Tuesday, 10 December 2024
POLITICS NEWS

กระทรวงแรงงาน จับมือ กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” เพื่อสร้างการรับรู้ รับฟังข้อเสนอแนะและร่วมกันพิจารณาผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ...รองรับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้ดียิ่งขึ้น 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” โดยมี นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวต้อนรับ นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงานและโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวรายงาน 

โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การช่วยเหลือเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รวมถึง “พี่น้องแรงงานนอกระบบ” และพร้อมที่จะให้การดูแลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โดยมีนโยบายในการเร่งรัดการออกกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เพื่อรองรับแรงงานนอกระบบทุกคน จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การระบาดของโรคโควิด – 19 การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลต่อการจ้างงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สภาพการจ้างงานยังไม่มีความชัดเจน เป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่เราต้องศึกษา ควบคุม และดูแลต่อไป 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายเดียวกันกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการศึกษานโยบายและกฎหมายแรงงาน คือ การดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน จึงได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบขึ้น ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ ทุกท่านคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันสนับสนุนและผลักดัน การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ให้สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว 

นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงานและโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” ในวันนี้ จัดขึ้นโดย คณะกรรมการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อส่งเสริมการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ..... เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ..... และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงแรงงานในการพิจารณาผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ.....ร่วมกัน 

โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 300 คน ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการการแรงงานและคณะอนุกรรมาธิการ ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการและเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแรงงาน วิทยากร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากภาครัฐและผู้สังเกตการณ์ แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตัวแทนผู้ประกอบการ เจ้าของสถานประกอบการ เครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานนอกระบบ 

ผู้เข้าสัมมนาในวันนี้โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ยังไม่มีใครคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ จากการสัมมนาในวันนี้จะเป็นการให้ความมั่นใจแก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะ ในด้านคุ้มครองแรงงาน สวัสดิการแรงงาน รายได้ อาชีพ และเครือข่ายการขึ้นทะเบียน เพื่อนำผลจากการสัมมนาครั้งนี้ไปขับเคลื่อนนโยบายและร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ..... ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฏีกา และรัฐสภา เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้ผลสำเร็จ เกิดผลเป็นรูปธรรมและนำไปบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต. วินิจฉัย อสม. ลงสมัครเลือกตั้ง พร้อมขอตรวจสอบ ปมผู้สมัครนายกเทศมนตรีอ.พยุหะคีรี นำรูปคนมีชื่อเสียงขึ้นคู่หาเสียง

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นต่อ กกต.เพื่อให้วินิจฉัยกรณีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สามารถสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้หรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ด้วย อสม. หลายคนได้เข้ามาสมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ซึ่ง อสม. ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท และได้รับสิทธิพิเศษอีกมากมายรวมทั้งสิทธิในการเสนอเพื่อรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย ไม่ต่างอะไรกับข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ 

แต่ในพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ได้กำหนดว่า ข้าราชการ พนักงานของรัฐ จะมาสมัครเป็นสมาชิกหรือผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นไม่ได้ แต่ที่ปรากฏทั่วประเทศตอนนี้คือ อสม. ไปสมัครเป็นสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นกันเยอะ ซึ่งเป็นก็จะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างผู้สมัครทั่วไปที่ไม่ได้เป็น อสม. เนื่องจาก อสม. ใช้เงินของรัฐมาดำเนินการสร้างปฏิสัมพันธ์ช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด เมื่อมาสมัครเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นก็จะได้เปรียบ ดังนั้น กกต. ผู้ดูแลในเรื่องนี้ควรมีคำวินิจฉัยที่ออกมาให้ชัดเจนว่า อสม. ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ 

นอกจากนี้ยังขอให้ กกต. ตรวจสอบกรณีผู้สมัครนายกเทศมนตรีนำรูปของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครมาขึ้นคู่กับป้ายหาเสียงของตนว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 65(1) (5) หรือไม่ โดยพบกรณีดังกล่าวในพื้นที่ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ที่นายอนุรักษ์ พงษ์สาลี ผู้สมัครนายกเทศมนตรี เบอร์ 2 ได้นำรูปของทีมงาน 2 ราย คือนางศศิธร ศรีเพ็ง และนายนคร  พิริยะโภคานนท์ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้สมัคร แต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และเป็นบุคคลที่นายอนุรักษ์ นำเสนอว่าหากตนได้รับเลือกตั้งก็จะแต่งตั้งทั้งสองคนเป็นรองนายกเทศมนตรี จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายอนุรักษ์ เป็นการหวังจะได้คะแนนจากฐานเสียงของบุคคลทั้งสองมาสนับสนุนให้ตนเองได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ซึ่งเข้าข่ายเป็นการจัดเตรียมเพื่อจะให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้กับตนเองตามมาตรา 65(1) และ ( 5) 

