Saturday, 17 May 2025
POLITICS

วิทยา แก้วภราดัย เผย ไม่ใช่แค่เรื่อง ม.112 แต่ยังมีเรื่องแยกดินแดน เปลี่ยนวันชาติ หลายเรื่องเรารับไม่ได้ ประชาชนก็รับไม่ได้ เราจึงทำหน้าที่สะท้อนแทนประชาชน

"ไม่ใช่แค่เรื่อง ม.112 แต่ยังมีเรื่องแยกดินแดน เปลี่ยนวันชาติ หลายเรื่องเรารับไม่ได้ ประชาชนก็รับไม่ได้ เราจึงทำหน้าที่สะท้อนแทนประชาชน"

วิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภาฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.66

‘วันนอร์’ ยัน โหวตนายกฯ ยึดตามรัฐธรรมนูญ 13 ก.ค.นี้ เชื่อ ‘ส.ว.’ ใช้ดุลยพินิจ-คุณวุฒิเพื่อประโยชน์ของชาติ

(7 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาฯ พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 แถลงภายหลังเข้าร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานผู้แทนราษฎร และรองประธานผู้แทนราษฎร

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า วันนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้พวกเราทั้ง 3 คน ดำรงตำแหน่งประธานผู้แทนราษฎรและรองประธานผู้แทนราษฎร ซึ่งพวกเราจะขอน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้กับสมาชิกรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ในพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 26 ที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป 

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ว่า “เรื่องนี้เราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 และข้อบังคับของการประชุมรัฐสภาปี 2563 ส่วนกรอบเวลาของการประชุม ตลอดจนเรื่องจะโหวตอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ตนคิดว่าถ้าเราพูดก่อนล่วงหน้าอาจจะไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 13 ก.ค. และหวังว่าจะดำเนินการด้วยความเรียบร้อย”

“แต่หากไม่เสร็จสิ้นในวันที่ 13 ก.ค.เราก็ได้หารือกับประธานวุฒิสภาแล้วว่า เราก็อาจจะต้องมาประชุมกันในวันที่ 19 ก.ค. เพราะดูแล้วว่าน่าจะเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด เพราะเว้นไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้เลขาธิการสภาฯ ได้ทำหนังสือเชิญมาประชุมอีกครั้งในเวลาเช่นเดิม ส่วนการประชุมในวันที่ 19 ก.ค.นั้น จะเสร็จสิ้นเรียบร้อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ทั้งนี้ หน้าที่ของรัฐสภามีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อไปบริหารประเทศต่อไป โดยเราต้องทำหน้าที่นี้เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่มีนายกรัฐมนตรี เพราะปัญหาที่ประชาชน และปัญหาของประเทศชาติกำลังรอคอยรัฐบาลใหม่อยู่มากข้างหน้า ดังนั้น หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือ ต้องสนับสนุนให้การบริหารประเทศต่อไปได้ในเวลาที่เหมาะสม” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวต่อว่า “ส่วนข้อกังวลของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในเรื่องการโหวตนายกฯ นั้น ตนเห็นว่า ส.ว.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นอิสระของแต่ละคนที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัย ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราคงไม่สามารถคาดได้ว่าสมาชิกจะโหวตอย่างไร เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องใช้ดุลพินิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติ เพราะทุกคนก็มีคุณวุฒิวัยวุฒิมีประสบการณ์ และทุกคนก็ต้องมีหัวใจตรงกัน คือ บ้านเมือง ประเทศชาติ และประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนต้องทำให้ดีที่สุด และตนขอฝากกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ว่ารัฐสภาของเราจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดตามที่ท่านได้คาดหวัง”

นายวันมูหะมัดนอร์ เสริมอีกว่า “ในฐานะที่ผมเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นประธานรัฐสภา ต้องขอความสนับสนุนความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เพราะต้องการความสมัครสมานสามัคคีจากทุกฝ่าย เพราะเรามาทำงานตรงนี้เพื่อประเทศชาติกันทุกคนรวมทั้งประชาชนด้วย ขอให้ท่านสนับสนุนให้มีนายกฯ คือ ผู้นำของประเทศอย่างเรียบร้อย ในเวลาที่ท่านรอคอยและจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งผมคิดว่าต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งสภาพรรคการเมืองและประชาชน เพื่องานที่เราจะมีในวันที่ 13 ก.ค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า สำหรับความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นบริเวณรัฐสภานั้น ในเรื่องนี้ไม่มีความกังวลใดๆ ในวันที่ 10 ก.ค. ประธานสภาฯ จะมีการแบ่งงานให้กับรองประธานทั้ง 2 คน ในส่วนของการชุมนุมการรักษาความปลอดภัยกับการให้บริการประชาชนในพื้นที่สภาฯ ซึ่งประชาชนมีสิทธิชุมนุมแน่นอนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่และ พ.ร.บ.การชุมนุม

'ศิริกัญญา' ไร้กังวลท่าที ส.ว.เปลี่ยนใจไม่โหวต 'พิธา' นั่งนายกฯ แต่ขอให้เคารพเสียงประชาชนที่เลือกก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1

'ศิริกัญญา' มั่นใจ เสียงครบแล้ว ยันไม่มีใช้เงินซื้อ ไม่กังวลท่าทีเปลี่ยนใจ ชี้ ส.ว.หลายคน ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ เชื่อโหวตผ่านตั้งแต่รอบแรก เร็วเกินไปที่จะพูดโหวต 19-20 ก.ค. อีกครั้ง 

(7 ก.ค.66) ที่พรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเจรจากับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังหลายคนออกมาแสดงท่าทีเปลี่ยนใจไม่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ตนเคยให้สัมภาษณ์มาหลายครั้ง ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราจำเป็นจะต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ให้ได้มากเกินกว่าที่จำเป็น ในกรณีที่ ส.ว.อาจมีการเปลี่ยนใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เราได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว ส่วนกระแสข่าวว่า ส.ว.จะสนับสนุนไม่ถึง 10 คนนั้น ยืนยันว่า ในฐานะข้อมูลของพรรคไม่ได้เป็นไปแบบนั้น และยังคงมั่นใจว่าในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะได้เสียง ส.ว.ยกมือสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีครบถ้วนในครั้งแรก

