Monday, 28 April 2025
CRIMES

'รองฯ รอย' นำทีมบุก ยึดยาไอซ์ กว่า 200 โล ซุกซ่อนอยู่ในรูปปั้นโมอาย ในลานจอดรถ ท่าเรือแหลมฉบัง

(8 มิ.ย.65) ที่บริเวณลานจอดรถ ท่าเรือแหลมฉบัง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร,พล.ต.ท สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส.,พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผบก.ภ.จว. ยะลา ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า เมื่อประมาณช่วงเดือนมีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด ภ.จว.ยะลา ร่วมกับ สตม., บช.ปส., ภ.2 และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้รับแจ้งเบาะแสขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ในเครือข่ายของคนจีนไต้หวัน นาย PUN สงวนนามสกุล ชาวไต้หวัน และได้ตรวจสอบประวัติพบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ในการพยายามลักลอบนำเฮโรอีนและเคตามีนออกนอกประเทศไทย โดยนาย PUN มีแฟนเป็นหญิงไทย ทราบชื่อว่านางสาวจู นามสมมุติ จึงได้ทำการสืบสวนติดตามพฤติกรรมพบว่ามีการเดินทางเข้าออกประเทศไทยไปประเทศไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง และพบพฤติกรรมน่าสงสัยในการติดต่อเช่าโกดังสินค้าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและลงพื้นที่เข้าทำการตรวจสอบโกดังสินค้าดังกล่าว พบว่าภายในโกดังสินค้ามีรูปปั้นโมอายอยู่ภายใน ซึ่งเชื่อว่าภายในรูปปั้นน่าจะมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่

จากการสืบสวนพบว่ามีการส่งรูปปั้นเข้ามาจากประเทศไต้หวัน และนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2565 โดยสำแดงผ่านพิธีทางศุลกากรว่านำเข้ามาในประเทศเพื่อจัดนิทรรศการ แสดงโชว์แต่เมื่อนำเข้ามาในประเทศไทยแล้วได้นำเอารูปปั้นดังกล่าวมาก็บไว้ในโกดังสินค้าและไม่ได้นำออกไปจัดนิทรรศการ หรือแสดงโชว์ที่อื่นแต่อย่างใด โดยมี นางสาวกัญญาภัค สงวนนามสกุล ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อและจ่ายค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดังและว่าจ้างเคลื่อนย้ายรูปปั้นจากท่าเรือแหลมฉบังไปเก็บไว้ในโกดังสินค้าดังกล่าว

ซึ่งจากการติดตามพฤติกรรมของ นางสาวจู พบว่ามีการโอนเงินให้แก่ นางสาวกัญญาภัคฯ จำนวนหลายครั้งโดยที่ นางสาวจู และ นางสาวกัญญาภัคฯ ไม่พบว่าประกอบอาชีพและมีรายได้ที่แน่นอน แต่พบมีเงินหมุนเวียนในบัญชีเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาท

ต่อมาประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนทราบว่ามีการเตรียมการที่จะขนย้ายรูปปั้นดังกล่าวกลับไปยังประเทศไต้หวัน โดย นางสาวกัญญาภัคฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อว่าจ้างบริษัทโลจิสติกส์ ในพื้นที่ อ.แหลมฉบัง ให้ทำการขนย้ายรูปปั้นเพื่อทำการส่งรูปปั้นดังกล่าวกลับไปที่ประเทศไต้หวันและได้มีการขนย้ายรูปปั้นดังกล่าวจากโกดังสินค้าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร นำมาเก็บรักษาไว้ที่บริษัทฯ พื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ระหว่างที่รอคิวการขนส่งลงเรือเพื่อเดินทางไปยังประเทศไต้หวันต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มชาวจีนไต้หวันกลุ่มนี้มีพฤติกรรมในการนำเอารูปปั้นเข้ามาในประเทศไทย โดยสำแดงว่านำมาใช้จัดนิทรรศการหรือแสดงโชว์ จากนั้นจะ ซุกซ่อนยาเสพติดไว้ในรูปปั้นดังกล่าวแล้วนำออกนอกประเทศไทย โดยจะสั่งการให้กลุ่มของผู้หญิงไทยทำหน้าที่ในการจัดหาสถานที่ เป็นโกดังสินค้าทำการเก็บรูปปั้นและเมื่อนำเอายาเสพติดซุกซ่อนไว้เรียบร้อยแล้วก็จะจัดส่งรูปปั้นดังกล่าวออกนอกประเทศ

'รองฯ รอย' รุดสอบ 3 ผตห. 'แก๊งค้ายา' ใช้รถกู้ภัยยิงสู้ ซิ่งหนี ขณะขนยาบ้า 2.4 ล้านเม็ด หลังเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนภาค 2 รวบตัวคาห้องเช่า ที่เขาชะเมา จว.ระยอง