จึงอยากให้กกต.วินิจฉัยทั้งสองประเด็นนี้ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งสมาชิกและนายกเทศมนตรีเพราะหากเป็นความผิดก็จะได้ตัดสิทธิผู้สมัครก่อนการลงคะแนน ก็จะได้ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในภายหลัง รวมทั้งจะได้เป็นบรรทัดฐานในการลงสมัครและการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาต่อไป

"แรมโบ้" ลั่น! ม็อบ ยุติการชุมนุม หันมาช่วยกัน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ อย่าฟัง พวกชังชาติ

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจที่ในปี 2564 ประเทศไทยเป็นอันดับ 1ในอาเซียน ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเรื่องของดิจิทัล  อีกทั้งยังเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดในปี 2564  ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล นอกจากจะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ แล้ว นายกรัฐมนตรียังให้ความใส่ใจกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพราะถือว่าประชาชนได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด และยังเป็นประโยชน์กับประชาชนในหลายด้าน 

นายเสกสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้พัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหามาหลายด้าน จนประชาชนทั้งในประเทศและนานาประเทศให้การยอมรับ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจในตัวพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลในการทำงาน อยากจะพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด ยังเห็นความสำคัญของประชาชน และประเทศ มาเป็นอันดับที่ 1 พร้อมที่จะช่วยเหลือในทุกด้านโดยไม่เหน็ดเหนื่อยไม่ย่อท้อ และพร้อมทุ่มเทพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าเติบโต ประชาชนอยู่ดีกินดี จึงเรียกร้องไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการเคลื่อนไหวให้ยุติการชุมนุม เพราะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น และยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 

"บ้านเมืองเป็นของพวกเราทุกคน ควรหันมาช่วยกัน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ช่วยนายกฯและรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าไปสู่นโยบายที่วางไว้ให้สำเร็จ ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาชุมนุม จนทำให้บ้านเมืองเสียหายย่อยยับ เราทุกคนควรหันกลับมาร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข อย่าไปเชื่อฟังบุคคลที่คิดยุยงปลุกปั่น พวกบ่อนทำลาย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คนชังชาติเหล่านั้นไม่หวังดีต่อประเทศไทย พวกเราอย่าตกเป็นเครื่องมือคนคิดร้ายต่อแผ่นดินไทยเลย" นายเสกสกลกล่าว

"มายด์" พร้อมพวกรายงานตัวอัยการคดีชุมนุมสถานทูต เผยกำลังใจดีสู้ไม่ถอย - พระร่วมให้กำลังใจชูป้าย "ขอบิณฑบาตอนาคตของชาติ #ยกเลิก112"

วันที่ 25 มี.ค 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ พร้อมพวกผู้ต้องหาแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร เดินทางมารายงานตัวตามที่อัยการนัดฟังคำสั่งคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งถูกแจ้งข้อหาในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ 

โดย นางสาวภัสราวลี เปิดเผยว่า วันนี้มารอฟังคำสั่งอัยการ ส่วนตัวเตรียมพร้อม เข้มแข็งจากการชุมนุมเมื่อวานนี้ (24 มี.ค.) เติมกำลังใจตัวเองได้อย่างดี สู้ต่อไม่ถอย ซึ่งพ่อกับแม่ก็ให้กำลังใจ ส่วนที่มีข่าวว่าวันนี้อัยการจะเลื่อนนัดสั่งคดีนั้น ยังไม่มั่นใจ ต้องรอฟังอีกที ทุกคนในคดีจะมากันครบ เพราะทุกคนมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ มั่นใจในสิ่งที่ทำ กล้าหาญ กำลังใจดีเข้มแข็ง พี่น้องประชาชนส่งพลังให้ตนและทุกคน 

