Saturday, 10 May 2025
SPECIAL

'ก้าวไกล' ส่ง 'สว่างจิตต์' ลงชิงชัย ส.ส.ระยองเขต 5 ชน ‘วิชัย ล้ำสุทธิ’ อดีตเลขาธิการไทยภักดี

(21 ม.ค.66) สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ อดีตผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ระยอง เขต 5 พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลในพื้นที่จังหวัดระยองว่า ระยองเขต 5 เป็นเขตใหม่ ประกอบด้วย อ.บ้านฉาง อ.นิคมพัฒนา และ ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง การแข่งขันในเขตนี้เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งหมด มั่นใจว่าด้วยการทำงานของตนและทีมก้าวไกลระยอง ที่ทำงานเชิงประเด็นในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และมีการเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนาระดับชาติ ทำให้พรรคก้าวไกลมีโอกาสสูงในการคว้าชัยชนะ

สว่างจิตต์ กล่าวว่า หากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็น ส.ส. ต้องการเข้าไปผลักดัน 2 ประเด็นสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาที่ดิน เพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบคนในพื้นที่และคนทั่วประเทศ เช่นในพื้นที่ อ.ปลวกแดง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง มีปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. ปัญหาที่กรมป่าไม้ทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้าน และอีกประเด็นคือผลักดันด้านสิทธิแรงงานที่ต้องการสวัสดิการถ้วนหน้า ต้องการเข้าไปจัดโครงสร้างประกันสังคมให้ดีกว่านี้ จัดสิทธิประโยชน์ที่ทำให้คนอยากจ่ายเงินเข้ากองทุน เช่น เพิ่มเพดานเงินบำนาญหลังเกษียณ รวมถึงการบริหารจัดการกองทุนให้มีผลตอบแทนมากขึ้น

“ในอดีตเคยคิดว่าแค่รอฮีโร่มาแก้ไขปัญหา แต่นี่คือจุดที่รู้สึกว่าต้องออกมาทำเอง ในระยองมีความคิดเหมือนเราค่อนข้างเยอะ แต่ในสังคมบ้านใหญ่ ทำให้คนไม่ค่อยกล้าออกมาทำ เราอยากทำการเมืองเพราะอยากเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการดูแล ทำให้ผู้คนเห็นและออกมาร่วมกับเรามากขึ้น” สว่างจิตต์ กล่าว

พูดแล้วทำ!! 'พุทธิพงษ์' ชู นโยบาย 24 ชั่วโมง 7 วัน ดูแลคนกรุงเต็มที่ ยัน!! 'ภท.' พร้อม 'เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-ให้โอกาส'

(21 ม.ค.66) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แกนนำทีม 'ภูมิใจไทย ภูมิใจกรุงเทพฯ' พรรคภูมิใจไทย เปิดนโยบายดูแลคนกรุงเทพฯ ทุกวัน ทุกเวลา และครอบคลุมทุกวัย เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ภูมิใจ ด้วยนโยบาย 24 ชั่วโมง 7 วัน หรือ 'ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7' เพื่อแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ตอกย้ำแนวทาง 'ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ' โดยยึดหลักการ 'เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-ให้โอกาส"

ล่าสุดวันนี้ พบว่ามีการติดป้ายนโยบาย 'ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7' ตามจุดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานครแล้ว เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เปิดนโยบายทีมภูมิใจไทย ภูมิใจกรุงเทพฯ ควบคู่กับป้ายแนะนำตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยแต่ละเขตด้วย 

*** ทั้งนี้ นโยบาย 'เพิ่มรายได้' ประกอบไปด้วย...

การหารายได้เพิ่มได้ 3 กะ เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ส่งเสริมกิจกรรมใหม่ๆ เพราะวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ หมุนตลอด 24 ชม. เปิดพื้นที่การค้าขาย ที่ขายได้ตลอดวัน เน้นการสร้างงาน กระจายรายได้ เพิ่มกิจกรรมที่สามารกรองรับนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชม. คล้ายตลาดนัด ที่ได้รับความนิยมที่ประเทศไต้หวัน หรือประเทศเกาหลี และเราต้องจัดระบบดูแลความปลอดภัยทั้งแสงสว่าง กล้องวงจรปิด รวมทั้งระบบการขนส่งเพื่อรองรับ คนทำงานช่วงกลางคืน

>> พันธบัตรรัฐบาล (Thai Power Bond)

พันธบัตรรัฐบาลที่ประชาชนมีสิทธิซื้อก่อนนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมการออม และ ประกันเงินฝาก สามารถเพิ่มรายได้จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเพิ่มความมั่นคงในการออมเงิน และเศรษฐกิจของประเทศ

*** 'ลดรายจ่าย' ประกอบไปด้วย...

>> พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก ไม่เกินคนละ 1 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับเงินกู้นอกระบบที่คิดร้อยละ 3 ต่อเดือน ถือได้ว่า สามารถช่วยผู้กู้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยตรงนี้ได้ถึง 30,000 บาทต่อเดือน

>> One day Pass Ticket ตั๋ววัน

ค่าเดินทางที่เป็นต้นทุนของการดำเนินชีวิต หากเราสามารถล็อกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ให้แพงเกินไป

- รถ เรือ เริ่มต้น 15 บาท ตลอดวัน ไม่เกิน 50 บาท

- รถไฟฟ้า เริ่ม 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 40 บาท

>> เครื่องกรองน้ำดื่มทุกชุมชน

น้ำดื่มเป็นต้นทุนที่สูงประชาชนส่วนหนึ่งเพื่อมาซื้อน้ำดื่ม จ่ายเงินเพื่อเติมเงิน เพื่อกรองน้ำไปใช้ ส่วนนี้จะต้องไม่เป็นภาระของประชาชนในทุกขุมชนอีกต่อไป

>> ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ภูมิใจไทย จะนำนโยบาย ติดโซลาร์ รูฟ ฟรี ทุกครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนสามารถนำส่วนนี้มาเป็นการลดภาระของค่าไฟ

>> ลดภาษี 2 ทาง ผู้ให้/ผู้รับ

วัยทำงานต้องไม่เสียภาษีซ้ำซ้อน (ใช้ VAT เพื่อหักภาษีส่วนบุคคลสูงสุด 150,000 บาท/ปี) วัยทำงานที่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนจะต้องหมดไป และจะได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายส่วนอื่นในการสร้างเนื้อสร้างตัว วัยเกษียณที่ยังคงทำงานจะต้องมีนโยบายในการปรับเพดานภาษีเงินได้ เงินส่วนนี้ต้องเสียน้อยที่สุด เพื่อนำเงินส่วนต่างมาเป็นเงินออมเก็บไว้ใช้จ่ายดูแลตัวเอง

*** 'ให้โอกาส' ประกอบไปด้วย...

>> ให้ชีวิตคืนสู่ครอบครัว…

รักษาฟรีมะเร็ง เคยมีคำพูดใครในบ้านเป็นมะเร็งถือได้ว่าเป็นทุกข์ทั้งบ้าน ต่อไปนี้การรักษามะเร็งจะ 'ฟรี' ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อแบ่งเบาทุกข์ของทุกคนในครอบครัว ฟอกไตฟรีเช่นเดียวกัน ภาวะคนป่วยโรคไตถือได้ว่าเป็นภาระที่หนักต่อครอบครัวที่ต้องดูแล ต่อไปนี้นโยบายฟอกไตฟรีจะมีขึ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของทุกคน

>> ผู้สูงอายุ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ/ไข้หวัดใหญ่/โควิด ฟรีฉีดถึงบ้าน เพื่อเป็นการบริการให้กับผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่มีปัญหาในการออกมารับวัคซีน ถือเป็นการกระจายให้คนกรุงเทพฯ ได้รับการบริการทางสาธารณสุขได้ครอบคลุมขึ้น ไม่เฉพาะกับคนเท่านั้น สัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของทุกคนก็จะได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าฟรีถึงบ้านเช่นกัน ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กก็ไม่ลำบากในการขนย้ายออกมารับวัคซีนอีกต่อไป

'ชาติพัฒนากล้า' เปิดนโยบายเศรษฐกิจชุดที่ 2 ลดภาษีบุคคล เงินเดือน 40,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี!!

(21 ม.ค.66) ปัง!! กันอีกครั้ง กับนโยบายเศรษฐกิจชุดที่ 2 ของพรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ดร. อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรค และเหล่าว่าที่ผู้สมัครฯ ได้ร่วมกันแถลงนโยบาย 'ภาษีบุคคล-มนุษย์เงินเดือน' ต่อจากนโยบาย 'ยกเลิกแบล็กลิสต์ บูโร รื้อระบบสินเชื่อ' ที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ไม่นาน และเรียกคะแนนนิยม จากประชาชนไปได้ไม่น้อย

ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช เผยถึง นโยบาย 'ภาษีบุคคล-มนุษย์เงินเดือน' ว่า เรื่องสำคัญที่สุด ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน หนีไม่พ้นเรื่องปากท้อง รายได้ ความเป็นอยู่ หากประชาชนมีกินอิ่มท้อง เศรษฐกิจก็จะดี ส่วนปัญหาด้านอื่นๆ ก็จะสามารถแก้ไขได้ตามมา อย่างเข้มแข็ง

ส่วนใจความสำคัญของนโยบาย 'ภาษีบุคคล-มนุษย์เงินเดือน' คือ ลดภาษีบุคคล เงินเดือน 40,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี!! รายได้สูงกว่านั้น ลดเป็นขั้นบันได โดยปัจจุบันมีประชาชนที่เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล โดยรวมประมาณ 4 ล้านกว่าคน ซึ่งจะต้องแบกรับภาระภาษีเต็ม ๆ มาโดยตลอด และเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ ที่ได้รับการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% ลงมาเป็น 20% ยาวนานมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่เคยได้รับการช่วยเหลือในลักษณะนี้ มานาน เนื่องจากค่าครองชีพ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช ยังกล่าวอีกว่า ช่วงนี้รายได้ของภาครัฐ เริ่มฟื้นตัว จากการประมาณการรายได้ของรัฐบาล ในการจัดทำงบประมาณ ปี 2567 รายได้ภาษีของรัฐบาล จะเพิ่มขึ้น เกือบ 3 แสนล้านบาท (ประมาณ 2 แสน 7 ล้านบาท) ถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม ที่จะแบ่งรายได้บางส่วนมาช่วยลดภาระให้กับมนุษย์เงินเดือน กว่า 4 ล้านคนข้างต้น 

'พิธา' นำทัพ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครสวรรค์ ครบ 6 เขต ชู!! เลือกก้าวไกล ‘การเมืองดี-ปากท้องดี-มีอนาคต’

‘พิธา’ ชูเลือกก้าวไกล ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’ ปราศรัยนำทัพ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครสวรรค์ครบ 6 เขต ยกเป็นจังหวัดศักยภาพสามศูนย์กลาง คมนาคม-เกษตร-วัฒนธรรม แต่มีการเมืองรวมศูนย์-ไม่เป็นประชาธิปไตยฉุดรั้ง ลั่นทางรอดเดียวของประเทศ ต้องเอาทหารออกจากการเมือง เปลี่ยนงบกองทัพเป็นสวัสดิการ กระจายอำนาจ ทลายทุนผูกขาด

เมื่อ 20 ม.ค.66 ที่ลานมังกร อุทยานสวรรค์นครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเวทีพบปะประชาชนชาวนครสวรรค์ เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. นครสวรรค์ ทั้ง 6 เขต พร้อมปราศรัยประกาศความพร้อมเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง และนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกล

พิธา ระบุว่า นครสวรรค์เป็นจังหวัดมีศักยภาพที่จะเป็นสามศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคได้ ทั้งในด้านคมนาคม วัฒนธรรม และเกษตรกรรม แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสิ่งที่เป็นอุปสรรคเดียวกันกับที่ทำให้จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปตามศักยภาพของตัวเองได้

ในเรื่องของการเกษตร เราจะเห็นได้ว่านครสวรรค์เป็นจังหวัดที่ปลูกข้าว อ้อย และมัน เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy และพืชพลังงานได้ ซึ่งพรรครัฐบาลก็พยายามบอกแบบเดียวกันมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาคำพูดเหล่านั้นเป็นเพียงคำหลอกลวงเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณในปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่ประกาศยุทธศาสตร์ให้นครสวรรค์เป็นเมือง BCG Economy กลับไม่ได้จัดสรรงบประมาณด้าน BCG Economy ลงมาเลยในปีนี้ เช่นเดียวกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ไม่มีการจัดสรรงบประมาณลงมาให้เลย ส่วนกระทรวงพลังงานก็มีงบประมาณลงมาเพียง 120,000 บาท เพื่อซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร 1 เครื่องเท่านั้น

ในด้านการคมนาคม ถึงแม้จะมีงบประมาณลงมาถึง 1 หมื่นล้านบาทจากกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นงบประมาณสร้างถนนถึง 40% โดยที่ไม่มีงบประมาณเพื่อสร้างการเชื่อมโยงทางคมนาคมในต่างรูปแบบเข้าด้วยกันเลย ผลก็คือนครสวรรค์จึงยังไปไม่ถึงจุดที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมได้ และกลายเป็นเพียงจังหวัดทางผ่านเท่านั้น

พิธากล่าวต่อไป ว่าปัญหาที่ทำให้นครสวรรค์พัฒนาไปมากกว่านี้ไม่ได้ ก็เพราะรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ปล่อยให้การจัดสรรงบประมาณถูกกำหนดโดยส่วนกลางอย่างไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของพื้นที่ รวมทั้งการเข้าแทรกแซงการเมืองโดยทหารที่ไร้วิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่ และการดำรงอยู่ของกลุ่มทุนผูกขาดที่แย่งส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจจากทุกคนในสังคมไปกองอยู่ที่ตัวเอง

นี่คือเหตุผลที่พรรคก้าวไกล เน้นย้ำชูคำขวัญเรื่อง “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต” เพราะการพลิกฟื้นประเทศรวมถึงนครสวรรค์ให้กลับมามีอนาคตอีกครั้ง ต้องเริ่มที่การเลือกตั้งครั้งนี้ เอาคนรุ่นใหม่ไปปิดสวิตช์ 3 ป. เอาทหารออกจากการเมืองไทย เปลี่ยนงบประมาณกองทัพเป็นสวัสดิการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน หวยเอสเอ็มอีที่ให้คนซื้อสินค้าเอสเอ็มอีและได้เลข 6 หลักในใบเสร็จใช้แทนล็อตเตอรี่ได้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก ฯลฯ และการปลดล็อกท้องถิ่นให้ประชาชนเลือกผู้ว่าของตัวเองไดั แต่ทั้งหมดต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาการเมือง

และนี่คือเหตุผลที่พรรคก้าวไกลประกาศอย่างเด็ดเดี่ยวมาตลอด ว่าจะไม่จับมือกับพรรคทหารจำแลงอย่าง พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นอันขาด การเอาทหารออกจากการเมือง กระจายอำนาจ และทลายทุนผูกขาด คือทางรอดเดียวของประเทศไทยเท่านั้น

“เราจะปล่อยให้ความมั่งคั่งกระจุกไม่กระจายแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เราจะปล่อยให้ส่วนกลางมาตัดสินใจแทนคนนครสวรรค์ ให้ทหารที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจมาบริหารประเทศต่อไปไม่ได้ นี่คือปัญหาการเมืองที่ถ้าแก้ได้เมื่อไร เราจะสามารถแก้ปัญหาปากท้องได้ทันที เศรษฐกิจไทยต่อไปต้องโตพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าอยากให้ประเทศไทยเอาทหารออกจากการเมือง ให้มีการกระจายอำนาจ ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศไทยลืมตาอ้าปากได้ ถ้าอยากให้ประเทศไทยบริหารด้วยมืออาชีพ ต้องเลือกพรรคก้าวไกลเท่านั้น” พิธากล่าว

จากนั้น พิธาได้แนะนำตัวผู้สมัครทั้ง 6 คน 6 เขต ของจังหวัดนครสวรรค์ในนามของพรรคก้าวไกล ซึ่งประกอบไปด้วย...

เขต 1 กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประธานสมาพันธ์ SME ไทยภาคเหนือตอนล่าง และอดีตรองประธานคณะกรรมการจัดงานตรุษจีนปากน้ำโพ 100 ปี

เขต 2 ธนา เฉยปัญญา สถาปนิกนักเขียนแบบและผู้ประกอบการ

เขต 3 นิรุด เรืองงาม เกษตรกร

เขต 4 นริศร์ชา ชัยสุกัญญาสันต์ อดีตผู้บริหารบริษัทประกันภัย และผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร

เขต 5 อิศราพร ดวงอุปะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์

เขต 6 ธรัตนชัย เฉลยคาม อดีตนายตำรวจเกษียณอายุราชการ

จับตา 'อิ๊งค์-เศรษฐา' 2 ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ร่วมลงพื้นที่ พร้อมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่านเยาวราช

(21 ม.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีกำหนดการลงพื้นที่เยาวราช เพื่อพูดคุยกับกลุ่มนักธุรกิจที่มูลนิธิเทียนฟ้า รวมถึงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) ในวันที่ 21 ม.ค.นี้

