Thursday, 2 May 2024
TODAY SPECIAL

21 ตุลาคม เนื่องในโอกาสครบ 121 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า”

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เป็นหม่อมในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์มีพระนามที่นิยมเรียกกันว่า “สมเด็จย่า” ทั้งนี้พระองค์ยังได้ประกอบพระราชกรณียกิจเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และได้พระราชทานความช่วยเหลือผ่านทางเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เปรียบเสมือนพระองค์เสด็จมาจากฟากฟ้าช่วยให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญานามว่า "แม่ฟ้าหลวง"

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระทัยดาราศาสตร์ เมื่อประทับอยู่สหรัฐอเมริกาพระองค์เคยมีหนังสือดาราศาสตร์เบื้องต้น ต่อมาเมื่อพระราชโอรสพระองค์เล็กเรียนดาราศาสตร์ที่โรงเรียนในโลซาน พระองค์จึงซื้อหนังสือเรื่อง Le Ceil (ท้องฟ้า) ของสำนักพิมพ์ Larousse ให้ แต่พระองค์มักจะเปิดอ่านเองหลายครั้งจนหนังสือชำรุด พระองค์มีพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดความหมายของดวงดาวเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ กลุ่มดาวสำคัญที่แลเห็นง่ายหรือที่โปรด ลงบนโคม ที่เขี่ยบุหรี่ ถ้วยชาม จานกระเบื้อง หรือเซรามิก ซึ่งบางครั้งก็ทรงเขียนรูปดอกไม้แทนกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม มีจำนวนกลีบดอกและสีของดอกไม้แทนความสว่างของดวงดาว ซึ่งทางดาราศาสตร์ เรียกว่า แมกนิจูด 

วันนี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว เกิด ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ มรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดทางการเงิน

วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือเรียกทั่วไปในประเทศไทยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินซึ่งส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชียเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจทั่วโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดทางการเงิน

วิกฤตดังกล่าวเริ่มขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทลดลงอย่างมากอันเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลไทย ซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ลอยตัวค่าเงินบาท ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากความพยายามทั้งหมดที่จะสนับสนุนค่าเงินบาทเมื่อเผชิญกับการแผ่ขยายแบบเกินเลยทางการเงิน (financial overextension) อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์ ในเวลานั้น ประเทศไทยมีภาระหนี้สาธารณะ และเมื่อวิกฤตดังกล่าวขยายออกนอกประเทศ ค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นก็ได้ทรุดตัวลงเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงและรวมไปถึงราคาสินทรัพย์อื่น ๆ และทำให้หนี้เอกชนเพิ่มสูงขึ้น
 

วันนี้เมื่อ 49 ปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสาธิตให้ผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์ชมการทดลองฝนหลวง

วันนี้เมื่อ 49 ปีที่แล้ว หรือวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงควบคุมการทดลอง ปฏิบัติการฝนหลวง สาธิตให้ผู้แทนของรัฐบาลสิงคโปร์ชม ณ อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,162.5 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการทำฝนสาธิตครั้งนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยปฏิบัติการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผลที่ผ่านมา

โดยในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ณ ศูนย์บัญชาการฯ สันเขื่อนแก่งกระจาน ทรงสามารถบังคับหรือชักนำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างแม่นยำภายในเวลาประมาณ 5 ชั่วโมงนับจากเริ่มปฏิบัติการ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาและเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ และข้าราชบริพารที่เป็นข้าราชการและข้าราชบริพารระดับสูงที่เฝ้าฯ สังเกตการณ์อยู่ ณ ที่นั้น ต่างประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถ

ทั้งนี้ “โครงการพระราชดำริ ฝนหลวง” เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตร 

จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน โครงการพระราชดำริฝนหลวง ให้กับ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ต่อมาปี พ.ศ. 2512 โครงการฝนหลวงประสบความสำเร็จมากขึ้น 

วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

วันที่ 18 ตุลาคม ตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพทางสุริยคติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 ปีชวด

เมื่อพระชนมายุ 9 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีลงสรง ได้เฉลิมพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทววงศ์ พงศ์อิศวรวรกกระษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่ 27 พรรษา จึงทรงลาผนวชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อสันตติวงศ์ เป็นรัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2394 ขณะพระชนมายุ 47 พรรษา

