Thursday, 8 May 2025
NEWS FEED

‘แพนด้าสุกี้’ ร้านอาหารบุฟเฟต์ชื่อดัง ประกาศปิดกิจการ ชาวโซเชียลบ่นเสียดาย เปิดถึงวันสุดท้าย 9 มิ.ย.นี้

(25 พ.ค.67) เป็นอีกข่าวเศร้าของคนวงการบุฟเฟต์ เมื่อเพจ 'แพนด้า สุกี้ เรสเทอรอง Panda Suki Restaurant' ประกาศปิดกิจการ โดยจะเปิดให้บริการวันสุดท้าย 9 มิ.ย.2567

โดยในเพจ แพนด้า สุกี้ เรสเทอรอง Panda Suki Restaurant ระบุว่า ประกาศปิดกิจการ เปิดให้บริการวันสุดท้าย 9 มิถุนายน 2567 กราบเรียนคุณลูกค้าทุกท่าน แพนด้าสุกี้ขอขอบพระคุณลูกค้าทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีตลอดมา ทางร้านขอเปิดให้บริการถึง วันที่ 9 มิถุนายน 2567 เป็นวันสุดท้าย

สำหรับแพนด้า สุกี้ เรสเทอรอง เป็นร้านบุฟเฟต์ อิ่มไม่อั้น กว่า 40 เมนู เพียง 218+ น้ำซุปรสชาติในตำนาน ขวัญใจใครหลายๆคน ฟินกับ กุ้งแกะมาให้แล้ว พร้อมทาน ของหวานไอติม อร่อยทุกรสชาติ

หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่มีลูกค้าเข้ามาคอมเมนต์แสดงความเสียใจจำนวนมาก อาทิ

เป็นลูกค้ามาตั้งแต่สมัยเด็กน้อย จนล่วงเลยผ่านวัยกลางคน ขอบคุณที่ตั้งใจทำอาหารอร่อยๆ แบบนี้ ให้ได้ทานนะครับ

เสียดายมาก เป็นร้านที่ทานบ่อยสุดในครึ่งปีมาเลย เพิ่งทำร้านใหม่แท้ๆ ผมว่า ทำเลไม่ดี เลยขาดลูกค้าขาจร ต้องอาศัยปากต่อปาก ให้กำลังใจนะครับ ถ้ากลับมาเมื่อไหร่ก็จะไปทานเหมือนเดิม

เสียใจจังเลยยังไม่ได้ไปลองกินเลย ดูแต่รีวิวน่ากินมากๆ ขอให้กิจการกลับมาฟื้นตัวและเสิร์ฟความอร่อยใหม่อีกครั้งนะคะ

หนุ่มร้องซื้อ ‘บ้านหรู 25 ล้าน’ เจอหลังคารั่ว ทางโครงการโยนให้คุย ‘ผู้รับเหมา’ ระบุ!! เป็นปัญหาจากซัพพลายเออร์ที่ทำหลังคา ให้ ‘เจ้าของบ้าน’ จ่ายค่าซ่อมเอง

(25 พ.ค.67) คุณปาล์ม (นามสมมติ) เจ้าของบ้านหรู ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการซื้อบ้านหรู ราคาหลังละ 25.9 ล้านบาท จากโครงการดังแห่งหนึ่ง ย่านพระราม 9 -รามคำแหง แต่กลับเผชิญปัญหาหลังคารั่วตั้งแต่ปีแรกที่เข้าอยู่ จนตอนนี้เข้าปีที่ 3 ทุกครั้งที่ฝนตก ก็ยังเจอปัญหาหลังคารั่ว ลงมาบนฝ้า บางครั้งเหมือนมีน้ำตกในบ้าน

คุณปาล์ม กล่าวว่า เมื่อติดต่อกับทางประชาสัมพันธ์เจ้าของโครงการ ระบุว่าเป็นปัญหาจากซัพพลายเออร์ ที่ทำหลังคา จะติดต่อมาพบ เพื่อแก้ไข แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เจ้าของบ้านต้องรับผิดชอบเอง เนื่องจากหลังคาจะรับประกันแค่ 1 ปี มีเพียงโครงสร้างบ้านเท่านั้นที่รับประกัน

จึงกลายเป็นคำถามว่า ตอนที่สร้างบ้านโครงการไปจ้างผู้รับเหมามาทำ โดยที่ลูกค้าไม่ได้รู้เรื่องด้วย แต่พอมีปัญหา กลับโยนมาให้ลูกบ้านที่เป็นลูกค้ารับผิดชอบเอง มันถูกต้องหรือไม่อย่างไร

