Sunday, 5 May 2024
TODAY SPECIAL

22 มิถุนายน ของทุกปี วันป่าฝนโลก (World Rainforest Day) กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และร่วมปกป้องป่า

‘วันป่าฝนโลก’ (World Rainforest Day) เริ่มต้นขึ้นในปี 2017 โดย Rainforest Partnership หรือ ‘พันธมิตรป่าฝน’ ที่รวบรวมบุคคลจากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมกันดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าไม้ หวังให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของป่าฝน

‘ป่าฝน’ ป่าที่มีต้นไม้สูง,สภาพอากาศร้อน,และฝนตกเป็นจำนวนมาก ป่าฝนเขตร้อนคือป่าไม้ในแถบพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นป่าไม้ที่มีอุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งปี (ราว 20 ถึง 27 องศาเซลเซียส) ได้รับน้ำฝนเฉลี่ยอย่างน้อย 200 เซนติเมตรต่อปี ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ส่งผลให้พืชพรรณต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี 

ป่าไม้เขตร้อนยังเป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ไว้มากที่สุด โดยสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกมากกว่าร้อยละ 50 มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าไม้เขตร้อน

เห็นเขียวชอุ่มขนาดนี้แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีเนื้อที่เพียง 2% เท่านั้นจากพื้นที่ทั้งหมดบนโลก แม้จะมีน้อยแต่มันก็เป็นบ้านของสัตว์ และต้นไม้นานาพันธุ์ถึง 50% ของโลก รวมถึงยังเป็นสถานที่ที่เราจะสามารถชี้วัดอุณหภูมิ และช่วยคงสภาพภูมิอากาศโดยรวมของโลกได้ด้วย

ป่าฝนนั้นมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต อย่างป่าแอมะซอนมีความสำคัญเป็นปอดของโลกสร้างออกซิเจนให้เราถึง 20% รวมถึงน้ำสะอาดเช่นกัน ป่ายังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การปกป้องและฟื้นฟูป่าเป็นการช่วยรักษาโลกนี้ไว้ได้

แต่ปัจจุบันป่าหายไปจำนวนมาก มีป่าหายไปขนาดราวสี่สิบสนามฟุตบอลทุก 1 นาที จากกิจกรรมต่างๆของเรา ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า เผาป่า ทำพื้นที่อาศัย พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ สิ่งก่อสร้าง และอื่นๆ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวิต สุขภาพของโลก และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 

‘วันป่าฝนโลก’ (World Rainforest day) มีขึ้นเพื่อให้เห็นความสำคัญและความสวยงามของป่าฝน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการร่วมอนุรักษ์ ด้วยความร่วมมือของเราทุกคนจะช่วยรักษาป่าฝน และยับยั้งปัญหาโลกร้อนได้

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

วันนี้เมื่อ 24 ปีก่อน ‘ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ’ (mai) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีทุนชำระแล้วหลัง IPO ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ขึ้น โดยเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่มีศักยภาพ ในการเติบโตสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ โดยเน้นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตดี ในอนาคต (Business for the Future) หรือธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการอื่นๆ หากมีคุณสมบัติ ครบตามเกณฑ์รับหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีความยินดีรับเป็นบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีบริษัทจดทะเบียนในหลากหลายอุตสาหกรรมให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนได้ ตามความเหมาะสม ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) สามารถรองรับธุรกิจได้ทุกขนาด ทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำภายหลังกระจายหุ้น 50 ล้านบาทขึ้นไป และไม่มีการจำกัดทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นสูง ซึ่งแตกต่างจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่รองรับได้เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีทุนชำระแล้วขั้นต่ำ 300 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น

ในปีแรกของการจัดตั้ง มีบริษัทเข้าจดทะเบียน จำนวน 3 บริษัท ขณะที่ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 มีบริษัทจดทะเบียนใน mai 206 บริษัท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 479,383 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 2,973 ล้านบาทต่อวัน  
 

17 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก ร่วมปลูกจิตสำนึกให้คนทั่วโลกใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้คนทั่วโลกตระหนักและหันกลับมาใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น 

‘วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก World Day to Combat Desertification and Drought’ ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงภาวะวิกฤตของโลกที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความเป็นมาของวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก เนื่องจากพบว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั่วโลกถูกทำลาย และกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งเห็นได้จากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น หรือสภาพอากาศแปรปรวน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ในภาคคมนาคมขนส่ง การอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า รวมถึงพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างสิ้นเปลือง 

ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศวิทยาและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยตรง ดังนั้น เพื่อให้มนุษย์ได้ร่วมใจกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้วันที่ 17 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ประชากรโลกตระหนักและหันกลับมาใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น

รายงานล่าสุดของคณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ออกคำเตือนว่า วิกฤตสภาพอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับสีแดง โดยภายในปี 2573 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาฯ และผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง และปัญหาภัยแล้ง

ปัญหาภัยแล้งไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะภัยแล้งไม่ใช่แค่ปัญหาความแห้งแล้ง แต่คือภัยพิบัติที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาอีกมากมาย อาจเพิ่มความรุนแรงมากและขยายวงกว้างไปทั่วโลก
 

