Saturday, 17 May 2025
POLITICS

นับถอยหลัง ‘สุชาติ’ คว้าเก้าอี้ประธานสภาฯ ‘ทิม  พิธา’ เต็งหาม ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ

28 มิ.ย. เห็นนสพ.(ไทยโพสต์  รายวัน)พาดหัวตัวเป้ง..”14+1 หักก้าวไกล” พร้อมคำขยายว่า..เพื่อไทย ล็อกเก้าอี้ประธานสภา  ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้น..”เล็ก  เลียบด่วน” ไม่ได้โม้...ประเด็นนี้ได้ฟันธงมานานแล้ว  และไม่แต่เก้าอี้ประธานสภาฯเท่านั้น ยังได้ฟันธงว่า..ที่สุดของที่สุด คุณพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์   ก็จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่างหาก..

งานนี้พรรคก้าวไกลก็คงได้ลิ้มรสชีวิตจริงทางการเมืองมากขึ้น...ความฮึกเหิมทางการเมืองที่คิดจะกินรวบประเภท 14+2  คือ  กวาด 14 รัฐมนตรีว่าการ  กับอีกสองเก้าอี้ใหญ่คือ นายกรัฐมนตรีและเก้าอี้ประธานสภาฯ ในขณะที่คะแนนต่างกับเพื่อไทยแค่ 10 เสียงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะอ่านออกมาแต่ต้นว่าพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะยอมได้...

ท่าที ท่วงทำนองฮึกเหิมห้าวหาญของพรรค”ด้อมส้ม” ไม่อาจมองเป็นอย่างอื่นได้นอกจากมองว่า..พวกเขาเชื่อมั่นใน 14 ล้านเสียงจนมากเกินไป และเบื้องลึกผู้ทรงอิทธิพลในพรรคหรือโปลิตบูโรพรรคอาจจะกดปุ่มให้เดินเกมได้เสีย   คือถ้าได้ต้องได้ทั้งสองเก้าอี้ใหญ่  ถ้าไม่ได้ก็จะเป็นฝ่ายค้านสร้างความเชื่อมั่นรอส้มทั้งแผ่นดินในการเลือกตั้งครั้งหน้า...

อย่างไรก็ตาม..สงครามยังไม่จบ “เล็ก  เลียบด่วน” ก็ยังไม่อยากนับศพทหาร..ฟังมาว่าวงเจรจาเก้าอี้ประธานสภาวันสองวันนี้ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน    จะเปิดอกคุยกันอีกครั้งในวันที่ 30 มิ.ย.  คุณหมอชลน่าน  ศรีแก้ว  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าแม้พรรคจะยืนยันในหลักการ 14+1  แต่ยังไม่ใช่มติพรรค...ต่อเมื่อไปคุยกับพรรคก้าวไกลอีกครั้งถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก็จะใช้มติพรรคว่าเดินหน้าต่ออย่างไร...

นั่นคือท่าทีเชิงเทคนิคของคุณหมอชลน่าน...

ในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้นยังไม่มีอะไรแหลมคมออกมามากไปกว่าตอนทุ่มเศษที่มีการเปิดตัว “หมออ๋อง”  ปดิภัทธ์  สันติภาดา   ส.ส.สมัยที่สองจากพิษณุโลก   ซึ่งหลายคนบอกว่าเขาคือสัตวแพทย์ปากจัด..  เป็นตัวชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ หลังจากพรรคเพื่อไทยเปิดเกมแถลงยืนยันสูตร 14+1 ตอน5โมงเย็น...เรียกว่าสองพรรคเริ่มเปิดฉากออกอาวุธชิงไหวชิงพริบกันแล้ว    ทั้งนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนาทีนี้หวยล็อกเก้าอี้ประธานสภาฯยังไม่เปลี่ยนไปจาก “พ่อมดดำ” สุชาติ  ตันเจริญ   ส.ส.9 สมัย  เป็นรัฐมนตรีมา 2 สมัย  รองประธานสภาฯมา 2 สมัย..

ครับ..สุดท้ายถ้าสองพรรคใหญ่เจรจาตำแหน่งประธานสภาฯกันไม่ได้ก็ต้องนำไปสู่การฟรีโหวตโดยที่ประชุมสภา  ซึ่งก็เดาไม่ยากว่าพรรคก้าวไกลจะแพ้หลุดลุ่ย...และหลังจากนั้นก็แทบจะพูดได้ว่าจบเกม..หรือที่คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยบอกกว่า “จบเห่” นั่นเอง...หรือแม้แต่คุณหมอชลน่านก็ยอมรับว่าถ้าสถานการณ์ลากไปถึงขั้นฟรีโหวตมันจะไม่เป็นผลดีกับการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล  ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยประการทั้งปวง...

สุด..ไม่ว่าจะฟรีโหวตไม่ฟรีโหวตก็ฟันธงว่า เพื่อไทยจะคว้าเก้าอีกประธานสภาฯมาครอง...คำถามใหญ่กว่าที่รอยู่เบื้องหน้ามีอยู่สองประการคือ...หนึ่ง) รัฐบาลใหม่จะยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลหรือไม่   สอง)ใครจะเป็นนายกฯ ซึ่งในชั้นนี้เขียนชื่อแปะไว้ข้างฝาเป็นครั้งที่สิบว่า..ถ้าไม่ใช่ชื่อ ป้อม  ประวิตร ก็ จะเป็น  นิด  เศรษฐา  หรืออุ๊งอิ๊ง  แพทองธาร...

ส่วน ทิม  พิธา  นั้น  เป็นเต็งจ๋าเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  -เอวัง

‘ชวน’ เตือนสติ ปมขัดแย้งชิง ประธานสภาฯ ยึดตามอำเภอใจ ปัญหาไม่จบ แนะ ก้าวไกล-เพื่อไทย ให้หารือกันใกล้ชิด

28 มิ.ย. 2566 นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปีก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิถุนายน ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น สภา จะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของส.ส. ที่ผ่านมาเคยมีกรณีประธานสภา ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม ที่ผ่านมาพบว่าพรรคที่ได้เสียงใกล้เคียงกัน จะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลเพราะจะทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน ใครที่ได้เสียงข้างมากชัดเจน ตกลงได้ว่าได้เป็นนายกฯและประธานสภา

เมื่อถามว่าขณะนี้เสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน นายชวน กล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งปันตำแหน่ง ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ตนมองว่าง่ายกว่าในอดีต เพราะมีเพียง 8 พรรค ขณะที่มีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง แต่เที่ยวนี้ดูแล้วมีปัญหา เพราะมีประเด็นความต้องการประธานสภา และ ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเขามีเหตุผลและเป็นปกติที่เป็นไปได้ แต่หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ

ต่อข้อถามว่าพรรคก้าวไกล กังวลว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะผลักดันกฎหมายของตนเองไม่ได้ นายชวน กล่าวว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประธานสภา ไม่สามารถทำตามอำเภอใจหรือทำสิ่งที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมได้

ส่วนที่ระบุว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะไม่ได้ตำแหน่งนายกฯนั้น ก็ไม่จริง เพราะการเลือกนายกฯ ต้องลงมติจากสมาชิก ซึ่งประธานสภา ต้องดำเนินการตามมติของสภา ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ ประธานสภาจะเกี่ยง ถ่วง หรือเสนอชื่อคนอื่นไม่ได้ ดังนั้น หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ตำแหน่งนายกฯ จะมีปัญหานั้นไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งการผลักดันกฎหมาย ประธานสภาไม่สามารถทำตามอำเภอใจว่าจะเอากฎหมายของใครขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ต้องเป็นไปตามลำดับการเสนอจากสมาชิก หากจะเปลี่ยนวาระต้องขอมติจากที่ประชุม ไม่ใช่อำนาจของประธานสภา

“ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เอาทุกอย่างเป็นของตนเอง ต้องต่อรองกัน เช่นกระทรวง ผมมองว่าหากเขาพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด และเข้าใจภารกิจบทบาทหน้าที่ การแบ่งอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง แต่ที่มีความขัดแย้งมาก เพราะไม่เข้าใจหลายเรื่อง” นายชวน กล่าว

สำหรับปัญหาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ตนมองว่าหากเข้าใจบทบาทสภา จะทำให้มีข้อยุติง่าย แต่หากไม่เข้าใจและมองว่าประธานสภาบันดาลให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้ แบบนี้หารือกันยาก หากไม่แน่ใจว่าการตั้งนายกฯ จะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่าน เขาไม่ได้ทั้งนายกฯ และประธานสภา จนกลายเป็นความวิตก

“ผมมองว่าหาก 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้คุยกันได้ง่าย ดังนั้นปัญหาของประธานสภาฯ ควรยุติด้วยการศึกษา เข้าใจ ในบทบาท อำนาจ หน้าที่ ทุกฝ่ายไม่สามารถเอาอะไรได้ตามมอำเภอใจทุกอย่าง ที่ผ่านมาการตั้งประธานสภา ไม่มีปัญหา แต่สมัยนี้มีปัญหา” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวถึงสเปกประธานสภาว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องเตรียมตัว ศึกษากฎเกณฑ์ ข้อบังคับและระเบียบ คนที่ได้เป็นประธานสภา ต้องลาออกจากตำแหน่งในพรรค เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับพรรคตัวเอง หากพรรคเลือกคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้เลือกปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้

พรรคที่เลือกตัวแทนเข้ามา ต้องเลือกคนที่เป็นหน้าตาให้พรรค เพราะเลือกคนที่จะมาเป็นหัวหน้าของ 500 คนในสภา ดังนั้น พฤติกรรม นิสัยใจคอ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองต้องเลือกคนที่เข้ามาเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงต้องคำนึงด้วยว่าจะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ

‘กิตติศักดิ์’ ฟันธง ‘พิธา’ ชวด ‘นายกฯ’  เย้ย สว.หนุนไม่เกิน 5 คน จี้หยุดอ้าง 151 ส.ส. เป็นเสียงข้างมาก 

28 มิ.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ในฐานะคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เข้าให้ข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯพรรค ถือหุ้นสื่อไอทีวี พร้อมให้สัมภาษณ์ กล่าวถึงความเห็นของ ส.ว.ในการโหวตนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้คลื่นลมสงบได้ข้อยุติแล้ว และมองว่า กลุ่ม ส.ว.ที่สนับสนุนนายพิธาน่าจะน้อยกว่า 5 คน ซึ่งสิ่งที่ส.ว.ส่วนใหญ่ตัดสินใจ น่าจะเป็นการปิดสวิตซ์ตนเอง คือ การงดออกเสียง แต่ย้ำว่าส.ว.มีเอกสิทธิ์ส่วนตัวในการลงมติอย่างไรก็ได้

เมื่อถามว่า ถ้าเสียง ส.ว.ไม่ครบ ฟันธงว่านายพิธา ไปต่อไม่ได้เลยใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าหากวันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตนเชื่อว่าจะมีแคนดิเดตฯ มากกว่า 1 คน เพราะตามกฎหมายพรรคการเมือง พรรคที่ได้ส.ส.เกิน 25 คนสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้

เมื่อถามว่ามีพรรคอื่น ที่ไม่ใช่พรรคก้าวไกล มาพูดคุยกับส.ว.เพื่อขอเสียงโหวตสนับสนุนเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีพรรคใด ที่จะมาเจรจาพูดคุยกับ ส.ว.แล้ว เพราะ ส.ว.มีคำตอบในใจแล้ว แต่สิ่งที่ให้สัมภาษณ์วันนี้ คือ ให้สังเกตพรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีน่าจะมีมากกว่า 1 พรรค

เมื่อถามว่า ฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตย และฝ่ายรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ส.ว.ถูกใจฝั่งไหนมากกว่า นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “ส.ว.กิตติศักดิ์ อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นการอ้างประชาธิปไตย ตนคิดว่าอาจเป็นประชาธิปไตยปลอมก็ได้”
เมื่อถามว่าถ้าพรรคก้าวไกล เสนอชื่อนายพิธา แล้วไม่ผ่าน และพรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เดี๋ยวจะหาว่าส.ว.อะไรก็ไม่เอา เรามองแล้วว่าบ้านเมืองต้องเดินไปได้ ตนขอบอกเทปเดิม ว่าบ้านเมืองต้องเดินต่อไปได้ ขณะนี้หากนายพิธาไปไม่ได้ พรรคอันดับ 2 ก็ต้องขึ้นมา เพราะเราต้องการให้บ้านเมืองเดินไปได

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าพรรคเพื่อไทย จะได้ใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนตอบตรงนี้ชัดเจนไม่ได้ เพราะ ส.ว.ไม่ก้าวก่ายการจัดตั้งรัฐบาล แต่บอกได้แค่ว่า จะมีการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมากกว่า 1 พรรค ส่วนพรรคใดจะได้หรือไม่ได้ ส.ว.ไม่ไปก้าวก่าย

เมื่อถามว่า จากกระแสข่าวในขณะนี้ การเมืองถึงขั้นพลิกขั้วหรือไม่ เพราะตามที่ระบุว่ามีแคนดิเดตนายกฯเพิ่ม นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เอาเป็นว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่อ้างกันมา และผมเรียนในขณะนี้ ยังมีฝ่ายประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เป็นอีกฝ่ายหนึ่ง
ส่วนที่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกคนนั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ถ้ามีชื่อของพล.อ.ประวิตร ก็ต้องไปดูก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งเราไม่ก้าวก่ายการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อถามถึงหลักการของส.ว. จะยกมือให้พรรคที่รวมเสียงส.ว.ได้เกินครึ่งของสภา ไม่ใช่ยกมือให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “ตนเคยพูดแล้วว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว บ้านเมืองก็เดินไปไม่ได้ บริหารประเทศไม่ได้ แต่ถ้าจะเป็นรัฐบาล ต้องไปรวบรวมเสียงให้ได้เกินครึ่ง คือ 376 เสียง แบบนี้บ้านเมืองถึงจะเดินไปได้ แต่หากมีส.ส.อยู่ 100 กว่าเสียง แล้วไปจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวไม่เห็นด้วย

เมื่อถามย้ำว่า ที่ออกมาพูดว่านายพิธา ไม่น่าจะผ่านการเลือกของส.ว.ถือเป็นการพูดแทนของส.ว.ทั้งหมดหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งทัวร์จะมาลงก็ขยายพื้นที่ไว้ มาลงที่กิตติศักดิ์ได้ แต่ไม่ลงที่ ส.ว.คนอื่น และที่บอกมีคนโหวตให้นายพิธา น้อยกว่า 5 คน มันก็คือโลกความเป็นจริง เพราะเราประเมินแล้วว่า ส.ว.ได้รับการโปรดเกล้าฯ ถ้าจะไปสนับสนุน พรรคการเมืองที่ต้องการแตะสถาบัน ผมก็ไม่ทราบว่าจะตอบสังคม ประชาชนได้อย่างไร”

เมื่อถามว่า การโหวตของส.ว.อาจไปสู่การลงบนถนน หรือเกิดความวุ่นวาย นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนพูดมานานแล้ว ไม่ว่าใครจะมาจัดตั้งรัฐบาล ในสถานการณ์แบบนี้ ความวุ่นวายมีแน่นอน ไม่ว่าจะฝ่ายพรรคก้าวไกล หรือฝ่ายอื่น ความขัดแย้งก็ยังมี แต่ถ้าเป็นพรรคอื่น ที่ไม่ใช่พรรคก้าวไกล ความขัดแย้งก็ยังมีแต่จะน้อยลง

