Saturday, 17 May 2025
POLITICS

สำนักข่าวอิศรา พาไปดูที่ดินแปลงงามของ ‘พิธา’ 14 ไร่ แจ้ง ป.ป.ช. ไว้ราคา 18 ล้าน แต่เพิ่งขายไป หลังยุบสภาฯ แค่ 6.5 ล้าน

24 มิ.ย. 2566 - สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกทรัพย์สินในส่วนที่ดิน ตามโฉนดที่ดิน หมายเลข 13543 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ เนื้อที่ 14 ไร่ 0 งาน 62.7 ตารางวา มูลค่าปัจจุบัน (ประมาณ) 18,000,000 บาท ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอบรับตำแหน่ง ส.ส.ปี 2562

จากการสืบค้นแปลงรูปที่ดินของที่ดินแปลงนี้ ระบุ ตำแหน่งที่ตั้ง ระวาง 4933 I 0074-00 (4000) ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 14 ไร่ 0 งาน 62.7 ตารางวา ราคาประเมินที่ดิน (กรมธนารักษ์) 1,550 บาทต่อตารางวา ค่าพิกัดแปลง 12.43617271,99.91907531 ซึ่งจำนวนเนื้อที่ดิน ตรงกับเนื้อที่ดินที่เอกสารหลังโฉนดที่ดินตามที่นายพิธาแจ้งต่อ ป.ป.ช. 14 ไร่ 0 งาน 62.7 ตารางวา

โดยในแผนที่ภาพระบุตำแหน่งที่ดินแปลงนี้อยู่ติดถนนสาย 2004 ติดบ้านพักแห่งหนึ่ง ด้านเหนือและด้านตะวันออก ติดคลองวังยาว ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นตามที่แสดงผลในเว็บไซต์ของกรมที่ดินเท่านั้น แต่ไม่มีข้อมูลว่า ก่อนถึงมือผู้ถือกรรมสิทธิ์คนสุดท้าย โฉนดที่ดินแปลงนี้ออกเมื่อใดและกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์มาจากหลักฐานใด?

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลที่ดินแปลงดังกล่าว ในต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ เมื่อเดินทางไปถึงพบว่า เป็นที่ดินติดริมคลองวังยาว และมีถนนตัดผ่าน ในพื้นที่มีการปลูกต้นกล้วยเอาไว้หลายต้น

จากการสอบถามข้อมูลบุคคลในพื้นที่ได้รับแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีคนจากกรุงเทพฯเดินทางมาดูที่ดินแปลงนี้แล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้ซื้อ ส่วนเจ้าของที่ดิน ทราบว่า ไม่ได้ลงพื้นที่มาดูแลมาเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปีแล้ว

ขณะที่ นายทหารรายหนึ่งในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศราว่า พื้นที่ดินบริเวณนี้ ถูกแบ่งออกเป็นสองแปลง มีถนนที่ตัดผ่านแบ่งที่ดิน ที่ดินฝั่งซ้ายเจ้าของ คือ นายทหารยศนายพล ส่วนที่ดินฝั่งขวาเจ้าของเป็นคนจากกรุงเทพฯ

เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา สอบถามนายทหารคนดังกล่าวเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกระบุว่ามีเจ้าของเป็นคนกรุงเทพฯว่าเกี่ยวข้องกับนายพิธาหรือไม่

นายทหารรายนี้ กล่าวว่า เคยโทรไปคุยกับผู้ที่ประกาศขายที่ดินฝั่งนั้นแล้ว ขอยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายพิธาแต่อย่างใด และส่วนตัวก็ไม่เคยพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องกับนายพิธาด้วย นายทหารรายนี้ ยังระบุว่า ให้ลองไปดูนอกบริเวณพื้นที่ เห็นว่ามีประกาศขายที่ดินปักอยู่

ต่อมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้สำรวจบริเวณด้านนอกที่ดินแปลงนี้เพิ่มเติม พบว่ามีป้ายขายที่ดินวางอยู่บนพื้นในสภาพชำรุด ระบุขนาดที่ดินเนื้อหา 14-0-62.7 ไร่ เท่ากับขนาดที่ดินที่นายพิธาได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงาน ได้ติดต่อไปยังเบอร์โทรที่ถูกระบุบนประกาศขายที่ดินแปลงดังกล่าว ที่มีเลขลงท้ายสามตัวหลังว่า 200 ในระบบแจ้งข้อมูลว่า เป็นเบอร์ของทนายความของคนชื่อว่า 'ทิม'

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้พยายามสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่ดินแปลงนี้กับนายพิธา บุคคลปลายสายกล่าวว่า "ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ข้อมูลได้"

ในเวลาต่อมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา เดินทางไปติดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาปราณบุรี ได้รับการยืนยันข้อมูลเบื้องต้นว่า ที่ดินแปลงนี้ เป็นของนายพิธาจริง แต่ได้จดทะเบียนขายที่ดินไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในราคา 6.5 ล้านบาท (หลังยุบสภาฯวันที่ 20 มี.ค.2566 ประมาณ 7 วัน)

น่าสังเกตว่า ราคาขายที่ดินแปลงนี้ ต่ำกว่าราคาที่ดิน ที่นายพิธา แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ระบุมูลค่าปัจจุบัน อยู่ที่ราคา 18,000,000 บาท

ขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา

‘สว.คำนูณ’ กางแผน ‘พรรคก้าวไกล’ แก้ไขมาตรา 112 ลดระดับการคุ้มครองสถาบันฯ ครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปี

24 มิ.ย. 2566 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับประเด็น "ประเด็นแก้ไข 112" โดยมีเนื้อหาดังนี้

กำลังจะเปิดรัฐสภาแล้ว จะมีรัฐพิธีไม่เกินวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ว่าจะเสนอร่างกฎหมาย 45 ฉบับภายใน 100 วันแรก หรือทันทีที่เปิดรัฐสภา โดยจะเสนอในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในนั้นคือร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112

มาดูภาพรวมกันสั้น ๆ โดยสังเขปสักนิด
อาจจะทำให้พอเข้าใจเหตุผลของผู้คนในฟากฝั่งที่เห็นต่างและคัดค้าน
ตามหลักการที่พรรคก้าวไกลนำเสนอในการหาเสียง ปรากฎทั้งข้อความและแผ่นภาพ ประกอบกับร่างกฎหมายที่เคยยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 แต่ไม่ได้รับการบรรจุ จะพบว่าไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายทั่วไปมาตราหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่จะกระทบทั้งระบอบและระบบ

เฉพาะเรื่องหลักคือการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ ก็ยกเลิก 1 มาตราเพิ่มเติม 4 มาตรา
ยกเลิกมาตรา 112 เพิ่มมาตรา 135/5 - 135/9

สรุปโดยภาพรวมได้ว่าเป็นการลดระดับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปีนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข มีทั้งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ และบทจำกัดผู้ร้องทุกข์

ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 อันเป็นบทหลักมาตราแรกของหมวดพระมหากษัตริย์
หรือเสมือนเป็นการแก้รัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ทางประตูหลัง นี่คือประเด็นหลักที่จะกระทบระบอบ

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นแวดล้อมตามมาเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่นที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นบุคคลประเภทอื่นตามมาอีก 2 กลุ่ม 11 มาตราด้วยกัน ยกเลิก 2 เพิ่มเติม 4 แก้ไขเพิ่มเติม 5

ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเซึ่งกระทำการตามหน้าที่หลือแค่โทษปรับ
ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี เหลือแค่โทษปรับ ขัดขวางการพิจารณาคดีหรือพิพากษาของศาล เหลือแค่โทษปรับ หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา เหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ฯลฯ

เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะศาลหรือผู้พิพากษาขณะพิจารณาหรือพิพากษาคดี รวมทั้งบุคคลธรรมดา โดยเป็นการลดระดับการคุ้มครองบุคคลทุกประเภทลงจากเดิมด้วยการกำหนดโทษใหม่ที่ต่ำลงมาก ส่วนใหญ่จะเหลือแค่โทษปรับ ยิ่งถ้าในอนาคตนำระบบการคิดโทษปรับตามฐานะทางเศรษฐกิจ (Day-fine) มาใช้ในระบบกฎหมายไทย ผู้กระทำความผิดทีีมีรายได้นัอยหรือไม่มีรายได้จะยิ่งมีข้อต่อสู้ให้ได้รับโทษน้อยลงไปอีก
สังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม

พรรคก้าวไกลจัดร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 อยู่ในกลุ่มคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
แน่ละว่าด้านหนึ่ง สิทธิเสรีภาพของคนที่วิพากษ์วิจารณ์บุคคลทุกระดับได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น
แต่ในด้านตรงข้าม สิทธิเสรีภาพบุคคลทุกระดับที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายรวมทั้งบุคคลธรรมดาที่จะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เป็นธรรมกลับได้รับการคุ้มครองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
จึงมีผู้เห็นต่างในหลักการ คัดค้าน และจะเป็นประเด็นสำคัญในแต่ละเหตุการณ์ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่นี้

‘ป้อม-สุชาติ’ เต็งหามสองผู้นำ ‘อภิสิทธิ์’ รอสัญญาณฉันทามติ คัมแบ็ค ปชป..

เลียบการเมือง สุดสัปดาห์..”เล็ก  เลียบด่วน”  รายงานตัว ณ วันที่ 24 มิ.ย.2566  ตรงกับวันครบรอบ 91 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...จริงๆแล้วคณะราษฎรอยู่ในอำนาจในห้วงปี 2475 -2500 รวม 25 ปี..ข้อดีก็มีไม่น้อย แต่ข้อด้อยข้อผิดพลาดก็มีมาก..อย่างน้อยก็เป็นต้นตำรับของการรัฐประหารชิงอำนาจ...แต่ข้อไม่ดีของคณะราษฎรไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนักในยุคนี้เพราะกลัวรถทัวร์สามนิ้วมาจอดหน้าบ้าน...

เลี้ยวมาสู่การเมืองเรื่อง...ไทม์ไลน์การชิงอำนาจผ่านตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี..คาดว่าวันที่ 3 ก.ค.จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา  จากนั้นวันที่ 4หรือ5ไม่เกินวันที่ 6 ก.ค.ก็จะโหวตลับเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร  ก่อนที่ประมาณวันที่ 13 ก.ค.ก็จะประฃุมรัฐสภา  โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี...

ตำแหน่งประธานสภาหากว่ากันในนาทีนี้ก็พอจะเห็นเค้าชัดเจนว่า...ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็คว้าไปครอง โดยชื่อของสุชาติ  ตันเจริญ   ยังเป็นเต็งหนึ่ง...การหักเหลี่ยมโหดตำแหน่งประธานสภา จะ เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ทางแยกของพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล...แม้หลังจากเลือกประธานสภาแล้วพรรคเพื่อไทยจะทนุถนอมประคับประคองโหวตหนุนพิธาเป็นนายกฯแบบเต็มแม็กซ์  แต่เชื่อว่า”พิธา”ก็ไม่ผ่านโหวตอยู่ดี...

ถึงนาทีนั้นพรรคก้าวไกลเจอกับโจทย์ใหญ่ว่าจะเดินหน้ายังไงต่อไป  เกาะขาพรรคเพื่อไทยขอเข้าร่วมรัฐบาล  หรือประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน...ถ้าให้”เล็ก เลียบด่วน” ฟันธงก็ต้องเปรี้ยงว่า คงเลือกหนทางเป็นฝ่ายค้าน...บางกระแสข่าวบอกว่าดีไม่ดีพรรคก้าวไกลอาจประกาศแยกทางชักธงรบเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ถูกหักเหลี่ยมเก้าอี้ประธานสภาสภาฯแล้วก็ได้...

สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี...นาทีนี้เต็งจ๋ายังเป็น “บิ๊กป้อม”  พล.อ.ประวิตร  วงศ์สุวรรณ    ที่จะมากอบกู้เผชิญหน้าสถานการณ์การชุมนุมการต่อต้านรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ยังตั้งรัฐบาลไม่แล้วเสร็จ

โดยรัฐบาลใหม่พรรคเพื่อไทยในฐานะมีเสียงสูงสุดก็คงจะได้กระทรวงสำคัญไปบริหารสร้างผลงานเพื่อขับเคี่ยวกับพรรคก้าวไกลในสมัยหน้า...ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า..พรรคเพื่อไทยพยายามที่จะเจรจาต่อรองขอ “นายกฯคนละครึ่ง” หรือคนละ2ปีกับพล.อ.ประวิตรด้วย...

ปืดท้ายกันที่พรรคเก่าแก่ที่สุด อายุ 77 ปี 2เดือนเศษ อย่างประชาธิปัตย์..นับถอยหลังวันที่ 9 ก.ค.ก็จะเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดรักษาการที่ จุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์   แสดงสปิริตลาออกหลังนำทัพพ่ายศึกเลือกตั้ง  จาก 52 เสียงเหลือ 25 เสียง...สาละวันเตี้ยลง สาละวันตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ....ซึ่งเมื่อไปดูกติกามารยาทการเลือกหัวหน้าพรรคของพรรคนี้แล้ว  จากบรรดาโหวตเตอร์10กว่ากลุ่มนั้น  พบว่ากลุ่มส.ส.ในปัจจุบัน 25 คนมีน้ำหนักโหวตสูงสุด  70 %  อีกสิบกว่ากลุ่มโหวตยังไงก็ได้ไม่เกิน 30 %...แน่ชัดตามกติกานี้อิทธิพลและอำนาจชี้เป็นชี้ตายอยู่ที่สองผู้ยิ่งใหญ่ เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รักษาการเลขาธิการพรรคที่จะไม่รับตำแหน่งอะไรอีกนอกจากผู้มีบารมีในพรรค  กับอีกคนคือ เดชอิศม์  ขาวทอง   หรือ”นายกฯชาย” รองหัวหน้าพรรคภาคใต้  ที่หุ้นกำลังพุ่งกระฉูดเป็นหนึ่งในตัวเต็งหัวหน้าพรรค และเป็นคนประกาศว่า..ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเปลี่ยนแปลง 360 องศา..

