“บอนสี” ราชินีไม้ใบ!! ไม้ประดับเงินล้าน ปลูกยังไงให้แตกต่าง และสร้างมูลค่าสูง!!

ช่วงนี้คิดว่าหลาย ๆ ท่านคงได้ทราบข่าวการซื้อขายพืชไม้ประดับชนิดหนึ่ง ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ คือ มีสีสันสวยงามหลากหลาย มีรูปทรงของใบที่สวยงาม เป็นพืชที่มีการปลูกใช้เป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน มาเป็นเวลานานแล้ว นั่นก็คือบอนสี ทั้งนี้ตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ในสมัยเด็ก ๆ พี่สาวจะปลูกไว้เต็มบ้านเป็นสวนเลย โดยลักษณะของสีและรูปทรงของใบในแต่ละต้นที่สวยงาม ทำให้เกิดจินตนาการในวัยเด็กได้เป็นอย่างดี แต่ไม่เคยคาดคิดว่าไม้ประดับชนิดนี้จะมีราคาแพงขึ้นมาแบบน่าตกใจมากในยุคการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้มีราคาตั้งแต่ราคาหลักพันจนกระทั่งถึงหลักล้านกันเลยทีเดียว หรือแม้กระทั่งข่าวล่าสุดที่เป็นเรื่องฮือฮา ก็คือสามารถใช้แลกกับรถยนต์ราคาเป็นล้านได้เลยทีเดียว 

ในขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวเรื่องการปั่นราคาของพ่อค้าเพื่อจะให้มีการซื้อขายในราคาสูง แต่สุดท้ายราคาก็จะอาจตกลงมา จนกลับไปสู่ที่เดิมได้ โดยราคาหรือความมีค่าของพืชชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับลักษณะรูปทรง และสีของใบที่มีความหลากสีและสวยงามแตกต่างกันไป ยิ่งต้นไหนที่มีความแปลกใหม่กว่าต้นอื่นที่ไม่มีใครเหมือนได้ ก็จะทำให้ราคากระโดดไปสูงหลายเท่าตัวเลยทีเดียว ทั้งนี้ ตามธรรมชาติทั่วไปใบไม้จะมีสีเขียว แต่ลักษณะของบอนจะมีสี หรือมีความด่างและรูปทรงของใบที่แตกต่างกันไป

สำหรับในวันนี้ เราจะมาดูรายละเอียดของพืชชนิดนี้ ทำยังไงให้มีความแตกต่าง โดยดูจากปัจจัยหรือองค์ประกอบที่ทำให้บอนสีมีรูปทรงและสีสันที่แตกต่างกันครับ “บอนสี” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caladium bicolor เป็นสายพันธุ์ในสกุลบอน ที่มีต้นกำเนิดมาจากลาตินอเมริกา และแพร่หลายในยุโรป มักถูกปลูกเป็นต้นไม้ประดับ เนื่องจากใบขนาดใหญ่มีรูปหัวใจหรือรูปหอกที่มีสีเขียว ขาว ชมพู หรือแดงที่โดดเด่น ซึ่งบอนสีนั้นมีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ 

สำหรับในประเทศไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงนำบอนสีกลับเข้ามาปลูกในพระบรมมหาราชวัง สร้างความนิยมให้กับเจ้านายฝ่ายใน เป็นอย่างมาก ทั้งนี้สาเหตุที่บอนสีมีลักษณะของสีที่แตกต่างกันออกไปนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับชนิดหรือพันธุกรรมของบอนสีแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชได้แก่ 

>> ปัจจัยที่ 1 การได้รับแสงแดดที่แตกต่างกัน แสงแดดมีส่วนสำคัญในการที่พืชใช้ในการปรุงอาหาร และสร้างสารที่เรียกคลอโรฟิลล์ ที่มีส่วนทำให้ใบของพืชมีสีเขียว ที่แตกต่างกันไป 