“บ้านหลังนี้มีเนื้อที่ 112 ตารางวา ราคา 25.9 ล้านบาท แต่แค่ความปลอดภัยเรื่องหลังคาที่ควรจะกันน้ำยังทำไม่ได้ เข้ามาอยู่ปีแรก ก็รั่ว ห้องน้ำข้างบนมีทั้งหมด 4 ห้องรั่วหมด เรียกช่างมาดูบอกลืมทากันซึม แก้ไขแล้ว ก็ไม่จบ หน้าฝนปีที่ 2 ก็รั่วอีก แก้ไข บอกกาวที่ใช้หมดอายุ มาปีนี้ ที่ห้องน้ำห้องนอนใหญ่ ก็รั่วจนฝ้าเละไปหมด โทรศัพท์ไปถามก็บ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบ บอกต้องดูแลตัวเอง จะช่วยแค่ประสานงานให้ เลยสงสัยว่าเราลงทุนซื้อบ้านราคานี้ ต้องมาเจอกับเรื่องพวกนี้ตลอดเหรอ แล้วบ้านหลังอื่นเขาไม่มีปัญหา หรือมีแต่เราเท่านั้นที่โชคร้าย” เจ้าของบ้านหรูกล่าว

คุณปาล์ม กล่าวว่า ที่ต้องออกมาร้องเรียน ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความรับผิดชอบ เราลงทุนซื้อบ้านราคาหลังละ 20 กว่าล้าน ก็ต้องการทำเลที่ดี ผู้คนที่ดี สังคมแวดล้อมที่ดี ไม่ใช่ว่าอยู่บ้าน ฝนตกก็ต้องผวา ไม่อยู่บ้าน กลับมามีน้ำตกในบ้าน น้ำเจิ่งนอง ก็อยากให้โครงการคิดถึงใจเขาใจเราบ้าง ไม่ใช่ขายแล้วก็ขายไป ไม่ต้องติดต่อไม่สนใจกันอีก ที่เหลือให้ลูกบ้านไปดูแลตัวเอง จะเสียหายถึงแบรนด์และความน่าเชื่อถือของโครงการ

'วิทยุการบินฯ' เผยความพร้อมบริการในสถานการณ์ 'ปกติ-ฉุกเฉิน' ตัวแปรสำคัญผลักดันไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค

(25 พ.ค.67) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าได้รับรายงานกรณีเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ SQ 321 ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์และขอลงฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งประสานหน่วยงานภาคพื้นให้เข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานการบินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงคำชื่นชมจากรัฐบาลสิงคโปร์และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า บวท. มีความพร้อมในการให้บริการจราจรทางอากาศได้เป็นอย่างดี ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน 

นอกจากนั้นเรื่องความพร้อมในการศูนย์กลางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล บวท. ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการให้บริการการเดินอากาศ เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินให้ได้สูงสุด และเป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมบูรณาการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อผลักดันการขนส่งทางอากาศของประเทศให้เป็นที่ยอมรับ โดยมุ่งมั่นรักษามาตรฐานการบริการการเดินอากาศของประเทศให้อยู่ในระดับสากล 

นอกจากนี้ ได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการการเดินอากาศและเพิ่มศักยภาพการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องการเปิดดำเนินงาน 24 ชั่วโมง ของสนามบิน เชียงใหม่, เชียงราย และหาดใหญ่ อีกทั้งยังมีแผนการขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ได้แก่ การจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route เพิ่มเติมขึ้นจากในปัจจุบันที่เป็นแบบเส้นทางบินเดียว หรือ One way route รวมทั้งการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างห้วงอากาศและเส้นทางบิน เข้า-ออก สำหรับกลุ่มสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศสูง หรือ Metroplex จำนวน 3 กลุ่มสนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต กระบี่ อันดามัน (พังงา) และ กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ ลำปาง ล้านนา (ลำพูน) ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทย มีศักยภาพสูงมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้เข้ามาใช้งาน เช่น ระบบหอบังคับ การบินอัจฉริยะ ระบบเชื่อมต่อข้อมูล การบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และระบบการเดินอากาศด้วยดาวเทียม เป็นต้น 

ในขณะเดียวกัน บวท. ยังได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทหารและพลเรือน เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้งานห้วงอากาศของประเทศร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ยังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทางการบินต่าง ๆ เพื่อยกระดับภาคการบินของประเทศ พร้อมรองรับการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

ชลบุรี-กฟผ. จับมือ เมืองพัทยา และ ทช. วางปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และทรัพยากรทางทะเล

เมื่อวันที่ (24 พ.ค.67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ เมืองพัทยา และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมวางฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการบ้านปลาปะการังเทียม จากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ของ กฟผ. โดยมี นายเกียรติศักดิ์ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เป็นประธาน พร้อมด้วย น.ส.สุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ทช. รวมทั้งส่วนราชการจังหวัดชลบุรี นักดำน้ำ กฟผ. และผู้ปฏิบัติงาน ทช. เข้าร่วมกิจกรรม ณ ท่าเทียบเรือกู้ภัยแหลมบาลีฮาย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ทช. กล่าวว่า ทช. และ กฟผ. ได้ร่วมกันฟื้นฟูท้องทะเลไทยทั่วประเทศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เกิดระบบนิเวศแก่สิ่งมีชีวิตบริเวณแนวปะการังในโครงการบ้านปลา กฟผ. โดย กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานมาทำเป็นฐานลงเกาะปะการังและนำไปวางในท้องทะเล เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลบริเวณเกาะล้านให้อุดมสมบูรณ์ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์ทะเล รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลเชิงอนุรักษ์

