Thursday, 16 May 2024
วันมูหะมัดนอร์มะทา

‘วันนอร์’ เตรียมชิงตำแหน่งประธานสภา ยุติปัญหาขัดแย้ง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’

(3 ก.ค. 66) รายงานข่าวจากที่ประชุม 8 พรรคการเมืองเสียงข้างมาก ระบุว่า ในการประชุมหัวหน้า และตัวแทน 8 พรรคการเมืองเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 66 ที่ทำการพรรคก้าวไกล ได้มีการหยิบยกปัญหาในส่วนของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างต้องการผลักดัน ส.ส.ของตัวเองให้ดำรงตำแหน่ง ขึ้นมาพูดคุยนอกรอบ โดยตัวแทนพรรคอื่นๆ ได้พยายามโน้มน้าวให้ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ถอยคนละก้าว เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเดินหน้าได้ เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้เกิดความไม่ชัดเจนจนมีปัญหาในการลงมติเลือกประธานสภา ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ ย่อมส่งผลถึงการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของการเจรจาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ทางคณะเจรจาของ 2 พรรค มีการสื่อสารกันอย่างไม่เป็นทางการตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากทั้ง 2 พรรคต่างยืนกรานที่จะต้องได้ตำแหน่งประธานสภา โดยไม่สามารถถอยหรือปรับเพดานลงได้ เนื่องจากถือเป็นมติของที่ประชุมพรรคของทั้ง 2 พรรค

อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้ง รวมถึงหาทางลงให้กับทั้ง 2 พรรค จึงมีการเสนอให้คนกลางที่เป็นที่ยอมรับ อย่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่มีความอาวุโส และมีประสบการณ์เคยเป็นประธานสภา และประธานรัฐสภามาแล้ว เป็นผู้รับตำแหน่งประธานสภา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่ พรรคก้าวไกล จะได้ตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 1 และพรรคเพื่อไทย จะได้ตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 2

เบื้องต้นคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย ขอนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรค ในช่วงสายของวันนี้ ก่อนจะแจ้งผลตอบรับมายัง พรรคก้าวไกล และแถลงข่าวในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน 

‘วันนอร์’ นั่งประธานสภาฯ ใต้แรงกดดันรอบทิศ หนุนแยกดินแดน-ไม่เคยมีพรรค 9 เสียงได้นั่งบัลลังก์

ทันทีที่กรณีมีรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมเสนอชื่อคนกลาง อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ว่ามีมากน้อยแค่ไหน?

แน่นอนว่า ในมุมของนายวันนอร์ฯ เอง แม้จะระบุว่า ยังไม่ได้ยินซุ่มเสียงที่เพื่อไทยเสนอเป็นประธานรัฐสภา แต่ถ้าให้รัฐบาลประชาธิปไตยเดินต่อได้ ก็จำเป็นต้องรับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากไปตกอยู่ที่ นายวันนอร์ฯ ก็อาจจะไม่เหมาะนัก เนื่องจากพรรคประชาชาติเองก็มีเสียง ส.ส.เพียง 9 เสียงเท่านั้น การจะยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรควรยกให้กับพรรคที่มีเสียงข้างมาก เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล หรือพรรคที่มีเสียงที่พอฟัดพอเหวี่ยง

นั่นหมายความว่า หากพิจารณาโดยนำกรณีดังกล่าวนี้ไปเปรียบกับ ปี 2562 สมัยพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเสนอชื่อ คุณชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งถือเป็นคนละกรณีกัน เพราะตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงกว่า 50 เสียง 

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองแคนดิเดตโดยเนื้อแท้ เช่น ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลกจากพรรคก้าวไกล , นายณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล และ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ล้วนแต่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น เพราะนายณัฐวุฒิ ถือเป็นคนมีเหตุผล ทำการบ้าน และเป็น ส.ส.ที่อภิปรายได้ดี เช่นเดียวกับ นพ. ชลน่าน ก็เคยเป็นถึงผู้นำฝ่ายค้าน มีฝีมือ เป็นดาวสภามาก่อน แต่หากทั้ง2 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ก็คงต้องลุ้นในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ว่าจะมีการเสนอเชื่อประธานสภาฯ มากกว่า 1 รายชื่อหรือไม่

