Thursday, 9 May 2024
นอร์ทไทม์

เชียงใหม่ - พิธีทำบุญครบรอบ 49 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ มช. พร้อมจัดพิธีมอบโล่รางวัลอาจารย์และบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2564

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2564 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 49 ปี และ วาระปีที่ 61 การศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นประธาน ภายในพิธีได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ มาประกอบพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นได้จัดพิธีมอบโล่รางวัลอาจารย์และบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2564

ประกอบด้วย อาจารย์ดีเด่น ด้านการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ ผศ.ดร.คัทลียา ศิริภัทรากูร แสนหลวง ด้านการวิจัย/นวัตกรรมทางการพยาบาล ได้แก่ ผศ.ดร.วันเพ็ญ  ทรงคำ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ได้แก่ ผศ.ดร.วรันธร จงรุ่งโรจน์สกุล ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ ผศ.ดร.โรจนี จินตนาวัฒน์ บุคลากรดีเด่น สายปฏิบัติการ ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนากรณ์ ทำการดี สายบริการ ได้แก่ คุณสายทอง บุญเรือง และ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ คุณรัชนี ทีปกากร รางวัลดังกล่าวมอบเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและประกาศเชิดชูคุณงามความดีให้เป็นเกียรติประวัติสืบไป

นอกจากนี้ได้มอบเข็มที่ระลึกแด่ผู้ที่ปฏิบัติงานในคณะฯ ครบ 30 ปี ได้แก่ ผศ.ดร.ฐิติณัฎฐ์  อัคคะเดชอนันต์  รศ.ดร.ประทุม สร้อยวงค์ อ.ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา และ คุณสังวาลย์ บุญมา ตลอดจนได้มอบกระเช้าดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีแด่ อ.ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา รับรางวัลบุคคลที่ดำเนินการดีเด่นด้านการป้องกันควบคุม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประจำปี 2564 จาก สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย ประเภทบูรณาการทั่วไป จากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2562 คุณสายทอง คำป้อ รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2563 (ครุฑทองคำ) ประเภทลูกจ้างประจำ และ ศ.ดร.นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งฯ เป็น ศาสตราจารย์ ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร 4 คณะพยาบาลศาสตร์ โดยมีการถ่ายทอดสดให้ได้รับชมผ่านทาง Nurse CMU Youtube การดำเนินงานจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามประกาศของจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19


ภาพ/ข่าว  วิภาดา / เชียงใหม่

ลำปาง - ครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ลำปาง เร่งพิจารณาจัดหาผู้แทนในส่วนภาครัฐ (คพรฟ.)เนื่องจากไม่ได้รับเงินเดือนมากว่า 11 เดือนแล้ว!!

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดย น.ส.ปวีณา เนียมประยูร ประธานครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ  พร้อมพวกจำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากรผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อขอความอนุเคราะห์เร่งพิจารณาจัดหาผู้แทนในส่วนภาครัฐ (คพรฟ.)เนื่องผู้ว่าฯลำปางติดราชการจึงมอบหมายให้ นายจำลักษ์  กันเพ็ชร์ และนายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าฯลำปาง และนางศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง มารับหนังสือแทน

ตามที่ได้รับหนังสือตอบรับการขอติดตามและเร่งรัดการดำเนินการอนุมัติการจัดสรรและสนับสนุนงบประมาณตามโครงการครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง จากสำนักงานจังหวัดลำปาง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนของการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือผู้แทนในส่วนของภาครัฐแล้ว ผลปรากฎว่ามีผู้แทนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ขาดคุณสมบัติ ตามที่ กกพ.ได้กำหนดไว้ จำนวน 2 คน จาก 6 คน ซึ่งอาจจะต้องมีการคัดเลือกจัดหาผู้แทนใหม่อีกครั้ง ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลให้เกิดความสาข้าต่อการพิจารณาอนุบัติโครงการดังกล่าวตามขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบที่ กกพ. ได้ตั้งไว้จนสิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย. 2564 โดยจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของครูอัตราจ้าง จำนวนทั้งสิ้น 52 อัตรา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนที่สังกัดและรอผลอนุมัติโครงการดังกล่าวเพื่อรับค่าตอบแทนที่ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาถึง 10 เดือน

