Wednesday, 8 May 2024
นอร์ทไทม์

ลำปาง - ศอ.จอส.พระราชทาน มทบ.32 จัดวิทยากรจิตอาสา 904 ร่วมกิจกรรม "มีแล้ว แบ่งปัน"

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 13.00 น. พลตรีอโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่32/ ผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 32 มอบหมายให้ วิทยากรจิตอาสา 904 ร่วมกับ ประชาชนจิตอาสา จังหวัดลำปาง ร่วมกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือประชาชน "มีแล้ว แบ่งปัน" มอบสิ่งของอุปโภค-บริโภค เยี่ยมเยือนให้กำลังใจ กับผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้  เพื่อแสดงถึงความรักความห่วงใย และบรรเทาความเดือดร้อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ บ้านนาแก้ว ตำบลนาแก้ว อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

ลำพูน - ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการตามมาตรการ Bubble and Seal ของ "แพนดอร่าฯ" พร้อมเตรียมจัดสถานที่พักโรงแรมเป็น Local Quarantine เพื่อรองรับพนักงานที่มีความเสี่ยงต่ำ และลดการติดเชื้อเพิ่ม

วันที่ (7 ก.ย. 64)  นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน , นายชาตรี กิติธนดิตถ์ ปลัดจังหวัดลำพูน , นายโยธิน ประสงค์ความดี นายอำเภอเมืองลำพูน , นายแพทย์โภคิน ศักรินทร์กุล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษโรงพยาบาลลำพูน , ฝ่ายปกครองจังหวัด  ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการ ตามมาตรการ Bubble and Seal   ณ ลานสนามบิน สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์  ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ถูกจัดให้เป็นสถานที่ Bubble and Seal ของบริษัท แพนดอร่าโพรดักชั่น จำกัด  มีพนักงานที่เข้ารับการสังเกตุอาการ จำนวน 700 คน                  

นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จากสถานการณ์ ของสถานประกอบการ บริษัท แพนดอร่า มีพบผู้ติดเชื้อภายในสถานประกอบการและได้มีการดำเนินการตามมาตรการ Bubble and Seal นั้น  ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ได้รวบรวมข้อมูล และมีการวิเคราะห์ รวมถึงมีการติดตามสถานการณ์ อย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ ในช่วงเวลานี้พนักงานบริษัท จำนวน 700 คน เดิมทีเป็นกะ 08  กะที่เวลาทำงานในช่วงกลางวันของทาง บริษัท แพนดอร่าฯ จำกัด นั้น ได้ย้ายออกมา และไม่ได้มีการปฏิบัติงานในช่วงเวลานี้  การทำ Bubble and Seal ต้องมีการปรับเปลี่ยน ประกอบกับการรวมพนักงานอยู่ ถึง 700 คน โดยไม่ได้มีการทำงานนั้น ก็อาจจะทำให้มีการเพิ่มยอดของผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นได้   

   

ทางจังหวัดลำพูน โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีการปรับกระบวนการดำเนินงานเพิ่มเติม คือ ในส่วนของผู้ที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ของพนักงาน บริษัท แพนดอร่าฯ ช่วงเวลานี้ จะมีการดำเนินการย้ายไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลสนาม หรือ โรงพยาบาลสนามของทาง บริษัท แพนดอร่าฯ เอง ส่วนที่ไม่เป็นผู้ป่วยแต่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยง จะดำเนินการนำแยกออกไปสังเกตอาการ ที่โรงแรม ที่พักต่างๆ ที่เป็น Local Quarantine ในพื้นที่จังหวัดลำพูน