ฉะนั้น เมื่อวันนี้แคนดิเดตยังไม่ชัด และพร้อมเป็นปมซัดให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเกิดภาพความขัดแย้งกระจายไปถึงเหล่าด้อมประชาธิปไตย การดันชื่อของ ‘นายวันนอร์’ ผุดขึ้นมา ที่ว่ากันโดยคุณสมบัติ และพรรษาการเมืองสูง ก็ดูเหมือนจะเป็นไป ‘ทางออก’ เพื่อยุติปัญหาระหว่าง ‘ก้าวไกล’ กับ ‘เพื่อไทย’ ที่ว่ากันว่าต้องมีการเอาตำแหน่งรัฐมนตรีไปต่อรองกัน ถ้าก้าวไกลหรือเพื่อไทยจะได้เป็นประธานสภาฯ อีกด้วย และหมากนี้ ‘เพื่อไทย’ อาจมีแต้มต่อ จากการที่เป็นอดีตคนคุ้นเคยกับก๊วนโทนี่

อย่างไรก็ตาม วิบากกรรมแห่งผู้นั่งบัลลังก์สูงสุดในสภาฯ ในเชิงของภาคประชาสังคม ก็น่าจะยังคงตั้งคำถามกับ นายวันนอร์ฯ หนักพอตัว หลังจากถูกกล่าวหาว่า พรรคประชาชาติสนับสนุนการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนของนักศึกษา แม้นายวันนอร์ฯ เองจะชี้แจงว่าตนเพียงแค่ได้รับเชิญให้ไปพูดคุยทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการทำประชามติเป็นเรื่องกิจกรรมของนักศึกษา และตนก็ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ก็ตาม...เพียงแต่แรงกระเพื่อมนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำให้เกิดข้อกังขาจากสังคมต่อคุณสมบัติของนายวันนอร์ 

ทว่าเรื่องนี้จะจบลงเช่นไร ใครจะได้นั่งแท่นบัลลังก์ผู้นำสภาฯ เชื่อว่าอีกไม่กี่วันก็คงจะรู้ผล!!

'สุริยะใส' ฟันธง!! วันนอร์ฯ ไม่ใช่ตัวกลางยุติปัญหา แต่เป็นเกม 'เพื่อไทย' บีบการตัดสินใจของ 'พรรคส้ม'

หลังจากที่มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อคนกลาง อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ชิงตำแหน่งประธานสภา เพื่อเป็นทางออกและแก้ปัญหาข้อยุติทั้งหมด

อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ส.ส. รวมทั้งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยว่าจะมีมติยืนตามนี้หรือไม่

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ถือเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุด เพราะมีประสบการณ์ เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และไม่มีความด่างพร้อย น่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับและได้รับความเคารพจากบรรดา ส.ส.

จริงหรือ??? ที่วันนอร์ฯ จะมาเป็นตัวกลางยุติปัญหาเก้าอี้ประธานสภาในครั้งนี้ หรือจะเป็นเกมส์การเมืองของพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นอย่างนั้นพรรคก้าวไกล จะเเก้เกมนี้อย่างไร 

ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์กับ THE STATES TIMES ในประเด็นนี้ว่า น่าจะเป็นการเสนอเพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวที่กำลังจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งแตกแยกของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า และเป็นการชิงไหว ชิงพริบ ที่เรียกว่า "เซียนเหยียบเมฆ" ของพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะทำให้พรรคก้าวไกลตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง 

แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอคนของพรรค แต่ไปเสนอนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยอ้างว่าเป็นคนกลางของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็รู้กันดีว่านายวันนอร์ฯ เป็นอดีต ส.ส. ของพรรคไทยรักไทยมาก่อน ก่อนจะมาตั้งพรรคประชาชาติ ก็เปรียบเสมือนเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น หมากเกมนี้ต้องกลับไปถามก้าวไกล ว่าจะยอมเล่นตามเกมเพื่อไทยหรือจะส่งคนสู้ แต่ถ้าส่งคนสู้ต้องมองว่าใครจะชนะ อาจจะไปหวยออกที่คนที่ 3 ต้องจับตามอง โดยส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะเป็นวันนอร์ฯ หรือนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ของพรรคก้าวไกล ไม่น่าจะมีใครชนะใคร จริง ๆ ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากนัก แต่ทางการเมืองก็จะมีจังหวะที่ทำให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองได้อยู่ไม่น้อย 

