Saturday, 17 May 2025
POLITICS

'สมศักดิ์ เจียม' เผยเหตุ 'จตุพร' พลาด!! หลังฟันธงผิดเรื่อง 'สุชาติ' เป็นปธ.สภาฯ

(5 ก.ค. 66) นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ปัจจุบันลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า

ทำไมคนจึงเชื่อว่าจตุพร ‘ผิด’ เรื่องสุชาติเป็นประธานรัฐสภา? ผมแปลกใจที่คนเชื่อว่าจตุพรทาย ‘ผิด’

ครับ ในแง่ที่คนที่ออกมากลายเป็นวันนอร์ ก็อาจจะเรียกว่า ‘ผิด’ แต่การ ‘ผิด’ นี้ เกิดจากการที่ทักษิณเปลี่ยนใจ ไม่เอาสุชาติในนาทีสุดท้าย และต้องโทรศัพท์ไปปลอบใจสุชาติ

นี่คือหลักฐานว่าสุชาติยอม ‘เปลี่ยนใจ’ นาทีสุดท้าย โพสต์ของลูกชาย https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7744705 และ https://www.youtube.com/watch?v=ty-1l-J1iS8

นี่เป็นข้อมูลที่ว่าทักษิณโทรศัพท์ติดต่อผู้คนให้ยอมเปลี่ยนแผน https://www.facebook.com/insidethailand/videos/6469081976464422/ 

"พูดกันตรงๆ พรรคประชาชาติเป็นสาขาของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ"

".....ในพรรคก้าวไกลรู้ว่า พิธาไม่ได้หรอกตำแหน่งนายกฯ..."

'บิ๊กป้อม' แจงภาพหลุด!! ไม่ได้หลับ แค่ก้มมองพื้น ยัน!! ทำหน้าที่ ส.ส.ตามวาระการประชุมปกติ

(5 ก.ค. 66) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธตอบว่าการเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีจะมีชื่อตนหรือไม่ 

เมื่อถามถึงกระแสโซเชียลเผยแพร่ภาพพลเอกประวิตร ระหว่างการประชุมสภา พล.อ.ประวิตร ส่ายหน้า ก่อนระบุว่า “โถ ใครจะไปหลับเล่า ใครจะไปหลับ ผมก็นั่งของผมมาอย่างนั้นมาตลอด ไม่เคยหลับหรอก” ก่อนเดินขึ้นรถเดินทางกลับทันที

ด้าน พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก ประจำรองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธภาพที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งหลับในขณะประชุมสภาผู้แทนราษฏร เมื่อวาน (4ก.ค.66) โดยกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ภาพขณะนั้นเป็นภาพที่ท่านกำลังก้มมองดูพื้นและเงยหน้าขึ้น พร้อมยืนยันว่า ท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวาระการประชุม ด้วยดีเหมือนสมาชิกท่านอื่นๆ

นับถอยหลัง 9 กรกฎา เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รายชื่อแคนดิเดตเริ่มชัด!! เหลือวิสัยทัศน์ที่ต้องงัดมาโชว์

'ตั๊น จิตภัสร์' โพสต์ข้อความเจ็บจี๊ด หยุดเอาชื่อตัวไปคั่วชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่เคยอยู่ในสมอง ซัดคนอยากเป็น 'หยุดวิ่งหาผู้ใหญ่ในพรรค' แนะนำตัวสมาชิกพรรคทั่วไทยดีกว่า ฝากถึงใคร! 'ผู้นำ' เดินคนเดียว ไร้คนเดินตาม ไม่เรียก 'ผู้นำ'

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ในพรรคเกี่ยวกับการแข่งขันเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ มีใจความว่า...

"หยุดเอาชื่อตั๊น ไปร่วมกับแต่ละท่านที่อยากจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลยค่ะ เรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่เคยอยู่ในความคิดของตั๊นเลย ทุกวันนี้มีความสุขกับการได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหน ถึงแม้วันนี้ยังไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถรอรัฐบาลชุดใหม่ได้  

"ถ้าตั๊นอยากจะเป็นหัวหน้าพรรค ตั๊นแมนพอที่จะออกตัวลงสมัครมานานแล้วค่ะ สมาชิกที่บอกเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย แต่ละท่านที่อยากเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค แทนที่จะมานั่งปล่อยข่าว หรือ วิ่งเข้า วิ่งออก บ้านผู้ใหญ่ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แนะนำเอาเวลามาหาเสียงกับสมาชิกพรรคทั่วประเทศน่าจะดีกว่านะคะ (อย่างน้อยไปทำความรู้จักให้สมาชิกได้รู้จักว่า แต่ละท่านเป็นใคร เพราะตอนนี้แต่ละชื่อที่เสนอมาบอกเลย สมาชิกบางท่านยังไม่รู้จักเลยว่าคุณคือใคร)! อยากจะเป็นผู้นำ อย่าลืมลูกพรรคด้วยนะคะ! พรรคเป็นองค์กรที่ใหญ่มีสาขาพรรค สมาชิกหลากหลายในทุกภูมิภาค ไม่ใช่แต่ใน กทม. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งนั้น การจะเป็นผู้นำเดินคนเดียว แต่ไม่มีคนเดินตามเค้าไม่เรียกว่าผู้นำหรอกนะคะ"

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (9 กรกฎาคม) สถานการณ์ดูจะเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ ขาเชียร์คุณตั๊นก็จบข่าวไป มี 'อลงกรณ์ พลบุตร' ที่ชัดเจนแล้ว

รอการตัดสินใจของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' และนายกฯ 'ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง' ว่าจะเปิดตัวกันวันไหน 

แต่ #นายหัวไทร ทราบว่า ทั้งนายกฯ ชาย และอภิสิทธิ์ ต่างเดินสาย พร้อมทีมงานผู้สนับสนุน พบปะโหวตเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยขั้วนายกฯ ชายมั่นใจว่า ถ้าลงแข่งเขาจะชนะ เพราะมีโหวตเตอร์สาย ส.ส.อยู่มากถึง 16-17 เสียง และโหวตเตอร์สาย ส.ส.มีน้ำหนักมากถึง 70% ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่า ส.ส.สายนี้จะยังอยู่ครบ 16-17 เสียงหรือไม่ เมื่อมีเสียงอันแผ่วเบาไปจากผู้มากบารมี ขอให้เปลี่ยนใจ กลับใจ