เมื่อถามว่า ส.ว.จะตอบกองเชียร์พรรคก้าวไกลอย่างไร เพราะเป็นการโหวตฝืนมติของประชาชนที่เลือกตั้งมา นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าพูดเรื่องตัวเลข ก็เป็นทราบกันอยู่ว่า ไม่ได้บ่งชี้ว่า ถ้าพรรคอันดับ 1 ได้ไม่เกินครึ่งของสภา คือ 250 จะบอกว่าได้เสียงข้างมากเลยก็ไม่ได้ ยกตัวอย่างปี 2562 พรรคเพื่อไทยก็ได้อันดับ 1 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นั้นคือข้อเท็จจริง ดังนั้นปี 2566 ก็อาจกลับไปคล้ายปี 2562 ก็ได้

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ยังตกลงตำแหน่งประธานสภาไม่ได้ มองว่าจะแตกกันหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น เป็นเรื่องของส.ส.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างสัมภาษณ์ นายกิตติศักดิ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา พร้อม ว่าที่ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี เดินทางเข้าให้ข้อมูลกับ กกต. เช่นกัน โดยระบุสั้น ๆ ว่าวันนี้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ กกต.ในประเด็นว่าด้วยการขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของนายพิธา คาดว่าจะใช้เวลาหารือพอสมควร

‘ปกรณ์ จีนาคำ’ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ ให้กำลังใจ จนท.ศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยฯ เร่งสนับสนุนดูแล ด้านสาธารณสุข

นายปกรณ์ จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่บริเวณบ้านพะแข่ ตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อดูสถานการณ์ผู้อพยพจากเหตุการสู้รบประเทศในรัฐคะเรนนี ประเทศเมียนมา ซึ่งขณะนี้มีผู้อพยพลี้ภัยสงครามเข้าไทยต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ ๆ เกี่ยวข้องต้องทำงานกันอย่างหนัก ตนจึงไปให้กำลังใจเจ้าหน้าทหาร อาสาสมัคร ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และจิตอาสาทุกคนที่ปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้อพยพกว่า 830 คน

"ผมขอขอบพระคุณ กลุ่มสะพานบุญครูหนึ่ง เพื่อนอนุบาลแม่ฮ่องสอน และผู้มีจิตรศรัทธาทุก ๆ ท่าน ที่บริจาคสิ่งของต่าง ๆ  เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาในครั้งนี้ และขอขอบคุณหน่วยงานปกครอง ทหาร ท้องถิ่น สาธารณสุข เข้ากำกับควบคุมดูแลผู้ลี้ภัยได้ดีมาก"

ทั้งนี้ นายปกรณ์ ได้แสดงความห่วงใยในจัดการระบบสาธารณสุข เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในศูนย์อพยพแห่งนี้  ซึ่งได้เร่งให้การสนับสนุน เพื่อดูแลด้านสาธารณสุขในศูนย์  นอกจากนี้ในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอนยังมีศูนย์อพยพต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง ที่มีผู้ลี้ภัยมากว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นผู้อพยพที่เข้ามาเพิ่มเติม บ้านจอภาคี  บ้านอุนุ  ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง

‘กลุ่มพิราบขาว’ ยื่นศาล รธน. สอย ‘พิธา’ ปมคุณสมบัติ ด้าน ‘เสรี’ เย้ย มี ส.ว.หนุนนั่งนายกฯ ไม่เกิน 5 เสียง

(27 มิ.ย. 66) ที่รัฐสภา นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อขอให้ ส.ว.ร่วมกันลงชื่อร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งอาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส.มาตรา 42 (3) และกรณีโอนหุ้นให้กับบุคคลอื่นหลังวันเลือกตั้ง อาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

นายสมชาย กล่าวว่า ประเด็นหุ้นสื่อ ตนขอเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายพิธา และไม่มีปัญหากับการเป็นนายกฯ ส่วนที่เสนอให้ ส.ว.เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธานั้น ในความเป็นส.ส.ของนายพิธา ส.ว.ไม่สามารถทำได้ แต่หากเป็นประเด็นของนายกฯ ส.ว.ทำได้

เมื่อถามถึงนายพิธา มั่นใจว่าจะได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว.ให้เป็นนายกฯ นายสมชาย กล่าวว่า จากที่ตนพูดคุยกับ ส.ว.ที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกล พบว่าไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล เช่น การแก้ไขมาตรา 112 การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รวมถึงหมวด 1 หมวด 2 แต่เห็นด้วยกับบางนโยบาย ดังนั้น การลงมติเลือกของ ส.ว.ขอให้มั่นใจในดุลยพินิจ และวุฒิภาวะของ ส.ว.ที่จะพิจารณาในประเด็นสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบสุข

“ส.ว.ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล หรือคำนึงถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เปลี่ยนข้างหรือข้ามขั้วหรือไม่ แต่ประเด็นนายกฯ มีความเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาล ต้องพิจารณาสิ่งที่จะไม่ทำให้เกิดความกังวลในความมั่นคงของประเทศ และไม่นำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคง สำหรับบางนโยบายของพรรค พบว่าสุ่มเสี่ยง ดังนั้น ผมขอให้เอาออกเพื่อประโยชน์ของประเทศ” นายสมชาย กล่าว

ด้านนายเสรี กล่าวว่า เรื่องการถือหุ้นของนายพิธา อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิสภาอยู่แล้ว และในวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 10.00 น. กมธ.จะไปมอบให้กับประธานกกต. ขอทราบความคืบหน้าการตรวจสอบนายพิธา ที่ถูกตรวจสอบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 กรณีรู้ตัวขัดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครเลือกตั้ง และจะนำหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา และข้อมูลการถือครองที่ดิน 14 ไร่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของนายพิธาไปยื่นต่อ กกต. โดยเห็นว่า กกต. ควรส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนจะมีการเลือกนายกฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ส.ว.ตัดสินใจ

นายเสรี กล่าวว่า หลังจากนี้ ส.ว.จะเข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯของนายพิธา ที่ระบุต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 160 ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามการถือครองหุ้นสื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ในฐานะที่ ส.ว.ต้องมีส่วนร่วมเห็นชอบนายกฯ

ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามย่อมยื่นตีความให้ตรวจสอบได้ โดยควรยื่นให้ตรวจสอบก่อนจะโหวตเลือกนายกฯ แต่จะมีผลทำให้การโหวตนายกฯ ต้องยุติก่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะพิจารณา หาก กกต.ไม่ยื่นตีความคุณสมบัติของนายพิธา ก่อนโหวตนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ที่ ส.ว.จะเข้าชื่อกันยื่นตีความคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯของนายพิธา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ส.ว.ยื่นตีความคุณสมบัตินายกฯ ของนายพิธา จะทำให้ปลุกกระแสสังคมออกมาต่อต้านหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า กระแสสังคมคือส่วนหนึ่ง ความถูกต้องคือส่วนหนึ่ง ถ้ากระแสสังคมไม่ถูกต้อง จะยึดอะไรระหว่างความถูกต้องกับกระแส ถ้ายึดแต่กระแสก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

เมื่อถามว่านายพิธามั่นใจว่ามีเสียง ส.ว.เพียงพอจะโหวตให้เป็นนายกฯนั้น นายเสรีกล่าวว่า หากเสียงมากพอ ก็เป็นนายกฯ ได้เลย แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ส.ว.คนใดสนับสนุน นอกจาก 17 คน ที่มีชื่อและหลายคนก็บอกว่าถูกเอาชื่อไปใส่ และหลายคนบอกว่า ถ้าได้เสียงข้างมากจะเลือกให้เป็นนายกฯ แต่ตอนนี้ทุกคนพูดตรงกันว่าถ้าเสียงข้างมาก แล้วยังไปแก้มาตรา 112 ก็จะไม่ลงคะแนนให้