การที่เพื่อไทยเสนอแบบนี้ นั่นหมายความว่า เพื่อไทยไม่ได้ยอมทำตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกันก้าวไกลก็อาจจะไม่ยอมทำตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย เกมนี้อาจจะลามไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องติดตามกันต่อ

ผศ.ดร.สุริยะใส กล่าวต่อว่า ถ้าเกิดนายวันนอร์ฯ ได้เป็นประธานสภาจริง ๆ พรรคก้าวไกลต้องตอบตัวเองว่า ตำแหน่งประธานสภา ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ถ้าไม่ได้แล้วจะอย่างไรต่อ จะอธิบายประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคอย่างไร  อีกประเด็นจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าในอนาคตว่า MOU ที่ลงนามกันด้วยความชื่นมื่นเป็นเกมลวงทางการเมืองหรือไม่!!!

หลังจากนี้ตนมองว่า ก้าวไกลคงต้องเดินหน้าสู้ อยู่ ๆ จะไปยกตำแหน่งประธานสภาให้คุณวันนอร์ฯ ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย มันก็จะดูเป็นยอมง่ายไป จะไปอธิบายประชาชนที่เลือกตนเข้ามาทั้ง 14 ล้านเสียงอย่างไร สู้แล้วแพ้ยังพอตอบประชาชนได้ ครั้งนี้พรรคก้าวไกลต้องตอบโจทย์ที่พรรคเพื่อไทยโยนมาให้แล้วว่า จะเดินเกมยังไงต่อ แต่ที่แน่ ๆ พรรคก้าวไกลไม่น่าจะพร้อมเป็นฝ่ายค้าน เพราะเดินสายขอบคุณในนามพร้อมจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นต้องมองว่าพรรคก้าวไกลจะไปร่วมรัฐบาลในบริบทไหน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องน่าจับตามอง

เรื่อง: พัฒน์นรี ชัยเดชารัตน์ Content Manager

เทียบจุดยืน ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ก่อน-หลังรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

🔍เทียบจุดยืน ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ก่อน-หลังรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางข้อกังขาเรื่องการแบ่งแยกดินแดน

‘วันนอร์’ ชี้ แก้ ม.112 ต้องเป็นไปตามขั้นตอน-กฎหมาย 

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.66) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้ตอบคำถามถึงประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นประเด็นจับตา ว่า ประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ไม่อยู่ในข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะสนับสนุน แต่พรรคก้าวไกล ฐานะพรรคการเมืองในสภาฯ อยากเสนอเข้ามาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ต้องว่าไปตามกฎหมาย และบทบาท ทั้งนี้กฎหมายต่าง ๆ นั้น ทุกพรรคมีสิทธิเสนอรวมถึงประชาชนด้วย เพราะสภาฯ ยุคนี้ต้องโปร่งใส เพื่อประชาชน ทั้งนี้ส่วนตัวยินดีให้ทุกฝ่าย รวมถึงสื่อมวลชนตรวจสอบการทำงานของสภาฯ ได้

‘วันนอร์’ ยัน โหวตนายกฯ ยึดตามรัฐธรรมนูญ 13 ก.ค.นี้ เชื่อ ‘ส.ว.’ ใช้ดุลยพินิจ-คุณวุฒิเพื่อประโยชน์ของชาติ

(7 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาฯ พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 แถลงภายหลังเข้าร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานผู้แทนราษฎร และรองประธานผู้แทนราษฎร

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า วันนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้พวกเราทั้ง 3 คน ดำรงตำแหน่งประธานผู้แทนราษฎรและรองประธานผู้แทนราษฎร ซึ่งพวกเราจะขอน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้กับสมาชิกรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ในพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 26 ที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป 

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ว่า “เรื่องนี้เราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 และข้อบังคับของการประชุมรัฐสภาปี 2563 ส่วนกรอบเวลาของการประชุม ตลอดจนเรื่องจะโหวตอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ตนคิดว่าถ้าเราพูดก่อนล่วงหน้าอาจจะไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 13 ก.ค. และหวังว่าจะดำเนินการด้วยความเรียบร้อย”