ดังนั้น ในนามตัวแทนของครูอัตราจ้างตามโครงการครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ จึงขอความอนุเคราะห์ ได้ดำเนินการเร่งพิจารณาการคัดเลือกจัดหาผู้แทนในส่วนของภาครัฐที่มี คุณสมบัติครบตรงตามเกณฑ์หรือระเบียบตามที่ กกพ. กำหนด เพื่อจะได้เร่งดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอน หลักเกณฑ์วิธีการและระเบียบของกองทุนฯ ในการอนุมัติโครงการโดยเร็ว และเพื่อให้ทันต่อการอนุมัติจัดสรรโครงการก่อนสิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย.2564 นี้

ทางคณะครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมายื่นหนังสือเรียกร้องเมื่อเดือน ก.ค. 2564 จำนวน 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าและในเดือน ก.ย. 2564 นี้ ก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว ครูอัตราจ้างจาก 20 โรงเรียน จำนว 52 คน และ สาธารณสุขอีก 36 คนไม่ได้รับเงินมากว่า 11 เดือนแล้ว รวมเงินกว่า 9 ล้านบาท จึงขอความเห็นใจท่านผู้ว่าฯลำปาง ทุกคนต้องกินต้องใช้ มีภาระค่าใช้จ่ายเหมือนกันหมด

ทางด้านนายศรัณยู หลังได้รับหนังสือดังกล่าวรับปาก พร้อมกับรับจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะพากันเดินทางกลับ


ภาพ/ข่าว  วินัย / ลำปาง  รายงาน

 

เชียงราย – วอนเร่งรัดกระบวนให้สัญชาติผู้เฒ่า เสียชีวิตก่อนได้บัตรประชาชนแล้ว 2 “ครูแดง” เผยอยู่ไทยมานานกว่า 40 ปี สร้างคุณประโยชน์มากมาย ยุคโควิดยิ่งลำบากไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีแปลงสัญชาติชนกลุ่มน้อย ผู้สูงอายุชาติพันธุ์อาข่า บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการของกรมการปกครองแล้ว จำนวน 15 ราย และได้ส่งรายชื่อไปยังคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณา และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ.2508 ระบุว่าเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต 

นางเตือนใจกล่าวว่า ผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวน 15 รายนี้ อยู่ในกลุ่มที่มีการยื่นคำร้องเป็นกรณีศึกษาชุดแรก จำนวน 23 ราย ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามหนังสือสั่งการที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายฉัตรชัย พรมเลิศ) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อย โดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 

“สำหรับความคืบหน้าในครั้งนี้ ถือว่ามาไกล นับตั้งแต่มีการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งมีความละเอียดและขั้นตอนที่ซับซ้อน ใช้เวลายาวนาน ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี กลมกลืนกับสังคมไทย และมีลูกหลานเป็นคนสัญชาติไทย ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ได้ทำคุณประโยชน์ ใช้ภูมิปัญญาในการรักษาป่าต้นน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูและปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 5,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พศ.2538 จนเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติที่สำนักทะเบียนอำเภอ  และส่งเข้าสู่คณะกรรมการระดับจังหวัด ในกลุ่มนี้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้ว  2 ราย และบางรายกำลังป่วยหนัก หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับงานแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตามที่อธิบดีกรมการปกครอง (นายธนาคม จงจิระ) กำหนดเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายหลัก จะต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบ พัฒนากลไก บุคคลากร และทรัพยากร ของสำนักทะเบียนจากระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับกรม เพื่อให้คำมั่นทั้ง 7 ข้อในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ผู้แทนรัฐไทยได้แถลงในที่ประชุมผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ณ นครเจนีวา ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2562 บรรลุเป้าหมายได้จริง โดยเฉพาะข้อ 5 การแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด” นางเตือนใจ กล่าว

