Friday, 17 May 2024
TODAY SPECIAL

15 ตุลาคมของทุกปี คือ “วันล้างมือโลก” กระตุ้นให้ชาวโลกเห็นถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยสบู่ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมการล้างมือให้ถูกสุขอนามัย

วันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2008 ณ เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น พร้อมกันนี้ได้มีการกำหนดให้ปี 2008 เป็นปีสากลแห่งการรักษาอนามัยด้วย เพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวโลกเห็นถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยสบู่ว่า จะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ รวมถึงต้องการสร้างวัฒนธรรม การล้างมือให้สะอาดถูกสุขอนามัยขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า การล้างมือ แม้จะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยทำกัน ทั้ง ๆ ที่สามารถลดโอกาสติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เกือบ 50% โดยองค์การยูนิเซฟ ระบุว่า ในแต่ละปีนั้นมีเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตจากโรคท้องร่วงถึงเกือบ 2 ล้านคน และจากโรคปอดบวมอีกราว 2 ล้านคน ซึ่งการล้างมือด้วยน้ำกับสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง 50% และจากโรคปอดบวมได้อีกราว 25% 
 

“14 ตุลา วันมหาปิติ” รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนสิ้นอำนาจ ที่บริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนิน

เหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) หรือ วันมหาวิปโยค หรือ วันมหาปิติ เป็นเหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงบริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก

การประท้วงนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานเกือบ 15 ปีตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบกับข่าวการฉ้อราษฎร์บังหลวงหลายอย่างในรัฐบาล รวมทั้งรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ข่าวการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการตีพิมพ์ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน นำไปสู่การเดินแจกใบปลิวของนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกทหารจับกุม 

ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ชื่อว่า "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมหลายแสนคน วันที่ 13 ตุลาคม รัฐบาลจอมพลถนอมประกาศยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนสลายตัว

๑๓ ตุลาคม ร่วมน้อมรำลึก เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (MOUNT AUBURN) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก" 

ด้านการศึกษา
เมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จากนั้นทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ทรงเข้าศึกษาต่อที่ CEDE NOUBELLE DE LA SUES ROMANCE CHILLY ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติ ในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลซานน์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยพร้อมด้วยพระบรมเชษฐาธิราช พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

ด้านการครองราชย์
พระองค์ได้เสด็จกลับเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะมีพระชันษา ๑๙ ปี ก่อนครองราชย์ได้ทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และได้เสด็จกลับไปศึกษาวิชานิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ต่ออีกภายหลังที่ได้ครองราชย์แล้ว

ด้านพระบรมราชาภิเษก
วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระมหาราชวัง ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสีเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ ดังนี้
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ
๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลนโสภาคย์
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ด้านพระราชกรณียกิจ
พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอด ๗๐ ปี โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งพระราชกรณียกิจอันโดดเด่น มีดังต่อไปนี้

วันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร”

“มหาวิทยาลัยศิลปากร” เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดิมคือ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัด กรมศิลปากร" ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2476 โดยหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น และ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) มีศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี หรือชื่อเดิม กอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก 

โดยใช้พื้นที่วังกลางและวังตะวันออกของ วังท่าพระ ซึ่งในตอนนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จไปประทับตำหนักปลายเนินแล้ว รัฐบาลจึงรับซื้อมาจากทายาทของพระองค์ และทำการเปิดสอนให้แก่ข้าราชการและนักเรียนในสมัยนั้นโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ต่อมา พ.ศ. 2478 ได้รวมเอาโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ที่ตั้งอยู่วังหน้าไว้ด้วย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงเรียนศิลปากร"

โดยในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบดีกรมศิลปากร ได้พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร" เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาขั้นสูงทางศิลปะของชาติ โดยมีปณิธานที่จะสร้างสรรค์ศิลปะวิทยาการและภูมิปัญญาเพื่อสังคม พร้อมทั้งจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นเป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคือ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์) 