“แต่หากไม่เสร็จสิ้นในวันที่ 13 ก.ค.เราก็ได้หารือกับประธานวุฒิสภาแล้วว่า เราก็อาจจะต้องมาประชุมกันในวันที่ 19 ก.ค. เพราะดูแล้วว่าน่าจะเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด เพราะเว้นไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้เลขาธิการสภาฯ ได้ทำหนังสือเชิญมาประชุมอีกครั้งในเวลาเช่นเดิม ส่วนการประชุมในวันที่ 19 ก.ค.นั้น จะเสร็จสิ้นเรียบร้อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ทั้งนี้ หน้าที่ของรัฐสภามีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อไปบริหารประเทศต่อไป โดยเราต้องทำหน้าที่นี้เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่มีนายกรัฐมนตรี เพราะปัญหาที่ประชาชน และปัญหาของประเทศชาติกำลังรอคอยรัฐบาลใหม่อยู่มากข้างหน้า ดังนั้น หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือ ต้องสนับสนุนให้การบริหารประเทศต่อไปได้ในเวลาที่เหมาะสม” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวต่อว่า “ส่วนข้อกังวลของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในเรื่องการโหวตนายกฯ นั้น ตนเห็นว่า ส.ว.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นอิสระของแต่ละคนที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัย ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราคงไม่สามารถคาดได้ว่าสมาชิกจะโหวตอย่างไร เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องใช้ดุลพินิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติ เพราะทุกคนก็มีคุณวุฒิวัยวุฒิมีประสบการณ์ และทุกคนก็ต้องมีหัวใจตรงกัน คือ บ้านเมือง ประเทศชาติ และประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนต้องทำให้ดีที่สุด และตนขอฝากกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ว่ารัฐสภาของเราจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดตามที่ท่านได้คาดหวัง”

นายวันมูหะมัดนอร์ เสริมอีกว่า “ในฐานะที่ผมเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นประธานรัฐสภา ต้องขอความสนับสนุนความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เพราะต้องการความสมัครสมานสามัคคีจากทุกฝ่าย เพราะเรามาทำงานตรงนี้เพื่อประเทศชาติกันทุกคนรวมทั้งประชาชนด้วย ขอให้ท่านสนับสนุนให้มีนายกฯ คือ ผู้นำของประเทศอย่างเรียบร้อย ในเวลาที่ท่านรอคอยและจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งผมคิดว่าต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งสภาพรรคการเมืองและประชาชน เพื่องานที่เราจะมีในวันที่ 13 ก.ค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า สำหรับความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นบริเวณรัฐสภานั้น ในเรื่องนี้ไม่มีความกังวลใดๆ ในวันที่ 10 ก.ค. ประธานสภาฯ จะมีการแบ่งงานให้กับรองประธานทั้ง 2 คน ในส่วนของการชุมนุมการรักษาความปลอดภัยกับการให้บริการประชาชนในพื้นที่สภาฯ ซึ่งประชาชนมีสิทธิชุมนุมแน่นอนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่และ พ.ร.บ.การชุมนุม

‘อดิศร’ แนะส่องไฟตรงที่นั่ง ปธ.สภาฯ ให้สว่าง ด้าน ‘วันนอร์’ บอก “สว่างแล้ว กลัวแก่”

