Thursday, 2 May 2024
TODAY SPECIAL

31 ตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันออมแห่งชาติ’ เพื่อปลูกฝังคนไทยมีนิสัยรักการออมและตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงิน

คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เป็น 'วันออมแห่งชาติ' เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีนิสัยรักการออม รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการออมเงิน

การออมเงิน ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะเงินออมไม่เพียงแต่จะสร้างความมั่นคงส่วนบุคคล หรือส่งเสริมความสงบเรียบร้อยทางสังคม แต่ยังช่วยลดการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง 

ซึ่งทางภาครัฐก็ไม่ได้ละเลยถึงเรื่องดังกล่าว อีกทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงิน โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2541 กำหนดให้วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เป็น 'วันออมแห่งชาติ' เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการออม และตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงิน

วันนี้ในอดีต ‘รัชกาลที่ 3’ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ‘คุณหญิงโม’ เป็นท้าวสุรนารี วีรกรรมหญิงไทยที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก!!

ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า "โม" หรือท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผล ไม่มีสามี จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์ มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2339 โม เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระภักดีสุริยเดช" ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา "พระภักดีสุริยเดช" ได้เลื่อนเป็น "พระยาสุริยเดช" ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า "คุณหญิงโม" และ "พระยาปลัดทองคำ" ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า "แม่" มีผู้มาฝากตัวเป็นลูกหลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลังและอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใด ๆ ได้สำเร็จเสมอ หนึ่งในลูกหลานคนสำคัญที่มีส่วนร่วมกับคุณหญิงโม เข้ากอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ คือ นางสาวบุญเหลือ

ครบรอบ 52 ปี ‘วันอินเทอร์เน็ต’ จุดกำเนิดของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

สำหรับ Internet Day หรือ วันอินเทอร์เน็ต มีการเริ่มฉลองกันครั้งแรกในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยยึดตามวันสำคัญที่อินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้น และประสบความสำเร็จในการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2512 ภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ลีโอนาร์ด ไคลน์ร็อก (Leonard Kleinrock) นักศึกษาหนุ่ม ชาร์ลีย์ ไคลน์ (Charley Kline) ก็ได้ทำการเชื่อมต่อเพื่อส่งข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ 2 เครื่องในระยะห่างไกล บนเครือข่าย ARPANET (Advanced Research Projects Agency Network) ซึ่งเป็นต้นตระกูลของระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าที่จะส่งคำว่า "Login" จากคอมพิวเตอร์ในสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ในสหรัฐฯ ไปยังคอมพิวเตอร์ในสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งมี บิล ดูวัล (Bill Duvall) นักศึกษาอีกราย เฝ้าสังเกตผลลัพธ์

ในครั้งนั้น ชาร์ลีย์ และบิล ได้คุยกันผ่านโทรศัพท์ในระหว่างการทดลองส่งข้อมูลนี้ โดยหลังจากที่ชาร์ลีย์พิมพ์ตัวอักษร "L" เขาก็ถามคู่สายว่ามีตัวอักษรดังกล่าวปรากฏที่หน้าจออีกฝั่งหรือไม่ ซึ่งบิลก็ตอบกลับว่ามี จากนั้นชาร์ลีย์ก็พิมพ์ตัวอักษร "O" ต่อ แต่ยังไม่ทันที่พวกเขาจะส่งตัวอักษรที่เหลือ บิลก็พบว่าการเชื่อมต่อนั้นล้มเหลวและวางสายไป อย่างไรก็ตามแม้การทดลองครั้งแรกพวกเขาจะส่งตัวอักษรได้เพียงแค่ 2 ตัวคือ "L" กับ "O" แต่ภายหลังจากการแก้ไขปรับปรุงระบบ ทั้งคู่ก็ประสบความสำเร็จในการส่งคำว่า "Login" ในอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา

นับจากการถือกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต บนเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยจากหน่วยงานกลาโหมของสหรัฐฯ อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนทั่วไป และยังคงถูกใช้ในวงจำกัดของหน่วยงานรัฐบาล มหาวิทยาลัย ตลอดจนกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือกบางกลุ่มเท่านั้น แม้กระทั่งเข้าสู่ช่วงต้นของยุค 90 ที่ระบบอินเทอร์เน็ตได้เริ่มให้บริการในพื้นที่สาธารณะแล้วก็ตาม

28 ตุลาคม พ.ศ. 2498 วันคล้ายวันเกิด “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้ง Microsoft และรั้งตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีอันดับ 1 มากสมัยที่สุดในโลก

อีกหนึ่งคนเก่งระดับโลก และรั้งตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกหลายปีติดต่อกันก็คือ วิลเลียม เฮนรี เกตส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บิล เกตส์” (Bill Gates) นักธุรกิจชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์อันลือลั่น

บิล เกตส์ (Bill Gates) เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ในสหรัฐอเมริกา แม้เขาจะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ แต่ปัจจุบันเขาคงความเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นในไมโครซอฟต์ประมาณ 1% เท่านั้น

วันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2447 ประเทศไทยได้มีการ ‘ยกเลิกการใช้เงินพดด้วง’ และใช้เหรียญกษาปณ์แทน เงินตราไทยจึงเป็นลักษณะเหรียญกลมแบนต่อเนื่อง ถึงปัจจุบัน

วิวัฒนาการเงินตราไทย เริ่มตั้งแต่กลุ่มชนดั้งเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันตั้งแต่ราว 38,000 ปีมาแล้ว ก่อนจะได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียนั้น กลุ่มชนเหล่านี้ติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยใช้สิ่งของเป็นสื่อกลาง เมื่อวัฒนธรรมอินเดียแพร่เข้ามาจึงเริ่มผลิตเงินตราเป็นสื่อกลางค้าขาย

