มณฑณพิธีสถานที่ก่อสร้างพระธาตุวัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในงานพิธีวางศิลาฤกษ์พระมหาธาตุวัดคลองท่อม โดยมี พระราชวชิรากร(พระอาจารย์ชัย) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุชิรมงคล (วัดบางโทง) เป็นประธานวางแท่นศิลาฤกษ์ พระครูสถิตนราธิการ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อม พร้อมด้วย นายไพศาล ศรีเทพ นายอำเภอคลองท่อม โดยคาดว่าจะใช้งบก่อสร้าง ประมาณ 70 ล้าน ซึ้งมีความสูงจากฐานถึงยอด 49 เมตร นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมในยุคอาณาจักรศรีวิชัย ซึ้งในปัจจุบันหาพบได้น้อยมากในภาคใต้ และมีความใหญ่โตที่สุดในภาคใต้ของไทย ปัจจุบันดำเนินกำลังก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างหลัก


ภาพ/ข่าว  มโนธรรม ใจหาญ จ.กระบี่ รายงาน

ลำปาง - มทบ.32 นำถุงยังชีพมอบช่วยเหลือประชาชน ห้วงสถานการณ์โควิด-19 ทหารพร้อมเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ในทุกโอกาส

“ภัยโควิดทำชีวิตลำบาก ทหารอาสาช่วยขจัดความทุกข์ยาก ตามขีดความสามารถที่มี ค่ายสุรศักดิ์มนตรีพร้อมเคียงข้าง ดูแลชาวเขลางค์ด้วยใจ” ในห้วงสถานการณ์โควิดปัจจุบัน ยังคงมีประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง ที่ได้รับผลกระทบฯมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก/เดือดร้อน ในการนี้ มณฑลทหารบกที่ 32/ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 32 ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ได้จัดถุงยังชีพ/สิ่งของอุปโภคบริโภคจำนวนหนึ่งตามที่หน่วยมี นำมามอบให้ “มีแล้วแบ่งปัน” ช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อ 1 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. พลตรีอโณทัย  ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 32 พร้อมด้วยพันเอกถิรวัฒน์ ศรีสุวรรณ เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 32/เสนาธิการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 32 ได้เดินทางมามอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนที่มีฐานะยากจน, ป่วยติดเตียง จำนวน 4 รายในพื้นที่บ้านท่าส้มป่อย ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งในจำนวนนี้มีคุณยายคุ่ย กาวิวงศ์ อายุ 102 ปีรวมอยู่ด้วย สร้างความดีใจ และอบอุ่นใจเกิดแก่ครอบครัวที่หน่วยเข้าให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหน่วยจะดำเนินกิจกรรม “มีแล้วแบ่งปัน” ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง...ทหารพร้อมเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ในทุกโอกาส


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

สตูล - ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล จัดกิจกรรม "อาสาสมัครรักษ์ทะเลไทย ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล"

วันนี้ 1 กันยายน 2564  ที่ บารารีสอร์ท ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล (ศรชล.จังหวัดสตูล) จัดกิจกรรม "อาสาสมัครรักษ์ทะเลไทย ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล" ในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนาวาเอก จุมพจน์ เสนาะพิณ รองผอ.ศรชล.จังหวัดสตูล ,หัวหน้าส่วนราชการ และเครือข่ายอาสาสมัครนักดำน้ำเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ทะเลของจังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล รวมถึงมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสวยงาม มีการพัฒนาตามแนวชายฝั่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาขยะเพิ่มขึ้นตามมา การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากลดปริมาณขยะในทะเลแล้ว ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ให้กับชุมชน ชาวประมง ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะรอเพียงหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลด้านการรักษาทรัพยากรให้คงอยู่ในสภาพสมบูรณเพียงฝ่ายเดียวคงเป็นไปได้ยาก ประชาชน และทุกภาคส่วน จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อปกป้องรักษา ร่วมกันในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และใช้ประโยชนร่วมกันอย่างยั่งยืน

นาวาเอก จุมพจน์ เสนาะพิณ ผอ.ศรชล.จังหวัดสตูล กล่าวว่า กิจกรรม "อาสาสมัครรักษ์ทะเลไทย ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2564 มีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นเครือข่ายอาสาสมัครนักดำน้ำ จำนวน 20 คน ดำน้ำลงไปเก็บขยะใต้ทะเลขึ้นมาทำลาย เพื่อลดปริมาณขยะในทะเล และบริเวณชุมชนชายฝั่ง โดยไม่ให้มีผลกระทบกับแหล่งทรัพยากรทางทะเล ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟู แหล่งทรัพยากรแนวปะการัง แหล่งปะการังเทียม ที่ได้รับความเสียหายจากการปกคลุมของขยะชนิดต่าง ๆ รวมถึงเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก และสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ชุมชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ ในการป้องกันขยะลงสู่ทะเล ต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

ชลบุรี - ทัพเรือภาคที่ 1 มอบอาหารกล่องจาก “ครัวเรือรบ” ภายใต้แนวคิด “From The Sea” ต้านภัยโควิด-19 ให้ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วย และเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