‘ก้าวไกล’ จ่อเปิดตัว ‘กฎหมายรถเมล์อนาคต’ เปลี่ยนรถเมล์ทั้งกรุงเทพฯ ให้เป็น EV ใน 7 ปี

(20 ม.ค. 66) พรรคก้าวไกลเตรียมแถลงเปิดตัวกฎหมาย ‘รถเมล์อนาคต’ ซึ่งเป็นข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ที่จะกำหนดให้รถเมล์ที่วิ่งในกทม. ต้องเป็นรถไฟฟ้า หรือ EV ทั้งหมด โดยมีระยะเวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่าน 7 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายลดฝุ่นละออง PM2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงจะพัฒนาคุณภาพการให้บริการรถเมล์ ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีผู้ใช้งานหลักล้านคน โดยรายละเอียดของกฎหมายรถเมล์อนาคต จะมีการเปิดเผยในวันที่ 22 มกราคมนี้ ก่อนจะมีการยื่นต่อสภา กทม. และลงมติ ในวันพุธที่ 25 มกราคมนี้

กฎหมายรถเมล์อนาคต หรือร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจําทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ นำเสนอโดย ส.ก. พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี ที่มีการเสนอกฎหมายใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ก. ซึ่งข้อบัญญัติฉบับล่าสุดที่เสนอโดย ส.ก. เกิดขึ้นในปี 2544 เป็นข้อบัญญัติเกี่ยวกับการแต่ตั้งผู้ช่วยปฏิบัติงาน ส.ก. โดยพุทธิพัชร์ เชื่อมั่นว่าร่างกฎหมายนี้จะสามารถผ่านสภา กทม. ได้ เนื่องจาก ส.ก. ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ากฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกเขตทั่วกรุงเทพ

‘อภิชา’ ไขก๊อก ‘ส.ส.’ พร้อมออกกลุ่มไลน์ ภท. เซ็ง!! สภาล่มบ่อย ขอไปทำงานพื้นที่ดีกว่า

‘อภิชา’ ลาออก ‘ส.ส.-ดีดตัวออกกลุ่มไลน์พรรค’ เจ้าตัวระบุ ยังสังกัด ‘ภูมิใจไทย’ ขอรอดู ‘กำนันป้อ’ ก่อนตัดสินใจย้ายไปพรรคไหน

(20 ม.ค. 66) นายอภิชา เลิศพชรกมล ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ส. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และมีผลในวันนี้ (20 ม.ค.) เนื่องจากสภาล่มบ่อย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ต่อ ขอไปทำพื้นที่ดีกว่า ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย ยังไม่ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคแต่อย่างใด 

เมื่อถามว่า เตรียมตัวจะย้ายสังกัดไปพรรคอื่นหรือไม่ นายอภิชา กล่าวว่า ยังไม่ได้คิด รอดูนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม ก่อน เพราะนายวีรศักดิ์สุขภาพไม่ค่อยดี จะยุติบทบาททางการเมือง ตนก็เลยออกมาตั้งหลัก สภาก็ล่มบ่อยด้วย ตอนนี้ยังอยู่พรรคภูมิใจไทย ยังไม่ได้ออกจากภูมิใจไทย หลังจากลาออกจาก ส.ส.ก็จะเน้นลงพื้นที่เป็นหลัก 

นายอภิชา เปิดเผยอีกว่า ได้แจ้งเรื่องการลาออกจาก ส.ส.กับนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทยแล้ว ซึ่งนายสรอรรถ ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.

'สำนักงานตำรวจแห่งชาติ' แถลงผลงานรอบ 3 เดือน ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล กวาดล้างอาชญากรรมอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่อง

สืบสวนปราบปรามจับกุม คดียาเสพติด คดีออนไลน์ การพนัน อาวุธปืน สถานบริการ เพิ่มความเข้มในการคัดกรองและจัด
ระเบียบคนต่างด้าวฯ แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่

วันนี้ (20 ม.ค. 66) เวลา 11.00 น. ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านการปราบปรามอาชญากรรมอย่างเฉียบขาด จริงจัง บังคับใช้ทุกมาตรการทางกฎหมาย ยังคงนโยบาย ผบ.ตร. ในการยกระดับการบริการประชาชน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน แก้ไขปัญหายาเสพติดทุกมิติ และอาชญากรรมออนไลน์ การพนัน อาวุธปืน สถานบริการ เพิ่มความเข้มในการคัดกรองและจัดระเบียบคนต่างด้าวผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแถลงผลการดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 – 31 ธ.ค.65 ดังนี้

1. ด้านการกวาดล้างอาชญากรรม
1.1 สถิติคดีอาญา 4 กลุ่ม ทั่วประเทศ สามารถจับกุมได้ 221,205 คดี
1.2 การระดมกวาดอาชญากรรมในช่วงเทศกาลสำคัญ (APEC, ฟุตบอลโลก, ปีใหม่) จับกุมความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน วัตถุระเบิด และเครื่องกระสุน ทั้งสิ้น 11,811 คดี ผู้ต้องหา 10,450 คน จับบุคคลตามหมายจับคดีอาญาได้ 9,465 หมายจับ ผู้ต้องหา 9,255 คน จับกุมการลักลอบเล่นการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลโลก ผู้ต้องหา 12,245 ราย ยึดทรัพย์สินมูลค่ารวม 1,770,565,337 บาท และเงินทุนหมุนเวียน 11,202,398,188 บาท
1.3 กวาดล้างและจัดระเบียบ คนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ระดมกวาดล้างคนต่างด้าว Overstay ในห้วงวันที่ 1 ธ.ค.-13 ธ.ค.65 จับกุมได้ 7,886 ราย สถิติการจับกุมในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง 3,017 ราย, ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น 23 ราย และนำพาคนต่างด้าว

