Thursday, 10 October 2024
POLITICS NEWS

“เลขาฯสมช.” ระบุ รอ14 วัน ประเมินสถานการณ์ หลังคุมเข้ม 10 จว. ยัน โครงการ “สมุย พลัส” ตรวจยิบกว่าภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์ ปัดตอบกระแส ไทยบริจาค 1 แสนดอลลาร์ ให้องค์การอนามัยโลก

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ (ศปก.ศบค.)กล่าวถึงการประชุมศบค.ในวันที่16 ก.ค.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมวกลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธาน จะหารือถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดหรือไม่ หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่องว่า ในที่ประชุมยังไม่มีการทบทวนมาตรการที่ประกาศยกระดับควบคุมเข้มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จ.ได้แก่ กทม. และปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยการทบทวนหรือไม่จะต้องประเมินสถานการณ์ภาพรวมหลังออกประกาศข้อกำหนดไปแล้ว 14 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 25 ก.ค.นี้ก่อน 

เมื่อถามถึงข้อกังวลจากหลายฝ่ายต่อการเปิดโครงการสมุยพลัส จะต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ เพราะอาจจะยิ่งเป็นการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจะมีความเข้มข้นมากกว่ามาตรการโครงการภูเก็ต แซนด์
บ็อกซ์

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่ไทย บริจาคเพิ่มเติม 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯให้องค์การอนามัยโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศและโครงการโคแวกซ์ เพื่อต่อสู้โควิด -19 เป็นสัญญาณว่าไทยจะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วยหรือไหม่  พล.อ.ณัฐพล ปฎิเสธตอบคำถาม โดยระบุให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด

“ธีรัจชัย” สงสัย กต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปมประสานข้อมูล “ธรรมนัส” 

ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมคณะกมธ.ฯ กรณีการตรวจสอบร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.เคยพิจารณาต่อเนื่องมา โดยเชิญอดีตปลัดกรวงการต่างประเทศ ช่วงปี 59 – 63 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คนปัจจุบันมาสอบถามเกี่ยวกับการประสานข้อมูลไปยังออสเตรเลีย ในการขอคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยได้รับการชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศเคยสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงแคนเบอร์รา และสามารถขอสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงด้วยการทำหนังสือไปขอได้เลย ส่วนศาลอุทธรณ์จะต้องมีการกรอกตามแบบฟอร์มคำขอ พร้อมกับชี้แจงว่าเคยสอบถามข้อมูลไปยังร.อ.ธรรมนัส แต่ไม่ได้รับคำตอบจึงไม่สามารถดำเนินการได้  

นายธีรัจชัย กล่าวว่า กมธ.ป.ป.ช. เคยขอข้อมูลไปยังศาลแขวงและศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ส่งมาให้ กระทรวงการต่างประเทศก็สามารถติดตามข้อมูลได้จากกมธ.แต่กลับไม่ถาม แต่ไปถาม ร.อ.ธรรมนัส จึงเกิดคำถามว่าปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่อย่างเต็มที่หรือไม่ นอกจากนี้ กมธ.ป.ป.ช.ยังเคยได้รับหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 40 ที่ส่งคดีร.อ.ธรรมนัส มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แสดงว่ากระทรวงการต่างประเทศ มีข้อมูลร.อ.ธรรมนัสอยู่แล้ว โดยป.ป.ส.ได้มาชี้แจง และแนบเอกสารดังกล่าวให้กมธ.ป.ป.ช. ซึ่งมีเอกสาร 2 ฉบับ แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับบอกว่าไม่มีข้อมูล จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการปฏิบัติหน้าที่กรณีของร.อ.ธรรมนัส กระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนหรือไม่ ทางคณะกมธ.ป.ป.ช. จึงให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังศาลอีกครั้ง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าสามารถทำได้ แต่ไม่ได้มีการรับปากว่าจะดำเนินการให้

นายธีรัจชัย กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6/2564 เรื่องคุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรี ของร.อ.ธรรมนัส ปรากฎว่าในหน้าที่ 5 มีคำวินิจฉัยในวรรคแรกบอกว่าเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอาศัยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรค 3 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 13 มีนาคม 2537 และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และปลัดกระทรวงต่างประเทศ เพื่อดำเนินการช่องทางการทูต โดยมีทางราชการรับรองสำเนาถูกต้อง คำว่าเพื่อดำเนินการช่องทางการทูต กมธ.ได้ติดใจมาโดยตลอดว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 27 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน สามารถสั่งการให้หน่วยงานราชการดำเนินการใดๆได้ และเมื่อสั่งแล้วเหตุใดกระทรวงต่างประเทศถึงไม่ทำตามช่องทางการทูต 

