Monday, 20 May 2024
นอร์ทไทม์

แม่ฮ่องสอน - เด็กหนุ่มวัย 27 ปี ผันชีวิตจากเมืองเชียงใหม่ หลังพิษโควิดเล่นงาน กลับบ้านเปิดร้านกาแฟ “CAMP 29 CUP - Slowbar & Grill” แนวแคมป์รายแรก

ณ บริเวณหน้าสวนรุกขชาติห้วยชมภู อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีคนคอยรอรับบริการร้านกาแฟเล็กริมทาง แนวแคมป์ปิ้ง เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการได้แวะเข้าไปพูดคุยกับ  นายกิตติคุณ  กวางทู อายุ 27 ปี เจ้าของ CAMP 29 CUP - Slowbar & Grill เปิดเผยถึงความเป็นมาของร้านกาแฟเล็ก ๆ แห่งนี้ด้วยความภาคภูมิใจว่า ชื่อร้านประกอบด้วย CAMP คือ การตั้งแคมป์ปิ้ง 29 คือ เลขวันเกิด ส่วน CUP มาจากแก้วกาแฟเล็ก ๆ ซึ่งได้ออกตัวว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้เรียนทำเครื่องดื่มหรือเป็นบาริสต้ามาโดยตรง ก่อนที่จะมาจุดนี้ทำร้านเล็กแบบนี้ได้เปิดร้านหม่าล่าที่เชียงใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดระลอกแรกทำพิษ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่า ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ จนกระทั่งประมาณปลายปีที่แล้ว จึงตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านอำเภอแม่สะเรียง เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั้งหมด

หลังจากกลับมาอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียงที่เป็นบ้านเกิด จึงคิดจะเปิดร้านเพื่อสร้างรายได้ไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย  ซึ่งปกติจะเปิดร้านหม่าล่าที่บ้าน และเป็นคนชอบกินกาแฟ และมีเพื่อน ๆ ชอบในสิ่งที่เราทำเหมือนกันจึงทำกาแฟเสริมกับกิจการหม่าล่าที่ทำอยู่ ประกอบกับตัวเองเป็นคนเบื่อง่าย จึงพยายามปรับเปลี่ยนสถานที่ในการกินกาแฟไปพร้อม ๆ กับการพักผ่อน ชื่นชมธรรมชาติ ถ่ายรูป ในลักษณะของการตั้งเป็นแคมป์เล็ก ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคอกาแฟในอำเภอแม่สะเรียง เริ่มให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ในแต่ละวันจะออกแคมป์ที่ไหนเจ้าของร้านจะแจ้งผ่านเพจCAMP 29 CUP - Slowbar & Grill  ให้ติดตามกัน

สำหรับจุดเด่นของร้านที่อยากให้ลองมาชิม คือ ROK Espresso ใช้เมล็ดกาแฟจากหลายพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นเป็นกาแฟผลไม้ ราคาอยู่ที่ 30 บาทขึ้นไป  เมนูในแคมป์มีทั้ง กาแฟสกัดเย็น โมกาพอต (Mokapot) ลาเต้ คาปูชิโน่ กาแฟดริป ชา โซดาผลไม้ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเข้าร่วมโครงการเราชนะและคนละครึ่งของรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำเงินให้ได้เช่นเดียวกัน


ภาพ/ข่าว สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง พื้นที่ใกล้การสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ชูแผนการสอนตามบริบท ให้เด็กได้รู้ทักษะการใช้ชีวิตในภาวะสงคราม เน้นความปลอดภัยและฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กเป็นสำคัญ

นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า เดิมกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปิดการเรียนการสอน ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่จากการประเมินความพร้อมตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของโรงเรียน ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ยังคงมีการปะทะอย่างต่อเนื่องจากกองกำลังทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลให้โรงเรียนที่กำลังจะเปิด จึงเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 อย่างไรก็ตาม หากเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์แทรกซ้อน โรงเรียนมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นสำคัญ ซึ่งหากเกิดเหตุได้เตรียมแผนรวบรวมพลเรือน อพยพเข้าไปยังจุดรวมพล พร้อมจัดสรรที่พักอาศัยและอาหาร เรียบร้อยแล้ว  