16 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ บ้านปอน อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ทรงเยี่ยมทหาร - ตำรวจ ในเขตต่อสู้ผู้ก่อการร้าย

วันนี้ เมื่อ 53 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ บ้านปอน อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ทรงเยี่ยมให้กำลังใจทหาร-ตำรวจ ที่ปฏิบัติการต่อสู้ผู้ก่อการร้าย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยัง บ้านปอน อำเภอทุ่งช้าง และบ้านน้ำยาว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เพื่อทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ และราษฎรที่ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว อยู่ในเขตปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้าย

นอกจากนั้น ยังได้เสด็จ ทอดพระเนตรรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบที่ผู้ก่อการร้ายลอบยิงจนชำรุดในพื้นที่เขตทางหลวง และทอดพระเนตรความเสียหายของเส้นทางที่ถูกผู้ก่อการร้ายคุกคาม บนถนนหมายเลข 1080 สายน่าน - ปัว - ทุ่งช้าง - ปอน - ห้วยโก๋น

ภายหลังได้ตรวจเยี่ยมบริเวณฐานปฏิบัติการ มีพระราชปฏิสันถารกับทหารและเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงทุกคนแล้ว จากนั้นเสด็จฯ ยังเขื่อนภูมิพล เพื่อประทับแรม ณ เขื่อนภูมิพล

CR. คนสร้างทาง 99 สู่100 ปี กรมทางหลวง 

15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินให้ ‘ปราสาทพระวิหาร’ เป็นของกัมพูชา

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาชี้ขาด คดีปราสาทเขาพระวิหาร ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา 

ปราสาทหินแห่งนี้เป็นศิลปะขอม สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวปี 1545-1593 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม ภาษาเขมรเรียกว่า ‘เปรี๊ยะ วิเฮียร์’ (Phrea vihear) ตัวปราสาทสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนทิวเขาพมนดงรักซึ่งกั้นระหว่างประเทศกัมพูชากับไทย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทแห่งนี้เมื่อปี 2442 แล้วทรงจารึกพระนามของพระองค์และปีที่ค้นพบไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า ‘118 สรรพสิทธิ์’ เนื่องจากเขาพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้

จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร เจ้านโรดม สีหนุ จึงยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ เสียพื้นที่ไปทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ 

หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกสั่งปิด-เปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ
 

14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ‘พระเจ้าตาก’ เปิดยุทธการ ‘ทุบหม้อข้าว’ ก่อนนำทัพบุกยึด ‘เมืองจันทบูร’

วันนี้เมื่อ 256 ปีก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สั่งทุบหม้อข้าวก่อนบุกตีเมืองจันทบูร นับเป็นยุทธการที่ลือลั่นจวบจนถึงทุกวันนี้

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2310 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพ บุกยึดเมืองจันทบูร โดยก่อนเข้าตีเมือง ได้ปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารด้วยการ ‘ทุบหม้อข้าว’ หมายจะได้กินข้าวเช้าในเมืองจันทบูร หากตีเอาเมืองไม่ได้ ก็ให้ตายด้วยกันเสียให้หมด ถือว่าเป็นกลศึกที่ปลุกขวัญกำลังใจแก่ทหารกล้าเป็นอย่างมาก และเป็นยุทธวิธีอันลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้

ภายหลังเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน เจ้าตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การยึดเมืองจันทบูรเป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังพลกลับมาสู้ แต่ทว่าเจ้าเมืองจันทบูรไม่ยอมสวามิภักดิ์ เจ้าตากต้องการยึดเมืองจันทบูรไว้เป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า

“เราจะตีเมืองจันทบูรในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะให้ได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว”

ครั้นถึง วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลา 19.00 น. เจ้าตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน เมื่อเวลา 03.00 น. เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณพร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนเจ้าตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารเจ้าตากจึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบูรก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ เจ้าตากตีเมืองจันทบูรได้ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

หลังจากนั้น เจ้าตากได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ เจ้าตากได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ เจ้าตากจึงนำกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวันเจ้าตากก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมาก

แผนการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา เจ้าตากได้เดินทางกลับจากตราดมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบูร เพื่อวางแผนปฏิบัติการรบเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศัตราวุธและยุทธภัณฑ์ภายในเวลา 3 เดือน พร้อมกับฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการ

เมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 เจ้าตากได้ยกกองทัพเรือจากจันทบูรเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี เมื่อเจ้าตากยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยาเข้า ยึดค่ายโพธิ์สามต้นปราบพม่าจนราบคาบ สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7 เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา

‘เจ ชนาธิป’ ตอบชัด เรื่องกระแสข่าว การกลับมาเล่นฟุตบอล ‘ไทยลีก’