“เท่าที่ทราบตอนนี้มี 5 คน ที่จะโหวตให้ ส่วนตนยืนยันมาตลอดว่าหากมีการแสดงออก หรือมีการกระทำไปในแนวทางที่แก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่โหวตให้แน่นอน ดังนั้น การลงมติในครั้งนี้ ถึงไม่เหมือนกับการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 พร้อมยืนยัน ส.ว.มีอิสระในการตัดสินใจ ไม่มีใบสั่งจากใครนอกจากประชาชน” นายเสรี กล่าว

เมื่อถามว่า หากเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย จะทำให้สบายใจขึ้นในการโหวตให้เป็นนายกฯ หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องสบายใจหรือไม่สบายใจ แต่เป็นเรื่องที่ ส.ส.จะไปตกลงกันให้สบายใจ ไปจัดทัพรวบรวมเสียงกันมา เมื่อถึงตอนนั้น ส.ว.จะพิจารณาตามมาตรา 159 คือเลือกบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า หากแนวโน้มเป็นแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย จะมีภาษีมากกว่านายพิธาหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นใคร เพราะพรรคเพื่อไทยมี 3 ชื่อ ก็ต้องดูว่าเสนอใคร ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงยังตอบไม่ได้ ต้องพิจารณาก่อนว่าบุคคลนั้นเหมาะสมหรือไม่ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน

‘ลุงป้อม’ แจงบินไปอังกฤษ แค่เรื่องสุขภาพ ปัดดีล ‘ทักษิณ’ บอกไม่ได้โทรคุย ไม่ได้เจอกัน 18 ปีแล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงกรณีถูกจับตาในการเดินทางไปอังกฤษ ว่า ไปเรื่องสุขภาพ ดูแลร่างกายตัวเองส่วนไม่มีดีลลับหรือไปคบกับใครใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ไม่พบ พบกับใครอ่ะ เมื่อถามย้ำว่า มีกระแสข่าวไปพบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ตนจะไปพบได้อย่างไรเล่าไม่เจอกัน 18 ปีแล้ว เมื่อถามต่อว่าไม่ได้มีการโทรศัพท์พูดคุยกันใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธว่า ไม่มี โทรก็ไม่พูดกัน ไม่เคยพูดกัน

ส่วนกระแสข่าวหากมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี จะพร้อมหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่พูดถึงตรงนั้น ต้องรอไปก่อน เมื่อถามถึงการประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐจะมีการกำชับอะไรหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ก็เรื่องทั่วๆไปของ ส.ส.ใหม่ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎของสภา ส่วนจะมีการพูดคุย ถึงการโหวตประธานสภาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธว่า ไม่ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เดี๋ยวพูดกันในพรรคอีก ก็ต้องดูว่ามติในพรรคเป็นอย่างไร ส่วนจะเป็นไปในรูปแบบฟรีโหวตหรือรูปแบบมติพรรค ยังไม่รู้เลย ต้องประชุมก่อน
เมื่อถามถึงกระแสข่าวการที่พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ไม่มีๆ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างพล.อ.ประวิตร กับพรรคเพื่อไทย หากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กรณีต้องฝ่าทางตันทางการเมือง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ทราบ ก่อนเดินขึ้นรถกลับทันที อย่างไรก็ตามท่าทีของพล.อ.ประวิตร ทั้งช่วงก่อนและหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีมีท่าทีที่ยิ้มแย้มอารมณ์ดี

‘ณธีภัสร์’ สิ้นสมาชิกสภาพ ส.ส.ก้าวไกล จากคดีเมาแล้วขับ ด้าน ‘สภาฯ’ แจงจำนวนตัวเลข ส.ส.ล่าสุด เหลือ 499 คน

(27 มิ.ย. 66) ที่รัฐสภา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงการปรับตัวเลข ส.ส.จาก 500 คน เหลือ 499 คนว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือถามไปยังศาลอาญามีนบุรี เพราะทราบจากข่าวว่า น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต้องคดีเมาแล้วขับ ซึ่งวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางสำนักงานฯ ได้รับหนังสือจากศาลอาญามีนบุรีแจ้งว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ก็เท่ากับสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.แล้ว ตามมาตรา 101 (13)

ดังนั้น จำนวน ส.ส. จึงลดลง ซึ่งทางสำนักงานฯ ได้แจ้งไปทางพรรคก้าวไกล และ น.ส.ณธีภัสร์ ให้ทราบ ซึ่งได้ประสานเป็นการภายในกับ น.ส.ณธีภัสร์ แล้ว ส่วนหนังสือแจ้งทางการจะเป็นวันนี้

ส่วนการเลื่อนบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมาแทนนั้น นางพรพิศ กล่าวว่า จะต้องรอให้มีประธานสภา คนใหม่ก่อน และประธานสภา เลื่อนบัญชีของพรรคก้าวไกลขึ้นมาแทน โดยใช้เวลา 7 วัน

นางพรพิศ กล่าวต่อว่า สำหรับความพร้อมในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ซึ่งกำหนดการได้ลงมาแล้ว ดังนั้น ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ทางสำนักงานฯจะแจ้งทุกหน่วยงาน และสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้ทราบรายละเอียดในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระราชินีฯจะเสด็จพระราชดำเนิน ที่โถงรัฐพิธีชั้น 11 อาคารรัฐสภา ในเวลา 17.00 น.

ส่วนการประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภา 2 คน นางพรพิศ กล่าวว่า ทางสำนักงานฯ ได้ประสานกับทุกพรรคแล้ว ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันที่จะมีการประชุมสภานัดแรกในวันที่ 4 ก.ค. เวลา 09.30 น. ยืนยันว่า ทางสภาฯ เราซักซ้อมความพร้อมตลอดเวลาในเรื่องเปิดพิธีประชุมรัฐสภา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะมีบุคคลต่างๆ เข้ามาร่วมงานจำนวนมาก จึงประสานเจ้าหน้าที่สภาฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องให้เวิร์กฟรอมโฮม พร้อมขอความร่วมมือกับสื่อมวลชน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเข้ามาสภาฯ ในวันที่ 3 ก.ค.นี้

ส่วนวันที่ 4 ก.ค.ที่เปิดประชุมสภานัดแรก ทางสภามีความพร้อมในเรื่องของการลงคะแนน และขั้นตอนต่างๆ เพื่อเลือกประธานสภา โดยมีการซักซ้อมกับประธานสภาชั่วคราวที่อาวุโสสูงสุดเรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับส.ส.บัญชีรายชื่อที่เลื่อนขึ้นมาแทนน.ส.ณธีภัสร์ คือ นายสุเทพ อู่อ้น ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 27

‘ชลน่าน’ เชื่อรัฐบาลข้ามขั้วไม่เกิด  ย้ำดัน ‘พิธา’ นั่งนายกฯ ปัดดีลลับ ‘ลุงป้อม’

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 27 มิ.ย.66 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกรรมการบริหารพรรค และประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยวันเดียวกันนี้ จะมีความชัดเจนถึงขั้นมีรายชื่อออกมาเลยหรือไม่ว่า

เรามีคณะเจรจาที่จะไปคุยกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งจะหารือกันวันที่ 28 มิ.ย. วันนี้คงยังยกรายชื่ออะไรออกมาก่อนไม่ได้ ต้องรอให้คุยกับพรรคก้าวไกลก่อน ส่วนจะมีมติพรรคหรือไม่นั้น มติพรรคจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่เราทราบความต้องการของสมาชิกพรรคที่อยากให้พรรคเพื่อไทย ได้ตำแหน่งประธานสภา ซึ่งคณะเจรจาก็มีข้อเสนออีกมุมหนึ่ง จึงจะนำสองมุมมองนี้มาหารือร่วมกันก่อนไปคุยกับพรรคก้าวไกลว่าทั้งสองพรรคจะมีทางออกอย่างไร