ส่วนสายอภิสิทธิ์ มีโหวตเตอร์สาย ส.ส.8-9 คน แต่สายอภิสิทธิ์ก็จะมีเสียงสนับสนุนที่หนาแน่จากสาขาพรรค ตัวแทนจังหวัด อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค รวมถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม.อีกสองเสียง คือ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ถ้าการประชุมในวันที่ 9 กรกฎาคม มีคนเสนอให้ยกเว้นการใช้ข้อบังคับพรรคบางข้อ เกี่ยวกับการให้น้ำหนักกับโหวตเตอร์สาย ส.ส.มากถึง 70% ตามที่ทนายเชาว์ มีขวด เสนอ และให้โหวตเตอร์ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน คือ 1 คน 1 เสียง และผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 3 ใน 4 ขั้วนายกฯ ชายก็จะมั่วเหมือนกัน

การให้ที่ประชุมใหญ่มีมติงดเว้นการบังคับใข้ข้อบังคับพรรคบางข้อเคยมีปฏิบัติกันมาแล้วในพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' เอา 'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' มาเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะปริญญ์เป็นสมาชิกพรรคได้ครบตามข้อบังคับพรรค

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันแล้วจะถึงวันเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ #นายหัวไทร อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่สนใจจะลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนเปิดเผยตัวออกมา แสดงวิสัยทัศน์ให้สมาชิกพรรคได้รับทราบ โหวตเตอร์จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ถ้าเป็นไปได้ เมื่อเปิดตัวออกมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์เองควรจะตั้งเวทีดีเบต ให้ผู้สมัครทุกคนมาดีเบตกัน ท่ามกลางสมาชิกพรรคจากทั่วทุกทิศ อันเป็นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย หรือถ้าพรรคไม่จัด สื่ออาจจะจัดก็ได้ ถ้าผู้สมัครเปิดตัวออกมา ก็จะเป็นเวทีที่สนุก สะท้อนความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริงของประชาธิปัตย์

ผมไม่ติดใจว่า คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเป็นคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ เพียงแต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิรูปพรรค เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ทันโลก ทันสมัย พร้อมจะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เพื่อนำพาประชาธิปัตย์กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่

ประชาธิปัตย์เคยยิ่งใหญ่ เคยมี ส.ส.เป็น 100 คนมาแล้ว สร้างนักการเมือง สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน แต่ผู้บริหารชุดใหม่จะต้องถอดบทเรียนถึงข้อผิดพลาดที่ผ่านมาให้ออก รับฟังเสียงสะท้อน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าความเป็นประชาธิปัตย์ ยังไปได้ ประชาธิปัตย์ยังไม่ตาย อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ยังฝังอยู่ในจิตใจของแฟนคลับอีกไม่น้อย เพียงแต่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป

'48 สาขา-ตัวแทน ปชป.อีสาน' หนุน 'อภิสิทธิ์' นั่งหัวหน้าพรรค มั่น!! คุณสมบัติพร้อม สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนทั้งประเทศได้

48 สาขา และตัวแทนอีสาน ออกแถลงการณ์หนุน 'อภิสิทธิ์' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมสร้างเอกภาพจากบุคลากรทุกรุ่น หวังเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.66) ที่จังหวัดขอนแก่น ภายหลังการประชุมหารือร่วมกันของสาขาและตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทั้ง 48 แห่งได้แสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นหัวหน้าฯ 

ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้า และคณะกรรมการบริหาร พรรคชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.ค. 2566 แทนชุดเดิม ซึ่งได้หมดวาระลงนั้น

พวกเราในฐานะสาขาและตัวแทนพรรคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดและประมวลความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากสมาชิกในระดับต่างๆ ซึ่งมี ข้อสรุปที่สอดคล้องกันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีบทบาทอย่างสําคัญ ต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชาชนจะสามารถยึดเหนี่ยวได้ ดังนั้นการเลือกกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะตําแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ต้องทําหน้าที่นำพาองค์กรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งประเทศ จึงมีความสําคัญ และจําเป็นที่จะต้องได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และ มีหลักคิดที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติ และประชาชนได้ 

พวกเราจึงมีมติร่วมกันเพื่อนําเสนอต่อพรรคและเพื่อนสมาชิกทั่วประเทศดังนี้...

1. พวกเราขอสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรีให้ทําหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อนําพาองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางการเมืองแหง่นี้ ให้เกิดศรัทธา และความเชื่อมั่นที่ประชาชนสามารถยึดเหนี่ยวเพื่อรักษาระบอบการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อไป

2. พวกเราเห็นว่าบุคลากรทุกองค์ประกอบของพรรค ต่างมีคุณค่าตามสถานภาพและความรับผิดชอบจึงอยากเห็นความสามัคคีและความเป็นเอกภาพเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กร แห่งนี้ให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้

3. พวกเราขอสนับสนุนท้ังอุดมการณ์ และประสบการณ์ของบุคลากรรุ่นเก่า และผสม ผสานกับบุคลากรรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาสืบทอดเจตนารมณ์ และอุดมการณ์ เพื่อความยั่งยืนของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือเป็นสถาบันทางการเมืองของประเทศต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อแสดงจุดยืนของ สาขาพรรค ตัวแทนพรรค และพี่น้องประชาชน ท้ังที่เป็น และไม่ไ่ด้เป็นสมาชิกพรรคจากพื้นที่ภาคตตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และขอเชิญชวนพี่น้องชาวประชาธิปัตย์ทุกท่านทั่วประเทศร่วมสืบทอดเจตนารมณ์ร่วมกัน

ด้วยจิตคารวะ
สาขา และ ตัวแทนจังหวัดภาคอีสาน ทั้ง 48 แห่ง ที่ประสานงานเบื้องต้น (ตามรายชื่อที่ปรากฏในแถลงการณ์) 

‘วันนอร์’ ชี้ แก้ ม.112 ต้องเป็นไปตามขั้นตอน-กฎหมาย 

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.66) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้ตอบคำถามถึงประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นประเด็นจับตา ว่า ประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ไม่อยู่ในข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะสนับสนุน แต่พรรคก้าวไกล ฐานะพรรคการเมืองในสภาฯ อยากเสนอเข้ามาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ต้องว่าไปตามกฎหมาย และบทบาท ทั้งนี้กฎหมายต่าง ๆ นั้น ทุกพรรคมีสิทธิเสนอรวมถึงประชาชนด้วย เพราะสภาฯ ยุคนี้ต้องโปร่งใส เพื่อประชาชน ทั้งนี้ส่วนตัวยินดีให้ทุกฝ่าย รวมถึงสื่อมวลชนตรวจสอบการทำงานของสภาฯ ได้

เกาะติดวงในสถานการณ์เลือกตั้ง 'หัวเรือใหม่ ปชป.' 'เสียงใน-นอกพรรค' ฟันธง!! 'อลงกรณ์' ตัวเต็ง!!