ต้องบอกว่านาทีนี้เป็นยุคที่ประชาธิปัตย์หาวีรบุรุษหรือวีรสตรียากมากถึงยากที่สุด...”ดร.เอ้” หรือ “มาดามเดียร์” ที่พูดๆถึงกันนั้นก็ยังขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรค  ถึงจะมีข้อยกเว้นแต่ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่า สองคนนี้ต้องเป็นคิวต่อไป...ดังนั้น...กระแสในพรรคประชาธิปัตย์อีกด้านหนึ่งขณะนี้เรียกร้องให้ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี  ออกมากอบกู้พรรค  แต่อภิสิทธิ์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ  กระนั้นก็เดาได้ไม่ยากว่า..อภิสิทธิ์คงพร้อมมาช่วยพรรคแต่ต้องเป็นแบบกึ่งฉันทามติ...ไม่ต้องมาแข่งกันแบบเลือดเดือดเหมือนครั้งก่อนๆ..ซึ่งหลายฝ่ายก็น่าจะเห็นด้วยกับสูตรนี้...
0 ถ้าที่สุดหวยงวดวันที่ 9 ก.ค.ออกมาว่า..อภิสิทธิ์ –หัวหน้า , เดชอิศม์ –เลขาฯ  ก็น่าจะทำให้ลูกพระแม่ธรณีสดชื่นขึ้นมาไม่น้อย..!!

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน

‘ชัช เตาปูน’ รายงานตัวที่สภาฯ จ่อดัน ‘กาสิโน’ ให้ถูกกฎหมาย เพื่อหารายได้เข้าประเทศ แก้หนี้ให้ประชาชน

วันที่ 23 มิ.ย. 2566 – เมื่อเวลา 11.20 น. ที่รัฐสภา นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เข้ารายงานตัว ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้น นายชัชวาลล์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจ และขอบคุณประชาชนที่ไว้วางใจให้พรรครวมไทยสร้างชาติ และทำให้ตนได้กลับเข้ามาทำงานรับใช้ประชาชนอีกครั้ง ทั้งนี้มีความตั้งใจที่จะผลักดันกาสิโนให้ถูกกฎหมาย ในรูปแบบสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) ให้สำเร็จ ซึ่งหวังว่าสภาฯ ชุดที่ 26 นี้จะนำรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กลับเข้ามาพิจารณาในสภาอีกครั้ง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีกาสิโนที่ถูกกฎหมายต่อไป เพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย และแก้ปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน รวมถึงให้เด็กได้มีโอกาสเรียนหนังสือฟรี

‘นิพนธ์’ แนะ กระจายอำนาจ หนุนท้องถิ่นมีส่วนร่วมทางการเมือง เชื่อมั่น!! “เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง”

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 66 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเวทีเสวนา การติดตามนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง หัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ในการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 ประจำปี พ.ศ.2566 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อาคาร 2 อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยมีผู้แทนจาก พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคก้าวไกล พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การทำงานของถิ่นในบางภารกิจยังมีอุปสรรคในการบริหาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน และแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินการภายใต้กติกาที่กำหนดไว้ เพื่อให้งานเดินต่อไปได้และไม่เกิดปัญหาภายหลัง

สำหรับเรื่องจัดเก็บภาษีนั้น ก็ควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีพร้อมทั้งพิจารณาจัดเก็บฐานภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมที่ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้นสามารถนำมาพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

ในส่วนความคืบหน้าเรื่องกระจายอำนาจ ในขณะนี้อยู่ในแผนที่ 3 แต่ขณะเดียวกัน แผนที่ 1 และ 2 ก็ยังถ่ายโอนไม่หมด ซึ่งควรพิจารณาว่าภารกิจใดที่ท้องถิ่นทำได้ก็ให้เร่งรัดถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณพร้อมบุคลากรให้ท้องถิ่นได้ดำเนินการ เพราะการถ่ายโอนภารกิจใดไปและดำเนินการไม่ได้อาจจะถูกดึงภารกิจกลับ ซึ่งเรื่องกระจายอำนาจนั้นสามารถทำได้ทันทีโดยนายกรัฐมนตรี ต้องนั่งเป็นประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ กำหนดนโยบายการถ่ายโอนภาระกิจ ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

นายนิพนธ์ยังกล่าวด้วยว่า การป้องกันการทุจริต ปัจจุบันมีการพัฒนาในกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการตรวจรับงานจ้าง รวมถึงการสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานท้องถิ่น ดังนั้น จึงไม่ควรนำเรื่องทุจริตมาปิดกั้นการกระจายอำนาจ เพราะการกระจายอำนาจ คือการสร้างการมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนได้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่า “เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง”
 

‘ติ่ง มัลลิกา’ เปรียบ ‘พิธา’ เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกประชาชน นโยบาย 3,000 บาท ทำไม่ได้จริง ขึ้นค่าแรง 450 บาท ก็ลวงแรงงาน

ติ่ง มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการคนดังนั่งเคลียร์ ทางช่อง 8 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 เกี่ยวกับประเด็น ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของก้าวไกล ได้เคยหาเสียงไว้ในการที่จะให้เงินผู้สูงอายุ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีใจความว่า ...

ข้อที่ 1 เขาประกาศเองว่าเขาทำไม่ได้ นโยบาย 3,000 บาท เนื่องมาจากว่าเขาเป็นรัฐบาลพรรคผสม จากนั้นเขาไปดูงบประมาณแล้ว เขาจะต้องไปดึงงบไป เกลี่ยงบมา เขาจะต้องจ่ายเงิน 3,000 บาทให้ คนแก่ 1 คน ทั้งประเทศมีคนแก่ 12 ล้านคน สรุปเขาจะต้องใช้เงิน 6 แสนล้านบาท พิธาหลอกลวงประชาชนหรือไม่ พิธาเป็นยิ่งกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่
ทำบาปมากที่ไปหลอกคนแก่ทั่วทั้งประเทศไทย ตอนหาเสียงที่ทาบอกว่าสามารถทำได้ภายใน 100 วัน แต่ปัจจุบันบอกว่า 3,000 บาทจะทำได้หลังปี 2570 เท่ากับที่ผ่านมาพิธาหลอกลวงประชาชน

ข้อที่ 2 เงินค่าจ้าง 450 บาท หลอกลวงแรงงาน ทั้งหมดเลย ทั้งแรงงานต่างด้าว ทั้งแรงงานไทย อ้างว่าทำไม่ได้ เพราะเนื่องมาจาก เวลาจะขึ้นค่าแรง 450 บาทนั้น จะต้องไปผ่านคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คณะกรรมการ 3 ฝ่ายนั้นเป็นบอร์ดไม่ใช่นายกจะสั่งซ้ายสั่งขวาได้เลย เขาหลอกลวงประชาชน จะมีหรือที่ว่า นักการเมืองอย่างพิธา ที่อยู่คณะกรรมาธิการงบต่างๆนั้นจะไม่รู้เรื่องนี้ เขาจะต้องรู้อยู่แล้วว่าการจะประกาศขึ้นค่าแรงงานนั้นไม่สามารถประกาศได้เลยจะต้องผ่านคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายนี้เพิ่งประชุมไปเมื่อปี 2565 ค่าแรง 300 บาทยังไม่ขึ้น นั่นก็แปลว่าถ้าคุณเข้าไปเป็นรัฐบาล 100 วันค่าแรงมันก็ยังไม่สามารถที่จะขึ้นได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นสรุปได้ 2 อย่างก็คือข้อ 1 พิธาไม่รู้พิธาไม่มีความรู้ ในเรื่องของกลไกในเรื่องของการบริหารประเทศ หรือข้อที่ 2 ก็คือพิธาเจตนาหลอกลวงประชาชน มัลลิกากล่าวทิ้งท้าย
 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการดูแล ‘หยก ธนลภย์’ เพื่อป้องกันความขัดแย้งบานปลายในสังคม โดยกล่าวว่า…

“สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือการหาตัวผู้ปกครองที่เหมาะสมกับเด็ก ตามกลไลทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองเด็ก ตามสิทธิเด็กที่พึงมี โดยไม่อาจปล่อยให้เด็กเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันเห็นว่าบรรดาพรรคการเมือง ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเด็ก และควรหยุดนำเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แบบรายบุคคล แต่ควรกลับไปคิดเชิงระบบของการแก้ไขปัญหาเด็ก ว่าควรจะทำอย่างไรให้เยาวชนเป็นพลเมืองที่ดีมีภูมิคุ้มกันทางสังคม

ทั้งนี้ จะเห็นว่า คำว่า ‘ชุดนักเรียน’ หรือการแต่งกาย ไม่ได้เป็นข้อจำกัดทางการศึกษาอยู่แล้ว บริบทของปัญหามีความหลากหลายไม่มีถูกผิด เช่น ในตามพื้นที่ห่างไกล ยากไร้ การใส่ชุดนักเรียน เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และในโรงเรียนที่ร่ำรวย และเด็กส่วนใหญ่มีเศษสถานะที่ดี การสวมชุดนักเรียน ช่วยให้เด็กอยู่ระเบียบ และลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละครอบครัว”

‘พีระพันธุ์’ ประกาศชัด ไม่มีวันทิ้งคนดีๆ แบบ ‘ลุงตู่’ ลั่น!! ขอทำหน้าที่เลขาฯ นายกฯ จนวินาทีสุดท้าย

(22 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายวานยากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังมีกระแสข่าวว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ก่อนเข้ารายงานตัวเป็น ส.ส. ต่อสภาผู้แทนราษฎร

ล่าสุด เวลา 09.05 น. นายพีระพันธุ์ โพสต์ข้อความ บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ยืนยันว่า จะอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จนวินาทีสุดท้ายในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า…

“เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 66 มีการรายงานข่าวทางสื่อมวลชนบางฉบับว่าผม ‘ทิ้งลุงตู่’ หรือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ก็ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และมีการสอบถามผมมาอย่างเข้าใจผิดมากมายว่าผม ‘ทิ้ง’ ท่านนายกรัฐมนตรีทำไม

ผมขออนุญาตเรียนให้ทราบกันครับว่าคนอย่างผมไม่มีวันที่จะทิ้งคนดีๆ อย่างท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  โดยเด็ดขาด

วันนี้ผมยังอยู่กับท่านและยังคงทำงานให้ท่าน ในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามปกติทุกวัน

ผมพูดอยู่เสมอว่า ผมมีความสุขที่ได้ทำงานกับท่านและมันก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น การได้เจอคนดีนับเป็นโชคดีของชีวิต การได้เจอและได้ทำงานกับคนดีๆ ยิ่งต้องถือว่าทั้งโชคดีและเป็นกำไรของชีวิต ที่ได้ซึมซับและได้เรียนรู้เรื่องดีๆ จากคนดีๆ ยิ่งเป็นคนดีที่รักชาติบ้านเมืองรักสถาบันยิ่งชีวิต ก็ยิ่งต้องถือว่าเป็นโชคมหาศาลของชีวิต

ผมขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันนะครับ ว่าผมเลือกที่จะอยู่กับท่านจนวินาทีสุดท้ายในการทำงานของท่าน และการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของคนไทยและประเทศไทย

ตามนี้นะครับ”

ศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค สะเทือนค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์-เดชอิศม์’ ใครจะได้เป็นผู้กุมบังเหียนประชาธิปัตย์

เริ่มชัดขึ้นแล้วสำหรับศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ มาถึงวันนี้ น่าจะเหลือเพียงสองคนชิงดำกัน ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จ้องจะเข้ามานานแล้ว วนเวียนพูดอยู่ตามเวทีเสวนาต่างๆ กับ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้

เดิมมีชื่อปรากฏผู้ที่จะลงชิงอยู่ 3-4 คน ตามที่เคยบอกกล่าวไปบ้างแล้ว นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ ‘นายกฯ ชาย’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่กล่าวอ้างว่า มี ส.ส.มากถึง 17 คน ให้การสนับสนุน มีแรงเชียร์จากชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรค น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ ‘มาดามเดียร์’ ผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มเดียวกับที่เชียร์นายกฯ ชาย ถ้าคนใดคนหนึ่งถอยอีกคนจะสู้แทน แต่มาดาเดียร์น่าจะขาดคุณสมบัติ เพราะเพิ่งเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 5 ปี ตามข้อบังคับพรรค แต่ข้อบังคับพรรคมีการเปิดช่องให้ยกเว้นการบังคับใช้ได้ด้วยมติ 3/4 ของที่ประชุมใหญ่ แต่ยังถือว่า ‘อ่อนพรรษาทางการเมือง’ ด้วยอายุเพียง 37 ปี และเป็น ส.ส.1 สมัย และไม่ใช่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มาดามเดียร์จึงน่าจะไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์มากุมบังเหียนพรรค

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าใครสนับสนุนบ้าง แต่ภาพลักษณ์ดี เป็นคนรุ่นใหม่ มีคุณสมบัติครบ และ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการพรรค บารมียังน้อย แต่ทำงานใกล้ชิดนายชวน หลีกภัย ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา ดร.อิสระ จะโดดเด่นขึ้นมาได้ ต้องได้รับการสนับสนุน หรือแรงเชียร์จากผู้อาวุโสในพรรคเท่านั้น ผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏชัด ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่ตัวชูโรง ถึงที่สุดแล้ว น่าจะถอยตามคำขอของผู้อาวุโส

โดยทั้งหมดเรียกว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ต้องการให้เข้ามากอบกู้วิกฤตพรรค ก่อนหน้านี้อาจจะมีชื่อ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ด้วยประวัติส่วนตัวบางอย่างยังคลุมเครือ จึงล่าถอยไปก่อน กลัวจะถูกขุดคุ้ยไม่ต่างจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอดีต ส.ส.และผู้อาวุโสของพรรคทั้งนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ต่างเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมจะมากอบกู้ฟื้นฟูพรรคในเวลานี้มีเพียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แจ้งต่อผู้ใหญ่ในพรรคแล้วว่าถ้าจะกลับมานำพาพรรคต้องเป็นฉันทานุมัติของคนในพรรคที่เห็นพ้องกัน และขอให้เชื่อมั่นในทิศทางที่จะนำพาพรรค โดยจะขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น

ท่าทีการขอเป็นฝ่ายค้านของนายอภิสิทธิ์ น่าจะตรงกับกระแสส่วนใหญ่ที่อยากเป็นประชาธิปัตย์ถอยมาตั้งหลัก ขบคิดทบทวน ถอดบทเรียนเรื่องราวในอดีต แต่แตกต่างจากท่าทีของกลุ่มหนุนนายเดชอิศม์ ที่ต้องการนำพาพรรคไปสู่การร่วมรัฐบาล เพื่อนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปสู่การปฏิบัติ รับใช้พี่น้องประชาชน

เอากันให้ชัดๆ สรุปว่า เวลานี้เหลือชิงดำกันระหว่าง ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘นายกฯ ชาย’ เท่านั้น

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เริ่มปรากฏภาพความเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นเมื่อ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.วทันยา บุนนาค เป็นต้น รวมถึงนายเชาว์ มีขวด และ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ไปปรากฏตัวในงานเลี้ยงวันเกิดคุณติ๊งต่าง

‘คุณติ๊งต่าง’ คือใคร? คือ นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ‘ติ๊งต่าง’ เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม​ชาวไทยหัวใจรักสงบ แม่ยกสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

