Saturday, 17 May 2025
POLITICS

‘กกต.’ พิจารณาต่อพรุ่งนี้ 3 ปม ‘พิธา’ ถือหุ้นสื่อ ชี้!! เตรียมส่งหนังสือแจ้ง ‘พิธา’ ให้ทราบผล

(11 ก.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต.วันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาหนังสือของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล จากกรณีที่เลขาธิการพรรคก้าวไกล ส่งหนังสือค้าน กกต.กรณีหุ้นสื่อ ว่าทำผิดขั้นตอนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ กกต.ปฎิบัติตามระเบียบสืบสวนไต่สวนนั้น 

ที่ประชุมเห็นว่า กกต.ได้ปฎิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากกรณีนี้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบสืบสวนฯ ที่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน มิใช่การดำเนินการสืบสวนไต่สวนการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 กำหนดว่า ในกรณีที่ กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.คนใดมีเหตุสิ้นสุดลงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้

ทั้งนี้ สอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยให้ไว้ ในการพิจารณายื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งสำนักงาน กกต.จะได้มีหนังสือตอบผลการพิจารณาของที่ประชุมให้นายพิธาทราบต่อไป

‘มัลลิกา’ ลั่น!! ‘ปชป.’ไม่โหวต ‘พิธา’ แม้ยังไม่มีมติจากพรรค ชี้ การใช้มวลชนกดดัน ส.ว.ผ่านสื่อ ถือเป็นวิธีบีบบังคับแบบเผด็จการ

(11 ก.ค. 66) นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะก้าวหน้ากับพรรคก้าวไกล ใช้วิธีนำมวลชนไปกดดันสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ทั้งที่แกนนำพรรคก้าวไกลได้ประกาศต่อประชาชนแล้วว่าเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีของนายพิธาครบแล้ว โดยเฉพาะได้เจรจากับสมาชิกวุฒิสภาจนได้เสียงครบมั่นใจแล้ว

“ดังนั้น ก็ไม่มีเหตุอันใดสมควรในการที่จะระดมมวลชนมากดดัน หรือใช้วิธีให้ด้อมส้มหรือผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลบนโซเชียลมีเดีย เที่ยวไปทัวร์ลงหรือระรานกดดันผู้อื่นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของสมาชิกวุฒิสภา กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองอื่น เพราะแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับความคิดเห็นต่างและไม่ใช่วิถีแห่งเสรีประชาธิปไตย แต่ชัดเจนว่าเป็นวิถีของเผด็จการ” นางมัลลิกา กล่าว

นางมัลลิกา กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์แม้ว่ายังไม่มีมติ เพราะยังไม่มีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ด้วยธรรมนูญและอุดมการณ์ของพรรคเรา มีรากเหง้าที่มาต้องดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นเชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคล้วนมีดุลพินิจเองได้ และทุกคนทราบถึงอุดมการณ์และธรรมนูญของพรรคดี ความมั่นคงต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หมายถึงคุณลักษณะที่แสดงออกถึงการเป็นพลเมืองดีของชาติ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติ ศรัทธายึดมั่นในศาสนาและเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ดังนั้น ช่วงเลือกตั้งเราตอบคำถามสื่อต่อหน้าประชาชนว่าพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนว่า เราจะไม่แก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งเป็นมาตราแห่งความมั่นคงและปกป้องรักษาไว้ซึ่งพระเกียรติยศของสถาบันสำคัญของชาติ

‘บิ๊กตู่’ ประกาศวางมือจากการเมือง พร้อมออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ

(11 ก.ค. 66) เพจ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ United Thai Nation Party’ โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพ โดยระบุว่า…

พ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยที่เคารพรัก และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติทุกท่าน

ผมต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องประชาชนได้ให้การสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติและผม ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา จนทำให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้งของเรา ได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวน 23 คน และเรายังได้รับการสนับสนุนในการเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติอีกถึง 4,766,408 เสียง จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มาใช้สิทธิ 38,057,074 คน หรือร้อยละ 12.52 สูงเป็นอันดับสามของประเทศ ทำให้เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีก 13 คน รวมทั้งสิ้น 36 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนไม่น้อยสำหรับพรรคการเมืองที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่

