Friday, 9 May 2025
NEWS FEED

กสทช. จับมือกับ อย. กวาดล้างโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมถั่งเช่า ซึ่งใช้บุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าวสามารถรักษาได้หลายโรค โดยกสทช. ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. ได้จับมือกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาให้สิ้นซาก โดยเฉพาะการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมถั่งเช่าซึ่งใช้บุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์

จัดฉากลวงโลกว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าวสามารถรักษาได้หลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตและโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนักแต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กลับมาหายป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ทาง กสทช.ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย.อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือ ยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค จึงเป็นการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท โดยในปี 2563 อย.ได้ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารทางสื่อต่างๆไปแล้ว 1,388 คดี ดังนั้น อย.จึงขอเตือนไปยังผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้เด็ดขาด

ทั้งนี้นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังพบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตาที่อ้างว่ารักษาโรคตาได้หลายชนิดทั้งโรคต้อ กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง เคืองตา แสบตา เพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้

ทาง กสทช.ได้สอบถามไปยังราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แล้ว ชี้ชัดว่า ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่สามารถรักษาโรคตาได้

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ร้องนายกฯ ประชาชนจำเป็นต้องใช้เงิน จี้เปลี่ยนการเยียวยาเป็นเงินสด ชี้ เหตุผลของรัฐบาลเหมือนอยู่คนละโลกกับความจริง แนะปรับวงเงินแบงก์ชาติ 9 แสนล้าน ช่วย SMEs ให้รอด

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม และ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้ออกมาตรการเยียวยา เราชนะ ผ่าน ครม. ให้เยียวยาประชาชน เดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน แล้วนั้น

นอกจากจำนวนเงินจะน้อยไป เพราะแค่วันละ 117 บาท เท่านั้น และระยะเวลาสั้นไปเพราะไม่น่าจะควบคุมสถานการณ์และกลับมาเป็นปกติได้ใน 2 เดือนแน่ แล้วรัฐบาลยังกำหนดว่า จะไม่จ่ายเป็นเงินสดแต่จะจ่ายเข้าบัญชีและเบิกเงินสดไม่ได้ นำไปใช้จ่ายได้แบบโครงการคนละครึ่งเท่านั้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับประชาชนเป็นจำนวนมาก

เพราะในภาวะที่ลำบากกันอย่างมากนี้ ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในหลายกรณี ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้เร่งปรับเปลี่ยนการจ่ายเยียวยาให้กับประชาชนให้เป็นเงินสดเพื่อบรรเทาความลำบากของประชาชน

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ข้ออ้างของรัฐบาลฟังแล้วเหมือนอยู่คนละโลกกับความเป็นจริงที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนกันอย่างมาก การที่ไม่ให้เบิกเงินสดโดยอ้างว่า กลัวประชาชนจะไปซื้อ ลอตเตอรี่ เหล้า บุหรี่ บ้าง กลัวไวรัสโควิด จะติดมากับเงินสดบ้าง กลัวจะไปใช้จ่ายเอื้อประโยชน์กิจการของเจ้าสัวบ้าง (ซึ่งเรื่องที่เอื้อประโยชน์จำนวนมากกลับไม่พูดถึง) อีกทั้งยังจะจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท ติดต่อกัน 7 สัปดาห์ กลัวว่า ประชาชนจะใช้เงินหมดเร็ว ซึ่งคิดเหมือนประชาชนไม่มีปัญญาจะบริหารจัดการตัวเองได้

นอกจากนี้ แทนที่จะแจกประชาชนที่กำลังลำบากอย่างทั่วถึง กลับต้องให้ลงทะเบียนผ่านมือถืออีก โดยประชาชนจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ พอถูกถามเรื่องนี้ รัฐบาลกลับบอกว่า จะมีการติดต่อบริษัทให้มาจำหน่ายโทรศัพท์มือถือให้ในราคาพิเศษ ให้กับคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสามารถซื้อเพื่อลงทะเบียนเข้าโครงการได้ ซึ่งต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อซื้อมือถือที่หลายคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ และยังต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นแบบไม่สมเหตุสมผล

