Monday, 20 May 2024
นอร์ทไทม์

ยะลา - เร่งตรวจ SWAB เชิงรุก ค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มในพื้นที่อัยเยอร์เวง

ศอ.บต. ร่วมกับ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 สงชลา และ โรงพยาบาลเบตง สาธารณสุขอำเภอเบตง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอัยเยอร์เวง ออกทำการตรวจ SWAB ประชาชนในพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง ทั้ง 11 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง และกลุ่มเสี่ยงต่ำ เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม หลังพบในพื้นที่ตำบลอัยเยอณ์เวง 35 คนรอผลตรวจ 80 ราย

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่โรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง นายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง และบุคลากรโรงพยาบาลเบตง บุคลากรสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 สงชลา บุคลากรสาธารณสุขอำเภอเบตง และ พ.ต.อ.วงศกร เหมือนเขียว ผกก.สภ.อัยเยอร์เวง พร้อมกำลัง ลงพื้นที่ ทำการตรวจ SWAB ประชาชนในพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง ทั้ง 11 หมู่บ้าน และทำการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน กลุ่มหมู่บ้าน เพื่อทำการค้นหาและคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ต.อัยเยอร์เวง หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ใน อ.เบตง เพิ่มขึ้นเป็น 57 ราย เฉพาะในพื้นที่ของหมู่ 2 ต.อัยเยอร์เวง จำนวน 35 ราย

เลขาธิการ ศอ.บต. เผยถึงความห่วงใยต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ว่า จชต. เป็นพื้นที่พิเศษแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ มีปัจจัยต่อการระบาดหลายช่องทาง อาทิ การรวมตัวของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่เสมือนครอบครัว เทศกาลทางศาสนา และสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม รับทราบถึงความเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนัก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จึงมาเยี่ยมเพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วน เพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือ พี่น้องประชาชน จชต.

ด้านนายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผอ.โรงพยาบาล อ.เบตง เผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่มีสาเหตุมาจากการกลับบ้านเกิดเพื่อเยี่ยมญาติในต่างอำเภอและต่างจังหวัด พร้อมกับกิจกรรมทางศาสนาที่จังหวัดยะลา ซึ่งพบการระบาดเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องทำการตรวจเชิงรุกทุกพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียน เทศกาลวันฮารีรายอในวันที่  20-23 กรกฎาคม และช่วงฤดูผลผลิตทุเรียน ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางจากต่างพื้นที่เข้ามารับซื้อทุเรียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ของทุกปี จะมีฝนตกชุกในพื้นที่จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดที่รุนแรงของโรคได้

นอกจากนี้ยังมีประชาชนในกลุ่มหมู่บ้านอื่น ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ได้เข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก ทั้งตำบล รวม 841 ราย มีผู้รับการตรวจคัดกรองแล้วในวันนี้ 500 คน ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลจากห้องแล็ปภายใน 1-2 วัน ทั้งนี้ สำหรับประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ารับ บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 (SWAB) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ จุดตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในพื้นที่อัยเยอร์เวง จำนวน 500 คนต่อวัน


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง

แม่ฮ่องสอน - นพค.36 ส่งมอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบนำหลักทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์สู่ “ โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชน

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน รับมอบบ่อกักเก็บน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ของนายประเสริฐ จันทร์โอภาส บ้านกลาง หมู่ 7 ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการปรับพื้นที่และขุดบ่อกักเก็บน้ำ สำหรับแปลงพื้นที่ของนายประเสริฐ จันทร์โอภาส เป็นแปลง CLM พื้นที่ขนาด 15 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ กับกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการปรับพื้นที่โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 และขุดบ่อกักเก็บน้ำจำนวน 5 บ่อ และขุดคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการปรับพื้นที่แล้วจะได้มีการเอามื้อสามัคคีในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการโคก หนอง นา โมเดล โดยพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เข้าดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้ง 7 อำเภอ  25 ตำบล 103 หมู่บ้าน แบ่งเป็นขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 3 ไร่ จำนวน 99 แปลง และพื้นที่ 10 ไร่ขึ้นไป จำนวน 4 แปลง ซึ่งพื้นที่ของหมู่บ้านกลาง ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ที่รับมอบจาก นพค.36 ดังกล่าว เป็นของนายประเสริฐฯ มีพื้นที่จำนวน 15 ไร่ และขุดบ่อเก็บน้ำ 5 บ่อ สำหรับแปลงนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือการปรับพื้นที่ หลังจากปรับพื้นที่เสร็จก็จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 9 ฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดใกล้เคียงในการศึกษาเรียนรู้โครงการ “ โคก หนองนา โมเดล”

