
Kriegsmarine คือ กองทัพเรือเยอรมัน ระหว่างปี ค.ศ. 1935-1945 อันเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติ เป็นเหล่าทัพที่สืบทอดมาจากกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมัน และ Reichsmarine ของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) Kriegsmarine เป็นหนึ่งในสามเหล่าทัพเยอรมันควบคู่กับ The Heer (กองทัพบก) และ The Luftwaffe (กองทัพอากาศ) ซึ่งประกอบกันเป็นกองทัพแห่งชาติที่เรียกว่า “แวร์มัคท์” (Wehrmacht)

ในปี ค.ศ. 1939 “Hitler” ได้สั่งจัดทำแผนการพัฒนาแผนการที่จะจัดหากองเรือผิวน้ำให้กับกองทัพเรือเยอรมันเพื่อแข่งขันกับกองทัพเรือสหราชอาณาจักร เป็นที่รู้จักในชื่อว่า “แผนการ Z” โดยคาดว่า กองทัพเรือเยอรมันจะแข็งแกร่งเต็มที่ในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
แผนการ Z กองทัพเรือเยอรมันเห็นว่า ภารกิจหลักของกองทัพฯ คือ การควบคุมทะเลบอลติก และเอาชนะกองทัพเรือฝรั่งเศสในสงคราม เพราะฝรั่งเศสถูกมองว่า เป็นศัตรูที่มีศักยภาพมากที่สุดหากเกิดสงครามขึ้น แต่ในปี ค.ศ. 1938 Hitler ต้องการที่จะชนะกองทัพเรือสหราชอาณาจักรในสงครามทางทะเลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นเขาจึงสั่งให้จัดทำแผนการพัฒนาสำหรับกองทัพเรือเยอรมัน จากแผนการที่เสนอทั้งสาม (X, Y และ Z)
“Hitler” ได้อนุมัติแผนการ Z ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1939 แผนการ Z จะเป็นโครงการสร้างกองทัพเรือของเยอรมันใหม่ คาดว่าจะสร้างเรือรบประมาณ 800 ลำในช่วงปี ค.ศ. 1939-1947 ซึ่ง Hitler ต้องการให้โครงการตามแผนการนี้แล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 1945

กำลังหลักของแผน Z คือเรือประจัญบาน ชั้น H จำนวน 6 ลำ ตามแผนการ Z ที่ร่างขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 กองเรือเยอรมันได้รับการวางแผนภายในปี ค.ศ. 1945 ให้มีเรือรบประเภทและจำนวนต่อไปนี้
เรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ
เรือประจัญบาน 10 ลำ
เรือลาดตระเวนหุ้มเกราะ 15 ลำ (Panzerschiffe)
เรือลาดตระเวน 3 ลำ
เรือลาดตระเวนหนัก 5 ลำ
เรือลาดตระเวนเบา 44 ลำ
เรือพิฆาตและเรือตอร์ปิโด 158 ลำ
เรือดำน้ำ 249 ลำ
เรือรบขนาดเล็กอีกจำนวนมาก
แผนการเพิ่มกำลังพลอีกกว่า 200,000 นาย

เรือประจัญบาน Tirpitz คุ้มกันโดยเรือพิฆาตหลายลำ ใน Bogenfjord ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1942
โครงการสร้างกองทัพเรือของเยอรมันใหม่ที่วางแผนไว้กลับไม่ก้าวหน้ามากนัก เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น ในปี ค.ศ. 1939 ความแข็งแกร่งของกองเรือเยอรมันในช่วงเริ่มต้นของสงครามนั้นไม่ถึง 20% ที่ได้กำหนดไว้ตามแผนการ Z เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 กองทัพเรือเยอรมันยังคงมีกำลังพลรวมเพียง 78,000 นาย และไม่พร้อมสำหรับบทบาทสำคัญในสงคราม
เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการทำให้กองเรือรบตามแผนการ Z พร้อมสำหรับการดำเนินการ ทั้งยังขาดแคลนแรงงานและวัสดุในยามสงคราม แผนการ Z ถูกระงับในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 และทรัพยากรที่จัดสรรสำหรับการแผนการนี้ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนไปสร้าง เรือดำน้ำ U-Boat ซึ่งพร้อมสำหรับการทำสงครามทางเรือกับสหราชอาณาจักรได้รวดเร็วกว่า เยอรมนีเข้าสู่สงครามด้วยเรือลาดตระเวนและเรือประจัญบานสมัยใหม่ประมาณ 16 ลำ และเรือพิฆาตอีก 20 ลำ เมื่อเยอรมนีบุกนอร์เวย์ในต้นปี ค.ศ.1940 กองทัพเรือเยอรมันเสียเรือลาดตระเวนเบาสองลำ และเรือพิฆาตอีกสิบลำ เรือรบอีกสองลำทำการโจมตีเรือลำเลียงแบบยิงแล้วหนี แต่กลับถูกตามล่า และทำลายโดยกองเรือสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีความเสียหายกับเรือรบลำอื่น ๆ อีกด้วย

เรือดำน้ำของกองทัพเรือเยอรมัน
กองทัพเรือเยอรมัน กลับมุ่งความสนใจไปที่เรือดำน้ำแทนเนื่องจากการผลิตเรือดำน้ำเหล่านี้ถูกและเร็วกว่า ทั้งสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับได้ ดังนั้นจึงมีความได้เปรียบในการรบ ในขณะที่เรือดำน้ำสามารถตัดการลำเลียงขนส่งทางทะเลของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างได้ผล แต่เรือประจัญบานและเรือลาดตระเวนของเยอรมันส่วนใหญ่ถูกทิ้งให้จอดอยู่ตามท่าเรือต่าง ๆ
วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1942 เรือดำน้ำของเยอรมันตรวจพบขบวนเรือลำเลียงขนาดใหญ่ของสัมพันธมิตร ที่ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงที่จำเป็นอย่างยิ่งให้กับกองทัพโซเวียต ฝ่ายเยอรมันวางแผนที่จะโจมตีขบวนเรือดังกล่าวโดยใช้ส่วนหนึ่งของกองเรือดำน้ำเพื่อล่อให้เรือคุ้มกันเข้าสู่การรบ ในขณะที่ขบวนเรือลำเลียงจะมุ่งตรงไปยังกองเรือดำน้ำที่เหลือของเยอรมัน

U-459 เรือดำน้ำสนับสนุนแบบ XIV (รู้จักกันในชื่อ “Milch cow (วัวนม)”) จมลงหลังจากถูกโจมตีโดยเรือหลวง Vickers Wellington
แม้ว่าแผนการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในการแยกขบวนเรือของอังกฤษ แต่ด้วยทัศนวิสัยไม่ดีและคำสั่งจาก Hitler ให้หลบหนีเมื่อฝ่ายศัตรูมีจำนวนที่มากกว่านั้นนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของเยอรมัน กองเรือลำเลียงของฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมดไปถึงรัสเซียโดยที่อาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงที่จำเป็นไม่เสียหาย เนื่องจากการสื่อสารที่ผิดพลาด Hitler จึงได้รับแจ้งว่ากองทัพเรือเยอรมันประสบความสำเร็จในการโจมตีขบวนเรือดังกล่าว Hitler จึงได้ปราศรัยในโอกาสวันปีใหม่ทางวิทยุโดยประกาศว่า ขบวนเรือลำเลียงของอังกฤษถูกทำลายอย่างเสร็จสมบูรณ์