นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 10.9 ล้านโดส (Sinovac) กรอบวงเงิน 6,111.412 ล้านบาท โดยจะจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีอื่นและสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สูงกว่าควบคู่ไปด้วยในจำนวนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 10.9 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน ตามแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในส่วนที่เหลือเพื่อให้สามารถจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชนให้ครบ 150 ล้านโดส ภายในไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2565
รูปแบบโครงการฯ เป็นการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่บุคลากรและประชาชนกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 2. ประชาชนที่มีโรคประจำตัวตามที่กำหนด 3. ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด -19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน (กรกฎาคม-สิงหาคม)
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคกำหนดจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในเดือนกรกรกฎาคม จำนวน 3,894.8000 ล้านบาทและเดือนสิงหาคม จำนวน 2,169.9600 ล้านบาท โดยมีค่าบริการจัดการวัคซีนโควิด-19 และในส่วนที่เกี่ยวข้องอีก 46.6520 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,111.4120 ล้านบาท
“สำหรับวัคซีนจากบริษัท Sinovac จำนวน 10.9 ล้านโดส เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาล สร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย/เสียชีวิต รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย”
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมครม. ยังเห็นชอบวัคซีน “ไฟเซอร์” (Pfizer) ซึ่งเป็นวัคซีนหลักฉีดฟรีให้ประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายอธิบดีกรมควบคุมโรคดำเนินการ และนำข้อสังเกตของอัยการสูงสุด ไปการเจรจาจัดหา จำนวน 20 ล้านโด๊ส แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในสัญญาได้ รวมถึงการรับมอบวัคซีนบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบจัดซื้อวัคซีน “โมเดอร์น่า” (Moderna) ซึ่งวัคซีนทางเลือก โดยซื้อกับเอกชน ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข ให้องค์การเภสัช เป็นตัวกลางจัดหา และผู้อำนวยการองค์การเภสัช (อภ.) เป็นผู้ลงนามในสัญญา ซึ่งยังไม่ได้ระบุจำนวน รอยืนยันยอดจัดซื้อจากเอกชนก่อน ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะได้ข้อสรุป