(8 มิ.ย.65) เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.ภ.2 ตำรวจภูธรภาค 2 ร่วมกับ ตำรวจภูธรภาค 1, บก.ทล. และ ภ.จว.ฉะเชิงเทรา ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร., พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. (ปป.) และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.ตร.)  พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.ภ.2, พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจตร ผบช.ภ.1, พล.ต.ต.อิทธิพร โพธิ์ทอง รอง ผบช.ภ.2, พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.ภ.2, พล.ต.ต.นันทวุฒิ สุวรรณละออง ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา, พล.ต.ต.ชยานนท์ มีสติ ผบก.ภ.จว.สระบุรี, พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม ผบก.สส.ภ.1

ได้ร่วมกันแถลงข่าว การจับกุมตัว...
1) นายจิรายุทธ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1424 ลาดพร้าว 87 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ เป็นคนคนขับรถตู้กู้ภัย
2) น.ส.ทิพวรรณ หรือทิพย์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37/40 ซ.คู้บอน 27 แขวงท่าแล้ง เขตบางเขน กรุงเทพ เป็นภรรยานายจิรายุทธฯ คนนั่งมาด้วย
3) นายชาญณรงค์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20 ซ.โพธิ์แก้ว 3 แยก 2 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นขับรถกู้ภัยมารับพาหลบหนี 

โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายอันก่อให้เกิดการแพร่กระจายในหมู่ประชาชน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุดสืบสวน ภาค.2 สามารถจับกุม นายจิรายุทธฯ และ น.ส.ทิพวรรณฯ จับกุมได้ที่ห้องเช่า เลขที่ 13 ม.3 ต.ซ้ำฆ้อ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ส่วน นายชาญณรงค์ฯ จับกุมได้ที่ อ.เมือง จว.ฉะเชิงเทรา ซึ่ง พล.ต.อ.รอย ได้เดินทางไปสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 3 รายด้วยตัวเอง


 
คดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ 5 มิ.ย.65 เวลาประมาณ 14.00 น. มีเหตุผู้ขับขี่รถยนต์ตู้พยาบาล สีขาว ทะเบียน 1 นข 4280 กรุงเทพมหานคร ใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจจุดตรวจในเขตพื้นที่ จว.สระบุรี และ จว.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเปิดทางหลบหนีมุ่งหน้าเข้าเขตกรุงเทพมหานคร มีคนร้ายบนรถยนต์ตู้คันดังกล่าว จำนวน 2 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 1 คน เมื่อเข้าเขตกรุงเทพมหานคร ได้ขับขี่หลบหนีเข้าไปภายในซอยวัดแป้นทอง บริเวณจุดทิ้งขยะ ซ.หนองระแหง 5 ถ.ไทยรามัญ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ได้นำยาบ้าบรรจุเป็นห่อใหญ่จำนวน 6 ห่อ จำนวน 2,400,000 เม็ด ไปทิ้งพงหญ้าภายในซอยดังกล่าว หลังจากนั้นได้ขับขี่รถยนต์ตู้คันดังกล่าวไปทิ้งไว้ท้ายซอยราษฎร์อุทิศ 44/1 ถ.ราษฎร์อุทิศ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร แล้วหลบหนีไป ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนขยายผลจนทราบว่า ผู้ที่นำยาบ้าไปทิ้งไว้คือ นายจิรายุทธฯ และ น.ส.ทิพวรรณฯ สองสามีภรรยา โดยหลังเกิดเหตุ ได้มี นายชาญณรงค์ฯ เป็นคนขับรถมารับพาหลบหนีไป  

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยการซื้อสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยการซื้อสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ ที่กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่ได้มาตรฐานหรือผ่านการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจเกิดความเสียหายหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากเตือนภัยการเลือกซื้อสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ  ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผ่านการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจเกิดความเสียหายหรือเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ในห้วงที่ผ่านในภาพรวมพบว่ามีการกระทำความผิดและการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่เกี่ยวกับขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าที่ไม่ได้มาตฐาน โฆษณาเกินจริง ไม่มีการรับรองผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารเสริมหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ เป็นจำนวนมาก

ดังเช่นกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.65 ได้กล่าวถึงกรณีสำนักงานวิทยาศาสตร์สุขภาพสิงคโปร์ (HSA) เตือนประชาชนไม่ให้บริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟยี่ห้อหนึ่งชนิด 3in1 ที่ตรวจพบยาทาดาลาฟิล รักษาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศสูงเกินขนาดปกติ มากกว่า 10 เท่า ซึ่งพบว่าสารที่ออกฤทธิ์มีผลกระทบต่อการขยายหลอดเลือดและมีผลต่อผู้ป่วยโรคตับ ไต หัวใจ หลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอก ความดันเลือดต่ำหรือสูง เป็นต้น  