ส่วนหากมีการส่งฟ้องแล้วศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่นั้น ถ้าให้ประกันตัว ประชาชนจะมองกระบวนการยุติธรรมอย่างมั่นใจ ทุกคนโดนข้อหาเดียวกันทั้ง 13 คน หลายคนเป็นนักศึกษา และส่วนตัวก็ยังมีสอบ เชื่อว่าพลังของประชาชนที่ออกมาเป็นส่วนสำคัญ 
.
ด้าน นางสาวเบนจา อะปัญ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เปิดเผยว่า หากไม่ได้รับการประกันตัวก็จะให้มวลชนเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป ตนเองก็จะสู้ต่อไปเพียงแค่เปลี่ยนสถานที่ สำหรับการชุมนุมเมื่อคืนที่ผ่านมา พยายามจัดการชุมนุมให้มีความปลอดภัยกับผู้ชุมนุมมากที่สุด และให้มวลชนได้มีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรม ส่วนภารกิจที่ติดค้างคือเรื่องเรียน และการต่อสู้ยังเป็นภารกิจสำคัญ ขณะนี้มองว่าควรที่จะมีการยกเลิกการส่งฟ้องไปเลย ซึ่งจะไม่เป็นการค้างคา 

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่ไม่มีแกนนำ นางสาวเบนจา มองว่า เป็นการชุมนุมที่ให้คนหลายกลุ่มได้เข้ามาร่วม ซึ่งตนเองก็ไม่เคยบอกว่าการมีแกนนำหรือไม่มีแกนนำดีหรือไม่ดีอย่างไร จะมีความแตกต่างกันในด้านวิธีการ แต่แนวทางการต่อสู้คือเป้าหมายเดียวกัน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ในวันนี้ มีผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและผู้ใกล้ชิดเดินทางมารอให้กำลังใจผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี โดยผู้มาให้กำลังใจ อาทิ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และ นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน รวมถึงมีกลุ่มพระสงฆ์ 4 รูป ถือป้ายข้อความว่า "ขอบิณฑบาตอนาคตของชาติ #ยกเลิก112" 

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมที่เดินทางมาให้กำลังใจแกนนำราษฎรในวันนี้ หลังทราบข่าว นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ต่างพากันดีใจด้วย

"วราวุธ" ชี้!​ แก้อำนาจ ส.ว.ไม่ง่าย​ เปรียบเหมือนตัดแขน ย้ำ! ต้องหารือพร้อมเอาใจเขาใส่ใจเรา

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ​ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา​ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า คาดว่าจะได้มีการประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนที่จะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7-8 เมษายนนี้ ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขนั้น คงต้องมีการหารือกันก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้อเด่นก็มี​ ข้อด้อยก็มี ต้องหาจุดร่วมที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง แต่จะแก้ประเด็นใดก็แล้วแต่ เราพูดมาเสมอว่าไม่ใช่เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่จะแตะพระราชอำนาจหรือกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ขอเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาใดที่ควรต้องแก้ นายวราวุธ​ กล่าวว่า มีหลายกลไก เช่น​ กลไกการเลือกตั้งที่ปัจจุบันทำให้มีความซับซ้อน บางครั้งเมื่อมีเงื่อนไขที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ระบบโปร่งใส แต่ก่อให้เกิดช่องทางที่ยุ่งยากในการทำงาน ต่อผู้ปฏิบัติงาน และอาจนำไปสู่การกระทำเส้นทางลัด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย

เมื่อถามว่า ประเด็นอำนาจ ส.ว. พรรคชาติไทยพัฒนาติดใจหรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องมานั่งคุยกันว่าข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดเมื่อพูดถึง ส.ว. แต่ ส.ว.เป็นผู้โหวตด้วย เหมือนขอให้คน ๆ นึงตัดแขนตัวเองทิ้ง ส.ว.เองคงไม่เห็นด้วย เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้วประเด็นตัดอำนาจ​ ส.ว. จะไม่สามารถแก้ไขได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่จะแก้ประเด็นใด คงต้องเป็นเรื่องที่​ ส.ว. รับได้ด้วย เพราะอย่างไรเสีย​ ส.ว. ชุดนี้ก็มีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว การจะแก้ไขอะไรที่กระทบอำนาจหรือความสำคัญของ​ ส.ว. ทิ้งเขาคงจะไม่ยอม คงต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ต้องเอาประเด็นที่เดินไปข้างหน้าหรือพบกันครึ่งทางเสียก่อน ต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา

เมื่อถามว่าประเด็นที่ให้อำนาจ​ ส.ว. เลือกนายกฯ คงต้องปล่อยไว้ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาลใช่หรือไม่​ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องคุยกับทั้ง​ ส.ส.และ ส.ว. เพราะอยู่ ๆ จะตัดอำนาจเขาออก คงต้องหารือกันก่อน โดยส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.)​ คงไม่ทัน วันนี้ต่างพรรคคงมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป​ แต่ท้ายที่สุดคงไปเจอที่จุดหมายเดียวกัน