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า โดยทั้งหมดนี้ ดูเหมือนรัฐบาลกำลังสับสน ทั้งที่คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยได้เตือนรัฐบาลแล้วว่าให้คิดให้ดี คิดให้ครบกรอบ ก่อนที่จะออกมาตรการ อย่าทำแบบ “ทราบแล้วเปลี่ยน” ที่ต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางหลายหนเพราะถูกตำหนิมาโดยตลอด

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลเร่งเปลี่ยนแปลงเป็นการจ่ายเป็นเงินสด เพื่อให้ช่วยประชาชนได้ตรงตามความจำเป็นของประชาชนมากกว่า โดยที่รัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้อยู่แล้ว ไม่เข้าใจใจว่าจะไปกำหนดให้ประชาชนยุ่งยากเพิ่มขึ้นทำไม กลายเป็นรัฐบาลที่แจกเงินประชาชนแต่กลับโดนประชาชนด่ามาตลอด

นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ การที่รัฐบาลและ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการปล่อยกู้ช่วยเหลือ ธุรกิจ SMEs ให้สะดวกขึ้นง่ายขึ้น ในวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปล่อยไปได้เพียง แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจ SMEs อีกเป็นจำนวนมากยังต้องการความช่วยเหลือ นับเป็นเรื่องที่ดี และอยากให้เร่งดำเนินการ และอยากให้มีการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เพิ่มเติมหากจำเป็น

โดยอยากให้รัฐบาลได้ปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเปลี่ยนวงเงิน 4 แสนล้านเดิม ที่วางแผนจะซื้อพันธบัตรของเอกชน แต่ตอนนี้เชื่อว่าคงยกเลิกแผนการซื้อพันธบัตรของเอกชนนี้ไปแล้วเพราะถูกคนคัดค้านกันมาก ได้ปรับเปลี่ยนวงเงิน 4 แสนล้านบาทดังกล่าวมาเป็นการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs แทน ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจ SMEs จำนวนมากยังต้องการความช่วยเหลือ ที่จะประคองตัวให้ผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ และจะสามารถฟื้นกลับมาได้อีกครั้งหลังจากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นกลับมาได้

ทั้งนี้ต้องเลือกด้วยว่าธุรกิจไหนสามารถจะฟื้นได้ โดยรัฐอาจจะต้องเข้าไปรับผิดชอบในหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เชื่อว่าคงไม่มากนักหากเศรษฐกิจฟื้นกลับมา และ สามารถเลือกSMEs ที่จะไปรอดให้ดี นอกจากนี้รัฐบาลน่าจะต้องมีโครงการการรักษาการจ้างงานควบคู่กับการช่วยเหลือด้วย เพื่อป้องกันคนจะตกงานเป็นจำนวนมาก ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นนี้ โดยรัฐบาลอาจจะสนับสนุนการจ้างงานบางส่วน

"ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ทรุดหนักเช่นนี้ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นได้ รัฐบาลจะต้องเปิดใจรับฟังความเห็นทุกทางเพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการบริหารประเทศของรัฐบาล อย่ามีอคติคิดว่าจะเป็นการตำหนิ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลต้องยอมรับก่อนว่าการบริหารของรัฐบาลล้มเหลวมาโดยตลอด กรอบคิดของรัฐบาลมีปัญหา หากมองย้อนหลังด้วยใจเป็นธรรม จะพบว่าทุกเรื่องที่ผมได้เตือนมาเป็นความจริงมาโดยตลอดและเป็นไปตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ หากรัฐบาลจะเปิดใจรับฟังและนำไปปรับปรุงน่าจะช่วยได้มาก ซึ่งตอนนี้ก็ควรจะนึกได้แล้วเละควรฟังคำแนะนำของทุกฝ่ายมากขึ้น ก่อนประเทศจะย่ำแย่ไปกว่านี้" นายพิชัย กล่าว

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (20 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 59 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 12,653 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 รวมยอดผู้เสียชีวิต 71 ราย รักษาหายเพิ่ม 265 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 9,621 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,961 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 59 ราย เป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากไอร์แลนด์ 1 ราย ,ปากีสถาน 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 2 ราย ,มาเลเซีย 1 ราย ,ญี่ปุ่น 1 ราย ,อินเดีย 1 ราย ,เยอรมนี 1 ราย
ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 28 ราย
ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 23 ราย
ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 174 ราย รักษาหายแล้ว 169 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 448 ราย รักษาหายแล้ว 392 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 9.27 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.54  แสน เสียชีวิต 26,590 ราย
ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 41 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.65 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.25 แสน ราย เสียชีวิต 619 ราย
ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.35 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.19 แสน ราย เสียชีวิต 2,986 ราย
ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 5.04 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.66 แสน ราย เสียชีวิต 9,978 ราย
ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 59,157 ราย รักษาหายแล้ว 58,894 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,540 ราย รักษาหายแล้ว 1,402 ราย เสียชีวิต 35 ราย
 