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับและสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ทราบถึงพิษภัยและรูปแบบการกระทำความผิดต่างๆ พร้อมเร่งทำการสืบสวนปราบปรามจับกุม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายมาดำเนินคดี เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและตัดโอกาสในการกระทำความผิดอย่างจริงจังต่อเนื่องโดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้หากมีการลักลอบนำมาจำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือ การโฆษณาสรรคุณสินค้าที่เกินจริง  ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็จะมีคำสั่งให้ระงับจำหน่ายและโฆษณาทันทีโดยถือเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัย ผู้กระทำการฝ่าฝืน ผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมถึงหากมีการนำไปอวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง บิดเบือนหรือผลิตข่าวปลอมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศผ่านสื่อสังคมออนไลน์  ก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวนั้นซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวหากมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายสามารถรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป         

พร้อมขอฝากเตือนประชาชนใช้วิจารณญาณในการเลือกบริโภคสินค้าต่างๆให้พิจาณาให้ดี อย่าเชื่อแค่คำโฆษณาหรือการ บอกเล่าปากเปล่า และขอประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกัน ดังนี้...

1.อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุสรรพคุณในการรักษาหรือมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเด็ดขาด 

2.ควรตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ามีสรรพคุณอย่างที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ 

3.การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องได้รับการอนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งสังเกตจากเลขทะเบียน (ที่ไม่ใช่เลข อย.) ซึ่งขึ้นด้วยอักษร "ฆอ. …" เป็นต้น

4.สามารถตรวจสอบการอนุญาตที่เกี่ยวข้องได้ที่เว็ปไชต์ https://porta.fda.moph.go.th ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุข

ตร.เตือน เข้าถึงบัญชีออนไลน์ผู้อื่นโดยมิชอบ เผยแพร่ข้อมูลเท็จ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสี่ยงคุก

(23 พ.ค. 65) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชาชนให้ความสนใจ กรณีมีบุคคลได้เข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Happy Melon Patcharaveerapong “ ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม แล้วทำการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยอ้างว่าตนเองเป็น แตงโม พร้อมโพสต์ข้อความในลักษณะที่เป็นการกล่าวอ้างใส่ความบุคคลอื่น อ้างว่ามีพยานหลักฐานสำคัญ ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความสับสนในวงกว้าง จนเกิดคำถามและข้อสงสัยในสังคมว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวสามารถกระทำได้หรือไม่ และถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือไม่นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนว่าการกระทำของบุคคลดังกล่าว มีประเด็นพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ

1. การเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ผู้อื่น เป็นการเข้าถึงโดยชอบหรือไม่ ถ้าเป็นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

มาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการเข้าไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. กรณีเผยแพร่ข้อมูลที่มีลักษณะเป็นการใส่ความผู้อื่นและเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
  
3. กรณีเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ในลักษณะที่อาจทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย แต่ไม่ได้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. หากมีการโพสต์หรือเผยแพร่ข้อมูลอื่นอันมีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎหมายในฐานความผิดอื่น ก็จะมีความผิดตามฐานความผิดที่ได้กระทำ

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพร้อมคณะ หารือผู้แทนสหรัฐฯ ร่วมแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

จากกรณีประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) เป็นเวลา 2 ปีติดกัน หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะถูกปรับระดับเป็น (Tier 3) โดยอัตโนมัติ


 
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามฝ่ายคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้งการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ เช่น การส่งออกสินค้าไทย และยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศต่อสายตานานาประเทศอีกด้วย


 
โดยเมื่อวันที่ 15-18 พ.ค.65 นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้นำตัวแทนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม คณะผู้แทนไทย ได้เข้าพบปะหารือในเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา


 
การเข้าหารือ ครั้งนี้ มุ้งเน้นไปที่การดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากทางการสหรัฐ โดย ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตานีละบุตร ผบช.รร.นรต. และพล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.๑ ในฐานะผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทน


 
ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทย ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย โดยได้สรุปผลงานภาพรวมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งการดำเนินคดีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ สหรัฐเห็นถึงความพยายาม ในการขจัดปัญหา
 