หลังจากจัดทำศูนย์เรียนรู้เสร็จ จะนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นำศาสตร์พระราชา มาประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล” ในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนบ่อกักเก็บน้ำที่ขุด จำนวน 5 บ่อ นอกจากจะเลี้ยงปลาแล้ว น้ำในบ่อก็จะใช้ในการทำการเกษตรของโครงการและเกิดความชุ่มชื้นในพื้นที่ มีแปลงนา มีการปลูกป่า 5 ระดับ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไปจนถึงการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็น สุกร อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชนอย่างยั้งยืน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

เชียงราย – นักรบบนหลังม้า หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 นำม้าลาดตระเวนสกัดกั้นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองพร้อมสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน

เมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามที่ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ได้มีนโยบายให้กำลังพล ที่ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเฝ้าตรวจ ตามแนวชายแดน ได้มีการผ่อนคลายจากการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

ดังนั้น พลตรี นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง จึงได้สั่งการให้ พันเอก สัมฤทธิ์ ฉัตรวัฒนาสกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 นำม้า เพื่อใช้เป็นพาหนะเพิ่มระยะทางและระยะเวลา ในการปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวน ตามแนวชายแดน แทนการเดินเท้า เพื่อให้กำลังพลลดความเหนื่อยล้า และได้ผ่อนคลาย จากการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงและ ให้มีการผลัดเปลี่ยนกำลังพล ในการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายตามแนวชายแดนพร้อม การสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ ในพื้นที่ตามแนวชายแดน ของ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังได้สร้างความสัมพันธ์กับประชาชน ในพื้นที่ ด้วยการแจกหน้ากากอนามัย ให้กับประชาชน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด – 19)

ทั้งนี้ ในห้วงเดือน พฤษภาคม ถึงเดือน มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่3กองกำลังผาเมืองสามารถสกัดกั้นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 4 ครั้ง ผู้ต้องหา จำนวน 14 คน การผลักดัน จำนวน 7 ครั้ง ผู้ต้องหา จำนวน 16 คน และจะยังคงเพิ่มความเข้มข้น ในการปฏิบัติการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดต่อไป


ภาพ/ข่าว  สันติ วงศ์สุนันท์ / ผู้สื่อข่าวเชียงราย

กาฬสินธุ์ – ผู้ปกครองยังไม่กล้าส่งลูกมาเรียน !! เปิดเทอมวันแรก เข้มมาตรการโควิด-19

บรรยากาศเปิดเทอมวันแรก หลังกระทรวงศึกษาธิการประกาศดีเดย์พร้อมกัน 14 มิถุนายน ทั่วประเทศ หลายโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์  ยังคงเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยตั้งจุดคัดกรอง แบ่งเลขที่คู่-เลขคี่ สลับวันมาเรียน ขณะที่ยังมีผู้ปกครองบางส่วน ยังไม่กล้าส่งบุตรหลานมาโรงเรียน เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งหลายโรงเรียนยังคงยึดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการตั้งจุดคัดกรอง ให้ครูตรวจวัดอุณหภูมิเด็กนักเรียน และผู้ปกครอง บริเวณทางเข้า พร้อมทั้งให้สวมหน้ากากทุกคน ทั้งนี้หลายโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนจำนวนมาก ได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 2 ชุด โดยแยกเลขที่คี่และเลขที่คู่อย่างละครึ่ง สลับวันกันมาเรียน เพื่อลดความแออัด