เมสซีเจ ชนาธิป สรงกระสินธ์ จอมทัพทีมชาติไทย ของคาวาซากิ ฟรอนตาเล ในเจลีก ญี่ปุ่น เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย แล้วเมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 มิ.ย. เพื่อเตรียมเข้าแคมป์ทีมชาติไทย อุ่นเครื่อง เยือน ไต้หวัน วันที่ 16 มิ.ย. และ ฮ่องกง วันที่ 19 มิ.ย. โดย “เจ” จะเริ่มซ้อมกับทีมชาติไทย วันที่ 13 มิ.ย. 66

ก่อนหน้านี้กระแสย้ายทีมของ ชนาธิป กำลังร้อนแรง โดยมี บีจี ปทุม ยูไนเต็ด และการท่าเรือ เอฟซี ที่จ้องจะคว้าตัวจอมทัพดีกรีทีมชาติไทยรายนี้ไปร่วมทีม และในเกมเจลีก ล่าสุดของฟรอนตาเล ที่เอาชนะ ซานเฟรซเช ฮิโรชิมา 1-0 ชนาธิป ก็ไม่มีชื่อในทีม ยิ่งทำให้กระแสการย้ายทีมของเจ้าตัวโหมแรงขึ้นไปใหญ่

ล่าสุด เมสซีเจ ชนาธิป ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการย้ายทีมแล้วว่า  “ตอนนี้ ผมเป็นนักบอลคาวาซากิ จะให้ผมพูดอะไรมากกว่านี้ ก็พูดไม่ได้ เพราะผมยังมีสัญญากับ คาวาซากิ อยู่” ชนาธิป กล่าว

13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ราชินีลูกทุ่ง ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ เสียชีวิตด้วยโรคเอสแอลอี

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นชื่อการแสดงของ รำพึง จิตรหาญ หรือ ผึ้ง เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งขวัญใจคนไทย โดยได้รับฉายาว่าเป็น "ราชินีลูกทุ่ง"

พุ่มพวง ดวงจันทร์  เกิดที่จังหวัดชัยนาท ต่อมาเติบโตที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวเป็นชาวไร่ฐานะยากจน เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาได้ฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ซึ่งแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกชื่อ "แก้วรอพี่" ก่อนจะมีชื่อเสียงทั้งในวงการร้องเพลงและการแสดงในเวลาต่อมา

ปลายปี พ.ศ. 2534 พุ่มพวง ดวงจันทร์  ป่วยด้วยโรคเอสแอลอี โดยเธอพำนักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช และที่จันทบุรี ในช่วงวาระสุดท้ายเธอย้ายมาพำนักอยู่ที่บ้านพักของน้องสาว (สลักจิต ดวงจันทร์) ที่พุทธมณฑลสาย 2 เนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปที่เชียงใหม่

เพื่อไปเยี่ยมบุตรชายทั้งที่อาการของเธอแย่มากแล้ว ทุกคนต่างทำใจไว้ว่าเธอคงจะไม่รอดแล้ว และระหว่างทางเกิดอาการกำเริบจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และเสียชีวิตในคืนวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เวลา 21:30 น. ด้วยวัยเพียง 30 ย่าง 31 ปี พิธีรดน้ำศพของเธอถูกจัดขึ้นที่วัดมกุฏกษัตริยารามเมื่อเย็นวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ณ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไป ในการพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้นด้วย

ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระพันปีหลวง ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ พระราชอาคันตุกะ

วันนี้ เมื่อ 17 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แด่พระประมุข พระราชอาคันตุกะ จาก 25 ประเทศ ที่มาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี

งานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำครั้งประวัติศาสตร์จัดถวายอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติพระราชอาคันตุกะทั้ง 25 ประเทศ ภายในท้องพระโรงพระที่นั่งบรมราชาสถิตยมโหฬาร อันเป็นพระที่นั่งองค์ใหม่ที่จัดอย่างงดงามตระการตา เป็นที่ประทับพระทัยของพระราชอาคันตุกะเป็นอย่างยิ่ง ส่วนช่วงก่อนถึงงานเลี้ยงพระราชทานนั้น พระราชอาคันตุกะหลายพระองค์เสด็จพักผ่อนพระอริยาบถทั้งทอดพระเนตรความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา เสด็จวัดพระแก้ว และทรงเยี่ยมบ้านจิม ทอมป์สัน

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ถือเป็นอีกหนึ่งความสำคัญของงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นก็คืองานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ จากทั้ง 25 ประเทศ

เหตุการณ์ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รับเสด็จพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ที่ พระที่นั่งบรมราชาสถิตยมโหฬาร โดยถวายเลี้ยงพระราชทานเป็นโต๊ะเสวยรูปยาวขนานไปกับห้องจัดเลี้ยงภายในท้องพระโรงใหญ่

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสขอบพระทัยพระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศ และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะทรงเป็นผู้แทนประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

12 มิถุนายน ของทุกปี วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก (World Day Against Child Labour) เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญต่อการดำเนินการป้องกันและขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

ซึ่งในปีนี้ไอแอลโอ ได้กำหนดแนวคิดหลัก คือ ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับทุกคน ยุติการใช้แรงงานเด็ก (Social Justice for All. End Child Labour) มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในมิติต่าง ๆ เพื่อให้เด็กทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top