การที่ผมตัดสินใจเข้ามาเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น เพราะผมต้องการร่วมสร้างพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ มีอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นหลักให้กับบ้านเมืองต่อไปในอนาคต

ช่วงเวลาที่ผมได้ร่วมเดินทางกับพรรคไปพบปะพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ผมได้รับฟังข้อคิดเห็นของสมาชิกพรรคและประชาชนที่ให้การสนับสนุนอย่างล้นหลาม ผมสัมผัสได้ถึงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความเชื่อมั่นในตัวผมตลอดมา ผมรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง และเป็นประสบการณ์ที่ผมจะไม่มีวันลืม

ผมเชื่อว่าทุกท่านทราบดีว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเก้าปีเศษ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง เพื่อปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อประโยชน์ของประชาชนอันเป็นที่รักยิ่ง และสิ่งเหล่านี้กำลังผลิดอกออกผลให้กับประเทศชาติโดยส่วนรวม ผมได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการที่จะทำให้ประเทศชาติแข็งแกร่งขึ้นในทุกๆ ด้าน มีเสถียรภาพ มีความสงบ และฟันฝ่าอุปสรรคทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนมีความสำเร็จก้าวหน้าเป็นรูปธรรมหลายๆ ด้าน อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางด้านคมนาคม ขนส่ง การสื่อสาร เครือข่ายอินเตอร์เน็ต สาธารณูปโภค การเร่งรัดการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ การสนับสนุนการวิจัยพัฒนา การจัดหาที่ดินทำกิน การจัดระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้และบรรเทาการเกิดอุทกภัย การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทั้งการทำมาค้าขาย การใช้ชีวิตประจำวัน และการรับบริการจากภาครัฐ 

การต่อสู้กับการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการบริหารจัดการโรคอุบัติใหม่ที่ดีที่สุดในโลก การแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาต่อการค้าการลงทุนมายาวนาน เช่น การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย การรักษามาตรฐานกิจการการบิน ตลอดจนการดูแลประชาชนอย่างเป็นระบบอย่างทั่วถึงด้วยความเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชาชนผู้เปราะบาง มีรายได้น้อย เด็ก คนชรา คนพิการ เป็นต้น ซึ่งผมได้บริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ ระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของพี่น้องประชาชน ให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย วินัยการเงินการคลัง มาโดยตลอด

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ทำให้กับประเทศชาติและประชาชนตลอดเก้าปีเศษที่ผ่านมา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลต่อไปจะดำเนินการพัฒนาต่อไป

จากนี้ไป ผมขอประกาศวางมือทางการเมือง ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง ปกป้องรักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจสนับสนุนการทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไปด้วย

ขอขอบพระคุณครับ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส.ว.สายโหวต ‘พิธา’ จี้ กกต. ส่งศาล รธน.สอบคุณสมบัติ หวั่น!! โหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง

รีบเลย!! ‘ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม’ ส.ว. ซึ่งมีชื่อว่าจะโหวตเลือก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับออกมาจี้ กกต. รีบส่ง #ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คุณสมบัติ #พิธา โดยเร็ว ก่อน #โหวตนายก 13 ก.ค. กลัวต้องโหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง ยันที่ประชุมรัฐสภา สามารถเลื่อนการประชุมโหวตได้ 

พฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม จะเป็นวันนัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก้าวไกลจะเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแกนนำบางคนออกมายืนยันแล้วว่า มีเสียงสมาชิกวุฒิสภาให้การสนับสนุนครบแล้ว ถ้าครบแล้ว หมายถึงได้รับการสนับสนุนจาก สว.แล้วไม่น้อยกว่า 66คน

ต้อง 66เสียง เพราะว่า พรรคก้าวไกลหายไป 1 คน จากเหตุเมาแล้วขับ และ กกต.ยังไม่รับรองในการเลื่อนลำดับถัดมา จึงยังไม่ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ส่วนอีกคน ต้องทำหน้าที่ประธาน จะงดออกเสียงหรือไม่