“วิษณุ” เผย! เคลียร์ “ชวน” แล้ว ปมเปิดสมัยวิสามัญ พิจารณาร่างประชามติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ท้วงถึงนายวิษณุ ที่ระบุ การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเร็วเกินไป ทั้งที่ร่างพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ว่า เรื่องดังกล่าวตนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายชวนเรียบร้อยแล้วในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ โดยเป็นเรื่องการให้ประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .. ของรัฐสภา เพื่อดูว่าทางกรรมาธิการจะทำเสร็จหรือไม่ และต้องคิดเผื่อเวลาที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ รวมทั้งการออกวาระล่วงหน้า ซึ่งนายชวน และตน รับทราบเรื่องเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าสรุปแล้วจะสามารถเปิดวิสามัญในวันที่  7 - 8 เมษายนนี้ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตน ขอพบและพูดคุยกับทางกันมาธิการก่อน ซึ่งจะได้พบกันในวันเดียวกันนี้ เมื่อถามย้ำว่า ด้านนายชวนยืนยันหรือไม่ว่าเปิดวิสามัญในวันที่ 7 - 8 เมษายนนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า นายชวนไม่ได้ยืนยัน ให้แล้วแต่รัฐบาล แต่ท่านได้เสนอแนะว่าให้บอกเวลาในช่วงที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามรายละเอียดต่างๆยังไม่ขอพูดถึง เอาเป็นว่าตนได้พูดคุยกับนายชวนชัดเจนแล้ว เนื่องจากยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ จะมาพูดระบุถึงเรื่องวันที่ไม่ได้เนื่องจากยังไม่ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกา จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะมาพูดก่อน

กระทรวงแรงงาน ยกระดับช่างเครื่องช่วยคนพิการ หนุนทดสอบมาตรฐาน ป้อนหน่วยผลิต

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สร้างแรงงานคุณภาพ หนุนทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ลดช่องว่างตลาดแรงงาน นายธวัช  เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กำเนิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงอาทรถึงความทุกข์ของคนพิการขาขาดผู้ยากไร้ และที่ไม่สามารถเข้ารับบริการขาเทียมจากภาครัฐ 

พระองค์เสด็จ พระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนขาเทียมในกลุ่มคนพิการขาขาดที่ยากไร้ เมื่อทรงทราบว่าแพทย์ไทยสามารถประดิษฐ์ขาเทียมได้จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือนับแต่นั้นมา “อย่าไปเอาเงินที่เขา มาเอาที่ฉัน” รับสั่งประโยคนี้ของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี กลายเป็นอุดมการณ์ของมูลนิธิขาเทียมฯ และได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นโดยมีสำนักงานแรกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่17 สิงหาคม 2534 ด้วยทุนจดทะเบียนส่วนพระองค์ เป็นองค์กรสาธารณกุศล ที่พัฒนาเทคโนโลยีการทำขาเทียมตลอดเวลา ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ สืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ กพร.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจพัฒนากำลังแรงงานทุกกลุ่มเพื่อยกระดับทักษะฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพ ทั้งฝึกอบรม และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งได้ให้การสนับสนุนกิจการของมูลนิธิขาเทียมฯ โดยดำเนินโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ และจัดการฝึกอบรมสาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ รวมถึงการกำหนดและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นมา 

โดยมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ (สพร.19 เชียงใหม่) ร่วมกับมูลนิธิขาเทียม จัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระยะเวลาการฝึก 700 ชั่วโมง (5 เดือน)  ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 (5 รุ่น) จำนวน 109 คน และมีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระดับ 1 จำนวน 106 คน ระดับ 2 จำนวน 21 คน รวมจำนวน 127 คน และในปี 2564 ดำเนินการฝึก 6 กิจกรรม เป้าหมาย 210 คน หลังจบฝึกอบรม มูลนิธิขาเทียมจะส่งช่างไปทำงาน ณ โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และ เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งพนักงานราชการ ณ โรงพยาบาลต้นสังกัด แล้วทำให้ผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมีงานทำที่มั่นคง

ซึ่ง กพร.จะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และช่างเหล่านี้สามารถจัดทำขาเทียมที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐานมีผู้พิการขาขาดที่ได้รับประโยชน์ทั่วประเทศ ปีละกว่า 3,000 คน รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมฯ กล่าวว่า ในนามของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณ กพร.ที่ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ช่างทำขาเทียม นักกายภาพบำบัด พัฒนาหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 

