
เมื่อวานนี้ (5 มี.ค.68) ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลีล้านนา ครั้งที่ 5 ซึ่งกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์การผลิตข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาวในประเทศประเทศไทย และเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากธัญพืชเมืองหนาว โดยมี โดยมี นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วย นายศิริพงษ์ นำภา นายอำเภอสะเมิง ส่วนราชการ ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนและเกษตรกรชาวอำเภอสะเมิง เข้าร่วมงาน

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา รัสเซียและยูเครน ส่งออกข้าวสาลี วัตถุดิบสำคัญในการผลิตขนมปังเป็นสัดส่วนสูงถึง 30% ของตลาดโลกโดยมีมากกว่า 50 ประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกจากทั้งสองประเทศนี้ อีกทั้งอินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีเนื่องจากเกิดภาวะภัยแล้ง ส่งผลกระทบทำให้เกิดความขาดแคลนข้าวสาลีทั่วโลก

โดยในปีนี้กรมการข้าวและศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงได้มีการเปิดตัวข้าวบาร์เลย์ ที่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์เป็นรุ่นที่ 2 จนมีความเหมาะสมกับประเทศไทย มีความแข็งแรง ทนต่อโรค และให้ผลผลิตต่อไร่ที่ดี ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือของไทยยังมีพื้นที่อีกมากสำหรับรองรับการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว ดังนั้น กรมการข้าวจึงได้นำนโยบายของกระทรวงเกษตรสหกรณ์ในการขยายผลการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกข้าวในช่วงฤดูหนาว ไม่ว่าจะเป็นข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต และมอลต์ เพราะได้ราคาที่สูงกว่า และปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในส่วนที่เป็นเมล็ดพันธุ์และผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยหากเกษตรกรสนใจก็สามารถมาซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ที่กรมการข้าว หรือหากมีการรวมกลุ่มกันเป็นศูนย์ข้าวชุมชน หรือเกษตรกรแปลงใหญ่ กรมการข้าวก็จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์มาให้ในราคาที่ถูกลง หรือไม่มีค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
นายอัครา กล่าวอีกว่า คาดว่าในอนาคตจะมีความต้องการธัญพืชเมืองหนาวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้ พ.ร.บ.สุราชุมชน ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาจากสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ เมื่อกฎหมาย พ.ร.บ.สุราชุมชน ได้รับการอนุมัติแล้ว กรมการข้าวจะช่วยส่งเสริมในการนำเมล็ดธัญพืชจากศูนย์ข้าวชุมชนและเกษตรกรแปลงใหญ่มาแปรรูปเป็นสุราชุมชน และยังมีการประกันราคาให้อีกด้วย

ในวันนี้ต้องขอขอบคุณหน่วยงานกรมการข้าวที่ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางด้านข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาว รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินการวิจัยเรื่อง การพัฒนาศักยภาพการผลิตธัญพืชเมืองหนาวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ซึ่งมีศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง กองวิจัยและพัฒนาข้าว เป็นศูนย์หลักในการดำเนินการ และหน่วยงานราชการในพื้นที่ทุกภาคส่วนทึ่เกี่ยวข้อง
ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการผลิตธัญพืชเมืองหนาวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงได้ในอนาคต
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ส่งเสริม ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานอย่างเหมาะสมและยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสม นั้น

กรมการข้าว เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการวิจัยในโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตธัญพืชเมืองหนาวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง” โดยศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงเป็นศูนย์หลักในการวิจัยและพัฒนาธัญพืชเมืองหนาวไทย ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
โดยทางโครงการ ฯได้จัดงาน“งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลีล้านนา ครั้งที่ 5” ในวันที่ 5 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้างานทั้งหมด 1,300 ราย ภายในงานมีกิจกรรม นิทรรศการด้านพันธุ์ และเทคโนโลยีการผลิต การสาธิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเมืองหนาว การประกวดภาพถ่าย และการแข่งขันประกอบอาหารจากธัญพืช เมืองหนาว การสาธิตอาหารแนวใหม่สไตล์ฟิวชั่นล้านนา (Fusion Food Lanna) กิจกรรมกาดมั่ว ตลาดนัดล้านนา กิจกรรมชุมชนพบปะกันระหว่างนักวิจัย ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่ใช้ประโยชน์ธัญพืชเมืองหนาว

ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การผลิตข้าวสาลีในประเทศไทยและเป็นการจัดแสดงเชื้อพันธุกรรมข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และโอ๊ตมากกว่า 700 พันธุ์ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ รวมทั้งเป็นการเปิดตัวข้าวบาร์เลย์สายพันธุ์ดีเด่น FNBL#140 เพื่อการทำมอลต์ ที่จะเตรียมรับรองพันธุ์ในปีงบประมาณ 2569 เนื่องจากไทยไม่มีพันธุ์รับรองข้าวบาร์เลย์ ตั้งแต่ปี 2528 นานมากกว่า 40 ปี โดยสายพันธุ์นี้ต้านทานโรคใบจุด รวมทั้งมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 339 กก./ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์เดิมร้อยละ 20 ที่รับรองพันธุ์ไว้ เมื่อปี 2528 และที่สำคัญมีคุณภาพเพื่อการทำมอลต์ตามมาตรฐานสากล
นายศิริพงษ์ นำภา นายอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าอำเภอสะเมิง เป็นอำเภอหนึ่งใน 25 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมพื้นถิ่น และเลื่องลือไกล จะเป็นเรื่อง บรรยากาศราวกับอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ จนเป็นที่มาของคำขวัญอำเภอคือ “สตรอเบอรี่รสเยี่ยม ภูเขาสูงเทียมฟ้า ดอกไม้นานาพันธุ์ บรรยากาศสวิส ฯ เศรษฐกิจพอเพียง”

อำเภอสะเมิงมีพืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ได้แก่ สตรอเบอรี่ กระเทียม กล้วยน้ำว้า ส้ม ดอกไม้เมืองหนาว ดอกเก็กฮวย หญ้าหวาน รวมถึงพืชผักปลอดสารพิษ นักท่องเที่ยวมักจะนิยมมาเที่ยวสัมผัส ไร่สตรอเบอรี่ ทุ่งดอกเก็กฮวย ช่วงตั้งแต่เดือน พ.ย.ไปจนถึง ก.พ.ของทุกปี รวมถึง ทุ่งข้าวสาลี ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงแห่งนี้ ซึ่งแต่เดิมเรารู้จักในชื่อ โครงการในพระราชประสงค์ที่ 7 ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวิจัยข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาวอื่น ๆ
จึงเป็นการดี ที่ในการจัดงานครั้งนี้ อำเภอสะเมิงจะได้มีโอกาส เผยแพร่ผลงานด้านการเกษตร ที่เกี่ยวกับธัญพืชเมืองหนาว อีกทางหนึ่ง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจสืบต่อไป