วันที่ 1 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 พร้อมด้วย พลเรือตรี จรัญวีร์  ญาดี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และ คุณนุชนภา อินทร์พรหม ประธานชมรมภริยาทหารเรือ ทัพเรือภาคที่ 1 เดินทางไปมอบอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่ม จำนวน 86 ชุด ณ จุดประชาสัมพันธ์ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ภายใต้โครงการมอบอาหารกล่องจาก “ครัวเรือรบ” ภายใต้แนวคิด “From The Sea” ต้านภัย COVID-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วย COVID-19 และเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นนักรบชุดกราวน์ ที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยตรง โดยมี พลเรือตรี ชลธร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ให้การต้อนรับ และนำไปแจกจ่ายให้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ณ โควิดคลินิก และแจกจ่ายให้แก่บุคลากรแพทย์และพยาบาลด่านหน้าที่ต้องต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อไป

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มาเข้ารับบริการที่โควิดคลินิก รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการคัดแยก ให้ความรู้ และรับไว้รักษา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และจะต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดบริเวณโดยไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารกลางวันได้

ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 จึงได้มีนโยบายให้การสนับสนุนในโครงการมอบอาหารกล่องจาก “ครัวเรือรบ” ภายใต้แนวคิด “From The Sea” ต้านภัย COVID-19 มอบให้ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่โควิดคลินิก อีกทั้งยังเป็นการให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ โครงการนี้ได้จัดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง รวมอาหารกล่อง พร้อมน้ำดื่มที่ได้ให้การสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 1,116 ชุด และจะยังคงให้การสนับสนุนเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 9 กันยายน 2564 โดยที่ผ่านมาในโครงการนี้มีกำลังพลจากหมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน และหมวดบินเฉพาะกิจ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันจัดทำอาหารกล่องมามอบให้แก่ทางโรงพยาบาล ภายใต้โครงการดังกล่าวด้วย

“ครัวเรือรบ From The Sea” ต้านภัย COVID-19

#พลังสามัคคีพลังราชนาวี

#ทัพเรือภาคที่1


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือนทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี

ชลบุรี - พัทยา เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ป่วย 7 โรค เกิน 80 % แล้ว หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนเตรียมเปิดเมืองท่องเที่ยว มีนักร้องขับกล่อมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อลดความเครียด

วันนี้ 1 ก.ย.64 ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 2 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล และประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์ม เมืองพัทยาเข็ม 1 ในวันแรก จำนวน 1,000 คน  ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่เมืองพัทยา ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อทำการจัดซื้อจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฯ จำนวน 100,000 โดส เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนเมืองพัทยาหวังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยปัจจุบันเมืองพัทยา ได้รับการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์ม จากสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส โดยบรรยากาศวันนี้มีผู้ที่ลงทะเบียนออนไลท์ มาฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม และผู้ที่มาตรวจหาเชื้อโควิด ATK จำนวน 200 คน โดยบรรยากาศมีเพลงขับกล่อม เพื่อระบายความเครียดแก่ผู้ที่มาใช้บริการ

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ของเมืองพัทยาวันที่สอง ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 2  ซึ่งพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเมืองพัทยา เร่งฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม ที่เมืองพัทยาตั้งงบประมาณจัดซื้อมานั้น ถือว่ามีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนประชากรในพื้นที่เกือบทั้งหมด รวมถึงวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ ทั้งในส่วนของซีโนแวค แอสตร้าเซเนก้า วันนี้สามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคไปแล้ว มากกว่า 80% ส่วนประชาชนทั่วไปนั้น ได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนที่กำหนดหรือ 70 % เพื่อเร่งเปิดเมืองท่องเที่ยวหรือแผน Pattaya Move On สามารถมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีความปลอดภัยด้านการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดภายในเดือน มกราคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นจะได้เร่งตามแผนการที่จะเปิดการรับนักท่องเที่ยว อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

จันทบุรี - ไรเดอร์รับส่งอาหารในจังหวัดจันทบุรีกว่า 100 คน รวมตัวยื่นหนังสือให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เรียกร้องความเป็นธรรมในการจ่ายค่าตอบแทน

วันนี้ (1 ก.ย. 64) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ไรเดอร์รับส่งอาหาร ไลน์แมน กว่า 100 คน ได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมมอบให้กับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากได้รับความไม่เป็นธรรมในเรื่องค่าตอบแทนในการรับส่งอาหาร โดยในปัจจุบันได้ค่าตอบแทนรับส่งอาหารรอบละ 17 บาท จากที่ตอนแรกตกลงกันที่ 17 +4 บาท และถ้าช่วงที่มีฝนตกจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มอีก 10 บาท เป็น 27 บาท ซึ่งในตอนนี้ไลน์แมนได้เปิดวิ่งในจังหวัดมาแล้ว 1 เดือนไม่มีค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จึงได้ลงความเห็นกันแล้วว่าค่ารอบที่วิ่งนั้นไม่คุ้มกับค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ค่าโทรศัพท์ รวมทั้งค่าสึกหรอของรถ จึงได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรม 

โดยมี นายภิชาติ โพธิ์บาทะ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้รับมอบหนังสือร้องเรียนสำหรับข้อเรียกร้องของไรเดอร์รับส่งอาหาร ที่ได้รวมตัวกันในวันนี้คือ

1.ขอศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรีช่วยประสานงานติดต่อขอตัวแทนที่เจรจากับบริษัทได้เนื่องจากในจังหวัดไม่มีตัวแทนที่ติดต่อพูดคุยได้ ไม่มีสำนักงานในจันทบุรี

2.ต้องการค่าตอบแทนต่อรอบเริ่มต้นที่ 30 บาท และบวกเพิ่มตามระยะทางตามความเหมาะสม

3.ให้บริษัทพิจารณาเรื่องการจ่ายงานในระยะไกลที่ไรเดอร์ห่างจากร้านเกิน 4 กิโลเมตรและบวกค่ารอบตามความเหมาะสม