เมื่อถามว่า หากการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกไม่ผ่านจะทำอย่สงไร น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร

ส่วนเสียง ส.ว.จะต้องได้มากกว่า 64 เสียงนั้น คิดว่าตอนนี้ครบหรือยัง น.ส.ศิริกัญญา ย้ำว่า ขณะนี้เสียงได้ครบแล้ว แต่ยังคงต้องทำงานต่อเนื่อง เผื่อมีกรณีที่บางท่านอาจเปลี่ยนใจจะได้มีสำรองเอาไว้ เพราะเราไม่มีทางทราบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหน้างาน

เมื่อถามว่า ส.ว.หลายคนขอดูหน้างานก่อนนั้น กังวลเรื่องการเปลี่ยนใจหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า มีบางส่วนที่พูดผ่านสาธารณะ และพูดคุยในวงเจรจา ซึ่งอาจไม่ตรงกัน ซึ่งตนยินดี และยอมรับในสิทธิของ ส.ว.ในการให้ข่าวหรือชี้แจงกับสาธารณะ 

เมื่อถามว่า จากการโหวตประธานสภามีคนมองว่า พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไม่แข็งแรงพอ มีแนวโน้มจะทอดสะพานมาร่วมรัฐบาลด้วยนั้น พรรคก้าวไกลมีท่าทีอย่างไร นางสาวศิริกัญญาบอกว่า จะต้องประเมินหลังวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งมองว่า หากโหวตรอบแรกไม่มีปัญหาอะไรก็คงไม่มีโอกาสแบบนั้น เพราะ 312 เสียงค่อนข้างมั่นคงในรัฐสภา การที่เอามาเติมมากเกินไปก็จะทำให้กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลมีปัญหา 

ส่วนกรณีที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 ออกมาระบุว่า หากโหวตรอบแรกไม่ผ่านจะให้โหวตอีก 2 รอบคือวันที่ 19 ก.ค.และ 20 ก.ค.นั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะพูด เพราะยังมีกระบวนการปรึกษาหารือของวิปแต่ละฝ่ายกับประธานสภา เพื่อกำหนดวันประชุม

เมื่อถามถึงกระแสข่าวถึงการที่พรรคก้าวไกลใช้เงิน ซื้อเสียง ส.ว.ให้โหวตสนับสนุนนายพิธา น.ส.ศิริกัญญา ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน และ เป็นเรื่องที่เราไม่นิยมทำอยู่แล้ว 

ส่วนมองอย่างไรกับการถูกกล่าวหาเช่นนี้นั้น ก็มองว่า อาจเป็นการคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่าพรรคจะหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อย่างไรได้บ้าง เขาก็คิดว่า นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ทางที่เราเลือกเลย เพราะเราใช้วิธีการพูดคุยอย่างเดียว และก็มี ส.ว.บางท่านที่ไม่สะดวกเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็ขอให้เห็นผลกันในวันนั้นว่าจะโหวตแบบไหน จึงเกิดความกังวลจากหลายฝ่าย ว่า คะแนนเสียง ส.ว.ไม่น่าได้มาโดยง่าย

เมื่อถามว่า แปลว่ามั่นใจหรือไม่ ว่าพรรคก้าวไกลไม่ต้องซื้อเสียง ส.ว.ก็เพียงพอ นางสางศิริกัญญา ตอบว่า “ใช่ค่ะ”

ทั้งนี้มองอย่างไรกับการที่ ส.ว.ออกมาตั้งเงื่อนไข ในการโหวตสนับสนุนนายพิธา นางสาวศิริกัญญา ย้ำว่า ขอให้ ส.ว.ทุกคน ยึดหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากตามปกติ  

“ไม่จำเป็นที่จะต้องรักเรา ไม่จำเป็นต้องเชียร์เรา เชียร์ก้าวไกล หรือ เชียร์นายพิธา ขอแค่เคารพเสียงของประชาชนที่ได้เลือกเรามา ให้เป็นพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 และรวมตัวจัดตั้งรัฐบาล ได้คะแนนเสียงข้างมากในสภา ยึดหลักการง่าย ๆ แค่นี้เพื่อให้ประเทศไทยได้เดินหน้าต่อ ให้โอกาสประเทศไทยได้ไปต่อ”

'ส.ส.พปชร.กำแพงเพชร' เร่งซ่อมถนนทรุด บรรเทาทุกข์ชาวบ้าน ลั่น!! ทุกปัญหาของ ปชช.เข้าถึงสภาฯ ทันทีที่เปิดประชุม

(6 ก.ค.66) นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.เขต 3 จ.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนจากกรณีที่ริมตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะ ทำให้ถนนเกิดการทรุดตัวลง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา ซึ่งตนได้ประสานไปยังส่วนราชการจังหวัดกำแพงเพชร รวมถึงองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขลุง เพื่อเข้าไปตรวจสอบ และหาแนวทางแก้ไข ความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าเกิดจากการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำปิง ทำให้ถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้านทรุดตัวลง โดยขณะนี้กำลังดำเนินการซ่อมแซมถนนเส้นดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอย่างเร่งด่วน 

นายอนันต์ กล่าวต่อถึง การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ด้วยว่า ได้ดำเนินการขุดลอกคลองสาธารณะ ม.14 บ้านทรัพย์สีทอง ต.ไตรตรึงษ์ เชื่อมต่อม.3 บ้านหนองผักหนาม ต.คลองสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำขุดลอกคลอง และกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ เพราะที่ผ่านมาประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชรประสบกับปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นระยะเวลานาน กระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ทั้งแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เราจึงต้องแก้ไขปัญหาให้ทันการณ์ 

"ขณะนี้ก็ใกล้เวลาที่สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดประชุมอย่างเป็นทางการแล้ว หน้าที่ของผู้แทนฯ คือกระบอกเสียง จะต้องนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าหารือในสภา เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดำเนินการแก้ไข ส่วนตัวผมก็จะทำหน้าที่เพื่อชาวกำแพงเพชรให้ดีที่สุด"

‘น้าหงา’ แนะ ‘พิธา’ ลบทวีตชวน ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ทัวร์ไทย ชี้!! เป็นตรรกะที่งี่เง่า ศิลปินจะเดินสายที่ไหนเป็นเรื่องของธุรกิจ