‘วรรณวิภา’ ส.ส.ก้าวไกล อัดมาตรการรัฐบาลไม่เคยช่วยผู้ประกันตน ม.33 - ชี้กว่า 11 ล้านคนสู้เองตามยถากรรม ซ้ำยังโดนกรีดเลือดเฉือนเนื้อนำเงินสะสมในประกันสังคมมาเยียวยาตัวเอง

น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากวิกฤตโควิด -19 ในรอบแรกรัฐบาลไม่เคยถอดบทเรียนเลยจากการแก้ปัญหาเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในระบบ คนที่ใช้ประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งไม่เคยได้รับเงินเยียวยาจากรัฐเลยแม้แต่บาทเดียว

มิหนำซ้ำ รัฐบาลชุดนี้ยังออกมาตรการมาเพื่อให้แรงงานกรีดเลือดเฉือนเนื้อเอาเงินสะสมในประกันสังคมของตนเองเพื่อมาเยียวยาตัวเองอีก เปิดโอกาสให้นายจ้างที่มีกำลังพอไม่มีผลกระทบมากนัก ฉวยโอกาสไม่ใช้มาตรา 75 คือสั่งหยุดแล้วจ่ายค่าจ้าง 75% แต่หันไปใช้ตามกฎกระทรวงที่ให้จ่าย 62% แทน

การเยียวยาไม่ครอบคลุมคนที่เพิ่งได้งานทำยังไม่ถึง 6 เดือน หลายคนไม่ได้ถูกเลิกจ้างแต่ถูกลดชั่วโมงการทำงานทำให้สูญเสียรายได้ นายจ้างหลายที่ไม่ส่งข้อมูลในการหยุดงานของลูกจ้างก็ทำให้ไม่ได้รับเงินเยียวยาเข้าไปอีกจนทำให้ตกหล่นซ้ำซ้อน และทำให้เงินประกันสังคมที่เป็นสวัสดิการเดียวของแรงงานรั่วไหลจำนวนมหาศาล

น.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า ล่าสุด มติ ครม.ได้ออกมาตรการเยียวยาโควิด 19 ระลอก 2 เราชนะ พร้อมอธิบายถึงกลุ่มเป้าหมาย 31.1 ล้านคน ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ลงทะเบียนคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน โดยต้องนำไปใช้ผ่านระบบเพื่อชำระค่าสินค้า เครื่องดื่ม อาหาร และบริการต่าง ๆ ไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้

เกณฑ์การรับเงินเยียวยาดูจะยุ่งยากมากขึ้นมากกว่ารอบแรก มาตรการนี้กลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิ เราชนะ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้มีรายได้สูง และลูกจ้างที่อยู่ในฐานระบบประกันสังคมมาตรา 33 อีกจำนวน 11 ล้านคน ขนาดข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรัฐ ยังมีคำสั่งให้พิจารณาเยียวยาเหมือนโครงการเราชนะ

"หากพิจารณาแล้ว ประชาชนทุกคนล้วนแล้วแต่มีผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น ที่น่าตั้งคำถามมากที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้ประกันตนในระบบมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน ที่โดนมองข้ามไร้การเยียวยาครั้งแล้วครั้งเล่า ถูกปัดความรับผิดชอบจากรัฐบาลให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประกันสังคมซึ่งก็เป็นเงินของพวกเขาเองทั้งนั้น

สุดท้ายแล้วต่อให้โดนบังคับลาออก ลดชั่วโมงการทำงาน ลดเงินเดือน มีปัญหาก็ไปฟ้องร้องกับนายจ้างกันเองตามยถากรรม ทั้ง ๆ ที่หลายธุรกิจได้ทยอยล้มหายตายจากลดลงไปเรื่อย ๆ แต่รัฐก็เลือกที่จะมองข้ามการเยียวยากลุ่มคนเหล่านี้ ดิฉันยังคงยืนยันว่าการเยียวยาควรเป็นการเยียวยาแบบถ้วนหน้า ไม่ควรแบ่งแยกประชาชน เพราะประชาชนไม่ใช่ภาระทางการคลังแต่อย่างใด โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ไทยชนะ เราชนะ แต่ที่แน่ ๆ ประชาชนไม่เคยแพ้ราบคาบ" น.ส.วรรณวิภา กล่าว

ศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ‘พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์’ จำเลยในคดีร่วมกันฆาตกรรม ‘เสี่ยชูวงษ์’ ชี้จำเลยไม่มีความสำนึก จึงไม่มีเหตุปราณี ลงโทษให้ประหารชีวิตสถานเดียว

ที่ศาลอาญาพระโขนง ถ.สรรพาวุธ ศาลอ่านคำพิพากษา ลงโทษให้ประหารชีวิต พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ หลายสมัย เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้

คดีนี้ นางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง ภรรยาของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระดับประเทศ กับพวก และพนักงานอัยการ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 นายชูวงษ์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์หรูยี่ห้อเลกซัสสีดำ ชนต้นไม้ มี พ.ต.ท.บรรยิน จำเลย เป็นคนขับ มีนายชูวงษ์นั่งข้างๆ โดยชนต้นไม้ริม ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ระหว่างซอย 48 กับซอย 50 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กทม. เป็นเหตุให้นายชูวงษ์ ถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์มีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นการฆาตกรรมอำพรางนายชูวงษ์ แต่ พ.ต.ท.บรรยิน ให้การปฏิเสธอ้างเป็นอุบัติเหตุ

วันนี้ศาลอ่านคำพิพากษาให้ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลย ฟังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังตัวจำเลยที่เรือนจำ ซึ่งจำเลยถูกจำคุกในคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นของนายชูวงษ์และคดีอุ้มฆ่าพี่ชายของผู้พิพากษา ขณะที่บรรยากาศในวันนี้ มีนางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ พี่สาวของนายชูวงษ์ / นางวราภรณ์ ตั้งภากรณ์ ภรรยา และ นายวรภัทร์ ตั้งภากรณ์ ลูกชายของ พ.ต.ท.บรรยิน พร้อมทีมทนายความเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

โดยใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง บรรยายพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานโดยละเอียด เกี่ยวกับพยานหลักฐานโจทก์ที่มีทั้งกล้องวงจรปิด พยานผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ และพยานแวดล้อม ที่พิสูจน์ได้ว่านายชูวงษ์ไม่ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่ถูก พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยร่วมกับผู้อื่นฆ่าตาย และจำเลยไม่มีความสำนึก จึงไม่มีเหตุปราณี พิพากษาว่าจำเลย กระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษให้ประหารชีวิตสถานเดียว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ ‘บิ๊กตู่’ มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ อย่าหัวร้อน ย้ำประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ตั้งคำถามถึงงบประมาณในการจัดหาวันซีนกว่า 4,000 ล้านบาท แนะรัฐควรนำเวลาไปแก้ไขปัญหาขจัดความสิ้นหวังที่กัดกินประชาชน รวมถึงหาต้นตอการแพร่ระบาด

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งให้ดำเนินคดีผู้ที่ให้ข้อมูลบิดเบือนเรื่องการจัดหาวัคซีน ว่าท่ามกลางวิกฤตโควิด - 19 ที่สังคมมีความสับสน และความเครียด ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ

เพราะสังคมไม่ต้องการคนที่หัวร้อนกระฟัดกระเฟียด โดยย้ำว่าประชาชนทุกคนไม่ว่าตนเอง หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า มีสิทธิ์ตั้งคำถามถึงงบประมาณในการจัดหาวันซีนกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน สำคัญต่อชีวิต และเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนตั้งคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ ก็เพียงแค่ตอบมาเท่านั้น แต่ท่านกลับเลือกที่จะหัวร้อนไม่ตอบคำถาม

นายพิธา กล่าวอีกว่า วัคซีนมีหลายรูปแบบ ซึ่งหลักการสำคัญในการบริหารจัดการวัคซีนคือความโปร่งใส และการกระจายความเสี่ยง ขณะที่หลายประเทศกระจายความเสี่ยงโดยจัดหาวัคซีนจากหลากหลายบริษัท แต่ประเทศไทยผูกขาด กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ถึง 90%