น.ส.สุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร นำปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไปวางไว้ใต้ท้องทะเลไทยตั้งแต่ปี 2554 ทั้งพื้นที่จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 ชุด สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ กฟผ. ได้ส่งมอบฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าให้แก่ ทช. และเมืองพัทยา รวมทั้งสิ้น 200 ชุด ซึ่งลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเป็นหนึ่งอุปกรณ์สำคัญของการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ในแต่ละปีจะมีลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานเป็นจำนวนมาก กฟผ. ได้คิดค้นหาวิธีนำอุปกรณ์นี้มาใช้ประโยชน์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางหนึ่งคือ นำมาทำเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล  สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

‘SIR’ เผย ผลจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัย ในระดับนานาชาติ ชี้!! ‘วิศวกรรมโยธา พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง’ ครองอันดับ 1

(25 พ.ค. 67) ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง เผยผลจากจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยที่เปิดสอนด้านวิศวกรรมโยธาและโครงสร้าง จาก SCImago Institutions Rankings (SIR) อยู่ในอันดับ 1 ในปี 2567 ซึ่งโดดเด่นด้านวิศวกรรมโยธาและโครงสร้าง ที่เด็กอยากเข้าเรียนมากที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันเนื่องจากสถานการณ์ที่ประเทศประสบปัญหาทางด้านการก่อสร้างที่เปลี่ยนไป ทางภาควิชาวิศวกรรมโยธาจึงได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาหลักสูตรจากหลักสูตรวิศวกรรมการก่อสร้างเป็นหลักสูตรวิศวกรรมโยธา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ภาควิชาวิศวกรรมโยธา’

จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาหลักจะเป็นการคำนวณ การวิเคราะห์ การออกแบบ และด้านการบริหารการก่อสร้าง รวมทั้ง มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านอุปกรณ์การเรียน การสอน การวิจัย ทําให้บัณฑิตที่จบการศึกษา เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี

รศ.ดร.ชลิดา อู่ตะเภา หัวหน้าภาควิชาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ภาควิชาได้ดําเนินการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยในด้านวิศวกรรมโยธาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถผลิตวิศวกรโยธาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการก่อสร้าง การบริหาร สิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์และออกแบบคํานวณ การพัฒนาด้านวัสดุ เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย โดยมีแขนงวิชาในหลักสูตร ประกอบด้วย วิศวกรรมชลศาสตร์, การสํารวจ, การบริหารงานก่อสร้าง, วิศวกรรมการขนส่งและจราจร, วิศวกรรมแหล่งนํ้า, วิศวกรรมโครงสร้าง, คอนกรีตเสริมเหล็ก, ไม้และเหล็ก นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอก ภาคอุตสาหกรรม โดยเราสอนทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้นดังนั้นบัณฑิตที่จบไปจึงสามารถทำงานได้ทันที

วิศวกรรมโยธา เป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งรอบตัว ทั้งการก่อสร้างถนน สะพาน อุโมงค์ ซึ่งทักษะสำคัญเบื้องต้น ผู้เรียนต้องคำนวณได้ระดับหนึ่ง รู้เรื่องกฎหมาย หรือพ.ร.บ.เกี่ยวกับการก่อสร้าง การทำงานอยู่ในกรอบและกฎระเบียบ มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้คนที่เกี่ยวข้องล้วนให้ความไว้วางใจให้ดูแลความปลอดภัย การทำงานจึงต้องอดทนได้ทุกสภาพแวดล้อม ทั้งอากาศและฝนตก และอาจจะมีความเสี่ยงระหว่างการทำงาน

โดย SCImago Institutions Rankings (SIR) เป็นหน่วยงานการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งดำเนินการจัดอันดับองค์กรที่มีผลงานวิจัยทั่วโลก 7,533 แห่งทั่วโลก ซึ่งจะไม่ได้นับเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่จะนับรวมสถาบันเฉพาะทางด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยี วิทยาลัย โรงพยาบาล สถาบันวิจัย เป็นต้น ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยรวมทั้งสถาบันวิจัยในแง่ของความสามารถในการเผยแพร่ผลงานวิชาการทุกประเภทของสถาบัน หรือมหาวิทยาลัยบนฐานข้อมูล

กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดรับสมัครพนักงานราชการ ตำแหน่งเจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา 1 อัตรา

พล.ต.ต.หญิง สมพร พูลเกษม ผู้บังคับการกองสารนิเทศ เปิดเผยว่า กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งเจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา จำนวน 1 อัตรา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำกองสารนิเทศ

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 , ปวช. , ปวส. หรืออนุปริญญา มีสัญชาติไทย อายุระหว่าง 18 – 35 ปี โดยขอรับใบสมัครและยื่นใบสมัครด้วยตัวเองที่ฝ่ายอำนวยการ กองสารนิเทศ อาคาร 12 ชั้น 3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ.พระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 22 – 30 พฤษภาคม 2567 ในวันและเวลาราชการ
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายอำนวยการ กองสารนิเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2205 1004 หรือทางเว็บไซต์ https://saranitet.police.go.th

ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ รับคณะ หลักสูตร ผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า

'พลเรือตรี วสุธา ข่ายแก้ว' ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นประธานให้การต้อนรับคณะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นพิเศษ 1 (ปธพ.Executive ) และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 (ปนพ.1) พร้อมคณาจารย์จากสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สถาบันมหิตลาธิเบศร ในโอกาสเข้าศึกษาดูงาน 

พร้อมรับฟังการบรรยายและเยี่ยมชมศูนย์รักษาสายตาศรีศิริ ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูงและอาศรมหมอพร อาคารเรียนรู้เรื่องการแพทย์บูรณาการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ณ ห้องประชุม พลเรือตรี เล็ก สุมิตร ชั้น 5 อาคารพิเคราะห์และบำบัดโรค รพ.ฯ  เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567

สมาคมนายทหารนอกประจำการ ร่วมสวดพระ อภิธรรม 'พลเอกวัฒนชัย วุฒิศิริ'

เมื่อวันที่ (24 พ.ค.67) พลเอกวินัย ภัททิยกุล นายกสมาคมนายทหารนอกประจำการ พร้อมทั้งคณะกรรมการ ร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม พลเอกวัฒนชัย วุฒิศิริ อดีตรัฐมนตรี ช่วยว่าการ กระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตนายกสมาคม นายทหารนอกประจำการ ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร ศาลา 9 กรุงเทพฯ 

คณะ สวปอ.มส.รุ่นที่ 9 มอบเงิน สมาคมภริยาทหารเรือ

คณะกรนมการรุ่น หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 (สวปอ.มส.9) โดย นพ.ไพศาล รัมณีย์ธร ประธานรุ่น เข้ามอบเงินบริจาคเพื่อสังคม (CSR) ครั้งที่ 2 ให้คุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลทหารเรือฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาค 2 ในการบริการสุขภาพแก่กำลังพลกองทัพเรือและครอบครัว อีกทั้งประชาชนในพื้นที่

โดยมีคณะกรรมการรุ่นเข้าร่วมด้วย ได้แก่ คุณทัศนีย์ เมธยาภา คุณสุกิจ รัตนวิบูลย์ คุณธัญญมน ศรีผ่าน เรือเอก ภก.ชิดชนกสิทธิ์ วัฒนศิริธร เป็นต้น

กะเทาะแก่น 7 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านเลนส์ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ‘เครื่องมือ-ความหวัง’ ขับเคลื่อนอากาศเมืองไทยให้บริสุทธิ์

เมื่อไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ ‘รู้ ช่อง ส่อง กฎหมาย (สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา)’ ได้เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่ ในประเด็น ‘ความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …’ โดยได้พูดคุยกับ นายธีรพัฒน์ พิเชษฐวงศ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานกฎหมาย 1 พร้อมด้วย นางพัชรา พุกเศรษฐี วิทยากรชำนาญการพิเศษ และ นายอมร สุวรรณโรจน์ นิติกรชำนาญการ

>> คำถามที่ 1 ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ฉบับที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการในทํานองเดียวกันอีกจํานวน 6 ฉบับอย่างไร?

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้ ล้วนเป็นความหวังและเป็นเครื่องมือ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับที่กล่าวมา มีสถานภาพเป็น 2 อย่าง (ความหวัง และ เครื่องมือ) หลายครั้งที่ร่างกฎหมายเข้าผ่านสภาไป หวังว่าจะเป็นแค่เครื่องมือเฉย ๆ บางครั้งบางหน่วยงานมักจะบอกว่าทําเรื่องนี้ไม่ถนัด เพราะขาดอํานาจทางกฎหมาย หรือยังไม่มีหลักการที่กําหนดเอาไว้โดยตรง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่ สามารถไปดำเนินการได้ เมื่อมาขอฝ่ายนิติบัญญัติ สภาก็พิจารณาให้ แบบนี้แปลว่าทํากฎหมายให้เป็นเครื่องมือ 

ส่วนแบบที่ 2 จะแตกต่างจากแบบแรก เราจะเห็นว่า 7 ร่างฯ มาจากคนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่เข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมาย จากรัฐบาลมาในนามของร่างคณะรัฐมนตรี และร่างที่มาจากพรรคการเมือง เนื้อหาในร่างฯ ไม่ได้แตกต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของผู้เสนอร่างฯ นั้นๆ ว่าไม่ค้าน สังเกตว่าทั้ง 7 ร่างฯ ที่เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง รับหลักการโดยถ้วนหน้า แม้จะอภิปรายกันเยอะ แต่ว่ารับหลักการโดยถ้วนหน้า 

