Saturday, 17 May 2025
POLITICS

‘สุริยะ’ เผย ‘เพื่อไทย’ จ่อชู ‘วันนอร์’ ชิงประธานสภาฯ เชื่อ!! ‘คนกลาง’ คือทางออก ลดขัดแย้ง

(3 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย (พท.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหนึ่งในคณะเจรจาพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวทางจะเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นคนกลางชิงตำแหน่งประธานสภาฯ หลังพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ยังตกลงเรื่องนี้กันไม่ได้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ หากกก.บห. มีมติเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ จะสามารถอธิบายชี้แจงกับส.ส. ให้เข้าใจได้ เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้เมื่อมีความขัดแย้ง และเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยได้ 

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะยอมเสียโควตาประธานสภาฯ ใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องการให้การเมืองหน้าต่อไปได้ ถ้าเป็นทางออกที่ดี เมื่อพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลยังไม่มีข้อสรุปที่ลงตัวจึงต้องมีการเสนอชื่อคนกลาง ทั้งนี้ ยอมรับว่าได้มีการทาบทามนายวันมูหะมัดนอร์ ไว้ในเบื้องต้นแล้ว 

เมื่อถามต่อว่าพรรคก้าวไกลจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่นั้น นายสุริยะไม่ตอบคำถามนี้ก่อนเดินเข้าลิฟท์ขึ้นไปประชุมทันที

‘วันนอร์’ นั่งประธานสภาฯ ใต้แรงกดดันรอบทิศ หนุนแยกดินแดน-ไม่เคยมีพรรค 9 เสียงได้นั่งบัลลังก์

ทันทีที่กรณีมีรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมเสนอชื่อคนกลาง อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ว่ามีมากน้อยแค่ไหน?

แน่นอนว่า ในมุมของนายวันนอร์ฯ เอง แม้จะระบุว่า ยังไม่ได้ยินซุ่มเสียงที่เพื่อไทยเสนอเป็นประธานรัฐสภา แต่ถ้าให้รัฐบาลประชาธิปไตยเดินต่อได้ ก็จำเป็นต้องรับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากไปตกอยู่ที่ นายวันนอร์ฯ ก็อาจจะไม่เหมาะนัก เนื่องจากพรรคประชาชาติเองก็มีเสียง ส.ส.เพียง 9 เสียงเท่านั้น การจะยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรควรยกให้กับพรรคที่มีเสียงข้างมาก เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล หรือพรรคที่มีเสียงที่พอฟัดพอเหวี่ยง

นั่นหมายความว่า หากพิจารณาโดยนำกรณีดังกล่าวนี้ไปเปรียบกับ ปี 2562 สมัยพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเสนอชื่อ คุณชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งถือเป็นคนละกรณีกัน เพราะตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงกว่า 50 เสียง 

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองแคนดิเดตโดยเนื้อแท้ เช่น ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลกจากพรรคก้าวไกล , นายณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล และ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ล้วนแต่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น เพราะนายณัฐวุฒิ ถือเป็นคนมีเหตุผล ทำการบ้าน และเป็น ส.ส.ที่อภิปรายได้ดี เช่นเดียวกับ นพ. ชลน่าน ก็เคยเป็นถึงผู้นำฝ่ายค้าน มีฝีมือ เป็นดาวสภามาก่อน แต่หากทั้ง2 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ก็คงต้องลุ้นในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ว่าจะมีการเสนอเชื่อประธานสภาฯ มากกว่า 1 รายชื่อหรือไม่

ฉะนั้น เมื่อวันนี้แคนดิเดตยังไม่ชัด และพร้อมเป็นปมซัดให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเกิดภาพความขัดแย้งกระจายไปถึงเหล่าด้อมประชาธิปไตย การดันชื่อของ ‘นายวันนอร์’ ผุดขึ้นมา ที่ว่ากันโดยคุณสมบัติ และพรรษาการเมืองสูง ก็ดูเหมือนจะเป็นไป ‘ทางออก’ เพื่อยุติปัญหาระหว่าง ‘ก้าวไกล’ กับ ‘เพื่อไทย’ ที่ว่ากันว่าต้องมีการเอาตำแหน่งรัฐมนตรีไปต่อรองกัน ถ้าก้าวไกลหรือเพื่อไทยจะได้เป็นประธานสภาฯ อีกด้วย และหมากนี้ ‘เพื่อไทย’ อาจมีแต้มต่อ จากการที่เป็นอดีตคนคุ้นเคยกับก๊วนโทนี่

อย่างไรก็ตาม วิบากกรรมแห่งผู้นั่งบัลลังก์สูงสุดในสภาฯ ในเชิงของภาคประชาสังคม ก็น่าจะยังคงตั้งคำถามกับ นายวันนอร์ฯ หนักพอตัว หลังจากถูกกล่าวหาว่า พรรคประชาชาติสนับสนุนการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนของนักศึกษา แม้นายวันนอร์ฯ เองจะชี้แจงว่าตนเพียงแค่ได้รับเชิญให้ไปพูดคุยทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการทำประชามติเป็นเรื่องกิจกรรมของนักศึกษา และตนก็ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ก็ตาม...เพียงแต่แรงกระเพื่อมนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำให้เกิดข้อกังขาจากสังคมต่อคุณสมบัติของนายวันนอร์ 

ทว่าเรื่องนี้จะจบลงเช่นไร ใครจะได้นั่งแท่นบัลลังก์ผู้นำสภาฯ เชื่อว่าอีกไม่กี่วันก็คงจะรู้ผล!!

'โบว์-ณัฏฐา' รวบ!! 12 เหตุผลจากคน 'ไม่เอาก้าวไกล' ยี้!! ฉลาก 'ประชาธิปไตย' ที่อาจ 'พัง' คุณค่าของแผ่นดิน

(3 ก.ค.66) คุณโบว์-ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

แน่นอนว่าเมื่อการโหวตในสภาเสร็จสิ้น เราทุกคนพึงเคารพมตินั้นและขึ้นกระดานใหม่ไปด้วยกัน แต่เมื่อยังมีเวลาที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ต่อไปนี้คือ เหตุผลส่วนหนึ่งของคนที่ไม่ต้องการได้รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นผู้นำ 

12 เหตุผลจากคน #ไม่เอารัฐบาลก้าวไกล 

1. เราต้องการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา แต่ไม่ต้องการแนวทางแบบพรรคก้าวไกล 

2. เราไม่ได้มีค่านิยมร่วมกับพรรคก้าวไกลในหลายเรื่อง เราเห็นว่าบ้านเมืองสามารถพัฒนาสู่ความทันสมัยไปตามกาลเวลา โดยไม่ต้องทำลายคุณค่าแห่งความเป็นไทย และสิ่งดี ๆ มากมายที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของชาติเรา  

3. เราไม่เชื่อว่าแนวคิดทางเศรษฐกิจที่เอียงไปทางสังคมนิยม จะนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

4. เราไม่เชื่อว่าการส่งเสริมเสรีภาพอย่างแทบไม่มีขอบเขต จะสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม

5. เรากังวลกับท่าทีของพรรคต่อกลุ่มคนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน เราตั้งข้อสงสัยกับการเคลื่อนไหวเดินสายไปตามภาคต่าง ๆ เพื่อพูดถึงประวัติศาสตร์บาดแผล ทั้งที่ชาติไทยรวมเป็นหนึ่งมานานแล้ว

6. เราไม่ต้องการสังคมที่เห็นการหมิ่นประมาทเป็นเรื่องเบา ๆ ข้อเสนอแก้กฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ ทั้งหมิ่นศาล หมิ่นเจ้าพนักงาน โดยเฉพาะหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ให้เหลือเพียงโทษปรับ เป็นการสร้างค่านิยมที่เราไม่เห็นด้วย เราต้องการสังคมที่มีความเคารพให้เกียรติกัน แลกเปลี่ยนความเห็นต่างอย่างมีอารยะ และไม่ทำร้ายทำลายชีวิตกันด้วยการหมิ่นประมาท 