11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ‘กบฏบวรเดช’ การกบฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

‘กบฏบวรเดช’ เป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติสยาม สาเหตุเกิดมาจากความผิดหวังตำแหน่งทางการเมืองของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และมีความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่เข้ามาสมทบ

โดย ‘กบฏบวรเดช’ นั้นที่จริงนับเป็นครั้งแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 หรือหลังจากที่ไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั่นเอง

สำหรับสาเหตุนั้นมีข้อมูลระบุว่า ชนวนสำคัญที่สุด คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ “กบฏบวรเดช” 

อีกทั้งการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมือง นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง และถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง จึงเป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร

โดยในวัน 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง โดยพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านเมือง 

และได้มีการปะทะกันที่อำเภอปากช่อง แล้วคณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมือง และยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวงว่า แผนล้อมกวาง
 

วันเกิด ‘ชาติชาย เชี่ยวน้อย’ อดีตนักมวยผู้ครองแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตคนที่ 2 ของไทย

‘ชาติชาย’ มีชื่อจริงว่า ‘นริศ เชี่ยวน้อย’ เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2485 ที่ย่านหัวลำโพง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร โดยชาติได้ก้าวขึ้นสังเวียนครั้งแรกเมื่ออายุได้ 14 ปี จากค่ายมวย "ลูกวังเดิม" หลังวัดใหม่พิเรนทร์ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี โดยการชกครั้งแรกของชาติชายชนะน็อกยก 2 ได้เงินรางวัล 50 บาท โดยใช้ชื่อว่า ‘ธนูน้อย ลูกวังเดิม’

จากนั้นจึงได้ย้ายค่ายมาอยู่กับ ม.ล.สุทัศน์ สุประดิษฐ์ เจ้าของค่าย ‘แหลมฟ้าผ่า’ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘ชาติชาย แหลมฟ้าผ่า’ โดยชื่อชาติชายนั้น มาจากชื่อของ ‘ชาติชาย รัตนสิทธิ์’ อดีตนักมวยไทยชื่อดัง และจากชื่อนี้เองที่ได้สร้างประสบการณ์และชื่อเสียงให้กับชาติชาย ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘ชาติชาย เชี่ยวน้อย’ ตามนามสกุลตัวเอง ในเวลาต่อมา 

โดยเขาได้ตระเวนชกไปทั่วทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 50 ไฟท์ รวมทั้งเอาชนะคะแนน ซันวาตอเร่ เบอรูนนี่ แชมป์โลกชาวอิตาลี ผู้ได้แชมป์จากโผน กิ่งเพชร ในการชกนอกรอบด้วย จึงยิ่งสร้างความมั่นใจอย่างมาก จากนั้นจึงได้ขึ้นชิงแชมป์โลกกับ วอลเตอร์ แม็คโกแวน นักมวยชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก โดยชาติชายสามารถชนะทีเคโอไปได้ในยกที่ 9 และได้กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับเมืองไทยอีกครั้ง

วันนี้ในอดีตจัดพิธีเปิด “อนุสาวรีย์วอชิงตัน” อย่างเป็นทางการ สร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่ “จอร์จ วอชิงตัน” ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

พิธีเปิดอนุสาวรีย์วอชิงตัน (Washington Monument) เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ แก่ จอร์จ วอชิงตัน ประธานีธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา มีลักษณะของตัวอนุสาวรีย์มีรูปแบบเป็นแท่งโอเบลิสก์ ทำจากหินอ่อน หินแกรนิต และหินทราย มีความสูงประมาณ 169 เมตร โดยเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงมากที่สุดในวอชิงตัน ดี.ซี. ออกแบบโดย โรเบิร์ต มิลส์ สถาปนิกที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ก่อสร้างขึ้นเมื่อปีคริสต์ศักราช 1848 แต่กว่าจะสร้างแล้วเสร็จก็ล่วงเข้ามาจนถึงปีคริสต์ศักราช 1884 รวมเวลาที่ใช้ก่อสร้างประมาณ 36 ปี อันเนื่องมาจากเงินที่ได้รับบริจาคในการสร้างหมด รวมถึงเกิดสงครามกลางเมืองอเมริกัน