ซึ่งทางการสหรัฐ ได้ให้ความสนใจและซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการในการดำเนินการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเสนอ แนวทางการประสานงานในการช่วยเหลือคนไทยจากประเทศกัมพูชา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งสถิติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาค้ามนุษย์ของไทย ที่มีการดำเนินคดีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และยังมีจำนวนคดีที่สั่งไม่ฟ้องลดลงอย่างน่าพอใจ เป็นผลมาจากการประสานงานให้พนักงานอัยการ เข้ามาร่วมกับพนักงานสอบสวน ในการตรวจสำนวนคดีก่อนส่งฟ้อง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน ทำให้สหรัฐมีความพึงพอใจในด้านการปราบปราม และการดำเนินคดีผู้กระทำผิดค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก
 
ขณะเดียวกัน คณะผู้แทนไทย ยังได้เสนอให้มีการพิจารณาสถานการณ์ปัญหาค้ามนุษย์ในอนาคต เป็นการแก้ไขในระดับภูมิภาค เพราะประเทศไทย อยู่ในฐานะของประเทศทางผ่าน ที่ผู้กระทำผิดมักจะใช้ในการลักลอบขนเหยื่อค้ามนุษย์ไปสู่ประเทศที่สาม มิใช่ประเทศต้นทางหรือปลายทางแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐบาล ก็มีนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์ภายในประเทศมีปริมาณลดลงอย่างมาก
 
ขณะที่ทางการสหรัฐ ได้ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากการหารือครั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้เน้นการเพิ่มเติม การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ทั้งระบบ แม้ที่ผ่านมา การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาค้ามนุษย์ ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่อยากให้เพิ่มเติม ด้านการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ให้เป็นระบบ และมีความจริงจัง โดยให้ประสานงานกันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในภาพรวมให้เป็นทีมประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถจัดการปัญหาค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ


 
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า การเดินทางมากรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาของคณะผู้แทนไทยในครั้งนี้ ได้มีแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น ประสบการณ์ในการทำงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผ่านมา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้แทนของสหรัฐได้มีความเข้าใจในความมุ่งมั่นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องของไทย รวมทั้งได้เห็นผลงานและความเปลี่ยนแปลงที่หน่วยงานไทย ได้ร่วมกันบูรณาการพัฒนาระบบการทำงาน การประสานช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ และการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาค้ามนุษย์ที่มีพัฒนาการที่ดีจากปีก่อนมาก

'ผู้ช่วยฯ สุรเชษฐ์' เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น 409 จุดกวาดล้างอาวุธในพื้นที่ภาค 8 พร้อมเปิดประเทศรอรับนักท่องเที่ยว

(6 พ.ค.65) ที่จังหวัดภูเก็ต พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยในภาพรวม แต่ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มคลี่คลายลง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่หลายประเทศได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรค และเปิดประเทศควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยล้วนเป็นพื้นที่ที่ชาวต่างชาติและชาวไทยนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก เช่น จ.ภูเก็ต จ.พัทลุง และ จ.กระบี่ เป็นต้น  

ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้กำหนดและวางมาตรการในการดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 โดย พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.(สส.)ได้สั่งการให้ ให้ดำเนินการตามมาตรการการลดอาชญากรรมในพื้นที่ที่กำหนดโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในภาพรวม

จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.8, พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8 และ พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 ดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างเร่งด่วน จึงได้มีการวางแผนในการดำเนินการปิดล้อมตรวจค้นเพื่อลดเหตุอาชญากรรม ผู้มีอิทธิพล อาวุธปืน ยาเสพติด วัตถุระเบิด ค้าประเวณี โจรกรรมรถ โดยให้ทุกหน่วยในสังกัด ภ.8 รวบรวมพยานหลักฐานในการขออนุมัติหมายค้นต่อศาลเข้าทำการตรวจค้นเป้าหมายทั้งห้องเช่า เกสต์เฮ้าส์ บ้านพัก รีสอร์ท แหล่งมั่วสุมอาชญากรรมทุกรูปแบบที่อาจส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว หรือพื้นที่ท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย.65 กว่า 409 เป้าหมายใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย
- ภ.จว.กระบี่ จำนวน 47 เป้าหมาย
- ภ.จว.ชุมพร จำนวน 45 เป้าหมาย
- ภ.จว.นครศรีธรรมราช จำนวน 77 เป้าหมาย 
- ภ.จว. พังงา จำนวน 54 เป้าหมาย
- ภ.จว.ภูเก็ต จำนวน 75 เป้าหมาย
- ภ.จว.ระนอง จำนวน 43  เป้าหมาย
- ภ.จว.สุราษฎร์ธานี จำนวน 68 เป้าหมาย  

ผลการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นในห้วงเวลาดังกล่าว สามารถตรวจเก็บ DNA บุคคลพ้นโทษ 305 ราย จับกุมอาวุธปืนสงคราม 1 กระบอก อาวุธปืน 66 กระบอก ระเบิดทำเอง 3 ลูก ยาเสพติด 267 ราย (ยาบ้า 127,471 เม็ด และยาไอซ์ 9,433 กรัม) โดยมีการจับกุมอาวุธปืนมากสุดในจังหวัดชุมพร จำนวน 16 กระบอก ตามมาด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 14 กระบอก

'ศพดส.ตร.' เปิดยุทธการ 'เรือมนุษย์' ค้น 6 จุด ทลายขบวนการค้ามนุษย์ เรือประมงนรก บังคับเสพยา-ทารุณ

(5 พ.ค.65)  พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.)

