Saturday, 10 May 2025
ภาคกลางไทม์

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือ ร่วมจิตอาสา ศิลปิน และอส.ภาคประชาชน อัญเชิญสิ่งของพระราชทาน มอบผู้นำชุมชนส่งให้ ปชช.ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

พลเรือตรี พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ร่วมกับศิลปิน ฝันเด่น จรรยาธนากร อาสาสมัครภาคประชาชน กลุ่มใจถึงใจคนไทยไม่ทิ้งกัน อัญเชิญเจลล้างมือพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำอาหารกล่อง น้ำดื่ม จำนวน 1,400 ชุด มอบให้กับผู้นำชุมชนในพื้นที่ เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี กรุงเทพฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ นันทอุทยานสโมสร ฐานทัพเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2564 เวลา 11.00 น.     

และในวันเดียวกันช่วงเวลา 12.00 น. พลเรือตรี พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ อัญเชิญเจลล้างมือพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำอาหารกล่อง เครื่องอุปโภค บริโภค จำนวน 300 ชุด มอบให้กับผู้นำชุมชนมัสยิดสวนพลู เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ  มัสยิดสวนพลู เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

สำหรับกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล โดยตั้งครัวสนามเคลื่อนที่แจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 นี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคล ห้วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564

กองทัพเรือ จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดย กองทัพเรือ ได้จัดรถครัวสนาม เพื่อจัดทำอาหารกล่อง และน้ำดื่ม ร่วมกับสมาคมภริยาทหารเรือ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สนับสนุนสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค นำไปมอบให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยงานของกองทัพเรือ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ของทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564


ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

สุโขทัย - วิทยาลัยเกษตรสุโขทัย ติวเกษตรยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาผลผลิตยั่งยืน

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้ดำเนินโครงการอบรมพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะปลูก ณ ห้องประชุมอาคาร 8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวว่าโครงการนี้ เป็นแนวคิดของคณะผู้บริหารและครูผู้สอน ในการต้องการเสริมการทำเกษตรแบบดั่งเดิมเพื่อต่อยอดทักษะและความรู้สู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างองค์ความรู้ ขยายผลสู่นักเรียน นักศึกษา และชุมชนให้มีคุณภาพสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ การเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก 

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เป็นวิทยาลัยเกษตร หรือโรงเรียนที่ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดสุโขทัย ในการประกวดโครงการต่าง ๆ ของภาคเกษตรระดับประเทศ ที่เน้นการทางเกษตรอินทรีย์ และต้องการต่อยอดเทคโนโลยี 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการเพาะปลูก มาผสมผสานกับการเกษตรแบบดั่งเดิม และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน นักเรียน นักศึกษา แก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะขาดทุน และการใช้สารเคมีในการปลูกพืชทำให้เกิดสารพิษจากการสัมผัสโดยตรงมากเกินไปของเกษตรกร ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาประชาชนเป็นโรคต่าง ๆ

ดังนั้นจึงมอบหมายให้ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ทดลองฝึกใช้ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก และแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุด ที่นักเรียน นักศึกษา ยอมรับและเต็มใจ เห็นด้วยจากความคิดที่ได้นำมาทดลอง และแลกเปลี่ยนความคิดกัน เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ และการใช้แรงงาน ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา 

ดังนั้นทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย จึงเห็นถึงความสำคัญนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูกในปัจจุบัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ ในการศึกษาผลิตการเป็นผู้ผลิตพืชผัก ผลไม้ และเกษตกรรมด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะวิชาการ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานเป็นทีม มีทักษะการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยียุค 4.0 ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น พึ่งพาตนเองได้ ลดการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง เด็กรักถิ่นเกิดของตนเองเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ และจังหวัดสุโขทัย และสามารถสร้างอาชีพได้อย่างแท้จริง