ทั้งนี้  เพื่อเป็นการบริหารการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหมู่พนักงานเอง และในส่วนของพี่น้องประชาชนในภาพรวมของจังหวัดลำพูนจะได้มีความปลอดภัยต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 การบริหารจัดการนั้นเป็นไปตามขั้นตอน ได้มีการคัดแยก กลุ่มคน และมีการนำพนักงาน เข้าสู่ที่พักในโรงแรม ที่ทางจังหวัดจัดเตรียมไว้ ตามมาตรการของทางสาธารณสุข ขอให้เชื่อมั่นในความปลอดภัย และมาตรการต่าง ๆ ที่ทางจังหวัด ได้มีการประชุมเตรียมพร้อม โดยทางผู้บริหาร บริษัท แพนดอร่าฯ เอง ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญคือพี่น้องพนักงาน บริษัท แพนดอร่าฯ ได้มีความเข้าใจและได้มีการเตรียมตัว เข้าสู่ จุดต่าง ๆ ที่ทางจังหวัดลำพูน และทาง บริษัท แพนดอร่าฯ ได้เตรียมพร้อมในช่วงเวลา ต่อไป


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ / ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดลำพูน

เชียงใหม่ - ประธานหอฯ เชียงใหม่ ชี้! ภาวะเศรษฐกิจเชียงใหม่ครึ่งแรก และแนวโน้มโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยหลักทำให้เศรษฐกิจภาพรวมยังหดตัว

วันที่​ 7​ ก.ย.​ 2564​ เวลา​ 10.00​ น.​ ณ​ ห้องประชุม​ 1​ ชั้น​ 2​ สำนักงานหอการค้า​จังหวัดเชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ดร.กอบกิจ อิสรชีวัฒน์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัด เชียงใหม่  นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารฯได้ร่วมกันแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาสที่ 1-2 ประจำปี 2564 และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงทั่วโลกต้นปี 2563  ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่หดตัวรุนแรงและสูญเสียรายได้ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหดตัวสูง ทั้งการบริโภคและการลงทุน ธุรกิจจำนวนมากปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน  ภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวใกล้เคียงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่สอง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมาก  การใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็น  ในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบสาม และการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากการเร่งเบิกจ่าย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปี 2564  การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามกระทบการท่องเที่ยวไตรมาส 3 ปี 64 อย่าง มาก รายได้ของธุรกิจและชาวเชียงใหม่หายไปมากช่วงปีเศษนี้ แผนการจัดหาและกระจายวัคซีน โควิด-19 ที่ชัดเจนมากขึ้น และสถานการณ์ ความรุนแรงของโควิด ณ ต้นเดือน ก.ย.น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หากธุรกิจ ท่องเที่ยวและธุรกิจท่ีเกี่ยวข้อง ได้รับการสนับสนุนเยียวยา ฟื้นฟูจากทางการ เช่น การเติมสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ คาดว่าการท่องเที่ยวจาก นักท่องเที่ยวในประเทศจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 64 เมื่อการท่องเท่ียวท่ีเป็นเครื่องยนต์หลักของจงัหวดัเชียงใหม่กลับมา เดินเครื่องได้ ธุรกิจอื่น ๆ ท่ีเก่ียวเนื่อง การจ้างแรงงาน การใช้จ่าย การลงทุนจะเริ่มขยับขึ้นมาได้

ด้านดร.กอบกิจ อิสรซีวัฒน์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัด เซียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดระลอกสอง ประกอบกับสถานการณ์หมอกควัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงหดตัวสูง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เข้าสู่ไตรมาส 2 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น จากการระบาดของโควิดระลอกสาม ที่กระจายวงกว้างและรุนแรงมาก และจากมาตรการควบคุมการระบาดของจังหวัดต่าง ๆ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวในประเทศชะลอการเดินทาง โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก 2564 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง สูญเสียรายได้ต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ  แรงงานภาคท่องเที่ยวไม่มีรายได้ 

ภาคอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ไตรมาสแรกของปี หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อที่เปราะบาง เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 การอุปโภคบริโภคหดตัวเพิ่มขึ้น จากการระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม  ทำให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าใน 