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า สำหรับผู้เฒ่าไร้สัญชาติ การล่าช้าหมายถึงเวลาในชีวิตที่หมดไปทุกวัน เสียโอกาสในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยเยียวยาใดๆ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นบุพการีของคนสัญชาติไทย โดยข้อมูลของกรมการปกครองระบุว่ามีจำนวนผู้เฒ่าไร้สัญชาติมากถึง 77,000 กว่ารายทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ หนังสือสั่งการของปลัดกระทรวงมหาดไทยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งว่า สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดี ให้ยกเว้นการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมือง ฯลฯ โดยใช้การสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือไม่น้อยกว่า 3 คน คุณสมบัติเรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตท้องที่ เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ และยกเว้นเกณฑ์รายได้  คุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทย ให้พิจารณาการใช้ภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา และว่าการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาด้านสัญชาติให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐและห้ามมิให้มีการแสวงหาหรือเรียกรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใด ๆ 

นายอาทู่ เบียงแลกู่ อายุ 72 ปี และนางพิซุง เบียงแลกู่ อายุ 73 ปีคู่สามีภรรยา กล่าวว่าพวกตนอยู่ประเทศไทยมา 45 ปี แต่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่อยากได้เพราะต้องการสิทธิในการรักษาพยาบาล เพราะหากไม่มีบัตรต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง “ไม่รู้หรอกว่าหากได้บัตรประชาชนแล้วจะได้สวัสดิการอะไรบ้าง ไม่รู้ด้วยว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี เพราะไม่เคยป่วย แต่อยากได้บัตรประชาชนไทย เพราะเป็นความภูมิใจในชีวิตที่อยู่บนแผ่นดินไทยมายาวนาน และจะได้นอนตายตาหลับ” พ่อเฒ่าแม่เฒ่าไร้สัญชาติ กล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิพชภ. ได้รับการร้องเรียนและติดตามปัญหาของชาวบ้านบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะบนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่ามีผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กำลังประสบความยากลำบากในชีวิตเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 40-50 ปี บางส่วนเกิดในไทยแต่ขาดหลักฐานเอกสารยืนยัน บางส่วนไม่ได้เกิดในไทยแต่อยู่มานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พชภ.ได้พาผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้เดินทางมายื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่พบว่ามีข้อติดขัดหลายประการ โดยเฉพาะกระบวนการที่ซับซ้อน ทำให้เรื่องการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่ากลุ่มนี้ยืดเยื้อมานาน อย่างกรณีของบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง บนดอยแม่สลอง ซึ่งมีคนเฒ่าไร้สัญชาติ ยื่นคำร้องจำนวน 27 ราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่อายุ 65-98 ปี แต่กระบวนการที่ล่าช้า ทำให้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้วในระหว่างรอจำนวน 3-4 ราย

เชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ MOU ร่วมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ ปลูกกัญชงอินทรีย์-สร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดเชิงพาณิชย์-บันทึกข้อมูลระบบ Cloud เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ (Northern organic Hemp: NOH) ซึ่งประกอบไปด้วยวิสาหกิจชุมชนจากจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน จำนวน 16  วิสาหกิจชุมชน ในโครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud 

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุชาติ  อินต๊ะเขียว ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ เป็นผู้แทนลงนามทั้งสองฝ่าย โอกาสนี้ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ ดร.ธนสาร  ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจ (ผ่านระบบออนไลน์) แก่เกษตรกรในเครือข่ายที่ได้ร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารของทางสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยายาน ณ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

โครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud  เป็นโครงการที่ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขอรับอนุญาตผลิต (ปลูก)กัญชง ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงและนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์  โดยร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในเกษตรกรเพาะปลูกกัญชงระบบเกษตรอินทรีย์  ร่วมกันทดลองสายพันธุ์กัญชงที่มีเสถียรภาพ ผลผลิตต่อไร่สูง ให้สารสำคัญ CBD สูง มี THC ต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคเหนือ และยังดำเนินการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลการปลูกกัญชงอินทรีย์ทั้งกระบวนการ แล้วจัดเก็บฐานข้อมูลในระบบคลาวด์ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานและเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร และประชาชนที่สนใจต่อไปในอนาคต  

ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงานและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและมอบหมายให้ผู้แทนของแต่ละฝ่ายได้ตกลงกันในรายละเอียดภายใต้วัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ หน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนด โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี


ภาพ/ข่าว  วิภาดา

แม่ฮ่องสอน - “แอน ทองประสม” ดาราสาวสวยใจบุญ ช่วยเหลือราษฏรบ้านแม่แพน้อย เหมากะหล่ำปลีแจกจ่ายประชาชน ในโรงเรียน วัด และในพื้นที่ชายขอบ

"แอน ทองประสม"ดาราสาวใจบุญ ได้รับซื้อกะหล่ำปลีช่วยเหลือเกษตรกร บ้านแม่แพน้อย ต.กองก๋อย อ.สเบมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ  แจกจ่ายให้พี่น้องประชาชน โรงเรียนตามแนวชายขอบ วัด ตลอดจนหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน รวม 6,900 กิโลกรัม โดยชาวบ้านได้มายืนต่อคิว นำถุงกระสอบปุ๋ยมาใส่กระหล่ำปลี คนละ 4-5 หัว ส่วนโรงเรียนที่ต้องนำไปเป็นอาการกลางวันเด็ก เลี้ยงเด็กพักนอน หรือวัด หน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้นำรถกระบะมาใส่เฉลี่ยกันไป

เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก นางนงนุช  วิชชโลกา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่แพน้อย ซึ่งได้เป็นผู้ประสานงาน กับทาง คุณแอน ทองประสม ดาราสาวสวยใจดี  ในการรับซื้อกะหล่ำปลี จากราษฏรบ้านแม่แพน้อย ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากตนเองรู้สึกสงสาร ชาวบ้านที่ปลูกกะหล่ำปลี แต่ราคาตกต่ำมาก ประสบสภาวะขาดทุน จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือ จากดารานักแสดงชื่อดัง ซึ่งคุณแอน ทองประสม ก็ได้ตกลงใจรับซื้อกะหล่ำปลีของราษฏรบ้านแม่แพน้อย จำนวน 3 คันรถ น้ำหนัก 6,900 กิโลกรัม ให้นำไปแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนชาวอำเภอแม่สะเรียง และให้กับโรงเรียนในเขต อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย และ อ.แม่ลาน้อย สังกัด สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 จำนวนหลายสิบแห่ง ที่เดินทางมารับกะหล่ำปลี เพื่อนำไปประกอบเป็นเมนูอาหารกลางวัน หรืออาหารเด็กพักนอน รวมไปถึงวัด หน่วยงานตามแนวชายแดนต่าง ๆ เป็นต้น

ซึ่งทุกคนต่างแห่ชื่นชมในความใจบุญของดาราสาวที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้ความลำบาก ทั้งเจ้าของกะหล่ำปลี และพี่น้องประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน ตกงาน ขาดรายได้ ให้มีกำลังแรงใจที่จะยืนหยัดและสู้ต่อไป โดยทุกคนฝากขอบคุณดาราสาว แอน ทองประสม ที่ได้ซื้อกะหล่ำปลีแจกจ่ายในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - ผบ.ร.7 พัน.5 ช่วยเกษตรกรช่วงโควิดระบาด รับซื้อข้าวโพดหวาน แจกจ่ายกำลังพลและครอบครัว สร้างความสุขใจ- อิ่มท้อง