(4 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 272 เรื่องการตัดอำนาจ สว.เลือกนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงเวลาประชุม ยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ จึงเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาต่าง ๆ โดยนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ลุกหารือว่า ตนเห็นว่าตรงที่นั่งประธานรัฐสภาและรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีมุมมืดดำไม่เด่นเป็นสง่า มองออกมาแล้ว ประธานฯ น่าจะเด่นชัด สุขสกาวให้สมกับห้องประชุมที่ตนไม่ชอบซึ่งชื่อว่าสุริยัน ต้องมีแสงสว่าง ไม่ใช่มองประธานฯ อยู่ไหน มันมืดจริง ๆ แสงแห่งความหวังของประชาธิปไตย อยู่ที่ที่ประธานฯ ตนอยากให้ฝ่ายเทคนิคไฟส่องสว่างให้สมศักดิ์ศรีหมื่นกว่าล้าน ท่านรองประธานรัฐสภา ก็เป็นตุลาการมาก่อน หน้าตาก็หล่อ แต่มองไปไม่เห็น ท่านประธานรัฐสภา น่าจะหนุ่มกว่านี้ นั่งอยู่ตรงนั้นไม่หนุ่มเลย จึงอยากให้ทางสภาฯ ปรับปรุงเพื่อให้สภาฯ ของเรามีประธานและรูปด้านหลังเด่นเป็นสง่า เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณทางประชาธิปไตย 

ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวติดตลกว่า “กลัวว่าสว่างแล้วจะแก่” ซึ่งเมื่อนายวันมูหะมัดนอร์พูดจบ ก็เรียกเสียงหัวเราะจากสมาชิกในห้องประชุม

วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ ชี้ 5 ปีพรรคประชาชาติเติบโตขึ้น

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ได้เดินทางไปร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคประชาชาติครั้งที่ 2/2566 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในฐานะสมาชิกพรรคประชาชาติ และอดีตหัวหน้าพรรค

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ ก่อนการประชุมใหญ่พรรคประชาชาติจะเริ่มขึ้น ชี้พรรคประชาชาติจะครบ 5 ปีในวันที่ 1 กันยายนนี้ ประจักษ์ชัดว่าประชาชาติไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ มีสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้น เติบโตขึ้น เพราะรักษาสัจจะตั้งแต่วินาทีแรกของการก่อตั้งพรรค แม้จะมีคนบางกลุ่มพยายามรั้งไม่ให้เติบโต มีตัวแทนพรรคเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ และมีตัวแทนร่วมคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล ย้ำบทบาทการทำหน้าที่ประธานสภาฯ หลายประเทศเข้าพบคารวะแสดงความยินดีและยกย่องที่ได้เป็นประธานสภาฯครั้งที่ 2 แม้ตนจะเป็นมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แต่ได้รับการยอมรับจากคนไทยทั้งประเทศ แม้แต่ยูเครนเข้าพบหารือปัญหาการรักษาสันติภาพและเอกราชของประเทศ แนะทุกฝ่ายต้องรับฟังเสียงของผู้ที่กำลังเดือดร้อน ย้ำปัญหาประชาชนต้องเร่งแก้ ไม่ใช่แค่หน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างเดียว แม้จะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ก่อนตั้งรัฐบาลได้เดินหน้าจับมือประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ร่วมมือไทย-อินโดนีเซียในฐานะสองประเทศผู้ผลิตยางพารา หาแนวทางเพิ่มมูลค่ายางพาราให้สูงขึ้น หลังปิดสมัยประชุมสภาฯนี้ มีแผนจะเดินทางไปเยี่ยมรัฐสภาหลายประเทศ ทั้งซาอุดีอาระเบีย กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง จีน และเกาหลีใต้ เพื่อดึงนักท่องเที่ยว และให้รับนักศึกษาและคนงานไทยเพิ่มขึ้น ย้ำการทำหน้าที่ประสภาฯอย่างเป็นกลาง เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน 

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า “วันที่ 1 กันยายนนี้จะครบ 5 ปีของการก่อตั้งพรรคประชาชาติ ซึ่งผมและพวกเราทั้งหลายได้ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชาติขึ้น 5 ปีถือว่ายังไม่นานนัก ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กก็เพิ่งพ้นชั้นอนุบาล พรรคประชาชาติทำงานมา 5 ปีก็ยังถือว่าเราเป็นเด็ก แต่ด้วยความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า และพี่น้องประชาชนไทยทั่วประเทศยอมรับ เพียง 5 ปีเราได้เติบโตทางสมอง ที่คิดต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค ทางด้านจิตใจที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ มีเมตตาธรรม อยู่ในหลักการของคำสั่งสอนทุกศาสนา ที่ผ่านมามีบททดสอบมากมาย หลายคนบอกว่าประชาชาติเป็นพรรคเฉพาะกิจ ตั้งพรรคแล้วก็เลิกไป เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเท่าที่ควร แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปีพิสูจน์แล้วว่าเราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจแน่นอน เพราะมีสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นเป็น 24,000 คน และอาจจะเพิ่มเป็น 100,000 คนในอนาคต นี่คือสิ่งยืนยันว่าเราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ พรรคประชาชาติเติบโตขึ้น แม้จะมีบางพรรคการเมืองจะรั้งความเติบโต พยายามไม่ให้ชนะเลือกตั้ง แต่ด้วยความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเขาไม่สามารถทำให้พรรคล่มจมได้ พระผู้เป็นเจ้ายังเมตตาเพราะเรารักษาอามานะห์ (สัจจะ) ตั้งแต่วินาทีแรกของการตัังพรรคจนถึงปัจจุบัน”