อนุสาวรีย์วอชิงตัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอนุสรณ์สถานลินคอร์น ทางตะวันตกของอาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา และทางใต้ของทำเนียบขาว มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม คริสต์ศักราช 1888 โดยใช้หินไป 36,491 ก้อน มีน้ำหนักมากถึง 90,854 ตัน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปทั้งสิ้น 1,187,710 ดอลลาร์สหรัฐ ด้านบนสุดเป็นจุดชมวิว มีลิฟต์และบันได จำนวน 879 ขั้น ซึ่งหินแต่ละก้อนที่ใช้นำมาสร้างบันไดภายในอนุสาวรีย์ล้วนได้มาจากที่ต่าง ๆ ในทุกรัฐของอเมริกา และจากการบริจาคจากองค์กรภาคเอกชน ตลอดจนรัฐบาลที่เป็นมิตรประเทศของอเมริกา อาจเรียกได้ว่าเป็น หินนานาชาติ ก็ได้

อนุสาวรีย์วอชิงตัน สามารถมองเห็นได้จากจุดต่าง ๆ นับไม่ถ้วนในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ รวมถึงจากสถานที่อื่น ๆ ด้วย แต่ถ้าจะให้ได้อารมณ์ความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง คุณควรจะมาสัมผัสด้วยตัวคุณเองอย่างใกล้ชิด วิวจากฝั่งตะวันตกหลัง Reflecting Pool นั้นจะให้มุมถ่ายภาพอันยอดเยี่ยมในตอนกลางคืนเพราะตัวโครงสร้างอนุสาวรีย์จะส่องแสงอย่างสวยงามโดยเฉพาะบริเวณเหลี่ยมมุม

ผู้จะเข้าชมภายในอนุสาวรีย์ไม่จำเป็นต้องซื้อบัตรผ่าน แต่คุณก็สามารถจองบัตรเข้าชมได้ล่วงหน้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือรับบัตรได้เลยที่บริเวณโถงของอนุสาวรีย์วอชิงตัน ซึ่งสงวนสิทธิ์แจกให้ผู้มาก่อนเท่านั้น เริ่มต้นแจกที่เวลา 8.30 น. บัตรแต่ละใบจะบอกช่วงเวลาที่คุณสามารถเข้าชมในอนุสาวรีย์ได้ และหนึ่งคนสามารถรับบัตรได้จำกัด 6 ใบ ส่วนมากแล้ว บัตรที่แจกบริเวณโถงอนุสาวรีย์จะหมดเร็วที่สุดเพราะคนมักจะมาต่อแถวรับบัตรกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า

เมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 5.8 ขึ้นในเดือนสิงหาคม 2554 อนุสาวรีย์วอชิงตันได้เกิดรอยร้าว และมีหินบางส่วนหลุดออก แรงสั่นสะเทือนยังทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันหนีออกมาจากหอสังเกตการณ์ที่สูงถึง 500 ฟุต ซึ่งเกิดรอยแตกกว้างจนทำให้แสงลอดเข้ามาได้ด้วย หลังจากที่ แคนดิซ โกลเวอร์ ผู้ชนะการแข่งขัน "อเมริกัน ไอดอล" มาร้องเพลง America the Beautiful เพื่อเปิดงานก็เป็นการเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม โดยหลังจากที่เปิดในเวลา 08.30 นาฬิกา ปรากฎว่ามีตั๋วเข้าชมถูกขายไปแล้วถึง 600 ใบ แต่ก่อนหน้าที่จะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้มีการเปิดรอบพิเศษให้ทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บเข้าชมก่อนด้วย

ครบรอบ 51 ปี การจากไปของ “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกดาวค้างฟ้าของไทย จากอุบัติเหตุตกเฮลิคอปเตอร์ ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง

“มิตร ชัยบัญชา” มีชื่อจริงคือ บุญทิ้ง ระวีแสง ภายหลังเปลี่ยนเป็นพิเชษฐ์ พุ่มเหม มิตรอยากเป็นนักบินจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศโคราช ภายหลังได้รับราชการเป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง ด้วยรูปร่างหน้าตา และบุคลิกภาพที่ดีของมิตร จึงมีผู้ชักชวนเข้าวงการภาพยนตร์แต่ก็ยังไม่มีผลงาน จนได้พบกับทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องชาติเสือ (พ.ศ. 2501) ที่กำหนดตัวพระเอกไว้แล้วเป็น ชนะ ศรีอุบล แต่ประทีป โกมลภิส ซึ่งเป็นผู้กำกับต้องการดาราหน้าใหม่ เมื่อได้พบกับมิตร ชัยบัญชา ทั้งผู้สร้าง - ผู้กำกับ ต่างพอใจ และสรุปให้เขาเป็นพระเอก ชื่อ “มิตร ชัยบัญชา” ประทีป โกมลภิส ตั้งให้ใช้ในวงการแสดงให้จากการตอบคำถามของมิตรที่เขาถามว่า

1.) ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด ? มิตรตอบว่า “เพื่อนครับ” ประทีปบอกว่า “เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า ‘มิตร’ ก็แล้วกัน”
2.) ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด ? มิตรซึ่งเป็นจ่าทหารอากาศตอบว่า “ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ” ประทีปก็ใช้คำว่า “ชัยบัญชา” มาเป็นนามสกุล (มิตรชอบนามสกุล “ชัยบัญชา” นี้มาก ภายหลังได้ขอจดทะเบียนตั้งเป็นนามสกุลจริงของตนเอง) 

จากบทบาทการแสดงที่ประชาชนชื่นชอบ, วินัยในการทำงาน, ความมีอัธยาศัยและน้ำใจที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน มิตร ชัยบัญชา จึงมีชื่อเสียงโด่งขึ้นเรื่อยๆ ในพ.ศ. 2505 มิตร ชัยบัญชา ได้แสดงร่วมกับ “เพชรา เชาวราษฎร์” นางเอกหน้าใหม่เป็นครั้งแรกในเรื่อง “บันทึกรักของพิมพ์ฉวี” ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน นับจากนั้นผู้สร้างภาพยนตร์ต่างให้ทั้งสองแสดงคู่กัน กลายเป็นตำนานคู่ขวัญของวงการภาพยนตร์ไทย “มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์” มีภาพยนตร์ประมาณ 170 เรื่อง ที่ทั้งสองเป็นพระ-นางคู่กัน

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดศูนย์หนังสือจุฬาฯ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2526

ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น "ร้านหนังสือในดวงใจ ของคนไทยทั้งประเทศไทย" ผู้นำความครบถ้วนหลากหลาย หนังสือภาษาไทย - ต่างประเทศ และสื่อการศึกษา ให้ข้อมูลที่เป็นกลางทั้งลูกค้า และสำนักพิมพ์ ดำเนินกิจการในรูปวิสาหกิจที่ต้องเลี้ยงตัวเอง และดำเนินงานคล้ายระบบธุรกิจเอกชน ที่มิได้แสวงหากำไรสูงสุด แต่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกได้ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ อยู่ในฐานะเป็นหน่วยงานบริการของมหาวิทยาลัย ที่มีนโยบาย แน่วแน่ในการสร้างคนไทยให้มีคุณภาพ มีนิสัย ใฝ่รู้ รักการอ่าน รู้จักค้นคว้าหาข้อมูล และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและบ้านเมือง