7. กฎหมายทุกมาตราแก้ไขปรับปรุงได้ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.112 ในแบบที่พรรคก้าวไกลเสนอ ซึ่งมีบทยกเว้นเป็นการเปิดโอกาสให้มีการกล่าวหาสถาบันฯ ได้ ลดโทษจนไม่เหลือขั้นต่ำ จำคุกสูงสุดหนึ่งปี และกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้อง เราเห็นเจตนาว่าพรรคต้องการทำอะไรต่อสถาบันหลักของชาติ และนั่นคือเจตนารมณ์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  

8. เราไม่ไว้ใจพฤติกรรมของพรรคก้าวไกลตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่แสดงออกสนับสนุนให้ท้ายกลุ่มการเมืองที่ไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างสันติ ต่อเติมความแตกแยกในสังคม

9. เราไม่เชื่อในการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยความโกรธแค้นเกลียดชังและปลุกปั่นอารมณ์ฐานเสียง โดยเฉพาะที่เป็นเยาวชนให้แสดงออกในทางที่เป็นโทษทั้งต่อตนเองและสังคม 

10. เราไม่ไว้ใจในประสบการณ์ ทัศนคติ และพฤติกรรมของหลายๆ คนที่พรรคส่งมาให้เป็นผู้แทนราษฎร

11. เราไม่เชื่อในการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างไม่จบไม่สิ้น เราไม่ซื้อการแปะฉลาก “ประชาธิปไตย” ให้ตัวเอง ทั้งที่ทุกพรรคการเมืองได้ผ่านการเลือกตั้งมาในสนามและกติกาเดียวกัน

12. เราเชื่อว่ายังมีพรรคการเมืองที่เป็นผู้นำได้ดีกว่าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่จะขับเคลื่อนทั้งงานบริหารและงานสภาได้ราบรื่นกว่า สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ประเทศได้ดีกว่า เปลี่ยนแปลงสังคมให้พัฒนาไปในทางที่สร้างสรรค์กว่า

และในไม่กี่วันข้างหน้า เราต้องการการตัดสินใจ 'เลือก' ที่คำนึงถึงเหตุผลเหล่านี้ในรัฐสภา เมื่อทุกมือในสภาได้ตัดสินใจมีมติเป็นเสียงข้างมากแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราจะเคารพมตินั้นแล้วเดินหน้าต่อไปด้วยกันค่ะ

'จตุพร' ลั่น!! 4 ก.ค. ข้อตกลงพรรค MOU ถึงจุดจบ เหตุ 'ก้าวไกล-พท.' ไม่รอมชอมปม 'ประธานสภาฯ'

เมื่อวานนี้ (2 ก.ค. 66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน 'อ่านให้ขาด' โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลไม่อาจหาข้อยุติในตำแหน่งประธานสภาได้ ดังนั้น หลังวันที่ 4 ก.ค. ข้อตกลงพรรค MOU จำนวน 312 เสียงคงต้องเลิกลา สิ้นสุดพันธะจับมือร่วมตั้งรัฐบาล การพบกันของ 8 พรรคการเมืองเมื่อ 2 ก.ค. นี้ อาจเป็นการประชุมกันครั้งสุดท้ายก็ได้ เพราะการหารือในวันดังกล่าวไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยังไม่มีข้อยุติกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคเพื่อไทยขอไปหารือกับ ส.ส.ของพรรคก่อน และวันที่ 3 ก.ค. ก่อนเที่ยงจะส่งผลสรุปให้พรรคก้าวไกล ซึ่งคาดเป็นการแจ้งผลให้ทราบเท่านั้น และไม่มีอะไรเป็นที่ยุติได้แน่ชัดตามเคย

“พรุ่งนี้ (3 ก.ค.) ก่อนเที่ยง พรรคเพื่อไทยบอกจะส่งผลหารือของพรรคให้พรรคก้าวไกล แต่คาดว่าผลลัพธ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อไทยคงต้องบอกให้ก้าวไกลรู้ว่า 4 ก.ค.ต้องเสนอชื่อประธานสภาเข้าแข่งขันกับก้าวไกล โดยอาจเสนอนายชูศักดิ์ ศิรินิล หรืออาจเป็นคนอื่นก็ได้ แต่พรรคเล็กจะเสนอนายสุชาติ ตันเจริญ เข้าแข่งขันร่วมด้วย ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยังเหมือนเดินคือ นายสุชาติ เป็นประธานสภา” นายจตุพรกล่าว

นายจตุพร กล่าวต่อว่า การเสนอชื่อนายสุชาตินั้น จะมีผลต่อการตรวจสอบเสียงงูเห่าที่จะแยกตัวไปลงเสียงให้นายสุชาติ เมื่อนำไปรวมกับฝ่าย 188 เสียงแล้วจะเกิน 251 เสียงในการตั้งรัฐบาลหรือไม่ เพราะการตรวจสอบเสียงจำนวนนี้จะส่งผลต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัฐ ต้องเข้าชิงในตำแหน่งนายกฯ ด้วย

“แม้เพื่อไทยจะหาทางออกที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากไม่เสนอนายสุชาติ แข่งชิงประธานสภาก็ตาม แต่การไม่ยอมกันของเพื่อไทยกับก้าวไกลนั้น นำไปสู่การโหวตลับได้นายสุชาติ จากการเสนอของพรรคเล็ก ซึ่งผลลัพธ์ไม่เปลี่ยนเลย เมื่อสองพรรคลงเอยกันไม่ได้ ดังนั้น หลังวันที่ 4 ก.ค.ย่อมเป็นวันแยกตัวของพรรค MOU” นายจตุพรกล่าว

นอกจากนี้ การหารือทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยนั้น ยึดมั่นแต่กิเลสทางการเมืองล้วน ๆ จึงเท่ากับเป็นการหักล้างหลักการทางการเมืองให้กระจุยกระจายไป ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยจึงยากที่จะรอมชอมจับมือกันร่วมรัฐบาลได้อีกต่อไป

“การแสดงออกของนักการเมืองนั้น มักโชว์หลักการการเมืองเสมอ แต่พฤติกรรมกลับยึดมั่นกิเลสที่เจ้าของพรรคสั่งการมา ดังนั้น จึงทำให้ผลลัพธ์ไม่เปลี่ยนไปจากนายสุชาติ ในตำแหน่งประธานสภา” นายจตุพรกล่าว

‘วันนอร์’ เตรียมชิงตำแหน่งประธานสภา ยุติปัญหาขัดแย้ง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’

(3 ก.ค. 66) รายงานข่าวจากที่ประชุม 8 พรรคการเมืองเสียงข้างมาก ระบุว่า ในการประชุมหัวหน้า และตัวแทน 8 พรรคการเมืองเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 66 ที่ทำการพรรคก้าวไกล ได้มีการหยิบยกปัญหาในส่วนของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างต้องการผลักดัน ส.ส.ของตัวเองให้ดำรงตำแหน่ง ขึ้นมาพูดคุยนอกรอบ โดยตัวแทนพรรคอื่นๆ ได้พยายามโน้มน้าวให้ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ถอยคนละก้าว เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเดินหน้าได้ เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้เกิดความไม่ชัดเจนจนมีปัญหาในการลงมติเลือกประธานสภา ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ ย่อมส่งผลถึงการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของการเจรจาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ทางคณะเจรจาของ 2 พรรค มีการสื่อสารกันอย่างไม่เป็นทางการตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากทั้ง 2 พรรคต่างยืนกรานที่จะต้องได้ตำแหน่งประธานสภา โดยไม่สามารถถอยหรือปรับเพดานลงได้ เนื่องจากถือเป็นมติของที่ประชุมพรรคของทั้ง 2 พรรค

อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้ง รวมถึงหาทางลงให้กับทั้ง 2 พรรค จึงมีการเสนอให้คนกลางที่เป็นที่ยอมรับ อย่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่มีความอาวุโส และมีประสบการณ์เคยเป็นประธานสภา และประธานรัฐสภามาแล้ว เป็นผู้รับตำแหน่งประธานสภา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่ พรรคก้าวไกล จะได้ตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 1 และพรรคเพื่อไทย จะได้ตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 2