ชีวิตประจำวันและหมวดบริการหดตัว ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนชะลอกำลังซื้อโดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ ขณะที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวได้ตามความต้องการซื้อของลูกค้ากลุ่มเกษตร โดยภาพรวมครึ่งปี 2564 การใช้จ่ายกระเตื้องเล็กน้อยในช่วงต้นปี และชะลอลงเมื่อพบการระบาดระลอกที่สาม

ภาคการลงทุนภาคเอกชน ชะลอลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาทั้งสองไตรมาส การลงทุนเพื่อการก่อสร้างชะลอตัว ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ชะลอลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ ทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนแผนการลงทุนออกไป การลงทุนเพื่อการผลิตขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจขนส่ง ทั้งสินค้า  E-Commerce และสินค้าเกษตร โดยยังมีความต้องการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว รวมทั้งมีการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรองรับคำสั่งซื้อในอนาคต เฉพาะธุรกิจรายใหญ่บางรายเท่านั้น โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของปีการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงมาก   

ไตรมาสแรก (ม.ค. - มี.ค) การใช้จ่ายของภาครัฐลดลงจากไตรมาสก่อน รายจ่ายประจำหดตัวโดยลดลงมากในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษา และหมวดรายจ่ายอื่นของงบกลาง ส่วนทางด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงต่อเนื่อง จากการเร่งเบิกจ่ายของ หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในไตรมาส 2 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากไตรมาสก่อน จากการเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยรายจ่ายประจำขยายตัว ส่วนรายจ่ายลงทุนก็ขยายตัวสูงตามการใช้จ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน    

รายได้ภาคเกษตร ในครึ่งแรกปี 2564 โดยรวมลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสุกรลดลงจากโรคระบาด  ราคาสุกรเพิ่มสูงตามความต้องการจากตลาดภายในและต่างประเทศ ส่วนราคาข้าวโพดสูงขึ้นเล็กน้อย  ราคาที่สูงยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่เสียไปจากผลผลิตที่ลดลงมาก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญชนิดอื่น เช่น ข้าว ลำไยนอกฤดู มะม่วง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและราคาอยู่ในเกณฑ์ดี 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว เครื่องชี้สำคัญ เช่น การใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.7 แต่ปรับตัวดีขึ้นช่วงไตรมาสสอง  ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจต่างประเทศ  แต่ประสบปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้การขนส่งล่าช้า และต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นมาก การผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศโดยรวมหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ  สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์จากโคนมและหมวดอาหารแปรรูปฟื้นตัวดี และช่วงปลายไตรมาสสอง โรงงานแปรรูปผลิตผลเกษตร คอนกรีตผสมเสร็จเริ่มต้นผลิต 

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ตามราคาพลังงานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่สอง  เทียบกับอัตราว่างงานร้อยละ 1.6 ช่วงก่อนโควิดไตรมาสที่ 4 ปี 2562  ธุรกิจปรับตัว เช่น การลดชั่วโมงการทำงาน ให้พนักงานหยุดงานโดย   ไม่รับค่าจ้าง  รวมทั้งเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้างจากรายเดือนเป็นรายวัน และเลิกจ้างแรงงานประเภทสัญญาชั่วคราว   

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ยอดเงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ลดลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น จากที่โอนย้ายมาฝากกับธนาคารพาณิชย์ช่วงเกิดโควิดระลอกแรก ด้านสินเชื่อคงค้างยังคงขยายตัวต่อเนื่องในสินเชื่อประเภทค้าส่งค้าปลีก บริการและอุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อที่ให้กับสถาบันการเงินประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมลดลง

 


ภาพ/ข่าว  พัฒนชัย / เชียงใหม่

ลำปาง - มทบ.32 รับมอบ ชุดเตียงกระดาษ น้ำดื่ม และชุด PAPR จากกฟผ.แม่เมาะ ใช้ใน รพ.สนามทบ.(มทบ.32)

ด้วยความห่วงใย ในสถานการณ์โควิด จิตมุ่งช่วยกัน ฟันฝ่าวิกฤต พิชิตภัยโควิดด้วยกัน”จากความร่วมมือร่วมใจแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทุกภาคส่วน ได้แสดงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันเต็มกำลังขีดความสามารถ เป็นผลส่งให้สถานการณ์โควิดในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ แต่ถึงกระนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ หากเมื่อมีสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น หน่วยงานที่ถือว่าเป็นด่านหน้าต้องพร้อม!