4 .ขอให้ทางบริษัททำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเพจ หรือป้ายประชาสัมพันธ์ และโค้ดส่วนลดต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ในวันนี้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี ได้รับหนังสือข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมแล้ว จากนั้นจะนำไปดำเนินการติดต่อเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อไป


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

ชุมพร - ร่วมมือทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่รับปากประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าแน่นอน ก่อนปีใหม่ 2565 แก้ไขชาวบ้าน อ.หลังสวน ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นานกว่า50 ปี ร่วม 200 ครัวเรือน

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ภายใต้การอำนวยการของนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (รับผิดชอบด้านความมั่นคงและการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ) ได้มอบหมายให้ ปลัดจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุม(ครั้งที่ 2) เพื่อบูรณาการเเก้ไขปัญหากับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดติดตามผลความคืบหน้ากรณีชาวบ้านในพื้นที่ ม.7 ม.9 ม.12 และ ม.13 ต.หาดยาย อ.หลังสวน ไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดเขตป่าของกรมป่าไม้ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ณ ห้องประชุม อบต.หาดยาย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ท้องถิ่นจังหวัดชุมพร,  นายก อบต.หาดยาย ,ผู้เเทนรอง ผอ.รมน.จังหวัด ช.พ. (ฝ่ายทหาร) ผู้แทน หน.สนจ.ชพ.,ผู้แทนประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร ,ผู้แทน ผอ.ทสจ.ชพ.,ผู้แทน ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี),ผอ.ศูนย์ป่าไม้จังหวัดชุมพร,ผจก.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน,หน.อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว,ผู้แทนนายอำเภอหลังสวน,ปลัดอำเภอหลังสวน,กำนันตำบลหาดยายและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่

จากนั้นได้ลงพื้นที่ ม.7 ม.9 และ ม.12  ซึ่งมีเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 56 ตร.วา ที่อยู่ในเขตป่า ตาม ม.54 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และได้รับอนุญาตจาก สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี)ให้ดำเนินการโครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการปักเสาไฟต้นแรกพร้อมจ่ายไฟฟ้า ในพื้นที่ ม.12 ภายในวันที่ 25 ก.ย.64 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน จะเรียนเชิญ ผวจ.ชพ. เป็นประธานเปิด เฟสเเรกต่อไป

ส่วนพื้นที่ป่าไม้ถาวร ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2504 เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 67 ตร.วา กรมป่าไม้ ได้ทำหนังสือ เสนอ รมว.ทส. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้ว กรมป่าไม้ก็จะให้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) พิจารณาอนุญาตตามที่ อธิบดีกรมป่าไม้ได้มอบอำนาจให้ต่อไป พื้นที่ขยายเขตไฟฟ้าดังกล่าวทั้ง 2 ส่วนระยะทาง 11.290 กม. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวนจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างปักเสาไฟฟ้าให้เเล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.64 นี้

หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ ม.13 ต.หาดยาย ซึ่งชาวบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 178 ครัวเรือน จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 8.2 กม. เศษ อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ของอุทยานเเห่งชาติน้ำตกหงาว  การไฟฟ้าภูมิภาคอำเภอหลังสวนจะเป็นเจ้าภาพในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าโดยได้ทำการสำรวจออกเเบบและประมาณการเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ส่งเรื่องเเละรายละเอียดให้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เมื่อวันที่ 27 ม.ค.64(ฉบับเเก้ไขล่าสุด) ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ได้รับทราบปัญหาและข้อเท็จจริงรวมทั้งได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ณ ศาลา ม.13 ต.หาดยาย โดยจะเร่งรัดส่งข้อมูลให้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) พิจารณา และในเบื้องต้นปลัดจังหวัดชุมพรได้โทรประสาน ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 เพื่อพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ด้วยแล้ว

ในส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน ,นายอำเภอหลังสวน และ อบต.หาดยาย ได้บูรณาการ โดยจัดทำโครงการร่วมกับ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวในรายละเอียดข้อเท็จจริงและการใช้ประโยชน์ของอุทยานและปัญหาความเดือดร้อนเรื่องประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากได้อยู่อาศัยมากว่า40 ปี มีการปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักแหล่งมีถนนหนทางเข้าออกได้สะดวกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งไม่สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ตได้ ปัจจุบันมี นักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมฯ จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเรียนออนไลน์ รวมทั้งประชาชนที่ป่วยโควิด19 ต้องได้รับการดูเเลรักษาอย่างทันท้วงที ซึ่งต้องเร่งรัดประสานงานเพื่อให้ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อไปในการขยายเขตไฟฟ้าโดยเร็ว รวมทั้งได้ติดตามผลความคืบหน้าเป็นระยะ จนกว่าชาวบ้านในพื้นที่จะมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน และในระดับจังหวัดที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานจังหวัดชุมพร(ศดธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหา และติดตามผลความคืบหน้ากรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต่อไป อีกทางหนึ่งด้วย


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

เหล่าผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญในหลักการจัดเก็บและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับธุรกิจของคุณโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว !

ความเข้าใจในหลักการจัดเก็บและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ควรให้ความสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่กิจการจะสามารถจัดการเพื่อชำระภาษีภายในกำหนดเวลาอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามกฏหมายแล้วเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสู่ภาระภาษีที่มีจำนวนน้อยที่สุด โดยไม่ใช่การหลีกเลี่ยง ซึ่งจะช่วยขจัดปัญหาภาษีอากร และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ธุรกิจมีความยั่งยืนได้

รูปแบบของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำแนกได้ทั้งในรูปของนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด) และ บุคคลธรรมดา (เจ้าของคนเดียว คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ) ดังนั้นภาระภาษีที่เกี่ยวข้องจึงเป็นไปตามรูปแบบของ SMEs ที่ผู้ประกอบการเลือก 

อย่างไรก็ตามในปีภาษี 2563 หากเปรียบเทียบระหว่างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า SMEs ที่เป็นนิติบุคคล มีอัตราภาษีสูงสุดที่ต้องจ่าย ต่ำกว่า SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา ถึง 15% (นิติบุคคล 20% บุคคลธรรมดา 35% ) 

โดยในช่วงกำไรสุทธิ 300,000 บาท แรกของ SMEs นิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนในกรณีที่มีผลขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี และสามารถนำผลขาดทุนสุทธิ 5 ปีย้อนหลังมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ 

นอกจากนี้กรมสรรพากรยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ SMEs นิติบุคคล โดยให้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้ 

1.) การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง

2.) รายจ่ายจากการจ้างเงินผู้สูงอายุ รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รายจ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รายจ่ายค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC รายจ่ายเพื่อส่งเสริมการเนินธุรกิจของ SMEs หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

3.) รายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรหักเป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่า 

4.) SMEs รายใหม่ (New Start-Up) ที่จดทะเบียนจัดตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 รอบระยะเวลาบัญชี 

นอกจากนี้กรมสรรพากรกำหนดมาตรการดูแล SMEs นิติบุคคล จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ในปีภาษี 2563 ได้แก่

1.) ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ช่วงเมษายน ถึง ธันวาคม 2563 นำมาเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ 1.5 เท่า

2.) รายจ่ายค่าจ้างพนักงานตั้งแต่มกราคม ถึง กรกฏาคม 2563 นำมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า 

3.) เงินบริจาคหรือสินทรัพย์ช่วย COVID-19 หักเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ ตั้งแต่ 5 มีนาคม 2563 ถึง 5 มีนาคม 2564 

4.) รายจ่ายในการต่อเติม ปรับปรุงทรัพย์สินของกิจการโรงแรม นำมาเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

5.) การอบรมสัมมนาในประเทศ นำมาเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

6) ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการที่มีรายได้จากค่าจ้างทำของ ค่าบริการ ค่านายหน้า ค่าวิชาชีพอิสระ ลดเหลือ 1.5% ในช่วงเมษายน ถึง กันยายน 2563 และ ลดเหลือ 2% ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถึง กันยายน 2564

และในปีภาษี 2564 กรมสรรพากรได้ปรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุน SMEs สู่ความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ในยุคดิจิทัล โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่า สำหรับค่าซื้อหรือจ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่จ่ายให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำหรือผู้ให้บริการ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 อีกด้วย

จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ SMEs นิติบุคคล ดังกล่าวข้างต้น อาจเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดใหญ่ พิจารณาเลือกจดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล เพื่อให้ได้เปรียบมากกว่าในรูปแบบของบุคคลธรรมดา 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดให้มีระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบันทึกรายรับรายจ่ายของกิจการ รวมถึงการเก็บใบเสร็จหรือใบสำคัญต่าง ๆ ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงรายการต่างๆ ของธุรกิจ และคำนวณภาษีตามฐานกำไรสุทธิของกิจการต่อไป

.

เขียนโดย : อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง อาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา


ข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สรรพากร https://www.rd.go.th/47331.html

นราธิวาส - สภาเกษตรนราฯ วอนรัฐช่วย ระบายผลไม้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ราคาตกต่ำ ด้านแม่ทัพภาค 4 ย้ำ “ทหารไม่ทอดทิ้งประชาชน รับซื้อลองกองสานใจสู่สันติ กระจายผลผลิตสู่ตลาด ช่วยเกษตรกรใต้มีรายได้ สู้วิกฤติโควิด-19

นายแวฮามะ บากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ผลไม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมากมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ อาทิ มังคุด ทะเรียน เงาะ และลองกอง ซึ่งผลไม้อื่นๆเริ่มน้อยลงแล้ว แต่ที่มีผลไม้ที่กำลังออกผลผลิตจำนวนมากขณะนี้ คือ ผลไม้ลองกอง โดยมีผลผลิต ผลไม้ลองกอง ในพี้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ปีนี้ประมาณ 13,000 ตัน แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่โรคระบาดสีแดงเข้ม ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการคุมเข้มพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ มาตรการปิดพื้นที่หมู่บ้าน เคอร์ฟิวเวลา ออกเคหะสถาน การงดการเดินทางข้ามจังหวัด และอื่น ๆ เป็นต้น ทำให้พื้นที่และประชาชน ร่วมถึงพี่น้องเกษตรกร ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาผลไม้ที่ขายไมได้และราคาตกต่ำ ในส่วนจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ทางสำนักงานเกษตรจังหวัด พานิชย์จังหวัด สหกรณ์จังหวัด และ ไปรษณีย์ได้บูรณการร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน แต่ผลไม้พื้นที่ผลผลิตยังจำนวนมาก ที่เกษตรกรขายไม่ได้ แม้จะระบายสู่ตลาดต่างจังหวัดและในพื้นที่บางส่วน  ผลผลิตโดยเฉพาะลองกอง ยังต้องให้ทุกฝ่าย มาช่วยซื้อ หรือระบายจำหน่าย ช่วยเกษตรอีกจำนวนหลายตัน จึงอยากให้หน่วยงานของรัฐ เข้ามาช่วยเหลือผลัดดันผลไม้สู่ตลาดถึงมือผู้บริโภคให้มาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เปิดกับผู้สื่อข่าวว่า กล่าวว่า ทางกองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบได้ให้นโยบายในเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19  ทั้งเรื่องการขนส่ง และการซื้อขายที่มีความยากลำบาก โดยให้หน่วยในภูมิภาคในส่วนของกองทัพบกช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยการเข้าดำเนินการประสานงาน ทั้งตลาดกลางในการรับซื้อ  ที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 มีการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียน มังคุด และอื่น ๆ