4 ราย สถิติการดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ (10 ประเภทความผิด) จำนวน 34 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 64 ราย และช่วยเหลือผู้เสียหายได้ 91 ราย (ข้อมูลจาก ศพดส.ตร.)
1.4 โครงการประชาสัมพันธ์ เครือข่ายป้องกันอาชญากรรม
1.4.1 โครงการฝากบ้าน 4.0 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 มีประชาชนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 8,583 ราย  เป็นการลงทะเบียนผ่านทางแอปพลิเคชัน 'ฝากบ้าน 4.0' จำนวน 7,190 ราย และลงทะเบียนผ่านการติดต่อกับสถานีตำรวจ  ในละแวกบ้าน จำนวน 1,393 ราย ขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า “สามารถลงทะเบียนฝากบ้าน 4.0 ได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาล”
1.4.2 โครงการ Stop Walk and Talk เป็นการเก็บข้อมูลจากการหยุดรถตรวจพูดคุยกับประชาชน นำข้อมูลมาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมก่อนเกิดเหตุ ซึ่งในการห้วงมีการประชุม APEC มีการบันทึกข้อมูลบุคคลที่พบปะพูดคุย จำนวน 593,621 ครั้ง
1.4.3 เพื่อนบ้านเตือนภัย ให้ประชาชนสามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้ในขั้นต้น เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างตำรวจกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน
1.4.4 โครงการ 1 ตำรวจ 1 หมู่บ้าน พบปะทำความรู้จัก รับฟังปัญหาจากประชาชน แสวงหาความร่วมมือ ทำลายกระบวนการยาเสพติด ควบคุมและลดพฤติกรรมที่อันตราย ในระยะที่ 1 จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจลงสู่ชุมชน จำนวน 1,365 ชุมชน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ 203 คดี

2. ด้านการป้องกันปราบปรามยาเสพติด
2.1 สถิติการจับกุมคดียาเสพติด จับกุมได้ 69,385 คดี ผู้ต้องหา 68,354 คน (ปริมาณของกลา ยาบ้า 93,118,132 เม็ด, ไอซ์ 77,246 กิโลกรัม, เฮโรอีน 36,861 กิโลกรัม เคตามีน 43,084 กิโลกรัม โคเคน 262 กิโลกรัม และ ยาอี 54,789 เม็ด)
2.2 โครงการค้นหา ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยา และผู้ป่วยจิตเวช เพื่อนำเข้าสู่การบำบัดรักษา จำนวน 401,452 คน โดย แบ่งเป็น ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยา จำนวน 350,056 คน ผู้สมัครใจนําเข้ากระบวนการบําบัดยาเสพติด จำนวน 106,937 คน ผู้ป่วยจิตเวชส่งเข้ารับการบำบัด จำนวน 51,396 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยจิตเวชสาเหตุจากยาเสพติด จำนวน 25,586 คน
2.3 โครงการชุมชนยั่งยืน ดำเนินการไปแล้วจำนวน 2,966 ชุมชน พบผู้เสพยาเสพติด จำนวน 28,164 คน ในปี พ.ศ. 2566 จะดำเนินการอีกจำนวน 1,483 หมู่บ้าน/ชุมชน นำเข้าสู่การบำบัดรักษาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Treatment : CBTx)

3. ด้านการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
3.1 การแจ้งความออนไลน์ รับแจ้งความ 67,479 คดี ขยายผลและออกหมายจับจำนวน 321 Case ID จับกุมได้ 95 Case ID คิดเป็น 30% พบความเสียหายรวม 8,815,670,563 บาท อายัดบัญชีได้ 24,614 บัญชี อายัดเงินได้ 105,917,104 บาท
3.2 ความร่วมมือภาคีเครือข่ายและการประชาสัมพันธ์
3.2.1 บันทึกข้อความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ  มีผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลฯ กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย ปปง. ร่วมเป็นสักขีพยาน
3.2.2 โครงการสร้างภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Vaccine) อบรมครูแม่ไก่ 11 กองบัญชาการ รวม 116 นาย และ ครู ข.ไข่ จำนวน 29 กองบังคับการ
3.2.3 บันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับไปรษณีย์แห่งประเทศไทย จัดทำโปสเตอร์รูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพ จำนวน 2,000,000 แผ่น แจกจ่ายให้ประชาชนและสถานีตำรวจทั่วประเทศ
3.2.4 โครงการ แชทบอท@police1441 ผ่านแอปพลิเคชัน Line เพื่อให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแก่ประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
 
3.4 ปรับปรุงระเบียบกฎหมาย
3.4.1 ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ เสนอร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ..... เพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
3.4.2 ร่วมเสนอร่างประกาศ ปปง. เรื่อง การจัดทำข้อมูลบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานและการฟอกเงินฯ เข้าสู่ระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน HR-03

4. ด้านการยกระดับการบริการประชาชนของสถานีตำรวจ
4.1 Service Mind ปรับแนวคิดการให้บริการประชาชนของสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,484 สถานี เน้นการให้บริการดุจญาติมิตร รับรู้ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับการบริการทุกสายงาน เช่น สายตรวจต้องเข้าไปรับรู้ปัญหาของชุมชน (Stop Walk and Talk) พนักงานสอบสวนต้องแจ้งความคืบหน้าทางคดีให้ทราบ เป็นต้น
4.2 สำรวจความพึงพอใจประชาชน ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งประเทศ โดยมีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการภายนอกเป็นผู้สำรวจจากกลุ่มประชากรเป้าหมาย จำนวน 80,000 หมู่บ้าน ประชาชน 1 ล้าน คน ทำการสำรวจ 2 ครั้ง/ปี (ครั้งที่ 1 ในเดือน ม.ค.66 และ ครั้งที่ 2 ในเดือน ก.ค.66)
4.3 การรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ออนไลน์ (ผ่านระบบ JCOMS)  เปิดช่องทางให้ประชาชนได้มีโอกาสร้องเรียน ร้องทุกข์ หรือแจ้งเบาะแสต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ JCOMS : www.jcoms.police.go.th และเว็บไซต์สำนักงานจเรตำรวจ : www.jaray.go.th หรือสแกนผ่านทาง QR Code ปัจจุบันมีการรับเรื่องร้องเรียน 1,851 เรื่อง แจ้งเบาะแส/ขอความช่วยเหลือ 1,261 เรื่อง รวม 3,112 เรื่อง