วันที่ 6 ส.ค.64 เวลา 09.00 น. พ.อ.สันติพงษ์ ชิงดวง ผบ.ร.7 พัน.5 ได้สั่งการให้ฝ่ายกิจการพลเรือน ดำเนินการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรเป็นข้าวโพดหวานพันธุ์ชูก้า จำนวน 100 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือเกษตกร บ้านทุ่งโป่ง ต.ทุ่งยาว อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส (โควิด-19) โดยรับซื้อในราคาตลาด ซึ่งผลผลิตดังกล่าวที่รับซื้อทั้งหมดจะได้นำไปมอบให้แก่กำลังพลและครอบครัวไว้รับประทาน สร้างความสุขใจอิ่มท้อง และมีโภชนาการ รวมถึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจต่อไป

พ.อ.สันติพงษ์ ชิงดวง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส (โควิด-19) ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง  พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ ไม่สามารถนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายได้ ถึงแม้ผลผลิตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถระบายผลผลิตออกได้ทัน เนื่องจากการประกาศยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ตอนกลางคืนซึ่งมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาปัญหาดังกล่าว ทางกองพันทหารราบที่ 5 กรมทหารราบที่ 7 จึงได้สั่งการให้กำลังพลได้ช่วยเหลือประชาชนโดยการรับซื้อผลผลิตเกษตรจากเกษตรกรผู้ปลูกถึงที่ โดยรับซื้อตามราคาตลาด และยินดีรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรตามศักยภาพของหน่วย โดยการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง และขอเป็นกำลังใจให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตโควิดนี้อย่างปลอดภัย

ลำปาง - พม.ลำปางจิตอาสาพระราชทาน 904 จับมือหลายหน่วยงานบรรเทาทุกข์อัคคีภัยผู้เฒ่า2 ตายายตำบลสบป้าดแม่เมาะ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. นางจินจณา โอสถธนากร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง มอบหมายให้ นางวรรณวิไล กันเพ็ชร์ พร้อมด้วย นายอำเภอแม่เมาะ ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอัคคีภัย นายสังเวียน ไชยยา บ้านเลขที่ 4/1 ม.1 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมอบเครื่องอุปโภค-บริโภค ,ชุดเครื่องครัว และเงินสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 8,000 บาท พร้อมด้วย นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ ,นางธนวรรณ ตุ้ยกาศ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่เมาะ ,นายณรงค์ฤทธิ์  นุปิง ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง (วิทยากรจิตอาสาพระราชทาน 904) ได้สนับสนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวรายได้น้อยคนไร้ที่พึ่งจำนวน 3,000 บาท พร้อมเครื่งอุปโภคบริโภค ,นายประทีป มูลเภา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง จำนวน 2,000 บาท และมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง จำนวน 12,000 บาท ณ อำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง


ภาพ/ข่าว  ปฏิญญา เรือนงาม รายงาน

เชียงใหม่ - เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรมรณรงค์ “ล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด -19”

เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรมล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด-19 ล้างถนนและทางเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดเมืองเชียงใหม่ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น. ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ นายไทณ์ โรจน์รัตนจินดา รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ ล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด -19 เป็นการเดินหน้านโยบายของเทศบาลฯ ภายใต้หลักการ “สร้าง สาน เสริม” การสร้างใหม่ สานต่อ และเสริมพลังการพัฒนา ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้จัดให้มีการทำความสะอาดถนนและทางเท้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ทั้งสี่แขวงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่ประชาชนชาวเชียงใหม่

การจัดกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเวลากลางคืนเพื่อให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนน้อยที่สุด โดยมี นางบงกช ตุวานนท์ ประธานสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ นางสาวรัชนี ชมชื่น รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นายพิศุทธ์ พิศุทธกุล นางสาวพรผกา ตาระกา ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ หัวหน้าแขวงทั้งสี่แขวง เจ้าหน้าที่เทศบาล และประชาชนชาวเชียงใหม่ เข้าร่วมกิจกรรม


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

ลำปาง - รองผู้ว่าฯ ลำปาง ตรวจติดตามการดำเนินงานป้องกันโรค COVID-19 พื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ที่ จ.ลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นำทีมตรวจเยี่ยมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ติดตามการดำเนินงานป้องกันโรค COVID-19 เข้าตรวจประเมินการปฏิบัติตามแผนมาตรการควบคุมโรคของจังหวัดลำปางโดยมีนายอดิศักดิ์  กิจเจริญธนารักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 และนายมาโนช  ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องมาให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปให้รายละเอียดข้อมูล ณ ห้องประชุมมุ่งงานเลิศ อาคารประชาสัมพันธ์แม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