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็แปลว่ามันแสดงถึงสัญลักษณ์ ‘เป็นความหวัง’ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือด้วยซ้ำไป ส่วนในเรื่องของเครื่องมือ จาก 7 ร่างฯ ที่กล่าวมา หากอ่านรายละเอียดเปรียบเทียบทั้งหมด คือกฎหมายเพื่อการตั้งสมมติฐาน 4 เรื่อง ได้แก่…

🟢1.อาศัยอํานาจของหลาย ๆ กฎหมาย และหลาย ๆ คณะกรรมการที่มีอยู่แล้วก่อนมีพระราชบัญญัตินี้ นำมากองรวมกัน และคณะใดคณะหนึ่งมีอํานาจในการสื่อสารและมอบหมายให้แต่ละคณะไปมีมติสอดคล้องหรือดึงกฎหมายที่มีผูกรวมกัน แล้วนำไปดําเนินการได้ แปลว่าเป็นการรวมหลาย ๆ เครื่องมือที่ขนาดต่างกันมากองรวมกัน 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลาที่เกิดปัญหา ‘อากาศสะอาด’ ก็มักไปใช้ยืมอํานาจพระราชบัญญัติการสาธารณสุข หรือยืมอํานาจของป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของมหาดไทย ซึ่งไว้ใช้ประกาศเขตภัยพิบัติ เมื่อประกาศแล้วจะทําให้สามารถหยิบเงินออกมาเยียวยาผู้คนได้ แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่า ประกาศกว้างแค่ไหน? เพราะว่าอากาศสะอาด มีปัญหาเรื่องการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก ไม่เหมือนน้ำท่วม ที่สามารถรู้จุดเกิดเหตุได้แน่ชัด แต่พอเป็นอากาศสะอาดจะพูดยาก ส่งผลให้เขาประกาศได้น้อย 

ส่วนมากจะใช้ 2 พระราชบัญญัติที่กล่าวไป แต่ในความเป็นจริง มีกฎหมายอื่น ๆ อีก แต่ต้องไปอาศัยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ คณะกรรมการอุทยาน คณะกรรมการที่เกี่ยวกับเรื่องของการจัดการที่ดิน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่ถามว่าคณะฯ เหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องอากาศสะอาดหรือไม่? เขาอาจจะไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าหากเชื่อมเข้ามาได้ ก็จะสามารถหยิบยืมองคาพยพที่มีมาช่วยทํา ‘อากาศสะอาด’ ได้

ส่วนเรื่องการบูรณาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ระบุไว้อย่างน้อย 3 ระดับ ได้แก่

(1) ระดับนโยบายสูงสุด นายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแลที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด 

(2) ระดับคณะกรรมการที่เป็น วอร์รูมแห่งชาติ (ในบางร่าง) เสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นประธานฯ แต่บางร่าง ระบุว่า ไม่เอารัฐมนตรี แต่ให้อำนาจปลัดกระทรวงฯ มานั่งเป็นประธานฯ ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นมืออาชีพด้านนี้

(3) ระดับพื้นที่ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ที่แบ่งเป็นเขตหรือจังหวัด และพื้นที่ที่กําหนดเฉพาะ เช่น ลุ่มอากาศ ร่องน้ำ ชายแดน เป็นต้น

🟢2.แทบทุกร่างจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อให้ฝ่ายตุลาการในอนาคต หากมีคดีสิ่งแวดล้อมที่ไปกระทบผู้อื่น เรื่องนี้มีการพูดถึงมานาน เรียกว่า Polluters Pay Principle: PPP แปลว่าผู้ใดก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อสิ่งแวดล้อม ผู้นั้นต้องมีภาระในการจ่าย แต่ว่าภาระพิสูจน์สําหรับผู้ที่ไปก่อ ไม่อยู่กับผู้ก่อเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่า ‘ผู้เดือดร้อน’ ต้องไปพิสูจน์ต่อศาลเองว่าได้รับผลกระทบมาอย่างไรบ้าง ซึ่งการพิสูจน์นี้มีต้นทุนสูง แต่ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคน (มากกว่า 1 คน) ก็ต้องไปหาเอกสารวิชาการมายืนยัน และใช้เวลานาน

แต่สิ่งที่จะช่วยบรรเทาเรื่องตรงนี้ไปได้คือ ‘ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์’ ซึ่งจะรวมตั้งแต่เรื่องของข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ลมพัดพาฝุ่นหรืออากาศไม่สะอาด หรือรวมถึงเรื่องกลิ่น สารเคมีในอากาศว่ามันพัดพาไปทางไหน มีจุดความร้อน มีรอยไหม้ หรือมีข้อมูลหลักฐานว่ามีจุดรั่วของสิ่งที่ทําให้อากาศไม่สะอาดมาจากตรงไหน ขอแค่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่า ‘ไม่ต้องพิสูจน์’ แล้วว่าเสียหายหรือไม่ เหลือแค่พิสูจน์ว่าเสียหายเท่าไหร่ และหากเกิดในพื้นที่ของใครก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะภาพจากดาวเทียมมันชี้ชัด จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