ในการนี้เมื่อ 2 กันยายน 2564 เวลา 11.30 น. นายมาโนช ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ พร้อมด้วยนายประกอบ ปะระมะ หัวหน้ากองชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะและคณะ กฟผ.แม่เมาะ ได้เดินทางมามอบเตียงกระดาษ-ที่นอน-หมอน-ผ้าห่มและชุดของใช้ส่วนตัว จำนวน 20 ชุด, น้ำดื่ม 50 แพ็ค , หมวกป้องกัน PAPR พร้อมชุดกรองจ่ายอากาศบริสุทธิ์ จำนวน 2 ชุด ให้กับ โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี สำหรับใช้การในกิจการของโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรีและโรงพยาบาลสนามกองทัพบก ศูนย์คัดกรองกองทัพภาคที่ 3 (มณฑลทหารบกที่ 32)

โดยมี พลตรี อโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32, พันเอกวิชาญ ศรีภัทรางกูร รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32, พันเอก อรรณพ ธรรมลักษมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี, พันเอกเมธา ณ พิกุล รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 32 และพันเอกอณุศิษย์ พรมมาตย์ รองผู้อำนวยการฯ เป็นผู้รับมอบ ณ สโมสรนายทหารค่ายสุรศักดิ์มนตรี (ที่ตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพบกฯ) ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ทั้งนี้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้กล่าวขอบคุณในความมีน้ำใจของคณะ กฟผ.แม่เมาะที่ได้นำสิ่งของมามอบให้เพื่อให้หน่วยได้มีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่หากป่วยโควิดเข้ามาแล้วหน่วยจะได้ทำการรักษาหรือช่วยเหลือได้อย่างเต็มกำลังขีดความสามารถ พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าทุกสิ่งที่หน่วยได้รับจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อพี่น้องประชาชนชาวลำปางอย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

ลำปาง - มทบ.32 นำถุงยังชีพมอบช่วยเหลือประชาชน ห้วงสถานการณ์โควิด-19 ทหารพร้อมเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ในทุกโอกาส

“ภัยโควิดทำชีวิตลำบาก ทหารอาสาช่วยขจัดความทุกข์ยาก ตามขีดความสามารถที่มี ค่ายสุรศักดิ์มนตรีพร้อมเคียงข้าง ดูแลชาวเขลางค์ด้วยใจ” ในห้วงสถานการณ์โควิดปัจจุบัน ยังคงมีประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง ที่ได้รับผลกระทบฯมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก/เดือดร้อน ในการนี้ มณฑลทหารบกที่ 32/ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 32 ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ได้จัดถุงยังชีพ/สิ่งของอุปโภคบริโภคจำนวนหนึ่งตามที่หน่วยมี นำมามอบให้ “มีแล้วแบ่งปัน” ช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อ 1 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. พลตรีอโณทัย  ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 32 พร้อมด้วยพันเอกถิรวัฒน์ ศรีสุวรรณ เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 32/เสนาธิการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 32 ได้เดินทางมามอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนที่มีฐานะยากจน, ป่วยติดเตียง จำนวน 4 รายในพื้นที่บ้านท่าส้มป่อย ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งในจำนวนนี้มีคุณยายคุ่ย กาวิวงศ์ อายุ 102 ปีรวมอยู่ด้วย สร้างความดีใจ และอบอุ่นใจเกิดแก่ครอบครัวที่หน่วยเข้าให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหน่วยจะดำเนินกิจกรรม “มีแล้วแบ่งปัน” ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง...ทหารพร้อมเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ในทุกโอกาส