โดยการจัดซื้อนำไปขายยังส่วนกลาง และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ตลอดจนแจกจ่ายให้กับทหารกองประจำการหน่วยต่าง ๆ ได้รับประทาน และในขณะนี้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกลองกองมีผลผลิตออกมามากพอสมควร จึงได้ให้ศูนย์สันติวิธีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นศูนย์กลางในการให้สมาชิกโครงการสานใจสู่สันติ ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินการเป็นผู้แทนในการรับซื้อ จากทั้งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ในวันนี้สามารถรวบรวมผลผลิตลองกองที่รับซื้อมาได้จำนวนกว่า 6.5 ตัน เพื่อส่งไปให้กับพี่น้องสมาชิกชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารกองทัพบก ที่มียอดการสั่งซื้อไว้ โดยชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้มาร่วมกันรับซื้อ และจัดส่งผลผลิตลองกองตามโครงการดังกล่าว ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในการรับซื้อ และประสานงานเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภค นำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี  จังหวัดนครราชสีมา ให้ได้มีโอกาสรับประทานลองกองพันธุ์ดี รสชาติอร่อย ในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากกรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำอีกด้วย

มทภ.4 ยังกล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้พยายามเข้ามาทำลายระบบสาธารณูประโภคสาธารณะ เช่น การก่อเหตุกับขบวนรถไฟขนส่งสินค้า และอื่นๆ อย่างไรก็ตามความพยายามการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจจะเกิดจากช่องว่างในการทำงานอยู่บ้าง แต่ในวันนี้มีการปรับปรุงซ่อมแซมเปิดให้บริการขนส่งได้เป็นปกติ สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรไปขายสู่ท้องตลาดได้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนพบเห็นสิ่งผิดปกติให้แจ้งทางหน่วยในพื้นที่ได้รับทราบ หรือแจ้งมายังสายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตลอดที่หมายเลขโทรศัพท์ 061-173-2999 การขนส่งทางรถไฟเป็นขนส่งสำคัญที่คอยพยุงให้ความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์  พี่น้องเกษตรกร อย่าเหยียบย่ำซ้ำเติมในภาวะวิกฤติแบบนี้


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ระยอง - คณะกรรมการ EEC เปิดโรงพยาบาลสนาม EEC บ้านฉาง จำนวน 120 เตียง ภายใต้โครงการจิตอาสา EEC ต้านโควิด

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นายแพทย์สุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธาราณสุขจังหวัดระยอง และนายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง ร่วมเปิดโรงพยาบาลสนาม EEC บ้านฉาง ขนาด 120 เตียง พร้อมตรวจเยี่ยมระบบบริหารจัดการ การดูแลผู้ป่วยและการใช้ระบบ JITASA.CARE weSAFE@Home เป็นสื่อกลางดูแลผู้ป่วยทั้งระบบ ภายใต้โครงการจิตอาสา EEC ต้านโควิด ตั้งอยู่ริมถนนบูรพาพัฒน์ ม.2 อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างของความร่วมมือเพื่อจะช่วยกันบรรเทาปัญหาของโควิด-19 ของทางจังหวัดระยอง กระทรวงสาธารณสุข อบจ.ระยอง เทศบาลตำบลบ้านฉาง และภาคโรงงานอุตสาหกรรม และ EEC ด้วย โดย EEC จะเข้ามาช่วยประสานงานเพื่อให้เกิดเป็นระบบขึ้นมาในการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่ตรวจ ATK จนกระทั่งผู้ป่วยหาย โดยมีการนำเอาจิตอาสาเข้ามาร่วมทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งจะมีการต่อยอดไปทำโรงพยาบาลที่อื่นต่อไป ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 เตียงในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่ด้วย โดยที่นี่จะเป็นต้นแบบการทำโรงพยาบาลสนามของพื้นที่ของ EEC ทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ปลวกแดง และอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ด้าน นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า เป็นโครงการความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้ลุล่วงไป โดยการทำงานครั้งนี้เป็นการตรวจปูพรมทั้งพื้นที่ เพื่อจะดูว่าระบบมีปัญหาขัดข้อง และอุปสรรคอย่างำไร เมื่อสำเร็จก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป ที่สำคัญโครงการดังกล่าวมีจิตอาสา และภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำงานแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งจะนำไปบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่อื่นต่อไป


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

สุรินทร์ - มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบสิ่งของพระราชทาน แด่ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัย

วันที่ 1 กันยายน 2564 เวลา 13:30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่าน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายนราธร  ศรประสิทธิ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์/กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