ทั้งนี้ หากจัดการกับเชื้อไวรัสโควิด - 19 ได้ไวจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงแรก ซึ่งหวังว่า 3 - 4 เดือน จะจัดการได้แต่ถ้าจัดการไม่ได้จีดีพีก็จะติดลบ นอกจากนี้ รัฐบาลควรนำเวลาไปจัดการ และแก้ไขปัญหาขจัดความสิ้นหวังที่กัดกินประชาชน รวมถึงหาต้นตอ การแพร่ระบาดไม่ว่าจะเป็นการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวข้ามมาจากชายแดน รวมถึงการลักลอบเปิดบ่อนพนันด้วย

“เราไม่ได้เป็นคนกำหนดว่าต้องเป็นสยามไบโอไซเอนซ์ แต่บริษัทนี้ มีความพร้อมที่สุด สอดรับกับข้อกำหนดของแอสตราฯ และบริษัทนี้ ก็ตั้งขึ้นมาตามพระราชปณิทานของในหลวง ร.9 เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามแนวพระราชดำริ ขาดทุน คือกำไร”

“เราไม่ได้เป็นคนกำหนดว่าต้องเป็นสยามไบโอไซเอนซ์ แต่บริษัทนี้ มีความพร้อมที่สุด สอดรับกับข้อกำหนดของแอสตราฯ และบริษัทนี้ ก็ตั้งขึ้นมาตามพระราชปณิทานของในหลวง ร.9 เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามแนวพระราชดำริ ขาดทุน คือกำไร”

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

กล่าวเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 กรณี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’

หมอธีระวัฒน์ โพสต์เฟซบุ๊ค เห็นใจ หมอนคร ผอ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ต้องตอบคำถามเรื่องวัคซีนที่บริษัทสยามไบโอไซเอน ได้สิทธิจากแอสตราเซเนก้า เป็นผู้ผลิต หลัง ‘ธนาธร’ ตั้งคำถามเป็นการผูกขาดหรือไม่ ?

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟชบุ๊ก ‘ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha’ ระบุถึงกรณีนายแพทย์นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ออกมาชี้แจงกรณีที่บริษัทสยามไบโอไซเอน ได้สิทธิผลิตวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนก้า ข้อความระบุว่า

กายก็เหนื่อย

ใจก็ล้า

ข้อความนำจาก thailand FACT today

ขอบคุณมากครับ ที่ทำให้คนไทยทุกคนได้รับทราบการทำงานของน้อง ๆ กระทรวงสาธารณสุขและคนด่านหน้าทั้งหมด

ถึงสีหน้าจะเรียบเฉย แต่มือนั้นสั่น คืออาการของหมอนคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ทำงานหนักแบบไม่ได้พัก

และวันนี้ยังต้องบึ่งมาที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบสารพัดคำถามเรื่องวัคซีน ที่บางคนวิพากษ์วิจารณ์

เสมือนที่ทำมาทั้งหมดนั้นหาดีมิได้เลย

หมอนคร พยายามอธิบาย ตอบคำถามทุกข้อสงสัยอย่างใจเย็น

"เราไม่ได้เป็นคนกำหนดว่าต้องเป็นบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ แต่บริษัทนี้ มีความพร้อมที่สุด สอดรับกับการทำสัญญาที่แอสตราฯ จะให้เราเป็นฐานการผลิต

ซึ่งแอสตราฯ เป็นคนเลือกเอง ว่าจะใช้ที่นี่ เพราะโรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ มีความทันสมัย และดีกว่าขององค์การเภสัชฯ ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามรัฐต้องให้งบปรับปรุงอีก 500 ล้านบาท และ SCG 100 ล้าน เพื่อให้มีความสามารถเต็มที่ในการผลิตวัคซีนโควิด-19"

หมอนคร พยายามตอบข้อสงสัยของบางคนบอกที่ว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้งาน เพราะล็อกสเป็ก

"ข้อเสนอที่เราตกลงกับทางผู้ผลิตวัคซีนได้คือชัยชนะ เพราะเราต้องแข่งกับอีกหลายประเทศ เพื่อให้ได้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาค ทำให้เรามีความคล่องตัวในการจัดการวัคซีน และยังพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต"