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.,รอง ผอ.ศพดส.ตร.,พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชไนาญ ผบก.ปคม. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคม. บก.ป. บก.รน. และ หน่วยงานอื่นๆในสังกัด บช.ก. เปิดยุทธการ “เรือมนุษย์” กระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 6 จุดในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ.จันทบุรี เพื่อกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาขบวนการค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานบนเรือประมง

สำหรับยุทธการดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 ประเทศมาเลเซียได้ส่งกลับแรงงานไทย จำนวน 44 คน จากการตรวจสอบ พบในจำนวนนี้มี 3 ราย ถูกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์แรงงานประมง จึงสืบสวนขยายผล จนพบว่ามีการทำกันเป็นกลุ่มขบวนการ โดยเริ่มตั้งแต่ กลุ่มนายหน้า จัดหาเหยื่อที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัดนั่งรถไฟเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ อ้างว่าจะพาไปทำงานได้รับค่าตอบแทนสูง ก่อนพาไปส่งต่อให้กับเจ้าของเรือประมงแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร โดยกลุ่มนายหน้าจะได้ค่าตอบแทน คิดเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อแรงงาน 1 คน

ต่อมาเจ้าของเรือประมง ก็จะนำแรงงานเหล่านี้ลงเรือประมงล่องออกสู่อ่าวไทย ก่อนแอบลักลอบออกนอกเขตน่านนำไทย เพื่อไปทำประมงในเขตน่านน้ำประเทศมาเลเซีย โดยระหว่างที่อยู่บนเรือก็จะมีไต๋ก๋งเรือ คอยควบคุมและบังคับให้แรงงานเหล่านี้ทำงานหนักเป็นเวลาต่อเนื่องติดต่อกัน ได้พักวันละไม่เกิน 4 ชม. พร้อมกับ นำยาเสพติดมาให้เสพจนติด เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองให้ยอมอยู่ในความควบคุม หากคนใดไม่ยอมทำตามก็จะถูกทำร้ายทุบตี ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จนนำมาสู่การเปิดยุทธการดังกล่าว

สำหรับการตรวจค้นจุดแรก ที่ จ.จันทบุรี ตำรวจ นำหมายค้นของ ศาลอาญา ที่ 327/2565 ลงวันที่ 3 พ.ค.2565  เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ที่ อ.แหลมสิงห์  จ.จันทบุรี  และจับกุมตัว  “ เสี่ย ส ”  อายุ  56 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 826/2565 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2565  ความผิดฐาน “ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปและสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานหรือให้บริการหรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะ ยินยอมหรือไม่ก็ตาม”สำหรับเสี่ย ส. เป็นญาติของนักการเมืองคนหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี

จุดต่อมา ที่ จ.สมุทรปราการ ตำรวจนำหมายค้นของศาลอาญา  เข้าตรวจค้น ท่าเทียบเรือ แห่งหนึ่งภายใน ซอย   8   (หลวงสุข)   ถนนท้ายบ้าน ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ        

จุดที่ 3 เข้าตรวจค้น บ้านหลังหนึ่ง หมู่ บ้านพนาสนธิ์ซิตี้   ถนนศรีนครินทร์   ต.บางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ , จุดที่ 4 ที่บริษัทแห่งหนึ่ง ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองสมุทรปราการ ,จุดที่ 5 ที่บ้านหลังหนึ่ง ต.บางเมือง อ.เมืองสมุทรปราการ เพื่อค้นหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์บนเรือประมง

จุดสุดท้าย ที่ จ.นนทบุรี ตำรวจนำหมายค้นของศาลอาญา  เข้าตรวจค้น บ้านหลังหนึ่ง ภายในหมู่บ้านนันทิชา 3 ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
และจับกุมตัว นางสาวเพ็ญศิริ  (สงวนนามสกุล)  อายุ43 ปี  ตามหมายจับของศาลอาญาที่815/2565  ลงวันที่ 27 เม.ย.2565  ในความผิดฐาน “ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปและ สมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่ สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จากการบังคับใช้แรงงานหรือให้บริการหรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามและได้กระทำผิดตามที่ตกลงกันไว้ ”

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เริ่มใช้ 1 มิถุนายน 2565 รวมถึงการรักษาสิทธิของประชาชนที่เป็นเจ้าข้องข้อมูลตามกฎหมาย