อดีต ส.ส.'ประนอม โพธิ์คำ' ทิ้ง 'พปชร.' ซบ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ตามคำชวน 'แรมโบ้'

อดีต ส.ส. ‘ประนอม โพธิ์คำ’ ออกจากพลังประชารัฐ เข้าสมัครสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว ตามคำชวน ‘แรมโบ้’ มั่นใจได้ผู้มีความรู้ ความสามารถ นำพาพรรคชนะเลือกตั้ง ‘โคราช’

(20 ม.ค. 66) นายประนอม โพธิ์คำ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นใบสมัครสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค เมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) ตามคำเชิญชวนของนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ

แลกหมัดนโยบาย แบบหมัดต่อหมัดระหว่าง นโยบายเพิ่มเงินบัตรประชารัฐ 700 บาท จากพรรคพลังประชารัฐ กับ นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จากพรรคเพื่อไทย

ซึ่งนโยบายเพิ่มเงินบัตรประชารัฐ 700 บาท จากพรรคพลังประชารัฐ ก็เพื่อปรับปรุงระบบสวัสดิการและบริการพื้นฐานเพื่อลดช่องว่างของความยากจน ให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันให้มากขึ้น ส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จากพรรคเพื่อไทย ก็เพื่อให้รัฐบาลกระจายรายได้ ขยายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง 

ส่วนจุดแข็งของ นโยบายเพิ่มเงินบัตรประชารัฐ 700 บาท จากพรรคพลังประชารัฐ คือ เป็นโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ส่งตรงจากรัฐบาลถึงมือประชาชนทันที ทำให้การช่วยเหลือถูกกลุ่มเป้าหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยภาครัฐมีข้อมูลในการติดตามประเมินผลได้ ส่วนจุดอ่อน คือ ไม่สามารถคัดกรองประชาชนยากจนจริง ๆ กับประชาชนที่ไม่ได้ยากจนได้ เนื่องจากไม่มีระบบตรวจสอบทรัพย์สินของประชาชนที่รัดกุม และมีข้อกังวลว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอกชนบางรายที่เข้าร่วมโครงการ

‘ภูมิใจไทย’ กรุงเทพฯ เปิดแคมเปญรับศึกเลือกตั้ง ชูนโยบายบ้าน ๆ แต่โดนใจ "เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-ให้โอกาส"

ภูมิใจไทย กรุงเทพฯ ขอดูแลคนเมืองกรุง ทุกวัน ทุกเวลา และครอบคลุมทุกวัย ด้วยนโยบาย 24 ชั่วโมง 7 วัน 'ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7' นโยบายบ้านๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน โดยยึดหลักการ 'เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-ให้โอกาส'

พรรคภูมิใจไทย กรุงเทพฯ เปิดแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง 'ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7' พร้อมติดป้ายพรึ่บทั่วกรุง ด้วยนโยบายที่ครอบคลุมทุกการใช้ชีวิตของคนเมืองกรุง ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน

ส่องนโยบายพรรคภูมิใจไทย สำหรับพี่น้องชาวกรุงเทพฯ

'เพิ่มรายได้'
-การหารายได้เพิ่มได้ 3 กะ เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ส่งเสริมกิจกรรมใหม่ๆ เพราะวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ หมุนตลอด 24 ชม. เปิดพื้นที่การค้าขาย ที่ขายได้ตลอดวัน เน้นการสร้างงาน กระจายรายได้ เพิ่มกิจกรรมที่สามารถกรองรับนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชม. คล้ายตลาดนัด ที่ได้รับความนิยมที่ประเทศไต้หวัน หรือประเทศเกาหลี และเราต้องจัดระบบดูแลความปลอดภัยทั้งแสงสว่าง กล้องวงจรปิด รวมทั้งระบบการขนส่งเพื่อรองรับ คนทำงานช่วงกลางคืน

-พันธบัตรรัฐบาล (Thai Power Bond)
พันธบัตรรัฐบาลที่ประชาชนมีสิทธิ์ซื้อก่อนนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมการออม และ ประกันเงินฝาก สามารถเพิ่มรายได้จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเพิ่มความมั่นคงในการออมเงิน และเศรษฐกิจของประเทศ

'ลดรายจ่าย'
-พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก
ไม่เกินคนละ 1 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับเงินกู้นอกระบบที่คิดร้อยละ 3 ต่อเดือน ถือได้ว่า สามารถช่วยผู้กู้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยตรงนี้ได้ถึง 30,000 บาทต่อเดือน

-One day Pass Ticket ตั๋ววัน
ค่าเดินทางที่เป็นต้นทุนของการดำเนินชีวิต หากเราสามารถล็อกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ให้แพงเกินไป
◇รถ เรือ เริ่มต้น 15 บาท ตลอดวัน ไม่เกิน 50 บาท
◇รถไฟฟ้า เริ่ม 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 40 บาท

-เครื่องกรองน้ำดื่มทุกชุมชน
น้ำดื่มเป็นต้นทุนที่สูงประชาชนส่วนหนึ่งเพื่อมาซื้อน้ำดื่ม จ่ายเงินเพื่อเติมเงิน เพื่อกรองน้ำไปใช้ ส่วนนี้จะต้องไม่เป็นภาระของประชาชนในทุกชุมชนอีกต่อไป

‘นฤมล’ ย้ำบัตรประชารัฐ 700 บ. สอดรับเงินเฟ้อ ลั่น ยังมีสวัสดิการช่วยเหลือประชาชนอีกเพียบ