(7 ก.ค. 66) ภายหลังจากที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์พร้อมกล่าวถึง ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ศิลปินและซุปเปอร์สตาร์ชื่อดัง มาจัดคอนเสิร์ตที่ประเทศไทย เพราะตอนนี้ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มตัวแล้วนั้น

ล่าสุด นายสุรชัย จันทิมาธร หรือ ‘หงา คาราวาน’ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘สุรชัย จันทิมาธร’ ระบุว่า…

“เกิดอะไรขึ้น? ผมก็ดูโคลด์เพลย์ จอห์น เมเย่อร์ กันแอนด์โรส หรืออะไรมากมายหลายวงในยุคเผด็จการที่คุณว่านะครับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เธอรังเกียจเผด็จการดังที่คุณกล่าวว่าจริงๆ หรือ? จึงไม่อยากมาเมืองไทย หรือว่าเป็นเรื่องธุรกิจการจัดการของสายทัวร์ ไม่ว่าเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ศิลปินขึ้นอยู่กับผู้จัดการ (ยกเว้นกรณีวงเล็กๆ อย่างผม) ลบเถอะครับทวีตนี้ คุณพิธา มันดูเป็นตรรกะที่ทำให้ดูงี่เง่านะครับ”

'เชาว์ มีขวด' ขยับเกม นัดระดมพลคนรัก ปชป. จี้!! งดใช้ข้อบังคับพรรค ใช้สัดส่วน ส.ส.ชี้ชะตา

เมื่อไม่นานมานี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงรอบสาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chao Meekhuad’ เรื่อง จากใจ ถึงใจ คนรัก ปชป. วันที่ 8 ก.ค.เจอกันที่ลานพระแม่ธรณีฯ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

หลังจากที่ได้เสนอแนวคิดในการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์โดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของพรรคผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วสามครั้ง ปรากฏว่า ได้รับเสียงตอบรับจำนวนมาก จึงขอขอบคุณสมาชิกพรรคทั้งอดีตและปัจจุบันรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความห่วงใยต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางท่านอาจจะไม่เลือกคนของพรรค แต่ก็ยังมีความห่วงใยต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะได้กลับมาร่วมกันพัฒนาพรรคให้เติบโตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

มีหลายคนประสานมายังผมต้องการให้ช่วยนัดวันพบปะกันระหว่างสมาชิก เพื่อแสดงจุดยืนก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม โดยได้ข้อสรุปว่า จะนัดเจอกันในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ณ ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ โดยเริ่มต้นด้วยการสักการะขอพรพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต่อจากนั้นก็จะเปิดเวทีเสวนาเล็ก ๆ เพื่อให้สมาชิกได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งวัน จึงประกาศเชิญชวนทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ตามวันเวลาข้างต้นครับ

“ขอยืนยันว่าการพบปะกันในหมู่คนรักพรรค ปรารถนาที่จะเห็นการฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองในครั้งนี้ มิได้มีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลักดันใครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องการเห็นพรรคกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องในทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทุกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ได้ร่วมชี้ชะตากำหนดอนาคตพรรค ด้วยการงดเว้นการใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ สัดส่วนของ ส.ส.คิดเป็น 70 % ขององค์ประชุมทั้งหมด เป็นทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ผมเชื่อว่าถ้าลดเพดานความอยากลง หลายคนจะเห็นความจริงตรงหน้ามากขึ้นว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปมีความสำคัญต่อพรรค มากกว่าการเป็นหุ่นเชิดให้ใครใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจเท่านั้น

‘ทนายเชาว์’ ขย่มครั้งที่สองเสนอให้พรรคงดใช้ข้อบังคับพรรคในที่ประชุมใหญ่ ข้อที่กำหนดให้น้ำหนักกับ ส.ส.ถึง 70% ในการลงคะแนน ทนายเชาว์จึงเสนอให้งดใช้ขัอบังคับพรรคข้อนี้ และให้ทุกคนมีเสียงเท่ากับ 1 คน 1 เสียง และเปิดฉากที่สามด้วยการนัดแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์เจอกันวันเสาร์นี้ ก่อนการประชุมใหญ่ 1 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทั่วไป ที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงพลัง แสดงความคิดเห็นกันทั้งวันบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม

‘จีรเดช-ส.ส.พปชร.’ เดินหน้าสานฝันเกษตรกร จ.พะเยา  ผลักดันสร้างอ่างกักเก็บน้ำทั่วถึง เอื้อปากท้องถ้วนหน้า 

(6 ก.ค. 66) นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ชาวพะเยาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ปัญหาหลักในตอนนี้ คือ ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดพะเยาถึงจะมีปริมาณค่อนข้างมากในแต่ละปี แต่ก็ติดปัญหาว่าไม่สามารถกักเก็บได้ ทำให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บได้น้อยมาก ปริมาณน้ำฝนกว่า 90% ก็ต้องไหลลงคลองลื่นลงสู่ทะเลไป 

โดยเรื่องนี้ถือว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา ตนพยายามที่จะผลักดันในการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขจากกรมชลประทาน เพราะติดปัญหาในเรื่องของพื้นที่ป่าไม้ ที่ไม่สามารถขอใช้พื้นที่ในส่วนป่าไม้ได้ ทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างเพื่อดูแลให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งที่ตนพยายามมาตลอด อย่างไรก็ตามตนจะยังคงผลักดันการสร้างอ่างกักเก็บน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ เกษตรกรในจังหวัดจะได้ลืมตาอ้าปากได้ต่อไป

นายจีรเดช ยังกล่าวต่อว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การคมนาคม ตนมุ่งมั่นจะผลักดันให้เกิดถนนหลายๆ เส้นทาง ที่จะเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้มีความสะดวกและปลอดภัยขึ้น โดยเฉพาะถนน 4 เลนที่เชื่อมระหว่างจังหวัดพะเยา ซึ่งตอนนี้มาถึงแค่อำเภอดอกคำใต้ ตนจึงอยากจะผลักดัน เส้นทาง 1251 จากดอกคำใต้ ไปอำเภอจุน ให้เป็นถนน 4 เลน เชื่อมโยงกันไปยัง 1252 ให้ได้ เนื่องจากอำเภอจุนไปเชียงคำก็เป็น 4 เลน ทางด้านปงก็ได้รับการจัดสรร จากจุนไปปงก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้ก็กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่