🟢3. PM 2.5 ในปัจจุบันเป็นตัวชี้ที่เห็นว่าคนไทยเสียชีวิตสูงมาก เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมะเร็งในทางเดินหายใจ สูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดลําพูน ภาคกลาง เช่น กรุงเทพมหานคร สถิติทิ้งห่างภาคอื่น ๆ เรื่องการห้ามจุดไฟเผา ก็ห้ามกันมาหลายปี แล้วแต่ไม่เกิดผล หรือจะเป็นการ ‘ชิงเผา’ เพื่อจะได้จัดการกับเชื้อไฟในช่วงก่อนที่อากาศมันจะปิด เพราะว่าพอความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาประเทศไทย ทําให้เพดานเตี้ย เมื่อเพดานเตี้ย หากมีควันมันก็จะอบอวล 

ในเรื่องการ ‘ชิงเผา’ ก็มีปัญหาและคำถามว่ากระบวนการจัดการชิงเผาได้ประสิทธิภาพหรือเปล่า และเมื่อมีคนเริ่มชิงเผาอย่างเป็นทางการ ก็จะมีคนแอบเผาต่อเนื่องกันไป เราเห็นข้อมูลจากดาวเทียมและเป็นข้อมูลยืนยันย้อนหลัง 20 ปี ทำให้เห็นเลยว่าพื้นที่ใดบ้างที่เกิดปัญหาซ้ำซาก (เผาใหญ่ 5 ครั้งต่อปี) ตัวเลขระบุเลยว่า 64% ของ 20 ปีที่ผ่านมาที่เป็นจุดความร้อนเกิดขึ้นอยู่ในเขตป่า เขตป่าอนุรักษ์ เขตห้ามล่า เขตอุทยานแห่งชาติ รองลงมาคือป่าเสื่อมโทรม ป่าเศรษฐกิจ ป่าของกรมป่าไม้ ส่วนอีก 24% เกิดอยู่ในนาข้าว เป็นการเผาเพื่อจะขจัดวัชพืช ขจัดซังต้นข้าว เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกต้นข้าวชุดใหม่ รวม ๆ แล้วอยู่ที่ 88% ถ้าบริหารจัดการได้ จะต้องดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาแน่

ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ก็จะใส่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาด้วย เช่น การให้รางวัลสำหรับคนไม่เผา คนลดการเผา หรือคนที่ทำกิจกรรมที่ลดการเผา ควรจะมีการสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับล้วนพูดเรื่องนี้กันทั้งนั้น

สำหรับเรื่องความแตกต่างของร่างฯ ทั้ง 7 ฉบับ นายวีระศักดิ์ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้...

1.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า แก้เรื่องอากาศสะอาด ต้องใช้เงิน ฉะนั้นขอให้ตั้งกองทุนส่วนล่าง ส่วนอีก 6 ร่างฯ ไม่ได้ไปแตะเรื่องกองทุนฯ

2.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า หากปล่อยให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายเลขาของทุก ๆ คณะกรรมการไปเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ และไม่ยกระดับให้เขาให้มีอำนาจในการจัดการ จะต้องแย่แน่  ส่งผลให้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศไม่ได้ จึงเขียนให้มีการจัดกรมเฉพาะ ดูแลเรื่องอากาศสะอาดอย่างเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ตั้งกรมขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ให้เสริมแกร่งให้กรมเก่า

3. การแต่งตั้งประธานในคณะกรรมการระดับพื้นที่และระดับวอร์รูม สำหรับในระดับชาติทุกร่างระบุว่าให้นายกฯ ลงมานั่งเป็นประธาน เนื่องจากมีอํานาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง แต่ในระดับที่เป็นวอร์รูม ความต่างจาก 7 ร่างฯ จะมีร่างฯ ของก้าวไกลที่ระบุว่าอย่าให้รัฐมนตรีนั่งประธานเลย แต่ให้เป็นปลัดแทน ส่วนระดับที่เป็นคณะกรรมการดูแลรายพื้นที่หรือหลายจังหวัด ทุกร่างเสนอให้ผู้ว่าราชการเป็นประธาน ยกเว้นร่างฯ ของก้าวไกลที่เสนอให้เลือกคนที่มาจากการเลือกตั้งกัน เพราะเขาจะอยู่ได้นานกว่าเป็นซ้ำได้หลายสมัย อีกทั้งจะรู้จักพื้นที่นั้นดีกว่า แนะให้นำนายกฯ อบจ. มานั่งประธาน เพราะมีงบท้องถิ่น

>> คำถามที่ 2 การตราพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีกจำนวน 6 ฉบับ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน หรือไม่ อย่างไร

นายวีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ประโยชน์มีแน่นอน เพราะอย่างที่เรียนไปแล้วว่า 1. มันเป็นความหวัง การมีร่างตั้งหลายร่างนั้น มันทำให้ความรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นแย้งเลยในเป้าหมาย และทุกคนก็ร่วมวิธีการเข้ามา มีความแตกต่างในปลีกย่อยรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งอย่างน้อยมีความหวัง…และไม่เพียงแต่มีร่างกฎหมายเสนอมาคุยกัน ซึ่งการได้คุยกันเยอะ ๆ อย่างจริงจัง เอาความรู้มาพูดกัน มันทําให้รู้สึกว่าเรากําลังจะมีทางออก