จากนั้น หมอนคร กล่าวเพิ่มเติมถึงการที่บางคนมาตั้งคำถามเรื่องผลกำไร ที่ บ.สยามไบโอไซเอนซ์จะได้รับ

"ที่ผ่านมา บริษัทนี้ตั้งขึ้นมาตามพระราชปณิทานของในหลวง ร.9 เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามแนวพระราชดำริ ขาดทุน คือกำไร

บ.ขาดทุนตัวเงิน เพื่อแลกกับสุขภาพประชาชนที่ดีขึ้น

บ.จึงไม่คิดหาผลกำไรมาแต่ต้น

ที่ผ่านมาเป็นส่วนสำคัญในการผลิตชุดตรวจโควิด-19 ล่าสุด ยุติการผลิตในหลายสายงาน ก็เพื่อผลิตวัคซีน

การซื้อวัคซีน เราซื้อผ่าน บ.แอสตราเซนนิกา ในราคากลาง บ.สยามไอโอไซเอนซ์ ไม่มีสิทธิ์มากำหนดราคา

การให้ทุนจากรัฐ 500 ล้านบาทข้างต้น ไม่ใช่การให้เปล่า แต่ทาง บ.จะต้องส่งคืนงบ ในรูปแบบของวัคซีน"

หมอนครตอบครบทุกคำถาม

สีหน้าแววตาเรียบเฉย

แต่กายนั้นเหนื่อย ใจนั้นล้า


ที่มา : เพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

บทความแปลจาก Reporter Journey นี้ เป็นการคัดบางส่วนจากบทความต้นฉบับของ BBC (ประเทศอังกฤษ) โดยบทความดังกล่าว เล่าถึงกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันแรก

บทความแปลจาก Reporter Journey นี้ เป็นการคัดบางส่วนจากบทความต้นฉบับของ BBC (ประเทศอังกฤษ) โดยบทความดังกล่าวที่หยิบยกมาชื่อว่า “Oxford-AstraZeneca vaccine: Bogus reports, accidental finds – the story of the jab.” ที่เล่าถึงกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันแรก ผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง ๆ การเผชิญหน้ากับปัญหาและความยากลำบากจริง ๆ รวมทั้งการทดสอบวัคซีนกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเขียนไว้อย่างละเอียด

ซึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในบทความนี้คือ คำพูดของทาง Sir Mene Pangalos รองประธานบริหารของ AstraZeneca หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายใหญ่ของโลก ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC อังกฤษ ถึงข้อตกลงในการผลิตวัคซีนที่คิดค้นและวิจัยโดย Oxford มหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในความหวังของการมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

สำหรับเส้นทางการทดสอบวัคซีนของ Oxford นั้นจากเดิมที่มีการวิจัยและทดสอบกันในโรงงานของสถาบันฯ ซึ่งมีขนาดที่เล็กมากและกำลังการผลิตน้อย จึงไม่สามารถรองรับความต้องการได้ ทีมวิจัยจึงตัดสินใจที่จะจ้างการผลิตบางส่วนไปยังอิตาลี แต่เมื่อตัวอย่างวัคซีนชุดแรกพร้อมจะผลิตก็เกิดปัญหาขึ้น จากการปิดตายการเดินทางทั่วยุโรป นั่นหมายความว่าไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ใดที่จะขนส่งไปกรุงโรม ประเทศอิตาลีได้

ในที่สุดทีมวิจัยจึงต้องเช่าเหมาเครื่องบินเพื่อนำวัคซีน 500 โดสไปผลิต เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะได้รับวัคซีนนี้ทันเวลา ซึ่งนี่เป็นส่วนที่สำคัญมากของเรื่องราวการเริ่มต้นขยายปริมาณวัคซีนให้มากขึ้นในหลายเดือนให้หลังจากนั้น โดยผู้ผลิตชาวอิตาลีใช้เทคนิคที่แตกต่างกันใน Oxford เพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของวัคซีนว่า มีอนุภาคไวรัสจำนวนเท่าใดเจือปนอยู่ในแต่ละครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของ Oxford ใช้วิธีการของพวกเขาปรากฏว่า วัคซีนของอิตาลีมีความเข้มข้นขึ้น 2 เท่า!!