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนประชาสัมพันธ์ถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หากผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลพบการกระทำผิด การละเมิด หรือกระทบสิทธิตามกฎหมายก็สามารถดำเนินการทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครองตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2565 นี้ 

เนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก จนสร้างความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าว ทำได้ โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไปขึ้นมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เล็งเห็นถึงความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรมและเกิดประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาอาชญากรรมและดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงสาระสำคัญของกฎหมาย  โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็พร้อมที่จะบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยความเป็นธรรม เกิดประสิทธิภาพ สมกับเจตนารมณ์ที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ขึ้นมา

โดยกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ย่อมาจาก คำว่า Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) กฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ซึ่งได้เลื่อนให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 
กฎหมายฉบับนี้จะมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงได้สร้างมาตรฐานให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลในการเก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการใช้ข้อมูล หรือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และโทษทางปกครองหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้  มี 3 ประเด็นหลัก ดังนี้...
1.เจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอม (Consent) ในการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ผู้เก็บรวบรวม ผู้ใช้ แจ้งไว้ตั้งแต่แรกแล้วเท่านั้น กล่าวคือ ต้องขออนุมัติจากเจ้าของข้อมูลก่อน เช่น หากแอปพลิชันหนึ่งจะเก็บข้อมูลบัตรเครดิตของเราไว้ในระบบ ก็ต้องมีข้อความให้เรากดยืนยันเพื่อยินยอม พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม และการใช้ หากเราไม่ยินยอมให้ใช้ข้อมูลบัตรเครดิต ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันนั้นก็ไม่สามารถ  ใช้ข้อมูลบัตรเครดิตของเราได้ เป็นต้น

2.ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลต้องรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือถูกเข้าถึงโดยผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น สถานพยาบาลจะต้องเก็บข้อมูลของผู้ป่วยให้เป็นความลับและไม่เปิดเผยให้กับผู้อื่น ธนาคารต้องเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น

3.เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์การขอเข้าถึง การโอน การแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในการขอให้ลบหรือทำลายข้อมูลหรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตน เป็นต้น

หากมีการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบฯ ก็จะมีความผิดตาม มาตรา 79 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรโดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตามมาตรา 79 วรรคสอง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  อีกทั้งหากล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่น ตามมาตรา 80 วรรคหนึ่ง  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงมีความผิดในทางปกครอง ตามมาตรา 82-90 โดยมีโทษปรับทางปกครอง 500,000 – 5,000,000 บาท อีกทั้งผู้เสียหายอาจใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งหรือความผิดตามกฎหมายอื่นได้อีกด้วย

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ส.ค.ส.) มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานในการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงให้ความรู้และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปให้มีความเข้าใจและสามารถรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอย่างปลอดภัย อีกส่วนคือ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนเมื่อมีการละเมิด ตรวจสอบผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่าง ๆ  

ขอฝากให้ประชาชนศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์และสิทธิของตัวท่านในฐานะบุคคลทั่วไปหรือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนจะให้ข้อมูลสำคัญ ควรมีการเก็บบันทึกเป็นหลักฐานไว้ หรือมีการขอสำเนาของเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อพบว่าข้อมูลส่วนบุคคลได้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จะได้ใช้เป็นหลักฐานในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือใช้ในการดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย 

รวมถึงฝากเตือนการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่เว็บไซต์/แอปพลิเคชัน ที่มีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เช่น การทำงานของเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน จะเชื่อมต่อระบบสมาชิกกับเฟซบุ๊ก มีการขอชื่ออีเมลและรายชื่อเพื่อนในเฟซบุ๊กของเรา หากเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องให้ข้อมูลก็สามารถคลิกเพื่อไม่ยินยอม  ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองข้อมูลของตนเองด้วยอีกส่วนหนึ่ง ไม่ควรรีบยินยอมหรือให้เข้าถึงข้อมูลโดยที่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของขอบเขตการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้ชัดเจนเสียก่อน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงสมัครเป็นสมาชิกสำนักงานแห่งหนึ่ง อ้างมีสิทธิพิเศษต่างๆ หลอกลวงเรียกค่าสมัครและค่าอื่นๆ ในหลายพื้นที่

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเตือนภัยตามกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอ แก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงสมัครเป็นสมาชิกสำนักงานแห่งหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นมาเอง อ้างมีสิทธิพิเศษต่างๆ โดยเรียกเก็บค่าสมัครและค่าอื่นๆ มีประชาชนที่ได้รับความเสียหาย มูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท

จากกรณีดังกล่าวมีประชาชนในพื้นที่ จว.บุรีรัมย์ ได้เข้าแจ้งความกับ พนักงานสอบสวน สภ.พุทไธสง จว.บุรีรัมย์ เมื่อเดือน ธ.ค.64 เพื่อดำเนินคดีกับแก๊งมิจฉาชีพที่ได้หลอกลวงให้ได้รับความเสียหายรวมมูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท จากนั้นพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องและได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาในคดีทราบจำนวน 3 ราย ในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน  และได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีและผู้ต้องหาไปยัง พนักงานอัยการ จว.บุรีรัมย์ ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.64 เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว โดยมีพฤติการณ์แห่งคดีมิจฉาชีพได้หลอกลวงให้ผู้เสียหายสมัครสมาชิกสำนักงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ชัยบาดาล จว.ลพบุรี ซึ่งตั้งขึ้นมาเอง พร้อมอ้างว่าจะได้รับการช่วยเหลือ มีสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งผู้สมัครจะต้องเสียค่าสมัครรายละ 1,500 บาท ค่าตัดชุดประจำตำแหน่งชุดละ 1,800 บาท ค่าบัตรสมาชิก 200 บาท รวมถึงอ้างว่าจะได้เงินเดือนๆละ 5,000 บาท หากเสียชีวิตก็จะมีค่าปลงศพให้สมาชิกอีกรายละ 60,000 บาท  ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อไปสมัครเป็นจำนวนหลายราย สร้างความเสียหายห้วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส 

ในทางคดีขณะนี้ทางสำนักงานอัยการ จว.บุรีรัมย์ ได้มีหนังสือให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนประเด็นในคดีเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาของทางอัยการ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยถึงปัญหาและภัยจากการหลอกลวงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงผ่านรูปแบบสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเกิดเสียหายได้อย่างรวดเร็ว เป็นวงกว้าง จึงกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงแนวทางป้องกัน หากมีการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลโดยได้สั่งการและกำชับไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ให้สร้างการรับรู้ถึงภัยการหลอกลวงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้ทำการสืบสวนสอบสวน ปราบปรามอาชญากรรม กลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงขยายผลไปยังเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม การหลอกลวงลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการตอกย้ำพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หากมีการชักชวนผ่าน  สื่อสังคมออนไลน์ยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากเตือนภัยประชาชน ขอให้ตรวจสอบข้อมูลลักษณะดังกล่าวให้ดี โดยปกติแล้วจะไม่มีองค์กรที่ดำเนินการในลักษณะนี้ ที่อ้างว่าจะให้ความช่วยเหลือไม่ให้ถูกจับกุมเมื่อกระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีอยู่จริง รวมถึงขอฝากแนวทางการหลีกเลี่ยงป้องกันการถูกหลอกลวงจากแก๊งมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ อาทิ การฉ้อโกง การหลอกลวงให้ลงทุน โดยเฉพาะกรณีที่หลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ดี หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้หรือมีเงื่อนไขในลักษณะที่ได้ผลตอบแทนสูง ง่าย ไม่ซับซ้อน  หากได้รับความเสียหายให้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง สลิปการโอนเงิน ข้อมูลการติดต่อ ทั้งภาพนิ่งหรือคลิปวีดีโอ เพื่อแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

"รองฯรอย"สั่งการ ทีม ปส. เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ทำลาย 3 เครือข่ายยาเสพติด 9 จังหวัด ตรวจค้น 38 จุด ยึดทรัพย์กว่าร้อยล้านบาท

ที่จังหวัดสระบุรี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.ปส.ตร. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติ เร่งสืบสวนขยายผลผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ เพื่อทำลายเครือข่ายยาเสพติดและยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่ง พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะ รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร., พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส. จึงได้สั่งการให้ บช.ปส. เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่ 9 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ,สระบุรี, ลพบุรี, สมุทรปราการ, นนทบุรี, ชลบุรี, อยุธยา, นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวม 38 จุด โดยให้กวาดล้างจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่และกวาดล้างยาเสพติดที่แพร่ระบาดในแหล่งชุมชน รวมทั้งพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง และยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดำเนินการตามมาตรการยึดทรัพย์ตามกฎหมายต่อไป