“ถนนในพื้นที่เขต 3 ส่วนใหญ่ยังเป็นดินรุกรังอยู่ ช่วงหน้าฝน ประชาชนก็ประสบความเดือดร้อน เดินทางสัญจร ไปมาไม่สะดวก และการใช้ถนนก็ลำบาก ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ผมอยากจะผลักดันอย่างเร่งด่วน” นายจีรเดช กล่าว

‘เอกนัฏ’ ปัด รทสช. ส่งชื่อ ‘พีระพันธุ์’ แข่งโหวตนายกฯ ย้ำ!! ไม่หนุนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อัดคนปล่อยข่าวเท็จ

‘เอกนัฏ’ ยืนยันพรรคไม่เสนอชื่อ ‘พีระพันธุ์’ แข่งนายกฯ กับ ‘พิธา’ ระบุ รทสช. มีเพียง 36 เสียงไม่เคยมีแนวคิดและสนับสนุนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อัดมีความพยายามสร้างข่าวเท็จให้เข้าใจผิด ย้ำจุดยืนไม่รับนายกฯ หรือรัฐบาลที่จะแก้หรือยกเลิก ม.112

(6 ก.ค. 66) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรค โดยระบุว่า…

“ขอยืนยันว่าการที่ #รทสช ส่งคุณวิทยาฯ สู้กับก้าวไกลในการโหวตรองปธ.สภา เป็นการสู้เพื่อแสดงจุดยืน ไม่นำมาสู่การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างแน่นอน

การโหวตประธานสภาและนายกรัฐมนตรีมีกลไกที่แตกต่างกันครับ

การโหวตประธานสภาฯ จะใช้ ‘เสียงส่วนมาก’ ในที่ประชุม ใครที่ถูกเสนอชื่อแล้วได้คะแนนมากสุดจะได้เป็น หรือหากไม่มีคู่แข่งก็ได้เป็นเลยโดยที่ไม่ต้องโหวตแข่ง

ต่างจากการโหวตนายกฯ ที่ต้องได้ ‘คะแนนเสียงไม่ตํ่ากว่ากึ่งหนึ่ง’ (หรือ 375) ของรัฐสภา หากเสนอชื่อมาคนเดียว ก็ไม่ได้เป็น จะได้เป็นก็ต่อเมื่อข้ามรั้ว 375 เสียงไปได้เท่านั้น

ดังนั้น ในการโหวตรองประธานสภาฯ หากเราไม่ส่งคุณวิทยาไปแข่ง ก็เท่ากับเราสนับสนุนให้แคนดิเดตของพรรคก้าวไกลเป็นรองประธานสภาโดยอัตโนมัติ เราจึงส่งแข่ง เพื่อแสดงจุดยืนให้ชัด ถึงแม้ทราบดีอยู่แล้วว่าแทบจะไม่มีโอกาสชนะเลยก็ตาม

ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีกระแสข่าวว่า รทสช.จะส่งคุณพีระพันธุ์แข่งกับคุณพิธานั้น ไม่เป็นความจริงครับ

ผมเองอยากเห็นคุณพีระพันธุ์เป็นนายกฯ และเชื่อว่าท่านจะเป็นนายกฯ ที่ดีเพราะท่านเป็นนักการเมืองนํ้าดี สุจริต เที่ยงธรรม แต่ต้องยอมรับว่าพรรคเรามีเพียง 36 เสียง ไม่พอที่จะไปเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

และคุณพีระพันธุ์กับผม ก็ไม่เคยมีความคิด และไม่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาฯ อย่างเด็ดขาด ถึงจะตั้งไปก็อยู่ไม่ได้ครับ

อย่างไรก็ตาม การแสดงจุดยืนว่า เราไม่รับนายกฯ หรือรัฐบาลที่จะแก้หรือยกเลิก ม.112 สามารถทำได้ด้วยวิธีไม่โหวต โหวตไม่รับ หรืองดออกเสียงครับ ไม่ต้องส่งแข่งก็สู้ได้ (ต่างจากรองประธานสภาฯ)

การไม่ส่ง ไม่โหวต หรืองดออกเสียง ด้วยกลไกการโหวตที่ไม่เหมือนกัน จึงมีผลไม่เหมือนกัน

มีคนพยายามกุข่าวลือ สร้างข่าวเพื่อให้การต่อสู้ของเรานั้นสูญเสียความชอบธรรม เข้าใจผิดคิดว่าเป็นขบวนการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ผมขอปฏิเสธชัดๆไปเลย ว่า “เราไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย” หากจะต้องเป็นฝ่ายค้านก็เป็นครับ คุณพีระพันธุ์ ผม และเพื่อน ส.ส.ของ #พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ติดใจ

การจะได้เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่สำคัญไปกว่าการรักษาจุดยืนของเราครับ

เราจะทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ สร้างความมั่นคงให้ชาติ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ สร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ผดุงความยุติธรรม ให้ความเป็นธรรม

แต่จะ #ไม่แก้112 #ไม่เปลี่ยนวันชาติ #ไม่แบ่งแยกดินแดน เราจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้วยการเสริมเติมต่อจากสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แล้วในประเทศของเราครับ
#รวมไทยสร้างชาติ #เลขาขิง

'ชวน' ให้กำลังใจ 'บิ๊กป้อม' ทำหน้าที่ ส.ส.ไม่หลุด  ชี้!! ปมก้มหน้า แค่เรื่องเล็กน้อยไม่ใช่ประเด็น

(6 ก.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขณะเข้าร่วมประชุมสภาฯ นัดแรก เพื่อโหวตเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ ก้มหน้าในห้องประชุมคล้ายนั่งหลับ ว่า ตนขอให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร ที่มาร่วมประชุมและได้เข้าแสดงตนเพื่อเป็นองค์ประชุม

"ผมมองเห็นว่าท่านนั่งอยู่ตลอดไม่ได้ไปไหนเลย ส่วนท่านจะก้มหน้าหรือเงยหน้า หรือจะทำอะไรก็ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย"