ก่อนหน้านี้มีประเด็นข่าวว่าพรรคประชาชาติอาจถูกยุบพรรค ประเด็น กกต.ตัดสิทธิ์ผู้สมัครเลือกตั้งในจังหวัดสงขลา 2 เขต และจังหวัดสตูล 2 เขตนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ยืนยันไม่มีปัญหาใดๆกระทบต่อหัวหน้าพรรคและพรรคการเมือง โดยชี้แจงว่า “ศาลฎีกาตัดสินว่าผู้แทนประจำจังหวัดทั้ง 4 เขต หมดวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งเราได้แจ้ง กกต.ไปแล้วว่าเมื่อยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ก็ให้รักษาการไปก่อน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องเคารพคำตัดสินของศาล ส่งผู้สมัครเลือกตั้งที่ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครจะมีผลกระทบต่อหัวหน้าพรรค ขอยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด คำตัดสินของศาลฎีกาถึงที่สุด ผู้แทนประจำจังหวัดหมดวาระไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ เท่ากับว่าผู้สมัครเลือกตั้งสี่คนนั้นถูกตัดออก จึงไม่มีผลกระทบต่อหัวหน้าพรรคและพรรคการเมือง ซึ่งไม่มีข้อกังวลใดๆ และได้ชี้แจงแล้ว รวมทั้งผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิ์ก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคได้”

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ย้ำทำหน้าที่ประสภาฯ ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี โดยกล่าวว่า “การทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีความสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในประมุขของอำนาจอธิปไตยของประเทศ คือนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขฝ่ายบริหาร ประธานรัฐสภาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานศาลฎีกาเป็นประมุขฝ่ายตุลาการ สามอำนาจนี้คือเสาหลักของประชาธิปไตย พรรคเล็กอย่างเราก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาเป็นประธานรัฐสภา ผมเคยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อปี 2539 เมื่อ 27 ปีที่แล้ว นึกไม่ถึงว่าจะได้มาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง นี่คือตักดีร (สิ่งที่พระเจ้าลิขิตไว้) เป็นความโปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้าผมก็น้อมรับไว้เพื่อบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนจำเป็นต้องทำ เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญ ถ้าไม่มีประธานรัฐสภาก็เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เมื่อรับตำแหน่งนี้แล้วผมต้องทำงานหนักกว่าเดิมเพื่อพี่น้องประชาชน เกียรติยศ และศักดิ์ศรีของพวกเราทุกคน”