17 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันตำรวจแห่งชาติ’

กิจการตำรวจได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา และพร้อมกันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตำรวจขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา

ซึ่งในขณะนั้น แบ่งออกเป็น ตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจหลวงให้ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในบทพระอัยการ ระบุตำแหน่งนายพลเรือน เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น 

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่าบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นต้องคัดเลือกจาก ผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว ทำให้กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด 

โดยในปี พ.ศ. 2403 ถึง พ.ศ. 2475 เป็นสมัยที่ได้มีการปฏิรูปการปกครองประเทศไทยอย่างขนาดใหญ่ในทุก ๆ ด้าน ตามแบบอย่างอารยประเทศตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ โดยมีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศหรือกรมกองตระเวน โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล โดยให้มีหน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล

16 ตุลาคม พ.ศ. 2466 วันก่อตั้ง “บริษัทดิสนีย์” ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมแอนิเมชันอเมริกัน ก่อนที่จะขยายไปสู่การสร้างภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และสวนสนุกในปัจจุบัน

บริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ The Walt Disney Company หรือเรียกกันทั่วไปว่า “ดิสนีย์” เป็นกลุ่มบริษัทสื่อมวลชนและความบันเทิงข้ามชาติที่หลากหลายของอเมริกา สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ วอลต์ดิสนีย์สตูดิโอส์คอมเพลกซ์ในเบอร์แบงก์, รัฐแคลิฟอร์เนีย และสหรัฐฯ

ดิสนีย์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1923 โดยวอลต์และรอย โอ. ดิสนีย์ ในชื่อ ดิสนีย์บราเธอร์สการ์ตูนสตูดิโอ บริษัทยังดำเนินการภายใต้ชื่อ เดอะวอลต์ดิสนีย์สตูดิโอ และวอลต์ดิสนีย์โปรดักชันส์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น บริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ ในปี ค.ศ. 1986 บริษัทก่อตั้งตัวเองในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมแอนิเมชันอเมริกัน ก่อนที่จะขยายไปสู่การสร้างภาพยนตร์คนแสดง, รายการโทรทัศน์ และสวนสนุก

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ดิสนีย์ได้ก่อตั้งและเข้าซื้อกิจการแผนกต่าง ๆ เพื่อทำการตลาดเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าปกติที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ระดับเรือธงของครอบครัว บริษัทเป็นที่รู้จักจากแผนกสร้างภาพยนตร์ ก็คือ เดอะวอลต์ดิสนีย์สตูดิโอส์ ซึ่งประกอบด้วย วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์, วอลต์ดิสนีย์แอนิเมชันสตูดิโอส์, พิกซาร์, มาร์เวลสตูดิโอส์, ลูคัสฟิล์ม, ทเวนตีท์เซนจูรีสตูดิโอส์, ทเวนตีท์เซนจูรีแอนิเมชันและเซิร์ชไลท์พิกเชอส์ 

ธุรกิจหลักอื่น ๆ ของดิสนีย์ ได้แก่ แผนกในโทรทัศน์, การออกอากาศ, สื่อสตรีมมิง, รีสอร์ทสวนสนุก, สินค้าอุปโภคบริโภค, สิ่งพิมพ์และการดำเนินงานระหว่างประเทศ ดิสนีย์เป็นเจ้าของและดำเนินการ เครือข่ายออกอากาศเอบีซี ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายเคเบิลโทรทัศน์ เช่น ดิสนีย์แชนแนล, อีเอสพีเอ็น, ฟรีฟอร์ม, เอฟเอ็กซ์และเนชั่นแนลจีโอกราฟิก นอกจากนี้ยังมีแผนกสิ่งพิมพ์, การขายสินค้า, เพลงและโรงละคร

บริการสตรีมมิงส่งตรงถึงลูกค้า เช่น ดิสนีย์+, อีเอสพีเอ็น+, ฮูลูและฮอตสตาร์ และ วอลต์ดิสนีย์พาร์กส์, อิกซ์เพียเรียนซ์แอนด์พอร์ดักส์ กลุ่มของสวนสนุก 14 แห่ง, โรงแรมรีสอร์ทและสายการเดินเรือทั่วโลก ตัวการ์ตูน มิกกี้ เมาส์ สร้างโดย วอลต์ ดิสนีย์และอับ ไอเวิร์กส์ ทำหน้าที่เป็นตัวนำโชคอย่างเป็นทางการของบริษัท

บริษัทซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น DIS และเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 น้อยกว่าสองในสามของหุ้นทั้งหมดเป็นของสถาบันการเงินขนาดใหญ่

15 ตุลาคมของทุกปี คือ “วันล้างมือโลก” กระตุ้นให้ชาวโลกเห็นถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยสบู่ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมการล้างมือให้ถูกสุขอนามัย

วันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2008 ณ เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น พร้อมกันนี้ได้มีการกำหนดให้ปี 2008 เป็นปีสากลแห่งการรักษาอนามัยด้วย เพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวโลกเห็นถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยสบู่ว่า จะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ รวมถึงต้องการสร้างวัฒนธรรม การล้างมือให้สะอาดถูกสุขอนามัยขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า การล้างมือ แม้จะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยทำกัน ทั้ง ๆ ที่สามารถลดโอกาสติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เกือบ 50% โดยองค์การยูนิเซฟ ระบุว่า ในแต่ละปีนั้นมีเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตจากโรคท้องร่วงถึงเกือบ 2 ล้านคน และจากโรคปอดบวมอีกราว 2 ล้านคน ซึ่งการล้างมือด้วยน้ำกับสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง 50% และจากโรคปอดบวมได้อีกราว 25% 
 

“14 ตุลา วันมหาปิติ” รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนสิ้นอำนาจ ที่บริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนิน

เหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) หรือ วันมหาวิปโยค หรือ วันมหาปิติ เป็นเหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงบริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก

การประท้วงนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานเกือบ 15 ปีตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบกับข่าวการฉ้อราษฎร์บังหลวงหลายอย่างในรัฐบาล รวมทั้งรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ข่าวการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการตีพิมพ์ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน นำไปสู่การเดินแจกใบปลิวของนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกทหารจับกุม 

ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ชื่อว่า "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมหลายแสนคน วันที่ 13 ตุลาคม รัฐบาลจอมพลถนอมประกาศยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนสลายตัว

๑๓ ตุลาคม ร่วมน้อมรำลึก เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (MOUNT AUBURN) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก" 

ด้านการศึกษา
เมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จากนั้นทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ทรงเข้าศึกษาต่อที่ CEDE NOUBELLE DE LA SUES ROMANCE CHILLY ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติ ในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลซานน์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยพร้อมด้วยพระบรมเชษฐาธิราช พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

ด้านการครองราชย์
พระองค์ได้เสด็จกลับเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะมีพระชันษา ๑๙ ปี ก่อนครองราชย์ได้ทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และได้เสด็จกลับไปศึกษาวิชานิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ต่ออีกภายหลังที่ได้ครองราชย์แล้ว

ด้านพระบรมราชาภิเษก
วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระมหาราชวัง ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสีเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ ดังนี้
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ
๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลนโสภาคย์
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ด้านพระราชกรณียกิจ
พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอด ๗๐ ปี โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งพระราชกรณียกิจอันโดดเด่น มีดังต่อไปนี้

วันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร”

“มหาวิทยาลัยศิลปากร” เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดิมคือ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัด กรมศิลปากร" ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2476 โดยหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น และ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) มีศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี หรือชื่อเดิม กอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก 

โดยใช้พื้นที่วังกลางและวังตะวันออกของ วังท่าพระ ซึ่งในตอนนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จไปประทับตำหนักปลายเนินแล้ว รัฐบาลจึงรับซื้อมาจากทายาทของพระองค์ และทำการเปิดสอนให้แก่ข้าราชการและนักเรียนในสมัยนั้นโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ต่อมา พ.ศ. 2478 ได้รวมเอาโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ที่ตั้งอยู่วังหน้าไว้ด้วย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงเรียนศิลปากร"

โดยในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบดีกรมศิลปากร ได้พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร" เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาขั้นสูงทางศิลปะของชาติ โดยมีปณิธานที่จะสร้างสรรค์ศิลปะวิทยาการและภูมิปัญญาเพื่อสังคม พร้อมทั้งจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นเป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคือ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์) 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top