เบื้องต้นคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย ขอนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรค ในช่วงสายของวันนี้ ก่อนจะแจ้งผลตอบรับมายัง พรรคก้าวไกล และแถลงข่าวในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน 

‘ทนายเชาร์’ ขย่ม ‘เฉลิมชัย’ รักพรรคจริงเลิกกินรวบ  เสนองดใช้ข้อบังคับพรรค เลิกใช้สัดส่วน 70 % ของ ส.ส.ชี้ขาดใครนั่ง หน.พรรค 

อีกรอบแล้วที่เชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Chao Meekhuad ) หัวเรื่อง "1 เสียง 1 โหวต ทางออก ฟื้น ปชป. " อันเป็นข้อเสนอที่แหลมคมยิ่ง หวังให้เป็นทางออกจากวิกฤติของประชาธิปัตย์ และทิ่มแทงตรงๆไปยัง “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน”อดีตเลขาธิการพรรค ที่ถูกมองว่า แม้นจะประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต หากประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม แต่เงาดำทมึนยังคลุมงำประชาธิปัตย์อยู่

การเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มปรากฏชัดถึงความถดถอย ได้ ส.ส.มาแค่ 52 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้เป็น 100 เริ่มถดถอยในช่วงที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นหัวหน้าพรรค และมี “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นเลขาธิการพรรค อันเกิดจากสารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะการชุมชุมของกลุ่ม นปช.จนไม่มีเวลามาบริหารราชการแผ่นดิน และอภิสิทธิ์ ต้องหอบหิ้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหนีม็อบครั้งแล้วครั้งเล่าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด 

เฉลิมชัยก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” การเลือกตั้งปี 2566 เฉลิมชัยลั่นวาจาครั้งแล้วครั้งล่าว ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต วันนั้นมาถึงแล้ว ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาเพียง 25 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “เฉลิมชัย”จึงน่าจะวางมือทางการเมือง และจัดวางตัวเองให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เหมือน “เนวิน ชิดชอบ” ผู้อยู่เบื้องหลังภูมิใจไทย

เชาร์ระบุว่า พรรคประชาะปัตย์ มีกำหนดประชุมใหญ่ วาระสำคัญคือการเลือกผู้บริหารชุดใหม่ มาแทนชุดเดิม ที่พ้นตำแหน่งไป จากการลาออกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในคราวนี้ แตกต่างไปจากอดีตที่เคยมีมา แทบจะไม่มีใครเสนอตัวออกมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลย ยกเว้น นายอลงกรณ์ พลบุตร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนในพรรครู้ดีแก่ใจว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมถึงผู้บริหารทั้งหมด ในตอนนี้ อยู่ในอาณัติของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคฯ ที่กุมเสียง สส.ในมือราว 20 คน จากทั้งหมด 25 คน สั่งให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคคนนั้นก็จะได้เป็น 

เชาร์ อธิบายว่า เนื่องจากข้อบังคับพรรคให้น้ำหนัก ส.ส.เป็นสัดส่วนถึง 70 % ขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ในการลงคะแนน ข้อบังคับพรรคไม่ได้ผิดอะไร ที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ในอดีตก็มีการแก้ไขสัดส่วนคะแนนเสียง ส.ส. มาตลอดเพื่อให้สมดุลเข้ากับสถานการณ์แต่ละยุค ซึ่งตอนแก้ข้อบังคับเมื่อปี 61 ก่อนหน้านี้พรรคมีส.ส.เกินหลักร้อยมาตลอด และใครก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะตกต่ำเหลือแค่ 25 คนในยามนี้ จากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และกำลังเป็นพรรคขนาดเล็ก ถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้จึงไม่สมควรที่จะให้ส.ส. 25 คน มากุมชะตากรรมพรรคเพียงลำพัง 

เชาร์เสนอให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติสามในห้าขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้ยกเว้นข้อบังคับข้อ 87 (1),(2) ที่ให้ถือเกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสัดส่วน สส. 70 % และสมาชิกอื่นที่เป็นองค์ประชุม 30 % เสีย โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนเสียง เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ มีหนึ่งเสียง หนึ่งโหวตเท่ากันในการกำหนดชะตาครั้งสำคัญของพรรค

"ถ้ารักพรรคจริง ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสิน ไม่ใช่ใช้ข้อได้เปรียบจากข้อบังคับพรรคมาจ้องกินรวบพรรคอย่างที่เป็นอยู่ คนชอบพูดว่าผมเป็นคนของนายกฯอภิสิทธิ์ ผมไม่ปฏิเสธว่าเคารพรักท่าน แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคสำหรับผม จะชื่ออะไรก็ได้ สำคัญที่คน ๆ นั้น ต้องมีบารมี มีเจตจำนงค์ทำ พรรคให้เป็นพรรค ไม่ใช่คิดแต่ใช้พรรคเป็นบันไดในการแสวงหาอำนาจ เรามีบทเรียนมามากพอแล้วกับการละทิ้งคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”

เชาร์ย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปราะบาง ประชาธิปัตย์ต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ส่วนจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ชี้วัดกันที่การเลือกหัวหน้าพรรควันที่ 9 ก.ค. ที่ผมยืนยันว่า ต้องยกเว้นข้อบังคับ เลิกสัดส่วน 70 % ของสส. เป็นให้ทุกคะแนนมีค่าเท่ากัน 

อย่างที่เชาร์กล่าวไว้ ทำไมการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งคราวนี้ถึงเงียบเชียบ ที่ปรากฏตัวชัดแล้วมีแค่ “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค 4 สมัย และ 30 ปี ยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะแพ้การเลือกตั้งชิงหัวหน้าพรรค ที่บางคนพอแพ้ก็ทิ้งพรรคไป ไม่ว่าจะเป็น “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” ออกไปตั้งพรรคไทยภักดี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ กรณ์ จาติกวณิชย์ ออกไปตั้งพรรคกล้า 

หันซ้ายมองขวาในประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นคนเก่า หรือคนใหม่ ยังไม่เห็นใครว่าจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์กลับไปยืนอยู่แถวหน้าได้ แต่พอจะเห็นเค้าอยู่บ้างสำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้ว่าจะไม่ใหม่นัก แต่ไม่เก่าจนเกินไป และเป็นคนมีบารมี มีอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ และมีจุดยืนชัดเจน และแม้จะลาออกจาก ส.ส.คราวนั้น ก็ยังเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์อยู่ และเชื่อว่า ถ้าอภิสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะมีแรงสนับสนุนจาก “ชวน หลีกภัย”บัญญัติ บรรทัดฐาน-นิพนธ์ บุญญามณี” รวมถึงโหวตเตอร์สายอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขา และตัวแทนพรรคอยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้ายกเว้นข้อบังคับตามข้อเสนอของทนายเชาร์ โหวตเตอร์สาย ส.ส.อาจจะเหวี่ยงหลุดแห มาทางอภิสิทธิ์บ้างก็ได้

แม้บนบกจะดูคลื่นลมเงียบสงบ แต่เชื่อว่าใต้น้ำ ประชาธิปัตย์กำลังเกิดภาวะน้ำวน มีการเคลื่อนไหวที่พอเห็นร่องรอยอยู่บ้าง

‘ลุงป้อม’ ลั่น จะขออยู่ ‘พลังประชารัฐ’ จนวันตาย ติวผู้แทนใหม่ ยึดประโยชน์ชาติ ไม่ยึดประโยชน์ตัวเอง 

