ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากมวลอากาศเย็นพัดผ่านลงมาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นลง โดยจะหนาวเย็นมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากภัยหนาว ร่างกายปรับตัวไม่ทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ในทางการแพทย์ได้นิยามคำว่า “ภัยหนาว” ว่าเป็นภัยที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บจากอุณหภูมิ ในสิ่งแวดล้อมที่ลดลงต่ำกว่าปกติมากเป็นเวลานาน ๆ โดยอาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความเร็วลม ความชื้น การออกกำลังกายหนักเกินไป การใช้ยาเสพติด และการดื่มสุรา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายจากภัยหนาวเพิ่มมากขึ้น

โรคที่มากับภัยหนาว มีดังนี้
1.) โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ)
ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ในหลายจังหวัด หากเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่อาจทำให้แยกอาการจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ได้ยาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มีการแพร่ระบาดง่ายในฤดูนี้และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ดังนั้น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้

2.) โรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง)
มีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาด และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด

3.) โรคหัด
โรคหัดติดต่อได้ทางลมหายใจ เกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสจากการไอจามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ อาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา มีไข้สูง ตาแดงและตาแฉะ มีผื่นนูนแดงขึ้นติดกันเป็นปื้น ๆ โดยมักพบการระบาดในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-มกราคม) มีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน ปัจจุบันไม่มียารักษา
4.) ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว)
ส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายปรับตัวไม่ทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ดังนั้นควรเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาว และงดการดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
5.) ปัญหาทางระบบผิวหนัง เช่น ผิวหนังแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบและคัน
ในฤดูหนาว อากาศแห้ง และมีความชื้นในอากาศน้อย หากอาบน้ำอุ่นจัดจะชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไป ส่งผลให้ผิวหนังแห้งและคันได้ ดังนั้นควรใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ไม่อาบน้ำนาน ๆ ควรทาโลชันหรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำ และเช็ดตัวหมาด ๆ ทุกครั้งเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายควรใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทที่ใช้กับผิวเด็กอ่อนและควรทาวันละหลายครั้ง เพราะสารเคลือบผิวจะหลุดออกได้เมื่อเวลาผ่านไป ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ไม่ควรเลียริมฝีปาก แนะนำให้ทาด้วยลิปสติกมันบ่อย ๆ