ใกล้วันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 9 กรกฎาคมเข้ามาทุกที

โดยในวันนั้น ถือเป็นการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ในห้วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในภาวะถดถอยภายใต้มรสุมทางการเมืองทั้งภายในพรรคและภายนอกพรรค

จากการติดตามและประเมินสถานการณ์ล่าสุดจากทีมข่าว THE STATES TIMES พบว่ามีความเคลื่อนไหวในกลุ่มสาขาพรรค และตัวแทนพรรคจากภาคอีสาน / ภาคเหนือ / ภาคกลาง / ภาคใต้ และกทม. รวมไปถึงอดีตผู้บริหารท้องถิ่น / อดีตผู้สมัคร ส.ส. / อดีต ส.ส. / อดีตผู้บริหารพรรค และอดีตรัฐมนตรีของประชาธิปัตย์จำนวนไม่น้อยที่สนับสนุน 'นายอลงกรณ์ พลบุตร' เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

มูลเหตุสำคัญเนื่องมาจาก ผู้เกี่ยวข้องมีมติเห็นพ้องว่านายอลงกรณ์ เป็นคนที่ซื่อสัตย์กับพรรค ไม่เคยย้ายพรรค มีอุดมการณ์ มีวิสัยทัศน์ทันสมัย เป็นคนกล้าคิดกล้าทำ มีภาวะผู้นำสูงและทุ่มเททำงานให้พรรคตลอดมา แถมยังมีประสบการณ์เคยเป็นประธานสาขาพรรค เป็นส.ส.ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อและเป็นรัฐมนตรี 

เรียกว่ามีผลงานเป็นรูปธรรม อีกทั้งไม่มีประวัติด่างพร้อยเรื่องทุจริต สมาชิกพรรคก็เข้าถึงง่าย ไม่ถือตัว มีมนุษย์สัมพันธ์ดี 

ยิ่งไปกว่านั้นที่ถือเป็นประการสำคัญคือ นายอลงกรณ์ไม่สังกัดกลุ่มใดในพรรค แต่สามารถทำงานร่วมกับอดีตหัวหน้าพรรคทั้งนายหัวชวน, บัญญัติ, อภิสิทธิ์ และจุรินทร์ รวมทั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค

องค์ประกอบเหล่านี้ จึงทำให้เชื่อว่าจะสามารถประสานกลุ่มต่างๆ สร้างเอกภาพและความสามัคคีในพรรคประชาธิปัตย์ได้มากกว่าทุกคนในพรรค และข่าววงในก็ยังบอกอีก ว่านายอลงกรณ์เป็นคนมีพรรคพวกมากเป็นที่ยอมรับจากคนในวงการต่างๆ และพรรคการเมืองอื่นๆ 

ทั้งนี้เมื่อ THE STATES TIMES ได้สอบถามไปยังแกนนำกลุ่มตัวแทนพรรคว่าจะมีความเคลื่อนไหวใดก่อนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคบ้างหรือไม่? ก็ได้คำตอบว่า ทาง ปชป.จะมีการนัดประชุมตัวแทนพรรคในแต่ละภาคในวันที่ 8 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิลเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนนายอลงกรณ์เป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้ความเห็นร่วมกันว่า พรรคอยู่ในวิกฤติต้องได้ผู้นำที่มีประสบการณ์และมีภาวะผู้นำสูงจึงจะฟื้นฟูพรรคได้สำเร็จ และเมื่อประชาธิปัตย์กลับมาเข้มแข็งแล้ว จึงจะเปลี่ยนมือให้กับคนรุ่นใหม่ๆ แต่ยังไม่ใช่เวลานี้ 

"วันนี้โจทย์ในพรรคยากและหนักเกินกว่ามือใหม่จะรับมือได้ การคิดแค่เอาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยหวังว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์พรรคได้ทันที คงไม่ใช่ อย่าคิดเลียนแบบพรรคก้าวไกล พรรคเรามีปัญหามากกว่าแค่เปลี่ยนภาพลักษณ์ แต่มีปัญหาเรื่องจุดยืนเรื่องเอกภาพในพรรค เรื่องการบริหารจัดการและเราอยู่ในจุดต่ำสุด เหมือนอยู่ในมรสุมต้องมีกัปตันที่เก่งกล้าและมีประสบการณ์" กลุ่มตัวแทนพรรคท่านหนึ่งให้ความเห็น

นอกจากนี้จากการติดตามความเห็นของโลกโซเชียลจากกลุ่มคนภายในวงการต่างๆ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและพรรคการเมืองต่างๆภายนอก ผู้บริหารภาคเอกชนคนหนึ่งบอกว่า...

"นายอลงกรณ์ พลบุตร มีโปรไฟล์ดีมากเป็นคนที่มีจุดยืนประชาธิปไตย มีหลักการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต มีความคิดก้าวหน้าทันโลกทันเหตุการณ์ มีความเข้าใจด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการต่างประเทศ มีความสามารถทางการบริหารช่วงที่เป็นรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ทำงานร่วมกับภาคเอกชนใกล้ชิดและสร้างผลงานใหม่ๆ ไว้มาก ถือเป็นคนที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นมีอัธยาศัยที่ดี เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชน เหมือนเอาส่วนผสมของ 'คุณชวน-คุณอภิสิทธิ์-คุณจุรินทร์-คุณสุรินทร์ (พิศสุวรรณ)' มาไว้ในคนๆ เดียว ในฐานะเสียงหนึ่งจากภาคเอกชนก็เชียร์ให้คุณอลงกรณ์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"

ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า นายอลงกรณ์จะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ได้หรือไม่ วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ รู้กัน!!