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวเพิ่มเติมว่าวัตถุประสงค์ มุ่งสร้างให้เยาวชนเป็นเด็กเก่งและเด็กดี ของสังคมและประเทศชาติ โดยเน้นพัฒนาด้านทักษะและสมรรถนะมากขึ้น เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเรียนรู้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และต่อยอดสู่อาชีพ การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตนักเรียน นักศึกษา และอาชีพที่เติบโต  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษารู้เครื่องมือใช้งาน อุปกรณ์ควบคุม และการเขียนโปรแกรม ควบคุมอุปกรณ์เทคโนโลยีสุโขทัย

ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถต่อยอดความรู้ไปสู่นวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนารูปแบบวิธีการเดิม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถนำนวัตกรรมไปสู่ชุมชน ต่อยอดให้ความรู้แก่ชุมชนยั่งยืนได้


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

กรุงเทพฯ - “มูลนิธิมาดามแป้ง” มอบชุดตรวจ Antigen Test Kit แก่ รพ.รามาธิบดี เพื่อหนุน Community Isolation แบ่งเบาแพทย์ พยาบาล

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 “มูลนิธิมาดามแป้ง” โดย “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ซีอีโอ บมจ.เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิ ขอร่วมแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองประชาชน และลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการมอบชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 3,000 ชุด มูลค่ากว่า 1,000,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งต่อไปยังประชาชนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนภารกิจ Community Isolation ของโรงพยาบาล

ด้านมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวว่า “ในสถานการณ์อันยากลำบากนี้ มูลนิธิมาดามแป้งพยายามบูรณาการการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ ซึ่งพบว่าปัญหาหลักในปัจจุบัน คือผู้มีความเสี่ยงสูงมีจำนวนมากกว่าศูนย์บริการตรวจ RT-PCR จะรองรับได้ ส่งผลให้ยังไม่ได้รับการตรวจ นั่นอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อมากขึ้นด้วย”

“การอนุมัติใช้ Antigen Test Kit ตรวจด้วยตัวเองได้ จะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุดตอนนี้ มูลนิธิมาดามแป้ง ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนน้ำใจจากการบริจาคของประชาชน จึงขอร่วมสนับสนุนชุดตรวจแก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อโครงการ Community Isolation เราเชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบางานของคุณหมอ พยาบาล อาสาสมัคร ที่ทำงานหนักมาตลอด อีกทั้งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบัน ลดโอกาสติด ปิดความเสี่ยงจากการออกนอกบ้านอีกด้วย” นางนวลพรรณ กล่าวเพิ่มเติม

มูลนิธิมาดามแป้ง ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในยามวิกฤตของสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิกฤตนี้จะผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว

ปทุมธานี – บิ๊กแจ๊ส ร่วมชลประทาน เร่งขุดป่าไมยราบยักษ์กลางคลองหนองเสือ

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 15:00 น. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายเสวก ประเสริฐสุข รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และคณะผู้บริหาร นายสุริยา ธรรมธารา (สจ)เขต1หนองเสือและ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ สำนักงานชลประทานที่ 11 พร้อมคณะและเครื่องมือหนักกับ เรือโป๊ะบรรทุกรถ แม็คโฮบูมยาวสองคันในการตัดต้นไมยราบยักษ์และขุดลอกคลอง ที่กลางคลองแม่น้ำใน ตำบลศาลาครุ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

เนื่องจากคลองแม่น้ำใน เป็นคลองที่เชื่อมต่อ ตำบลศาลาครุ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ระหว่าง กับ ตำบลหนองหมู อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และอำเภอบ้านนา อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ถูกปล่อยทิ้งร้างมีสภาพตื้นเขินจนมีสภาพเป็นป่าต้นไมยราบยักษ์ขึ้นเต็มคลอง ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ รวมถึงขวางทางน้ำ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี จึงได้ประสาน ไปที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และกรมชลประทาน เพื่อนำเครื่องจักรขุดลอกคลองกำจัดวัชพืชในคลอง

ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการกำชับให้กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล เข้ามาแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นนโยบาย ของรัฐมนตรี ที่ต้องแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งหากประชาชนได้ความความเดือดร้อนสามารถแจ้งได้ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีเพื่อประสานดำเนินการแก้ไขทางสำนักชลประทาน รังสิตเหนือ ก็ยินดีมาช่วยดำเนินการอย่างเร่งด่วนซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราต้องดูแลอยู่แล้ว

ส่วน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนโดยให้ความสนใจ ว่ามีป่าต้นไมยราบยักษ์ขึ้นเต็มคลองซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นคลองต่อระหว่าง 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ปทุมธานี จ.สระบุรี และจ.นครนายก ซึ่งสระบุรีร่วมกับชลประทานได้ดำเนินการลอกคลองมาแล้ว จนมาจบกับสะพานข้ามคลองแม่น้ำใน จนมาถึงจุดนี้มี่ ลำคลองตื้นเขินและมีต้นไมยราบยักษ์เกิดขึ้นเป็นระยะทาง 4.5 กิโลเมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและชาวเกษตรกร ผมได้ลงพื้นที่มาดูและได้ประสานไปที่กรมชลประทาน และต้องขอขอบคุณ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อรับทราบข้อมูลก็ได้ประสานไปยังกรมชลประทาน ให้ลงมาดำเนินแก้ไขอย่างเร่งด่วนซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีเพียงสองวันก็สามารถนำเครื่องมือหนักเริ่มลงทำงานได้ จากการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานคาดว่าประมาณสองเดือนคงแล้วเสร็จจากนั้นทาง อบจ.ปทุมธานีจะดูแลต่อให้ลำคลองสะอาดและไม่ตื้นเขินต่อไป


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

ปทุมธานี – ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ตรวจสถานที่ทำ รพ.สนามเพิ่มที่คลองหลวง

นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยนายเอกพจน์ ปานแย้ม นายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง ทีมบริหารและแพทย์จาก รพ.การุณเวช ได้เข้าตรวจสถานที่ทำ รพ.สนาม ณ อาคารโดม ส.สโมสรเอนกประสงค์ อนุกูลธัญกิจ ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จำนวน 208 เตียง เพื่อช่วยเหลือกันในยามที่คนไทยกำลังทุกข์ยาก จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้เตียงของ รพ. และของรพ.สนาม ไม่เพียงพอหลายหน่วยงานของภาครัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ระดมทั้งแรงกายแรงใจ จัดหาสถานที่เพื่อทำรพ.สนาม ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนลดการสุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อภายในครอบครัว เป็นการตัดวงจรของการแพร่เชื้อในระดับหนึ่ง

นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม กล่าวว่า รพ.สนามแห่งนี้รับผู้ป่วยที่เป็นสีเขียวที่จะให้พี่น้องประชาชนมีที่พักเนื่องจากผู้ป่วยสีเขียวบางที่ก็กักตัวที่บ้าน Home Isolation ไม่ได้ เช่น บ้านอยู่กันหลายคน เทศบาลเมืองคลองหลวงร่วมกับโรงพยาบาลการุณเวช มาดูแลผู้ป่วย วันนี้ได้มาดูสถานที่ซึ่งทุกอย่างทำได้ดี ระบบทุกอย่างทำได้ดีพร้อมรับคำแนะนำจากพี่น้องประชาชน  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ติดเชื้อโควิด รวมทั้งทำความสบายใจให้กับพี่น้องประชาชนรอบ ๆ ข้าง


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

สุโขทัย - ติดโบว์ประกวดภาพถ่าย "สุโขทัยเมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and folk art)" ภาพสวยในแดนรุ่งอรุณแห่งความสุข