ในงานเลี้ยงของแม่ยกประชาธิปัตย์ที่มีผู้อาวุโส ผู้มากบารมีทางการเมืองไปร่วม คงไม่คุยกันเรื่องการทำนา ราคาทุเรียน หรือรับเหมาก่อสร้างเป็นแน่แท้ จริงไหมโฆษกขวด เชื่อมั่นว่าจะต้องคุยกันถึงเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และจะเชียร์ใคร ถ้าไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ที่นั่งอยู่ในวงด้วย และคนในวงนี้ทั้งหมดเชียร์นายอภิสิทธิ์ทั้งนั้น

ไม่ต้องพูดถึงนายชวน-บัญญัติ-คุณหญิงกัลยา เชาว์ มีขวด เข้าสู่แวดวงการเมือง เพราะคำชักชวนของนายอภิสิทธิ์ เกียรติ์ สิทธีอมร ได้ดิบได้ดี เพราะนายอภิสิทธิ์สนับสนุนมิใช่หรือ

9 กรกฎาคมก็จะรู้ว่า ใครจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘นายกฯ ชาย’ แต่ก่อนถึงวันนั้นให้ติดตามการขับเคลื่อนของมวลสมาชิก เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย และให้จับตา ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ ว่าจะขยับไปหนุนช่วยฝั่งไหน

‘บิ๊กป้อม’ ใจบันดาลแรงแซงโค้ง นับถอยหลัง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ แยกทาง!!?

ไทม์ไลน์การเมืองหลังการรายงานตัวของ ส.ส. 500 คนจะเรียบร้อยในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ จากนั้นนับไปอีก 15 วัน เป็นรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา คือวันที่ 3 หรือ 4 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ถัดไปก็จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาฯ ซึ่งประธานสภาฯจะเป็นประธานรัฐสภา แบบเดียวกับท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาคนล่าสุดนั่นแล…

วันสองวันก่อนดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยยอมหมอบยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรคก้าวไกลไปแล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นขอเก้าอี้รองประธานสภา 2 ตัว…

แต่ล่าสุดของล่าสุด กระแสข่าวที่ว่า ‘พ่อมดดำ’ นายสุชาติ ตันเจริญ จากค่ายเพื่อไทยจะถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐก็มาแรงหาทางแซงทางโค้งอยู่เหมือนกัน ไม่สามารถมองข้ามได้…

เรียนท่านผู้อ่าน คุณผู้ฟังว่าพรรคเพื่อไทยในยามนี้นั้น ความคิดแตกเป็นสองสามแนวทางประสาพรรคการเมืองขาลง แต่กระนั้นที่ทุกคนในพรรคเห็นเหมือนกันก็คือ ต้องหนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดทนายกฯ พรรคก้าวไกลให้สุดทาง เพราะแทบทุกคนเชื่อว่าโอกาสที่นายพิธาจะผ่านโหวตได้เป็นนายกฯ นั้นมีน้อยนิด ประมาณ 0.035 เปอร์เซ็นต์ เท่าหุ้นไอทีวีที่นายพิธาเคยถือเท่านั้น…

แต่สำหรับเก้าอี้ประธานสภาฯ คนเพื่อไทยส่วนหนึ่งเห็นว่า ต้องเล่นบท ‘นักเลง’ เอาใจ ‘ด้อมส้ม’ รักษามวลชนหน่อย… ให้ก้าวไกลเอาไป แต่อีกพวกหนึ่งยืนยันว่า ปล่อยไม่ได้ เพราะเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติสำคัญ ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับฝ่ายบริหาร ซึ่งในที่สุดพรรคเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกลอย่างแน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาขาใหญ่เก๋าเกมในพรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า เมื่อนายพิธาวืดเก้าอี้นายกฯ ไปแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันว่า ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร’ หรือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ เพราะตราบใดที่ยังกอดคอกับ 8 พรรค ก็มีอยู่แค่ 312 เสียง… โอกาสที่เกมการเมืองจะไถลไปเข้าทางพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ ‘ลุงป้อม’ มีสูงมาก ดังที่เล็ก เลียบด่วน ได้เคยรายงานไว้แล้วหลายครั้ง ซึ่งถึงวันนี้สถานการณ์ก็ยังเป็นเช่นนั้น…

สรุปว่า เก้าอี้ประธานสภาโอกาสที่จะพลิกเป็นของ ‘พ่อมดดำ’ แห่งพรรคเพื่อไทยมีสูงยิ่ง และถ้า ‘บิ๊กป้อม’ ผงาดขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 ขณะที่นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นประธานสภา อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยก็ไม่เสียฟอร์มพรรค 141 เสียง เพราะยังมีเก้าอี้ใหญ่ติดพรรค แต่หากยกเก้าอี้ประธานสภาให้ก้าวไกล โอกาสที่เพื่อไทยจะวืดเก้าอี้ใหญ่ทั้งสองตัวก็มีสูง…

ด้วยเหตุผลดังว่ามา… การเมืองจากนี้ไป พรรคเพื่อไทยก็ต้องฟังเสียงรอบทิศจากมวลสมาชิกมากขึ้น แม้กระทั่งกรณีเก้าอี้นายกฯ วันไหนที่นายพิธาสอบไม่ผ่าน พรรคเพื่อไทยจะเดินเกมอย่างไร? จะผูกขากับพรรคก้าวไกลต่อไป หรือเปิดทางให้พรรคพลังประชารัฐของ ‘ลุงป้อม’ เข้ามาทันทีทันใด หรือจะต่อรองเดินเกมอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าจับตายิ่ง…

ประมาณกันว่าแถวๆ วันที่ 5 หรือ 6 ก.ค.นี้ บรรดา ส.ส. 500 คน จะโหวตเลือกประธานสภา ซึ่งจะเป็นการโหวตลับ จากนั้นประมาณวันที่ 13 ก.ค. สมาชิกรัฐสภา 750 คนจะโหวตเลือกนายกฯ ไม่ผิดที่กล่าวกันว่า พลันที่รู้ตัวประธานสภา ก็จะเห็นโฉมหน้านายกฯและรัฐบาลชุดต่อไป…

เพื่อให้เกิดอรรถรส… เล็ก เลียบด่วน เขียน 3 สูตร รัฐบาลแปะข้างฝาไว้ให้เม้าท์มอยกัน

สูตรแรก : พรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วย เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา… ‘บิ๊กป้อม’ หรือ ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ

สูตรที่สอง : 8 พรรคที่กำลังฟอร์มทีม บวกพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์… สูตรนี้ไม่มี ‘ภูมิใจไทย’ บิ๊กป้อมเป็นนายกฯ… สูตรนี้ก้าวไกลต้องยอมเสียสัตย์เพื่ออยู่กับลุง

สูตรที่สาม : พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ เป็นแกนนำผสมกับอีกหลายพรรค โดยพรรคก้าวไกลแยกทางกับเพื่อไทยไปเป็นฝ่ายค้าน… สูตรนี้ ‘บิ๊กป้อม’ เป็นนายกฯ

ทั้งสามสูตรจะเห็นชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ มีลุ้น… ถ้าสุขภาพไม่ไหวก็อาจจะใช้นโยบาย ‘นายกฯ คนละครึ่ง’ แต่ถ้าไหวก็ตีตั๋วยาว สังเกตดีๆ วันที่ไปรายงานตัวเป็น ส.ส.ป้ายแดง จะเห็นลุงป้อมเดินปร๋อแบบ ‘ใจบันดาลแรง’ อีกครั้ง… ก่อนที่จะบินไปอังกฤษ พักผ่อน ดูแลสุขภาพ