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

เชียงใหม่ - รพ.สวนดอก เปิดวอล์กอินผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค เรื้อรัง ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวันจันทร์และวันศุกร์

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ย้ำลูกหลานพาพ่อแม่อายุ 60 ปี ขึ้นไป มาฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบวอล์กอิน เผยผู้สูงอายุเชียงใหม่รับวัคซีนยังน้อย หากติดเชื้อความเสี่ยงเสียชีวิตสูง ส่วนหญิงนน.เกิน 70 กก.และชาย นน.เกิน 90 กก. หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าเท่ากับ 30 วอล์กอินรับวัคซีนได้เลย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันจันทร์ และวันศุกร์

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ระยะแรกใช้สถานที่ชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มช. เพื่อทำการทดสอบระบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อมาย้ายไปที่ชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพยศาสตร์ มช. ซึ่งพบว่ามีผู้มารับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากทำให้พื้นที่มีความแออัด จึงได้ขออนุมัติไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ในการฉีดวัคซีนให้กับภาคประชาชนและบุคลากร

หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนทั้งสถานที่ และบุคลากร ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่สามารถฉีดได้มากถึง 1,700 คนต่อวัน โดยเริ่มฉีดระหว่างเวลา 08.00-14.00 น. ปัจจุบันฉีดไปแล้วทั้งหมดประมาณ 6 หมื่นราย เราได้ใช้หอประชุมอย่างเต็มพื้นที่ ทั้งการลงทะเบียน การคัดกรอง , การฉีดวัคซีน , การสังเกตอาการ และการปฐมพยาบาล แต่ด้วยวัคซีนที่วางแผนและถูกจัดส่งมาจากทางจังหวัดไม่ได้มีมากตามที่ได้คาดการณ์ไว้ จึงทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทุกวัน ทางรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ จึงลดการฉีดลงเหลือเพียงแค่ 3 วัน คือ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์เท่านั้น

ปัจจุบันมีผู้ได้รับ SMS นัดรับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวนมาก โดยในตอนนี้จังหวัดเชียงใหม่ใช้สูตรในการฉีดคือ วัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ซึ่งต้องห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 3 สัปดาห์ รวมทั้งฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 ให้กับประชาชนที่ทำการวอล์กอินเข้ามา ภายใต้การบัญชาของกรรมการวัคซีนจังหวัด โดยระยะแรกประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” บุคคลที่เน้นตอนแรกคือกลุ่ม 607 หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง แต่ในภาพรวมของจังหวัด ยังพบว่าประชาชนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในจังหวัดเชียงใหม่ ฉีดวัคซีนเพียงแค่ 35 % ยังไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ หากผู้สูงอายุได้รับการฉีดอย่างน้อย 50% ขึ้นไปแล้ว หลังจากนั้นจึงจะเป็นการฉีดวัคซีนในภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งคงจะไม่นานนัก ขอให้ประชาชนรออีกสักนิด เพราะกลุ่มผู้สูงอายุเมื่อป่วยจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง ดังนั้นนโยบายจังหวัดตอนนี้จึงยังคงเน้นที่กลุ่ม 607 อยู่ และได้เปิดวอล์กอินให้เข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า “ในส่วน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 และ 30 สิงหาคม 2564 ได้เปิดวอล์กอินเต็มกำลัง 1,000 คน ต่อวัน ให้ผู้สูงอายุเข้ามาฉีด แต่ก็ยังพบว่ามีผู้สูงอายุมาฉีดน้อยมากเพียงแค่ประมาณ 30% เท่านั้น อาจเพราะการเดินทางไม่สะดวก หรือความเข้าใจของผู้สูงอายุเองว่าไม่อยากฉีดเนื่องจากกลัวผลข้างเคียง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้สูงอายุปฏิเสธในการรับวัคซีน