เมื่อถามว่าหากคุยกับพรรคก้าวไกลแล้ว ก่อนโหวตเลือกประธานสภาฯ วันที่ 4 ก.ค. พรรคเพื่อไทยต้องมีการประชุมส.ส.กันอีกครั้งหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทุกอย่างต้องจบก่อนวันที่ 4 ก.ค. มั่นใจจบได้ด้วยดี แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นก็อาจมีการประชุม ส.ส.ก่อนวันที่ 4 ก.ค. และเชื่อวันลงมติเสียงพท.จะไม่แตก
เมื่อถามว่าหากมีการลงมติกันแล้วมั่นใจว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย.จะโหวตทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอนนี้เรายังไม่ใช้ที่ประชุมเพื่อลงมติ เพราะการเจรจายังไม่สิ้นสุด หากเอามติพรรคไปเป็นข้อเจรจา การหารือจะลำบาก เราต้องไปฟังคู่เจรจาก่อนว่าจากมุมของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเห็นอย่างไร เราคุยกันแบบพรรคร่วมที่จะต้องจับมือร่วมกันไป เรารู้ว่าเราแยกกันไม่ได้ และเราเองก็ไม่มีทางที่จะแยกกันได้ด้วย ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ถูกมัดด้วยอาณัติของประชาชนเช่นนี้จึงแยกยาก ต้องจับมือร่วมกันไปเพื่อทำงานตามที่ประชาชนมุ่งหวัง คือรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน 

เมื่อถามย้ำว่าไม่ว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภาฯไป เสียง 8 พรรคร่วมจะไม่แตกใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องจับมือกันไป ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ หรือคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันเพื่อจับมือกันไปอย่างมั่นคง เมื่อถามว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้วจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในมุมพท.มั่นใจไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นแต่ในมุมมองของสื่อ

เมื่อถามถึงความกังวลในการเสนอชื่อนายกฯ แข่งของฝ่ายรัฐบาลเดิมในวันโหวตเลือกนายกฯ เมื่อรวมกับเสียงของส.ว.จะได้รัฐบาลเสียงข้างน้อย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็มีความเป็นไปได้เพราะเขามีสิทธิที่จะทำ หากเขาทำเช่นนั้นโอกาสได้นายกฯ สูงมาก เพราะเขามีเสียง 188 บวกกับ ส.ว.250 ก็เกิน 276 เสียง ก็ถือเป็นข้อกังวล แต่หากการโหวตครั้งแรกๆ เขาน่าจะมีความละอาย ไม่เกรงกลัวต่อบาปก็ได้ ดังนั้นเขาน่าจะละอายที่ไม่เสนอชื่อนายกฯ เสียงข้างน้อยมาแข่ง อย่างไรก็ตาม หากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง เรามีหน้าที่รับมือไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

เมื่อถามว่า ส.ว.บางคนแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่โหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คนที่ตัดสินคำนั้นดีที่สุดคือประชาชน เพราะประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เหตุผลที่เขาจะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย คือเขาเป็นนายกฯ เพื่อยุบสภาฯ และสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลเท่านั้น ต้องถามว่าประชาชนเอาหรือไม่ รับได้หรือไม่

เมื่อถามว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะประสานกับ ส.ว.ก่อนการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นหน้าที่หลักโดยเฉพาะของพรรคก้าวไกลที่ต้องพูดคุย หาเสียงจาก ส.ว.และ ส.ส.จากพรรคอื่นที่ไม่ได้ประกาศเข้าร่วมรัฐบาล ให้ได้เสียง 376 เสียงเพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ แต่หากพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็ต้องมีคำตอบให้ประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร เขาจะได้หาวิธีการและช่องทางในการตัดสินอนาคตของประเทศได้ว่าเขาจะทำอย่างไร แต่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะมีแผนสำรองอยู่ตลอด เราเองในฐานะ 8 พรรคร่วมไม่สามารถพูดได้ว่าเรามีแผนสำรอง เรามีแบบแผนหลักคือจะทำอย่างให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนายพิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30 เท่านั้น

เมื่อถามว่าหากวันนั้นโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ไม่สำเร็จ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะทำอย่างไรต่อ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า“ไม่ใช่ว่าพรรคอันดับ 2 เดินอย่างไร แต่ต้องทั้ง 8 พรรคมาคุยกัน”
เมื่อถามว่าหากเป็นพรรคเพื่อไทย จะสามารถรวมเสียงได้ 376 เสียงหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ด้วยความเคารพ ผมพยายามที่จะไม่ตอบคำถามนี้ เพราะผมตอบไม่ได้จริงๆ หากตอบจะกลายเป็นเงื่อนไขที่เราพยายามแย่งจัดตั้งรัฐบาลซึ่งไม่ดี”

เมื่อถามถึงกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อดีลลับกับพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าไม่มีดีลลับ เพราะถ้ามีเขาต้องมาแจ้งผม ซึ่งคนดีลกลับมาแล้ว และในนามหัวหน้าพรรคยืนยันไม่ได้รับการแจ้งเบาะแสเรื่องที่เป็นข่าว โดยสรุปคือเราไม่มีดีลลับ”

เมื่อถามต่อว่าเป็นการดิสเครดิตทำลายพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แล้วแต่จะมอง เราชินชาแล้วแต่ก็คงไปห้ามไม่ให้มีข้อวิจารณ์ไม่ได้ แต่เรายืนยันว่าจะยึดในวิถีประชาธิปไตยและประชาชนเป็นหลัก

‘อนุทิน’ โพสต์เฟซบุ๊ก โชว์บัตรประจำตัว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ 

26 มิ.ย. 2566-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย(ภท.) และหัวหน้าพรรค ภท. โพสต์เฟซบุ๊ก Anutin Charnvirakul โชว์บัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมระบว่า “เริ่มต้นการเป็น ส.ส. สมัยที่สอง”

‘พรเพชร’ เชื่อ ไม่เลื่อนวันโหวตประธานสภาฯ 4 ก.ค. คาดใช้เวลาไม่นาน ชี้ลงมติเลือกนายกฯ เสียง ส.ว. ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน

วันที่ 26 มิ.ย. 2566 – ที่วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา วันที่ 3 ก.ค. ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เวลา 17.00 น. โดยมี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ส.ส. และ ส.ว. สำหรับความพร้อมตนได้ลงพื้นที่ตรวจดูความเรียบร้อยแล้ว จะเป็นห่วงแค่แม้จะเป็นห้องโถงใหญ่ แต่เนื่องจากจะมีผู้เข้ามาร่วมจำนวนมาก เกรงว่าที่จะคับแคบ แต่คิดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย และกำชับส่วนต่างๆ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

ส่วนการรายงานตัว ส.ส. ทราบใกล้จะครบแล้ว และจะประสานไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพราะในวันที่ 4 ก.ค. จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เวลา 09.00 – 09.30 น. สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตประธานสภาฯ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยจะเป็นการประชุมลับและลงมติลับ ส่วนวิธีการโหวตทำได้ 2 แบบ โดยแบบแรก คือการกดปุ่มแสดงตน แต่วิธีนี้สามารถค้นหาย้อนหลังได้ว่าใครเลือกใคร ส่วนวิธีที่ 2 เป็นการหย่อนบัตร ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลานานหน่อย แต่ต้องดูว่าเขาจะใช้วิธีไหน

เมื่อถามว่า วันโหวตเลือกประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี จะมีการเลื่อนวันอีกหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่ดุลพินิจของตน ตนไม่มีดุลพินิจที่จะไปสั่งการอะไรทั้งสิ้น ถ้าสภาฯ พร้อมเมื่อไหร่ก็จะมีการแจ้งมา และก็จะดำเนินการ ทั้งนี้ การโหวตเลือกประธานสภาฯ ยังเป็นวันที่ 4 ก.ค. ยกเว้นหัวหน้าพรรคต่างๆ ไปตกลงกันใหม่ร่วมกัน อาจจะเปลี่ยนก็ได้ แต่ขณะนี้เชื่อว่าจะไม่เปลี่ยน และวันนั้นจะมีการโหวตเลือกรองประธานสภาฯ 2 คนด้วย

ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า คุณสมบัติของประธานสภาฯ ตนไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ว่า เป็นคนอายุน้อยหรือเป็นคนอายุมากที่มีประสบการณ์ เพราะการเลือกประธานสภาแต่ละครั้งมีเหตุผลต่างกัน แต่หลักที่ปฏิบัติกันมาตามปกติประธานสภาฯ จะเป็นของพรรคที่มีเสียงข้างมาก แต่บางครั้งก็ไม่เป็น แต่มันก็ต้องมีเหตุผล ซึ่งเขาก็ต้องอธิบายได้

เมื่อถามว่า ทิศทางการโหวตนายกฯ ของ ส.ว. เสียงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า พูดได้เลยว่าไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรอก ตนไม่ทราบว่าใครคิดยังไง เขามีความคิดของเขา แต่ละคนมีเหตุผลและวุฒิภาวะ เลือกที่จะตอบได้ว่าทำไมถึงเลือกและทำไมถึงไม่เลือกในการออกเสียง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้มาพูดคุยด้วยหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ได้มาพูดคุย เพราะท่านทราบดีว่าตนต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ซึ่งไม่มีพรรคไหนมาคุยกับตน เพราะพวกเขาทราบว่าตนต้องทำหน้าที่อย่างไร

ส่วนวันโหวตนายกฯจะเรียบร้อยหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไรไม่เรียบร้อย แต่อาจจะมีความวุ่นวายในช่วงการอภิปราย ก็คิดว่าทุกท่านก็คงเข้าใจว่าต้องใช้สิทธิ์อยู่ในกรอบในการอภิปรายหรือการชี้แจงตามขอบเขต ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรวุ่นวาย

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทาง ส.ว. จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นายพรเพชร กล่าวว่า ไปทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่ตนคิดเอาเองอาจจะมีการซักถาม หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไร แต่ก็เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯที่จะดูแลเรื่องความเรียบร้อย
สำหรับคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นนายกฯ นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า เลือกคนดีคนเก่ง นี่เป็นหลักอย่างหนึ่ง ดีและเก่งสามารถนำพาประเทศชาติ ให้มีความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย ตนย้ำมาโดยตลอดขอให้ ส.ว. ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ และที่สำคัญต้องคำนึงถึงประเทศชาติ

เมื่อถามว่า สังคมกดดันให้เลือกนายกฯ จากฝั่งรัฐบาลเสียงข้างมาก นายพรเพชร ถามกลับว่า สังคมหมายถึงใคร ผู้สื่อข่าวบอกว่า พรรคที่มีประชาชนเลือกมาเป็นอันดับ 1 นายพรเพชร กล่าวว่า ก็คงเป็นธรรมดาที่ประชาชนอยากให้พรรคที่เลือกได้สมประสงค์ แต่ก็ขอให้อยู่ในขอบเขต

'ชัยวุฒิ' ชี้ การโหวต ‘ประธานสภา’ ต้องรอประชุมพรรค ตอบไม่ได้ฟรีโหวตหรือไม่ ปัดไม่ทราบกระแสข่าวร่วมมือเพื่อไทย

เมื่อเวลา 07.35 น. วันที่ 26 มิ.ย. ที่วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เดินทางกลับมาจากอังกฤษแล้ว วันนี้มีการประชุมค้ามนุษย์ เมื่อถามถึงกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายชัยวุฒิ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว และมีการดำเนินการหาเสียงมาโดยตลอด ส่วนการจะเป็นนายกฯหรือไม่ก็อยู่ที่การเลือกตั้งและลงมติในสภา 

เมื่อถามว่าในพรรคพลังประชารัฐ ได้มีการพูดคุยหรือส่งสัญญาณเรื่องนี้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามถึงการดำเนินการทางการเมืองของพรรคจากนี้ไป นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคมี ส.ส. 40 คน ได้มีการประชุมและเตรียมความพร้อมอยู่แล้วในการทำงานในสภา ดำเนินการตามนโยบายพรรคและแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนก็จะทำให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่า การโหวตประธานสภามักจะมีแนวทางโหวต นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่ได้พูดคุยกัน เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐจะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ในการโหวตประธานสภา นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ พร้อมถามกลับว่าในกระแสข่าวมีการร่วมมือกันหรือ 

เมื่อถามว่า จะประชุมถึงแนวทางการโหวตประธานสภาเมื่อไหร่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ประมาณวันจันทร์-อังคารนี้ และไม่ทราบว่าที่ประชุมจะให้เป็นมติพรรคหรือฟรีโหวต ทั้งนี้เป็นปกติที่ทุกพรรคจะมีการประชุมกันก่อนที่จะลงมติอะไร เพราะเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ พล.อ.ประวิตร เดินทางไปต่างประเทศ ไปพบกับคนในพรรคเพื่อไทย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ไปด้วยเลยตอบแทนไม่ได้ ต้องไปถามคนที่ไป และตนยังไม่ได้เจอ พล.อ.ประวิตร จึงไม่ได้พูดคุยกัน

‘จตุพร’ เชื่อ เพื่อไทยสร้างเรื่อง เพื่อให้ ‘พ่อมดดำ’ ได้นั่งเก้าอี้ ประธานสภาฯ ชี้ ไม่มีความจริงใจ ไม่ตรงไปตรงมา กับประชาชน

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2566 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "จบที่สภา...หรือถนน?" โดยระบุว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่มีความจริงใจตรงไปตรงมากับประชาชนในการเลือกตำแหน่งประธานสภาแล้ว จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนพากันลงสู่ถนนด้วยอารมณ์ไม่พอใจ

นายจตุพร กล่าวว่า สถานการณ์ตั้งแต่ 4-13 ก.ค. นี้ สภากับมวลชนลงถนนจะสิ่งคู่กัน เพราะการเลือกประธานสภาวันที่ 4 ก.ค. และถัดไป 13 ก.ค. เลือกนายกฯ ดังนั้น จุดเริ่มต้นความวุ่นวายทางการเมืองย่อมมาจากสภา โดยขึ้นกับพรรคเพื่อไทยจะมีความตรงไปตรงมากับการโหวตลับเลือกประธานสภาหรือไม่? เป็นปัจจัยชี้ขาด

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปอังกฤษ หอบสังขารเดินแต่ละก้าวได้ยากลำบากยังต้องเดินทางไกลอ้างไปดูม้าแข่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม มีกระแสคาดการณ์ถึงการไปพบกับ ทักษิณ ชินวัตร เพื่อหารือเกี่ยวพันกับการเลือกประธานสภาและนายกฯ แต่ยังไม่ใครออกมายอมรับหรือปฎิเสธในเรื่องนี้

นายจตุพร กล่าวถึงตำแหน่งประธานสภา ว่า นายสุชาติ ตันเจริญ ซึ่งย้ายจากพรรคพลังประชารัฐมาอยู่เพื่อไทยนั้น มีชื่อติดโผอันดับต้น ๆ จะได้ตำแหน่งนี้

โดยเมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่าน เขาแอบไปรายงานตัวเป็น ส.ส. ที่สภาหลังเลยเวลาปิดทำการแล้ว และพยายามไม่ให้สื่อมวลชนรู้ แล้วรีบเร่งกึ่งวิ่งกึ่งเดินหนีไม่ให้สัมภาษณ์นักข่าว จึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่ปกติ สะท้อนอาการทางใจที่หลบซ่อนอยู่

“สิ่งที่น่าแปลกใจคือ หากไม่มีลับลมคมนัยแล้ว นายสุชาติ หลบหน้าสื่อมวลชนทำไม ควรต้องเปิดใจให้สัมภาษณ์ในตำแหน่งประธานสภาให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา เพื่อหมดสิ้นความกังขาว่า ถ้ามีคนเสนอชื่อขึ้นมาแข่งขันกับพรรคก้าวไกลจะรับหรือไม่รับตำแหน่งนี้ ดังนั้น พฤติกรรมแอบ ๆ หลบ ๆ ซ่อน ๆ ย่อมสะท้อนถึงความต้องการที่อยู่ภายในใจได้เป็นอย่างดี”