วันนี้ (2 ก.ค. 2566) เวลา 14.15 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ กล่าวมอบแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ว่า ก่อนอื่นตนขอแสดงความยินดีกับ ส.ส.ใหม่ รวมไปถึงคณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการนโยบาย รวมไปถึงสมาชิกของพรรค พปชร.ทุกคน ตนและคณะกรรมการบริหารพรรคขอแสดงความยินดีกับ ส.ส.ใหม่ทุกท่านด้วยความยินดียิ่งที่ท่านได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมามีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นมากกว่าทุกครั้ง จากข้อมูลการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองมาเสนอให้กับพี่น้องประชาชนเลือกถึง 67 พรรค และมากกว่า 4,000 หน่วย 400 เขตเลือกตั้ง ซึ่งมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 75% สูงที่สุดในประวัติการณ์ แม้ว่าพรรค พปชร.จะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนมาเป็นอันดับ 4 ก็ตาม แต่ก็ได้รับเลือกตั้งมาเป็นตัวแทนประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาค ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จึงถือได้ว่า พวกเราได้รับความศรัทธาจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะ ส.ส.ที่ได้นั่งอยู่ในห้องนี้ผ่านการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมาก แต่ก็เอาชนะมาได้ เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะต้องนำผลการเลือกตั้งไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า ตนได้แถลงขอบคุณประชาชนทั้งประเทศที่ให้ความไว้วางใจในพรรค พปชร. ไปแล้วตั้งแต่ในวันที่เสร็จสิ้นการเลือกตั้ง และตอนนี้ตนขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพรรค พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่ทำงานอยู่ร่วมกันอย่างเหน็ดเหนื่อย รวมไปถึงผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทุกคน ทุกเขตที่ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ทำงาน และมีส่วนร่วมสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างดี

“ถึงวันนี้พรรคพลังประชารัฐของเราจะต้องเดินไปข้างหน้าตามอุดมการณ์ ตามเจตจำนงของพรรคที่ขออาสาเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นพรรคการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมขอยืนยันว่าจะดูแลพรรคพลังประชารัฐไปตลอดชีวิตของผม เท่าที่ผมมี เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าผมจะลาออกหรือไปที่ไหน อย่างไรก็จะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐตลอดไป”พล.อ.ประวิตร กล่าว

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า หลังจากพิธีเปิดประชุมรัฐสภา 3 ก.ค.จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธาน สภาฯในวันที่ 4 ก.ค. จากนั้นจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาในรูปใดก็ตาม พรรค พปชร. ยังจะเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อรับใช้ประชาชนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า การปฐมนิเทศวันนี้ ตนอยากให้เป็นจุดเริ่มต้นที่รวมบุคลากรคนสำคัญของพรรค ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ก็ตาม จะต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้พรรค พปชร.เป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง และเป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป โดยเฉพาะ ส.ส.ใหม่หรือคนเก่า ไม่ว่าสมัยที่แล้วอยู่พรรคใด แต่วันนี้จะต้องมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวของพรรค พปชร. จะต้องทำหน้าที่ทั้งในและนอกสภาฯอย่างเต็มที่ จะต้องทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม เมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจสนับสนุนพวกเรา เราต้องทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อยากจะให้ข้อคิดกับ ส.ส.ทุกท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติว่า การทำหน้าที่ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติข้อบังคับของพรรค อย่างเคร่งครัด รวมถึงจะต้องมีจริยธรรม โดย ส.ส. พรรค พปชร.จะต้องเป็นเอกภาพ ไม่มีการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทุกอย่างที่ตนพูดในวันนี้ไม่ใช่ว่าจะก่อประโยชน์ให้กับคนใดคนหนึ่ง แต่จะก่อให้เกิดประชาชนและประเทศชาติ ส.ส.ของพรรคเราจะยึดประเทศชาติเป็นที่ตั้งไม่ใช่ผลประโยชน์ของพรรค และจะต้องรักษาผลประโยชน์ของพรรค ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว หากทุกคนปฎิบัติตามนี้แล้ว เชื่อมั่นว่าพรรค พปชร.จะเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง และจะเป็นที่พึ่งของประชาชนตลอดไป การปฐมนิเทศวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ ส.ส.จะได้ทำหน้าที่เป็น ส.ส.ของพรรค พปชร.ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ขอให้กำลังใจแก่ทุกท่านให้ปฎิบัติหน้าที่ ส.ส.อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ทุกประการ

การประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังตกลงกันไม่ได้เรื่อง ประธานสภาฯ ‘พิธา’ บอกยังมีเวลา ขอทำงานเป็นขั้นเป็นตอน

การประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 2 ชั่วโมง น่าจะจบลงแบบไม่ราบรื่นนัก
ที่ประชุม 8 พรรคร่วม ยังตกลงกันไม่ได้เรื่อง #ประธานสภา จะเป็นของพรรคใดระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย พิธาบอกว่า ยังมีเวลา ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน อย่าเปิดประเด็นใหม่ 

ดูจากสีหน้าของทุกคู่ ไม่สดใสร่าเริงเหมือนตอนแถลงจับมือ ส่งรอยนิ้ว จับมือรูปหัวใจ แต่วันนี้ไม่ใช่ ไม่มีรอยยิ้มให้เห็น

ยังมีเวลา ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าพิจารณากันตามข้อเท็จจริง คือมีเวลาแค่วันนี้ เพราะพรุ่งนี้ทุกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องแจ้งเรื่องทิศทางในการเลือกประธานสภาว่าจะเป็นอย่างไร จะต้องเลือกใครจากพรรคไหน

พรุ่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมสภา จากนั้นวันที่ 4 กรกฎาคม ก็จะเป็นการประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธานสภา และรองประธานสภาสองตำแหน่ง

หรือการโหวตเลือกประธานสภาจะย่างเข้าสู่โหมตฟรีโหวตจริงๆ แต่ถึงแม้นจะฟรีโหวต และพรรคก้าวไกลเสนอชื่อคนของพรรค ก็เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ ยังจะยกมือให้คนของพรรคก้าวไกลเป็นประธานสภา เพื่อให้การจัดตั้งเดินหน้าต่อไปได้ แบะทอดเวลาไปสำหรับการเจรจาต่อรองทางการเมือง เพราะเมื่อโหวตเลือกประธานสภาแล้ว มีเวลาอีก 10 วัน ในการกำหนดวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

เกมต่อไปคือเกมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงวันนี้ ทำไมพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไทย ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถึงยังไม่บอกกล่าวกับใครว่า “ตกลงซาวเสียง สว.แล้ว เขาจะเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีสักกี่คน”

ทำให้สงสัยได้ว่า “หรือ 1 เดือนของความพยายามในการกล่อม สว.ให้กลับใจมาเลือกพิธา ยังย่ำอยู่ที่เดิม ที่เดิมที่ 6-7 เสียง หรือ 19-20 เสียง ยังไม่ขยับเข้าไปใกล้ 64 เสียง เพื่อให้ได้ 376 เสียง คือเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา

หรือใจมันสั่นๆที่จะพูดความจริง ความจริงที่ว่า “เรามีเสียง ส.ส.อยู่ 312 เสียง และมีสว.ใจเต็มร้อยให้พิธาแค่ 6-7 เสียง ที่เหลือรับปาก แต่ไม่ยืนยัน แน่นอนว่าทางการเมืองใครไปหาเขาก็รับปากหมดแหละ ไม่มีใครปฏิเสธต่อหน้าหรอก

เหมือนเวลา ผู้สมัคร ส.ส.ไปพบหัวคะแนน ไปคุยกับชาวบ้าน ทุกคนรับปากจะช่วยรับปากจะเลือกทุกคน จนทำให้ผู้สมัครหลงตัวเองว่า “เสียงดี-กระแสตอบรับดี”

แต่ผลคะแนน ผลโหวตจะเป็นตัวขี้วัด ระบอบประชาธิปไตย คือระบอบการมีส่วนร่วม ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทางตรงผ่านขบวนการเลือกตั้ง ทางอ้อม คือตัวแทนที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ทำหน้าที่แทน

14 ล้านเสียงนั่นคือทางตรงที่ประชาชนออกไปเลือกพรรคก้าวไกล และเป็น 14 ล้านเสียงที่ทรงพลัง หนุนก้าวไกล หนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ในการเจรจา ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ด้อยกว่าเพื่อไทยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย

วันนี้ก้าวไกล 151 เสียง จึงตกเป็นรองต่อเพื่อไทย 141 เสียง ทำนอง “ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” ซึ่งข้อเท็จจริงก้าวไกลขาดเพื่อไทยก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หันซ้ายก็เห็นศัตรู หันขวา เราก็เคยตั้งป้อมจะปลดล็อคเขา เดินไปข้างหน้าก็เห็นป้อมปราการที่มีอายุหนักเล็งอยู่