ทั้งนี้ ในภาพรวมยังมีผู้ปกครองบางส่วน ที่ยังไม่กล้าส่งบุตรหลานมาเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอนุบาล และเด็กประถม เนื่องจากยังห่วงเรื่องการติดโรคโควิด-19 เพราะยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ และเด็กยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้บรรยากาศเปิดเทอมวันแรกนี้ มีนักเรียนค่อนข้างบางตา ส่วนผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนนั้น หลายคนมีความจำเป็นที่จะต้องส่งมาเรียน แต่ก็ได้มีการป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยง โดยห่อข้าว ห่อน้ำเป็นส่วนตัวมาเป็นอาหารกลางวัน ส่วนการเดินทางทั้งรถตู้และรถโดยสารนั้น บางคันยังพบว่ามีการนั่งเบียดกันมาด้วย อย่างไรก็ตาม ในการคัดกรองหลังรถรับส่งนักเรียนและผู้ปกครองมาส่งบุตรหลานนั้น มีคณะครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกเท่านั้น

ด้านนายสมพงษ์ หมายเทียนกลาง อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 61 หมู่ 1 บ้านท่าอุดม ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของการเปิดเทอมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น โดยส่วนตัวยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยนัก เนื่องจากในพื้นที่และจังหวัดต่าง ๆ ยังพบผู้ติดเชื้อเป็นรายวัน ทั้งรายบุคคลและกลุ่มก้อน อย่างไรก็ตาม จากการติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาของทางจังหวัดอย่างเข้มข้นตลอดมา ซึ่งค่อนข้างเป็นที่พอใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายไปได้ ส่วนที่เป็นกังวลบ้างก็ตรงที่เปิดภาคเรียนให้เด็กมาโรงเรียน เนื่องจากจะเกิดความแออัดและมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19

นายสมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรก ตนให้หลานขึ้นรถตู้ซึ่งเหมารายเดือนมาโรงเรียน ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจให้หลานนั่งรถตู้มาโรงเรียนดังกล่าว ก็ได้ตรวจสอบประวัติรถตู้คันดังกล่าวแล้วว่าอยู่ในพื้นที่  ไม่ได้เดินทางมาจากจุดเสี่ยง มีอุปกรณ์ป้องกันโควิดอย่างครบถ้วน และเด็กนักเรียนที่นั่งมาในรถไม่แออัด เพราะมีการจำกัดจำนวนผู้โดยสาร ตามมาตรการรักษาระยะห่าง เพื่อความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยของทางโรงเรียน ตนจึงเดินทางมาสังเกตการณ์  และอยากสอบถามทางโรงเรียนว่าจะให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากได้เห็นมีการคัดกรองเด็ก และผู้ปกครองอย่างเข้มข้นแล้วก็อุ่นใจ ว่าบุตรหลานและเด็กนักเรียนจะปลอดภัยจากโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอมนี้


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล

เชียงราย - โรงพยาบาลเม็งรายฯ ฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่ลงทะเบียนกับหมอพร้อม ทั้งวัคซีน Sinovac และ Astrazeneca ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะฉีดให้ตามความเหมาะสมของผู้รับวัคซีน

เวลา 09.00 น. วันที่ 8 มิ.ย.64 ที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย พล.ต.ศุภฤกษ์ สถาพรผล ผบ.มทบ.37 พร้อมคณะได้เดินทางมา เพื่อตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส โควิด - 19 ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนนแอพพิเคชั่นหมอพร้อม ผู้ที่สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี และผู้ป่วยเรื้อรังที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช โดย พ.​อ.นพ.กิติพันธ์ เฮงสนั่นกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายฯ ให้การต้องรับ ซึ่งวันนี้มีประชาชนเดินทางเข้ามารับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งวัคซีน sinovac และ astrazeneca ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะฉีดให้ตามความเหมาะสมของผู้รับวัคซีน

โดยที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายฯ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการหมอพร้อม ที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอพพิเคชั่น โดยเปิดให้ฉีดวัคซีนในวัน อังคาร พฤหัส และวันศุกร์  โดยในวันนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนจำนวน 130 ราย  โดยในจำนวนนี้มี พล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช เข้ารับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์

ลำปาง - ครม.อนุมัติ เพิ่มค่าตอบแทน อสม.อีก 3 เดือนเริ่ม เดือน ก.ค.-ก.ย. 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ขอแสดงความยินดีกับ อสม.ลำปาง และ อสม.ทั่วประเทศที่ ครม.อนุมัติค่าตอบแทนต่ออีก 3 เดือน โดยจะเริ่มในเดือน ก.ค.2564 นี้ โดยครม. อนุมัติโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.อีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย. 2564 วงเงินรวมไม่เกิน 1,575.4950 ล้านบาท เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีแก่ อสม. ผู้ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน

