Wednesday, 19 March 2025
NEWS FEED

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่นที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว กวดขัน คัดกรองพนักงานอย่างเคร่งครัดป้องกันโควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานความคืบหน้าการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นจำนวนมาก และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก และจังหวัดสมุทรสาครได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดตามที่ได้มีการแถลงข่าวต่อสาธารณชนไปแล้วนั้น

จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ กำชับให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง ปฏิบัติตามแนวทางและคำสั่งจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค โควิด-19 อย่างเคร่งครัด

“กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกมาตรการบังคับและสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และการนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ ขอให้มีการติดตามสถานการณ์และมาตรการของจังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกวดขัน คัดกรองพนักงาน โดยการวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงงานและบุคคลภายนอกที่มาติดต่อในโรงงาน และให้ดูแลสุขอนามัย ในโรงงาน อาทิ การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นทางเดินเข้า–ออกอาคาร ลิฟต์ ห้องน้ำ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ตรวจเช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัสสาธารณะต่างๆ และลดความเสี่ยงการติดเชื้อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานในนิคมและนอกนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครกว่า 6,082 โรงงาน คนงานกว่า 345,464 คน” นายสุริยะ กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังได้มีมาตรการสำหรับการปฏิบัติงานสำหรับข้าราชการและพนักงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขอให้ติดตามสถานการณ์และมาตรการของจังหวัดอย่างใกล้ชิด และกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานภายในของสำนักงาน เช่น การให้สามารถปฏิบัติงานที่บ้าน (work from home) ได้ตามความจำเป็น และให้งดเดินทางออกจากพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

หากมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานติดต่อกับส่วนราชการอื่น ให้ใช้การประสานงานทางโทรศัพท์ทางระบบสารสนเทศหรือการประชุมโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก

สำหรับส่วนราชการอื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและหรือพื้นที่เสี่ยงระมัดระวัง สังเกตอาการของเจ้าหน้าที่และให้ส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหรือเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดทราบทุกคน

และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมโรคเด็ดขาดในช่วงเวลาที่จังหวัดสมุทรสาครกำหนดให้พิจารณาดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัดซึ่งอาจจะมีการประกาศต่อไป

ด้านส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมดให้งดการเดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการแจ้งให้หรือประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครทราบ เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแจ้งนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ประสานงานกันก่อน

ในช่วงระหว่างนี้ให้ใช้การติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์หรือช่องทางทางเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ แทนการเข้าพื้นที่ และให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องสอดรับอย่างเคร่งครัด

ทั่วโลกพร้อมใจ จับตาการระบาด Covid-19 ครั้งใหม่ในไทยอย่างใกล้ชิด

ต้องยอมรับว่าข่าวการตรวจพบผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่ตลาดค้าส่งกุ้งที่ตลาดมหาชัยทะลุ 500 คนภายในวันเดียวเมื่อช่วงหัวค่ำของคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นข่าวที่ช็อคคนไทยทั้งประเทศ

และอาจทำให้หลายคนกังวลถึงขั้นนอนไม่หลับ เพราะถือเป็นการระบาดระดับ Super spreader ในพื้นที่ปริมณฑล ในตลาดสดที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งวัตถุดิบสู่ภาคครัวเรือนให้กับชาวกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด

ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด ต่างประเทศก็จับตาสถานการณ์ครั้งนี้เช่นเดียวกัน เพราะไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่เคยควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดีเยี่ยม แต่นี้เป็นครั้งแรกที่เราเจอการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มใหญ่มาก จึงเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายกว่าการระบาดรอบแรกหลายเท่า

สำนักข่าว Channel News Asia รายงานสถานการณ์ Covid-19 ที่แพกุ้งจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยความเป็นห่วง เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับตลาด และการขนส่งกุ้งสดน่าจะมีเป็นจำนวนมาก

สำนักข่าว The Straits Times ของสิงคโปร์ และ Nikkei Asia ของญี่ปุ่น มองว่าผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่นี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นความหวังของไทย ซึ่งตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวให้ได้ถึง 8 ล้านคนในปี พ.ศ. 2564

สำนักข่าว Aljazeera ติดตามสถานการณ์ Covid-19 ในบ้านเราเช่นเดียวกัน โดยชี้ประเด็นไปที่แรงงานพม่าในไทย ที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ติดเชื้อครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานพม่าในไทยเกือบ 2 ล้านคน และมีจำนวนมากที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย จึงเป็นอุปสรรคในการติดตามผู้ที่ติดเชื้อ