ส่วนจะไปพูดคุยกันเรื่อง ‘ดีลลับ’ กับใครหรือไม่… เสาร์นี้ ‘เล็ก เลียบด่วน’ จะมารายงานครับ

‘เชาว์’ สะกิตใจสมาชิก ‘ปชป.’ ร่วมปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่  ลั่น!! ถึงเวลา ‘ถอย’ เพื่อ ‘ถอด’ บทเรียน และก้าวไปข้างหน้า

‘สัจจัง เว อัมตะ วาจา’... วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกรัฐบาล ได้หยิบยกเอาคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์มาสะท้อนการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านจากยุคตกต่ำที่สุดที่คณะกรรมการบริหารพรรค คนของพรรคจะต้องรักษาคำพูด รับผิดชอบต่อคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน โดยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เป็นเครื่องสะกิดเตือนในชาวประชาธิปัตย์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งเรื่อง ถึงชาวพรรคประชาธิปัตย์ ได้เวลาถอยเพื่อถอดบทเรียน มีเนื้อหาระบุว่า…

ตนเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางวิกฤติความตกต่ำของพรรคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาพรรคได้ ส.ส.มาเพียง 25 คน จนนำไปสู่การ แสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งด้วยการลาออก จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ต้องพ้นตำแหน่งไปโดยปริยายด้วย

“ผมเชื่อว่าหลายคน ทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคและไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค คงจับตาดูว่า ก้าวต่อไปของประชาธิปัตย์จะเดินไปทิศทางไหน เพราะ 78 ปี บนเส้นทางการเมือง และการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่รุนแรงเท่านี้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ความตกต่ำของพรรคที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องถูกดิสรัปจากการสื่อสารสมัยใหม่ ที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเท่านั้น อุดมการณ์การเมือง ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่สุดของพรรคก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก นับจากที่ประชุมพรรคตัดสินใจมีมติร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สวนทางกับคำมั่นที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ไว้กับประชาชน จนท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจาก ส.ส.เพื่อรักษาจุดยืนทางการเมือง

ผมยังจำคำพูดวันนั้นของท่านอภิสิทธิ์ได้ดี ท่านบอกว่า “ยิ่งใหญ่กว่ามติพรรค คือ สัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ” ท่านบอกด้วยว่า ในวันนั้นท่านเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิไม่เฉพาะตัวเอง แต่เป็นเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า สจฺ จํ เว อมตา วาจา ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน” นายเชาว์ ระบุ

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อไปว่า ที่เท้าความไปไกล เพื่อตอกย้ำว่า ถึงเวลาที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรค เราไม่เหมือนพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ดับสูญไปตามตัวบุคคล แต่ประชาธิปัตย์ เป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา เป็นที่พักพิงให้ประชาชนมาเนิ่นนาน เราจะกลับไปอยู่ในจุดที่ประชาชนศรัทธาไว้วางใจอีกครั้งได้อย่างไร ในสถานการณ์ ที่เรากำลังขาดบุคลากรที่โดดเด่น บวกกับสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องเฟ้นหาผู้นำทางที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องมากบารมี บททดสอบนี้จึงไม่ใช่แค่ ส.ส.เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพรรค ซึ่งผมทราบมาว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ กรรมการบริหารพรรคจะมีประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

“น่าแปลกใจที่ทั้งพรรคเต็มไปด้วยความเงียบงัน ไม่มีการเปิดตัวผู้อาสามาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคคนใหม่ ไม่มีการรณรงค์หาเสียงเหมือนอดีตที่ผ่านมาที่เราเคยเป็นต้นแบบระบบประชาธิปไตยภายในพรรค มีการแข่งขันกันอย่างเสรีเหมือนทุกครั้ง แต่กลับมีกระแสเล็ดลอดซุบซิบในในวงแคบ ๆ ว่า มีการ ล็อกสเปก บุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ไว้แล้ว โดยกลุ่มอดีตผู้บริหารที่กุมเสียงว่าที่ ส.ส.ชุดปัจจุบันได้กว่า 17 คน ซึ่งตามข้อบังคับพรรคจะให้น้ำหนักโหวต ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเป้าต้องการที่จะร่วมรัฐบาล ตนทราบมาว่าหลายคนอึดอัดกับท่าที ที่กำลังเป็นอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ เพราะทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเสมือนการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ เป็นการถอยเพื่อถอดบทเรียน รับฟังเสียงจากสมาชิกส่วนใหญ่ให้มีส่วนร่วมด้วย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่ควรกระทำ เพราะถ้าหวังร่วมรัฐบาลเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจรักษาจุดยืนของพรรค การเลือกตั้งครั้งต่อไปเราอาจจะไม่มีที่ยืนในสภาฯ แม้แต่ที่เดียว” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย

อุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคสมัยนายควง อภัยวงศ์ เมื่อ 78 ปีทีีผ่านมา ชาวประชาธิปัตย์ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรอง โดยเฉพาะ 3 ข้อสำคัญ ต่อต้านเผด็จการ ไม่ทุจริตคอรัปชั่น และกระจายอำนาจ

การตัดสินใจโดยมติพรรคนำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของประชาธิปัตย์หรือไม่ สังคมภายนอกมองว่า ‘กอดขาเผด็จการ ร่วมรัฐบาล’ โดยลืมวาจา ลืมคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน

ถ้าชาวประชาธิปัตย์ยอมรับความจริง สิ่งที่เชาร์นำเสนอมานั่นคือความจริง ถ้าชาวประชาธิปัตย์หวังจะนำพาพรรคให้ฟื้นกลับคืนมาเฟื้องฟูอีกครั้ง จะต้องนั่งลงตรึกตรอง สุมหัวคิดถอดบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ไม่ใช่สุมหัวคิด ล็อคสเปกผู้นำพรรคที่กระสันต์อย่างเป็นรัฐบาล โดยไม่ใส่ใจต่อสภาพของพรรค และอนาคตของพรรค เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ยังเดินไปภายใต้การกุมบังเหียนของคนบางกลุ่มจากขั้วอำนาจเก่า ล็อคสเปกผู้นำพรรคตามที่เชาร์ให้ข้อมูลมา ยิ่งจะทำให้ประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปอีก และการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะเป็นพรรคต่ำสิบ และอนาคตจะไม่มีที่ยืน ไม่แตกต่างจากพรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ ที่เคยยิ่งใหญ่ แต่ถึงเวลาก็ดับสลายไป

แต่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่สืบทอดเจตนารมณ์-อุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรคมายาวนาน 78 ปี สภาพเช่นนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพียงแต่ชาวประชาธิปัตย์กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาประกาศจุดยืน แนวทางของพรรค และกล้าพอที่จะปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่หรือไม่ในสถานการณ์ที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

วันนี้ประชาธิปัตย์ขาดบุคลากรที่ทรงคุณภาพที่จะเข้ามานำพาพรรค ถามว่าตำแหน่งหัวหน้าว่างมาเดือนกว่า จนถึงวันนี้มีใครกล้าลุกขึ้นมาประกาศตัวลงชิงหัวหน้าพรรคสักคนไหม ยังไม่เห็นมี มีแต่ข่าวลือว่า น่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ลงชิง แต่ข้อเท็จจริง คือไม่มีใครเปิดตัวออกมาเลยแม้แต่คนเดียว เงียบสนิทอย่างที่เชาร์ว่าจริงๆ เหลือเวลาไม่ถึงเดือนจะเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบานสพลั่งเต็มหัวใจชาวประชาธิปัตย์ เดินสายพบปะ แสดงวิสัยทัศน์กับบรรดาโหวตเตอร์กับครึกโครม

สถานการณ์ที่เงียบงันของประชาธิปัตย์ ดูวิเวกวังเวงวิโหวเหวเหลือเกิน เศร้าสร้อย หดหู่ใจ เจ้าหน้าที่พรรคยังซุบซิบกันเลยว่า ถ้าคนนี้ลงสมัครเป็นฉัน ฉันก็ไม่เลือก และถ้าเขามาเราจะอยู่กันอย่างไร?