โอ้…ก้าวไกลจะเดินต่ออย่างไรดี หรือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บอกได้เลยครับว่า “เจ๊ง” การเมืองไม่มีธรรมชาติ มีแต่การล็อบบี้ ต่อรองทั่งนั้น

ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เชื่อได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลเดิมจะเสนอคนลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย และชื่อคนลงชิง ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ ก็จะเป็นชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ถ้าพรรคพลังประชารัฐเสนอก็จะเป็นชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

พีระพันธุ์ ยอมสละเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมกับทิ้งประโยคเด็ด “ไม่ทิ้งลุงตู่ จะอยู่ช่วยจนคนสุดท้าย” มีความหมายโดยนัยยะทางการเมืองอย่างไม่น่ามองผ่าน

วันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่า ซีก 188 เสียงต้องโหวตให้พีระพันธุ์ แล้วดันมี สว.200 คนโหวตเลือกพีระพันธุ์ จะทำให้เสียงพีระพันธุ์มี 388 เสียง “ส้มก็จะหล่น”ใส่ พีระพันธุ์แบบเต็มตีน

ไม่ใช่เชียร์พีระพันธุ์ แต่ถ้าก้าวไกลไม่ชัด คำตอบของโจทย์ยาก อาจจะมาในรูปนี้ก็เป็นได้

ย้อนดู พฤติกรรม ว่าที่ประธานสภาฯ ‘หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ไม่ผูกเนคไท เข้าสภาฯ อภิปรายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

‘หมออ๋อง’ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก อดีตนายสัตวแพทย์ ที่พรรคก้าวไกล ส่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร สู้กับพรรคเพื่อไทย หากเราลองย้อนดูพฤติกรรมที่ผ่านมาของหมออ๋องแล้ว ก็จะพบว่ามีพฤติกรรมหลายๆอย่างที่ไม่เหมาะสม

หมออ๋องไม่ผูกเนคไท เข้าสภาฯ 
ซึ่งประเด็นนี้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ได้เคยกล่าวอภิปรายในร่างข้อบังคับฯ ในประเด็นการแต่งกายของส.ส. แล้วว่าเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ การแต่งกายไม่เรียบร้อยนั้นเป็นการไม่เคารพต่อประธานสภาและเพื่อนสมาชิก

หมออ๋อง ขึ้นอภิปรายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 นายปดิพัทธ์อภิปรายว่า "นี่เป็นคำถามแห่งยุคสมัย ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า จากบทสนทนาที่เราคุยกันในโต๊ะอาหาร วงเหล้า หรือในกลุ่มเพื่อนสนิท ตอนนี้กลับมาเป็นประเด็นทางสาธารณะ มันหมายความว่านี่คือคำถามแห่งยุคสมัย แทนที่ผู้ใหญ่จะใช้วิธีปิดปากปิดตา ปิดหู ทำไมเราไม่ทำหน้าที่ในการตอบ ในการถามกลับ” 

ในปี 2565 นายปดิพัทธ์ ยังได้เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ในช่วงที่นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังไม่ได้รับการประกันตัวจากการถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565

นายปดิพัทธ์ เคยกล่าวถึงบทบาทของอนุ กมธ. ชุดนี้ว่า ต้องการสร้างกระบวนการที่สามารถให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและหาทางออกร่วมกันได้ โดยได้มีการเรียกให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดี ม.112

ซึ่งในขณะนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็ได้เตรียมจะส่งนายสุชาติ ตันเจริญ หรือพ่อมดดำ ส.ส.ฉะเชิงเทรา หลายสมัย ผู้มากประสบการณ์ ในการเดินเข้าสภาฯสมัยที่แล้ว ก็ยังได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม

ถ้าเปรียบเชิงมวยกันแล้วก็ดูเหมือนว่า พ่อมดดำ นั้นจะได้เปรียบหมออ๋องอยู่ไม่น้อย เพราะมีเสียงสนับสนุนทั้งจากทางพรรคเพื่อไทยเอง และจากทางพรรคการเมืองอื่น

จากกำหนดการไทม์ไลน์ก็คงจะได้เปิดสภาฯกันเร็วๆนี้ ถึงตอนนั้นก็ไปลุ้นกันว่าหมออ๋อง จะได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ หรือว่าจะได้กินแห้ว

นักเขียนดังค่ายพระอาทิตย์ ชวนรู้จักตัวตน ‘ไพศาล พืชมงคล’  ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคก้าวไกล ชู ‘ชัยธวัช’ เป็นประธานสภาฯ ดัน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

แน่นอนว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ย่อมจะต้องเป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงจากรัฐสภา 376 เสียงขึ้นไป ส่วนใครจะเป็นไม่ใช่ปัญหาที่ผมจะพูดถึงไม่ว่าจะเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือแพทองธาร ชินวัตร หรือเศรษฐา ทวีสิน หากว่าคนนั้นได้การยอมรับจากเสียงข้างมากของรัฐสภ

ภาพของไพศาลที่เคยแสดงออกมาโดยตลอดนั้นเหมือนจะเป็นคนที่ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ หากว่าคำพูดและการแสดงออกที่ผ่านมานั้นไม่ใช่น้ำกลิ้งบนในบัว

ไพศาลยังพยายามแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า มีสายสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในรัฐบาลจีน แสดงให้เห็นชัดว่าตัวเองยืนอยู่ข้างจีน รัสเซีย อิหร่าน และต่อต้านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาและต่อต้านรัฐไทยที่จะเอาตัวเองเข้าไปผูกพันกับอเมริกา หากที่เห็นไม่ใช่เป็นการเล่นละครในบทบาทของสายลับสองหน้า นั่นคือไพศาลที่เราเห็นผ่านตัวอักษรและการแสดงความเห็นในวาระต่างๆ

แต่วันนี้การแสดงออกของไพศาลนั้นทำให้เกิดคำถามว่าแท้จริงแล้วไพศาลมีตัวตนที่แท้จริงอย่างไร

เพราะไพศาลแสดงตัวตนชัดเจนว่า สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล มันอาจจะไม่ผิดอะไรที่คนคนหนึ่งจะเลือกจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง หากคนนั้นไม่ใช่ไพศาล

ถ้าไพศาล เป็นไพศาลคนเดียวกับคนที่มีจุดยืนเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ คนที่มีหูตากว้างไกลอย่างไพศาลก็ต้องรู้ว่า พรรคก้าวไกลและแกนนำพรรคทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังนั้น ล้วนแล้วมีจุดยืนที่ท้าทายต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง

นอกจากนั้นนโยบายของพรรคก้าวไกลเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา และตั้งเป้าหมายในการเพิ่มทรัพยากรสำหรับการฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ที่จัดขึ้นในไทย รวมไปถึงการร่วมมือในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และพรรคก้าวไกลได้แสดงให้เห็นในหลายบทบาทอย่างชัดแจ้งว่ามีจุดยืนที่ยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา ทำไมคนที่เขาตั้งฉายาว่า “กุนซือสมองเพชร” อย่างไพศาลที่สร้างภาพให้คนเชื่อมาตลอดว่าต่อต้านสหรัฐอเมริกาจึงไปยืนอยู่ข้างพรรคก้าวไกลไปได้

ยังไม่ต้องพูดถึงสามจังหวัดใต้และ 4 อำเภอในสงขลาบ้านเกิดของไพศาล ต่อจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่แสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจฝ่ายที่เรียกร้องสันติภาพในรัฐปาตานี และล่าสุดมีคนออกมาเคลื่อนไหวอย่างเหิมเกริมภายหลังชัยชนะของพรรคก้าวไกลเพื่อเป้าหมายไปสู่การทำประชามติแบ่งแยกดินแดน แต่ไพศาลที่มักจะแสดงตนว่ารักชาติบ้านเมืองไม่เคยมีความเห็นต่อเรื่องนี้ออกมาเลย

ที่ไพศาลมีจุดยืนนี้อาจจะอ้างว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นอันดับ 1 ก็มีความชอบธรรมที่พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำรัฐบาล ที่ไพศาลมักจะใช้คำว่าฉันทมติของประชาชนเพื่อออกมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลเสมอ

เมื่อเร็วๆ นี้ไพศาล โพสต์เฟซบุ๊กว่า นอนฝันไปหรือไรหนอ เมื่อคืนวันที่ 23 มิถุนายนเวลา 2.00 น. นายพิธาโพสต์ว่า ผมพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้ว!!! ถ้าหากไม่ใช่เป็นเพราะละเมอตื่นขึ้นมาโพสต์ การโพสต์นี้ย่อมมีนัยความหมายแน่นอน!!! นายพิธา คุยอะไรกับใครหนอ และคุยว่าอย่างไร จึงมาโพสต์อย่างนี้!!!