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวสถานการณ์ Covid-19 ในบ้านเราเช่นกัน ซึ่งวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อCovid-19 จากทั่วโลกทะลุ 76 ล้านราย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกายังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 250,000 ราย ตัวเลขทั่วโลกยังคงน่าเป็นห่วง

แม้จะเริ่มมีวัคซีน Covid-19 ฉีดให้กับประชาชนในบางประเทศแล้ว และสำหรับประเทศไทยคาดว่าจะได้รับวัคซีน Covid-19 ในปีหน้า แต่ก่อนจะถึงวันที่วัคซีนมา สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในตอนนี้คือ ตั้งการ์ดให้สูงกว่าเดิม และติดตามข่าวสารจาก ศบค. อย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดการแพร่กระจายให้มากที่สุดนั่นเอง

แหล่งข่าว

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/covid-19-thailand-cases-shrimp-market-samut-sakhon-13807452

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/Thailand-reports-biggest-coronavirus-surge-of-500-plus-cases

https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/thailand-reports-jump-in-local-coronavirus-infections-linked-to-shrimp-market

https://www.aljazeera.com/news/2020/12/19/thailand-reports-daily-covid-record-of-more-than-500-cases

https://www.reuters.com/article/health-coronavirus-thailand/thailand-reports-record-surge-in-daily-coronavirus-cases-to-over-500-idUKKBN28T0CN

นายกรัฐมนตรี สั่งเดินหน้าแผนพัฒนาการเกษตรพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดัน 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร รุกหนักปีหน้า 56 โครงการ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี

โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้การพัฒนาในพื้นที่ตรงนี้เป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ การดำเนินการยึดกรอบแนวคิดการตลาดนำการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแก้ปัญหารากเหง้าของภาคเกษตรกรรม การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม

พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับคุณภาพดินและปริมาณน้ำ ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย คือ 1. ผลไม้ พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง 2. ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิต 3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ 4. เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพร และ 5. ปรับเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรราคาต่ำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปศุสัตว์ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ดอกไม้ ทดแทนการนำเข้า และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมโครงการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรในอีอีซีให้พร้อมเพื่อเริ่มดำเนินการตามเป้าหมาย ซึ่งในแผนฯระยะ 5 ปี (2565-2570) ประกอบด้วยโครงการทั้งหมด 91 โครงการ วงเงินรวม 3.2 พันล้านบาท

และในปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มดำเนินการ 56 โครงการ อาทิ โครงการแผนที่การเกษตร (Agri-Map) โครงการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร โครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โครงการต้นแบบการสร้างนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ: มะม่วง ข้าวสมุนไพร และสัตว์น้ำ โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และการตลาดอาหารทะเลเขตอีอีซี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรในพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นรูปธรรม โครงการต่างๆที่รัฐบาลตั้งเป้าดำเนินการในปีงบประมาณหน้า จะแก้ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตร คือการผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาด การผลิตที่ใช้ทรัพยากรมากแต่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และการแปรรูปที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากนัก

อีกทั้ง ผลลัพธ์ของโครงการเหล่านั้นจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตมวลรวมภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรถึง 5.51 ล้านไร่ หรือร้อยละ 66 ของพื้นที่ทั้งหมดในอีอีซี

นายกรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่สมุทรสาครแล้ว พร้อมสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข -หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหยุดการแพร่เชื้อ มั่นใจรับมือได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบสถานการณ์ล่าสุดของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร

และได้ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร โรงพยาบาลสมุทรสาคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เฝ้าระวัง สอบสวน และเร่งดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยในจังหวัดสมุทรสาครในเชิงรุกต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอความร่วมมือประชาชน ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดสมุทรสาคร ให้ดำเนินการตามแนวทางที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายจังหวัด ได้แนะนำอย่างเคร่งครัด

ส่วนประชาชนที่เคยเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ขอให้เฝ้าระวัง สังเกตอาการตนเอง เป็นเวลา 14 วัน และให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยไม่ควรไปในที่ชุมชน

หากเริ่มมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ และขอให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าขณะเดินทางตลอดเวลา

สำหรับประชาชนทั่วไป ให้ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019( ศบค. )และใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ สแกนไทยชนะเมื่อเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคในที่อื่นๆ

จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดทางด้านสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นว่า จะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ โดยความร่วมมือของประชาชน เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเป็นการระบาดในพื้นที่จำกัด และไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

หากประชาชนมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และติดต่อสอบถามได้เพิ่มเติมที่สายด่วนสมุทรสาคร หมายเลข 065-549-3322 และ 034-871-274 ตลอด 24 ชั่วโมง

