“ดร.พิสิฐ” ติง "สตง" ตรวจงบรายงานงบการเงิน กสทช. ล่าช้าถึง 3 ปี แนะให้องค์กรต้องโปร่งใส หลังพบจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคาเป็นส่วนใหญ่
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในวาระรับทราบการแจ้งผลการตรวจสอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และการตรวจสอบการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินสำหรับปี 2561 ของ สนง. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
โดยระบุว่า ขอบคุณ สตง. ที่รับเป็นเจ้าภาพในการชี้แจง ซึ่งการมาชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ตนอยากให้ คกก. กสทช. ซึ่งควรเป็นผู้รับผิดชอบผลการดำเนินงานกสทชเป็นผู้มาชี้แจงมากกว่า เพราะงบการเงินนี้เป็นเรื่องของหน่วยงาน และ สตง. ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน แต่งานเป็นของ คกก. กสทช. ทั้ง 7 ท่าน ดังนั้นในครั้งต่อไปขอเสนอให้มี คกก. กสทช. มาร่วมเป็นผู้ชี้แจงด้วย
ในการทำหน้าที่ของ สตง. ตามมาตรา 69 นั้น ตนยอมรับว่า สตง. ทำหน้าที่เป็นนักบัญชี และตรวจการใช้เงินตามตัวหนังสือ แต่เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้วิเคราะห์ประสิทธิผล กสทช นั้น น่าจะมองมากไปกว่านั้น และควรต้องการให้ดูว่า เมื่อมีการตั้ง กสทช. ขึ้นแล้ว ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศอย่างไรในเรื่องการเสริมสร้างให้มีเทคโนโลยี ดิจิทัลเกิดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะการดูแลตลาดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง อีกด้านหนึ่งคือดูแลให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในที่ห่างไกลสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ดังนั้นตนจึงอยากให้มีการประเมินว่า กสทช. ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์เหล่านี้หรือไม่ จะได้มีการทุ่มเทการทำงานให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้
ด้วยเหตุนี้ ดร.พิสิฐ จึงอยากเห็นเอกสารฉบับนี้รายงานถึงเทคโนโลยี ดิจิทัล ทางด้านสื่อสารว่า ประเทศไทยทุกวันนี้มีความก้าวหน้า หรือล้าหลังตรงไหนอย่างไรบ้าง อยากให้มีการประเมินว่า สิ่งที่ กสทช. ทำไปแล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรโดยตรง มีกี่หมู่บ้าน กี่ครัวเรือน ประชาชนกี่คนมีโอกาสได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เข้าถึงระบบโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน และสถานศึกษา
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นมา 10 ปีเศษ ได้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ต้องเวิร์คฟรอมโฮม หรือทำงานจากบ้าน และจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือการสื่อสารมาช่วย จึงอยากให้มีรายงานในเรื่องดังกล่าว ในการเขียนรายงาน ขอให้ดูตัวอย่างรายงานของ สสส. เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน การใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีอย่างไร ซึ่งเป็นการทำรายงานที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมายของกฎหมาย สสส
“ผมคิดว่าขอบเขตของงาน ไม่ได้จำกัดเฉพาะตรวจดูตัวเลขว่ามีทรัพย์สินเท่าไหร่ มีการประมูลอย่างไรเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องการตรวจสอบธรรมดา แต่การทำตามมาตรา 69 ก็ควรจะให้สภาแห่งนี้ หรือประชาชนได้ทราบว่าเทคโนโลยีสื่อสาร หรือโทรคมนาคมต่างๆ ที่รับผิดชอบ เวลานี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับใดของโลก เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นประเทศที่มีความทันสมัย ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เพราะผมเชื่อว่าเทคโนโลยีสื่อสารนี้จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการสร้างรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างถ้วนหน้า ถ้ามีการกระจายเทคโนโลยีได้ทั่วถึง ไม่ไปกระจุกตัวเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น” ดร.พิสิฐกล่าว
พร้อมกับท้วงติงเพิ่มเติมว่า เวลานี้เราอยู่ในปี 64 อีกไม่กี่วันจะเป็นปี 65 แต่จากที่สตงได้ไปตรวจสอบประเมินผลมานั้น เป็นงานของเก่าตั้งแต่ปี 61 ซึ่งในปีที่แล้วสภาแห่งนี้ได้ดูงบของ กสทช. ปี 62 และตนเป็นคนหนึ่งที่ท้วงติงว่าเหตุใดงบปี 62 จึงยังไม่ได้รับการรับรองจากสตงแต่มีการชี้แจงต่อสภา โดย กสทช. ให้เหตุผลว่าเงื่อนเวลาไม่ตรงกัน ทำให้แปลกใจว่าเหตุใดเอกสารที่นำเสนอครั้งนี้จึงเป็นงบปี 61 และเมื่อไปตรวจดูก็พบว่า ท่านทำงานตรวจสอบระหว่าง 1 ต.ค. 63 – 25 ก.พ. 64 แล้วจึงมานำเสนอต่อสภา ซึ่งใช้เวลาเกือบปีกว่าจะมาถึง ตนจึงอยากให้ใช้เวลาให้สั้นลง
“ณ เวลานี้เราอยู่ในช่วง ธ.ค. 64 ท่านคงกำลังตรวจงบของปี 62 และปีข้างหน้า ถึงจะเอามาให้เราดูอีกที ผมคิดว่าอันนี้มันช้าไป อย่างน้อยงบที่เข้าสภา ควรจะต้องปีต่อปี ไม่ใช่เว้นห่างไปตั้ง 3 ปี และในรายงานหน้า 34 ก็อยากท้วงติงต่อผู้บริหาร กสทช. ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ท่านยังคงใช้วิธีตกลงราคา หรือเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 63 วิธีการแบบสอบราคา หรือประกวดราคามีไม่ถึง 20% ซึ่งจะเป็นการแสดงถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือที่มีมูลค่ามหาศาลด้วย จึงขอให้ผู้บริหาร กสทช. ว่า องค์กรควรมีความโปร่งใส จัดการซื้อจัดหาต่างๆ ซึ่งใช้เงินเป็นหลักร้อยล้าน พันล้าน ด้วยวิธีการประกวดราคาน่าจะถูกต้องมากกว่า” ดร.พิสิฐกล่าวในที่สุด