แต่ประเด็นมาถึงวันนี้ สว.บางคนที่เคยเอ่ยปากสนับสนุน ‘พิธา’ เริ่มลังเลในการโหวต กลัวว่าจะเป็นการรับรองคนผิดเข้าสู่ตำแหน่ง แล้วจะถูกเล่นงานตลบหลัง ส่วนคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่นแล้วก็ว่ากันไป แต่จำนวนเท่าไหร่แน่ ไม่มีใครยืนยัน

วันนี้ กกต.นัดประชุมสรุปอีกรอบในการดำเนินการตามคำร้องของเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิธาว่าเข้าข่ายต้องห้ามหรือไม่กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ซึ่งเมื่อวานได้พิจารณาแล้ว แต่พรรคก้าวไกลทำหนังสือแย้งไปว่า กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือเรียกผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจง กกต.จึงเลื่อนมาพิจารณาต่อในวันนี้

‘ครูหยุย’ เช็ก!! ตัวเลข ส.ว.โหวตเลือกพิธา  ปั่นข่าวกระพือ 20 แต่ตัวเลขแท้จริงคือ 10 

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 66) เฟซบุ๊ก ‘วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์’ ของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้โพสต์ภาพอินโฟกราฟิกของสำนักข่าวออนไลน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เปิดรายชื่อ 20 ส.ว. โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ตามเสียงข้างมาก ส.ส. โดยได้กากบาทคนที่ตรวจสอบแล้วไม่ใช่ พร้อมระบุว่า เพื่อความชัดเจน ตามนี้เลยครับ สอบถามทุกคนในภาพมาแล้ว ตัวเลขปั่นจนข่าวเอาไปลงคือ 20 ตัวเลขแท้จริงคือ 10 ครับ"

สำหรับ ส.ว.ที่นายวัลลภระบุว่าสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 
1. นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 
2. นพ.อำพล จินดาวัฒนะ 
3. นายทรงเดช เสนอคำ 
4. นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
5. นายวันชัย สอนศิริ 
6. นายมณเทียร บุญตัน 
7. นางประภาศรี สุฉันทบุตร 
8. นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 
9. นายพิศาล มาณวพัฒน์ 
และ 10. นายพีระศักดิ์ พอจิต

ศาลรับคดี ‘สว.อุปกิต’ ฟ้อง ‘โรม’ หมิ่นประมาท  ปมอภิปรายในสภาฯ เรื่อง ‘เช็กบิลไทยดำ-จีนเทา’

(11 ก.ค. 66) ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีดำอ.468/2566 ที่นายอุปกิต ปาจริยางกูร วุฒิสมาชิก (ส.ว.) ยื่นฟ้องนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ

กรณีช่วงคืนวันที่ 15 ก.พ. 2565 ในการอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีนายรังสิมันต์ ได้อภิปรายในหัวข้อ ‘เช็กบิลไทยดำ-จีนเทา’ โดยมีเนื้อหาพาดพิง ใส่ความให้ผู้อื่นเข้าใจว่า นายอุปกิต มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งล้วนเป็นเท็จทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง พร้อมกับเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาทด้วย

โดยวันนี้ทั้งนายอุปกิต ปาจรียางกูร และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โจทก์และจำเลยไม่ได้มาศาล แต่มอบหมายให้ทนายความมาฟังคำสั่งแทน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การอภิปรายและนำคลิปวิดีโอมาเปิดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ของนายรังสิมันต์ โรม จำเลยซึ่งมีหน้าที่และเอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่การที่จำเลยนำคลิปวิดีโอในการอภิปรายดังกล่าวนั้น ออกมาเผยแพร่ทางช่องทั้ง YouTube และ Facebook ซึ่งเป็นสื่อโซเชียล ถือว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา คดีมีมูลจึงมีคำสั่งประทับรับฟ้อง พร้อมให้เจ้าหน้าที่ศาลมีหมายแจ้งให้จำเลยทราบนัด เพื่อมาสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 ส.ค. เวลา 09.00 น.