ซึ่งที่ผ่านมา อสม. ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมอย่างถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.2563 – มิ.ย 2564 เป็นระยะเวลา 16 เดือน กรอบวงเงินรวม 8,348.6965 ล้านบาท ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติในอนาคตและกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมก็สามารถขอรับเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติมให้แก่ อสม. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน อสม. ได้ต่อไป


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า

เชียงใหม่ - สวพส. เผยแนวทางที่เหมาะสม ในการปลูกพืชผักคุณภาพบนพื้นที่สูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า นางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบัน ด้านการพัฒนา และ นายอิทธิพล โพธิ์ศรี นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชของเกษตรกรบนพื้นที่สูง พบว่าพื้นที่สูงของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือนั้นมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศต่างจากพื้นที่ราบเป็นอย่างมาก โดยเป็นเทือกเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500 ถึงมากกว่า 1,000 เมตร ทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและมีฝนตกชุก นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ประชาชนที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ จึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยในอดีตดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และพืชผักท้องถิ่น เพื่อเป็นพืชอาหารเป็นหลัก ส่วนพืชรายได้มีน้อยมาก จึงเกิดปัญหาการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นพืชเสพติดที่สร้างปัญหาให้กับคนทั้งโลก

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงก่อตั้ง“โครงการหลวง” เพื่อส่งเสริมให้คนบนพื้นที่สูงปลูกพืชทดแทนฝิ่น โดยพืชส่วนใหญ่ที่ปลูกทดแทนฝิ่นเป็นพืชเมืองหนาว หากปลูกพืชผักเขตร้อนจะไม่สามารถแข่งขันทางการตลาดกับพื้นที่ราบได้ แต่ในอดีตพืชผักเขตหนาวเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย เราขาดองค์ความรู้ว่าจะปลูกพืชผักอะไร วิธีการเพาะปลูกอย่างไร และยังไม่มีตลาด โครงการหลวงเป็นหน่วยงานหลักที่ได้วิจัย ส่งเสริม และสร้างตลาด จนทุกวันนี้เป็นที่รู้จัก มีการปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ต่อมารัฐบาลได้ตั้ง สวพส. ขึ้นเพื่อสนับสนุนงานโครงการหลวง และขยายผลสำเร็จไปพัฒนาพื้นที่สูงต่าง ๆ ปัจจุบันพืชพันธุ์ใหม่ ๆ และวิธีการเพาะปลูกที่ประณีตและปลอดภัย ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมแก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง 

พืชผักกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง

พื้นที่สูงเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ แม้ว่ามีความจำเป็นต้องส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่มากกว่า 4,000 ชุมชน มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ยังต้องคำนึงถึงการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยและคุ้มค่าที่สุด และได้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่ที่ผ่านมาพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้พื้นที่และแรงงานจำนวนมาก ถึงจะมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงเป็นสาเหตุของการบุกรุกป่า เกิดการเผาและปัญหาหมอกควัน พืชผักจึงสามารถตอบโจทย์ได้ดี เพราะมีความต้องการของตลาดสูง จึงสามารถสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้กว้างขวาง การเพาะปลูกไม่มีปัญหาการเผา สามารถให้ผลตอบแทนสูงในพื้นที่จำกัดและได้ตลอดปี โดยเฉพาะเมื่อปลูกในระบบที่ประณีต จะยิ่งใช้พื้นที่และน้ำน้อยมาก ดังจะเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่ดำเนินงานของ สวพส. หลายแห่ง เช่น น่าน เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ที่ปรับระบบเกษตรเป็นพืชผักและพืชอื่น ๆ ที่เหมาะสมแล้ว สามารถลดการบุกรุกป่า และการเผาได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การผลิตพืชผักคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืนของการประกอบอาชีพปลูกพืชผักนั้น คุณภาพของผลผลิต และวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากการที่โครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงจำนวนมาก ปลูกพืชผักเป็นอาชีพมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยในปีหนึ่ง ๆ มีผลิตผลที่ผ่านระบบบริหารจัดการด้านการตลาดรวมมากกว่า 25,552 ตัน มูลค่า ประมาณ  646 ล้านบาท โดยมีหลักการและแนวทางที่เหมาะสมในการปลูกพืชผักบนพื้นที่สูง ดังนี้ 

1. การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแปลงของเกษตรกร บนพื้นที่สูงพื้นที่ของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ จึงต้องวางแผนการใช้พื้นที่ให้มีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ตามความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ ควบคู่ไปกับการทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ

2. การวางแผนการผลิตและตลาด ความสำเร็จของการทำการเกษตรคือเกษตรกรจะต้องสามารถขายผลผลิตได้และราคาเป็นธรรม การส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของสวพส. จะยึดหลักตลาดนำการผลิต หรือเป็นพืชหรือพันธุ์ใหม่ จะเริ่มส่งเสริมจากจำนวนที่ไม่มาก ควบคู่กับการสร้างตลาด สำหรับพืชผักเป็นพืชที่มีช่วงเวลาปลูกสั้น และต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดให้สัมพันธ์กัน 

3. การเพาะปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ พืชผักที่ปลูกภายใต้ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) หรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นจุดแข็งและเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะความตระหนักเรื่องสุขภาพ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน

4. การเลือกพันธุ์และผลิตต้นกล้าแบบประณีต ความแม่นยำของปริมาณผลิตผลและช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ มาจากพื้นฐานสำคัญ คือ การผลิตต้นกล้าให้ได้ตรงตามพันธุ์ ปริมาณ และช่วงเวลา ซึ่งการผลิตต้นกล้าแบบประณีตในโรงเรือนเพาะกล้าโดยใช้วัสดุปลูกที่ดี ช่วยให้ได้ต้นกล้าที่มีคุณภาพ มีจำนวน และระยะเวลาที่แน่นอน รวมทั้งยังช่วยให้ใช้เมล็ดพืชผักพันธุ์ดีซึ่งมีราคาสูงได้อย่างคุ้มค่า 

5. โรงเรือน คือ หัวใจของคุณภาพและความปลอดภัย การปลูกผักในโรงเรือนช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนโดยเฉพาะบนพื้นที่สูง และยังใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่าการปลูกนอกโรงเรือนประมาณ 2-5 เท่า สามารถควบคุมการผลิตได้ค่อนข้างแม่นยำและผลผลิตมีคุณภาพดี ช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตมากถึง 30-50 % ลดการใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ร้อยละ 100 ควบคุมการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้

6. การปลูกและดูแลรักษาอย่างประณีต โดยเริ่มจากการปลูกในโรงเรือน ใช้ต้นกล้าที่คุณภาพดีสม่ำเสมอ ปลูกอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ทุกต้นมีพื้นที่และได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ให้น้ำและปุ๋ยอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอด้วยการให้ปุ๋ยทางระบบการน้ำ และการดูแลและป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด สำหรับพืชผักใบส่วนใหญ่จะปลูกลงแปลง (ดิน) โดยตรง สำหรับผักผลบางชนิด เช่น พริกหวาน และมะเขือเทศ นิยมที่จะปลูกในวัสดุปลูก (Substrate culture)

7. การจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการตลาดที่ดี นอกจากการผลิตในแปลงปลูกอย่างประณีตและปลอดภัยแล้ว ต้องมีการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่ดี ทั้งการรวบรวมและการคัดคุณภาพของผลิตผลให้เป็นไปตามที่กำหนด การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปสู่ตลาด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องทำอย่างประณีตและรวดเร็ว เพื่อให้ผลิตผลถึงตลาดและผู้บริโภคด้วยคุณภาพดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยของผลผลิต โดยตรวจสารเคมีตกค้างทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เป็นระบบแบบนี้จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น โรงคัดบรรจุ ห้องเย็น ห้องวิเคราะห์สารเคมี หรือรถขนส่งผลผลิต ซึ่งเกษตรกรควรรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อให้รัฐสามารถให้สนับสนุนได้ง่าย รวมถึงการขอรับรองมาตรฐาน

“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความใส่ใจและห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภคในปัจุบันนี้  พืชผักจะเป็นอาหารอันดับแรก ๆ ที่มีความสำคัญ แต่เกษตรกรจะสามารถปลูกพืชผักเป็นอาชีพอย่างมั่นคงได้ ความปลอดภัยของผลิตผล และการเพาะปลูกแบบประณีต เป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และความพร้อมสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมและจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกฏและกติกาการค้าต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ กล่าวส่งท้าย


