ที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “สิงห์สยามโพล” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขารัฐศาสตร์ แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยทำการสำรวจข้อมูลระหว่าง วันที่ 1 - 10 ธันวาคม 2564 ด้วยแบบสอบถามออนไลน์จากประชาชนในเขตกรุงเทพที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,642 ตัวอย่าง โดยใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบหลายขั้นตอน (Multi Stage Random Sampling) เพื่อเลือกพื้นที่ในการเก็บข้อมูลในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และเขตภาคกลางดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการสุ่มแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) เพื่อเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป
โดยผลสำรวจระบุว่า ผู้ว่าฯ กทม. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยด้านคุณลักษณะของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีเห็นว่า คุณลักษณะของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ควรมีความรู้ความสามารถ มากที่สุดถึงร้อยละ 31.1 มากกว่า คุณลักษณะด้านภาวะผู้นำและซื่อสัตย์สุจริต คิดเป็นร้อยละ 15.6 หรือประเด็นอื่นๆ เช่น การเป็นนักประสานผลประโยชน์ระดับชาติและพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 11.1 และโดยเฉพาะการมีคุณธรรม จริยธรรม และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 8.9 และการมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และ ยึดมั่นในกฎระเบียบ คิดเป็นร้อยละ 4.4 ขณะที่ด้านการสังกัดพรรคการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง คิดเป็นร้อยละ 84.1 แต่หากจำเป็นต้องเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมือง พบว่า
พรรคเพื่อไทย คิดเป็นร้อยละ 11.1 พรรคก้าวไกล คิดเป็นร้อยละ 8.9 พรรคอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 6.72 พรรคประชาธิปัตย์ คิดเป็นร้อยละ 6.7 และสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐ และพรรคกล้า คิดเป็นร้อยละ 2.2 ซึ่งต่างมีความนิยมใกล้เคียงกัน แต่พบข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์นั้นถือเป็นคู่แข่งสำคัญในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อมองถึงคาดหวังต่อนโยบายของกรุงเทพมหานครจากผู้ว่า กทม. คนใหม่นั้น พบว่า สภาพปัญหาที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครรู้สึกอึดอัดและต้องการการแก้ไขปัญหามากที่สุดยังคงเป็นเรื่องของปัญหาการจราจร (ร้อยละ 26.7) และปัญหาเรื่องของวิถีการใช้ชีวิตปกติ (ร้อยละ 20.0) ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19
โดยมีปัญหาเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม และการฉีดวัคซีนเป็นปัญหาที่มีความสำคัญตามมา ทั้งนี้ย่อมพบว่า วัคซีนที่ทางกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรจากทางรัฐบาลนั้น ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ดังเห็นได้ว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความต้องการ Pfizer, Moderna และ Johnson & Johnson รวมเกินกว่าร้อยละ 70
เมื่อพิจารณาเรื่องภูมิหลังด้านการประกอบอาชีพของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่ามาจากอาชีพอื่นๆ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 80.0 รองลงมาคือ นักการเมือง คิดเป็นร้อยละ 11.1 และสุดท้ายคืออาจารย์ และทหาร คิดเป็นร้อยละ 4.4) ตามลำดับ ย่อมอธิบายได้ว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานครนั้นไม่ให้ความสำคัญกับภูมิหลังในการประกอบอาชีพของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากนัก ซึ่งเป็นผลเกิดจากความต้องการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และเข้าใจปัญหาในรูปแบบ “การแก้ไขแบบสหวิถี (Multi-Application Solution) ที่ต้องบูรณาการทั้งองค์ความรู้ เทคนิค และวิธีการ ที่สอดคล้องกับสภาพหรือบริบทปัญหาที่แตกต่างกัน บนพื้นฐานความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
ประสบการณ์การทำงานที่เชี่ยวชาญเพียงด้านใดด้านหนึ่งจึงอาจไม่เพียงพอในการตอบโจทย์ของปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนในมหานครของกรุงเทพมหานคร
ส่วนแนวโน้มเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานครตามพรรคหรือกลุ่มที่สังกัดของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่แน่ใจหรือลังเลใจ คิดเป็นร้อยละ 51.1 และรองลงมาคือ เลือกตามพรรคหรือกลุ่มที่สังกัด คิดเป็นร้อยละ 28.9 ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าผู้สมัครควรเป็นผู้สมัครอิสระ คิดเป็นร้อยละ 51.1