ส่วนแผนการเรียนการสอนจะปรับรูปแบบการเรียนการสอน บนฐาน "ทุนที่เรามี" "บริบทที่เราเป็น" และ "พรุ่งนี้ที่อยากเห็น" ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มากที่สุด เน้นการออกแบบโดยใช้สถานการณ์ (Phenomenon Based Learning) เช่น ในภาวะสงครามเช่นนี้ จะสร้างทักษะชีวิตด้านใดให้กับนักเรียน การพักอาศัยอยู่ในป่าต้องทำอย่างไร รวมถึงการบริหารจัดการ เรื่องความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เป็นต้น และที่นี่สอนได้แต่แบบออนไซท์เพราะมีเพียงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ยังไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตที่สัญญาณต่ำมากไม่เสถียร และยังขาดอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็กอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ในห้วงที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้ร่วมกับคริสตจักรบ้านท่าตาฝั่ง เยียวยาเรื่องสภาพจิตใจของนักเรียน ผู้ปกครอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเด็ก ๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้เด็กต้องหนีภัยสงคราม ที่ยากกว่านั้นเด็ก ๆ ต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพราะยังกลัวกับเสียงปืนและระเบิด ครูจึงต้องปรับการสอนฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กอันดับแรก ในขณะนี้เด็ก ๆ ยังอยู่กับครอบครัว ญาติพี่น้อง ในอนาคตหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ทางโรงเรียนจะเตรียมความพร้อมเรื่องที่พัก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมให้กับนักเรียนต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

เชียงใหม่ - ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้แทน ตร. เดินทางมาประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์ และแผนการสกัดกั้นคนต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการบริหารจัดการวัคซีนให้แก่ข้าราชการตำรวจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 21 พ.ค.64  เวลา 10.30 น. ด้วย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีความห่วงใยข้าราชการตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงต่อการต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ /ประธานคณะทำงานการจัดหาและฉีดวัคซีนฯ พิจารณาจัดสรรวัคซีนเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากที่ได้รับการจัดสรรจากสาธารณสุขจังหวัด ให้แก่ข้าราชการตำรวจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดนั้น

พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้แทน ตร.เดินทางมาประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์และแผนการสกัดกั้นคนต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการบริหารจัดการวัคซีนให้แก่ข้าราชการตำรวจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  พร้อมทั้งเป็นตัวแทน ตร. มอบวัคซีนจำนวน 3,200 โดส เพื่อฉีดให้แก่ข้าราชการตำรวจทุกหน่วยในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมอบหมายให้โรงพยาบาลดารารัศมี เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการฉีดให้ข้าราชการตำรวจในโอกาสต่อไป

โดยมี พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภ.5 รรท. ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.พิเชษฐ  จีระนันตะสิน ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ , พล.ต.ต.หญิง พิมพรรณ ทรัพย์ขำ ผบก.รพ.ดร. และข้าราชการตำรวจในสังกัด ภ.จว.เชียงใหม่ ร่วมประชุมและรับมอบวัคซีน ณ ห้องประชุม 4 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ประจวบคีรีขันธ์ - ปศุสัตว์ประจวบฯ เตือนเกษตรกรเลี้ยงโคกระบืออย่าซื้อวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย

วันที่ 21 พฤษภาคม นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้แจ้งให้เกษตรอำเภอทุกอำเภอ ออกให้คำแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือในการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ หลังพบการระบาดในพื้นที่ ต.สามกระทาย อ.กุยบุรี ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี และ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน โดยมีรายงานโคนม โคเนื้อป่วยติดเชื้อรวมกว่า 200 ตัว ขณะนี้ได้ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวในพื้นที่ที่เกิดโรคแล้ว ห้ามการเคลื่อนย้ายโคกระบือเข้า-ออกพื้นที่ และให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ออกทำการสอบสวนควบคุมโรคด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงชนิดพ่นบนตัวสัตว์และบริเวณคอกโรงเรือนในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค

“โรคลัมปี สกิน ไม่ติดจากสัตว์สู่คน สัตว์ที่ติดเชื้อมีอัตราการป่วยน้อยเพียงร้อยละ 10-50 อัตราการตายไม่ถึงร้อยละ 10 แต่ส่งผลเสียต่อผลผลิต เช่น โคนมอาจจะให้น้ำนมลดลง หรือโคเนื้อเมื่อป่วยก็จะกินอาหารได้น้อย ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายก็น้อยตามไปด้วย ส่วนโคกระบือที่ตั้งท้องอยู่อาจจะแท้งได้ สำหรับแนวทางรักษาขณะนี้รักษาตามอาการ และกำลังจะมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคเข้ามาในเดือนพฤษภาคมนี้ นี้ เพื่อฉีดให้กับสัตว์ของเกษตรกรฟรี ดังนั้นในช่วงนี้จึงขอให้เกษตรกรระมัดระวังอย่าซื้อวัคซีนลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพราะยังไม่ผ่านการทดสอบและรับรองจากภาครัฐ อาจจะส่งผลเสียต่อสัตว์ได้ “นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ กล่าวว่า

สำหรับอาการของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ จะพบตุ่มขึ้นตามตัวสัตว์ ลักษณะคล้ายอีสุกอีใส เนื้อสัตว์ที่พบการติดเชื้อสามารถบริโภคได้แต่ไม่แนะนำให้บริโภค โรคนี้ติดต่อทางแมลงดูดเลือดทุกชนิด เช่น เห็บ ยุง เหลือบ จึงแนะนำให้เกษตรกรดูแลรักษาความสะอาดคอกโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ กางมุ้ง หรือฉีดพ่นยาฆ่าแมลงบริเวณพื้นคอกโรงเรือน หรือใช้ยาฆ่าแมลงชนิดพ่นบนตัวสัตว์จะช่วยป้องกันสัตว์ป่วยติดเชื้อได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก “วันนิกา สร้อย เสรีรัตนเกียรติ” โพสต์ข้อความ โดยมีการแชร์ข้อความจำนวนมาก หลังจากระบุว่า “ ไม่ได้อวดรู้ดีกว่าหมอปศุสัตว์นะค่ะ แต่มาเสนอเพราะมีประสบการณ์โรคลัมปีสกรินและรักษาหาย วัวที่เลี้ยงจาก 3000 ตัว มีแยกเป็นวัวแดง 80 ตัว มีตัวเป็นโรค 30 ตัว รักษาโดยฉีดยาแก้ไข้ ยาพยาธิธรรมดา ไข้หายตุ่มไม่หาย แต่พอฉีดยาพยาธิ Fนอก เริ่มเห็นตุ่มหัวดำ หัวแตก อีก 5 วัน ฉีดพยาธิซ้ำอีก อีก 7-8 วันซ้ำอีก ตัวที่เป็นหนักเป็นก้อนเท่าลูกมะนาว เวลาหลุดจะเป็นหลุมเนื้อหลุดออกมา ฉีดยาแก้อักเสบ พ่นยาไม่ให้แมลงวันเพาะหนอน แล้วมันก็แห้งเป็นปกติ จากวัว80 ตัว เป็น30ตัว รักษาแบบนี้หายทุกตัว และตอนนี้ก็ฉีดยาพยาธิFนอกกันไว้ทุกตัว ก็ยังไม่มีเป็น 95% คลุมอยู่ ถ้าใครพอจะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อใครได้บ้างโทรมาคุย ได้นะคะ จากผู้มีประสบการณ์จริง หายจริง ผ่านมาจะ2เดือนแล้ว ถ้าไม่มีประโยชน์ต่อใครก็ผ่านเลยข้อความนี้ไปนะคะ”


ภาพ/ข่าว นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เชียงใหม่ – จัดกิจกรรมคลายร้อน เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ พร้อมเชิญชวนนักท่องเที่ยว รับชมกิจกรรมผ่านช่องทาง Live ในช่วงการปิดให้บริการชั่วคราว

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน ) โดยสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จัดกิจกรรมคลายร้อน และทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและใจให้กับสมาชิกสัตว์ พร้อมเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมรับชมการดูแลสมาชิกสัตว์อย่างใกล้ชิดผ่านกิจกรรม Live ในช่องทาง Facebook : เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี Chiang Mai Night Safari ลุ้นรับรางวัลสุด Exclusive เป็นประจำทุกสัปดาห์

นายเบญจพล นาคประเสริฐ กรรมการบริหาร ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เปิดเผยว่า ในช่วงการปิดให้บริการชั่วคราวนี้ นอกจากการดำเนินการด้านมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 แล้ว ยังมีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เป็นอย่างดี  ทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ มีการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค การเสริมวิตามิน การดูแลด้านโภชนาการ รวมทั้งการจัดกิจกรรมผ่อนคลายให้กับสัตว์  โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่สภาพอากาศมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และการไม่ได้ทำกิจกรรมเหมือนในช่วงการเปิดให้บริการตามปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้สัตว์เกิดความเครียดได้ ดังนั้นจึงได้จัดกิจกรรมคลายร้อนให้กับสัตว์ชนิดต่าง ๆ และจัดกิจกรรมเพื่อให้สัตว์ได้ออกกำลังกาย เช่น การฉีดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเสือโคร่ง