เข้าไปดูเพจพิธาว่าพิธาโพสต์อย่างนั้นจริงไหม ก็ไม่มีหรอก เป็นไพศาลนี่แหละที่สร้างฝันขึ้นมาเอง

เราต้องรู้นะว่า น้องชายของไพศาลคือ พิชัย พืชมงคล นั้นตอนนี้เป็นกุนซืออยู่เบื้องหลังพรรคก้าวไกล ผมถึงบางอ้อว่าที่มาของโพสต์นั้นของไพศาล เพราะไพศาลเพิ่งจะพาชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล คนสงขลาบ้านเดียวกันไปพบกับบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงขอบฟ้าได้ ก็เลยมีความเชื่อว่าตอนนี้สวรรค์เปิดทางให้กับรัฐบาลพิธาแล้ว

“นายพิธาคุยอะไรกับใครหนอ และคุยว่าอย่างไร จึงมาโพสต์อย่างนี้” ถ้อยคำที่ไพศาลโพสต์นั้น เพื่อต้องการบอกนัยว่าคนที่ไพศาลพาชัยธวัชไปพบนั้นสามารถจะแผ้วทางให้พิธาไปสู่เป้าหมายได้

ถ้าเราติดตามการโพสต์ของไพศาลเขามักจะใช้วิธีการดังนี้ คือ โพสต์เรื่องหนึ่งขึ้นมาให้คนอ่านหลงเชื่อ แล้วสื่อมักจะเอาไปเล่นข่าว พอไม่เป็นความจริง ไพศาลก็จะโพสต์ว่าแผนนั้นล้มไปแล้ว คือ เป็นการโพสต์เองปฏิเสธเองแบบนี้หลายครั้ง

ต่อมาไพศาลยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า การประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 66 เป็นอำนาจของประธานในการกำหนดวิธีการเลือกและ ณ วันนี้แนวทางคือจะเปิดให้เสนอชื่อแคนดิเดตพร้อมกันทีเดียวและกำหนดให้ ส.ส.ลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยวิธีขานชื่อก่อน ครบจำนวนแล้วจึงให้ ส.ว.ลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยวิธีการขานชื่อเช่นเดียวกันใครได้คะแนนเสียง 376 ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาก็จะนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันนั้น อีก 2 วัน นายกรัฐมนตรีก็จะนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หลังจากนั้นราว 3 วัน คณะรัฐมนตรีก็จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ เข้ารับหน้าที่ คอยจับตาดูการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในครั้งนี้!!! อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์พิเศษที่ประดุจดังแสงอรุณยามฟ้าสาง แห่งการสร้างความสามัคคีในชาติ

ไพศาลต้องการสื่อให้เห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีคนเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะสำเร็จลงอย่างง่ายดายในการลงมติครั้งแรกเท่านั้น

และไพศาลเพิ่งจะโพสต์เฟซบุ๊กว่า ในช่วงการสมโภชศาลพระหลักเมือง เมื่อ 180 ปีก่อน พระหลักเมืองสงขลาพยากรณ์ว่า ในอนาคต จะมีคนสงขลา 3 คน มีบุญญาธิการมากมีอำนาจมากในบ้านเมือง จะได้ช่วยทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เป็นสุข

คนสงขลาคนที่ 1 คือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและประธานองคมนตรี คนที่ 2 คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรี

มีคำร่ำลือกันว่า คนสงขลาคนที่ 3 ตามคำพยากรณ์นั้นได้อุบัติแล้ว มีบุญญาธิการมาก จะทำให้มณฑลปักษ์ใต้ทั้งหลาย กลับคืนสู่ความสามัคคีและเป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง!!! คนสงขลาและชาวภาคใต้ กำลังรอชมบารมีนั้นให้เป็นมิ่งขวัญแก่ราษฎรสืบไป

ไม่รู้ว่า ไพศาลต้องการบอกว่า คนสงขลาผู้มากบารมีคนที่ 3 คนนั้นคือ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการของพรรคก้าวไกลหรือไม่

ไพศาลนั้นเป็นนักกฎหมายใหญ่และมีสำนักกฎหมายใหญ่หนุนหลัง แต่หลายครั้งความรู้ทางกฎหมายที่แสดงออกมาของไพศาลก็เป็นที่กังขา เช่นบอกว่า การยุบสภาฯ นั้นจะต้องทำเป็นมติคณะรัฐมนตรีเป็นต้น และการใช้กฎหมายแบบตัดตีนให้กับเข้าเกือกหลายครั้ง หรือว่าจริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เพราะไพศาลสับสนในข้อกฎหมายหรอก แต่ต้องการใช้ความเป็นผู้รู้ทางกฎหมายของตนเพื่อเป้าหมายที่ซ่อนเร้นของตัวเองนั่นเอง

‘พิธา’ จบข่าว.. ‘ป้อม-เศรษฐา-อนุทิน’ ชิงชัย ถอดรหัส ‘พีระพันธุ์’ ทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ลุ้นเก้าอี้ใหญ่

ย่างสู่วันแรกของเดือนใหม่..กรกฎาคม เดือนแห่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  เริ่มหลักกิโลเมตรใหม่ทางการเมือง   มีประธานรัฐสภาคนใหม่  นายกรัฐมนตรีคนใหม่...ซึ่งจนถึงวินาทีนี้ยังฟันธงให้ขาดผึงไม่ได้ว่าเป็นใคร...เพียงแต่น่าเชื่อว่า..

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภา  ตัวเต็งคือ “พ่อมดดำ”สุชาติ  ตันเจริญ จากพรรคเพื่อไทย   “ตัวตึง”คือ ปดิพัทธ์    สันติภาดา  หรือ”หมออ๋อง”จากค่ายก้าวไกล...ซึ่งต้องรอดูคำตอบสุดท้ายจากการเจรจาของสองพรรคใหญ่ในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ว่าจะยอมกัน ณ จุดไหน อย่างไร..

ตำแหน่งประธานสภาฯ จะบอกเล่าเรื่องราวและเรื่องยาวได้ชัดเจนว่า  หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะเป็นใคร  แต่ในชั้นนี้ “เล็ก  เลียบด่วน” ฟันธงด้วยการข่าวว่าให้ตัดชื่อ..พิธา   ลิ้มเจริญรัตน์  ออกไปได้เลย  แม้จะถูกเสนอชื่อและอีก7พรรคร่วมชะตากรรมโดยเฉพาะเพื่อไทยจะยืนยันนอนยันเป็นครั้งที่555 แล้วว่าจะหนุนจนสุดตัวสุดทาง...และแม้จะมีกระแสข่าวเล็ดรอดออกมาว่ามีการทุ่มทุนล็อบบี้ส.ว.กันอย่างเอาการเอางานก็ตาม..

ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า..กรณีการใช้ยุทธปัจจัยจากกลุ่มทุนบางกลุ่มล็อบบี้ส.ว.นั้นเป็นการล็อบบี้ให้กับตัวเต็งนายกฯที่ชื่อ “เศรษฐา” หรือ “อุ๊งอิ๊ง”  เป้าหมายเพื่อสกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งบัดนี้คนในสภาสูงจำนวนหนึ่งที่ใจแกว่งกะจะหาโบนัสส่งท้ายก่อนสิ้นวาระกลางปีหน้าก็เริ่มเปลี่ยนใจร้องเพลง..ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า..กันเป็นแถว..