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-16 ในวัฒนธรรมแบบฟูนัน-ทวารวดี ได้ผลิตเหรียญกลมแบนจากโลหะเงิน ดีบุก ทองแดง โดยใช้แม่พิมพ์ตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น พระอาทิตย์ สังข์ แพะ ปูรณกลศ ตัวอักษร เป็นต้น ซึ่งสื่อถึงความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ อำนาจรัฐ กษัตริย์ และความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทยมีอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเล มีการผลิตเงินดอกจันทน์และเงินนโม เพื่อระบบเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ราชอาณาจักรสุโขทัยและล้านนาก็ถือกำเนิดขึ้นและได้ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรในลุ่มเจ้าพระยา คือ กรุงศรีอยุธยา ตลอดจนดำเนินการค้าทางทะเลกับจีน อินเดีย ยุโรป และได้ติดต่อค้าขายกับกลุ่มชนทางตอนเหนือของไทย เช่น ล้านช้าง ยูนนาน น่านเจ้า เป็นต้น และไปไกลถึงเปอร์เซีย อาหรับ ในดินแดนตะวันออกกลาง
 

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 

โดยจัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน เป็นต้น 


 

วันนี้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชบัณฑิต (หรือแพทยศาสตรบัณฑิตในปัจจุบัน) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตึกบัญชาการ (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน) 

ในครั้งนั้น ทางมหาวิทยาลัยกราบทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ เรียนเชิญเสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนส่งหนังสือเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 11 แห่ง อาทิ กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ สภากาชาดสยาม วชิรพยาบาล มหามงกุฎราชวิทยาลัย ราชบัณฑิตยสภา และโรงเรียนกฎหมาย เอกอัครราชทูตนานาประเทศ เป็นต้น มาร่วมพิธีด้วย

วันนี้เมื่อ 118 ปีที่แล้ว กำเนิดบุคคลสำคัญของโลกและศิลปินแห่งชาติ ‘หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล’

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุคคลสำคัญของโลกและศิลปินแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หม่อมหลวงปิ่นเกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ณ บ้านถนนอัษฎางค์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 6 ใน 13 คน ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี (เสงี่ยม มาลากุล ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม วสันตสิงห์)

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญทั้งด้านการศึกษาและด้านวรรณกรรมสื่อสาร โดยท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากมาย ทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร (พระราชวังสนามจันทร์) รวมถึงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปีเศษ

โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 91 ปี 11 เดือน 11 วัน โดยได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองบรรจุศพ ตั้งศพไว้ที่ศาลาบัณรสภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาเสด็จไปสดับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ 

“วันปิยมหาราช” วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทยหลายด้าน และสิ่งที่โดดเด่นคือ การประกาศเลิกทาส เป็นการหยุดวงจรการเป็นทาส เพราะเมื่อสมัยก่อนหากพ่อแม่เป็นทาส ลูกที่เกิดมาก็ต้องเป็นทาสต่อไปเรื่อย ๆ ทางราชการจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็นหนึ่งในวันระลึกถึงความสำคัญของเหตุการณ์ในชาติ โดยเรียกว่า “วันปิยมหาราช” 

วันปิยมหาราช เป็นวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในทุก ๆ ปีหน่วยงานราชการจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ ที่พระบรมรูปทรงม้าอย่างพร้อมเพรียง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระปิยมหาราช หรือพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 พระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์” เมื่อพระชนม์ 9 พรรษาได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ ต่อมาอีก 4 ปี ได้เลื่อนเป็น “กรมขุนพินิตประชานาถ” บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 มีพระราชกรณียกิจสำคัญมากมายคือ

การเลิกทาส ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124” (พ.ศ. 2448) เลิกเรื่องลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่เป็นทาสอีกต่อไป การซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด

การปฏิรูประเบียบบริหารราชการ ได้ทรงปรับปรุงหน้าที่ของกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรวมกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายเวลานั้นเข้าเป็นกระทรวง กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพอเหมาะสม

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวรวิหาร

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวรวิหาร ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 รวมเป็นเวลา 15 วัน

ก่อนที่จะถึงวันพระราชพิธีทรงผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชทานกระแสพระราชดำรัสในการที่จะทรงผนวชแก่พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราช ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แจ้งข้อพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบท และขอให้ทุกฝ่ายสมัครสมานกันรักษาประเทศ ทรงขอบใจรัฐบาลที่รับภาระเตรียมการบรรพชาอุปสมบท

ครั้นเสร็จพระราชพิธีภายใน พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยแล้ว จึงเสด็จฯ มายังพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกสีหบัญชร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า...

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงได้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริ ที่จะบรรพชาอุปสมบทให้อาณาประชาราษฎร์ทราบทั่วกัน อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจําชาติของเรา ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคําสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพรียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ข้าพเจ้าเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่ารักได้อุปสมบทในพระศาสนาตาม ประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งมักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกโสดหนึ่งด้วย และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์มากเป็นเวลาช้านานพอสมควรแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่จะทําตามความตั้งใจไว้นั้นได้แล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงมีพระคุณูปการในส่วนตัวข้าพเจ้าได้หายประชวรในครั้งหลังนี้ ก่อให้เกิดความปีติยินดีแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก มาคํานึงเห็นว่า ถ้าในการที่ข้าพเจ้าจะอุปสมบทนี้ ได้พระองค์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธา เคารพ ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในพระองค์ท่านได้อย่างเหมาะสมด้วยอีกประการหนึ่ง อาศัยเหตุเหล่านี้จึงได้ตกลงใจจะอุปสมบทในวันที่ 22 เดือนนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top