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ปลัดกระทรวงต่างประเทศชี้แจงว่า สำเนาของคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 13 มีนาคม 2537 และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 เป็นข้อมูลทางการออสเตรเลียและไม่อยู่ในความครอบครองของกระทรวงต่างประเทศ จึงไม่สามารถที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนจึงได้ถามต่อว่าทำไมจึงปฏิเสธเช่นนี้ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เป็นการดำเนินการทางช่องทางการทูต ไม่ทำก็ถือว่าเป็นการขัดคำสั่ง ซึ่งได้รับคำตอบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้ดำเนินการทางการทูต ในส่วนนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญเขียนว่าเพื่อดำเนินทางการทูตด้วยหากไม่ได้สั่ง ตนจึงขอเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งให้ ทางปลัดกระทรวงต่างประเทศได้ส่งให้ดู และตนได้ตรวจสอบพร้อมให้ถ่ายไว้ ปรากฏว่าไม่มีในหมายเรียกของศาลรัฐธรรมนูญที่ 49/2563 ลงวันที่ 29 กันยายน 2563 หากเป็นเช่นนี้จริงกระทรวงต่างประเทศก็ไม่ผิด แต่ทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงเขียนไว้ในคำพิพากษา ตนคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้แจงในเรื่องนี้ให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งจะมีการสอบถามไปยังสำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญว่าตามหนังสือเรียกนี้จริงหรือไม่

“นายกฯ” ถก ศบค.16 ก.ค.นี้  “ประเมินแพร่ระบาด-การใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร็ว-จัดหา,บูสเตอร์,สลับสูตรวัคซีน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 )หรือศบค.ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริการสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ครั้งที่ 10/2564 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและ รมว.พลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว สาธารณสุข นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าฯกทม.ปลัดกทม.ผบ.ทหารสูงสุด อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) เลขาธิการองค์การเภสัชกรรม ( อภ.)เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม( สศช.) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ( สปสช.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข หัวหน้าทีมจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เอกชน นพ.อุดม คชินทร นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา จาก รพ.ศิริราช นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ จากรพ.จุฬาฯ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา รพ.รามาฯนพ.ยง ภู่วรวรรณ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวาระประชุม มีเรื่องประธานแจ้งที่ประชุมทราบ วาระพิจารณาใน4 เรื่อง ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 กระทรวงสาธารณสุข รายงาน คือ 1.การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดฯในห้วงปัจจุบันและวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต พร้อมข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการรองรับ 2.เรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด - 19แบบ Antigen Test Kit 3.มาตรการ บับเบิ้ล แอนด์ ซีล( Bubble and Seal )มาตรการรักษาตัวที่บ้าน ( Home Isolation )และศูนย์พักคอยในชุมชน( Community Isolation) และ4.ประเด็นเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งแนวทางการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร แนวทางการฉีดวัคชีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) แนวทางการจัดหาวัคซีน ทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือก รวมถึงแนวทางการแจกจ่ายวัคซีน และวาระอื่นๆ เป็นต้น

"ณัฐชา" อัด กองทัพ เตือนแล้วไม่ฟัง ดื้อเกณฑ์ทหารทำติดโควิดในค่ายอื้อ ชี้ เมื่อเกิดคลัสเตอร์ค่ายทหารก็ต้องล็อกดาวน์กองทัพ ไม่รับคนเพิ่ม-ปฏิรูปสร้างทหารชุดพิเศษสนับสนุนสาธารณสุข 

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่โฆษกกองทัพอากาศ ได้ยอมรับว่าภาพของพลทหารในค่ายติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 200 คน เป็นความจริง ว่า ตนได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่ามีทหารเกณฑ์ติดโควิด-19 ในกองทัพอากาศมากถึง 370 คน และทราบว่าหน่วยบัญชาการอากาศโยธินหน่วยเดียวก็ติดถึง 264 คนแล้ว โดยเบื้องต้นต้องให้กักตัวภายใน และมีการประสานกับทาง รพ.ภูมิพล เพื่อส่งพยาบาลมาดูแล สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะถูกส่งไป รพ.ภูมิพล ต่อไป ขณะนี้มีผู้ป่วยที่เชื้อลงปอดถูกส่งไปยังโรงพยาบาลแล้ว 3-4 ราย 