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

ลำพูน - พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 เพิ่ม 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ ไม่กักตัว 14 วัน แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ

จังหวัดลำพูน พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 เพิ่ม 4 ราย สถิติผู้ป่วยสะสม 298 ราย รักษาหายแล้ว 285 ราย คงเหลือผู้ป่วยรักษาตัวอยู่  7 ราย กลุ่มผู้ป่วยทั้ง 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ แล้วไม่เข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ซึ่งจังหวัดลำพูนจะแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ             

วันนี้ ( 26 พ.ค. 64 ) ที่ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยนายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน , นายแพทย์สาริกข์ พรหมมารัตน์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลลำพูน และ นายเดช ศิรินาม ศึกษาธิการจังหวัดลำพูน ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ของจังหวัดลำพูน

พบรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมจำนวน 4 ราย  ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน -  26 พฤษภาคม  มีจำนวน 298 ราย เสียชีวิตสะสม 6 ราย ซึ่งประชาชนสามารถ ดูข้อมูลการเดินทางของผู้ติดเชื้อ ที่ Facebook ศูนย์ข่าวโควิด -19 ลำพูน และ Facebook สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน 

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า วันนี้ในพื้นที่ จังหวัดลำพูน มีผู้ป่วยติดเชื้อ เพิ่ม 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงแต่ไม่เข้าสู่กระบวนการกักตัว จนทำให้มีความเสี่ยงในการนำเชื้อไปติดต่อบุคคลอื่นในครอบครัว การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน ซึ่งเมื่อทำการรักษาหายแล้วนั้น จะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดลำพูนหลังจากที่ไม่พบผู้ติดเชื้อมาติดต่อกันเป็นเวลา 12 วันแล้ว

หากแม้ว่าไม่พบผู้ติดเชื้อไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์จะจบลง การปฏิบัติตัวในการเฝ้าระวังและป้องกัน ยังคงต้องดำเนินต่ออย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่มาจากจังหวัดเสี่ยง และไม่ทำการกักตัว จะเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง ซึ่งผู้ที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดเสี่ยงแล้วกักตัวตามกระบวนการ เมื่อเจ็บป่วยทางจังหวัด จะนำเข้าสู่กระบวนการรักษาจนหาย หากประชาชนพบเห็นผู้ฝ่าฝืนไม่กักตัว สามารถแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่มาจากจังหวัดเสี่ยงและมีใบรับรองการฉีดวัคซีนป้งกันไวรัสโควิดจนครบ 2 เข็ม บุคคลเหล่านี้ยังคงต้องดำเนินการกักตัว จนครบ 14 วัน  เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีภูมิคุ้มกันและจะไม่มีการแพร่เชื้อในพื้นที่

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน  และ นายแพทย์ชำนาญชำการพิเศษ โรงพยาบาลลำพูน ยังได้เชิญชวนประชาชน ให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด – 19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงการเสียชีวิต ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

ด้านการเตรียมความพร้อม สำหรับสถานศึกษา ศึกษาธิการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ในช่วงที่มีเปิดภาคเรียน ได้กำชับให้สถานศึกษาที่มีความพร้อม สามารถเปิดทำการเรียน – การสอน ได้ในวันที่ 1 มิถุนายน นี้ และดูแลเอาใจใส่ เด็กนักเรียน โดยให้เว้นระยะห่าง ทั้งในช่วงระหว่างที่มีการเรียนการสอน และช่วงพัก ให้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันตามหลักสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือผู้ปกครองให้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยให้แก่เด็กนักเรียนอย่างน้อย 3 ชิ้นต่อวัน สำหรับใช้ทดแทนเมื่อเด็กทำหล่นหาย


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดลำพูน

เชียงใหม่ -อบจ.เชียงใหม่ แถลงข่าวความร่วมมือการจัดระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีน กับองค์กรภาคเอกชน ผ่าน Application “CM Smart”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมสภา ชั้น 2 อาคารหอประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน จังหวัดเชียงใหม่ (กกร.เชียงใหม่)  และ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่, นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, นายสุรชาติ ภีระคำ ประธานชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ ,พลตำรวจตรี ปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่, สมาชิก กกร.เชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ อบจ.เชียงใหม่ สมาชิกสภา อบจ.เชียงใหม่ แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าว ความร่วมมือ การจัดระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กับองค์กรภาคเอกชน ผ่าน Application “CM Smart”