เทียบจุดยืน ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ก่อน-หลังรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

🔍เทียบจุดยืน ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ก่อน-หลังรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางข้อกังขาเรื่องการแบ่งแยกดินแดน

'พิธา' ฝ่าฝน!! สวมกอดกองเชียร์ 'ด้อมส้ม' ประกาศเปิดห้องรับรองสภาฯ รับประชาชน

(4 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนบริเวณห้องแถลงข่าว ก่อนจะเดินออกมาหน้าอาคารรัฐสภา พร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญ อาทิ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กทม., น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ส.ส.ปทุมธานี และมุ่งหน้าไปยังป้อมรักษาการณ์หน้าอาคารรัฐสภา ฝั่งถนนทหาร ซึ่งเป็นจุดรวมตัวของกลุ่มมวลชน ที่เดินทางมาให้กำลังใจพรรคก้าวไกลตั้งแต่ช่วงเช้า 

โดยพิธา และคณะ ได้เดินเข้าไปนั่งร่วมวงกับประชาชน ก่อนจะมีการพูดคุย พร้อมแจกลายเซ็น และกล่าวขอบคุณที่เดินทางมาให้กำลังใจในวันนี้ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมา

โดยช่วงหนึ่ง นายพิธา กล่าวว่า เมื่อเราได้เก้าอี้สำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง 3 ตำแหน่ง หนึ่งในนั้นคือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ว่าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 1 สิ่งแรกที่เขาต้องทำคือ ทำให้สภาแห่งนี้เป็นของประชาชน โดยประชาชนจะไม่ต้องยืนตากฝนแบบนี้ เพราะสามารถเข้าไปนั่งในห้องรับรองได้ โดยจะทำพื้นที่ให้เหมือนกับรัฐสภาสากล ที่มีไว้ต้อนรับประชาชน เพราะเป็นสถานที่ทำงานของสภาผู้แทนราษฎร และราษฎร์เป็นผู้เลือกให้เข้ามาทำงาน รวมถึงเป็นงบประมาณที่ได้จากภาษีของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นภารกิจเรื่องแรก ๆ ที่ต้องทำ ส่วนตัวเชื่อว่า ประธานรัฐสภาของฝ่ายประชาธิปไตย และรองประธานทั้งสองคน จะช่วยบริหารจัดการดูแล ขณะเดียวกันก็จะดูแลความปลอดภัยของระบบรัฐสภาให้ดีขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นวาระแรก ๆ เพราะอีกหน่อยจะไม่มี 3 ป.แบบเดิม แต่จะมี 3 ป.แบบใหม่ คือ ประสิทธิภาพ โปร่งใส และประชาชน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ กลุ่มมวลชนได้ต้อนรับนายพิธา และคณะ ด้วยการนำพัดมาพัดให้ และระหว่างที่มีการสนทนา กลุ่มมวลชนหลายคนต่างพร้อมใจตะโกนคำว่าย้ำว่า "นายกฯ" และร้องเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" เพื่อให้กำลังใจพิธาและคณะด้วย นอกจากนี้ นายพิธา ยังเข้าไปสวมกอดมวลชนอีกด้วย

‘ปู จิตกร’ ยก ‘ส.ส.ก้าวไกล’ ตัวอย่างการใส่ ‘ยูนิฟอร์ม’ ชี้!! ‘ไม่ทุกข์-ไม่ตาย’ แถมถ่ายรูปกลุ่มเบิกบาน

(4 ก.ค. 66) ปู จิตกร บุษบา พิธีกรและคอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลสวมเครื่องแบบในวันเปิดประชุมสภา โดยระบุว่า…

ถึง ‘หยก’ [และคนอื่น ๆ ที่ถูกทำให้คิดแบบหยก]

ดูพี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ ‘พรรคก้าวไกล’ เป็นตัวอย่างไว้นะ

● นี่คือตัวอย่างของการใส่ ‘ยูนิฟอร์ม’ แล้ว...ไม่ตาย!!, ไม่ทุกข์, ไม่ถูกกดทับด้วยอำนาจนิยม ทำได้ ง้ายง่าย ยิ้มหวานถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกด้วย

● วันที่มารายงานตัวเป็น ส.ส. ก็แต่งตัวเหมือนกัน เป็นระเบียบ เรียบร้อย งามตา

● การกระทำของพรรคก้าวไกล ควรทำให้น้องได้รู้ว่า ‘เครื่องแบบ’ ไม่ใช่สาระอะไรที่ต้องเอามาปั่นป่วนวุ่นวาย ทำให้ตัวเองดูเป็น ‘ขยะสังคม’ หรือถูกมองว่า ‘รับจ้างมาปั่นป่วน’ มันก็แค่เรื่องปกติธรรมดาในสังคมเท่านั้น

● พรรคก้าวไกล ก็อยู่ใน ‘กาลเทศะ’ ได้เหมือนคนอื่น ๆ ทำอะไรเหมือน ๆ กัน ที่บางทีมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ทั้งเครื่องแบบพรรค การโพสต์ การพูดการจา ซึ่งย่อมต้องมาจากคำสั่งหรือนโยบาย โดยที่พวกเขามิได้ขัดขืน ต่อสู้ใด ๆ

● ลูกหลานของพวกเขาก็สวมชุดนักเรียน ไปโรงเรียน ไม่ได้รู้สึกว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายถูกละเมิด

ดังนั้น หยุดบ้า หยุดเสียสติปัญญา หยุดรับการยุยงปลุกปั่น แล้วดูพรรคก้าวไกลเป็นตัวอย่างสิ

#ดูรอยยิ้มแห่งความสุขภายใต้เครื่องแบบขาวของพวกเขาสิ

ดู ดู ดู…
แล้ว... คิด คิด คิด 
#ตามนี้นะจ๊ะ 😉

'พิธา' มั่นใจ!! เส้นทางนายกฯ คนที่ 30 สดใส ส่วนแก้ 112 ก่อนเลือกตั้งว่าไง หลังเลือกตั้งว่าตาม

(4 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์การประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ และ รองประธานสภาฯ จะมีอะไรพลิกโผหรือไม่ว่า ไม่มี น่าจะราบรื่นไปได้ด้วยดี พรรคก้าวไกลจะพูดกับส.ส.พรรคก้าวไกลให้ราบรื่น