สรุปรวมความ..เต็งจ๋านายกฯตอนนี้ยังคงเป็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  ที่ลูกน้องดันหลังเต็มแม็กซ์ แต่เสียงสนับสนุนจากส.ว.ยังไม่แน่นหนาเท่าที่คนภายนอกนึกคิด

เต็งสอง  ห้ามมองข้ามก็คือ..เศรษฐา ทวีสิน  จากเพื่อไทย นาทีนี้ภาษากายบ่งบอกชัดเจนว่า..พร้อมมาก..พร้อมที่จะเป็น...ซึ่งโอกาสมีไม่น้อยถ้าเพื่อไทยไม่ผูกขาไว้กับพรรคก้าวไกลแบ่บว่า..ไปไหนไปด้วยกัน..

เต็งสาม   แม้จะชื่อ”หนู” แต่ก็อาจเป็นหนูที่อาจช่วยราชสีห์..เป็นทางเลือกให้กับบ้านเมืองเดินหน้าไปได้..ใช่แล้ว..เขาคืออนุทิน  ชาญวีรกูล   หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  ที่ “เล็ก   เลียบด่วน” ขอยืนยันว่าคนในสภาสูงเขาอยากโหวตให้มาก...

...ส่งท้าย ด้วยปริศนาการเมือง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อย่าว่าแต่คนภายนอกเลยที่ออกอาการงงเต้ก..คนในพรรคเองก็มึนตึ้บไปตามๆกัน  กรณี”บิ๊กตุ๋ย”พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค”  หัวหน้าพรรค ไม่ไปรายการตัวเป็นส.ส.ซึ่งเท่ากับสละตำแหน่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 ของพรรคไป..

ดูเฟซบุ๊กพีระพันธุ์ วันที่ 30 มิ.ย.ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.เคยบอกว่าจะไม่มีวันทิ้ง”ลุงตู่” วันนี้วันที่ 30 มิ.ย.ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีช่วยลุงตู่จนวินาทีสุดท้าย...ก่อนที่จะตบท้ายว่า  “ในฐานะหัวหน้าพรรคผมไม่ได้หายไปไหน  ผมยังคงทำหน้าที่กองทุนและดูแลการทำงานของพรรค  ของส.ส.และของสมาชิกพรรคให้ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติของเราตลอดไป”

สายข่าวของ “เล็ก  เลียบด่วน” แจ้งว่าวันที่ 3 ก.ค.พีระพันธุ์จะไปยืนเข้าเฝ้ารับเสด็จฯร่วมรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในฐานะตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี..ในขณะที่มีการคาดหมายกันว่า..อนาคตฉากต่อไปเขาอาจรับบทรัฐมนตรีหรือตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง...ซึ่งเราๆท่านๆยังไม่รู้

แต่”บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กตุ๋ย” รู้แล้ว..!!??

‘อานนท์’ ลั่น!! ถ้า ‘ก้าวไกล’ ถอยเรื่องแก้โครงสร้างการเมือง เลือกตั้งคราวหน้าก็เตรียมตัวสูญพันธุ์เหมือนกับพรรคอื่นๆ

วันที่ (30 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า…

“ถ้าก้าวไกลถอยเรื่องการแก้ไขโครงสร้างอำนาจของสถาบันการเมือง ก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคการเมืองอื่นๆ เลือกตั้งครั้งหน้าก็เตรียมสูญพันธุ์เช่นกัน

การจะแก้ไขโครงสร้างอำนาจมันก็ต้องทำในสภา ถ้าไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ก็ยากที่จะทำได้ สักพักไปเจอการเตะถ่วงร่างกฎหมาย การเบรคไม่ให้อภิปราย ทุกอย่างก็จบ

ถ้าเพื่อไทยเห็นจุดนี้และอยากร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยก็ควรถอยเรื่องประธานสภา ให้ก้าวไกลเป็นหัวหอกเรื่องนี้ โดยมีเพื่อไทยเป็นกองหนุนและทำงานด้านปากท้องแบบที่เพื่อไทยอ้างว่าถนัดและทำเป็น แบบนี้สังคมจะได้ประโยชน์กว่า

เว้นเสียแต่ว่าเราไม่มีความฝันร่วมกัน สภาพมันจึงเป็นเช่นที่เราเห็นตอนนี้”
 

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่าวันนี้ว่าได้ตัดสินใจลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในการประชุมใหญ่พรรควันที่ 9 กรกฎาคมนี้

นายอลงกรณ์กล่าวย้ำว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องการก้าวใหม่ของตัวเองและโอกาสใหม่จากประชาชนด้วยการแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่เข้มแข็งและกล้าหาญบนจุดยืนประชาธิปไตยที่ชัดเจนนำประเทศออกจากกับดักความขัดแย้งและวงจรอุบาทว์ด้วยหลักนิติรัฐและธรรมาภิบาลสู่เอกภาพและศักยภาพใหม่ของประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน โลกเปลี่ยนเร็วและแข่งขันแรงทั้งการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ประเทศไทยต้องมีพรรคการเมืองที่ทันสมัยก้าวหน้าทันโลกทันเกมและก้าวใหม่ประชาธิปัตย์คือคำตอบ”

“ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยวิสัยทัศน์ความรู้และอุดมการณ์ที่มั่นคงกับพรรคประชาธิปัตย์ตลอด 30 ปีรวมทั้งประสบการณ์เป็นรองหัวหน้าพรรค4สมัยเป็น ส.ส.6สมัยและเป็นรัฐมนตรีมาแล้วจะสามารถนำพรรคสู่ก้าวใหม่ด้วยการปฏิรูปพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนด้วยแนวทางเสรีนิยมก้าวหน้าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคและส.ส.ของพรรคเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

นายอลงกรณ์ พลบุตร เมื่อครั้งเป็น ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคเคยเสนอให้ปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2556 และเคยลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแข่งขันในระบบไพรมารี่ในปี 2561แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง.

ประวัติและผลงาน
นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 4 สมัยและอดีต ส.ส. เพชรบุรีและ ส.ส. บัญชีรายชื่อ6สมัย 
.
>จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงจากหลายประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ปอร์ตุเกส ฯลฯ 
>เป็น ส.ส.สมัยแรกในปี 2535
>เป็นเลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและเลขานุการนายกรัฐมนตรี(ชวน หลีกภัย) ปี 2539-2544
>ได้รับฉายา”มิสเตอร์เอทานอล” ปี 2543-2544 ในฐานะประธานโครงการเอทานอลทำให้มีน้ำมันแก๊ซโซฮอลล์จำหน่ายทั่วประเทศ
>เป็น”ดาวเด่นแห่งปีของรัฐสภา”ปี 2546จากผลงานการปราบปรามคอรัปชั่น
>ได้รับรางวัล”คนดีสังคมไทย”และรางวัล”บุคคลดีเด่นประจำปี 2548-2549”
>เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และทำหน้าที่รมต.เศรษฐกิจอาเซียน ปี 2551-2554
>ได้รับการโหวตให้เป็นรัฐมนตรีที่มีผลงานดีเด่น2ปีซ้อน ปี 2552-2553
>เป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปี 2558-2560
>เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่ประชุมการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN-GFHS) ปี2660-2561
>เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ.กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(2562-2566)
>เป็นผู้บรรยายพิเศษปริญญาเอก ปริญญาโทและปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
>เป็นผู้บรรยายพิเศษหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนเช่น บยส. นธป.วตท. Tepcot สวปอ. นบส. วกส. วพน. วิทยาการตำรวจ สถาบันพระปกเกล้า  ฯลฯ
>มีผลงานเขียนหนังสือ 4 เล่มด้านต่างประเทศ วิทยาศาสตร์และการเมือง
 

เลขาสภาฯ ยังไม่มีหนังสือเชิญ ส.ส. ประชุมนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภาฯ คาดรอความพร้อมจาก ‘พรรคก้าวไกล’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ หารือกันให้ลงตัวก่อน

นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงนามในหนังสือ แจ้งสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภาวันที่ 3 ก.ค. เวลา 17.00 น ณ ห้องโถง พิธีชั้น 11 อาคารรัฐสภา ซึ่งตามกำหนดการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดประชุมรัฐสภา และจะมีนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี คณะ ทูต ทูตานุทูตประเทศต่างๆ ประธานศาลฎีกาและประธานองค์กรอิสระเข้าร่วม กว่า1,000 คน ทั้งนี้ได้แนบคำแนะนำสำหรับสมาชิกรัฐสภาในพิธีเปิดประชุม ทั้งขั้นตอน ต่างๆ และเครื่องแบบการแต่งกายด้วย

ส่วนวันที่ 4 ก.ค.เดิมที่วางไว้เป็นกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ ทั้ง2 คน จนถึงขณะนี้ทางสำนักงานเลขาฯ ยังไม่มีการทำหนังสือเชิญสมาชิกเข้าร่วมประชุม โดยมีรายงานว่า สภาฯจะขอประเมินสถานการณ์ความพร้อมในการเลือกประธานสภาฯ อีกครั้งก่อน เนื่องจากขณะนี้ทั้ง 2 พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งพรรคตก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ยังไม่ลงตัวในตำแหน่งนี้ คาดว่าต้องรอการหารือของ 8 พรรคการเมืองในวันที่ 2 ก.ค.นี้ และตามขั้นตอนสภาฯจะต้องทำหนังสือแจ้งสมาชิกให้รับทราบล่วงหน้า 3 วันก่อนที่จะมีการประชุม และตามกรอบเวลาตามระเบียบ วันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกจะต้องเปิดประชุมภายใน10 วัน นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งจะตรงกับวันที่ 12 ก.ค. 

เปิดตัว ‘ดนัย’ คนรับซื้อที่ดิน 14 ไร่ ที่ปราณบุรี ของ ‘พิธา’ เจ้าตัวเผย ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ยัน!! เป็นการซื้อขายตามปกติ

เปิดตัว ‘ดนัย ศุภการ’ คนรับซื้อที่ดินมรดก 14 ไร่ 6.5 ล้าน อ.ปราณบุรี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ โพรไฟล์ธุรกิจ กรรมการถือหุ้น บริษัทอสังหาฯ ใน อ.หัวหิน 6 แห่ง ก่อนหน้าแจงทำธุรกรรมปกติ ไม่รู้จัก หัวหน้าก้าวไกลมาก่อน เคยเสนอมากกว่า 10 ล้าน ต่อรองหลายครั้ง

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 66 กรณีที่ดินตามโฉนดหมายเลข 13543 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 14 ไร่ 0 งาน 62.7 ตารางวา ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งแจ้งยื่นแสดงในบัญชีรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่ง ส.ส.ปี 2562 ระบุเป็นทรัพย์ที่ ‘ได้รับมรดก’ มูลค่าปัจจุบัน (ขณะนั้น) 18 ล้านบาท นำข้อมูลมารายงานแล้วว่า ที่ดินแปลงนี้ปัจจุบันเปลี่ยนมือไปแล้วโดยทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ในราคา 6,500,000 บาท (หลังจากหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 มี.ค. 66 ประมาณ 7 วัน) ในขณะที่ราคาที่ดินที่เจ้าหน้าที่ประเมินราคาที่ดินแปลงนี้อยู่ที่ 8,777,185 บาท เท่ากับนายพิธาจดทะเบียนขายในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน 2,277,185 บาท โดยนายพิธาอ้างว่าที่ดินบางส่วนมีสภาพเป็นบ่อน้ำ

ขณะที่ผู้ซื้อชี้แจงว่า เป็นการซื้อขายตามปกติ เนื้อที่ดินตามจริงอาจน้อยกว่าจำนวนที่ระบุในโฉนด เนื่องจากพื้นที่ติดคลอง และมีบ่อ ส่วนราคาประเมินที่เขาแจ้งไว้สมัยก่อนอาจจะสูง แต่ซื้อขายจริงอาจจะไม่ถึง และไม่รู้มาก่อนว่าเป็นที่ดินของนายพิธา

โดยข้อมูลเบื้องต้นก่อนหน้านี้ ที่ออกมาว่า ‘ผู้ซื้อ’ ที่ดินแปลงนี้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีชื่อเป็นกรรมการถือหุ้นธุรกิจอสังหริมทรัพย์อย่างน้อย 5 บริษัท ล่าสุดได้มีการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นายดนัย ศุภการ ผู้ซื้อที่ดินมีชื่อเป็นกรรมการและ/หรือถือหุ้น 6 บริษัท รายละเอียดดังนี้

1.) บริษัท สมาร์ทเฮ้าส์ วิลเลจ หัวหิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 15 มกราคม 2550 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบกิจการ การให้เช่า การขาย การซื้อ อสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งเลขที่ 100 หมู่ 1 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายประวัติ ศิริพรสกุล และนายดนัย ศุภการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 9 มีนาคม 2566 นายดนัย ศุภการ ถือหุ้นใหญ่ 50,000 หุ้น บริษัท ดรากอนริชลี่ จำกัด 45,000 หุ้น จากผู้ถือหุ้น 3 ราย รวมทั้งหมด 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

2.) บริษัท สมาร์ทเฮ้าส์ วัลเล่ย์ หัวหิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบการเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งเลขที่ 100 หมู่ 1 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายประวัติ ศิริพรสกุล และ นายดนัย ศุภการ เป็นกรรมการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 30 เมษายน 2566 นายดนัย ศุภการ 8,000 หุ้น บริษัท ดรากอนริชลี่ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 84,000 หุ้น จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย รวมทั้งสิ้น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

3.) บริษัท เอส เอช วี หัวหิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ทุน 2 ล้านบาท ประกอบกิจการซื้อ ขาย ดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งเลขที่ 100 หมู่ 1 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายประวัติ ศิริพรสกุล และ นายดนัย ศุภการ เป็นกรรมการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 30 เมษายน 2565 นายดนัย ศุภการ ถือหุ้นใหญ่ 100,000 หุ้น บริษัท ดรากอนริชลี่ จำกัด 90,000 หุ้น และ น.ส.เรณู ปั่นเทพ 10,000 หุ้น รวมทั้งหมด 200,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

4.) บริษัท หัวหิน เรสซิเด้นท์ เรียลเอสเตท จำกัด จดทะเบียนวันที่ 28 ตุลาคม 2548 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งเลขที่ 359 หมู่ 7 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายดนัย ศุภการ และ นายประวัติ ศิริพรสกุล เป็นกรรมการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 30 เมษายน 2566 นายดนัย ศุภการ 35,500 หุ้น บริษัท ดรากอนริชลี่ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 58,050 หุ้น จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย รวมหุ้นทั้งหมด 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

5.) บริษัท ดีน่า โฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 22 มีนาคม 2566 ทุน 2 ล้านบาท ประกอบกิจการซื้อ ขาย เช่า ให้เช่าที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง พัฒนา จัดสรร และแบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อย เป็นตัวแทนซื้อ ขายในกิจการอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด ที่ตั้งเลขที่ 299/1 หมู่ 1 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

6.) บริษัท ไทยคันทรีโฮม หัวหิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 25 มีนาคม 2559 ทุน 2 ล้านบาท ประกอบการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง เพื่อการพักอาศัย ที่ตั้งเลขที่ 100 หมู่ 1 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางจันทรา บีแชม นายแกรแฮม จอห์น บีแชม นายประวัติ ศิริพรสกุล นายเอกรัตน์ ศุภการ เป็นกรรมการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 30 เมษายน 2566 นายดนัย ถือ 1,000 หุ้น จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 6 คน จำนวนหุ้นทั้งหมด 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท (ไม่มีชื่อนายดนัยเป็นกรรมการ)

ทั้งหมดเป็นโพรไฟล์ธุรกิจของผู้รับซื้อที่ดิน 14 ไร่ 6,500,000 บาทจากนายพิธา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top