สร้างบุคลากรด้านเครื่องช่วยคนพิการ เพื่อไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงอบรมแพทย์และช่างทำขาเทียมชาวต่างประเทศ ที่มูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือไปตั้งโรงงานอยู่ เช่น เมียนมาร์ มาเลเชีย บังคลาเทศ สามารถช่วยเหลือคนพิการได้ทั่วโลก เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาศักยภาพแรงงานที่เห็นเป็นรูปธรรม

นายโรมรัน จรรยา พนักงานช่างเครื่องช่วยคนพิการ เป็นพนักงานราชการของโรงพยาบาลลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เคยเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ช่างเครื่องช่วยคนพิการ รุ่นที่ 8 กับ สพร.19 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรม และได้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุขแบบปุถุชนทั่วไปได้ คนพิการเป็นอีกกำลังแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือ และเมื่อแรงงานมีฝีมือก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่างทำขาเทียมซึ่งเป็นแรงงานฝีมือที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะหยิบยื่นโอกาสที่ดีให้แก่คนพิการได้กลับมาทำงาน ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคฒ อธิบดี กพร.กล่าว

ศาลฎีกา รับคำร้อง ป.ป.ช. กรณี ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ศาลฎีกาสนามหลวง ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

โดยเห็นว่า ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ชัดเจน ดำเนินการครบถ้วนเกี่ยวกับระเบียบการดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้รับคำร้อง ที่ผู้ถูกร้อง ค้านว่าขอให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ศาลเห็นว่า พิเคราะห์คำร้องยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ผู้ถูกร้องปฏิบัติหน้าที่ต่อเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องเเล้ว ยกคำร้องจึงมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เเละเเจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมนัดไต่สวนพยานผู้ร้องอีกครั้ง 30 เม.ย. เวลา 9.30 น.

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โพสต์รูปภาพตนเอง พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ปารีณา ไกรคุปต์" เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 23 มี.ค. 64 โดยระบุว่า “ราตรีสวัสดิ์ ปารีณาพลังประชารัฐ #ปารีณาพักก่อน -รู้สึกเศร้า"

“นิพนธ์” ผนึกกำลัง ประปานครหลวง-องค์การจัดการน้ำเสีย MOU บูรณาการบริหารจัดการน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ สร้างความยั่งยืน ยึด 3 ข้อ เน้นรับผิดชอบต่อสังคม พัฒนาองค์ความรู้ พ่วงเสริมทักษะความชำนาญ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและให้บริการที่เป็นเลิศต่อประชาชนทั่ว

วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานใหญ่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) การบูรณาการบริหารจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างยั่งยืน ระหว่างการประปานครหลวง(กปน.)และ องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน.  นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน. นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. และนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน. เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยมีคณะผู้บริหารจาก กปน. และ อจน. ร่วมในพิธี

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า "กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการสร้างรากฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ได้กำกับดูแล มอบนโยบายให้ กปน. และ อจน. ที่เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้บูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการทั้งน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการให้ความรู้ในด้านการจัดการน้ำเสียให้กับชุมชน และสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรน้ำและความร่วมมือระหว่างกันที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนโดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลไกการบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศให้มีระบบ และมีเอกภาพยิ่งขึ้น  รวมถึงการลดปริมาณน้ำเสีย และการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก"

“ การลงนามครั้งนี้จึงเป็นการร่วมบูรณาการงานของทั้ง 2 หน่วยงาน คือ กปน. และ อจน. เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ และการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)  การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะความชำนาญด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี หรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสม และระบบประเมินผล คุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SE-AM) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการให้บริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน” นายนิพนธ์ กล่าว

ช่อ พรรณิการ์ หาเสียงโคราช ชูนโยบายเอาใจวัยรุ่น 4 แก้ 4 ก้าว

วันที่ 24 มีนาคม ที่ จ.บุรีรัมย์นางสาวพรรณิการ์  วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เดินทางพบปะ ผู้สมัครนายกเทศมนตรี  ในนามคณะก้าวหน้า ในส่วนของเทศบาลตำบลหนองตาด คณะก้าวหน้าส่งนางสาวกาญจนา เขียวรัมย์ ลงสมัครในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลหนองตาด เบอร์ 5 โดยกิจกรรมเป็นการพูดคุยกับพ่อแม่พี่น้องตำบลหนองตาด นางสาวพรรณิการ์ ระบุว่า “พ่อแม่พี่น้องทราบหรือไม่เทศบาลตำบลเรามีงบประมาณพัฒนาหนองตาดประมาณ 300 ล้านบาทตลอดวาระ 4 ปี เงินจำนวนนี้จะว่าน้อยก็น้อย จะว่าเยอะก็เยอะ