นายจำลักษ์ กล่าวว่า “จังหวัดลำปาง ได้ประกาศกำหนดให้หน่วยงานสถานประกอบการต่าง ๆ ผู้ที่มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนโดยเบื้องต้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมทีมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าทำการตรวจเยี่ยมประเมินผลการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 สำหรับสถานประกอบการ(โรงงาน) หรือ Good Factory Practice (GFP) ของ กฟผ.แม่เมาะ ทั้งนี้เนื่องจากภายในสถานประกอบการโรงไฟฟ้ารวมถึงบริเวณพื้นที่เหมืองแม่เมาะ ถือเป็นสถานที่ประกอบการขนาดใหญ่ ที่แต่ละวันจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งของ กฟผ.แม่เมาะ และของบริษัทคู่สัญญา เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ถ้าหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ก็อาจเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างจนเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ของจังหวัดได้ ทั้งยังจะส่งผลต่อภารกิจหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ”

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า “ในมาตรการปฏิบัตินั้น กฟผ.แม่เมาะ ได้มีการนำมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 เข้ามาใช้อย่างเข้มข้น ภายใต้แผนปฏิบัติการ ZERO COVID โดยมีเป้าหมายกำหนดให้พื้นที่โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ ต้องเป็นเขตพื้นที่ปลอดเชื้อ COVID-19 ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนไทยต้องมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ทาง กฟผ. แม่เมาะ จึงได้สั่งการให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ต้องกักตัวเองอยู่ภายในบริเวณพื้นที่ Safe Zone ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับในส่วนบุคลากรทั่วไปได้เน้นกำชับให้ทุกหน่วยทุกพื้นที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด

ส่วนในกรณีฉุกเฉินหากปรากฏว่ามีการตรวจพบพนักงานเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 ทาง กฟผ.แม่เมาะได้จัดทำพื้นที่ FAI หรือ Factory Accommodation Isolation ไว้จำนวน 2 แห่ง คือ ที่อาคารถิ่นเทเวศร์ ใช้สำหรับเป็นสถานที่พักคอยของผู้ป่วยสีเขียวจำนวน 16 ห้อง และที่อาคารอเนกประสงค์ห้วยคิง ได้ทำการจัดตั้งเป็น รพ.สนาม รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 60 เตียง ประกอบกับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ก็ได้มีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วเกินกว่าร้อยละ 90 จึงเชื่อมั่นได้ว่าพื้นที่โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ จะเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงสุด และจะไม่เป็นจุดแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

เชียงใหม่ - วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ มอบอาหารกล่องและน้ำดื่ม ในโครงการ “อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน FIX IT จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันจันทร์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ 2564 เวลา 10.30 น ที่หน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และงานโครงการพิเศษและบริการชุมชน มอบอาหารกล่องและน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ตามโครงการ "อาชีวะร่วมใจ ต้านภัยโควิด"

นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรน่า 2019 (Covid-19) จัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารปรุงสุก ในโครงการ “อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน FIX IT จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ดังกล่าว

โดยได้จัดทำอาหารกลางวันในรูปแบบอาหารกล่อง มอบให้กับโรงพยาบาลสันทราย โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ และแจกอาหารกลางวัน ในรูปแบบอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่ม หน้ากากผ้าพร้อมด้วยเจลแอลกอฮอล์แบบหลอด ให้กับประชาชนบริเวณด้านหน้า บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ตั้งแต่วันที่ 26 - 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.45 น. ถึง 12.00 น. หรือแจกตามจำนวนอาหาร  ขอเชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรน่า 2019 รับอาหารและน้ำดื่มได้ที่บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ใส่Mask เว้นระยะห่าง Social Distancing ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top