ทั้งนี้ สังเกตได้ง่าย ๆ เวลาเราปลูกพืชในที่มีแสงแดดเยอะ ๆ กับบริเวณที่มีแสงแดดน้อย ลักษณะสีของใบพืช ถึงแม้ว่าจะเป็นพืชชนิดเดียวกันก็ตาม ก็จะมีสีที่แตกต่างกัน โดยพืชที่ได้รับแสงแดดที่เพียงพอใบของพืชก็มักจะมีสีเขียวที่เข้มกว่าพืชที่ได้รับแสงแดดน้อย หรือปลูกในที่ร่ม หรือพืชบางชนิดถ้าไม่ได้รับแสงแดดก็จะไม่เจริญเติบโต เห็นได้ง่ายจากวัชพืช เช่นหญ้า หรือพืชขนาดเล็กจะไม่เกิดในบริเวณที่เป็นร่ม เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น 

>> ปัจจัยที่ 2 ได้แก่ การได้รับสารอาหารมากหรือน้อยเกินไป ก็จะส่งผลให้สีของพืชมีความแตกต่างกันไปด้วย ทั้งนี้ธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการโดยทั่วไปมีอยู่ 3 ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) และมีธาตุอาหารรองลงมา ได้แก่ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) เป็นต้น

ทั้งนี้ การที่พืชขาดหรือได้รับธาตุอาหารตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป ก็จะส่งผลให้สีของใบมีความแตกต่างกัน เช่น ขาดธาตุไนโตรเจน (N) ใบแก่จะแสดงอาการใบเหลือง (chlorosis) ทำให้ต้นแคระ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ได้รับเพียงพอ หรือตรงกันข้าม ถ้าได้รับมากเกินไปพืชจะมีสีเขียวเข้ม ระบบรากถูกจำกัด การออกดอกออกผลของพืชจะช้าลง ขาดธาตุฟอสฟอรัส (P) ใบแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดร่วง ลำต้นจะเล็กไม่ผลิดอกออกผล ขาดธาตุโพแทสเซียม (K) ใบแก่แสดงอาการใบเหลือง และมีการตายของเนื้อใบด้วย ถ้าขาดธาตุกำมะถัน (S) ใบมักจะมีสีเหลือง โดยเกิดที่ใบอ่อนก่อน ถ้าได้มากเกินไปใบจะไม่เจริญเติบโต ถ้าขาดแมกนีเซียม (Mg) เกิดอาการซีดในพื้นที่ใบที่อยู่ระหว่างเส้นใบ 

ในขณะที่เส้นใบยังคงเขียวอยู่ อาการซีดจะเกิดที่ในพื้นที่บริเวณใกล้เส้นกลางใบก่อนแล้วลามไปที่ปลายใบ โดยเกิดในใบแก่ก่อน หรือถ้าขาดแคลเซียม (Ca) การพัฒนาของตายอดจะชะงักการเจริญเติบโต และปลายรากจะตาย จะเกิดในใบอ่อนก่อนใบแก่ และเส้นใบจะบิดเบี้ยว มีจุดแห้งตายของใบ 

>> ปัจจัยที่ 3 ลักษณะความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยพืชแต่ละประเภทจะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความแตกต่างกัน โดยพันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดรูปร่าง สี ขนาดของพืช แต่ละชนิด ทั้งนี้ในขณะเดียวกันถึงแม้จะเป็นพืชชนิดเดียวกัน ถ้ามีความผิดปกติทางพันธุกรรม ก็จะส่งผลให้รูปร่างหรือสีของพืชชนิดนั้นแตกต่างออกไปด้วย

ทั้งนี้ การที่พืชชนิดนั้นมีความผิดปกติทางพันธุกรรมก็อาจจะส่งผลให้พืชต้นนั้นมีความแปลกใหม่ หรือสวยงาม จนทำให้มีราคาสูงกว่าพืชต้นอื่นก็ได้ นอกจากปัจจัยหลัก ๆ ที่ยกมาทั้ง 3 ปัจจัยแล้ว ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นที่อาจทำให้พืชมีสี หรือความสวยงามที่แตกต่างกันได้ เช่น เนื้อเยื่อที่ใบมีโพรงอากาศมาก การเป็นโรค เป็นต้น 

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่านอกจากชนิดของบอนสีที่มีความแตกต่างกัน การดูแลรักษาในระหว่างปลูกก็จะส่งผลให้บอนสีหรือพืชชนิดต่าง ๆ มีความแปลกใหม่ ที่ไม่มีใครเหมือน ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีราคาสูงกว่าต้นอื่น ๆ ก็ได้ครับ


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32