“สิ่งที่ผมกังวลและขอสอบถามไปยังผู้บังคับบัญชาของเหล่าพลทหาร คือ ท่านมีมาตราการในการรองรับผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมไว้อย่างไร และจะทราบได้อย่างไรว่าแต่ละคนที่ป่วยตอนนี้มีระดับความรุนแรงของโรคแค่ไหน เพราะในกรณีที่ไม่แสดงอาการใช่ว่าจะไม่มีความรุนแรงและไม่มีการลุกลามของเชื้อ การดูแลกันเองภายในค่ายทหารจากภาพที่เห็นในสื่อ แม้จะบอกว่าเป็นช่วงแรกและได้ปรับปรุงแล้วก็ตาม แต่ผมไม่มีความมั่นใจเลยว่าพลทหารที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง หรือจะปล่อยติด ปล่อยตาย เหลือเท่าไหร่เพื่อเช็กยอดส่งนาย กองทัพที่ได้รับงบประมาณไปมากมายในแต่ละปีไม่ควรบริหารแบบมักง่าย โดยไม่เห็นคุณค่าความเป็นคน หรือกระทั่งไม่เห็นคุณค่าของบุคลากรในกองทัพเอง ภาพที่ปรากฏนี้คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำสังคมได้เห็นกระจ่างชัดว่า สำหรับกองทัพและนายทหารผู้ใหญ่เขามองพลทหารว่าไร้ค่าและไร้เกียรติในสายตาเขาเพียงใด” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า สิ่งที่กังวลใจคือมาตรฐานการดูแลทหารเกณฑ์จากผู้บังคับบัญชาว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมโรคได้จริงหรือไม่ เพราะหากติดเชื้อและไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่มีอุปกรณ์ในการตรวจเช็คอาการเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน อีกทั้งเมื่อผู้ติดเชื้อรวมตัวกันเป็นจำนวนมากแต่การดูแลไม่ทั่วถึงดังภาพที่ปรากฏ แทนที่จะควบคุมโรคได้ก็จะกลายเป็นสถานที่เพาะเชื้อไปแทน จึงขอเรียกร้องให้ทุกกรมกองที่มีผู้ติดเชื้อต้องรวบรวมและรายงานผู้ติดเชื้อให้ส่วนกลางรับรู้ เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและทำการรักษาอย่างทันท่วงที และทหารเกณฑ์ทุกคนที่ติดเชื้อจะต้องได้รับการรักษาและสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ตลอดเวลา ส่วนกองทัพก็ต้องดูแลรับผิดชอบในการประกันสิทธิและสวัสดิภาพต่างๆ ให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิได้โดยสะดวก

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาก็ได้เคยเตือนไปหลายครั้งแล้วว่าอย่าอ้างความจำเป็นเร่งด่วนในการเกณฑ์ทหาร เพราะขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นใดที่จะเรียกรวมพลทหาร เพื่อนำคนจำนวนมากจากทั่วประเทศมารวมตัวกันในขณะที่มีสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องอีกครั้งว่าหากสถานการณ์โรคระบาดยังรุนแรงจะต้องไม่เรียกระดมทหารผลัดต่อไปอีก และให้ใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปกองทัพด้วยการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร แล้วหันมารับสมัครด้วยสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยทหารที่จะรับเข้ามาในรอบใหม่อาจเน้นไปที่การสร้างทหารชุดพิเศษเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ กองทัพสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องมองไปที่โหมดสงครามยึดพื้นที่หรือการต้องมีกองทัพขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ควรเป็นสมาร์ทกองทัพขนาดกะทัดรัดแต่มีคุณภาพสูง จะเหมาะสมมากกว่าในยามที่มีสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนต้องการให้ส่งทหารเกณฑ์ชุดนี้กลับบ้าน กองทัพต้องตระหนักได้แล้วว่าท่านไม่สามารถฝึกทหารในช่วงนี้ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเกณฑ์คนมาเพื่อเป็นผู้ป่วยที่ต้องดูแลไปเรื่อยๆ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน กลายเป็นเสียทั้งบุคลากรที่มี เสียทั้งงบประมาณ และยังจะสร้างคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นเป็นภาระทางสาธารณสุข เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นทุกที่ล้วนโดนล็อกดาวน์ คราวนี้มีการระบาดในค่ายทหารก็ถึงเวลาที่กองทัพควรล็อกดาวน์ตัวเองด้วย ต้องไม่รับเข้ามาเพิ่ม ทหารที่พบเชื้อก็ดูแลจนเขาหายดีก็ควรส่งกลับบ้าน ส่วนทหารที่ยังไม่พบเชื้อก็ควรเข้าสู่มาตรการกักตัว 14 วัน เมื่อตรวจคัดกรองแล้วว่าปลอดภัยก็จะสามารถคืนพวกเขาสู่ครอบครัว

“ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่และอันตรายที่สุดตอนนี้คือวิกฤตโควิดและการทำงานของรัฐบาลที่อ่อนแอ กองทัพจะฝึกให้คนใช้ปืนไปต่อสู้กับโควิดไม่ได้ ผู้มีอำนาจในกองทัพต้องอย่าหลอกตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำมันมีความสำคัญต่อสังคมตอนนี้ ผมย้ำอีกครั้งอย่าดันทุรังรวมพลในขณะนี้ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีข้าศึกใดที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงได้มากเท่ากับตัวพวกท่านเอง” นายณัฐชา กล่าว

ส.ส. ก้าวไกลจี้มาตรการเยียวยาของรัฐบาลไม่ถ้วนหน้า ไม่ทั่วถึง และ ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหาย ชี้ต้องขยายมาตรการช่วยเหลือรายย่อยมากกว่านี้ก่อนที่จะเหลือแต่ทุนใหญ่พร้อมกลืนเศรษฐกิจ

นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้ออกมาวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐบาล

นายวรภพกล่าวว่ามาตรการล่าสุด เน้นไปที่เยียวยานายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคม แต่ที่ผมมองว่ามาตรการนี้ยังตกหล่นและไม่เป็นธรรมจำนวนมากคือทั้ง ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่อยู่นอกระบบประกันสังคม และ การเยียวยาที่น้อยกว่าผลกระทบจากมาตรการของรัฐอยู่มาก

การเยียวยาของรัฐบาลรอบนี้คือ เยียวยาให้นายจ้างในระบบประกันสังคม 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้าง และลูกจ้าง 2,500 บาทต่อราย เมื่อรวมเงินจากประกันสังคมอยู่แล้ว 7,500 บาท ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจะได้ไม่เกิน 10,000 บาท

"สิ่งที่รัฐบาลควรทำ ที่ทางผมและพรรคก้าวไกล พยายามสื่อสารไปหลายครั้งว่า ทำไมไม่ชดเชยเยียวยา ผู้ประกอบการตามรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบนี้ไปเลย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ คนละครึ่ง/เราชนะ เพราะรัฐบาลก็มีข้อมูลรายได้ที่ลดลงไปแล้ว ถึงจะเป็นการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรม จากการให้ผู้ประกอบการร่วมมือกับมาตรการของรัฐ"

นายวรภพเสนอว่ามาตรการจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำในเวลานี้คือการพักชำระหนี้ไปอย่างน้อย 3 เดือน, กำหนดห้ามขับไล่ผู้เช่า 6 เดือนในช่วงที่สถานการณ์ยังวิกฤต, รวมทั้งช่วยเติมสภาพคล่องโดยอิงกับ ประวัติการจ่ายภาษีย้อนหลัง 10 ปี มาเป็นวงเงินกู้สำหรับธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและอยู่ในระบบภาษีสามารถรอดวิกฤตไปได้แน่ๆ

"ก่อนที่ SMEs จะล้มหายไปจากประเทศไทย และเหลือเพียงกลุ่มทุนใหญ่ ที่พร้อมจะกลืนกินเศรษฐกิจไทยไปมากกว่า รัฐบาลต้องขยายมาตรการช่วยเหลือรายย่อยมากกว่านี้!!" นายวรภพกล่าว

ด้านนายปกรณ์วุฒิ แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันว่า การเยียวยาครั้งนี้ ไม่ถ้วนหน้า ไม่ทั่วถึง และ ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งทีชัดเจนว่า เป็นการเยียวยาเนื่องมาจากการประกาศ เคอร์ฟิว และ ล็อกดาวน์ ครั้งล่าสุดเท่านั้น (มันคือการ ‘ล็อกดาวน์' ครับ เลิกเล่นคำกันเสียที)  แต่หลายๆธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนนั้น ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของรัฐมายาวนาน อย่างน้อยๆก็ 240วัน ในช่วง 15เดือนที่ผ่านมา  ซึ่งอีกสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้นึกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมาเลย

“มาตรการนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้บ้างไม่มากก็น้อย .. แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และยังทิ้งกลุ่มคนกลางคืนอีกกว่า 67 จังหวัด ไว้ข้างหลัง รวมถึงยังคิดไม่ครบถ้วนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน และทำให้บางธุรกิจที่ถูกผลกระทบจริง ไม่ได้รับการเหลียวแล “ ปกรณ์วุฒิ กล่าว

ข้อดีเดียว ที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาครั้งนี้ คือ จะมีการดึงแรงงานอิสระ เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากขึ้น เพื่อเป็นการติดตาม และช่วยเหลือ แรงงานอิสระ ที่เป็นสัดส่วนที่สูงมากของแรงงานทั้งหมดทั่วประเทศ และในอนาคต ฐานข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้รัฐสามารถติดตามช่วยเหลือแรงงานได้ในยามที่เกิดวิกฤติ

"ผมสนับสนุนให้แรงงานอิสระทุกคนเข้าร่วมลงทะเบียนประกันสังคม ใน ม.39 และ ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือกันถ้วนหน้า ทุกคน" นายปกรณ์วุฒิกล่าวทิ้งท้าย

"เลขานุการประธานสภาฯ" ยัน ส.ส.ที่ร่วมประชุมกมธ.ผ่านออนไลน์ หากครบองค์ มีสิทธิรับเบี้ยประชุมตามระเบียบ ย้ำ สภามีมาตรการเข้มป้องกันโควิด เชื่อ หากทุกคนปฏิบัติตามสามารถป้องกันได้ 

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตามระเบียบและกฎหมาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แม้ว่าจะประชุมผ่านระบบออนไลน์ แต่หากปฏิบัติครบตามขั้นตอน คือ เข้าร่วมประชุมและมีองค์ประชุมครบก็มีสิทธิที่จะรับเบี้ยประชุมโดยในการประชุม (กมธ.) มีค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท การประชุมอนุกมธ.มีค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 800 บาท เพราะต้องถือว่าเป็นการทำงาน แม้ว่าขณะนี้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่กมธ.บางคณะจำเป็นต้องทำงาน เนื่องจากมีเรื่องของกรอบเวลาในการทำงานและเพื่อความปลอดภัย จึงอาจต้องประชุมโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้แก้ไขเมื่อปี 2563 ให้ สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม พรรคก้าวไกล ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ตนได้ทราบมาว่านายณัฐชาติดเชื้อจากทนายความส่วนตัวซึ่งมาคุยงานที่รัฐสภา ไม่ได้ติดจากเจ้าหน้าที่รัฐสภา และความจริงแล้วทางรัฐสภาได้กำหนดมาตรการไว้แล้วว่า ในวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.สามารถนำผู้ติดตามมาได้เพียงคนเดียว รวมถึงจะต้องผ่านการคัดกรองตามมาตรการที่สภากำหนด ซึ่งเชื่อว่าหากทำตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กำหนด เชื่อว่าสามารถควบคุมและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากมีช่องโหว่ก็จำเป็นต้องป้องกันต่อไป

“ปิยะรัฐย์” ชี้หาก “บิ๊กตู่” ยังอยู่เชื่อประเทศไทยล่มสลายแน่ เผยโรงพยาบาลเชียงรายไม่รับตรวจหาเชื้อเหตุไม่เหลือเตียงรักษาแล้ว

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในพื้นที่เชียงรายรุนแรงมาก ทั้งนี้หากมีการตรวจเชิงรุกเชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะหลังมาตรการปิดแคมป์ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่าแรงานจำนวนมาก ไหลกลับพื้นที่ทั้งแรงงานคนไทยและแรงงานต่างด้าว เพราะเชียงรายเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจากมาตการดังกล่าวจึงเป็นการปล่อยให้ผู้ติดเชื้อนำเชื้อไปแพร่ในพื้นที่ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

นางสาวปิยะรัฐชย์ กล่าวด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถตรวจหาเชื้อได้เพราะโรงพยาบาลไม่รับตรวจหาเชื้อ เนื่องจากไม่มีเตียงรักษา ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลสนามก็เต็มไปด้วยผู้ป่วย ดังนั้นหากตรวจเชื้อพบจำเป็นต้องรักษาเป็นไปตามประกาศของรัฐบาล จึงเลือกไม่ตรวจดีกว่า