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ‘เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin’

วันก่อนผมได้พบกับคุณริชาร์ด หลี่ นักธุรกิจใหญ่ในวงการประกันชีวิตและสาธารณูปโภคพื้นฐานชาวฮ่องกง เจ้าของหลากหลายเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น FWD Group, PCCW, Hong Kong Telecom และ Pacific Century Group นอกจากนี้ยังเป็นลูกชายของคุณหลี่ กาชิง มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในฮ่องกงปัจจุบัน คุณริชาร์ดเดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อศึกษาตลาดและโอกาสในการขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม หลังจากที่เครือ FWD Group ได้ทำงานร่วมกับธนาคารไทยพานิชย์เป็นอย่างดีมาโดยตลอด และส่วนตัวคุณริชาร์ดเองก็ชื่นชอบประเทศไทยมาก 

ดีใจครับที่ไทยเรายังมีเสน่ห์ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติอยากมาร่วมลงทุน โดยเฉพาะหลังจากนี้ที่เราจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลฝั่งประชาธาธิปไตยได้สำเร็จ สถานการณ์ก็ย่อมดียิ่งขึ้นไปอีก ยินดีต้อนรับเสมอครับ

'พีระพันธุ์' กร้าว!! ไม่เสนอแคนดิเดตนายกฯ แข่ง แต่ก็ไม่โหวตให้แคนดิเดตฯ ที่หวังแก้ไข 112 เช่นกัน

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงจุดยืนทางการเมืองของพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า...

ผมในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขอประกาศยืนยันว่าผมได้แจ้งเลขาธิการพรรคให้เสนอที่ประชุมพรรคในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ค. 66) ให้พิจารณามีมติ 

1) ไม่เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเราฟทั้งสองคนเพราะเราไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อบ้านเมือง 

เราไม่ได้อาสามาเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนพรรค 

2) เราไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายหรือแนวทางการทำงานที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 การแบ่งแยกการปกครอง การล้มล้างสถาบันครอบครัว ระบบการศึกษา วัฒนธรรมประเพณีที่ดี และสถาบันหลักทั้งสามของชาติ อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมือง 

ชัดเจน ตรงไปตรงมานะครับ ไม่ต้องวิเคราะห์วิจารณ์ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรทั้งสิ้น

หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้บ้านเมืองตกอยู่ในอันตราย 

ผมขอเชิญชวนทุกท่านที่รักชาติรักแผ่นดิน ให้ละทิ้งความบาดหมาง และหันกลับมาทำหน้าที่ของแต่ละคน 

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป 

ลืมความแตกแยกหันกลับมาช่วยกันทำหน้าที่ทึ่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอนของเรา 

หากบ้านเมืองล่มสลายทุกท่านก็ล่มสลายตามไปด้วย ทุกอย่างที่แต่ละท่านสร้างสมมาก็จะล่มสลายตามไป 

สำหรับ รทสช. แม้เป็นพรรคเล็กแต่สู้เสมอกับภัยของชาติ สู้ด้วยใจทะนงเช่นเดิมครับ 

สู้ไปด้วยกันนะครับ

นายพีระพันธุ์ ทิ้งท้ายอกด้วยว่า "สำหรับผมต้องลาประชุมพรรคในวันที่ 11 ก.ค. 2566 เพราะติดภารกิจด้านสุขภาพ เลยแจ้งให้เลขาธิการพรรคทำหน้าที่แทนครับ"

‘สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ’ แจ้งข่าวดีชาวสุไหงโก-ลก  ดันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสำเร็จ

(10 ก.ค. 66) นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่าพี่น้องประชาชนใน อ.สุไหงโก-ลก นราธิวาส และพี่น้องชาวรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย ได้รับข่าวที่ทางรัฐบาลไทยสามารถผลักดันสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 สุไหงโก-ลก - รันเตาปันยัง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการขนส่งสินค้า และบุคคลข้ามพรมแดน ซึ่งถือว่าเป็นการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยมีแผนการดำเนินงานโครงการดังกล่าวนี้ตามแผนระยะเวลา 5 ปี คือ พ.ศ. 2565 - 2569 ทั้งนี้ ตนพร้อมจะสนับสนุน ผลักดันทุกๆ โครงการ และต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวนราธิวาส 

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า อีกหนี่งโครงการที่จะสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ก็คือ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มหัตถกรรม หรือเย็บปักถักร้อย ล้วนแล้วแต่สร้างรายได้ ซึ่งผมให้ความสำคัญกับสตรี และเยาวชน เพราะสตรีคือลมใต้ปีกของทุกๆ องค์กรที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรนั้นๆไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยตนพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนและทุกครัวเรือน

“ทุกข์เสียงจากพี่น้อง ผมเองก็เป็นทุกข์เช่นกัน การพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน คือการให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผมเองพยายามผลักดันทุกๆ โครงการในขณะที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคลายความทุกข์ร้อนของพี่น้องอยู่เสมอๆ และหลังจากนี้ ผมพร้อมที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องทุกๆ ท่าน เพื่อให้สมกับเจตนารมณ์ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวนราธิวาสต่อไป”

เกม 'ล้มประชุม' เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบรกความฮอตขั้ว 'เฉลิมชัย' อีก 1 เดือนวัดกันใหม่

การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มขึ้นเวลา 09.00 น.ของวันที่ 9 กรกฎาคม โดยการกล่าวต้อนรับสมาชิกโดยผู้อำนวยการพรรค จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยดำเนินการไปตามระเบียบวาระ เมื่อจะเข้าวาระ 4 ว่าด้วยเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมได้เชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร เสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรค ในขณะที่นายสาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรค เสนอให้งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคเกี่ยวกับสัดส่วน-น้ำหนัก ส.ส.กับโหวตเตอร์อื่นๆ 70:30 ทำให้นายจุรินทร์ เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น มีสมาชิกแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายองอาจจึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน พี่น้องภายในพรรคไปคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเอาอย่างไร

การประชุมยังเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่ด้านนอกมีกระแสข่าวมาเรื่อยๆ 'อลงกรณ์ พลบุตร' ถอนตัวจากการชิงหัวหน้าพรรคกระทันหัน และไม่เข้าร่วมประชุมด้วย

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ให้คำตอบในนาทีสุดท้าย ปฏิเสธลงชิงหัวหน้าพรรค เกมเริ่มพลิก ขั้วของเฉลิมชัย ศรีอ่อน ขาดหัวในการชิงหัวหน้าพรรค จึงดึง 'นราพัฒน์ แก้วทอง' จากพิจิตร มาเสนอตัวแทน และ 'ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล' ตัวจี๊ดขันอาสามาสมัครอีกคน

บรรยากาศในห้องประชุมยังดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดกับข้อเสนอให้งบใช้ข้อบังคับการประชุม การประชุมลากยาวไปถึงภาคบ่าย และสไตล์ประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็จบลงด้วยการลงมติ ที่ประชุมไม่ให้เลื่อนการประชุมออกไป และยังใช้ข้อบังคับพรรคในสัดส่วน 70:30 ต่อไป

กว่าจะได้พักรับประทานอาหารการประชุมลากยาวมาถึงบ่ายโมง พัก 1 ชั่วโมง นัดประชุมใหม่ 14.00 น. 

ผู้ล้ำลึกในเกมวิเคราะห์ถึงการชิงไหวชิงพริบกันในภาคเช้า ขั้วของเฉลิมชัยยังอยู่ในฐานะได้เปรียบในทุกประตู ทั้งไม่เลื่อนการประชุม และงดใช้สัดส่วน 70:30

แต่หลังรับประทานอาหารเสร็จ ภาพที่เห็นคือ คนที่เป็นองค์ประชุมเริ่มเช็กเอาต์ ลากกระเป๋าออกจากห้องพัก ซึ่งเป็นไปตามกติกา ถ้าไม่พักต่อก็ต้องเช็กเอาต์ก่อนบ่ายสองโมง 

สัญญาณเริ่มได้ยิน "ล้มการประชุม" องค์ประชุมหลายคนจึงลากกระเป๋าออกจากโรงแรม บางคนอ้างจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว จองตั๋วรถทัวร์ไว้แล้วบ้าง

14.00 น.การประชุมช่วงบ่ายเริ่มขึ้น คนเริ่มโหรงเหรง เหลือครึ่งหนึ่ง จึงมีคนเสนอให้นับองค์ประชุม เป็นไปตามคาด 'ไม่ครบองค์ประชุม'