ร้องไห้เถิด ถ้าจะร้องเพื่อจะลุก ถอยเถอะ ถ้าจะถอยเพื่อทบทวน และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างหาญกล้าและท้าทาย ถอยมาดับเครื่อง เช็คเครื่อง สตาร์ท เดินรถใหม่

เรื่อง : นายหัวไทร

‘พล.อ.ประวิตร’ เดินทางเข้ารายงานตัว ส.ส.บัญชีรายชื่อชุดที่ 26 พร้อมเดินหน้าทำงานให้ประชาชนและประเทศชาติ

วันนี้ (20 มิ.ย. 66) เวลา 14.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เดินทางเข้ารายงานตัวเป็นวันแรก หลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยในวันเดียวกันมีส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐบางส่วนเริ่มทยอยรายงานตัวต่อ สภาผู้แทนราษฎร เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในการเดินทางมาสภาฯครั้งนี้ มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มารอให้การต้อนรับ
       
จากนั้นเมื่อรายงานตัวเสร็จสิ้น พล.อ.ประวิตร ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายงานทีวีสภา โดยระบุว่า ตนขอขอบคุณที่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐเข้ามารับใช้ประชาชน รับใช้ประเทศชาติ รับใช้ประชาชนรวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมืองของเราต่อไป ก็ต้องขอขอบคุณท่านที่มาลงคะแนนเสียงให้พรรคพลังประชารัฐได้เข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในครั้งนี้

"ผมก็อยากจะเห็นร่วมมือของ ส.ส.ทุกท่านได้ร่วมทำงานให้ประชาชนเพื่อประเทศชาติ และ เพื่อแผ่นดินที่รักยิ่งของเราคือสถาบันพระมหากษัตริย์นะ เพื่อที่จะให้พัฒนาชาวราษฎรสืบไป เพราะประเทศเราก็มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ฝากกับทุกท่านด้วยว่า ท่านจะทำงานด้วยความร่วมมือร่วมแรงกันอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือนั้น เพื่อต่อยอดทำให้ประเทศชาติของเราพัฒนาก้าวได้ต่อไป"

พลเอกประวิตร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อยากเห็นความร่วมร่วมมือกันระหว่าง ส.ส. และก็อย่าใช้อารมณ์ซึ่งกันและกันในสภา ทุกอย่างก็เป็นไปตามเรื่องของประชาธิปไตยอันดีงาม อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทุกอย่างก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงอยากจะฝากกับทุกท่านว่า ขอให้ทุกคนทำงานร่วมไม้ร่วมมือกันเพื่อประเทศชาติ และประชาชนของเราให้มีความอยู่ดี กินดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคนนั้นเป็นอยู่ต่อไปครับตราบชั่วกาลนานเทอญ

ทั้งนี้เมื่อ พล.อ.ประวิตร ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับ โชว์ใบรับรอง ส.ส. และบัตรประจำตัวส.ส.ต่อสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี และย้ำว่า ไม่รู้สึกตื่นเต้น เพราะเคยเป็นสมาชิกรัฐสภาเมื่อปี พ.ศ.2551 จึงมีความคุ้นเคยดี 

นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปภาพรวมการรายงานตัว ส.ส. ชุดที่ 26 วันแรก (20 มิ.ย.66)ของการรายตัว โดยในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมารายงานตัวจำนวน 17คนประกอบด้วย จังหวัดสงขลา 1.ร.อ. ธรรมนัส  พรหมเผ่า พรรคพลังประชารัฐ. จังหวัดพะเยา 2. นายไผ่  ลิกค์  พรรคพลังประชารัฐจังหวัดกำแพงเพชร3. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดฉะเชิงเทรา4.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข  พรรคพลังประชารัฐจังหวัดตาก 5.นายคอซีย์ มามุ พรรคพลังประชารัฐจังหวัดปัตตานี 6. นายชัยมงคล ไชยรบ พรรคพลังประชารัฐจังหวัดลพบุรี 7. นายฉกาจ  พัฒนกิจวิบูลย์พรรคพลังประชารัฐจังหวัดพังงา8 . น.ส.กาญจนา  จังหวะ  พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดชัยภูมิ9. นางขวัญเรือน เทียนทอง. พรรคพลังประชารัฐจังหวัดสระแก้ว 10. นายปกรณ์ จีนาคำ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดแม่ฮ่องสอน11. นายสุธรรม จริตงาม  พรรคพลังประชารัฐ   จังหวัดนครศรีธรรมราช  12. นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดสงขลา 13.นางรัชนี พลซื่อ  พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดร้อยเอ็ด14. นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดราชบุรี15.นายนเรศ ธำรงทิพยคุณ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่ 16. นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดนราธิวาส17. นายสัมพันธ์  มะยูโซ๊ะ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดนราธิวาส
 

‘วันนอร์’ เผย ไม่กังวลหากประธานสภาอายุน้อย-อ่อนพรรษา เชื่อ!! ‘ก้าวไกล-พท.’ คัดคนมีความสามารถนั่ง ปธ.สภา ได้

วันที่ (20 มิ.ย. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ เข้ารับหนังสือรับรอง ส.ส.จาก กกต. พร้อมกล่าวว่า ขอบคุณ กกต.ที่เร่งประกาศรับรอง ส.ส.ก่อน 60 วัน สำหรับการทำงานของ 8 พรรคร่วม ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการต่างๆ นั้น ได้เตรียมการในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปมากแล้ว เพื่อเตรียมกำหนดนโยบายร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหลายด้าน ส่วนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภานั้น เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่จะต้องไปตกลงกัน หลังจากนั้น จึงจะต้องพูดคุยกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อรับทราบต่อไป

ส่วนพรรคไหนจะได้เป็นประธานสภาและรองประธานสภานั้น ทั้ง 2 พรรคคงมีตัวบุคคลแล้ว และเชื่อมั่นว่าจะคัดคนที่เข้ามาทำงานเป็นอย่างดี เพราะประธานสภาต้องเป็นประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งประธานสภาเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและมีความรู้ความสามารถ ก็จะทำให้งานของสภาคืบหน้าไปด้วยดี ซึ่งมีงานอีกมากมายในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของประธานสภาที่เป็นผู้นำ จะดำเนินการให้รวดเร็วได้อย่างไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นประชาธิปไตยตามที่ประชาชนต้องการ เชื่อว่าทั้งสองพรรคคงจะคุยเพื่อหาคนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่จะนำฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