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน ( 20 ธันวาคม พ.ศ.2563)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 576 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,907 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 17 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,041 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 806 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 576 รายเป็นคนไทย 38 ราย สัญชาติกาตาร์ 1 ราย อัฟกานิสถาน 1 ราย
อังกฤษ 1 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ จาก กาตาร์ 1 ราย  ,บาห์เรน 30 ราย ,เนเธอร์แลนด์ 2 ราย, เยอรมนี 1 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย,สาธารณรัฐกานา 1 ราย , สหราชอาณาจักร 2 ราย, สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย , เมียนมา 2 ราย ผ่านการคัดกรองและเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้
ผู้ติดเชื้อในประเทศ  อยู่ระหว่างการสอบสวนจำนวน 19 ราย และ ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว จำนวน 516 ราย


ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 362 ราย รักษาหายแล้ว 345 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 6.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.36 แสน เสียชีวิต 19,659 ราย
ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 36 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 91,969 ราย รักษาหายแล้ว 76,242 ราย เสียชีวิต 433 ราย
ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.15 แสน ราย รักษาหายแล้ว 94,118 ราย เสียชีวิต 2,424 ราย
ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.21 แสน ราย เสียชีวิต 8,911ราย
ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,403 ราย รักษาหายแล้ว 58,274 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,411 ราย รักษาหายแล้ว1,269 ราย เสียชีวิต 35 ราย

แม้จะยังไม่เกิดเหตุลุกลามของเชื้อโควิด-19 เข้ามาในเขตพื้นที่กรุงเทพชั้นใน แต่ที่เขตจตุจักร-หลักสี่ ‘สิระ เจนจาคะ’ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาตั้งการ์ดไว้ก่อน

สิระได้ลงพื้นที่ดังกล่าว พร้อมแจกหน้ากากผ้าจำนวน1,000 ชิ้นให้กับชุมชนเคหะท่าทราย เพื่อใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะมีการระบาดเป็นรอบที่ 2โดยได้มีการเตรียมหน้ากากสำหรับแจกประชาชนเขตหลักสี่และจตุจักร จำนวนทั้งหมด 50,000 ชิ้น

นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 21ธ.ค. จะมีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดตามชุมชุนและตลาดที่เป็นจุดที่มีประชาชนจำนวนมาต้องไปรวมตัวกัน

“สำหรับการดำเนินการในวันนี้ไม่ใช่การตื่นตระหนกเกินเหตุ แต่เป็นการเตรียมรับมือกับเชื้อไวรัสเอาไว้ เพราะวันนี้เริ่มมีการกระจายตัวแล้ว ดังนั้นหากเรายังนิ่งนอนใจ ไม่ป้องกันเอาไว้ก่อน ตนเชื่อเลยว่าไม่นานนี้โควิดมารอบสองแน่ๆ แต่สำหรับเขตหลักสี่ จตุจักร ตนจะเตรียมการ์ดอย่างเข้มแข็ง ไม่ให้ชาวบ้านติดเชื้อโควิดอย่างแน่นอน

“ผมอยากให้ ส.ส.ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด และหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ดูแลประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย่าปล่อยให้ประเทศต้องล็อคดาวน์อีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชนจนเป็นปัญหาใหญ่ วันนี้ยังพอมีเวลาป้องกันตัวเองโดยการใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ต้องมีวินัยกับตัวเอง ดีกว่าปล่อยให้สายเกินที่จะแก้ไข” สิระ กล่าว

ถึงจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่สนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) วันที่ 20 ธ.ค. 63 นี้ ก็จะส่งผลต่อเราๆ ท่านๆ ได้เหมือนกัน

ยังไงล่ะ?

หากนอนหลับทับสิทธิ หรือ ไม่ไป เลือกตั้ง อบจ. โดยไม่แจ้งเหตุผลที่สมควรจะถูกตัดสิทธิเพียบ

ฉะนั้นหากมีเหตุ ต้องระบุ เช่น

• เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

• มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล

• เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

• เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

• เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

• มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร

• ได้รับคำสั่งจากทางการราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง

• มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นตามที่ กกต.กำหนด

ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 42 กำหนดให้เราต้องเสีย 6 สิทธิ ดังนี้

1. เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

2. เสียสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน

3. เสียสิทธิลงชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

4. เสียสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

5. เสียสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

6. เสียสิทธิดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

สำหรับการจำกัดสิทธินั้น จะมีการกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และถึงแม้มีการเลือกตั้งครั้งหน้า แล้วได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ทำให้สิทธิต่างๆ กลับมา