2. มันเป็นเครื่องมือ อย่างน้อยบรรดากรมกองต่าง ๆ ตอนนี้ก็กําลังศึกษาร่างกฎหมายเหล่านี้ว่าถ้ามันออกมานั้นต้องไปเตรียมตัว เตรียมขั้นตอนวิธีการในการทํางานของกรม ของกอง ของหน่วย ของแผนก และของสํานักงานในต่างจังหวัดของตนกันอย่างไร โดยเริ่มสนทนากันเอาไว้ล่วงหน้า มีการสัมมนากันเล็กน้อยเพื่อจะเตรียมตัวต้อนรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็ทําให้เครื่องมือนี้มันถูกขัดสีฉวีวรรณ แม้กระทั่งในวันที่พระราชบัญญัติยังไม่ได้จบออกมาลงประกาศในราชกิจจาฯ อย่างน้อย 2 ท่อนนี้ดี

แต่ท่อนที่ 3 เวลานี้มันเกิดผลพลอยได้ที่ไม่ได้ตั้งใจกันไว้คือ ถ้าเรื่องนี้นํามาสู่การคิดว่าไล่วิธีการคณะกรรมการชุดใหญ่เต็มไปหมดนั้น มันอาจจะยิ่งทําให้ล่าช้า เรามีวิธีคิดใหม่ ๆ ที่มันแหวกแนวไหม? ซึ่งความแหวกแนวนั้นนี่เองที่ทําให้เกิดความหวังอีกด้านหนึ่งของเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ทําให้เกิดความรู้สึกว่าเราอาจจะได้เครื่องมือใหม่ ๆ ในทางนิติบัญญัติ หรือไม่นิติบัญญัติก็ได้…

ซึ่งเรื่องนี้สามารถทําได้โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติ เช่น การเอากลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ในนโยบาย ไม่ใช่ในกฎหมาย ซึ่งกรณีตัวอย่างก็มีได้ เช่นการที่บอกว่าถ้าหากแปลงนาไหนไม่เกิดรอยเผาในปีนั้น ๆ ก็จะได้รับสิทธิในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกในตอนปลาย แต่ถ้าใครมีรอยไหม้เท่าไหร่ ก็มาหักลดลงไปตามสัดส่วนของรอยไหม้นั้น ซึ่งเห็นไหมไม่ต้องมีกฎหมาย แต่ถ้าหน่วยใดก็ตามในระบบราชการไทยฝ่ายบริหาร ที่บอกว่าทําหน้าที่ในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกให้อยู่นั้น เขาประกาศแบบนี้ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสนามทันที 

หรือ BOI ประกาศบอกว่าใครที่ไปลงทุนทํากิจการในการรับซื้อฟาง ก็จะได้สิทธิประโยชน์ อย่าปล่อยให้มันอยู่ในนาเลย เพราะทิ้งไว้ในนาเดี๋ยวก็จุดไฟเผา หรือแม้กระทั่งการจิ้มลงไปจากกระทรวงพลังงาน บอกว่ากําหนดให้ต้องไม่เห็นรอยไหม้ของชีวมวลอยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกต่อไป โดยในเมื่อเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็ต้องไปหาชีวมวลเศษไม้ เศษหญ้า เศษผักอะไรต่าง ๆ มาเผาอยู่แล้ว ทําไมไม่ไปซื้อพวกฟาง พวกใบไม้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมาใช้ ทําไมมันยังปล่อยให้เกิดรอยไหม้อยู่ แล้วมันขนง่ายด้วย ซึ่งของแบบนี้ไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แค่บอกนโยบายมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้…

>> คำถามที่ 3 ท่านคิดว่ามาตรการและกลไกทางกฎหมายใด มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กลไกที่สําคัญที่สุด ถ้านับเฉพาะเรื่องการเผาในที่โล่ง คือกลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ไม่เผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ช่วยทําให้ไม่เกิดการเผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่คนที่ไปทําให้เกิด ‘กิจกรรมเชื่อมโยง’ ที่ทําให้คนทั้งนึกจะเผาเลยไม่ต้องเผา หรือที่กําลังเผาแล้วเปลี่ยนใจที่จะไม่เผา

พร้อมยกกรณีตัวอย่าง กลไกเหล่านี้มันเป็นกลไกที่ทําให้คนรู้สึกว่า ‘มีรายได้’ ซึ่งถ้าเปลี่ยนให้เขาได้รายได้ มันก็ชดเชย แลกกับการที่ไม่มีคนต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าคุ้มกัน แม้กระทั่งการที่จะกําหนดพื้นที่ที่เราเห็นแล้วในดาวเทียมมา 20 ปี ว่าตรงนี้เผาซ้ำซากเหลือเกิน พูดยังไงก็ไม่เข้าหูกัน ขีดตารางเลยไหม…ว่าใครจะรับผิดชอบตรงนั้น แล้วถ้าผ่านฤดูนั้นไปได้โดยไม่มีเผาเลย หรือมีรอยน้อยกว่า 5% 10% มารับรางวัลไปเลย