ผู้สูงอายุบางท่านที่อยู่แต่บ้านอาจมองว่าไม่ต้องฉีดก็ได้เพราะไม่ได้ไปไหน แต่อาจไม่ปลอดภัยเสมอไปเพราะลูกหลานบางคนที่แข็งแรงดี อาจป่วย แล้วเดินทางมาหา พูดคุย เข้าใกล้ สัมผัสผู้สูงอายุ ก็อาจจะทำให้ มีการแพร่กระจายเชื้อมาสู่ท่านได้ อยากให้ผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันไม่มากเท่าคนหนุ่มสาวทำความเข้าใจใหม่เรื่องความอันตรายของวัคซีน เพราะประโยชน์ของวัคซีนโควิด-19  มีมากกว่าผลเสีย

ข่าวการเสียชีวิตหรือผลข้างเคียงไม่ได้มีข้อพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีนอย่างแท้จริง ในกลุ่มประชาชนทั่วไป เสียชีวิตกะทันหันจากโรคประจำตัวเดิม ก็มีอยู่ไม่น้อย หากแต่บังเอิญเสียชีวิตช่วงที่รับวัคซีนโควิด-19 พอดี อาจทำให้เข้าใจผิดว่า เสียชีวิตจากวัคซีนก็ได้ จึงขอให้ผู้สูงอายุ ออกมารับวัคซีนกันให้มาก ๆ เพราะผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิตมีจำนวนมากในทุก ๆวัน

อีกหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มที่มีนำหนักตัวมาก ได้แก่ ผู้หญิงน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัม ผู้ชายน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าเท่ากับ 30 สามารถวอล์กอินเข้ามาฉีดที่ศูนย์ฉีด ของรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้เลย ในวันจันทร์ และวันศุกร์ ระหว่างเวลา 10.00 -14.00 น. ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องวัคซีนโควิด-19 โทร.053-934900-1 ทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น.


ภาพ/ข่าว  นภาพร/เชียงใหม่

แม่ฮ่องสอน - ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน กำชับเข้มงวดด่าน 3 ชั้น 24 ชั่วโมง พร้อมเตรียม Local Quarantine รองรับผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาในระดับพื้นที่ให้เพียงพอ

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า ได้มีการเน้นย้ำขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ดำเนินการตามมาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องของการตั้งด่าน 3 ชั้น ให้เข้มข้นและเข้มงวด ตลอด 24 ชั่วโมง การเตรียมพร้อม Local Quarantine รองรับผู้ที่จะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาในระดับพื้นที่ทั้งตำบล และอำเภอ ให้เพียงพอต่อจำนวนคน การเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบตามเป้าหมายที่รัฐได้กำหนดไว้โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / รุจิรา อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  

ลำปาง - สมาคมแม่บ้านทบ. สาขา มทบ.32 มอบงบประมาณและสิ่งของ แก่ครอบครัวผู้ฝึกฯทหารใหม่

“แนวหลังห่วงใย ใส่ใจดูแล เผื่อแผ่แบ่งเบา เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน” ตามที่สมาคมแม่บ้านทหารบกได้ห่วงใยคู่สมรสที่ทุพพลภาพและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยได้โอนงบประมาณเป็นทุนยังชีพทุนละ 5,000 บาท ให้หน่วยดำเนินการมอบให้บุคคลดังกล่าว ทั้งได้ห่วงใยกำลังพลและครอบครัวของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ฝึกทหารใหม่ ด้วยการมอบเงินให้หน่วยไปจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็นมอบให้ครอบครัวของผู้ฝึก ผู้ช่วยผู้ฝึกและครูนายสิบนั้น เมื่อ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. คุณลักขณา ชัยมงคล ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา มณฑลทหารบกที่ 32  และคณะ ได้เดินทางไปมอบงบประมาณเป็นทุนยังชีพให้คู่สมรสที่ทุพพลภาพ จำนวน 2 ราย และบุตรที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 2 ราย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วย ณ บ้านพัก จากนั้นได้เดินทางไปมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นช่วยเหลือครอบครัวของผู้ฝึก, ผู้ช่วยผู้ฝึกและครูนายสิบ โดยมอบให้ภริยาของครูนายสิบ จำนวน 2 ราย และมอบให้ผู้แทนกำลังพลที่จะนำสิ่งของที่เหลือไปมอบให้ครอบครัวของกำลังพลอีก 17 นาย ที่ยังไม่สามารถมาร่วมรับสิ่งของได้ เพื่อให้ได้ครบทุกนายทั้ง 19 นาย ตามลำดับต่อไป

ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระความเดือดร้อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในห้วงปัจจุบัน พลตรี อโณทัย  ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้กรุณามอบงบประมาณช่วยเหลือครอบครัวของกำลังพลที่ทำหน้าที่ฝึกทหารใหม่ทั้ง 19 นาย (มอบพร้อมสิ่งของ) สร้างความดีใจ อบอุ่นใจเกิดแก่ครอบครัวและเจ้าหน้าที่ฯซึ่งได้ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในการฝึกทหารใหม่ให้เต็มกำลังขีดความสามารถและให้สมบูรณ์จนกว่าภารกิจการฝึกทหารใหม่จะเสร็จสิ้น 


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

แม่ฮ่องสอน - เกษตรกรบ้านหนองผักหนาม ร้องศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียง สร้างพนังกั้นริมตลิ่งน้ำยวมเปลี่ยนทางส่งผลกระทบที่ทำกิน เร่งให้หน่วยงานรับผิดชอบแก้ไข ได้รับความเดือดร้อนนับสิบราย

บริเวณสะพานบ้านไร่ - บ้านคะปวง มีกลุ่มเกษตรกรจากบ้านหนองผักหนาม และพี่น้องเกษตรกรที่อาศัยทำกินริมฝั่งลำน้ำยวมบ้านนาคาว  บ้านทุ่งพร้าว บ้านไร่ ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 50 คน มาร่วมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขผลกระทบจากการก่อสร้างพนังกั้นริมตลิ่งน้ำแม่ยวม บริเวณฝั่งบ้านคะปวง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางกัดเซาะพื้นที่ทำกินของเกษตรกรบ้านหนองผักหนามกว่า 10 ราย โดยมี นายวีกิจ เจ้าดูรี ปลัดอำเภอแม่สะเรียง เดินทางมารับเรื่องร้องเรียน จากกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อน สำหรับการก่อสร้างพนังกั้นริมตลิ่งในเขต ต.แม่ยวม ระหว่าง บ้านคะปวง – บ้านทุ่งแพม เป็นของหน่วยงานกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ โอภาสงวน เกษตรกรบ้านหนองผักหนาม เป็นตัวแทนในการยืนหนังสือร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียง ถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า กรณีการขุดลอกลำน้ำยวมเพื่อจัดทำพนังกั้นตลิ่งริมน้ำ ส่งผลทำให้เกิดการเบี่ยงทางน้ำหรือน้ำเปลี่ยนทางเข้าพื้นที่ทำกินที่นา ที่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ของชาวบ้านนับสิบราย ประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝนหากเกิดปัญหาน้ำไหลหลากก็จะทวีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางราษฏรบ้านหนองผักหนามที่มีที่ทำกินติดริมน้ำบริเวณฝั่งตรงข้าม ไม่รู้เรื่องการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบทำการประชาคมกับราษฏรฝั่งเขตตำบลแม่ยวมเท่านั้น ไม่ได้มีการทำประชาคมหรือประชามติรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงหรือผู้เสียหายจากโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขการเปลี่ยนทางน้ำ หรือ ดำเนินการทำพนังกั้นลำน้ำทั้งสองฝั่ง

ด้าน นายวีกิจ เจ้าดูรี ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่สะเรียง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากทางศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียงได้รับหนังสือร้องเรียน ก็จะดำเนินการทำหนังสือด่วนที่สุดถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะมีการนัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกรอบเพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ลำปาง - ผู้ว่าหมูป่า นำทีมตรวจสถานประกอบการโรงงาน ย้ำมาตรการเข้มป้องกันโรค COVID-19