ทั้งนี้มีการพูดคุยไปยังหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ เป็นที่ตกลงกันว่าอาสาสมัครควรได้รับวัคซีนเพียงครึ่งเดียวโดยพิจารณาว่า นี่เป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้ทดสอบ และการให้น้อยลงคงปลอดภัยมากกว่าที่จะให้โดสเข้มข้นมากเกินไป แต่หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์นักวิทยาศาสตร์ก็ตระหนักว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น อาสาสมัครไม่ได้รับผลข้างเคียงตามปกติ เช่น เจ็บแขนหรือมีไข้ อาสาสมัครประมาณ 1,300 คนได้รับวัคซีนเพียงครึ่งเดียวแทนที่จะเต็ม 1 เข็ม หน่วยงานกำกับดูแลอิสระกล่าวว่าการทดลองควรดำเนินต่อไปและกลุ่ม Half-Dose สามารถอยู่ในเคสการศึกษาได้

ในตอนนั้นทีมวิจัยของ Oxford ยอมกัดฟันเมื่อมีข้อเสนอแนะว่าการให้วัคซีนในสูตรของ Oxford อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเข้มข้น แต่มันได้รับการพิสูจน์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่า พวกเขาคือกลุ่มดาวเด่นในแง่ของประสิทธิภาพของวัคซีน

ตั้งแต่เริ่มต้นทีมงานของ Oxford มีเป้าหมายในการสร้างวัคซีนที่สามารถช่วยโลกได้ ดังนั้นพวกเขาต้องการปริมาณหลายพันล้านโดสซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมเท่านั้นที่สามารถทำได้ ทำให้ Sir Mene Pangalos รองประธานบริหารของ AstraZeneca ยักษ์ใหญ่ด้านเวชภัณฑ์ในเคมบริดจ์ แนะนำว่าบริษัทสามารถช่วยให้ความต้องการของ Oxford เป็นจริงได้

แต่ Oxford ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่า “วัคซีนควรมีราคาไม่แพง” ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีผลกำไรสำหรับบริษัทยา กล่าวคือ “บริษัทยาที่จะผลิตวัคซีนของ Oxford ห้ามกระทำการค้าที่ก่อให้เกิดผลกำไร”

“เพราะจุดประสงค์หลักของวัคซีนสูตร Oxford ก็เพื่อช่วยคนทั่วโลก ไม่ใช่ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุน”

หลังจากการเจรจาอย่างเข้มข้นพวกเขาบรรลุข้อตกลงเมื่อปลายเดือนเมษายนปี 2563 ว่า วัคซีนนี้จะจัดให้โดยไม่หวังผลกำไรทั่วโลก เพราะเอาเข้าจริงแล้วในช่วงเวลาของการระบาดแบบนี้ วัคซีนหรือยามักจะมีราคาแพงสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ดังนั้นเพื่อการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันจึงต้องไม่มีผลกำไรมาเกี่ยวข้อง

โดยบริษัทที่เข้าเงื่อนไขการผลิตวัคซีนโดยไม่ประสงค์ต่อกำไรคือ “สยามไบโอไซเอนซ์” ของประเทศไทย และถูกกำหนดให้เป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนสูตร Oxford กระจายไปทั่วทั้งย่านนี้

ที่สำคัญที่สุด AstraZeneca ตกลงที่จะรับความเสี่ยงทางการเงินแม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ผลก็ตาม

ในเดือนพฤษภาคม 2563 ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมาก รัฐบาลสหราชอาณาจักรตกลงที่จะซื้อวัคซีน 100 ล้านโดสและให้การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนอีกเกือบ 90 ล้านปอนด์

ในช่วงต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา ระดับการติดเชื้อโคโรนาไวรัสลดลงในสหราชอาณาจักร แม้ว่านี่จะเป็นข่าวดี แต่ก็ทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้นสำหรับการทดลองซึ่งต้องอาศัยอาสาสมัครที่สัมผัสกับไวรัส เพื่อที่จะทราบว่าวัคซีนจะป้องกันพวกเขาได้หรือไม่ ดังนั้นวัคซีนจึงต้องลองส่งไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างในประเทศอื่น ๆ ด้วยเพื่อดูว่ามันทำงานอย่างไรในประเทศที่มีลักษณะประชากรที่แตกต่างกัน