เมื่อถามว่า ได้ทำความเข้าใจกับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่เดิมถูกวางตัวให้เป็นประธานแต่มีกระแสข่าวได้เป็นรองประธานสภาฯ นายพิธา บอกว่า ได้ทำความเข้าใจมาตลอด คุยกันทุกวัน นายปดิพัทธ์ อยู่ร่วมในการตัดสินใจด้วย และเป็นคนที่มีสปิริตแรง เป็นตามที่เคยสัมภาษณ์เป็นตามหน้าที่ ไม่ใช่หน้าตา

ถามว่าพรรค รวมไทยสร้างชาติแสดงจุดยืนประธานสภาฯ ยังยึดมั่นการแก้มาตรา 112 พรรคก้าวไกลจะดำเนินการอย่างไร หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบว่า ตนไม่เห็นรายละเอียดเห็นแต่พาดหัวข่าวของนายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครทสช. โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ มีประสบการณ์และความเหมาะสม

ซักว่าพรรคเพื่อไทย หนุนนายพิธา ให้เป็นนายกฯ เป็นทิศทางที่สวยงามหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่าการรักษามิตรภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า และทำให้เห็นความหนักแน่นของพรรคก้าวไกล ที่เรามองว่าหลักการสำคัญกว่าบุคคล เมื่อคุยกับนายวันมูหะมัดนอร์ ท่านรับหลักการทุกอย่างทั้งการบริหารงานสภาฯ ให้มีความโปร่งใส รวมถึงกฎหมายสำคัญ 4 ข้อที่ได้แถลงร่วมกันตนจึงมองว่าหลักการสำคัญกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเสนอชื่อนายมูหะมัดนอร์ จะทำให้กระทบเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เสียงตอบรับจากช่องทางต่าง ๆ เป็นเสียงตอบรับที่ดี และ ตนมีโอกาสได้ทำงานนายวันมูหะมัดนอร์ มาทำให้สภาฯ ก้าวหน้าได้

ถามว่า นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นร่างทรงของพรรคเพื่อไทยการได้ตำแหน่งครั้งนี้ ถือว่าถูกปาดหน้าหรือไม่ เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ เสมือนคนเพื่อไทย นายพิธา กล่าวว่า เป็นเพียงเสมือนแต่นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นผู้ใหญ่มีความคิดเป็นของตัวเอง พิสูจน์ตัวเองตั้งแต่ปี 2522 การที่ได้ทำงานใกล้ชิดมา เชื่อมั่นว่าเป็นตัวของตัวเอง สภาฯ ก้าวหน้า ประชาชนไม่ผิดหวัง

เมื่อถามว่ากฎหมายที่จะผลักดันมีเรื่องนิรโทษกรรมด้วย จะไม่ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ถ้าแถลงร่วมกันแล้วตั้งแต่เมื่อวานก็น่าจะจบไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ก.ค.

ถามว่าประด็น มาตรา 112 ที่เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลจะถอยมาก่อนหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ก่อนเลือกตั้งอย่างไร หลังเลือกตั้งก็เป็นแบบนั้น

ซักว่าขณะนี้พรรคก้าวไกลสามารถรวบรวมเสียงส.ว.ได้จำนวนเท่าไหร่ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ขอให้รอดูเวลาใกล้ ๆ แต่มากขึ้นเรื่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ และคิดว่าการส่งสัญญาณว่าใครมีภาวะผู้นำที่ดีรุกได้ถอยเป็น และ รู้ว่าหลักการการเสนอประธานสภาฯ คือพรรคอับดับ 1 แต่ขณะเดียวกันการรักษาเอกภาพเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเป็นสิ่งสำคัญแสดงให้เห็นว่าผู้นำคนนี้มีความเข้าใจว่า เมื่อเวลารุกก็ต้องรุกให้สุด เมื่อเวลาถอยถ้าไม่เสียหลักการและได้ในสิ่งที่เราต้องการเห็นความก้าวหน้าของสภาฯ และเจตจำนงประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็น่าจะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างให้ ส.ว.ได้เห็น และคำว่ารุกได้ถอยเป็นขึ้นอยู่บริบท และคงต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งคนเป็นผู้นำต้องตัดสินใจเป็นโดยประกอบไปบนข้อมูลและบริบทในสถานการณ์นั้น หากคุณจะก้าวกระโดดให้ไกลต้องถอยนิดหน่อย ถ้าคุณไม่ถอยก็ยืนอยู่กับที่ หรือกระโดดไม่ไกล ดังนั้นขึ้นอยู่สถานการณ์ แต่แน่นอนต้องไม่ขัดหลักการ ไม่ขัดกับสิ่งที่เสนอไว้ประชาชน และไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง

ถามว่ามองข้ามช็อตไปถึงวันเลือกนายกฯ หรือยัง นายพิธา กล่าวว่า เวลามองต้องมองไกล แต่เวลาปฏิบัติต้องมองวันต่อวัน วิธีทำงานเป็นเช่นนั้น

เมื่อถามว่าความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย ได้เคลียร์ใจกันบ้างหรือไม่ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า ได้คุยกันมาตลอด แต่การทำงานร่วมกันก็มีทั้งที่เห็นด้วยและถกกันมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาตลอด 4 ปี มาตลอดในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ซักว่าจนถึงขณะนี้การเป็นนายกฯ คนที่ 30 ยังสดใสหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า “สดใส และมั่นใจครับ”

‘เพนกวิน’ เดือด!! เห็น ส.ส.ร้องเพลงสรรเสริญฯ ในรัฐสภา ยก 'อังกฤษ' ไม่เคยมีธรรมเนียมแบบนี้ในวันเปิดพิธี

ภายหลังพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 3 เสร็จสิ้น นายเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า...