โดยนำสิ่งของพระราชทานมาให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอัคคีภัยตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการจ่ายเงินสำรองจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีอยู่ทางจังหวัด ให้แก่ครอบครัว นายสวัสดิ์  สุระ อายุ 80 ปี ผู้ประสบอัคคีภัย บ้านเลขที่ 62 หมู่ที่ 4 บ้านสามแยก ตำบลตาคง อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 เวลา 11.20 น. ได้เกิดเหตุไฟไหม้บ้านพักอาศัยของ นายสวัสดิ์ สุระ ได้รับความเสียหายทั้งหลัง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของอัคคีภัย ในการสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ฝ่าฟันให้พ้นวิกฤตภัยครั้งนี้ไปด้วยดี สร้างความปลาบปลื้มให้กับ ครอบครัว นายสวัสดิ์ สุระ ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัยอย่างหาที่สุดมิได้

โดยมีหน่วยงานร่วมให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบอัคคีภัย ประกอบไปด้วย สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุรินทร์ อำเภอสังขะ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์  วิทยาลัยการอาชีพสังขะ องค์การบริหารส่วนตำบลตาคง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องประชาชนจิตอาสาตำบลตาคง สำหรับการช่วยเหลือในระยะต่อไป องค์การบริหารส่วนตำบลตาคง จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบทางราชการต่อไป โดยมี นายธาตรี  สิริรุ่งวานิช นายอำเภอสังขะ กล่าวรายงาน


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า  

ชลบุรี - สัตหีบ เปิดศูนย์ CI แยกกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น

เมื่อเวลา 10.00 น วันที่ 31 ส.ค.64 นายกิตติพงษ์ กิตติคุณ นายอำเภอสัตหีบ เป็นประธานเปิดศูนย์พักคอยและแยกกักตัวสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation :CI) ณ ศูนย์การเรียนรู้เทศบาลตำบลบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

หลังพบการแพร่ระบาดในพื้นที่อำเภอสัตหีบ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน ล่าสุดเมื่อ 30 ส.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16 ราย ยอดสะสม 1,780 ราย กำลังรักษา 411 ราย หายป่วย 1,350 ราย เสียชีวิต 19 ราย และผู้ติดเชื้อในเขตเทศบาลตำบลบางเสร่ เมื่อ 30 ส.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายยอดสะสม 132 ราย รักษาหาย 95 ราย อยู่ระหว่างรักษาในโรงพยาบาล36 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ในการรับดูแลผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับแยกกักตัวคนในชุมชน (CI) เพื่อดูแลผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 และแพทย์ผู้ดูแลรักษาของหน่วยบริการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ผู้ป่วยได้กลับมาดูแลรักษาในศูนย์พักคอยและแยกกักตัว สำหรับคนในชุมชนจนครบกำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

โดยมี นายชัยวัฒน์ อินอนงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบางเสร่ พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้แทน สส.ชลบุรี เขต 8 ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สาธารณสุขอำเภอสัตหีบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางเสร่ ร่วมในพิธีเปิดโครงการและนำนายอำเภอสัตหีบ เข้าเยี่ยมชมศูนย์พักคอยและแยกกักตัว สำหรับคนในชุมชน ในครั้งนี้ จำนวน 15 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยหญิง 8 เตียง ผู้ป่วยชาย 7 เตียง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน

นายกิตติพงษ์ กิตติคุณ นายอำเภอสัตหีบ กล่าวว่าโครงการจัดตั้งศูนย์พักคอยและแยกกักตัวสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับพี่น้องประชาชนชาวบางเสร่ เพื่อให้ชุมชนปลอดโรคและปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ด้วยการได้รับการป้องกัน เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ผ่านภาวะเฉียบพลันหรือวิกฤต และมีอาการดีขึ้นคงที่ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และเพื่อให้ประชาชนผู้ติดเชื้อ ได้รับการคัดแยกอาการและรักษาดูแลตามแนวทางการปฏิบัติ ด้านสาธารณสุข ในการป้องกันแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด-19

และขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ลดกิจกรรมต่าง ๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ เช็คอุณหภูมิร่างกาย ไม่มั่วสุมรวมกลุ่มดื่มสุรา ซึ่งเราจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้ ไปให้ได้ ด้วยการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ในทุกภาคส่วนขอให้พี่น้องประชาชน สบายใจได้


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ปทุมธานี - มทร.ธัญบุรี จับมือ บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด และ 3 วิสาหกิจชุมชน ร่วมกันวิจัย พัฒนา กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมมังคลอุบล ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 48 พระชันษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการวิจัย กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปบุกเขาค้อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก,เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม และวิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแลสมุนไพรเพื่อการแพทย์

โดยมี ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นายธนารัตน์ จิตต์พายัพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด นางอรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปบุกเขาค้อ นายพลวรรน์ พญาพิทักษ์สกุล รองประธาน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก,เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม และนายณัฐวรรน์ วรพนิตกุล รองประธาน วิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแลสมุนไพรเพื่อการแพทย์ เข้าร่วมงาน

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในครั้งนี้ เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการวิจัย กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ ทั้งในลักษณะที่เป็นยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน และกิจการอื่น ๆ ให้ถูกต้องตาม หลักวิชาการและชอบด้วยกฎหมาย โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้

1. ร่วมส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานวิจัยด้านสายพันธุ์กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร รวมไป ถึงระบบการเพาะปลูก นวัตกรรมต้านการผลิต การพัฒนาและการจัดจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัด จากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม และกิจการอื่น ๆ

2. ร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะต้านการวิจัย การผลิต(ปลูก) การแปรรูป(สกัด) การตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและชอบด้วยกฎหมาย