นายชวน ระบุว่า ขออย่าวิพากษ์วิจารณ์หรือเอามาเป็นประเด็น เพราะท่านสามารถเลือกที่จะไม่นั่งในที่ประชุมก็ได้ แต่นี่นั่งอยู่เป็นองค์ประชุมตลอด ในการโหวต ถือเป็นการทำหน้าที่ของ ส.ส. และรักษาองค์ประชุมของสภา ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นที่ต้องให้กำลังใจกัน ซึ่งทำให้ครบองค์ประชุมและสามารถเดินต่อหน้าต่อไปได้ ตนจึงขอเป็นกำลังใจให้ในการทำหน้าที่ต่อไป

'เสธ.โหน่ง' ลั่น!! หาก 'พิธา' ไม่ได้เป็นนายกฯ ประชาชนจะนัดหยุดงานลงถนนแบบยุโรป

เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.66) พล.ท.พงศกร รอดชมภู หรือ 'เสธ.โหน่ง' อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นทางการเมืองว่า ยังเชื่อตามนี้อยู่นะครับ ถ้าฝืนเสียงประชาชนคุณภาพ (ยืมคำพูดสมัยก่อนหน่อย ลองย้อนศรดู จะได้หมดข้ออ้าง) คือคนกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงทั้งหมด รวมเมืองใหญ่สำคัญแบบเชียงใหม่ ภูเก็ต จังหวัดเขตอุตสาหกรรมแบบระยอง

ไม่ต้องทำอะไรมาก ผู้ปกครองที่คนไม่ยอมให้ปกครองก็อยู่ยาก อาจเริ่มจากไม่มีใจทำงานให้ เฉื่อยงานไปจนถึงอาจนัดหยุดงานทั่วไปแบบในยุโรป รอบละ สองสัปดาห์บ้าง 1 เดือนบ้างสลับกันไป

เกิดอะไรขึ้น ขนส่งสาธารณะและเอกชนหยุดหมด ร้านค้าปิดตัวพร้อมกัน ยอมเสียรายได้วันนี้เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี่จะหนักมากเพราะการจองต้องทำล่วงหน้า มีปัญหาหากว่าจะฟื้นตัวอย่างน้อย 6 เดือน มีติดต่อกัน 2 ถึง 3 รอบปิดงานยาวไป

ม๊อบอาจมีบ้างแต่ไม่ใช่สาระเพราะอาจถูกนำไปผิดทางหรือถูกซื้อได้ง่าย ๆ เจอการต่อสู้แบบสันติวิธีน่ากลัวกว่ามาก หาแกนนำที่ไหนก็ไม่เจอเพราะอยู่ในโรงงาน ห้างร้าน บริษัทและเอกชนอื่น ๆ ไม่ใช่บนถนน

เจ้าของบริษัทเอกชนนั่นเองจะออกปากให้รัฐบาลที่ประชาชนไม่สนับสนุนลาออก

จะใช้โฆษณาชวนเชื่อมากล่าวหาว่าคนไทยไม่รักชาติเท่าไรคนก็ไม่ฟัง

พิธา เป็นเด็กเมื่อวานซืนไม่ใช่หรือ จะกลัวอะไร 

แต่ถ้าดูถูกประชาชน แล้วเกิดประชาชนฮึดสู้แบบสันติขึ้นมา อุตสาหกรรมทั้งหลายหยุดชะงักหมด รัฐบาลที่คนสาปแช่งนั้นเองจะอยู่ยาก 

มาลองดูกันว่าระบบราชการหรือผู้มีอำนาจอย่าง ส.ว.และข้างหลังคือ คสช. จะทนทานได้สักเท่าไร

ประชาชนต่างหากเป็นผู้ทรงอำนาจแท้จริง แล้วอย่าไปมองหาแกนนำแบบสมัยสงครามสี นี่เป็นชนชั้นกลางคล้ายม็อบมือถือสมัย 35 แต่ไปไกลกว่า มากกว่าและลึกซึ้งกว่ามาก ครับ

‘ไพศาล’ ชี้!! ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นเรื่องเพ้อฝัน ฝั่งรัฐบาลเก่ามี ส.ส. 105 เสียง - ส.ว. 150 เสียง เท่านั้น

(6 ก.ค. 66) นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า รัฐบาลตามสูตรที่ 3 หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อย เป็นความเพ้อฝันไปแล้ว!!!

1 ที่ปั่นกระแสกันว่าขั้วรัฐบาลเก่ามี ส.ส. ถึง 198 เสียง แท้จริงมีแค่ 105 เสียง

- ที่อ้างว่ามี ส.ว. จะโหวตให้ 250 เสียงนั้นก็แค่นึกเอาเองเหมือนการปั่นกระแสก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา

ขณะนี้ ส.ว.มีถึง 5 กลุ่ม ที่อยู่ในสายลุง ก็ราว 150 คนอย่างมากที่สุด

รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว. แล้วมีแค่ 255 เสียง ไม่พอที่จะได้รับความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เพราะยังขาดอีก 121 เสียง

ยิ่งแกนนำบางคนแถลงว่า ถ้า ส.ว. โหวตให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้ว ถ้าหากยังหา ส.ส. งูเห่าไม่ได้ ก็จะยังไม่ตั้งรัฐบาล แต่จะรักษาการไปเรื่อย ๆ 

นักธุรกิจ ได้ฟังแล้วร้องโอ้กตาม ๆ กัน

พูดแบบนี้เหมือนไม่ได้เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาหรือไร

2 ที่ส.ว. บางคน ขอให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวออกจาก 8 พรรคพันธมิตรแลกกับการโหวตเสียงให้แคนดิเดตนายกของเพื่อไทยเป็นนายกนั้น ฟันธงไว้ล่วงหน้าว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีวันถอนตัวออกจากพันธมิตร 8 พรรค 

เพราะการจัดตั้งรัฐบาลสูตรที่ 1 พรรคเพื่อไทยถือดุล เรื่องอะไร จะต้องไปพึ่งขั้วอำนาจเดิม ให้คนอื่นขี่คอตามสูตรที่ 2 หรือกลายเป็นคนแบกเสลี่ยงตามสูตรที่ 3 !!!