ว่าด้วยรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา

ไม่เคยมีธรรมเนียมว่าผู้แทนปวงชนจะต้องร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภามาก่อน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นการ 'ประจบเจ้า' ออกหน้าออกตาจนเกินงาม ไม่มีความสง่าสมกับความเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกมา

ในธรรมเนียมฝั่งอังกฤษซึ่งมีพิธีเสด็จ ฯ เปิดรัฐสภามาจนเป็นแบบฉบับของระบบรัฐสภานั้น เขาจะมีธรรมเนียมเล็ก ๆ คือพิธีเปิดสภานั้นให้กระทำในห้องประชุมสภาขุนนาง (คล้าย ๆ ส.ว.) เพราะถือว่าห้องประชุมสภาสามัญชน (คล้าย ๆ ส.ส.) เป็นพื้นที่หวงห้ามเฉพาะสำหรับคนที่ได้รับการเลือกตั้งมา 

และเคยมีครั้งหนึ่งที่กษัตริย์อังกฤษ (พระเจ้าชาร์ลที่ 1) บุกเข้ามาในห้องประชุมสภาสามัญชนเพื่อจะจับกุมตัวแกนนำสมาชิกสภาที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพระองค์ จนถือเป็นการละเมิดอำนาจของสภาและเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว เขาเลยถือเป็นเคล็ดว่าห้ามกษัตริย์เข้าสภาสามัญชน เพราะเดี๋ยวจะมีการใช้พระราชอำนาจละเมิดสภาสามัญชนและจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีก

จากเหตุการณ์เดียวกันนี้ ยังก่อให้เกิดธรรมเนียมรัฐสภาอีกประการหนึ่ง นั่นคือว่าเมื่อกษัตริย์เสด็จมาถึงห้องประชุมสภาขุนนางซึ่งจะใช้ประกอบพิธีเปิดรัฐสภาแล้ว ก็จะมีการส่งผู้แทนพระองค์ถือคฑาดำ (Black Rod) ไปเรียกบรรดา ส.ส. ที่รวมตัวอยู่ที่ห้องประชุมสภาสามัญชนมาร่วมพิธี 

เมื่อผู้แทนพระองค์เดินไปถึงหน้าห้องประชุมสภาสามัญชนแล้ว บรรดา ส.ส. จะ 'ปิดประตูใส่หน้า' ผู้แทนพระองค์ที่ว่าดังเปรี้ยงพอเป็นพิธี เพราะในคราวที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 บุกสภานั้น บรรดา ส.ส. ก็พร้อมใจกันพยายามดันประตูปิดไม่ให้กษัตริย์เข้ามา ธรรมเนียมปิดประตูนี้เป็นเคล็ดว่าผู้แทนประชาชนสามารถ 'ดื้อ' กับพระราชอำนาจของกษัตริย์ได้

ประเทศที่มีประชาธิปไตยเจริญรุ่งเรืองมั่นคงมายาวนานจะมีธรรมเนียมประชาธิปไตยไว้เป็นสัญลักษณ์แสดงแนวคิดทางกสรเมืองและประชาธิปไตย ส่วนประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้น ก็จะมีสภาพดังที่เพิ่งปรากฏมา

(ทั้งนี้ เพนกวิน ยังได้โพสต์ภาพการเคาะประตูเรียก ส.ส.ของผู้แทนพระองค์ที่ถือ 'คฑาดำ' อีกด้วย)

2 อดีต อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้!! ดอกเบี้ยจะลดหรือไม่ อยู่ที่โครงสร้างตลาด ส่วนการผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่นในตลาดเสมอไป

(4 ก.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ได้โพสต์อธิบายความ กรณีแคนดิเดตขุนคลังจากพรรคก้าวไกล ที่โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า 'หวง' ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้ เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน ว่า...

ศิริกัญญา, ทำไมคุณถึงมั่วได้ขนาดนี้

แนวคิดของศิริกัญญาไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศแต่อย่างใดเลย

- ศิริกัญญาเอาจำนวนธนาคารไปผูกพันกับจำนวนประชากร แล้วสรุปเอาเองอย่าง “สุกเอาเผากิน” ว่า ...ไม่เพียงพอ !!

- ศิริกัญญาโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า “หวง” ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้  ... เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน 

ผมมึนกระโหลกกับตรรกะและภูมิรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของศิริกัญญามาก

ก่อนอื่นขอเอาประเด็นเรื่อง 'หวง' ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารมาชี้แจงก่อนนะ 

ธนาคารเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญ เพราะสามารถ 'สร้าง' เงินได้จากการปล่อยสินเชื่อ

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกดอกที่ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ในฐานะที่ควบคุมปริมาณเงินจำต้องเข้มงวด เพราะหากมีเงินมากกว่าสินค้า เงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้น 

ไม่มีประเทศไหนอยากเป็นแบบซิมบับเว หรือเวเนซูเอลา ที่ธนาคารกลางถูกนักการเมืองสั่งให้พิมพ์เงินออกมาตามที่รัฐบาลต้องการได้หรอก 

ผลคือ มีเงินเฟ้อเป็นล้านเปอร์เซ็นต์ต่อปี !! 

แต่ที่สำคัญไปกว่าเงินเฟ้อก็คือเงินฝาก หากไม่ 'ควบคุมให้ดี' ธนาคารก็เจ๊ง 

คนเดือดร้อนคือผู้ฝากเงิน เพราะธนาคารเอาเงินคนอื่นมาปล่อยกู้ไม่ได้ใช้เงินตนเอง 

มีโอกาสที่มันจะลาม Bank Run ไปทั้งระบบสถาบันการเงิน

หากธนาคาร ก. ล้มและไม่มีเงินไปชำระหนี้ให้ ธนาคาร ข. ค. ง. และทำให้ผู้ฝากเงินไม่มั่นใจถอนเงินมาเก็บไว้กับตัว 

ในอดีตที่ธนาคารตราดอกบัวเคยเอาเงินสดหลายสิบล้านบาทมากองไว้ที่เคาเตอร์ถอนเงินเมื่อตอนศิริกัญญาอาจจะยังไม่เกิด ก็เพื่อสยบความไม่มั่นใจจากเหตุข้างต้น เคยรู้บ้างไหม?

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจะลดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดต่างหาก 

การผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น (คนซื้อคนขาย) ในตลาดเสมอไป 

หากจำนวนธนาคารมีเพิ่มเป็น 20 แห่งตามที่ศิริกัญญาอยากได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยจะลดลง 

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ?

ศิริกัญญาเอา 2 เรื่องมาปนกันอย่างไม่น่าให้อภัย สำหรับผู้ที่จะอ้างตัวว่ามีความสามารถ (แต่อายุน้อย) อยากจะเป็นรัฐมนตรีคลัง คือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และ เงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน

อย่างหลังเกิดเพราะ...

