‘วันนอร์’ นั่งประธานสภาฯ ใต้แรงกดดันรอบทิศ หนุนแยกดินแดน-ไม่เคยมีพรรค 9 เสียงได้นั่งบัลลังก์

ทันทีที่กรณีมีรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมเสนอชื่อคนกลาง อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ว่ามีมากน้อยแค่ไหน?

แน่นอนว่า ในมุมของนายวันนอร์ฯ เอง แม้จะระบุว่า ยังไม่ได้ยินซุ่มเสียงที่เพื่อไทยเสนอเป็นประธานรัฐสภา แต่ถ้าให้รัฐบาลประชาธิปไตยเดินต่อได้ ก็จำเป็นต้องรับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากไปตกอยู่ที่ นายวันนอร์ฯ ก็อาจจะไม่เหมาะนัก เนื่องจากพรรคประชาชาติเองก็มีเสียง ส.ส.เพียง 9 เสียงเท่านั้น การจะยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรควรยกให้กับพรรคที่มีเสียงข้างมาก เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล หรือพรรคที่มีเสียงที่พอฟัดพอเหวี่ยง

นั่นหมายความว่า หากพิจารณาโดยนำกรณีดังกล่าวนี้ไปเปรียบกับ ปี 2562 สมัยพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเสนอชื่อ คุณชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งถือเป็นคนละกรณีกัน เพราะตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงกว่า 50 เสียง 

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองแคนดิเดตโดยเนื้อแท้ เช่น ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลกจากพรรคก้าวไกล , นายณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล และ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ล้วนแต่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น เพราะนายณัฐวุฒิ ถือเป็นคนมีเหตุผล ทำการบ้าน และเป็น ส.ส.ที่อภิปรายได้ดี เช่นเดียวกับ นพ. ชลน่าน ก็เคยเป็นถึงผู้นำฝ่ายค้าน มีฝีมือ เป็นดาวสภามาก่อน แต่หากทั้ง2 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ก็คงต้องลุ้นในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ว่าจะมีการเสนอเชื่อประธานสภาฯ มากกว่า 1 รายชื่อหรือไม่

ฉะนั้น เมื่อวันนี้แคนดิเดตยังไม่ชัด และพร้อมเป็นปมซัดให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเกิดภาพความขัดแย้งกระจายไปถึงเหล่าด้อมประชาธิปไตย การดันชื่อของ ‘นายวันนอร์’ ผุดขึ้นมา ที่ว่ากันโดยคุณสมบัติ และพรรษาการเมืองสูง ก็ดูเหมือนจะเป็นไป ‘ทางออก’ เพื่อยุติปัญหาระหว่าง ‘ก้าวไกล’ กับ ‘เพื่อไทย’ ที่ว่ากันว่าต้องมีการเอาตำแหน่งรัฐมนตรีไปต่อรองกัน ถ้าก้าวไกลหรือเพื่อไทยจะได้เป็นประธานสภาฯ อีกด้วย และหมากนี้ ‘เพื่อไทย’ อาจมีแต้มต่อ จากการที่เป็นอดีตคนคุ้นเคยกับก๊วนโทนี่

อย่างไรก็ตาม วิบากกรรมแห่งผู้นั่งบัลลังก์สูงสุดในสภาฯ ในเชิงของภาคประชาสังคม ก็น่าจะยังคงตั้งคำถามกับ นายวันนอร์ฯ หนักพอตัว หลังจากถูกกล่าวหาว่า พรรคประชาชาติสนับสนุนการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนของนักศึกษา แม้นายวันนอร์ฯ เองจะชี้แจงว่าตนเพียงแค่ได้รับเชิญให้ไปพูดคุยทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการทำประชามติเป็นเรื่องกิจกรรมของนักศึกษา และตนก็ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ก็ตาม...เพียงแต่แรงกระเพื่อมนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำให้เกิดข้อกังขาจากสังคมต่อคุณสมบัติของนายวันนอร์ 

ทว่าเรื่องนี้จะจบลงเช่นไร ใครจะได้นั่งแท่นบัลลังก์ผู้นำสภาฯ เชื่อว่าอีกไม่กี่วันก็คงจะรู้ผล!!