3 การที่นายวันนอร์ได้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า กก+พท.จะร่วมกับพันธมิตร 8 พรรคเป็นรัฐบาลสูตรที่ 1

การเลือกรองประธานสภา โดยวิธีการลงคะแนนลับ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า พันธมิตร 8 พรรคเป็นเอกภาพ 

ดังนั้นในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเปิดเผย ด้วยวิธีการขานชื่อ จึงยิ่งเป็นเอกภาพ 312 เสียง และก่อสภาพที่ทำให้ พรรคการเมืองอื่นที่เคารพฉันทามติของประชาชนอาจต้องโหวตให้ด้วย!!!

'หม่อมปลื้ม' ยกกรณีปรากฏการณ์ชังชาติในอเมริกา ความเพ้อเจ้อของซ้ายที่โทษทุกเรื่องแม้อยู่ยูโทเปีย

(6 ก.ค. 66) ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ 'หม่อมปลื้ม' พิธีกร และผู้ดำเนินรายการข่าว โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมแนบลิงก์ยูทูประบุว่า...

เลิกกิน Ice Cream ยี่ห้อ Ben & Jerry's เพราะมันคือพวกโว้คชังชาติในสหรัฐฯ รวมทั้งความเป็นจริงที่ว่าราคาของ Ice Cream เเบรนด์นี้ก็เเพงจนเว่อร์ ไม่มีใครเขาซื้อไหว รสชาติก็งั้นๆ

ปรากฏการณ์ปฏิเสธวันชาติของตนเองเพียงเพราะเชื่อผิดๆ ว่าเป็นสัญลักษณ์เเห่งการกดขี่ เป็นสิ่งที่มีในสหรัฐฯ เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ฝ่ายซ้ายใหม่ในหลายประเทศชูลัทธิรังเกียจชาติตนเองซึ่งเเสวงหาความชอบธรรมด้วยการใช้วาทกรรมกดขี่

ถ้าเป็นสหรัฐฯ ก็จะปั่นวาทกรรมผู้ชายผิวขาวที่รักเพศตรงข้าม (Hetero-normative Caucasian Male) นั้นเป็นผู้กดขี่ ถ้าในฝรั่งเศสรอบล่าสุดก็จะเป็นการปั่นว่าตำรวจผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องเเบบเป็นผู้เหยียดเเละกดขี่ผู้อพยพ

โดยเเนวคิดตาม Dialectic นี้จะมีผู้ซึ่งทำหน้าที่กดขี่เสมอเเล้วก็มีเหยื่อตลอดเวลา (Perpetual Victimhood Status) ถ้าเป็นเมืองไทยก็จะเป็นวาทกรรมซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกันอยู่เเล้วผมคงไม่ต้องอธิบาย นั่นคือการกล่าวโทษทุกอย่างไปที่ทุนเเละก็กล่าวโทษทุกอย่างไปที่ศักดินา

ฝ่ายซ้ายไม่เคยมีที่สิ้นสุดในการเคลื่อนไหว พอโค่นสิ่งหนึ่งได้ก็จะกล่าวหาสิ่งอื่นต่อไปในสังคม ไม่เคยคิดที่จะนำความกตัญญูกตเวทิตาคุณเป็นคุณธรรมหลักในการขับเคลื่อนสังคมเเละชีวิตส่วนตัวบ้าง ทั้งชีวิตก็ไม่มีความสุขไม่ว่าอยู่ที่ไหนหรือได้เกิดใน Utopia เเห่งใด เพราะในใจเพ้อเจ้อถึงความเท่าเทียมทัดเทียมในรูปเเบบที่มัวเเต่คิดว่าไม่มีเเต่จริงๆ มีอยู่เเล้วเเต่ดันไม่เคยหัดที่จะมองให้เห็น...ฟังเบ็น ชาปิโร่ ซัด Ben & Jerry's ครับ สมควรโดนเบ็นด่า

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 'หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์' พลิกพรรคฟื้นคืนกลับ หรือจะดับเป็น 'พรรคต่ำสิบ'

เหลือเวลาอีกแค่ 4 วัน สำหรับศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และทีมบริหารชุดใหม่ที่มีภารกิจหนักในการฟื้นฟูพรรค

“ต้องยอมรับความจริงว่า พรรคประชาธิปัตย์อาการหนัก” เป็นคำกล่าวของนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรค 

“หัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นใครก็ได้ แต่ขอให้เป็นมติของที่ประชุมพรรค จากความเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกพรรค และที่สำคัญต้องเป็นคนที่ตั้งใจ ทุ่มเท และพร้อมทำงาน รวมถึงควรจะมุ่งไปสู่การฟื้นฟูพรรค โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรคมากขึ้น” นิพนธ์ กล่าวย้ำ

ชัดแล้ว 3 คน คนแรก 'อลงกรณ์ พลบุตร' ลงชิงหัวหน้าพรรคแน่นอน เปิดตัวแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้ว

'ตั๊น จิตภัสร์ กฤษดากร' ยืนยันว่าไม่ลง และไม่เคยมีความคิดอยู่ในสมอง 

'ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ' ที่เคยมีข่าวว่าจะลงชิงด้วย แต่มาถึงวันนี้ออกมาเปิดตัวชัดเจนแล้ว 'ไม่ลง'

ส่วนที่ยังไม่มีท่าทีออกมา แต่มีข่าวว่าจะลงชิง คือ...