การจัดกิจกรรมผ่อนคลายและส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้กับสัตว์ที่อยู่ในส่วนแสดง Night Predator โดยทำกิจกรรมออกกำลังตามพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิด เช่น การว่ายน้ำจับปลาเป็นอาหารของนาคเล็กเล็บสั้น การล่าเหยื่อของสิงโต การปีนป่ายไต่เชือกกินอาหารของหมีขอ การกระโดดปีนต้นไม้ล่าเหยื่อของเสือโคร่งขาว และการว่ายน้ำของเสือโคร่ง เป็นต้น  นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 อย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งดำเนินการให้บุคคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคนฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ครบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ในช่วงการปิดให้บริการชั่วคราว เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้จัดกิจกรรมให้บริการนักท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และการจัดกิจกรรม Live ใน Facebook : เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี Chiang Mai Night Safari เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับชมกิจกรรมการดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิด พร้อมลุ้นรับของที่ระลึกพิเศษ เป็นประจำทุกสัปดาห์

และในวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม นี้ เวลา 15.30 น. จะพานักท่องเที่ยวชมกิจกรรมการดูแลสัตว์ในส่วนแสดง Night Predator กับกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพตามพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งนักท่องเที่ยว


ภาพ/ข่าว  นภาพร เชียงใหม่

เชียงใหม่ - มทบ.33 จัดทำโครงการปันน้ำใจคนไทยไม่ทิ้งกัน จัดรถครัวสนามทำอาหารปรุงสดให้แก่ประชาชน สู้โควิด-19

มทบ.33 จัดทำโครงการปันน้ำใจคนไทยไม่ทิ้งกัน จัดรถครัวสนามทำอาหารปรุงสด , แจกจ่ายหน้ากากอนามัย และพืชผลทางการเกษตร ให้แก่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19

เมื่อ 20 พ.ค. 64 เวลา 10.00-12.00 มทบ.33  จัดรถครัวสนามทำอาหารปรุงสดใหม่  จำนวน 400 กล่อง พร้อมน้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย บรรทุกหลังรถจักรยานยนต์(เดลิเวอรี่) จำนวน  10 คัน บริการส่งอาหารกล่อง ปรุงสดใหม่ ถึงบ้าน ประชาชน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง และจัดรถพุ่มพวง แจกจ่ายผลผลิตทางการเกษตร (ผักกาด ,ผักบุ้ง, แตงกวาญี่ปุ่น, มะนาว ,พริก ,ไข่ไก่  และมะม่วง ) แจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของ ประชาชนชุมชนรอบค่ายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิค - 19 ณ ชุมชนต้นขาม ต.ท่าศาลา อ.เมือง จว.ช.ม. โดยได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19  อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้สร้างความประทับใจและความพึงพอใจต่อประชาชนในพื้นที่ เป็นอย่างดี


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

เชียงราย - กอ.รมน.จังหวัด ช.ร. จัดการประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่อง " ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากและน้ำท่วมซ้ำซาก " ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุม กอ.รมน.จังหวัด ช.ร. ศาลากลางจังหวัดเชียงราย

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เวลา 0930 - 1200 น. พ.อ. กิตติพล ไพรหิรัญ รอง ผอ.รมน.จังหวัด ช.ร.(ท.)   เป็นประธานในการประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่อง " ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากและน้ำท่วมซ้ำซาก " ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุม กอ.รมน.จังหวัด ช.ร. ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จำนวน 8 หน่วยงานได้แก่

มทบ.37,ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จังหวัดเชียงราย,ปลัดจังหวัดเชียงราย (กลุ่มงานปกครองจังหวัดเชียงราย),ศูนย์ป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15,ป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงราย,โครงการชลประทานเชียงราย,นพค.35 , สนภ.3 นทพ. ,สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค1 เชียงราย     

      

ทั้งนี้เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นและนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดเชียงรายที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและภัยแล้ง ปัจจุบันประเทศไทย และจังหวัดเชียงราย เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบ ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากในบางพื้นที่

ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการบริหารในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และต้องมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อเก็บกักตุนน้ำไว้ให้ประชาชน และเกษตรกรได้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในปี 2564 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง 

พร้อมนำบทเรียนจากการปฏิบัติงาน ปัญหาอุปสรรคจากปีที่ผ่านมา มาประกอบการวางแผนบูรณาการและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

แม่ฮ่องสอน – อำเภอแม่สะเรียง ปล่อยแถว กวาดล้างแรงงานต่างด้าว

นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอแม่สะเรียง เป็นประธาน ปล่อยแถวระดมพลบูรณาการร่วมหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  ซึ่งตามมติที่ประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยอำเภอแม่สะเรียง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บูรณาการร่วมกันดำเนินการตรวจตราโรงงาน สถานประกอบการ หอพัก และสถานที่ต่างๆในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง ป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ซึ่งอาจจะมีเชื้อกลายพันธุ์แพร่ระบาดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 
 