3. สนับสนุน ผลักดัน วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการผลิตยาที่มีส่วนประกอบจากวัตถุดิบและสารสกัดกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร ให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่มีสารตั้งต้นของสารสกัด CBD (Cannabidiol) / THC (Tetrahydrocannabinol จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ และเชิงอุตสาหกรรม การครอบครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิใดของผลงานวิจัย โดยให้เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายจะได้ตกลงกัน เพื่อดำเนินการตามข้อตกลงนี้ และ

4. ร่วมสนับสนุนการใช้ครุภัณฑ์ เครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ ในการสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อผลักดัน พัฒนา พร้อมทั้งสนับสนุนด้านคำปรึกษาด้านวิซาการหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ภาพ/ข่าว  สหรัฐ แก้วตา รายงาน

ชลบุรี - ‘นายกปลื้ม’ มั่นใจ คนพัทยาฉีดวัคซีนครบ 70 % ทันตุลาคมนี้ หลังรับชิโนฟาร์ม 60,000 โดส ระดมแพทย์ฉีดให้ประชาชนวันละ 2,000 คน หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนเตรียมเปิดเมืองท่องเที่ยว

วันนี้ (31 ส.ค.) ที่โรงพยาบาลเมืองพัทยา นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ที่แพทย์ พยาบาล และประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์มเมืองพัทยาเข็ม 1 ในวันแรกจำนวน 2,000 คน ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนฟาร์มที่เมืองพัทยาได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อทำการจัดซื้อจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฯ จำนวน 100,000 โดส เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนเมืองพัทยาหวังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยปัจจุบันเมืองพัทยาได้รับการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์มจากสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่าสำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มของเมืองพัทยาวันแรกที่โรงพยาบาลเมืองพัทยา สามารถดำเนินการได้วันละ 2,000 คน ซึ่งพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังจากที่ทางโรงพยาบาลได้นำประสบการณ์ปัญหาอุปสรรคในการให้บริการจัดฉีดวัคซีนที่ผ่านมาปรับแก้เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และไม่แออัดเหมือนที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่จะมีการนัดหมายเวลากับประชาชนที่จะการเข้ารับวัคซีนด้วยการส่ง SMS เพื่อไม่ให้มารอรับบริการเป็นเวลานาน ทั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ในการจัดฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบทั้ง 30,000 คน

นายสนธยา กล่าวอีกว่านอกจากวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ทั้งในส่วนของซีโนแวค แอสตร้าวีเนก้า รวมทั้งวัคซีนชิโนฟาร์มที่เมืองพัทยาตั้งงบประมาณจัดซื้อมานั้น ถือว่ามีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนประชากรในพื้นที่เกือบทั้งหมด และหากดำเนินการฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมายก็คาดว่าจะสามารถให้วัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่ได้จำนวนที่กำหนดหรือ 70 % หลังจากที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่รับการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 40%  จึงคาดว่าจะสามารถมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยด้านการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดก็ภายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นก็จะได้เร่งตามแผนการเปิดเมืองท่องเที่ยวหรือแผน Pattaya Move On  ที่จะเปิดการรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  อนันต์ สุขวัฒนะ / เอกชัย สุขวัฒนะ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค พัทยา จ.ชลบุรี

การออกกำลังกายในรูปแบบ “การแกว่งแขน” เป็นสิ่งที่หลายองค์กรสนับสนุนเพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์แถมยังสามารถทำได้เอง แต่หลาย ๆ คนก็อาจจะแกว่งแขนผิดท่าส่งผลทำให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ได้

ในช่วงที่ผ่านมากระแสการออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนเพื่อลดพุง​ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย​ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ​ สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานวันละหลายชั่วโมง แทบไม่ได้ลุกไปไหน หากได้ออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขน จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะการแกว่งแขนช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนได้ดี

แต่อย่างไรก็ตามการแกว่งแขน​สามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ เพราะหลายคนมุ่งเป้าไปที่การแกว่งแขนด้วยความแรงและจำนวนครั้งที่มากเกินไปหรือแกว่งแขนด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเอ็นรอบหัวไหล่​และตามมาด้วยโรค​ไหล่ติด​ (Frozen shoulder)​ ทำให้ปวดไหล่และมีผลกระทบต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภาวะหลังค่อมหรือผู้สูงอายุ อาจเกิดการเสียดสีของเอ็นรอบข้อไหล่และเยื่อหุ้มไหล่ จนเกิดการอักเสบของถุงน้ำรอบข้อไหล่ได้ นอกจากนี้ภาวะเกร็งหรือขาดความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อสะบักก็มีส่วนทำให้แกว่งแขนด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

ดังนั้นหากมีอาการไหล่ห่อหรือหลังค่อม​ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังด้วยการแกว่งแขน​ ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อสะบักและหลังส่วนบน เพื่อเป็นการปรับให้หลังตรงขึ้น จะช่วยลดการบาดเจ็บข้อไหล่ได้​ โดยใช้ท่าออกกำลังกายดังนี้

1.​) ในท่านั่งหรือนอนตะแคง เริ่มจากท่างอศอกเป็นมุมฉาก อาจใช้ผ้าขนหนูสอดไว้ที่ใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำหนังยางหรือที่ยกน้ำหนัก(ดัมเบล) ออกแรงยกแขนไปทางด้านข้างลำตัวดังภาพ​ ทำ 10 - 15​ ครั้ง​ต่อรอบ จำนวน 3 รอบต่อวัน