จริงๆ แล้ว การนับองค์ประชุม เป็นเกมที่ไม่ต้องการให้การประชุมเดินต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเดินไปสู่การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อได้นั่นเอง และถ้าดูผลการประชุมในช่วงเช้า ขั้วของเฉลิมชัย ที่ดันนราพัฒน์ ยังเป็นต่ออยู่ เกมล้มการประชุมด้วยการนับองค์ประชุมจึงถูกกำหนดขึ้น และบรรลุเป้าหมาย ยังมีเวลาอีก 1 เดือนในการล็อบบี้ 

งานนี้นักการเมืองหนุ่มขั้วเฉลิมชัยถึงกับส่ายหน้ากับเกมล้มการประชุมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ประเด็นเวลานี้คือ อลงกรณ์มีเหตุผลอะไรถึงถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรค และไม่เข้าร่วมประชุม เกิดอะไรขึ้น 1 วันก่อนการประชุม เช่นเดียวกับ ดร.เอ้ ที่มาปฏิเสธในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูท่าทีดีใจที่ถูกผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามให้ลงชิงหัวหน้าพรรค แต่กลับมาตัดสินใจ และบอกกล่าวในนาทีสุดท้าย จนขั้วเฉลิมชัย เกือบพลิกตัวไม่ทัน ยังดีที่ไปคว้านราพัฒน์ไว้ได้ทัน

ชัดเจนครับว่า การประชุมครั้งหน้า ก็จะเริ่มต้นด้วยการเสนอชื่อผู้ที่จะลงชิงหัวหน้า ไม่ต้องมาหารือ หรือลงมติเรื่องอื่นกันให้เสียเวลาอีก แต่ 1 เดือนที่เหลือ น่าจะเป็นช่วงเวลาของการล็อบบี้-หาคะแนนกันอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายสนับสนุน 'นราพัฒน์ แก้วทอง' และฝ่ายสนับสนุน 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

‘ปรเมษฐ์ ภู่โต’ ย้ำ!! บทบาท ส.ว. ใต้รัฐธรรมนูญ 60  อย่าละเลย 'ตรรกะ' ที่ถูกต้อง บนอำนาจที่พึงมี

(10 ก.ค. 66) นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าว รายการคุยถึงแก่น ออกอากาศทางช่อง NBT ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดย ส.ว. ระบุว่า...

เรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก็จะลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นตัวยืนในการโหวตครั้งนี้ หลังมีพรรคร่วม 8 พรรคเป็นผู้เสนอชื่อนั้น

ประเด็นที่น่าสนใจ นอกจากประเด็นที่ว่า พรรคก้าวไกลจะหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดคุณไหม ศิริกัญญา ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้เสียงจาก ส.ว. ครบถ้วนแล้ว ตอนนี้ก็กำลังหาเสียงสำรองไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้อีกจำนวนเล็กน้อย แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหาเสียงได้ครบแล้วจริงๆ ทำไมพรรคก้าวไกลนั้นดูร้อนรนเหลือเกิน มีการเปิดเวที เพื่อขอบคุณประชาชน ในหลายจังหวัดไม่ว่าจะเป็นในนครราชสีมา หรือที่จังหวัดสุพรรณบุรี ล่าสุดก็เป็นที่เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

สื่อหลายสำนักก็ยังได้วิเคราะห์ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์นั้น ยังไม่สามารถหาเสียงจาก ส.ว. ได้ครบ แต่ก็มี ส.ว.อีกบางส่วนได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะสนับสนุนนายพิธา

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ได้ให้อำนาจ ส.ว.ไว้ว่า มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะพูดกัน และจะเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าที่ ส.ว.จะเลือกหรือไม่เลือก พิธา หากแต่คุณจะใช้เหตุผลหรือตรรกะใดในการที่จะยกมือหรือไม่ยกมือให้นายพิธา เป็นนายกฯ ตรงนี้มากกว่าที่น่าสนใจ

แน่นอนว่า ส.ว.บางท่านที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะ สนับสนุนให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เพราะว่าพิธาได้รับเสียงส่วนใหญ่เสียงข้างมาก จากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเท่ากับว่าเป็นเสียงแห่งฉันทามติของพี่น้องประชาชน ส.ว.ก็จะโหวตให้กับนายพิธา เพราะถือว่าทำตามฉันทามติของประชาชน...นี่คือเหตุผลของส.ว.คนที่มีจุดยืนในการเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