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศแบบไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไดรับผลประทบในทุกพื้นที่ ทำให้ทุกพื้นที่ของประเทศแปรสภาพจากวิกฤตสู่หายนะ ทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ เศรษฐกิจพังทั้งการค้าขายและการท่องเที่ยวเป็นทรุดจนยากจะกู้คืนได้ นอกจากนี้ยังทำลายระบบธารณสุขไทย จากอันดับ 6 ของโลกจนอับดับลดลงไปเรื่อยๆ และหากขืนอยู่ในตำแหน่งต่อไปคงทำลายประเทศอย่างย่าอยยับที่สุด” นางสาวปิยะรัฐชย์ กล่าว

กสม.แนะ รัฐบาลคุ้มครองสิทธิปชช.ในสถานการณ์โควิด-19 เน้นจัดสรรวัคซีนอย่างโปร่งใสให้ผู้ป่วยหนัก-บุคลากรทางการแพทย์

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีความรุนแรงและขยายตัวเป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข การดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป นั้น กสม. รับทราบถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลผ่านมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดยังมีแนวโน้มขยายวงกว้างและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กสม. มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว จึงขอเสนอแนะต่อรัฐบาลในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนี้

1.ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนด้วยการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนให้มากและเร็วที่สุด

2. การจัดสรรและจัดลำดับความสำคัญของวัคซีนควรทำโดยกระบวนการที่โปร่งใสตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก โดยเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิต บุคลากรด่านหน้าด้านสาธารณสุข รวมถึงกลุ่มเปราะบางทั้งหลาย เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้บ้าน คนไร้รัฐ และแรงงานนอกระบบ 3. ให้ปรับแผนการจัดหาวัคซีนให้ทันต่อสายพันธุ์ของโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเตรียมความพร้อมแผนการจัดสรรวัคซีนสำหรับการฉีดกระตุ้น (booster dose) ด้วย

4. จัดบริการตรวจเชิงรุกให้ครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มประชากรในพื้นที่เสี่ยง อาทิ ชุมชนแออัดใน กทม. และเขตปริมณฑล  และ 5.ให้ติดตามว่าประชาชนที่เดือดร้อนจากมาตรการควบคุมโรคได้รับการเยียวยาจากรัฐอย่างทั่วถึงหรือไม่ โดยอาจพิจารณากำหนดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่าย และเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชนโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ กสม. ตระหนักดีถึงความท้าทายในการบริหารจัดการเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 และขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ รวมทั้งขอให้กำลังใจประชาชนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้ายและยากลำบากในครั้งนี้

รองโฆษกอัยการเผย ยื่นฟ้อง 11 ผตห.เยาวชนปลดเเอก ผิด 116 ศาลอาญา ส่วนอีก 3 รายที่ไม่มาศาลเเยกฟ้องเตรียมประสาน ตร.ตามภานุมาศ-ทัดเทพ หลังเบี้ยวนัด

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง14 ราย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ,ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินฯเเบะความผิดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เเต่วันนี้มีผู้ต้องหาไม่ได้เดินทางมาตามนัดอัยการ 5 รายประกอบด้วย นายพริษฐ์ ,นายณัฐวุฒิ  ซึ่งอยู่ระหว่างกักตัวโควิด

เเละนายภาณุพงศ์ ติดรายงานตัวรับทราบคำสั่งอัยการที่ จ.ระยอง ส่วน นายภานุมาศ  เเละ นายทัตเทพ ไม่สามารถติดต่อได้จากนี้ก็จะประสานพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามมายื่นฟ้องต่อศาลต่อไป โดยวันนี้ทางพนักงานจะยื่นฟ้อง ผู้ต้องหาจำนวน 11 คนก่อนประกอบด้วยผู้ต้องหาที่มารายงานตัวกับ นายพริษฐ์เเละนายภาณุพงศ์ เนื่องจากตัวอยู่ในอำนาจศาลในคดีอื่น ส่วนอีก3 คนจะเเยกฟ้องในวันอื่นต่อไป