“ประธานรัฐสภามีหน้าที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อวันที่ 5-11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศ และมีประเทศผู้สังเกตการณ์อีก 20 กว่าประเทศ จะขอเล่าให้ฟังว่าประธานรัฐสภาของประเทศไทยได้รับความสนใจจากหลายประเทศมาก เพราะประธานรัฐสภาเป็นมุสลิมในประเทศที่มีมุสลิมไม่ถึง 10% และได้เป็นประธานสภาฯถึงสองครั้ง ประธานรัฐสภาหลายประเทศจึงมาพบเป็นการส่วนตัวเพื่อแสดงความยินดี คารวะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประเทศผู้สังเกตการณ์หลายประเทศมาขอพบด้วย เช่น โมร็อกโก และสิ่งที่ผมดีใจมากคือการขอเข้าพบของรองประธานรัฐสภาประเทศยูเครน เขาเป็นประเทศที่กำลังเดือดร้อนและกำลังถูกรุกรานเอกราช และกำลังทำสงครามมาขอพบ ผมก็ยินดี แต่หลายประเทศไม่ให้พบเพราะเกรงใจประเทศมหาอำนาจที่กำลังสู้รบอยู่ แต่ผมไม่เป็นไรยินดีพูดคุย เขาพูดยาวมาก เขาขอโทษที่พูดยาวและรบกวนเวลา ผมได้พูดตอบเขาแทนท่านทั้งหลายว่าไม่เป็นไร เสียงของคนที่เดือดร้อน เสียงของคนที่กำลังต่อสู้เพื่อสันติภาพและเอกราชของตนเอง  เป็นเรื่องที่เราต้องรับฟัง เขานั่งซึมเลย ผมในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติจะรับฟังและเล่าสู่ให้กับฝ่ายบริหารต่อไป คนที่เดือดร้อนกำลังต่อสู้เพื่อเอกราชและสันติภาพ เป็นสิ่งที่เราควรจะรับฟัง เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนในประเทศของเรา ผมเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถ้าประชาชนเดือดร้อนเราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องของฝ่ายใด ความเดือดร้อนของประชาชนต้องไม่มีฝ่ายใดที่จะไม่รับฟัง เพราะฉะนั้นถึงแม้ผมจะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ มีเหตุระเบิดที่มูโน๊ะ ผมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็พร้อมที่จะลงพื้นที่ และไปดูแลความเดือดร้อนเหล่านี้ พี่น้องประชาชนจะต้องได้รับการดูแลไม่เฉพาะแค่ฝ่ายบริหารเท่านั้น เราฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องดูแลท่าน เพราะท่านเดือดร้อน ท่านเสียชีวิตและทรัพย์สิน เราต้องไม่ทอดทิ้งกัน”

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวถึงการพบปะกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ว่า “ผมได้รับโอกาสพบกับท่านโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานอธิบดีครั้งที่สอง และเป็นผู้นำคนสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียเจริญก้าวหน้า ได้พูดคุยกันสั้นๆเพียง 20 นาทีที่ทำเนียบประธานาธิบดี ผมบอกท่านว่า ท่านเป็นบุคคลที่ผมอยากพบมาก เขาถามว่าทำไม ผมบอกว่าเพราะท่านคือผู้นำของประเทศอาเซียน ที่พัฒนาประชาธิปไตยมากที่สุดคนหนึ่ง ท่านเป็นผู้นำเศรษฐกิจของอาเซียน ประชากร 280 ล้านคนเจริญก้าวหน้า ด้วยฝีมือของท่านเพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นคนที่ผมอยากพบมากที่สุด และอยากจะขอความกรุณาท่านช่วยทำให้เศรษฐกิจที่บ้านผม คือทำราคายางพาราให้สูงขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศที่ผลิตยางพารามากที่สุดในโลกอันดับหนึ่งคือประเทศไทยและอันดับสองคืออินโดนีเซีย 2 ประเทศนี้ผลิตยางพาราเกินครึ่งหนึ่งของโลก คือ 54% อีก 10 ประเทศแค่ 46% ถ้าเราจับมือกันเราจะสามารถทำราคายางพาราให้สูงขึ้นได้ เพราะมีประเทศผู้ใช้ยางพารามากกว่าร้อยประเทศ และสินค้าที่ใช้ยางพาราก็มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ท่านประธานาธิบดีบอกว่าเห็นด้วยและจะมอบให้รัฐบาลอินโดนีเซียมาหารือกับรัฐบาลใหม่ของไทย นี่คืออามานะห์ (ความรับผิดชอบ) ที่ได้พูดหาเสียงกับท่านไว้ ได้นำไปทำแล้ว โดยหารือกับผู้นำประเทศ และได้ไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย ซึ่งดูแลราคายางพารา เขาเห็นด้วยกับวิธีที่เรานำเสนอ อินชาอัลลอฮฺ (ด้วยความประสงค์ของพระเจ้า) ขอดุอาอ์ให้ ประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียจับมือกัน ทำให้ประชากรทั้งสองประเทศมีการพัฒนา เศรษฐกิจราคายางพารา อย่างน้อยควรจะได้ 70 บาท ต้องทำได้ เมื่อเป็นรัฐบาลมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ผมจะชี้แจงให้เร็ว เพราะอินโดนีเซียบอกว่าต้องรีบหารือระหว่างรัฐบาลต่อไป”

นอกจากนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีแผนจะเดินทางเยี่ยมรัฐสภาหลายประเทศ หลังปิดสมัยประชุมสภาฯ “ก่อนหน้านี้ประธานสภาที่ปรึกษาซาอุดิอาระเบียได้มาเยี่ยมคารวะที่รัฐสภาไทย ได้หารือกันดีมากท่านเชิญผมไปเยี่ยมประเทศซาอุดิอาระเบีย และเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารมูฮัมมัด บินซัลมาน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะมีเรื่องที่เราพูดคุยกันเรื่องการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการลงทุน การศึกษา และศาสนา ซึ่งหลังปิดสมัยประชุมนี้ ผมจะเดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อที่จะดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทย และขอให้เขารับนักศึกษาไทย และคนงานไทยเข้าทำงานมากยิ่งขึ้น 

‘วันนอร์’ จ่อนัดเคลียร์ปัญหา จัดสรรอาหาร สส.ใหม่ ชี้!! ต้องยึดหลักความเหมาะสม และไม่ฟุ่มเฟือย

(8 ก.ย.66) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีสส.นำอาหารที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดให้ระหว่างการประชุมสภาฯ ไปรับประทานนอกสถานที่ ว่า เบื้องต้นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานเรื่องดังกล่าวมาที่ตนเอง ซึ่งคาดว่าภายหลังจากรัฐสภาพิจารณานโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเสร็จ จะหารือกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนแนวทางเกี่ยวกับการบริการอาหารให้กับสส.นั้น ส่วนตัวคิดว่าจะต้องยึดหลักความเหมาะสม และไม่ฟุ่มเฟือย พร้อมทั้งต้องให้สส.ได้รับการบริการที่ดีด้วย แต่ในอนาตจะมีการปรับลดงบประมาณในเรื่องนี้หรือไม่ คงต้องพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับรองประธานสภาฯ ทั้งสองคนอีกครั้ง

ถามว่าที่ผ่านมาการจัดสรรอาหารให้กับสส.ระหว่างประชุมสภาฯ ปรากฏว่ามีปริมาณอาหารเหลือเป็นจำนวนมาก ทางสภาฯ จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีปริมาณอาหารเหลือ แต่ในทางปฏิบัติที่ต้องเข้าใจว่าบางครั้งมีจำนวนสส.มาประชุมมาก หรือบางครั้งก็มีสส.เดินทางกลับไปก่อน ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องร่วมหารือกันทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความสมดุล

“อาหารเตรียมไว้มากไปก็ไม่ดี หรือเตรียมอาหารไว้พอดี ถ้าเลิกประชุมเร็วก็ทำให้มีอาหารเหลือบ้าง จึงต้องมีมาตรการที่ทำให้เกิดความสมดุลให้ได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพสส.นำอาหารของสภาฯ กลับไปรับประทานนอกอาคารรัฐสภา พร้อมกับมีการตอบโต้เป็นอาหารที่เหลือหลังจากการประชุมสภาฯเสร็จแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า กรณีถ้ามีอาหารของสภาฯเหลือ เลขาธิการสภาฯแจ้งให้ทราบเบื้องต้นว่าจะนำไปบริจาคในทางสาธารณกุศล เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น

‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานรัฐสภา ร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง 74 ปีวันชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 18.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เข้าร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 74 ปี วันชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของนายหาน จื้อฉียง (H.E. Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ณ  ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ในการนี้ ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นผู้แทน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมงาน

โอกาสนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในฐานะแขกเกียรติยศได้กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบวันสำคัญของจีน ในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างมาก มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสด็จฯ เยือนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยในปี 2566 ครบรอบ 48 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน นอกจากนี้ ไทยกับจีนยังมีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีการขยายความร่วมมือเชิงลึกในทุกมิติ จึงควรที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนและพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และพร้อมจะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสองประเทศอย่างเต็มความสามารถ เพื่อประโยชน์และความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top