ทว่า การที่ ส.ว. ใช้เรื่องฉันทางมติมาเพื่อจะโหวตสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็อยากจะขอถามไปยังท่าน ส.ว. ด้วยว่า ทำไมท่านใช้ตรรกะนี้ในการเลือกโดยไม่พิจารณาคุณสมบัติอื่น โดยเฉพาะคุณสมบัติส่วนบุคคล ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ จะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหาในการทำงาน 

ที่ถามเช่นนี้ เพราะถ้าใช้ตรรกะนี้ในการทำงานอีกหน่อย ส.ส. พิจารณากฎหมายขึ้นมา จนมาถึงชั้นส.ว. ทาง ส.ว. ก็ต้องให้ผ่านไปเลย โดยไม่ต้องพิจารณาอะไรอีก เพราะว่าเสียงข้างมากของสภาฯ ผู้แทนราษฎรเขาผ่านเขาเห็นชอบกฎหมายฉบับนั้นๆมาแล้ว จะใช้ตรรกะเดียวกันแบบนี้จริงๆ หรือ?

แล้ว ถ้าท่าน ส.ว. อ้างเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นฉันทามติมาจากประชาชน แล้ว ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 นี้มีที่มาอย่างไร ส.ว.ก็มาจากรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐธรรมนูญปี 60 มาจากไหน รัฐธรรมนูญปี 60 ก็มาจากประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ประชาชนไปลงรับร่างประมาณ 16,800,000 คน คิดเป็นประมาณ 61% ของผู้มาใช้สิทธิ์ ในขณะที่คำถามพ่วงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ก็ได้รับคะแนนเสียงประมาณ 15,100,000 คิดเป็น 58% ของผู้ที่เดินทางมาใช้สิทธิ์ 

คำถาม คือ เจตจำนงของคนที่ไปลงคะแนนเมื่อปี 2560 คืออะไร? ประชาชนเหล่านี้เขาได้ให้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้อำนาจ ส.ว. ในการกลั่นกรองนายกรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่งหลังจากที่ผ่าน ส.ส.มาแล้ว ซึ่งก็กระทำการกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนใช่หรือไม่?

ถ้าใช่!! ที่มาของท่าน ส.ว.นั้น ก็ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่ท่านจะทำ เพราะเมื่อท่าน ส.ว.ได้ถูกเลือกมาแล้วโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ระบุอำนาจหน้าที่ของท่าน ส.ว.ไว้อย่างชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และที่สำคัญก็เป็นรัฐธรรมนูญที่คุณพิธา และพรรคก้าวไกลใช้ในการเลือกตั้งด้วย

แต่หากพวกท่าน ส.ว.ไม่คิดจะทำการอันใด รอฟังแต่เสียงจาก ส.ส.ส่วนใหญ่...ถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรที่จะทำหน้าที่ ส.ว. อีกต่อไป

'อี้ แทนคุณ' ประณาม 'พิธา-ก้าวไกล' นำเด็ก 10 ขวบเอี่ยวการเมือง หลังให้ขึ้นเวทีกล่าว Hate Speech ขัดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

(10 ก.ค. 66) ดร.แทนคุณ จิตต์อิสระ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลนำเด็ก 10 ขวบขึ้นไปพูดบนเวทีการเมือง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ถือเป็นการกระทำที่สิ้นคิดไร้สำนึกทางสิทธิมนุษยชน ขัดหลักการสากล ว่าด้วยสิทธิเด็กที่องค์กรสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญ กับหลักการ 'กันเด็กออกจากการเมือง' และ 'เด็กต้องได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์กับเด็กในทุกรูปแบบจากรัฐ' 

โดยหลักการอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิเด็กที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ.2532 เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลกถึง 196 ประเทศ ข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์นี้คือ การที่ผู้นำทั่วโลกได้มาร่วมให้สัญญากับเด็กๆ ทุกคนให้ได้รับความคุ้มครองดูแลอย่างเต็มที่ โดยประเทศไทยลงนามภาคยานุวัติรับรอง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กๆ ทุกคนในประเทศให้ได้รับสิทธิตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว 