“บิ๊กตู่” ย้ำการจัดทำแผนพัฒนาภาคกลุ่มจังหวัดและจังหวัด เน้นสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดย นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาจังหวัด โดยการจัดทำแผนงานโครงการต้องคำนึงถึงศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ แผนงานโครงการต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมีการบูรณาการเชื่อมโยงการพัฒนาจากระดับบน (Top Down) สู่ระดับล่าง (Bottom Up) รวมทั้งกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในการจัดทำแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาจังหวัด ต้องปรับให้เข้ากับเกณฑ์ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการจะทำให้ประสบความสำเร็จ ต้องขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการที่ต้องลงไปยังพื้นที่ ทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน และการพัฒนาต้องเป็นการพัฒนาอย่างพุ่งเป้า เป็นไปตามศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ต้องมีการจัดเตรียมแผน จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนให้ดี ในการใช้งบประมาณต้องมีแผนการใช้งบประมาณในแผนเร่งด่วนตามกรอบระยะเวลา ที่ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า และปรับให้ตรงกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสถานการณ์โลก สถานการณ์ภายในประเทศ ที่สำคัญคือต้องทำให้สอดคล้องกับห้วงระยะเวลา โดยต้องมุ่งเป้าหมายไปที่การฟื้นฟูของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้โดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะต้องมีเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนาระดับความแตกต่างของรายได้ของประชาชน ของจังหวัด จีดีพีรายหัว ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ในวันนี้ต้องทำงานแนวเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น การจัดทำแผนงาน/โครงการต่าง ๆ จะต้องมีข้อมูลรายละเอียดที่เพียงพอ แผนปฏิบัติการต้องผ่านความเห็นชอบ ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการจังหวัด เสนอขึ้นมาผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ คัดกรอง ให้ได้ข้อยุติเป็นแผนที่สมบูรณ์ โดยรัฐบาลจะไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใดก็ตาม ทุกจังหวัดจะต้องได้รับความเท่าเทียมและเป็นธรรม เท่าเทียมในเรื่องของโอกาส เป็นธรรมก็คือจะต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยให้มากขึ้น ซึ่งในการจัดทำโครงการขอให้ทำให้ดีที่สุด เมื่อเสนอโครงการมาแล้วหากต้องส่งกลับไปใหม่ จะทำให้ล่าช้าไม่ทันการณ์ ฉะนั้น ท้องถิ่นและจังหวัดต้องตรวจสอบในเรื่องการจัดทำแผนงานโครงการให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ การทำงานใดก็ตามที่มีลักษณะการทำงานแบบเดิม ๆ จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นการทำงานเชิงรุก ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ รวมทั้งในโครงการจะต้องมีแผนหลัก แผนรอง แผนเผชิญเหตุ ให้พร้อมสำหรับการอนุมัติโครงการ ทุกจังหวัด ทุกกลุ่มจังหวัดต้องเตรียมการให้พร้อม กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนตามห้วงระยะเวลา รัฐบาลเน้นให้ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพ  

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (1) นโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566 - 2570 (2) หลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติราชการจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 (3) แนวทางการกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดปีละ 28,000 ล้านบาท (4) หลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2570 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (5) ร่างกรอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ทั้ง 6 ภาค และหลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นกรอบในการจัดทำและเสนอขอโครงการที่สนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (6) ปฏิทินการดำเนินงานภายใต้กลไก ก.บ.ภ.ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 (7) แนวปฏิบัติสำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กรณีการชำระเงินประกันค่าธรรมเนียมให้สถาบันอนุญาโตตุลาการในการฟ้องคดีโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยใช้เงินเหลือจ่าย และ (8) การขอโอนเปลี่ยนแปลงโครงการเพื่อชดเชยเงินถูกพับไปของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยจังหวัดเสนอคำขอเปลี่ยนแปลงเพื่อขอความเห็นจากคณะกรรมการบริหารงานจังหวัด/กลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการและจัดส่งคำขอเปลี่ยนแปลงโครงการภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการปรับปรุงตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ชุดใหม่ ที่ยึดโยงกรอบมิติการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ประกอบด้วย ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัด (32 ตัวชี้วัด) ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัด (15 ตัวชี้วัด) ทั้งนี้ จังหวัด กลุ่มจังหวัด และส่วนราชการ สามารถใช้ตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการวัดสถานะการพัฒนาพื้นที่เชิงเปรียบเทียบ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้ รวมทั้งชี้พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้กับส่วนราชการเพื่อนำไปกำหนดแผนงานโครงการได้อย่างชัดเจน 

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top