เชียงใหม่ - กรรมการส่งเสริมฯ ม.แม่โจ้ ร่วมกับ แอโร กรุ๊ป ยกระดับความปลอดภัยนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโควิด ในโรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติแม่โจ้

คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด พร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ นำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot) เทคโนโลยีใหม่ เข้าทำการฆ่าเชื้อในพื้นที่โรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติแม่โจ้ ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2564 จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ต้องขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี ได้สนับสนุนให้ใช้สถานที่ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการจัดทำโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีโรงพยายาลสันทราย อำเภอสันทราย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข รวมถึงมีการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 


ล่าสุด วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับการประสานงานจาก ดร.องอาจ กิตติคุณชัย บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot)  มาทำความสะอาด ซึ่งได้รับการวิจัยแล้วว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพสูง และใช้หุ่นสำเภาสำหรับการการยกของ เพื่อเสริมศักยภาพในการทำความสะอาดภายในโรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติแม่โจ้ และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 
หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot) และหุ่นสำเภา รถฟอร์คลิฟท์อัตโนมัติสำหรับการเคลื่อนย้ายสิ่งของ นำทางด้วยรีโมทคอนโทรล เป็นผลงานของบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด โดย ดร.กฤษดา อัครพัทธยากุล กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้นำการให้บริการด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร

นอกจากนี้ แอโร กรุ๊ปฯ ยังมีหุ่นยนต์สำเภา ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารอัจฉริยะ นำทางด้วยระบบ Lidar Sensor, หุ่นยนต์สำเภา ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ขนส่ง เคลื่อนย้าย และลำเลียงสินค้าแบบอัตโนมัติ นำทางด้วยแถบแม่เหล็ก  และหุ่นยนต์แม่ไทร ซึ่งเป็นหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ควบคุมทางไกล แสดงผลการรักษา, วีดีโอคอลพูดคุยกับผู้ป่วย, ส่งอาหาร และส่งยาเป็นต้น 


การทำงานของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี แบบ 360 องศา ส่งผลให้สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้สูงถึง 99.9% ในเวลารวดเร็ว และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อไป


ภาพ/ข่าว  นภาพร /เชียงใหม่
 

เชียงราย - โควิด-19 ลามเกาะคาสิโนคิงส์โรมัน เกือบ 300 คน ในเขตชายแดนสามเหลี่ยมทองคำ

คิงส์โรมันเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เกือบ 300 คน หลังเกิดการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จีนส่งทีมแพทย์ฉีดชิโนฟาร์ม ให้กับพนักงานควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมทั้งขอความร่วมชาวประมงไทยงดทำการประมงเส้นเขตแดน

วันที่ 17 พ.ค. 64 พบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในโครงการคิงส์โรมัน ที่อยู่ในเขตเศรษฐพิเศษสามเหลี่ยมคำ แขวงบอแก้ว สปป.ลาว ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบว่าตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 284 ราย เป็นคนจีน 81 คน ลาว 138 คน เมียนมา 33 คน และไทย 7 คน โดยล่าสุดได้มีทางสาธารณสุขจากประเทศจีนเดินทางไปแก้ไขการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำแล้ว ขณะที่ทาง จ.เชียงราย ได้ประสานไปยังเขตดังกล่าวเพื่อขอรับคนไทยข้ามกลับมาแล้ว

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำได้มีการประกาศปิดการเข้าออก หรือล็อคดาวน์เขตระหว่างวันที่ 6-20 พ.ค.64 โดยมีการระดมฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มจากประเทศจีนให้กับพนักงาน  แล้วจำนวน 223 คน  และได้มีประกาศจากแขวงบ่อแก้วให้ล็อคดาวน์เมืองและหมู่บ้านทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ทั้ง 5 เมืองของแขวงบ่อแก้ว โดยได้ขอความร่วมมือมายังพื้นที่ชายแดน จ.เชียงราย ที่ติดกับแม่น้ำโขง ให้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านงดการทำประมงในแม่น้ำโขงที่เป็นเส้นเขตแดนเพื่อป้องกันกลุ่มคนปะปนไปกับชาวประมงลักลอบเข้าหนีเข้าเมืองได้


ภาพ/ข่าว  วัตร ลาพิงค์ / หมายเหตุภาพจาก คาสิโนคิงส์โรมัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top