การที่พรรคก้าวไกลนำเด็ก 10 ขวบขึ้นเวทีสัมภาษณ์โดยมีการพูด Hate Speech ซึ่งเป็นเแนวคิดเดียวกันกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลและขบวนการปลุกปั่นทางสังคมและการเมืองส่งผลต่อเด็กและเยาวชนตามปรากฏในโซเชียลมีเดียต่างๆ ดังที่คนเคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วก่อนหน้านี้ ตนจึงขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐสภา ได้เข้ามามีส่วนในการตรวจสอบพฤติกรรมของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยเฉพาะนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่จัดเวทีดังกล่าวที่มีการนำเด็กมา สัมภาษณ์ทางการเมืองบนเวทีดังกล่าว ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นเวทีการเมืองของพรรคก้าวไกล

นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องไปยังขบวนการภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ให้มาช่วยเหลือดูแล ดำเนินการกับกรณีดังกล่าวโดยเร่งด่วนอย่านิ่งเฉยหายเงียบเหมือนกรณี ส.ส.ทำร้ายแฟนสาว เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก ไม่ให้ถูกพรรคการเมืองใดนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป

'ก้าวไกล' ส่งหนังสือด่วนถึง กกต. คัดค้านส่งเรื่องวินิจฉัย กรณี 'พิธา' ถือหุ้นสื่อไอทีวีไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 

(10 ก.ค. 66) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้ส่งหนังสือด่วนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อคัดค้านการที่ กกต. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนที่ระเบียบ กกต. ระบุไว้เอง มีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ จนน่าสงสัยในเจตนาของ กกต. ว่ากระทำโดยความเป็นกลางหรือไม่

นายชัยธวัชกล่าวว่า ตามระเบียบของ กกต. เมื่อมีการร้องเรียนผู้สมัครคนใดเกี่ยวกับการกระทำหรือการขาดคุณสมบัติ คณะกรรมการต้องไต่สวน สืบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง จากนั้นให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้ถูกร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องเข้าไปชี้แจง จากนั้นจึงดำเนินการต่อไปในการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ในกรณีนี้ เมื่อมีการไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริงให้พิธาทราบ และยังไม่มีการเรียกเจ้าตัวไปชี้แจงด้วย แต่กลับจะมีการเร่งรัดส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับ กกต. กำลังทำผิดระเบียบของตนเองอยู่

“ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ อีกเพียง 4 วัน ก็จะถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี การที่จู่ๆ กกต.จะเร่งรัด ทำข้ามขั้นตอน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทันที อาจทำให้สังคมตั้งคำถามได้ว่าองค์กรอิสระทำหน้าที่อย่างไม่เป็นกลาง มีเป้าประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ ผมเชื่อว่าประชาชนเฝ้ารอการโหวตนายกรัฐมนตรีกันทั้งประเทศ จึงไม่ควรมีการกระทำใดๆ ที่จะขัดขวางการตั้งรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตย” นายชัยธวัชกล่าว

'สมศักดิ์ เจียม' ซัด!! ผู้ใหญ่ใช้ปากเด็กสื่อสาร อยากแสดงความคิดเห็นเอง แต่ขี้ขลาด

(10 ก.ค. 66) รศ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เด็กอายุ 10 ขวบ ย่อมจะมีความคิดเห็นได้ คุยกับเพื่อน คุยกับผู้ใหญ่ แต่เราไม่ถือว่า การคุยเหล่านี้ต้องมีรับผิดชอบตามมา อาจจะเปลี่ยนใจ อาจจะเลิก ฯลฯ ดังนั้น เราจึงไม่ให้เด็กขนาดนี้ไปแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ เพราะอย่างหลังต้องมีความรับผิดชอบ

ผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบแล้ว ให้เด็กไปพูด #เท่ากับเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้ขลาด คืออยากจะแสดงความคิดเห็นดังกล่าว แต่ให้เด็กพูด บอกว่า "ก็เรื่องของเด็ก" ครั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จะทำอะไรเด็กก็ไม่ได้ จะทำอะไรผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้พูดเอง "ก็เด็กมันพูด" โดยสรุปแล้ว นับเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้ขลาดและไร้ความรับผิดชอบโดยแท้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top