และแล้วการทดสอบก็ได้เริ่มขึ้นในแอฟริกาใต้ และบราซิลซึ่งในไม่ช้ากลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ผลการวิจัยเบื้องต้นได้รับการเผยแพร่ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร 1,000 คนแรกหรือไม่ ตอนนั้นทีมงานรู้สึกกดดัน

Prof Katie Ewer ผู้เป็นหัวหน้าทีมทดสอบกล่าวว่า “ฉันทำงานเกี่ยวกับวัคซีนมานานพอที่จะรู้ว่าวัคซีนส่วนใหญ่ที่ผลิตกันมาจากที่ต่าง ๆ ใช้ไม่ได้ผล และมันเป็นความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดในโลกที่มีความคาดหวังสูงเช่นนี้แล้วก็ไม่เห็นอะไรเลย”

ข่าวดี วัคซีนของ Oxford – AstraZeneca ดูเหมือนจะปลอดภัย และได้กระตุ้นการตอบสนองระบบภูมิคุ้มกันแบบที่พวกเขาหวังไว้ มันผลิตแอนติบอดีที่ต่อต้านไวรัสและเซลล์ T ซึ่งสามารถฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อได้ แต่ข้อมูลยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ เพราะก่อนหน้านี้ทีม Oxford หวังว่าจะผลิตวัคซีนที่สามารถส่งมอบได้ในครั้งเดียวดังนั้นจึงมีวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกรอบ

อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมทดสอบ 10 คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แสดงให้เห็นว่ามีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นมาก ดังนั้นอาสาสมัครทุกคนจึงได้รับเชิญให้กลับมารับวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสในการป้องกัน ซึ่งแม้ว่าผลลัพธ์ในช่วงแรกเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ในขั้นตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนสามารถป้องกันโควิด -19 ได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตามในบทความยังกล่าวถึงการทดลองวัคซีนจากบริษัทอื่นว่า ในเดือนพฤศจิกายนมีการเผยแพร่ผลการทดลองวัคซีนอีก 2 รายการ คือ Pfizer-BioNTech เป็นเจ้าแรก จากนั้นหนึ่งสัปดาห์ต่อมา Moderna ได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพประมาณ 95% ทำให้ทีมงาน Oxford เริ่มมีกำลังใจ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน คณะกรรมการอิสระด้านความปลอดภัยของข้อมูลก็พร้อมที่จะเปิดเผยผลการวิจัยของ Oxford-AstraZeneca แต่ผลลัพธ์ที่ได้น่าประหลาดใจและซับซ้อนกว่าที่คาดไว้

ในขณะที่ Pfizer-BioNTech และ Moderna มีตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงมาก ส่วน Oxford ได้ตัวเลขผลลัพธ์

ว่าป้องกันได้โดยรวม 70%

โดยมาจากผู้ได้รับ 2 โดสเต็มสามารถป้องกันไวรัสได้ 62%

ในขณะที่ผลลัพธ์ที่ไม่มีใครคาดคิดคือในกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้รับยาครึ่งโดสครั้งแรก และเต็มโดสในเข็มที่ 2 จะมีภูมิคุ้มกันสูงสุด 90% แถมยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากการรับวัคซีนสูตร Oxford

มันเรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อรับวัคซีนไป ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้นเรื่อย ๆ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ นอกจากนี้อาสาสมัครทั้งหมดในกลุ่มนี้อายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความแข็งแรงของร่ายกายสูง

เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ทีมวิจัย Oxford ได้เผยแพร่การวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองของพวกเขาในวารสารทางการแพทย์ Lancet ความโปร่งใสนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจได้ว่า แม้ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการฉีด 1 เข็มจะน้อยกว่าของ Pfizer-BioNTech เล็กน้อย แต่ความปลอดภัย และอาการแพ้ที่รุนแรงไม่มีปรากฏเหมือนกับวัคซีนของบริษัทอื่น

อีกทั้ง Oxford-AstraZeneca ก็มีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือขวดของมันสามารถเก็บและขนส่งได้ที่อุณหภูมิตู้เย็นปกติ ในขณะที่ Pfizer-BioNTech ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งมีต้นทุนตู้แช่และการขนส่งที่สูง ทำให้วัคซีนจะมีราคาสูงตามไปด้วย


ที่มา: เพจ​ Thailand​ Vision

เพจ​ Reporter​ Journey


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top