‘ศ.ดร.นฤมล’ ย้ำ นโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาท/เดือน สอดรับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูง หลังฟังเสียงสะท้อนจากการลงพื้นที่ของ ส.ส. 200-300 บาทไม่เพียงพอใช้จ่าย ลั่นยังมีสวัสดิการช่วยเหลือ ปชช.อีกเพียบ แย้มเตรียมประกาศนโยบาย "ที่ดินประชารัฐ" เร็วๆ นี้ 

วันนี้ (19 ม.ค. 66) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเพิ่มวงเงินในบัตรประชารัฐเป็น 700 บาทต่อเดือน ของพรรคพลังประชารัฐว่า ในปี 2566 จะมีประชาชนได้รับสิทธิประมาณ 18 ล้านคน คนละ 700 บาทต่อเดือน จะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ ปีละ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวมีการคำนวนแหล่งที่มาของงบประมาณมาจากที่ใดแล้ว ในส่วนของบัตรประชารัฐที่เราได้ทำมาตั้งแต่ปี 61 ไม่ใช่มีแค่เงินรายเดือน 200 หรือ 300 บาทเท่านั้น แต่ยังมีสวัสดิการอื่น ๆ อีก อย่างเช่น ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าเดินทาง จิปะถะ เราพยายามจัดการสิ่งเหล่านี้ให้สอดคล้อง กับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ บางคนได้ไปก็ไม่ได้ใช้ ค่าเดินทางไม่ได้ใช้ แก๊สหุงต้มไม่ได้ใช้  

ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า เมือปี 2561 ตนก็เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงนั้น เราอยากจะให้พี่น้องประชาชน ผู้ที่มีรายได้น้อย สามารถที่จะมีเงินประทังชีวิตต่อเดือน สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เขาสามารถไปซื้อ ข้าวสาร น้ำปลา อาหารแห้ง ได้ ในต่างจังหวัดอยู่ได้โดยไม่ลำบาก แต่ปัจจุบันสภาวะ ทางเศษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อ ไม่ต่างกับประเทศไทย สินค้ามีราคาที่สูงขึ้นมาก ดังนั้นเงิน 200-300 บาทต่อเดือน ก็ไม่เพียงพอ เสียงสะท้อนก็ออกมาจากผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ที่ลงพื้นที่ไปพบปะกับประชาชนต่างก็บอกเงินไม่พอแล้ว

คนเสื้อแดงนครพนม จวก 'หมอชลน่าน' ปมวางตัวผู้สมัคร ส.ส. ไม่ถามชาวบ้าน

บรรยากาศความเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดนครพนม เริ่มมีแนวโน้มการแข่งขันมากขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีการยุบสภาหรือครบวาระ 4 ปี โดยพรรคการเมืองใหญ่ต่างทยอยพากันเปิดตัวว่าที่สมัคร ส.ส. ทั้ง 4 เขต ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันระหว่าง 3 พรรคใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ถือเป็นพรรคที่มีฐานที่มั่น เคยเป็นแชมป์ชนะการเลือกตั้งทั้ง 4 เขตมาหลายครั้ง แต่การเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ที่ผ่านมา ได้เสียที่นั่ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้งที่ 1 โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ที่พรรคภูมิใจไทยส่งเข้าประกวด ชนะเลือกตั้งสามารถล้ม นายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ อดีต ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เพียง 3 เขตเท่านั้น

แม้เขตเลือกตั้งที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ อ.นาแก อ.วังยาง อ.ปลาปาก และ ต.บ้านผึ้ง,ต.กุรุคุ อ.เมืองนครพนม จะถูกพลังดูดจากพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ นายชูกัน กุลวงษา อดีต ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย เปลี่ยนใจไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่พ่ายแพ้ให้กับนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่หันมาลงสมัคร ส.ส.เขตฯ ชนะการเลือกตั้ง คะแนนนำโด่งเกินคาดหมาย แสดงถึงกระแสความนิยมพรรคเพื่อไทย สูงกว่าคะแนนนิยมตัวบุคคล

ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ เป็นที่น่าจับตามองตั้งแต่ปี 2565 ทั้งที่เจ้าของพื้นที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ มีข่าวลือว่าจะย้ายไปซบพรรคไทยสร้างไทย มีคุณหญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อตอบแทนบุญคุณทางการเมือง ส่วนทางด้านพรรคภูมิใจไทยนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เขต 1 ได้ย้ายลงสมัครเขตเลือกตั้งที่ 2 ชนกับ ดร.มนพร เจริญศรี ส.ส.ฯ พรรคเพื่อไทย โดยพรรคภูมิใจไทยหวังให้ครูแก้วโค่นแชมป์เก่า และล้มแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครพนม เขต 1 หน้าใหม่คือนางพูนสุข โพธิ์สุ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นภรรยาของครูแก้วนั่นเอง 

จนกระทั่งช่วงต้นสัปดาห์ พรรคเพื่อไทยในพื้นที่จังหวัดนครพนม กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาทันที เมื่อนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงการณ์เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครพนม ทั้ง 4 เขต ประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ 1 คือ ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ มีดีกรีเป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย, เขตเลือกตั้งที่ 2 แชมป์เก่า ดร.มนพร เจริญศรี, เขตเลือกตั้งที่ 3 ได้แก่แชมป์ตลอดกาล 12 สมัยคือ ดร.ไพจิต ศรีวรขาน ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 4 ถือเป็นการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร เกินความคาดหมาย หลังพรรคประกาศรายชื่อนายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย, พรรคเพื่อคนไทย และ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม ที่ล่าสุดหันมาซบพรรคเพื่อไทย และมีชื่อเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 4 นครพนม ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีชื่อ ดร.สมชอบ นิติพจน์ อดีตนายก อบจ.นครพนม รวมถึง นายชาญชัย คำจำปา นายกเทศมนตรีตำบลพระซอง อ.นาแก จ.นครพนม ที่มีฐานสร้างครอบครัวเพื่อไทยได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคอีสาน

ถอดรหัสสโลแกนใหม่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ กับนัยยะ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้งไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย’

ยิ่งใกล้ครบวาระรัฐบาล การเมืองไทยยิ่งทวีความเข้มข้น ทุกการเคลื่อนไหวของทุกพรรคการเมืองล้วนถูกจับจ้อง 

เช่นเดียวกับ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ พรรคแกนนำรัฐบาล จากการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่ทว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า อาจจะไม่ได้เป็นพรรคแกนนำในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล นั่นเพราะส.ส.ในสังกัดยังไหลออกไม่หยุด หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า เก้าอี้ส.ส.ที่เคยมี คงไม่ได้เท่าเดิม

นั่นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย พี่ใหญ่ 3 ป. ‘บิ๊กป้อม - พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องทำการบ้านอย่างหนัก หากต้องการนำพรรคกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งให้ได้ 

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการประกาศนโยบายแรก ที่สร้างความฮือฮา และ เป็นกระแสให้พูดถึงอย่างมาก กับการประกาศ ‘เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 700 บาทต่อเดือน’ หากได้จัดตั้งรัฐบาล

แน่นอนว่า นโยบายที่ออกมา ถูกใจชาวบ้านในระดับรากหญ้า และกลุ่มเปราะบาง เพราะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ ขณะที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นนโยบายที่สร้างชื่อให้กับพรรคพลังประชารัฐอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น ในงานแถลงข่าวเปิดตัวนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจ นั่นคือการชูคำขวัญ หรือ สโลแกนใหม่ของพรรคที่จะใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า ว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่”

คำขวัญดังว่า อาจจะดูเป็นสโลกแกนธรรมดา แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไป จะเห็นนัยยะที่ซ่อนไว้ และจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐและพลเอกประวิตรได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะคำว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ที่พลเอกประวิตร ย้ำเป็นพิเศษ และถือเป็นจุดยืนของพรรค ที่พร้อมจะสานสัมพันธ์กับทุกฝ่าย ก้าวข้ามความขัดแย้ง และหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยไร้ความขัดแย้ง

“ปัจจุบันสังคมไทยยังคงมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกแยกเป็น 2 ขั้ว ผมขอยืนยันจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ อย่างหนักแน่นว่า เราพร้อมจะสานสัมพันธ์กับทุกฝ่ายเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง และเพื่อสร้างพลังแห่งความสามัคคี เพื่อนำทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เพื่อนำประเทศไทย ไปสู่เป้าหมายที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยทุกคน” พล.อ.ประวิตร ประกาศต่อหน้าสื่ออย่างหนักแน่น

เลือกตั้ง 6 ก.พ. 48 ‘ไทยรักไทย’ ชนะขาด สร้างปรากฏการณ์รัฐบาลพรรคเดียว

งวดเข้ามาทุกขณะ สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ ที่เริ่มส่งสัญญาณออกมาเป็นระยะ เพราะไม่ว่ารัฐบาลลุงตู่ จะอยู่ครบเทอม หรือ จะเลือกยุบสภาก่อน สุดท้ายแล้วการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายในปีนี้อย่างแน่นอน

ส่งผลให้สถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ ต้องใช้คำว่า ‘ระอุ’ จะเริ่มเห็นส.ส. ย้ายค่าย พรรคการเมืองเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กันอย่างคึกคัก

โดยเป้าหมายหลักของพรรคการเมือง ย่อมอยู่ที่การได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่าง ‘เพื่อไทย’ ที่หมายมั่นปั้นมือว่า เลือกตั้งครานี้ จะต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ บนโจทย์ที่สุดท้าทายนั่นคือ จะต้องชนะการเลือกตั้ง กวาดที่นั่ง ส.ส. ในสภาได้อย่างถล่มทลาย หรือ ที่ตั้งสโลแกนคุ้นหู ‘แลนด์สไลด์เพื่อไทย’ โหมโรงออกมาเป็นระยะ

นั่นเพราะการชนะเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. มาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ได้การันตีว่าจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะยังมีเงื่อนไข ส.ว. 250 เสียงโหวตนายกรัฐมนตรีได้ เป็นเงื่อนปมที่ ‘เพื่อไทย’ อกหักมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ครั้งนั้นได้จำนวนส.ส.มาเป็นอับดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะรวมเสียงแล้วสู้ อีกขั้วอำนาจไม่ได้

เลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ จึงเปรียบเป็นเวทีแก้มือ ของเพื่อไทย ที่ระดมทุกสรรพกำลังที่มี ทุ่มอย่างเต็มที่ เพื่อไปถึงจุดหมาย ‘แลนด์สไลด์’ ให้ได้ดังฝัน ถึงขั้นไปเอา ‘อุ๊งอิ๊งค์ - แพทองธาร ชินวัตร’ ลูกสาวสุดรักของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ มาโหมโรงเรียกเรตติ้งจากสาวก

จะว่าไปแล้ว ในอดีต เมื่อครั้งยังเป็น ‘พรรคไทยรักไทย’ ภายใต้การนำ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในขณะนั้น ไทยรักไทย เคยสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย กลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวมาแล้ว ในการเลือกตั้งปี 2548

โดยการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2548 มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 หลังจากรัฐบาลทักษิณ อยู่ครบวาระ 4 ปี ซึ่งขณะนั้นคะแนนนิยมในตัวทักษิณ มีสูงมาก จากนโยบายประชานิยมที่โดนใจชาวบ้าน รวมถึงการรวมสมาชิกจากพรรคต่าง ๆ ได้แก่ พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม และพรรคเอกภาพ เข้ากับพรรคไทยรักไทย มาลงเลือกตั้ง ภายใต้สโลแกนหาเสียงว่า '4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง' และผลการเลือกตั้งปรากฎว่าพรรคไทยรักไทย กวาดไปได้ถึง 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top