Friday, 26 April 2024
TODAY SPECIAL

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ทรงเสด็จสูสวรรคาลัย

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประพาสยุโรป เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาด้านต่างๆ และทรงรับการผ่าตัดรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องด้วยพระราชดำริที่ไม่ตรงกัน กับรัฐบาลคณะราษฎรหลายประการ และทรงพิจารณาแล้วว่า ไม่ทรงสามารถประสานกับรัฐบาล

เพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่ปวงชนส่วนรวมได้ จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับพักฟื้นพระวรกายที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนื่องๆ อันเนื่องมาจากพระพลนามัยของพระองค์ ทรงไม่แข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา 6 เดือน 23 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ  พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากท่าเรือเมืองเซาแธมตันโดยรัฐบาลอังกฤษ ตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จ เรือ Willem Ruys นำเสด็จฯ สู่สิงคโปร์ และเรือภาณุรังษีของบริษัทอีสต์เอเชียติก ได้นำเสด็จฯ เข้าสู่ประเทศไทยถึงเกาะสีชัง รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรือหลวงแม่กลองไปรับเสด็จที่เกาะสีชัง มาถึงท่าราชวรดิฐ วันที่ 24 พฤษภาคม 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฝ้าฯ รับเสด็จฯ และอัญเชิญพระบรมอัฐิ โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ เข้าสู่พระบรมมหาราชวังประดิษฐาน ร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถาบันพระปกเกล้า จึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระองค์ว่า สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 โดยให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อันเป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
 

29 พฤษภาคมของทุกปี วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ รำลึกถึงเจ้าหน้าที่ ในภารกิจเพื่อสันติภาพ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

วันที่ 29 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ” (International Day of United Nations Peacekeepers) เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือน ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เพื่อสันติภาพและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง บรรเทาความทุกข์ยากของผู้อื่นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

มนุษย์เรานี้ไม่มีใครในโลกนี้ ที่ไม่มีปัญหา

“มนุษย์เรานี้ไม่มีใครในโลกนี้ ที่ไม่มีปัญหา ทุกคนต่างมีมุมที่น่าอิจฉาและน่าสงสารแตกต่างกันไปกรรมทั้งหลาย ไม่ได้มาจากอื่นไกล มาจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเราเท่านี้”

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
พระเถระในสายพระป่า ผู้เปี่ยมล้นเมตตาธรรม
 

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ‘แดนเนรมิต’ ปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากหมดสัญญาเช่า ระยะเวลา 25 ปี

‘แดนเนรมิต’ เป็นอดีตสวนสนุกกลางแจ้งแห่งที่สอง ตั้งอยู่ที่ริมถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยเปิดให้บริการระหว่างวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519–28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543

แดนเนรมิต เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519 โดยก่อสร้างบนเนื้อที่ 33 ไร่และใช้เงินลงทุนกว่า 70-80 ล้านบาท มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิด มีความโดดเด่นที่ปราสาทเทพนิยาย ซึ่งตั้งอยู่ส่วนหน้าของพื้นที่ สร้างขึ้นตามแบบที่ผสมผสานจากปราสาทเทพนิยาย ของสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ กับปราสาทนอยส์ชวานสไตน์ของเยอรมนี ภายในมีเครื่องเล่นต่าง ๆ อาทิ รถไฟเหาะ เครื่องเล่นรถไฟรางเดี่ยว เรือไวกิง ส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพาเหรดแฟนตาซี ซึ่งออกเดินไปตามถนนโดยรอบบริเวณ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 แดนเนรมิตได้ปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากหมดสัญญาเช่า ระยะเวลา 25 ปี โดยไม่สามารถต่อสัญญาเช่าได้ เนื่องจากในปัจจุบัน พื้นที่ของแดนเนรมิตกลายเป็นพื้นที่ในเมือง พื้นที่ไม่เหมาะกับการทำกิจการสวนสนุก เห็นได้จากสวนสนุกใหม่ ๆ มักจะตั้งอยู่ในย่านชานเมือง รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษาเครื่องเล่นเดิมและการจัดหาเครื่องเล่นใหม่ นอกจากนี้เจ้าของแดนเนรมิตยังมีกิจการสวนสนุกดรีมเวิลด์อีกแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นเครื่องเล่นที่มีอยู่จึงถูกรื้อถอนไป (เครื่องเล่นบางส่วนถูกเอาไปใช้ที่ดรีมเวิลด์) ปัจจุบันยังคงเหลือปราสาทเทพนิยายตั้งอยู่เพียงเดียว และให้เช่าเปิดเป็นสนามแข่งขันรถ มอเตอร์ สปอร์ต แลนด์ โกคาร์ต (Motor Sport Land Go Cart) และกิจกรรมชมและเชียร์การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในนัดสำคัญ เช่น ศึกแดงเดือด

นอกจากนี้แดนเนรมิตยังเคยเปิดสวนสนุกที่ชั้น 8 มาบุญครองเซ็นเตอร์ แต่เลิกกิจการไปหลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ปี พ.ศ. 2538–2540

ปัจจุบันพื้นที่แดนเนรมิตเตรียมพัฒนาเป็นจ๊อดแฟร์ บนที่ดิน 33 ไร่ เปิดบริการภายใน 28 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยคอนเซปจะแตกต่างจากจ๊อดแฟร์ รัชดา จะเน้นเป็นที่ถ่ายรูป ที่ท่องเที่ยว ธีมยุโรปวินเทจ ตลาดนัดกลางคืน คล้ายคลึงกับม่อนจ๊อด ที่เชียงใหม่

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ท่านพุทธทาสภิกขุ เกิดที่ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