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ได้ซบเซาลง ดังนั้น ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมและจัดระบบบริการฉีดวัดเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สามารถดำเนินการฉีดได้ทันท่วงทีภายในระยะเวลาที่กำหนด และเพื่อให้สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีกำหนดให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว เป็นวาระแห่งชาติ (ภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2564) จะต้องดำเนินการตั้งแต่การกระจายวัคซีนไปจนถึงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน หลังจากการร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานเตรียมความพร้อม

เพื่อเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ทางอบจ.เชียงใหม่ และ กกร.เชียงใหม่ ได้มีการจัดทำฐานข้อมูล “CM SMART” (ซีเอ็มสมาร์ท) เพื่อขึ้นทะเบียนเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากส่วนร่วมของภาคเอกชนและสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ การช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบการฉีดวัคซีนของผู้ที่อยู่ในรายชื่อในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคต และฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ให้ฟื้นคืนได้อย่างเร็วที่สุด ตามเป้าประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

ซึ่งระบบการจัดเก็บข้อมูลรายชื่อ มีคณะทำงานของนายแพทย์ธีรพัฒน์ ตันพิริยะกุล ได้บริหารจัดการฐานข้อมูล CM SMART (ซีเอ็มสมาร์ท) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากความเข้มแข็งของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน จังหวัดเชียงใหม่ (กกร.เชียงใหม่) และกลุ่มสมาชิกภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้บุคลากรที่สมัครใจในการเข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

โดยตั้งเป้าประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มภาคธุรกิจท่องเที่ยวลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน โควิด -19 ผ่านแอฟพิเคชั่น “CM Smart” 170,000 คน พร้อมรณรงค์ ให้ฉีดวัคซีน โดยดำเนินการ ภายใน 4 เดือน ให้ครอบคลุม 70% ตามมติของส่วนกลาง พร้อมกันนี้ประสานจุดฉีดวัคซีน ในเบื้องต้นโดยประสานผ่านทางเครือเซ็นทรัลพัฒนา ทั้งสองแห่ง สามารถรองรับการเข้ารับการฉีดวัคซีนได้แห่งละ 1,500 คนต่อวัน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีความพร้อม ทางด้านบุคลากรและอุปกรณ์ในการจัดฉีดวัคซีนนอกสถานที่ ซึ่งจะได้ร่วมกับภาคเอกชนในการรณรงค์ฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมพร้อมตามแนวทางการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว หลังจากการเปิดรับฤดูกาลท่องเที่ยว ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

เชียงใหม่ - ผบช.ภ.5 และ ประธานชมรมแม่บ้านตำรวจภูธรภาค 5 ตรวจเยี่ยมหน่วยฉีดวัคซีนฯ พร้อมมอบสิ่งของบำรุงขวัญแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 11.30 น.พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีความห่วงใยข้าราชการตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงต่อการต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ /ประธานคณะทำงานการจัดหาและฉีดวัคซีนฯ พิจารณาจัดสรรวัคซีนเป็นพิเศษ เพื่อฉีดให้ข้าราชการตำรวจ จำนวน 1,600 นาย  และเพิ่มเติมที่ได้รับการจัดสรรจากสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3,500 นาย  รวมเป็นจำนวน 5,100 นาย ให้แก่ข้าราชการตำรวจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผบช.ภ.5 และ ผศ.พรพิมล วงศ์สุข ประธานชมรมแม่บ้านตำรวจภูธรภาค 5  ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมหน่วยฉีดวัคซีนฯ พร้อมมอบสิ่งของบำรุงขวัญแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยมี พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่, พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี ผบก.สส.ภ.5, พล.ต.ต.นพดล กรึงไกร ผบก.อก.ภ.5, และคณะชมรมแม่บ้านตำรวจภูธรภาค 5 เข้าร่วมตรวจเยี่ยมฯ ณ โรงพยาบาลดารารัศมี อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top