2.​) ในท่ายืนตรง นำมือทั้งสองข้างประสานกันไว้ทางด้านหลัง เหยียดแขนตรง ออกแรงยกแขนทั้งสองข้างขึ้นจนรู้สึกตึงกล้ามเนื้อหน้าอก ค้างไว้ 10 - 15 วินาที ทำ 10 - 15 ครั้ง

3.)​ ในท่าแพลงค์ (half plank) ศอกและเข่าวางลงบนพื้นตามรูป เกร็งค้างไว้ 30​ วินาทีต่อรอบ ทำ 3 รอบต่อวัน​ หากเป็นผู้สูงอายุ​ให้ลงน้ำหนักที่ข้อศอก​และ​ต้นขาด้านหน้า

การแกว่งแขนที่ถูกต้อง คือการออกแรงเกร็งสลับผ่อนคลาย โดยมีการถ่ายน้ำหนักไปทางด้านหน้าและด้านหลัง​ ตามจังหวะการเคลื่อนไหวของแขน โดยเป้าหมายอยู่ที่การเกร็งกล้ามเนื้อขา​ ข้อเท้า​ หน้าท้อง​ และลำตัว​ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้​

1.) ยืนตรง กางขาเท่ากับระยะห่างของไหล่​ 2​ ข้างและงอเข่าเล็กน้อย

2.) ปล่อยแขนวางข้างลำตัวแล้วค่อยเริ่มแกว่งแขนไปทางด้านหน้าและด้านหลังช้าๆปล่อยแรงไปตามธรรมชาติ โดยมุมการเคลื่อนไหวอาจไม่เท่ากันในแต่ละคน

3.) ขณะแกว่งแขนจะมีการถ่ายน้ำหนักไปทางด้านหน้าและด้านหลัง (ปลายเท้าสลับกับส้นเท้า)

4.) แขม่วพุง​และขมิบก้นไปด้วย เพื่อรักษาการทรงท่าไม่ให้หลังแอ่น

5.) การแกว่งแขนที่ถูกต้องไม่เน้นออกกำลังกายที่ส่วนบน แต่เน้นออกกำลังกายขา

6.) แกว่งแขนรอบละ​ 10 นาที​ วันละ 3​ รอบ

ข้อควรระวัง

ห้ามกลั้นหายใจ ควรหายใจเข้าออกช้าๆตามจังหวะการแกว่งแขน​อย่างเป็นธรรมชาติ​ อย่าแกว่งแขนแรงจนเกินไป แม้ว่าการแกว่งแขนจะมีประโยชน์มากมาย แต่หากทำด้วยความรุนแรงหรือท่าทางที่ไม่เหมาะสมอาจก่อนให้เกิดการบาดเจ็บได้ ดังนั้นควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังแกว่งแขนทุกครั้ง เนื่องจากข้อไหล่​มีเอ็นและกล้ามเนื้อหลายมัด​ การบาดเจ็บหรือการอักเสบอาจส่งผลให้เยื่อหุ้มข้อไหล่มีการหดรั้งและเกิดโรคไหล่ติดได้

หากเกิดการบาดเจ็บขณะออกกำลังกายควรหยุดแกว่งแขนและเริ่มดูแลตนเองเบื้องต้น​ด้วยการประคบความเย็นรอบข้อไหล่​ ครั้งละ 15​ นาที​ วันละ 3 - 4​ รอบ​ จนกว่าอาการปวดและอักเสบดีขึ้น

สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บของข้อไหล่ที่มารับบริการในคลินิกกายภาพบำบัด นอกจากเกิดจากการแกว่งแขนแล้วยังเกิดจากกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์, การอุ้มลูกหรือคุณครูที่เอื้อมมือเขียนกระดานสูงๆ เป็นต้น ซึ่งจะได้เห็นว่าบางกิจกรรม​ไม่น่าจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้​ แต่เมื่อทำกิจกรรมนั้นด้วยระยะเวลานานหรือท่าทางไม่เหมาะสม จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อไหล่เกร็งเกิดการบาดเจ็บเรื้อรังตามมาได้

ดังนั้นหากเริ่มมีอาการบาดเจ็บของข้อไหล่​ ไม่ควรฝืนออกกำลังกายเพราะจะยิ่งทำให้บาดเจ็บมากขึ้น​ เมื่อเริ่มรู้สึกถึงอาการเจ็บหรือเสียว​ในข้อไหล่ สิ่งแรกที่ควรทำ​คือ ประคบด้วยความเย็น​ และ​ ฟังเพลง "พักก่อน" ของ Milli และถ้าไม่ดีขึ้นก็ควรไป​ "หาหมอก่อน" จะได้ไม่บาดเจ็บเรื้อรังค่ะ

.

เขียนโดย: กภ.อุสา บุญเพ็ญ ปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต พัฒนาการมนุษย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของคลินิกกายภาพบำบัด และเพจสุขภาพดี


ข้อมูลอ้างอิง

https://fullfunctionrehab.com/blog-shoulder-impingement-syndrome/

http://www.rbf-bjpt.org.br/en-kinesiologic-considerations-for-targeting-activation-articulo

https://www.sportsinjurybulletin.com

https://flawlessphysio.co.uk/3-core-exercises-for-runners/

https://foodtalk4you.com/a-new-trend-in-exercise-the-plank/

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/880

https://www.gangbeauty.com/exercise/106178

https://www.health.harvard.edu/shoulders/stretching-exercises-frozen-shoulder

https://www.therapeuticassociates.com/athletic-performance/running/stretching-for-runners/biceps/


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top