นายจตุพร กล่าวว่า พฤติกรรมหลบซ่อน ยิ่งเพิ่มความสงสัยให้ผู้คน หากต้องการเป็นประธานสภาก็ควรบอกประชาชนตรง ๆ ดังนั้นนายสุชาติ ที่มีชื่อในตำแหน่งประธานสภา ควรแสดงความสง่างาม จะรับหรือไม่รับ ต้องบอกออกมา ทั้งที่นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้บอกปัดไปแล้วว่า ถ้าถูกเสนอชื่อแข่งขันจะถอนตัวทันที

สิ่งสำคัญนายจตุพร เชื่อว่า ในการโหวตลับเลือกประธานสภา ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ หากได้นายสุชาติ เป็นประธานสภา แล้วต่อมาวันที่ 13 ก.ค. พล.อ.ประวิตร จะถูกเลือกอย่างเปิดเผยให้เป็นนายกฯ โอกาสที่มวลชนไม่พอใจจะลงมาเต็มถนนย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน

“ขณะนี้ยากที่จะประเมินว่า หลังจาก 4 ก.ค.แล้ว มวลชนจะชุมนุมมากน้อยแค่ไหน หากมีประชาชนลุกลามมากขึ้น และปักหลักต่อเนื่องแล้ว วันที่ 13 ก.ค. จะได้เปิดสภาเพื่อเลือกนายกฯ หรือไม่ คงไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง”

นายจตุพร ย้ำว่า ชนวนใหญ่เรียกมวลชนมาลงถนนย่อมมาจากการประชุมสภาในวันเลือกประธานสภา อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนตรงไปตรงมา โดยผู้บริหารพรรคกับสมาชิกพรรคตัดสินใจไปในทางเดียวกัน คนลงถนนอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่การเมืองช่วงนี้ เป็นการออกแบบให้พรรคเพื่อไทยเป็นปัญหา

ดังนั้น จึงไม่มีความตรงไปตรงมากับประชาชน โดยเสียงสมาชิกพรรคยังต้องการให้ประธานสภาเป็นของเพื่อไทย สิ่งนี้คือ แรงจะกระตุ้นให้คนมาลงถนนมากขึ้น

อีกทั้ง กล่าวว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยสร้างปัญหาไม่ตรงไปตรงมาทางการเมืองแล้ว ย่อมทำให้เกิดความวุ่นวายตามมาด้วย จึงเท่ากับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งกับการเปิดประตูให้รัฐประหารได้ ดังนั้น 4 ก.ค. นี้ สภาจะก่อให้บ้านเมืองเข้าสู่จุดถอยหลังหรือไม่ และยังยากต่อการประเมินจำนวนประชาชนที่ออกมาลงถนนจะมากน้อยเพียงใดด้วย

“เพื่อไทยกลับไปกลับมาทางการเมืองเสมอจนยากจะเข้าใจได้ว่า เอาอย่างไรในตำแหน่งประธานสภา แต่ถ้านายสุชาติ ได้เป็นประธานสภา คงไม่แปลกใจ เพราะเสียงจากพรรคเพื่อไทยบางส่วนจำนวนมากต้องเทให้นายสุชาติแน่ ถ้าเป็นเช่นนี้ ไม่รู้ว่าวันโหวตเลือกนายกฯ จะได้เข้าสภาหรือไม่ จึงอย่าประมาทกับการตัดสินใจของประชาชน

นายจตุพร เชื่อว่า ชนวนการโหวตเลือกประธานสภา จะเป็นจุดเริ่มดึงให้ประชาชนลงถนนจนนำไปสู่การโหวตเลือกนายกฯ แบบย้ายขั้วผิดคำสัญญา และไม่มีความจริงใจกับประชาชน หลังจากนั้น บ้านเมืองจะไม่มีความปกติได้เลย

‘นิพนธ์’ หนุนแนวทาง ‘อภิสิทธิ์’ เน้น ต้องทำให้พรรคมีเอกภาพ คิดถึงอนาคตเป็นหลัก

วันที่ 25 มิ.ย. 66 – นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหาร(กก.บห.) พรรคฯชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน แต่ส่วนตนคิดว่า หลังได้อ่านคำสัมภาษณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา เห็นว่า แนวทางที่ท่านเสนอมา จะทำให้พรรคฯ เดินไปข้างหน้าได้
การสร้างเอกภาพภายในพรรคฯเป็นสิ่งจำเป็น ตนจึงเห็นด้วยกับแนวทางของ นายอภิสิทธิ์ เพราะเรามีบทเรียนมาหลายครั้งแล้ว ก่อนจะพูดถึงเรื่องตัวบุคคลในประชาธิปัตย์ ใครก็ได้มีคนที่เหมาะสมอยู่แล้ว

“ดังนั้นวันนี้เราต้องคุยกันและต้องเห็นพ้องต้องกันก่อนว่า ถ้าจะแก้ปัญหาได้จะทำอย่างไร พรรคฯเรามีบทเรียนมาหลายครั้งหลายรอบแล้ว ถ้ามันไม่มีเอกภาพจะเดินไปข้างหน้าลำบาก ฉะนั้นการทำให้พรรคฯมีเอกภาพเป็นสิ่งจำเป็น

ผมยังเห็นด้วยว่า ถ้าคุยกันได้ก็ต้องคุยกัน เราไม่ใช่คนอื่นคนไกล ทุกคนเป็นคนในพรรคฯ ด้วยกัน มีอะไรก็ต้องคุยกัน และในทางการเมืองมันไม่มีใครได้อะไรร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ทุกอย่างก็ต้องคุยกันแบบพี่แบบน้อง คุยกันฉันพี่ฉันน้อง ซึ่งเป็นเรื่องของคนภายในพรรค” นายนิพนธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณี สื่อมวลชนหลายสำนักวิเคราะห์ตรงกันว่า กลุ่ม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคฯ ยังกุมความได้เปรียบเรื่องเสียงโหวตตามข้อบังคับพรรคฯ อยู่ ที่ 70 ต่อ 30 เปอร์เซ็นต์ นายนิพนธ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ฝั่งของใคร ทุกคนเป็นประชาธิปัตย์ และตนเชื่อมั่นในประชาธิปัตย์ คิดว่าทุกคนคิดถึงอนาคตของพรรคฯเป็นหลัก
ตัวบุคคลเรามาแล้วก็ไป แต่พรรคต้องอยู่ ตัวบุคคลเราเปลี่ยนมาเยอะหลายยุคแล้ว ย้อนไปตั้งแต่สมัยตนเคยเป็นยุวประชาธิปัตย์ นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรคฯ นายพิชัย ไป นายชวน หลีกภัย มาเป็นหัวหน้าพรรคปชป. พอ นายชวน ไป นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็มาเป็นหัวหน้าพรรคฯ นายบัญญัติ ไปนายอภิสิทธิ์ ก็มา พอ นายอภิสิทธิ์ ไป นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ก็มาเป็นหัวหน้าพรรคฯ

“ตัวบุคคลไปได้ แต่พรรคจะต้องอยู่ แต่ถ้าเราคิดว่าตัวบุคคลมาก่อนพรรค อันนี้มันเป็นคนละหลักการแล้ว แต่สำหรับผมที่เคยอยู่มาตั้งแต่สมัยยุวประชาธิปัตย์ คิดว่าตัวบุคคลเปลี่ยนได้แต่พรรคจะต้องอยู่ ฉะนั้นในฐานะที่เป็นพี่เป็นน้องกันมีอะไรก็คุยกันฉันพี่ฉันน้อง คุยกันฉันท์มิตร”นายนิพนธ์ กล่าว

'กรณ์ จาติกวณิช' ประกาศลาออก จากการเป็น ‘หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า’

นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการลาออก จากการเป็น ‘หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า’ โดยมีใจความว่า ...
.
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมได้เข้าพบ และยื่นจดหมายถึงประธานพรรค คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เพื่อขอบคุณในความไว้วางใจที่ท่านได้มอบให้ผม พร้อมกับแจ้งลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกคะแนนเสียงที่ได้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของพวกเรา ผมจะสนับสนุนนโยบายทั้งหมดที่เราได้นำเสนอในสถานะประชาชนคนหนึ่งต่อไป 

ตลอดช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับใช้ประชาชนและประเทศที่ผมรักในฐานะนักการเมืองคนหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้ง 

ผมขอขอบคุณทุกๆ คนที่ช่วยผมทำภารกิจนี้มานับแต่ปี 48 

บ้านเมืองเรายังมีปัญหาอีกมากมายรอการแก้ไข ผมขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนนักการเมืองจากทุกพรรค และขอให้กำลังใจเป็นพิเศษแก่นักการเมืองที่กำลังจะเริ่มทำงานในสภาเป็นครั้งแรก อย่าให้ความต้องการเอาชนะครอบงำจิตใจและการแสดงออกของท่านจนเกินไป ทำงานด้วยการสร้างพลังบวกร่วมกันในสังคมให้ได้ ผมจะคอยเป็นกำลังใจ 

ช่วงนี้ผมขอพาครอบครัวไปพักผ่อน ติดหนี้ที่บ้านไว้เยอะครับ

ขอบคุณทุก ๆ คนจากใจ
 

วิเคราะห์ทิศทาง ศึกชิง ‘หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์’  จับตาเดือด ‘อภิสิทธิ์-นายกฯชาย’ ใครจะได้นั่งตำแหน่งนี้

แทน-ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แทนจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ลาออกรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่ล้มเหลว

ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์ทางการเมืองออกมาระบุว่า มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวพรรคคนใหม่ โดยอดีตกลุ่มผู้บริหารบางกลุ่ม เพื่อให้เป็นไปตามที่กลุ่มเขาต้องการ และจะสามารถเข้ามากุมทิศทางของพรรคได้

แน่นอนว่า ถึงแม้นจะมีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามจะล็อคสเป็คว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แต่ไม่ใข่เรื่องง่ายในการเดินไปสู่ชัยชนะ เพราะระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ในกำหนดเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไว้ค่อนข้างละเอียด โดยมีโหวตเตอร์หลากหลายกลุ่ม

โหวตเตอร์กลุ่มแรกคือ ส.ส.ชุดปัจจุบัน 25 คน มีน้ำหนัก 70% ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซนต์ เป็นอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขาพรรค ตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นี้คือกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ของประชาธิปัตย์

กล่าวสำหรับกลุ่มแรก เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 6 คน พัทลุง 2 คน สงขลา 6 คน ปัตตานี 1 คน ตรัง 2 คน ส่วนที่เหลือเป็นแม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

อาทิตย์หน้าจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าใครจะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บ้าง แต่เบื้องหลังเห็นชื่ออยู่ 4 คน แต่เจ้าตัวเองไม่เคยออกมาพูดว่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่นักข่าว นักวิเคราะห์เห็นร่องรอยของการเคลื่อนไหว และความพยายาม เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า นายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ วทันยา บุนนาค หรือตั๊ก จิตภัสร์ กฤษดากร เป็นต้น หรือแม้กระทั่ง ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

แต่เข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคต้องการให้เห็นความเป็นเอกภาพ มีผู้สมัครจำนวนน้อย แต่เพื่อให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ก็อาจจะมีคนลงชิง 2-3 คน แต่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม หลังจากประเมินการหยั่งเสียงแล้ว น่าจะมีคนทยอยถอนตัว หรืออาจจะเกิดจากการล็อบบี้ของผู้อาวุโสที่มากบารมี 

แต่ถ้าให้สวยงาม อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค มีนายกฯชายเป็นเลขาธิการ ส่วนแทน-ชัยชนะ ในฐานะนำทีมนครศรีธรรมราชเข้ามาถึง 5 คน ก็ก้าวขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้แทนนายกฯชาย ประเด็นคือนายกฯชายก็อยากเป็นหัวหน้าพรรคและจากการประเมินเสียงน่าจะสู้จริง ผู้ใหญ่ในพรรคคงต้องล็อบบี้กันหนัก ให้นายกฯชายไม่ลง รอหัวหน้าพรรคคนใหม่เสนอชิงเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญทีมบริหารพรรคชุดใหม่ต้องให้เห็นภาพว่า เป็นคนรุ่นใหม่ ใหม่จริงๆ ไม่ใช่แค่ทีมใหม่ ดร.อิสระ / ดร.เอ้ / ตั๊น / วทันยา / แทน /ร่มธรรม เป็นต้น ต้องเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพรรค กำหนดแนวทาง ทิศทางของพรรค ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ส่วนคนเก่าๆก็ต้องไม่ทิ้ง ตะเคียนทองที่ถูกฝังอยู่ใต้น้ำก็ต้องขุดขึ้นมาใช้งาน แล้วแต่ผู้บริหารชุดใหม่จะวางบทบาทอะไรให้ทำ ถ้าเป็นที่ปรึกษาก็ต้องปรึกษาจริง ไม่ใช่ตั้งไว้ลอยๆ แล้วไม่เคยปรึกษาเลย 

ถ้าวิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมาถึงปัจจัยแพ้ชนะ ส.ส.ปัจจุบันมีสัดส่วนน้ำหนักมากถึง 70%
-ทีมนายกฯชาย ส.ส.น่าจะมีแค่ 14-16 คือ 
-ประจวบคีรีขันธ์ 2
-นครศรีธรรมราช 5
-สงขลา 3
-ตรัง 2
-พัทลุง 2 (ไม่ชัวร์ว่าฝ่ายไหน)
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่ายังจะมีใครอีก

ทีมชวน-อภิสิทธิ์
-ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์ (3)
-นครศรีธรรมราช 1
-สงขลา 3
-ปัตตานี 1
-อิสาน 2 (อุบลราชธานี-สกลนคร)
-แม่ฮ่องสอน 1
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่าจะมีเพิ่มตรงไหนอีก

ถ้าพิจารณาตามข้อมูลที่ #นายหัวไทร จะเห็นว่า ทีมนายกฯชาย น่าจะมีอยู่ 14 เสียง ทีมของชวน-อภิสิทธิ์ น่าจะมีอยู่ 11 เสียง ยังอยู่ในสถานการณ์ที่เสียงเปรียบ

โหวตเตอร์ อีกกลุ่มที่น่าสนใจว่าจะอยู่สายไหน ทั้งสายตัวแทนจังหวัด / ประธานสาขา / ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค/ อดีต ส.ส./อดีตรัฐมนตรี 90% อยู่สายชวน
แต่ต้องจับตาดูว่า นิพนธ์ บุญญามณี ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มนี้สูงในฐานะอดีตรองหัวหน้าพรรคฝ่ายกิจการสาขา จะช่วยทีมไหน จะเอาเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด หรือจะเอานายหัวเก่า นายหัวไทรเชื่อว่าช่วยอภิสิทธิ์

การปรากฏตัวของชวน หลีกภัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เชาร์ มีขวด และผู้อาวุโสอีกหลายท่านในงานวันเกิดของแฟนคลับประชาธิปัตย์ผู้เหนียวแน่น ไม่ใช่เป็นการปรากฏตัวขึ้นธรรมดาแบบไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดธรรมดาเป็นแน่แท้ ต้องมีอะไรมากกว่านั้น คือการหารือถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่

อาทิตย์หน้าบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์จะคึกคักขึ้นกับบรรยากาศของการเดินสายหาเสียงกับโหวตเตอร์ทั้งหลาย ขออย่าให้ได้ยินเสียงอีกนะครับว่า ใช้เงินหว่านซื้อเสียงให้เข้าหูอีก เพราะนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยสุจริต
นายหัวไทร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top