หากย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ที่มีดีลการเจรจาซื้อคืน ‘เทสโก้ โลตัส’ กลับคืนอก เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรซีพี

จะเห็นได้ว่าทุกบทสัมภาษณ์จะมีตอนหนึ่งที่พูดถึง ‘เทสโก้ โลตัส’ ที่เปรียบเสมือนลูกรัก แต่ต้องตัดใจขายไปในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และเมื่อวันนึงมีโอกาสซื้อคืนกลับมาก็ย่อมไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป

“ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ ผมตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศไทยได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าผมมีความสามารถซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงลูกให้ดีกว่าเดิม เอาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามา แล้วก็พัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0” ธนินท์ กล่าว

นั่นคือคำพูดของเจ้าสัวธนินท์ในอดีต ที่นำมาสู่การควบรวมค้าปลีกขนาดยักษ์ระหว่าง ซีพี-เทสโก้ โลตัส ไว้ด้วยกันในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ด้วยมูลค่าดีลสูงถึง 338,445 ล้านบาท ซี่งหลังจากการควบรวมเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการจะทำให้กลุ่มซีพีได้เทสโก้โลตัส ที่มีสาขาในไทย 2,100 แห่ง และในมาเลเซียอีก 74 แห่ง รวมถึงพนักงานกว่า 60,000 คน

อย่างไรก็ตาม ดีลครั้งนี้สร้างความไม่สบายใจต่อตลาดค้าปลีกไทย โดยเฉพาะรายย่อย ที่เชื่อว่าจะทำให้ทุนใหญ่กระหน่ำตลาดและผูกขาดแบบกินรวบ

ถึงกระนั้น ด้านนักวิเคราะห์ ก็ยังมองว่าดีลดังกล่าวไม่ถึงขั้นผูกขาด โดยแหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า ฝ่ายวิจัยเคยทำการศึกษาภาพรวมส่วนแบ่งตลาดกลุ่มค้าปลีก โดยพิจารณากรณีเครือข่ายที่ CPALL มีในปัจจุบัน (CPALL+MAKRO) แล้ว จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดราว 31.9% และหากรวมกับ Tesco อีกราว 11.6% เข้าไปอีก ก็จะมีส่วนแบ่งตลาดรวม 43.5%

ทั้งนี้ระดับส่วนแบ่งตลาดดังกล่าว ไม่ถือเป็นการควบรวมที่อาจเข้าข่ายกรณีผูกขาดตามคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ที่ระบุว่าหลังควบรวมแล้วต้องครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% จึงจะเข้าข่าย

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า หากมองส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มทุนใหญ่ เช่น ซีพี (เทสโก้/แมคโคร) + บิ๊กซี (BJC) และ CRC (เซ็นทรัล) จะสูงมากกว่าครึ่งของตลาด ซึ่งทำให้ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยยังรู้สึกถึงอำนาจในการต่อรองตลาดอยู่ดี แม้กลุ่มทุนแต่ละฝ่ายจะชวนให้มองทฤษฏีการแบ่งประเภทตลาด Modern Marketing Concept ที่แต่ละประเภทจะมีส่วนแบ่งการตลาดต่างกัน และกลุ่มเป้าหมายลูกค้าแตกต่างกันก็ตาม

หลังจากเมื่อวานนี้ที่จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 รอบใหม่ถึง 548 ราย และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้สั่งมาตรการเข้ม (ล็อกดาวน์กลายๆ) ในเขตเมืองไปเรียบร้อยแล้ว จนถึงวันที่ 3 มกราคมปี 2564

ล่าสุดนี้ มีความเห็นมาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยากให้เลื่อนการฉลองปีใหม่ไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส

ขณะที่ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นพร้อมข้อเสนอ 3 ให้ปิดจังหวัดสมุทรสาคร และตรวจทุกคนที่อยู่ในจังหวัด และบังคับใส่หน้ากาก 100% รวมถึงทั้งสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง ควรเตรียมรับมือการลักลอบออกนอกจังหวัด เพราะจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดเคสติดเชื้อแบบดาวกระจายในอีกสองสัปดาห์ถัดจากนี้

ที่มา:

https://www.facebook.com/yong.poovorawan/posts/4994230110619566

https://www.facebook.com/thiraw/posts/10221434112554726

กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งอุณหภูมิลดลง 2-3 องศาเซลเซียส

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบนแล้ว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงอีก 2-3 องศาเซลเซียส และมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรงส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมไว้ด้วย ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ที่มา: https://www.tmd.go.th/daily_forecast.php


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top