วันนี้ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย นางศศิธร  สุดเจริญ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายกสมาคมสื่อฯ ช่างภาพอาวุโส ประธานชมรมช่างภาพฯ ตัวแทนหน่วยงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาคัดเลือกภาพเพื่อตัดสินภาพที่จะได้รับรางวัลในกิจกรรมการประกวดภาพถ่าย "สุโขทัยเมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and folk art)" ภายใตัโครงการพัฒนาจังหวัดสุโขทัยมุ่งสู่จังหวัดนวัตกรรมและสร้างสรรค์ (Creative City)

และจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายที่รับรางวัลและภาพที่ได้รับความสนใจ มีจุดเด่น ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชมได้ชมความสวยของภาพถ่าย ณ จุดแสดงภาพถ่าย ตามกำหนดวันและเวลาให้ทราบอีกครั้งในจังหวัดสุโขทัย

โดยกิจกรรมครั้งนี้มีผู้ส่งภาพเข้าประกวดจำนวน 26 คน จากช่างภาพมืออาชีพและสมัครเล่น และผู้ที่ชื่นชอบในการถ่ายภาพในจังหวัดสุโขทัย และจากต่างจังหวัดทั้งจังหวัดสุรินทร์ ,กาฬสินธุ์ ,อุดรธานี ,ชัยภูมิ ,เชียงใหม่ ,นนทบุรี ,พิจิตร ,พิษณุโลก ,กรุงเทพ มีอายุระหว่าง ได้รับความสนใจจากหลายวัย ตั้งแต่อายุ 19 ปี ในระดับเยาวชนถือว่ากิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น รวมถึงวัยเกษียณในวัย 63 ปี ผู้ส่งภาพประกวดมีทั้งชายและหญิง ประกอบอาชีพ ช่างภาพอิสระ ข้าราชการ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ครู มัคคุเทศก์ ค้าขาย พนักงานบริษัท รับจ้างและนักเรียนนักศึกษา มีจำนวนภาพที่ส่งถึงสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัยเพื่อคัดและทำการประกวดทั้งสิ้น 151 ภาพ

ผลการประกวดมีดังนี้

   1. รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 20,000.- บาท พร้อมโล่รางวัล

     ชื่อภาพ เส้นสายลายศิลป์ ของ นายเสกสรร เสาวรส

  2. รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 15,000.- บาท พร้อมโล่รางวัล

     ชื่อภาพ ปั้นเครื่องสังคโลกภูมิปัญญาที่ล้ำค่า ของดีศรีสัชนาลัย ของ นางสาวจิรา ชุมศรี

 3. รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 10,000.- บาท พร้อมโล่รางวัล

     ชื่อภาพ อวดลวดลายผ้าตีนจก ของ  นายทศพร สหกูล

 4. รางวัลชมเชย พร้อมเกียรติบัตร จำนวน 3 รางวัลๆ ละ 3,000.- บาท

     ชื่อภาพ จำตาสอนไว้ นกคุ้มสุโขทัย คุ้มภัยลูกหลานร่มเย็น ของ นายนครินทร์ เขื่อนเพชร

     ชื่อภาพ เรือนไทยจำลอง(ใหญ่)  ของ นายชนินทร์ แซ่ฟุ้ง

     ชื่อภาพ รักษาศิลปะวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ ของ นายณภัทร ศรีนามฉ่ำ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย 055612286


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

พิจิตร - ผู้ว่าฯพิจิตร ไฟเขียวตั้งโรงพยาบาลสนาม ล่าสุดวันนี้เมืองชาละวันพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม

นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร มอบให้ นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าฯพิจิตร , ดร.ธานี  โชติกคาม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร , นายสุบิน ศรีบุศกร รองนายก อบจ.พิจิตร และ นายชินนาอาชว์  รสิอัครศักดิ์  นายอำเภอบึงนาราง ให้ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของการสร้างโรงพยาบาลสนามที่ รพ.บึงนาราง ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างเพิงพักชั่วคราวให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิดที่เดินทางมาจาก กทม. และจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราวเพื่อรอการตรวจและส่งต่อเข้ารับการรักษา ซึ่งเป็นอาคารเพิงพักคล้ายกับแคมป์คนงานก่อสร้างทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า สภาพความเป็นอยู่ดูแร้นแค้น จากนั้น นายรังสรรค์ ผู้ว่าฯพิจิตร จึงได้สั่งการและจัดหางบประมาณให้สร้างเป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 38 เตียง มีโครงสร้างเป็นมตรฐานเป็นอาคารติดแอร์ ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นรวมถึงผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการ

นอกจากนี้ นายรังสรรค์ ผู้ว่าฯพิจิตร ยังได้สั่งการให้อีก 10 อำเภอ ดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามและเพิ่มเตียงอีกรวม 478 เตียง ซึ่งประกอบไปด้วย รพ.สนาม ที่ อ.ตะพานหิน อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.สามง่าม อ.บางมูลนาก อำเภอละ 50 เตียง , อ.บึงนาราง อ.ทับคล้อ อำเภอละ 40 เตียง ,อ.วชิรบารมี อ.ดงเจริญ อำเภอละ 20 เตียง , อ.วังทรายพูน 30 เตียง , อ.สากเหล็ก 38 เตียง เพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโควิด ที่มีทั้งเดินทางมาจาก กทม.และจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุดที่ประกาศล็อกดาวน์  รวมถึงประชากรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ที่ติดเชื้อกันเอง

ล่าสุดของสถานการณ์พิจิตรวันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 58 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดพิจิตร 28 ราย และผู้ติดเชื้อโควิดที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่น ๆ 30 ราย ทำให้วันนี้มีผู้ป่วยขอเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างรวม 275 ราย ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสม 432 ราย และต้องรอลุ้นกลุ่มเสี่ยงที่กำลังรอผลตรวจอีก 437 ราย ซึ่งวันนี้พบว่ามีคลัสเตอร์ใหญ่เป็นโรงงานทำรองเท้าอยู่ที่ ต.ทะนง อ.โพทะเล เหตุเกิดจากมีพนักงานติดเชื้อโควิดแล้วแพร่ระบาดไปยังเพื่อนพนักงานด้วยกันรวมถึงชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นด้วย ซึ่งวันนี้ รพ.โพทะเลได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์เข้าทำการ Swab หาเชื้อเชิงรุก ซึ่งคาดว่าพรุ่งนี้ก็จะรู้ผลว่ามีผู้ติดเชื้อหรือไม่มากน้อยเพียงใด


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

สุโขทัย – ไม่ทอดทิ้ง อบจ.สุโขทัย ร่วมใจธอส. ส่งมอบบ้านให้แก่ผู้ด้อยโอกาส อยู่ดีมีสุข

นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย พร้อมด้วยนายสมพร นกหงส์ สมาชิกสภา อบจ.สุโขทัย อ.เมืองสุโขทัย เขต 4 นางกิตติพร ชุ่มชื่น ผอ.กองพัสดุและทรัพย์สิน และบุคลากรในสังกัด อบจ.สุโขทัย ร่วมพิธีส่งมอบบ้าน ตามโครงการ “สร้าง ซ่อม ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ” ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยประจำปี 2564

โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนงบประมาณจำนวน 204,000 บาท และ อบจ.สุโขทัย เป็นผู้ประสานงานในการก่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยตามโครงการดังกล่าว ให้แก่ นางแฉล้ม อาจวง เนื่องจากบ้านพักอาศัยเดิมมีสภาพเก่าทรุดโทรม อยู่กันหลายคน และไม่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยง และไม่คุ้มแดด ลม และฝน เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายคนในครอบครัวได้ และสุขภาพจิตวิตกกังวนของคนในครอบครัว ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย(อบจ.สุโขทัย) โดยนายมนู พุกประเสริฐนายก อบจ.หลังได้ทราบข้อมูลจากพื้นที่ จึงได้ดำเนินการประสานไปยัง ธนาคาร ธอส. เพื่อให้ความช่วยเหลือร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวนี้ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส ที่มีข้อมูล เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย สุขลักษณะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ณ หมู่12 ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย เมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สมุทรปราการ - ดับอดีตเซียนพระ เหยื่อโควิด !! เจ้าอาวาส เผย สงสารและเป็นห่วงประชาชน