- นายกฯ ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สมัย 2 ของสงขลา
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี
- และมีข่าวว่า กลุ่มเฉลิมชัย ศรีอ่อน ชักชวน ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มาลงสมัคร และจะให้นายกฯชาย นั่งเป็นเลขาธิการ แต่ ดร.เอ้ ก็ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ แต่ยอมรับว่า มีผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามจริง

นอกจากนี้ ยังมีข่าวอีกด้วยว่า กลุ่มของเฉลิมชัย ยังจะให้มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค (วงศ์โอกาศรี) ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกรุงเทพมหานคร แทน องอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่จะถูกดันเป็นรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ

ส่วนกลุ่มของนายอภิสิทธิ์นั้น ยังไม่ชัดเจนในเชิงโครงสร้าง แต่มี ชวน หลีกภัย / บัญญัติ บรรทัดฐาน / นิพนธ์ บุญญามณี ให้การสนับสนุน และร่วมขับเคลื่อนผ่านตัวแทนจังหวัด และสาขาพรรค ที่เป็นโหวตเตอร์ด้วย

ในส่วนของโหวตเตอร์ ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน อยู่ในมือของกลุ่มเฉลิมชัย 14 คน คือ ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 5 คน พัทลุง 2 คน ตรัง 2 คน สงขลา 3 คน ที่เหลืออยู่ในกลุ่มของนายหัวชวน 11 คน คือ นครศรีธรรมราช 1 คน สงขลา 3 คน ปัตตานี 1 คน แม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน หลีกภัย / บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

โหวตเตอร์ในส่วนของสาขาพรรค และตัวแทนจังหวัด ทั่วภาคเหนือ และภาคอีสาน ชัดเจนแล้วว่า สนับสนุนอภิสิทธิ์ ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร แต่เข้าใจว่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์ เช่นเดียวกัน

โหวตเตอร์อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตนายรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯ กทม. 2 คน และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค ก็น่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์เช่นกัน

ถ้ามองสถานการณ์ภาพรวมในวันนี้ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ 4 วันจะเลือกตั้งแล้ว (9 ก.ค.66) เกมซีกของอภิสิทธิ์เหนือกว่า ที่ยึดโหวตเตอร์ส่วนอื่นๆ ไว้ได้เกือบหมด จะแพ้ก็เป็นโหวตเตอร์ในส่วนของ ส.ส.ซึ่งแพ้ก็ไม่มาก 14:11 

สถานการณ์นี้ แม้ขั้วของเฉลิมชัยจะมั่นใจในโหวตเตอร์ที่มีอยู่ แต่การดิ้นรนไปทาบทาม ดร.เอ้ ให้มาลงในนามกลุ่ม สะท้อนให้เห็นว่า การขับเคลื่อนที่ผ่านมาให้นายกฯ ชายลงชิงหัวหน้าพรรค กระแสตอบรับยังไม่ดีนัก จึงต้องเปลี่ยนหัวเป็น ดร.เอ้แทน และให้นายกฯ ชายนั่งเป็นเลขาธิการ

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 9 กรกฎาคม จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์ว่า 'จะฟื้นกลับมา' หรือจะกลายเป็น 'พรรคต่ำสิบ' ในสถานการณ์ที่อาการหนัก ถอดสายน้ำเกลือก็ไม่รอดแล้ว...ต้องติดตามดูกัน

‘อลงกรณ์’ ชูสปิริต ‘ปชป.’ ลุยเดินหน้าปฏิรูปพรรคอย่างมีเอกภาพ เชื่อ!! การเปลี่ยนผ่าน ‘ผู้นำพรรค’ ครั้งนี้ จะราบรื่นเรียบร้อย

(5 ก.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคและผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าววันนี้ว่า การประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคมนี้ จะเป็นไปโดยราบรื่นไม่มีปัญหา โดยดำเนินการในกรอบของข้อบังคับและธรรมเนียมปฏิบัติของพรรค ซึ่งผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคมา 8 ท่านแล้ว ครั้งนี้เป็นการเลือกหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ในช่วงเวลา 78 ปีของพรรคและเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน

ทั้งนี้ มีความหวังว่าจะมีผู้สมัครหัวหน้าพรรคท่านอื่นๆประกาศตัวก่อนวันประชุมใหญ่เพื่อให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าถึงแนวคิด จุดยืนนโยบายแบบตรงไปตรงมาเปิดเผย ที่ขอติติงเรื่องเดียว คือ ไม่ควรให้ใครไปล่ารายชื่อแล้วออกแถลงการณ์สนับสนุนคนนั้นคนนี้ เพราะตัวแทนสมาชิกหลายคนอึดอัดใจที่ต้องลงชื่อด้วยความเกรงใจ ถ้าแต่ละคนทำแบบเดียวกันทุกภาค ความแตกแยกแบ่งฝ่ายจะเกิดขึ้น พฤติกรรมแบ่งกลุ่มแบ่งพวกแบบนี้ควรเลิกได้แล้ว เราต้องการเอกภาพ การเปลี่ยนผ่านผู้นำพรรคจะได้ราบรื่นเรียบร้อย

นอกจากนี้ขอขอบคุณทุกเสียงสนับสนุนและกำลังใจที่มอบให้ตนจากทุกภาคส่วน ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก ทั้งที่อยู่ในประเทศและในต่างประเทศโดยเฉพาะภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเกษตรกร เพื่อนข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ภาคการเมือง อดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส. อดีตผู้สมัคร ส.ส.อดีตกรรมการบริหารพรรค สาขาพรรค ตัวแทนพรรครวมทั้งเพื่อนนักการเมืองต่างพรรค 

“ผมเชื่อมั่นว่าด้วยสปิริตประชาธิปัตย์ สมาชิกพรรคทุกคนจะร่วมมือเดินหน้าปฏิรูปพรรค พร้อมสนับสนุนคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และหัวหน้าพรรคคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ 

พรรคประชาธิปัตย์ต้องการผู้นำที่มีจุดยืนประชาธิปไตย มีภาวะผู้นำที่เข็มแข็ง มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า มีศักยภาพสามารถฟื้นฟูปฏิรูปพรรค และสร้างความเป็นเอกภาพในพรรค เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งในอุดมการณ์และเป็นพรรคการเมืองทางเลือกหลักของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

เปิดสถานการณ์ 'เศรษฐา-บิ๊กป้อม-เสี่ยหนู' เบียด 'นายกฯ'  ตอกย้ำ!! ชื่อนายกฯ จากรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีก้าวไกลร่วมขบวน

สถานการณ์ทางการเมืองเดินทางมาถึงจุดสำคัญ...ได้เสีย...ไม่ถึงกับสลับซับซ้อนอะไรมากนัก  แต่เหตุการณ์รายละเอียดมีมาก   

วันนี้ 'เล็ก เลียบด่วน' ถือเสียว่าท่านผู้อ่านท่านผู้ชมคือ ผู้บริหาร และต่อไปนี้คือ บทสรุปย่อสถานการณ์ 7 ประการสำหรับผู้บริหาร

ประการที่ 1 – หวยประธานสภาฯที่มาออกที่ 'วันมูหะหมัดนอร์ มะทา' หรือ 'อาจารย์วันนอร์' จากพรรคประชาชาติโดยไม่มีคู่แข่งนั้น คนที่เป็นข้อมูลใหม่หรือคนที่เคาะสุดท้ายจริงๆ ก็คือ 'คนแดนไกล'...ที่ฟังเสียงลูกสาวและคนรุ่นใหม่ในพรรค  ไม่หักดิบก้าวไกลแบบไร้เยื่อขาดไย...ทั้งๆที่คนแดนไกลรู้ดีว่าโดยคะแนน 151 กับ 141 เสียงนั้น...ในชีวิตจริงแล้วพรรคเพื่อไทยขาดก้าวไกลได้ แต่ก้าวไกลขาดเพื่อไทยไม่ได้...