ทั้งนี้ ไม่ใช่ให้งบไปเพื่อจะไปดับไฟ เพราะเรื่องมันดับไฟให้งบไปเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันอยู่ในที่ลึกที่ไกลเดินทางยาก แต่ถ้าให้เขาไปเฝ้าเลย เฝ้าให้มันไม่เกิด…คนจุดมีอยู่น่าจะนับตัวกันได้ มีไม่ถึงแสนคนแน่ เพราะจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันก็หลักแสน

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถทําให้เปลี่ยน ‘พรานผู้จุด’ กลายเป็น ‘พรานผู้เฝ้า’ ไม่ให้เกิดไฟแล้วเขาได้รายรับเทียบเท่ากับที่เคยไปจุด และไม่มีคดี มีแต่ใบยกย่อง หนังสือรับรอง เขาก็น่าจะสบายใจกว่าที่จะทําอย่างนั้น

หรือการที่จะให้ความรู้ อย่างมีคนอ่านดาวเทียมเป็น แล้วเอามาอธิบายเป็นภาษาที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง ถ้าอ่านเป็นภาษาราชการคนก็อ่านไม่รู้อีก แต่ถ้าอ่านระดับชาติ คนในแต่ละพื้นที่บอกว่าทําไมอากาศวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เธออ่าน ซึ่งถ้าอย่างงั้นก็แบ่งภาคไหม…เหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง สร้าง ‘นักอ่าน’ ขึ้นมา แล้วก็รายงานเป็นประจําทุกวัน 

รวมทั้งสามารถบอกด้วยว่าอัตราการระบายลมของแต่ละวันใน 3-4 วันข้างหน้านั้นจะเป็นยังไง การชิงเผาจะได้สามารถบริหารจัดการได้ แล้วใครจะเป็นคนจัดคิวให้การเผานั้นมันออกมาแล้วมันระบายฝุ่นไปได้ มันก็จะได้เกิดขึ้น และเรื่องนี้ยังให้ความร่วมมือไปกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะเขาก็อยากจะได้ข้อมูลแบบนี้เหมือนกัน เขาก็อยากจะระบายลมของเขา และอยากจะช่วยทําให้ลดการเผาในบ้านเขาเหมือนกัน เพราะสุขภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมของเขาก็สําคัญเช่นกัน เพียงแต่เขาอาจจะไม่มีเทคโนโลยี วิทยาการ และความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีแม้กระทั่งกฎหมาย ตลอดจนกระทั่งผู้ที่จะอ่านดาวเทียม ซึ่งถ้าเราทําแล้วเชื่อมกับเขาด้วย คิดว่าได้ทั้งมิตร ทั้งสุขภาพ และก็ได้พลังในการทํางานร่วมมือภาคประชาสังคมที่ดี

>> คำถามที่ 4 ประเด็นอื่น ๆ ที่มีความประสงค์อยากจะแนะนำเพิ่มเติม

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเรื่อง ‘การสื่อสาร’ ซึ่งภาษาราชการในยุคน้ำท่วมปี 54 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาษาราชการคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง…และภาษากฎหมายยิ่งไปกันใหญ่ เพราะภาษากฎหมายยากกว่าภาษาราชการ การมีร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ยังไงก็เป็นภาษากฎหมาย และถูกใช้ด้วยระบบราชการ ต้องแปลภาษาเหล่านี้ให้ได้ มาสู่ภาษาที่เป็นทั้งความหวัง เป็นทั้งเครื่องมือในการทําให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตัดสินใจกล้าที่จะลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเขาเอง จากการเป็นผู้สร้างมลพิษ กลายเป็นผู้ช่วยแก้มลพิษ แล้วก็ทําให้รู้สึกว่าคนเมืองต้องสนใจคนต่างจังหวัด เพราะเมื่อคนต่างจังหวัดเผา ควันมันมาถึงคนเมือง คนเมืองมีพลังมากกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ และทางธุรกิจ ช่วยกันส่งเสริมพลังนั้นไปไหม อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของงบประมาณแผ่นดินท่าเดียว คนเมืองอยากจะได้อากาศสะอาด เพราะคนเมืองเองแม้เขาไม่เผา ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศในเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนเมืองมาช่วยกันเถอะ

"เงินที่มีในระบบต่าง ๆ เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, บริษัทขนาดใหญ่, กิจการอันเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง, ขยะ และสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อหรือผู้เก็บออก ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีพลังที่จะช่วยทําให้ปัญหาที่มันเคยเชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้ มันถูกหลอมรวมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และถ้าทําเช่นนั้นได้พระราชบัญญัติอาจจะมีผลน้อยมากก็ได้ แต่การมีพระราชบัญญัติไม่ได้เป็นเครื่องมือหรือการันตีที่จะบอกว่า…แล้วมันจะดีขึ้นเองเลย" นายวีระศักดิ์ ทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top