จังหวัดลำปาง บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจสถานประกอบการโรงงานที่มีการว่าจ้างกลุ่มแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เน้นย้ำมาตรการปฏิบัติเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 "COVID-19" เนื่องด้วยในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 "COVID-19" ซึ่งปรากฏพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเขตพื้นที่จังหวัดลำปางก็ได้มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมาก มีทั้งผู้ป่วยที่ตรวจพบการติดเชื้อภายในเขตพื้นที่จังหวัด และผู้ป่วยติดเชื้อที่ได้รับตัวมารักษาตามโครงการ "รับคนลำปางกลับบ้าน" เพื่อจะลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อรวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคในกลุ่มพี่น้องประชาชน  ที่มีความเสี่ยงอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่

ล่าสุด นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง รวมถึงทีมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากสำนักงานอุสาหกรรมจังหวัด จัดหางานจังหวัด แรงงานจังหวัด ประกันสังคม และหน่วยงานท้องถิ่นอำเภอ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ทำการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการโรงงานภาคเอกชน ในเขตพื้นที่อำเภอห้างฉัตร โดยได้เข้าทำการตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตอาหารกระป๋องของ บริษัท มาเจสติคอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ในเขตท้องที่ตำบลหนองหล่ม ซึ่งเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ได้มีการว่าจ้างแรงงานไว้ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติรวมจำนวนทั้งหมดกว่า 660 คน

โดยจากการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ บริษัท มาเจสติคอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ได้ร่วมกันให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค COVID-19 ภายในสถานที่โรงงาน ซึ่งได้มีการวางมาตรการไว้อย่างรัดกุม และได้กำหนดเป็นข้อบังคับให้พนักงานแรงงานทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย 100%, มีการจัดตั้งจุดตรวจตามประตูโรงงานทุกโรง เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทำการคัดกรองบุคคลก่อนเข้าพื้นที่ ตลอดจนให้มีการตรวจคัดกรองซ้ำกับพนักงานแรงงานทุกคนก่อนการเข้าปฏิบัติงาน รวมถึงให้มีการติดตั้งเจลล้างมือแอลกอฮอล์ไว้ตามจุดสำคัญ ๆ ให้ครอบคลุมทั่วบริเวณพื้นที่โรงงาน

นอกจากนี้ได้มีการนำมาตรการ Bubble and Seal และมาตรการรักษาระยะห่างมาใช้ มีการแบ่งกลุ่มพนักงานเพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าทำงาน มีการจำกัดการเคลื่อนย้ายของแรงงานโดยให้แรงงานบางส่วนที่สามารถพักแรมได้ พักค้างอยู่ที่โรงงาน ส่วนแรงงานที่เดินทางไปกลับ ให้มีการควบคุมการเดินทางไปมาระหว่างโรงงานกับสถานที่พัก รวมถึงให้มีการจดบันทึกติดตามการเดินทางด้วยแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน เพื่อจะได้เป็นประวัติยืนยันสถานที่ที่ไปถึง ตลอดจนทางบริษัท มาเจสติคฯ ยังได้มีการจัดเตรียมมาตรการเสริมจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุด PPE, Face Shield, ถุงมือแพทย์, แว่นตา, หมวกคลุมตัวหนอน, ถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า, หน้ากากอนามัย N95, ยาฟ้าทะลายโจร และชุดตรวจ Antigen Rapid test เพื่อเตรียมไว้สำหรับรองรับเหตุกรณีฉุกเฉินพบแรงงานติดเชื้อ COVID-19 ภายในโรงงาน ซึ่งในส่วนนี้ทาง บริษัทฯ ก็ได้มีการจัดเตรียมสถานที่ไว้ ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม และพื้นที่พักคอยสำหรับรองรับผู้ป่วยอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top