ประการที่ 2 - ไม่เพียงแต่หนุนให้ 'หมออ๋อง' ปดิพัทธ์ สันติภาดา ได้เป็นรองประธานสภา คนที่ 1 เท่านั้น  เพื่อไทยจะอุ้มพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ขึ้นเวทีรัฐสภาเพื่อลุ้นโหวตเก้าอี้นายกฯ จะรอบเดียวหรือสองรอบก็ว่ากันไป  แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่อาจมาด่าว่าพรรคเพื่อไทยได้...ซึ่งเกมนี้เพื่อไทยรู้ตั้งแต่ปีมะโว้แล้วว่าจะจบลงตรงที่พิธาไปไม่ถึงดวงดาว!!  

ประการที่ 3 – พึงรู้ว่าอันที่จริงในพรรคก้าวไกลเองก็มีความแปลกแยกและแตกแยกในแนวคิดแนวทางกันมาก...พวกหนึ่งเห็นว่าเป็นตายร้ายดีต้องเข้าสู่อำนาจรัฐเป็นฝ่ายบริหารให้ได้ อีกพวกเห็นว่าต้องเล่นบทฝ่ายค้านอีกครั้ง เลือกตั้งเที่ยวหน้าต้องไต่เพดานให้ถึง 25 ล้านเสียง...ทั้งนี้ ส.ส.ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นหน้าใหม่มีความโน้มเอียงที่อยากจะเป็นฝ่ายรัฐบาล โดยเห็นว่าถ้าพิธาพลาดไม่ได้เป็นนายกฯ พรรคต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ใต้ชายคารัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่เป็นไร

ประการที่ 4 – พรรคที่เป็นตัวแปรสำคัญยิ่งในขณะนี้ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐของบิ๊กป้อม หากแต่เป็นพรรคภูมิใจไทย จากฉากทัศน์หลังพิธาจบภารกิจสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ 'รุกได้ ถอยเป็น' จนตกสวรรค์แล้ว พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลเองโดยจะสลัดพรรคก้าวไกล 151 เสียงทิ้ง แต่ก่อนสลัดพรรคก้าวไกลต้องเจรจากับภูมิใจไทย 71 เสียง และพลังประชารัฐ 40 เสียงให้เรียบร้อยเสียก่อน...ซึ่งการเจรจาก็ไม่ถึงกับง่ายนักโดยเฉพาะกับภูมิใจไทย แต่อยู่ในวิสัยของคนแดนไกลที่จะร้องขอ 'ครูใหญ่' แห่งบุรีรัมย์ได้

ประการที่ 5 - สำหรับ 'ลุงป้อม' แม้จะยังมีโอกาสที่จะผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอำนาจ แต่ดูจากปรากฏการณ์ที่ 'สมยศ  พุ่มพันธ์ม่วง' กล้าให้สัมภาษณ์สวนทางปืนเรื่องสมาคมฟุตบอลอยู่ในขณะนี้แล้วก็น่าคิด...เพราะใครๆ ก็รู้ว่า 'สมยศ' กับครูใหญ่บุรีรัมย์นั้นเขาผูกพันกันแน่นหนึบขนาดไหน ก็เลยน่าเป็นห่วงว่าท้ายที่สุดแล้วพรรคภูมิใจไทยที่ผูกเป็นแพ็กเกจเดียวกับพรรคลุงป้อมก่อนเลือกตั้งจะยังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่

ประการที่ 6 - จุดยืนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.ส่วนใหญ่ ในขณะนี้พอจะอนุมานได้ว่า...เป็นใครก็ได้ในบรรดาแคนดิเดตที่มี แต่ต้องไม่ใช่ 'พิธา'...และด้วยตรรกะนี้ ทำให้คนชื่อเศรษฐา ทวีสิน, บิ๊กป้อม และอนุทิน ชาญวีรกูล จึงมีโอกาสลุ้นเป็นนายกฯ สูงมากตามลำดับ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นนายกฯ ของรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย

ประการที่ 7 - สำหรับกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติที่เสนอ 'วิทยา แก้วภราดัย' รองหัวหน้าพรรค ลงชิงรองประธานสภาคนที่ 1 ทั้งๆ ที่รู้ว่าแทบไม่มีโอกาสชนะนั้น ก็ชัดเจนตามที่ 'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' และวิทยาให้สัมภาษณ์ว่า รวมไทยสร้างชาติคิดไม่เหมือนพรรคก้าวไกล อยู่คนละฝ่ายกับก้าวไกล ต้องแสดงออกให้สังคมแลเห็น...ทั้งนี้สายข่าวกระซิบ 'เล็ก เลียบด่วน' ว่า แกนนำพรรคเพิ่งตัดสินใจเรื่องนี้ก่อนประชุมแค่วันเดียวเท่านั้น

ส่วนคะแนนโหวตชิงรองประธานสภาคนที่ 1 หมออ๋อง ปดิพัทธ์ ได้ 312 วิทยาได้ 105 งดออกเสียง 77 บัตรเสีย 2 โดยคะแนนงดออกเสียงส่วนใหญ่เป็นพรรคภูมิใจไทย ที่แสดงออกถึงการคัดค้านการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั่นเอง...ดังนั้นใครที่อยากเห็นคุณหนู อนุทิน จะเทคะแนน 71 เสียง ของพรรคเพื่อทำฝันของพิธาให้เป็นจริงนั้น ปิดสวิตช์ความหวังไปได้เลย  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top