พระธรรมโกศาจารย์ นามเดิม เงื่อม พานิช ฉายา อินทปญฺโญ หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เขาได้มาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาพุทธได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ผลงานเด่นของท่านพุทธทาสคืองานหนังสือ เช่น ตามรอยพระอรหันต์ คู่มือมนุษย์ และเป็นภิกษุไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ และท่านมีสหายธรรมคนสำคัญ คือ ท่านปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และท่าน บ.ช. เขมาภิรัต

เลาดาแอร์’ สายการบินของประเทศออสเตรีย เครื่องตกที่ป่าพุเตย จ.สุพรรณบุรี คร่า 223 ชีวิต

เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 767 ของสายการบินเลาดาแอร์ ประเทศออสเตรีย เส้นทางบิน ฮ่องกง-กรุงเทพฯ-เวียนนา บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือรวม 223 คนทะยานออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

หลังบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เพียง 16 นาทีเศษ ก็เกิดเสียงระเบิดกึกก้องเหนือท้องฟ้าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ พุเตย หมู่ 7 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเวลา 23.20 น. ชาวบ้านแถวนั้นเห็นดวงไฟขนาดใหญ่ตกจากท้องฟ้าพุ่งลงสู่พื้นดิน ทั้ง 223 คน เสียชีวิต เป็นชาวต่างชาติ 184 คน ชาวไทย 39 คน

จากการตรวจพิสูจน์กล่องดำ พบสาเหตุสำคัญที่สุดคือกลไกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ รีเวิร์สเซอร์’ (Thrust Reverser) ที่เครื่องยนต์หมายเลข 1 ซึ่งทำหน้าที่ชะลอความเร็วของเครื่องบินขณะบินลงเกิดทำงานขึ้นกะทันหันอย่างไม่รู้สาเหตุ ขณะที่เครื่องบินยังอยู่สูงบนท้องฟ้าที่ระดับความสูง 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ประกอบกับนักบินที่ 1 ไม่เชื่อไฟสัญญาณเตือนภัยที่กระพริบขึ้นมาในระยะที่เครื่องบินกำลังบินสูงราว 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วไม่ตรวจสอบแก้ไข จึงก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมสลดครั้งนี้

25 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันเด็กหายสากล’ International Missing Children’s Day

รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยในหนึ่งวัน มีเด็กหายไม่น้อยกว่า 3 คน โดยที่ 2 ใน 3 ของเด็กที่หายไป มีอายุน้อยกว่า 15 ปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก และอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายไป หรือถูกลักพาตัวออกจากบ้านคือ 4 ขวบ โดยข้อมูลนี้อ้างอิงจาก สถิติศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา 

ทั้งนี้ แน่นอนว่าเด็กหายจากบ้านนั้น จะต้องเจอกับความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งการคุกคาม หาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก ถูกล่อลวง รวมไปถึงกระทำความรุนแรง ซึ่งภัยดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหากับผู้คนทั่วโลก จึงมีการกำหนดให้วันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันเด็กหายสากล (International Missing Children’s Day) เพื่อหวังให้สังคมตระหนักถึงสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของเด็กทุกคน

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 เกิดอุบัติเหตุรถไฟขบวนที่ 38 (รถเร็ว เชียงใหม่ - กรุงเทพ) ตกรางที่ระหว่างสถานีรถไฟผาคันและสถานีรถไฟปางป๋วย

เหตุการณ์รถไฟตกเหวที่จังหวัดลำปาง พ.ศ. 2532 นับเป็นอุบัติเหตุทางรถไฟที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 เวลาประมาณ 20.30 น. ขบวนรถเร็วที่ 38 (เชียงใหม่-กรุงเทพ) (ปัจจุบันคือขบวนรถด่วนที่ 52 เชียงใหม่-กรุงเทพ) ตกรางช่วงระหว่างสถานีรถไฟปางป๋วย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กับสถานีรถไฟผาคัน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ (กม.ที่ 585-586) หัวรถจักรชนกับหน้าผาข้างทางอย่างรุนแรง ทำให้พนักงานขับรถไฟเสียชีวิต ส่วนช่างเครื่องและพนักงานรักษารถได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขบวนรถไฟได้ตกลงไปในเหว จำนวน 8 คัน มูลค่าความเสียหายของการรถไฟฯ 3,539,677.63 บาท มีผู้โดยสารเสียชีวิต 8 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 32 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 107 คน

ผลการสอบสวนหาสาเหตุพบว่า ระบบห้ามล้อของหัวรถจักรมีปัญหาติดขัด และมีการตรวจซ่อมแก้ไขที่สถานีรถไฟนครลำปางจนใช้การได้ แต่เกิดอาการขัดข้องอีกช่วงผ่านสถานีรถไฟแม่เมาะ เมื่อขบวนรถวิ่งผ่านสถานีรถไฟปางป๋วย เจ้าหน้าที่สังเกตว่าขบวนรถมีอาการสะบัด โคลงตัว และได้แจ้งพนักงานขับรถทราบ และพยายามดึงเบรกฉุกเฉิน ในช่วงนั้นเป็นทางลงเขามีความลาดชัน จากเทปบันทึกการเดินรถในหัวรถจักรระบุว่า ขบวนรถวิ่งด้วยความเร็วถึง 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยความเร็วปลอดภัยที่กำหนดไว้เพียง 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขบวนรถจึงหลุดจากราง และพุ่งเข้าชนหน้าผา

อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นข่าวใหญ่ เพราะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บในที่เกิดเหตุด้วย 2 ราย

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จนทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แทน

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จนทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แทน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top