ซึ่งกรณีนี้ พล.ต.ต.ธนรัชน์ สอนกล้า ผบก.ปส.2, พล.ต.ต.วิวัฒน์ สีลาเขต ผบก.ขส. และพล.ต.ต.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผบก.ปส.4 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด บก.ปส.2 , บก.ขส. และ บก.ปส.4ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และหน่วยข่าวกรองทหาร ศูนย์ปฏิบัติการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้ร่วมกันปิดล้อม ตรวจค้น ใน 9 จังหวัด รวม 38 จุด โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน ดังนี้(1) น.ส.สุทธิตา สิงห์เคน อายุ 32 ปี บ้านเลขที่ 58 ม.5 ต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 242/2565 ลง 4 เม.ย.65 ข้อหา สนับสนุนช่วยเหลือ , สมคบฟอกเงิน(2) น.ส.กมล ไชยฤกษ์ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27/3 ม.3 ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดเวียงสระ ที่ 26/2565 ลง 10 ก.พ.65 ข้อหาสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน(3) นายพงษ์พันธ์ ทิพย์เกิด อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 19/8 ม.2 ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดเวียงสระ ที่ 25/2565 ลงวันที่ 10 ก.พ.65 ข้อหาสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน

พร้อมด้วยยาเสพติดของกลาง ยาบ้า 5 กระสอบ ประมาณ 1,900,000 เม็ด , ยาอี ประมาณ 50,000 เม็ดและยึดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบ ได้แก่ บ้านและสิ่งปลูกสร้าง 6 หลัง , รถยนต์ 25 คัน , จยย. 17 คัน , อาวุธปั่น 2กระบอก , กระเป๋าแบรนด์เนม , เงินสดในบัญชีธนาคาร , เครื่องประดับ รวมทั้งสิ้นมูลค่าประมาณ 108 ล้านบาท

การจับกุมนางสุทธิตา(ผู้ต้องหาลำดับที่ 1) บก.ปส.2 ได้สืบสวนติดตามเครือข่ายขนยาเสพติดจากแนวชายแดนโดยขนผ่าน จ.เลย เข้าสู่พื้นที่ส่วนกลาง โดยมีการจับกุม น.ส.สุทธิตา สิงห์เคน (ผู้ต้องหา ลำดับที่ 1) สืบเนื่องจาก บก.ปส.2 บช.ปส. ได้จับกุมขบวนการขนยาบ้ารายใหญ่ ซึ่งขนยาบ้าจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านมุ่งหน้าสู่พื้นที่ชั้นใน โดยจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาบ้า 12 ล้านเม็ด ได้ที่ อ.ภูกระดึง จ.เลย และขยายผลจับกุมเคตามีน 51 กก. ไอซ์ 516 กก. และรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติออกหมายจับ น.ส.สุทธิตา กับพวกซึ่งเป็นผู้ร่วมขบวนการนี้ ต่อมาวันที่ 28 เม.ย.65 บช.ปส. ได้เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจคันกวาดล้างจับกุมขบวนการยาเสพติด และสามารถจับกุม สุทธิตา สิงห์เคน ได้ขณะปิดล้อมตรวจคันที่บ้านเลขที่ 32/3 ต.พระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี จากนั้น ได้ติดตามไปตรวจค้นและยึดทรัพย์ผูเกี่ยวข้องในเครือข่ายนี้หลายรายการ ได้แก่ บ้านและสิ่งปลูกสร้าง ร้านค้ารถยนต์ รถจักรยานยนต์เงินสดในบัญชี กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องประดับ รวมมูลค่าประมาณ 90.9 ล้านบาท

จากการสืบสวนหาข่าวเพื่อเปิดปฏิบัติการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบความเคลื่อนไหวของขบวนการขนยาเสพติดจากแนวชายแดน ผ่าน จ.เลย จะขนยาเสพติดล็อตใหญ่เข้าสู่ส่วนกลางอีก โดยสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 เม.ย.65เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปส.2 และ บก.ขส. ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา พร้อมยาบ้าจำนวน 6 ล้านเม็ด ที่บริเวณตลาดไท อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกันกับที่ขนยาเสพติดจากแนวชายแดน ผ่านมาทาง จ.เลย การจับกุมดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้รับจ้างขนยาเสพติดไม่ได้ค่าจ้างในครั้งก่อน จึงจะทำการ "ซ่อมงาน" คือขนลงมาใหม่ อีกครั้ง โดยจะมีการขนยาเสพติดจากแนวชายแดน ผ่าน จ.เลย ลงมาสู่ส่วนกลางเหมือนเคย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้วางแผนจับกุม 

จนต่อมา เมื่อวันที่ 26 เม.ย.65 เวลาประมาณ 08.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปส.2 และ บก.ขส. ได้ร่วมกันจับกุม นายไตรภพ ยอโง้กับพวกรวม 5 คน ได้พร้อมยาบ้า 5 กระสอบ (จำนวน 1.9 ล้านเม็ด) ยาอี 50,000 เม็ด และรถยนต์ 3 คัน ได้ที่ ม.6 ต.โพสะ อ.เมือง จ.อ่างทอง นำส่งพนักงานสอบสวน บก.ปส.2 ดำเนินคดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top