เมื่อถามว่า ถ้าคนที่จะเป็นประธานสภาอ่อนพรรษาจะเป็นปัญหาในการควบคุมที่ประชุมหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อ่อนพรรษาหรือแก่พรรษา ประธานสภาคงจะมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก เพราะอยู่ที่บุคลิกของคนนั้นๆ ที่จะเป็นผู้นำ ซึ่งคนที่จะเป็นประธานสภาทุกคนจะต้องศึกษาข้อบังคับกฎหมายอย่างแม่นยำ และตัดสินบนพื้นฐานในการให้โอกาสสมาชิกแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันจะต้องรักษาข้อบังคับของสภาฯ ด้วย โดยครั้งหนึ่งนายอุทัย พิมพ์ใจชน เคยเป็นประธานที่มีอายุแค่ 30 กว่าปี ก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อถามถึงโผคณะรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า คงจะต้องพูดกันเป็นขั้นตอนต่อไปหลังจากที่พูดเรื่องประธานสภาจบแล้ว ซึ่งจะต้องจัดตำแหน่งให้ลงตัวเหมาะสมกับกระทรวง และเหมาะสมกับนโยบายที่ 8 พรรคจะมีเพื่อให้ตำแหน่งนั้นทำงานได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อถามอีกว่า พรรคประชาชาติมองกระทรวงไหนไว้แล้วบ้าง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า พรรคประชาชาติเป็นพรรคเล็ก จะต้องหารือกัน ทั้งนี้ เราจะอยู่ตรงไหนก็ได้ที่เราสามารถขับเคลื่อน ในสิ่งที่เราเห็นว่ามีความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งเราเข้าไปทำงานไม่ได้ไปหาผลประโยชน์แต่อย่างใด
 

9 กรกฎาคม เลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ จับตา เฉลิมชัย-เดชอิศม์-ชัยชนะ อยู่ฝั่งใคร คนนั้นมีสิทธิ์เข้าวิน

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีการเคลื่อนไหวเตรียมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ ส.ส.มาแค่ 24 คน จากเดิมมีอยู่ 52 คน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้กรรมการบริหารพรรคทุกคนพ้นจากหน้าที่ไปด้วย

พรรคประชาธิปัตย์กำหนดว่า จะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค
สำหรับองค์ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ตามระเบียบพรรค ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด, อดีตส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค, กก.บห.ชุดรักษาการ, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด, สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ทั้งหมดนี้คือโหวตเตอร์ที่จะออกเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ในแต่ละกลุ่มจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน โดย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาใหม่ จะมีน้ำหนักมากกว่า มากถึง 70% ส่วนที่เหลือมีน้ำหนักแค่ 30#

สำหรับสมาชิกพรรคที่น่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่น่าจะมีหลายคน ทั้งคนเก่า และคนใหม่ คนเก่าเช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะย้อนกลับมาลงชิงอีกหรือไม่ แต่แรงเชียร์มีแน่นอน

คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยลงชิงมาแล้ว แต่พ่ายแพ้ไป แต่ยังยืนหยัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้จะเอาอีกรอบหนึ่งหรือไม่

ส่วนคนรุ่นใหม่ ที่ปรากฏชื่อ อย่างนายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ (ไม่รู้ว่าจะนับเป็นคนใหม่ หรือคนเก่า) มี ดร.เด้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือใหม่เลยก็จะมีมาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ในวัยแค่ 37 ปี

มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เริ่มมีปัญหากับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค (วันหลังจะเขียนให้อ่านกัน) แต่ยังไม่รู้ว่สจะกลับคืนรังหรือไม่ และจะลงชิงหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่

กล่าวสำหรับการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างจากพรรคอื่น มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ใครลงสมัครก็ต้องออกแรงแสดงวิสัยทัศน์ต่อบรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ง่ายๆคือต้องไปหาเสียง หาคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

อย่างที่บอก ส.ส.ใหม่ 24 คน เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุด ใครลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ใหม่ โอกาสได้รับเลือกตั้งจึงมีอยู่สูงมาก

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มา 24 คน ส่วนใหญ่ 16-17 คนเป็น ส.ส.จากภาคใต้ และเป็น ส.ส.ภาคใต้ที่อยู่ภายใต้สังกัดของเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ซึ่งถ้าสองคนนี้ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นจึงมีโอกาสชนะ ยิ่งถ้าได้บวกรวมกับพลังของเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคด้วย ยิ่งจะฉิวเข้าป้าย
 
วิเคราะห์โดยภาพรวม ส.ส.ใหม่ 16-17 คน อยู่ภายใต้การดูแลของ เดชอิศม์ ขาวทอง และชัยชนะ เดชเดโช ส่วนประธานสาขาพรรค และตัวแทนพรรค น่าจะอยู่ในการดูแลของนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่เคยดูแลสาขาพรรค และเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะอดีตแม่บ้านพรรค

ส่วนผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ก็น่าจะไม่แตกต่างจากประธานสาขา ตัวแทนพรรค ที่น่าจะฟังนิพนธ์ และเฉลิมชัย

ส่วนอดีตนายก อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.คงจะมีความเป็นอิสระสูง ขึ้นอยู่กับการล๊อบบี้ของผู้อาวุโส มากบารมี เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้อาวุโสมากบารมีทั้งสองคนจึงเป็นตัวชีเวัดเหมือนกันว่า ใครจะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ถ้าวิเคราะห์กันบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ คนที่จะชนะการเลือกตั้ง ต้องได้รับการสนับสนุนจากเดชอิศม์ ขาวทอง ชัยชนะ เดชเดโช เฉลิมชัย ศรีอ่อน นิพนธ์ บุญญามณี รวมถึงชวน-บัญญัติ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมดนี้จะเทคทีมกัน และช่วยดันคนใดคนหนึ่ง

โดยสรุป แต่เฉลิมชัย เดชอิศม์ และชัยชนะ ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นก็มีสิทธิ์สูงมากแล้ว แต่ถ้าได้นิพนธ์มาเสริมทีมเดียวกัน ยิ่งฉลุยเลย

นายหัวไทร

ด่วน!! ‘กกต.’ ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คนแล้ว คาด ประชุมสภานัดแรก 3 ก.ค.นี้ เร็วกว่าที่กำหนดร่วมเดือน

(19 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กกต. มีมติประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต และแบบบัญชีรายชื่อ100 คน รวม ส.ส. 500 คน และยังมีรายงานด้วยว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เตรียมที่จะมีการแถลงข่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมสภานัดแรกน่าจะเป็นวันที่ 3 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งถือว่า เร็วกว่าไทม์ไลน์ที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้วันที่ 25 ก.ค.เพื่อเลือกประธานสภา

แต่อย่าเพิ่งดีใจไปนะครับ สำหรับ 71 เขตเลือกตั้งที่มีเรื่องร้องเรียนอยู่ วันนี้แค่ กกต.รับรองไปก่อน เพราะการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ กกต.จึงรับรองไปก่อน เพื่อให้ขบวนการในสภาเดินหน้าไปได้ แต่ กกต.ยังมีอำนาจพิจารณาให้ใบแดง ใบเหลือง ใบส้มอยู่เหมือนเดิม และอาจจะสอยที่หลังได้

เพียงแต่ถ้า กกต.จะให้ใบแดง หลังจากนี้ต้องส่งให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน…

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อ กกต.รับรองให้เป็น ส.ส.แล้ว อาจจะมีคนไปร้อง กกต.ซ้ำเรื่องคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

เรื่อง : นายหัวไทร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top