นายวาซิลี พุชคอฟ ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของสำนักข่าว SPUTNIK กล่าวในงานสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 'AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่' ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย, สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย และวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ ว่า ปัจจุบัน บริบทของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน กำลังเข้าสู่ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สื่อยักษ์ใหญ่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยในอนาคตอันใกล้นี้
อีกทั้ง อยู่ที่ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อ ที่จะกำหนดทิศทางว่าจะเป็นไปอย่างไร เพราะไม่ว่าประเทศไหนในโลกไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย หรือสหรัฐ อเมริกา ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
อย่างที่ทราบกันดีว่า ในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนในยุคที่ผ่านมานั้น จะใช้วิธีให้ผู้สื่อข่าวส่งข่าวเข้ามาสู่ถังข่าว หรือการซื้อข่าวจากสำนักข่าวต่าง เพื่อนำมาเสนอต่อ ซึ่งปัจจุบันวิธีการแบบนี้เริ่มไม่เป็นที่นิยม เพราะขาดทุน จากต้นทุนที่ซื้อขึ้น และไม่มีใครอยากจะซื้อข่าวกันแล้ว ดังนั้นการจะจ้างบุคลากรผลิตข่าวจากทั่วโลกจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปและแน่นอนว่า วิชาชีพสื่อสารมวลชนจึงไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป โดยเห็นได้จากการที่สำนักข่าวหลายแห่งในระดับโลกที่ปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ SPUTNIK เป็นสำนักข่าวที่รัฐให้เงินทุนสนับสนุน เพราะต้องยอมรับว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ เป็นเรื่องยากที่จะหาเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งเงินสนับสนุนจากรัฐ ในขณะเดียวกัน ก็มีเทคโนโลยีใหม่ในการติดตามข่าวไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์หรือโทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทาง SPUTNIK ได้ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากในการลงทุนพัฒนาสื่อในช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือโทรศัพท์มือถือ ในรูปแบบ Mobile Application เพื่อให้บริการถึง 30 ภาษา
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้พัฒนาสื่อช่องทางออนไลน์มาหลายปี จึงได้พบข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีใครที่จะติดตามสื่อออนไลน์ รวมถึงการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำนักข่าวไว้ในมือถือ ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลกที่ไม่พึ่งการหาข่าวจากช่องทางนี้ช่องทางเดียวอีกแล้ว
“กล่าวได้ว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเลยสำหรับ SPUTNIK ที่ลงทุนไปกับการพัฒนา Mobile Application และการพัฒนาเว็บไซต์ เพราะไม่มีใครใช้ตามที่ประเมินไว้ ส่วนช่องทางโซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางที่ไม่ต้องเสียเงิน แต่ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า โซเชียลมีเดียก็มีเจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งก็เป็นเรื่องของธุรกิจ จึงไม่มีความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวสาร เพราะต้องยึดตามกฎที่เจ้าของแพลตฟอร์มนั้นๆ ตั้งไว้”
นอกจากนี้ ในศตวรรษที่ 21 นี้ เทคโนโลยี AI ยังได้สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มช่างภาพ ดีไซน์ และแปลข่าว ซึ่งเทคโนโลยี AI สามารถทำหน้าที่แทนได้แล้วในระดับหนึ่ง
และหากมองถึงในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร เทียบประเทศไทยกับรัสเซีย จะเห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้า แต่ก็ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่บ้าง ดังที่เห็นได้จากการยังคงมีหนังสือพิมพ์อยู่ ในขณะที่ในมอสโกแทบจะไม่มีหนังสือพิมพ์วางขายแล้ว โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดที่สำนักพิมพ์เกือบทั้งหมดยุติการพิมพ์ไปแล้ว
หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ก็แทบจะไม่ดูกันแล้วในรัสเซีย อาจจะมีเพียงกลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้นที่ยังคงดูข่าวผ่านโทรทัศน์อยู่ โดยหันมาใช้โปรแกรม Telegram ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลาย ซึ่งสื่อในประเทศรัสเซียทุกรายจะต้องมีช่องทาง Telegram ไม่เช่นนั้นจะไม่มีตัวตนอยู่บนสารบบสื่อ
เพราะฉะนั้น ในวงการสื่อสารมวลชนแทบจะไม่มีอะไรแน่นอน และอาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุนใหม่ๆ ในวงการสื่อ หรือแม้แต่การลงทุนด้าน Ai ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตจะสามารถตอบโจทย์ในแง่ของการนำเสนอข่าวได้หรือ ไม่อีกทั้งยังพบว่า AI เป็นความท้าทายและมีปัญหาอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการใช้ทำข่าวปลอม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ถ้ามองโลกในแง่ดีก็คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ ๆ แต่หากมองในแง่ร้าย ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งนี้กำลังจะทำลายวงการสื่อสารมวลชนได้เช่นเดียวกัน
“สำหรับในส่วนของการนำเสนอข่าวของ SPUTNIK นั้น จะมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะนำเสนอข่าวออกไป โดยยึดมั่นในข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญ โดยบรรณาธิการข่าวแต่ละคนจะต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ เพื่อป้องกันการนำเสนอข่าวปลอมที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นๆ และจะต้องไม่รับฟังแค่ข่าวด้านเดียว ต้องฟังอย่างรอบด้านก่อนจะนำเสนอออกไป เพราะบางครั้งข่าวที่ได้รับมานั้นก็ไม่ใช่ข่าวปลอมไปทั้งหมด แต่เป็นการหยิบเอามานำเสนอในมุมของสื่อนั้นๆ มากกว่า เช่น สื่อรัสเซียนำเสนอในแง่มุมนี้ ส่วนสื่อตะวันตกหรือสหรัฐฯ อาจจะเสนอในมุมที่แตกต่างกันไป ในข่าวชิ้นเดียวกันนั้น เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ว่า เทคโนโลยี AI อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่ออย่างหนัก แต่เชื่อว่าสิ่งที่มนุษย์เหนือกว่า ก็คือการปรับตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้เป็นอย่างดีมาตลอดนั่นเอง”