(1) คำโฆษณา เช่น 'เงินด่วน' / 'ไม่ตรวจประวัติ' / 'ไม่ต้องยื่นเอกสาร' ซึ่งอาจจะตอบโจทย์คนบางกลุ่ม เช่น ไม่มีงานทำที่แน่นอน หรือ มีประวัติเสียทางการเงิน (ติดเครดิตบูโร) 

แต่อีกเหตุก็คือ (2) ความมักง่ายและไร้ซึ่งวินัยทางการเงิน ฟุ้งเฟ้อตามกระแสในโซเชียล เช่น 'ของมันจำเป็นต้องมี'

ผู้ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบก็คิดเป็นเช่นกันว่าลูกค้าของเขาคือใคร มีลักษณะอย่างข้างต้นหรือไม่ และถ้าเป็นจะปล่อยเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ถูกหรือแพงกว่าละ !! 

ถ้าจะยึดหลักเสรี (ทางเศรษฐกิจ) ให้เท่าเทียมกัน จะไปขัดขวางไม่ให้เขาคิดดอกเบี้ยสูงสำหรับลูกค้าความเสี่ยงสูงกลุ่มนี้ได้อย่างไร 

คิดซิ. . .คิด ศิริกัญญา !!

แต่ผมเชื่อว่าคุณแกล้งโง่ ... เพื่อหลอกพวกคนโง่ที่เป็นสาวกพรรคก้าวไกลของคุณ ที่คิดเองไม่เป็น เรียนรู้เองไม่เป็น และหาข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณเองไม่เป็นมากกว่า

แต่ถ้าศิริกัญญาคิดและเชื่ออย่างที่ศิริกัญญาพูดในคลิป Tik Tok จริงๆ ... ผมคงขนหัวลุกแน่นอน ถ้าวันใดที่ศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีคลังบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย

ส่วนอย่างแรกคือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของคนบางกลุ่มนั้น 

Virtual Bank (VB) อย่างที่ศิริกัญญาน่าจะจำขี้ปากหรืออ่านแค่ไม่กี่บรรทัดแล้วนำมาพูดใน Tik Tok 

ขอโทษที่ต้องบอกตามตรงว่าศิริกัญญาไม่รู้จริงเลย มีแต่โวหารล้วนๆ มาดูของจริงก่อนเปนไร

VB หรือที่บางประเทศรู้จักกันในชื่อ Internet Only Bank, Digital Bank หรือ Neobanks ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มีแล้วในหลายประเทศ 

ญี่ปุ่นมี Rakuten Bank ซึ่งเป็น Internet Only Bank มาตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จีนมี Webank ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2556-2557 

คุณลักษณะสำคัญคือ 'ไร้รูปลักษณ์ทางกายภาพ แต่ไม่ไร้ซึ่งบริการ' 

อาจไม่มีเครื่องรับฝาก/ถอนอัตโนมัติ(ATM) เพราะสามารถใช้ร่วมกับธนาคารดั้งเดิม หรือทำผ่านร้านค้าที่เป็นตัวแทน เช่น 7-11 หรือ ไปรษณีย์ ได้ 

ไม่มีสาขาในอาคารห้างร้านและที่สำคัญเปิด 24-7 ไม่มีเวลาปิดเลย 

ลูกค้า VB จะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากด้วยตนเอง ยื่นเรื่องขอกู้เงิน วางแผนการออมและการลงทุน รวมไปถึงการใช้บริการอื่นๆ ของธนาคารบนแอปพลิเคชันจากโทรศัพท์มือถือ ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์หรือเทคโนโลยี Biometrics 

ศิริกัญญาจะได้เห็นการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงใจลูกค้าให้มากที่สุด เช่น บริการสินเชื่อขนาดเล็กแก่ผู้มีรายได้น้อย บัญชีเงินออมเงินหลายสกุลที่ใช้ได้ในหลายประเทศ ออกบัตรเครดิตที่ให้แต้มด้านสิ่งแวดล้อม บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็ก รวมไปถึงบัตรเดบิตที่ไม่ต้องใช้ชื่อและเพศตามบัตรประชาชนเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่พรรคคุณเรียกร้อง 

เอาง่ายๆ แค่นี้ ศิริกัญญาคิดบ้างไหมว่าต้นทุนบริการจะถูกลงกว่าเดิมเยอะมาก เมื่อต้นทุนถูกลงมากจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ไหม 

บริการธนาคารต่างๆ มันจึงอยู่รอบตัวประชาชน 70 ล้านคนอยู่แล้ว 

ใบอนุญาตแค่ 3 ใบที่ออกใหม่ก็แข่งกันแย่แล้ว ไม่ต้องคลิกเข้าไปในแอปพลิเคชัน 

แต่ละ VB ก็อาจจะเข้ามาเชิญชวนใช้บริการถึงหน้าจอมือถือเลยหากพิจารณาแล้วว่าเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพ รองรับคนกู้ที่ไม่น่ามีถึง 70 ล้านคนได้อย่างสบาย

ไม่ได้จำเพาะเจาะเฉพาะศิริกัญญา แต่หากใครจะเสนอหน้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง มันต้องมี 'กึ๋น' มากกว่านี้ 

ถ้ามีกึ๋นแค่นี้ ผมไม่ได้ดูถูกหรือกดขี่ทางเพศหรอกนะ แต่บอกตามตรงว่า คุณเป็นได้อย่างมากแค่หน้าห้องรัฐมนตรี คอยยกน้ำชากาแฟเท่านั้น

~ ชวินทร์ ลีนะบรรจง, ศ.ดร.อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คลิป Tik Tik ของศิริกัญญา เป็นเรื่องแหกตาระดับชาติ ของคนที่ไม่รู้จริงอะไรเลยในเรื่องการเงิน 

ถ้าศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีการคลังจริงๆ คือ คนทั้งประเทศปล่อยให้ทารกสามขวบเล่นแกะระเบิดมืออยู่โดยไม่ห้ามปราม นั่นเอง

~ สุวินัย ภรณวลัย, รศ.ดร.อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

'พีระพันธุ์' ลั่น!! เป็นไปไม่ได้ ตนมีชื่อนั่งนายกฯ ย้ำ!! รทสช. ไม่มีนโยบายแข่งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