ปัจจุบันศูนย์หนังสือจุฬาฯ มีพนักงานกว่า 300 ชีวิต ภายใต้การนำของคุณวิมลพรรณ คำประชา ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ศูนย์รวมความก้าวหน้าทางวิชาการ สาระ บันเทิง ทันสมัยครบวงจร แหล่งรวมที่ครบถ้วน ทั้งหนังสือภาษาไทย ภาษาต่างประเทศกว่า 100,000 รายการ วัสดุอุปกรณ์การศึกษา เครื่องใช้สำนักงาน ด้วยราคายุติธรรม และบริการสอบถาม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ออนไลน์ ค้นหาหนังสือทุกเล่ม สะดวก รวดเร็ว ทันความต้องการ

ความเป็นมาของศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ภายใต้อาคารเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้บริการแก่นิสิต และคณาจารย์ในจุฬาฯ โดยวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2526 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยวเป็นแห่งแรก ด้วยพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร เพื่อให้บริการตำราเรียน หนังสือภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ สื่อสร้างสรรค์ ซีดี-รอม วิดิทัศน์ เครื่องเขียน แผนกบริการตำราและห้องสมุด แผนกขายส่ง จึงถือเป็นการเริ่มต้นอย่างมั่นคงในวงการธุรกิจหนังสือของศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว ดังจะเห็นได้จากรางวัลที่ได้รับ อาทิ รางวัลร้านค้าดีเด่น ปี 2535 จากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และรางวัลร้านหนังสือพัฒนาดีเด่น ปี 2551 รางวัลร้านหนังสือในดวงใจ ปี 2554 ขนาดกลาง กรุงเทพมหานคร รางวัลร้านหนังสือดีเด่น ประเภทร้านหนังสือทรงคุณค่า ปี 2545 จากชมรมส่งเสริมการจัดจำหน่ายหนังสือ

‘เหตุการณ์มหาวิปโยค’ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การสังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน โดยรัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) หรือ การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการปราบปรามอย่างรุนแรงถึงชีวิตของตำรวจและการลงประชาทัณฑ์ของกำลังกึ่งทหารและคนมุงฝ่ายขวาต่อนักศึกษาและผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เป็นการปิดฉากการประท้วง การเดินขบวนและการยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของนักศึกษา กรรมกรและผู้ประท้วงซึ่งต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2519 

ในวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามการประท้วง ตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวาที่ลงประชาทัณฑ์ในลักษณะร่วมมือกับตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ สถิติพบผู้เสียชีวิต 46 คนที่มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติไม่เป็นทางการจากมูลนิธิป๋วยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ภายหลังโครงการบันทึก 6 ตุลา พบว่าหนึ่งใน 41 ผู้ประท้วงนั้นเสียชีวิตหลังจากถูกคุมขัง ทำให้จำนวนผู้ประท้วงเสียชีวิตเป็น 40 คน และ ผู้ก่อการเสียชีวิต 5 คน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ตลอดจนการประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนือง ๆ ร่วมกับความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง กลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ ซึ่งรู้สึกกังวลกับชัยของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้วิธีการก่อกวนขบวนการฝ่ายซ้ายจนมีผู้เสียชีวิตอยู่หลายโอกาส ขณะเดียวกัน มีฝ่ายกองทัพอย่างน้อยสองฝ่ายพยายามวางแผนให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง

โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีการนำตัว "สามทรราช" กลับประเทศเพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์บานปลาย วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหารโดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จฯ เยี่ยม นักศึกษาปักหลักประท้วงที่สนามหลวง และย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 

ในวันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาจัดการแสดงล้อเหตุฆ่าคนงานฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม วันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวการแสดงดังกล่าว โดยมีสื่อฝ่ายขวาลงว่าบุคคลที่ถูกแขวนคอนั้นมีใบหน้าคล้ายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผลให้กำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัยในเย็นนั้น ท่ามกลางสื่อฝ่ายขวาที่โหมปลุกความเกลียดชังอยู่ต่อเนื่อง มีผู้ประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยราว 4,000 คน และมีตำรวจและคนมาล้อมไว้ราว 8,000 คน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top