ที่วัดบางพลีใหญ่กลาง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ประกอบพิธีฌาปนกิจศพให้ผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 โดยมีข้าราชการตำรวจ พยาบาล และญาติผู้เสียชีวิตร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแบบ New normal

โดยท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง กล่าวว่า วัดได้รับฌาปณกิจศพเหยื่อโควิดมาหลายศพแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 64 ซึ่งขณะนี้ทางวัดบางพลีใหญ่กลางได้เผาศพเหยื่อโควิด-19 ไปแล้วรวม 36 ราย และรู้สึกมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกคนรวมถึงสงสารครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้ประกอบพิธีทำบุญทักษิณานุปทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19

อีกทั้งขณะนี้ทางวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้สั่งให้ทางคณะเจ้าหน้าที่วัดช่วยกันแพคข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึงของใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ มากมายเพื่อเตรียมไปบริจาคให้กับผู้ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และนำไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียง คนพิการในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เตาเผาศพที่ใช้เผาศพโควิดอาจมีการเสื่อมสภาพได้เพราะต้องใช้ความร้อนสูงมากและเผาอยู่ตลอดแทบทุกวันก็อาจมีการเสื่อมสภาพได้เป็นธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ทางวัดจะอนุเคราะห์เผาศพโควิดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าเตาเผานั้นจะแตก หรือจนกว่าจะไม่สามารถเผาต่อได้ ขณะนี้วัดบางพลีใหญ่กลาง มีญาติผู้เสียชีวิตเข้ามาติดต่อขอให้ทางวัดช่วยเผาศพโควิด และมีคิวจองเผาศพโควิด-19  อยู่อีกหลายราย ทางวัดก็มีความยินดีรับอนุเคราะห์ทุกราย  แต่ทางวัดบางพลีใหญ่กลางจะไม่รับฌาปนกิจศพเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น   


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ  รายงาน

ปทุมธานี – ผู้ว่าฯ ร่วมกับบิ๊กแจ๊ส เปิดโรงพยาบาลสนามวิทยาลัยการอาชีวะ 450 เตียง

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:00 น. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเปิดโรงพยาบาลสนาม 450 เตียง รองรับประชาชนที่ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโร่นา 2019 (COVID-19) ที่ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ตำบลบางพูน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 13,105 ราย รักษาหายแล้วจำนวน 6,077 ราย อยู่ระหว่างการรักษาจำนวน 6,945 ราย ทำให้จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลภาครัฐและโรงพยาบาลสนามมีไม่เพียงพอจึงทำให้ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านอยู่ระหว่างรอเตียงจำนวนมากกว่า 2,500 ราย ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี จึงมอบหมายให้ องค์การบริหารส่วยจังหวัดปทุมธานี และวิทยาลัยการอาชีวะ บางพูน เปิดโรงพยาบาลสนามจำนวน 450 เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จาก โรงพยาบาลปทุมธานี ดูแลผู้ติดเชื้อ

ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ได้เฝ้าระวังแล้วก็ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นภาพรวมที่ทุกคนต้องร่วมมือกันในการทำงาน รวมถึงการเตรียมทำงานในชุมชน โดยทุกอำเภอจะมีสถานที่พักคอยเพื่อรอเตียง มีบุคลากรทางการแพทย์และทุกภาคส่วนเข้าไปดูแลพี่น้องประชาชน มีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ในสถานการ์เช่นนี้เป็นกำลังให้กันและกัน ให้บุคลากรทุกภาคส่วนได้ช่วยกันทำงานและทุกท่าน


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top