(3 ก.ค.66) ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.เรียบร้อยแล้ว ยังคงยืนยันว่าจะอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขานายกฯ ในส่วนของ นายอนุชา บูรพชัยศรี ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 14 จะได้เลื่อนอันดับมาเป็น ส.ส แทนนั้น ก็ต้องรอให้มีประธานสภาฯ ก่อน

เมื่อถามว่าแม้จะลาออกจาก ส.ส. แล้วยังต้องไปรายงานตัวที่รัฐสภาหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตามกฎหมายไม่มีบังคับว่าจะต้องไปรายงานตัว ซึ่งความจริงแล้วจะรายงานตัวเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สำหรับตนไม่ได้ไปรายงานตัวเนื่องจากประสงค์จะทำหน้าที่เลขานายกฯ ย้ำว่าแม้ตนจะไม่ได้เป็น ส.ส ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่หัวหน้าพรรค เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็น ส.ส. ตนก็สามารถบริหารพรรคได้ อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นโชคดีของพรรครวมไทยสร้างชาติที่มี ส.ส.ที่มีประสบการณ์หลายคนจึงไม่ห่วงงานในสภา และตนก็จะไปร่วมประชุมด้วยแต่อยู่ด้านนอก ดูแลการทำงาน ส.ส.ในสภา 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีชื่อของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภานั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่จะต้องไปเจรจาและตกลงกัน ส่วนทิศทางการโหวตของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น เรายังไม่ได้พูดคุย รอให้มีความชัดเจนก่อน แต่การโหวตจะต้องเป็นไปตามอุดมการณ์และนโยบายของพรรค

เมื่อถามว่า ต้องฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคหรือไม่นั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ต้อง เพราะพรรคมีแนวทางการทำงานอยู่แล้ว เรายึดมั่นใน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพราะฉะนั้นไม่ขึ้นอยู่กับบุคคล

เมื่อถามย้ำว่า วันนี้พรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีมติในการโหวตเลือกประธานสภาที่ชัดเจนหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ต้องมีมติก็รู้อยู่แล้วว่าคำตอบคืออะไร

เมื่อถามว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีความชัดเจนที่จะไม่แก้ม.112 หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ออกความเห็น แล้วแต่สถานการณ์ว่ากันไปในอนาคต

นายพีระพันธุ์ ยังระบุถึงกรณีที่มีชื่อนั่งนายกรัฐมนตรีว่า “ไม่มีครับ คิดมากกันไปเอง คิดลึกกันเกินเหตุ เป็นไปไม่ได้” 

เมื่อถามว่าการโหวตเลือกนายกฯ จะมีการเสนอชื่อแข่งหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่มี เราไม่มีนโยบาย ไปแข่งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

‘สาธิต’ ชี้!! 'ปดิพัทธ์' ยังไม่เหมาะนั่งประธานสภาฯ เชื่อ!! คุณสมบัติที่มีควรเป็นรัฐมนตรีมากกว่า

(3 ก.ค. 66) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภา ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 อำนาจเสาหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในระบบรัฐสภาควรมีคุณสมบัติอย่างไร

ส่วนตัวผมในฐานะที่เป็น ส.ส. มาหลายสมัย และศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่า ตำแหน่งดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นผู้ใหญ่ ‘มีความเป็นกลางแบบเป็นที่ประจักษ์’ และพร้อมที่จะประสานงานได้กับทุกพรรคการเมือง รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา และฝ่ายบริหาร

ในทางกลับกัน ถ้าคุณสมบัติของตำแหน่งคือโดดเด่นแปลกไม่เหมือนคนอื่นๆ เก่งเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่ประนีประนอม รุนแรงในการแสดงออกในทุกเรื่องจะเหมาะสมหรือไม่?

รวมถึงการคัดเลือกบุคคลดังกล่าวไม่ควรถูกเลือกโดยพรรคการเมืองใดเพียงเพราะมีโควต้าแล้วจะเสนอใครที่มีคุณสมบัติอะไรก็ได้ แต่ควรพิจารณาจากคุณสมบัติที่กล่าวมาแล้ว

ด้วยความเคารพเท่าที่ผมเคยสัมผัสพูดคุย และติดตามงานในสภาฯ ของท่านปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ ‘หมออ๋อง’ เพื่อน ส.ส.รุ่นน้อง

ท่านเป็นคนหนุ่มที่มีความมั่นใจสูง เป็นตัวของตัวเอง มีความรู้ ความสามารถ พูดจาแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา ท่านน่าจะทำงานได้ดีในตำแหน่งที่ต้องใช้การตัดสินใจ ความกล้าคิด กล้าทำ และโดดเด่นไม่เหมือนใคร ท่านน่าจะเหมาะสมกับงานบริหารงานในตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งมากกว่า

“เขาไม่เหมาะกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภา ประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติครับ”

‘สุริยะ’ เผย ‘เพื่อไทย’ จ่อชู ‘วันนอร์’ ชิงประธานสภาฯ เชื่อ!! ‘คนกลาง’ คือทางออก ลดขัดแย้ง

(3 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย (พท.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหนึ่งในคณะเจรจาพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวทางจะเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นคนกลางชิงตำแหน่งประธานสภาฯ หลังพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ยังตกลงเรื่องนี้กันไม่ได้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ หากกก.บห. มีมติเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ จะสามารถอธิบายชี้แจงกับส.ส. ให้เข้าใจได้ เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้เมื่อมีความขัดแย้ง และเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยได้ 

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะยอมเสียโควตาประธานสภาฯ ใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องการให้การเมืองหน้าต่อไปได้ ถ้าเป็นทางออกที่ดี เมื่อพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลยังไม่มีข้อสรุปที่ลงตัวจึงต้องมีการเสนอชื่อคนกลาง ทั้งนี้ ยอมรับว่าได้มีการทาบทามนายวันมูหะมัดนอร์ ไว้ในเบื้องต้นแล้ว 

เมื่อถามต่อว่าพรรคก้าวไกลจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่นั้น นายสุริยะไม่ตอบคำถามนี้ก่อนเดินเข้าลิฟท์ขึ้นไปประชุมทันที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top