“ถ้าเรานำมาจัดสรรได้จริงตรงตามความต้องการที่แท้จริงของพ่อแม่พี่น้อง นำมาแก้ปัญหาน้ำแล้ง ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีโรงเรียนคุณภาพเป็นของตัวเอง วันอาทิตย์ที่ 28 มีนานี้ออกไปใช้สิทธิ์เข้าคูหาเลือกอนาคตของท่านด้วยตัวท่านเอง เลือกคนที่มีอุดมการณ์ เลือกคนที่มีนโยบายที่จะทำให้หนองตาดเจริญ เปลี่ยนความคิดให้โอกาสคนหน้าใหม่ หากท่านเลือกเฉพาะคนรู้จัก คนคุ้นหน้า คนเดิมๆ ก็จะได้แต่อะไรเดิมๆ อยากทุกคนดูที่ความตั้งใจ นโยบายเป็นหลัก” 

ด้านนางสาวกาญจนา ผู้สมัครเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองตาด เบอร์ 5 กล่าวว่า ตนมีความพร้อมที่จะเข้ามาพัฒนาบ้านเกิดอย่างจริงจัง เพราะก่อนหน้านี้ตนได้เคยดำรงตำแหน่ง นักพัฒนาวางแผนข้อมูลของเทศบาลตำบลหนองตาดมากว่า 10 ปี และขอได้ลาออกมาเตรียมตัวลงสมัครนายกเทศมนตรีมาอย่างน้อย 5 ปีแล้ว ยุทธศาสตร์ของหนองตาดที่ตนเล็งเห็นคือเรา มีรถไฟวิ่งผ่านกลางเมืองเทศบาล จึงมีแนวคิดจะนำส่งสินค้าเกษตรของพี่น้องเข้าไปขายในเมืองเพื่อเพิ่มมูลค่า เพราะปัจจุบันสินค้าทางเกษตรมากมาย ทั้งหอม กระเทียม เห็ดนางฟ้า ของเรามีคุณภาพมาก แต่ยังขาดตลาดที่รองรับ หากตนได้รับเลือกเข้ามาทำงานก็จะผลักดัน อย่างเต็มที่เพราะได้ลงมือปลูกและสอนชาวบ้านทำแปลงเกษตร บ้านเห็ดด้วยตัวเองอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นางสาวพรรณิการ์เดินทางต่อไปยังจ.นครราชสีมา เพื่อช่วยนายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา เบอร์ 4 และพบปะทีม สท ทั้ง 4 เขต โดยทีมผู้สมัครคณะก้าวหน้า ได้นำเสนอนโยบายที่จะแก้ปัญหาให้ชาวโคราช “4แก้4ก้าว เพื่อชาวโคราช” 

4 แก้ได้แก่
1.) แก้โครงสร้างพื้นฐาน ถนนต้องดี มีไฟทั่วถึง ประชาชนมีน้ำสะอาดใช้ 
2.) แก้เศรษฐกิจ Korat Walkable City เมืองที่เดินได้อย่างปลอดภัย คึกคัก24ชม.พัฒนาแลนมาร์ก 
3.) แก้รถติด มีระบบขนส่งมวลชนที่มันสมัยด้วย รถเมล์ไฟฟ้าไร้มลพิษ 
4.) แก้การเมืองให้โปร่งใส วางรากฐานที่มั่นคงตรวจสอบได้เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิดไปด้วยกัน 

4 ก้าวได้แก่ 
1.) ก้าวสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ ด้วยการเพิ่มศูนย์การแพทย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงโดยนำเทคโนโลยีพบหมอออนไลน์ใช้อีกด้วย 
2.) ก้าวสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมทางเทคโนโลยีด้วยการใช้เทคโนโลยี AIและBig Data มาจัดการบริหารเมืองSmart governance เข้าถึงข้อมูลด้วยคิวอาร์โค้ดแจ้งฝนตกน้ำท่วมเข้ามือถือทุกคนได้แบบญี่ปุ่น
3.) ก้าวสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้าง korat Youth Spaceส่งเสริม E-sport Gaming , E Commerce 
4.) ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนการใช้ Digital Currency สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยการสร้างเทศกาลระดับนานาชาติ โดยตลอดทั้งสัปดาห์หน้านี้นางสาวพรรณิการ์ จะเดินสายไปช่วยผู้สมัครนายกเทศมนตรีในนามคณะก้าวหน้า ในภาคอีสานต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top