Sunday, 4 May 2025
TODAY SPECIAL

14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ‘ยูเนสโก’ ยก ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ขึ้นมรดกโลกทางธรรมชาติ นับเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก 'ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง'

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น ‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’ จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ นับเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 มรดกทางธรรมชาติของไทย ต่อจาก ‘ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง’ โดยได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็นผืนป่าตะวันออก ซึ่งเปรียบเทียบกับผืนป่าตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก และรอบ ๆ

อย่างไรก็ตาม ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์เชิงระบบนิเวศ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ได้แก่

- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
- อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์

โดยลักษณะภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนของภูเขาใหญ่น้อยแห่งเทือกเขาสันกำแพง โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มียอดเขาสูงสุดของพื้นที่ สลับกับพื้นที่ราบและทุ่งระหว่างหุบเขา สภาพป่าโดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ชนิดป่า ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า โดยเฉพาะยังเป็นแหล่งที่อยู่อายของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์หลายชนิด เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ ๆ หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำนครนายก แม่น้ำประจันตคาม แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี ลำพระเพลิงและลำตะคอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศในอุทยานแห่งชาติทับลาน ตลอดจนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หลากหลาย เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การดูนก การดูผีเสื้อ การส่องสัตว์ การล่องแก่ง ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ เป็นต้น

13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ครบรอบ 131 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 การคุกคามจากอำนาจตะวันตก รำลึกความหาญกล้าแห่งยุทธนาวีไทย ที่มิหวั่นแสนยานุภาพฝรั่งเศส

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (เอกสารภาษาอังกฤษเรียกว่า Franco-Siamese War หรือสงครามฝรั่งเศส-สยาม) เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวในปัจจุบัน)

ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือ โอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำนครหลวงพระบาง ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายฝรั่งเศสในดินแดนลาว โดยใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของสยามที่ไม่สามารถดูแลหัวเมืองชายแดนได้ทั่วถึง การก่อกบฏในเวียดนามที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ การปราบฮ่อซึ่งแตกพ่ายจากเหตุการณ์กบฏไท่ผิงในจีน และการทวีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีส

การรบที่ปากน้ำเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โดยเกิดการต่อสู้บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ต่างฝ่ายต่างได้รับความเสียหาย โดยฝรั่งเศสสามารถฝ่ากระสุนเข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้และยื่นคำขาดต่อไทย ดังนี้...

1. ไทยต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร

2. ให้ไทยรื้อถอนด่านทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เสร็จภายใน 1 เดือน

3. ให้ไทยจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำพวน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกัน

4. ให้ไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่รับผิดชอบในการยิงปืนที่ปากน้ำ

5. ให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์

ฝ่ายไทยจึงยอมรับทุกข้อยกเว้นข้อ 1 ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจ จึงถอนคณะทูตออกจากประเทศไทย เรือรบจึงได้ไปยังเกาะสีชังและปฏิบัติการปิดอ่าวไทย จึงเป็นเหตุให้ไทยรับเงื่อนไขคำขาดโดยไม่ต่อรองใด ๆ เพื่อให้ฝรั่งเศสยุติการปิดอ่าว แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่รุนแรงขึ้นคือ เรียกร้องจะเข้ายึดครองแม่น้ำและท่าเรือจังหวัดจันทบุรีและไทยต้องไม่มีกำลังทหารอยู่ที่พระตะบอง เสียมราฐ และบริเวณรัศมี 25 กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยจึงยอมรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมมาแต่โดยดี หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้ส่งผู้แทนรัฐบาลมาเจรจาขอทำสนธิสัญญาเพื่อยุติกรณีพิพาท ร.ศ. 112 ในร่างสัญญาดังกล่าวไทยมีข้อเสียเปรียบหลายประการ

ท้ายที่สุดวิกฤตการณ์ครั้งนี้จบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436

วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยพึงเรียนรู้ เพื่อเตือนใจลูกหลานไทยตระหนักว่าครั้งหนึ่งผืนแผ่นดินไทยได้ประสบกับภัยสงคราม โดยนับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จวบจนต้นรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยต้องประสบกับภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตกเป็นเวลาหลายสิบปี และแม้ว่าฝ่ายไทยจะด้อยแสนยานุภาพกว่าฝรั่งเศสด้วยประการทั้งปวง ทว่าจิตใจและความหาญกล้าของทหารไทยนั้นมิได้ย่นย่อเกรงกลัวข้าศึกแต่ประการใด 

สำหรับ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ครั้งนั้น ได้นำมาสู่สถานการณ์ที่ฝรั่งเศสเรียกร้องผลประโยชน์ และการครอบครองดินแดนไทยยืดเยื้ออยู่นานกว่า 10 ปี ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนเป็นจำนวน ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดให้ฝรั่งเศส เพื่อรักษาผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ และเอกราชไว้ (ยกดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส - สูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยในเขมรและลาวที่เหลืออยู่ในเวลาต่อมา)

โดยในปัจจุบัน ป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรชนผู้ที่เสียสละชีพในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และเป็นสถานที่สำหรับศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปืนเสือหมอบ พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง ลานจัดแสดงอาวุธกลางแจ้ง และ เส้นทางชมป่าชายเลนอันร่มรื่นและแวดล้อมด้วยสัตว์ประจำถิ่นนานาชนิด

13 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ'

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มีพระนามเดิม หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร พระองค์เป็นทั้งพระภาติยะและอดีตพระสุณิสาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา มีพระธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ภายหลังการหย่าในปี พ.ศ. 2534 พระองค์ยังมีสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงมีพระราชดำริจะ ‘เลิกทาส’ ระหว่างประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศพระราชดำริของพระองค์ว่าจะ ‘เลิกทาส’ กลางที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ อันเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระองค์เอง ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417

จนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 หรือ 31 ปีต่อมา พระองค์จึงจะทรงสามารถออก ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ อันเป็นการสิ้นสุดระบบทาสโดยถาวรไปจากสยามประเทศ

40 วัน หลังจากทรงประกาศพระราชดำรินี้ คือวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 ทรงออก ‘พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย’ คือการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ เพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของค่าตัวทาส ซึ่งมักจะมีการโก่งและขึ้นราคา เนื่องจากนายทาสมักจะนิยมสะสมทาสเพื่อแสดงศักดิ์ และบารมีของตนเอง โดยพระราชบัญญัตินี้บังคับให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ แต่จะมีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมาเท่านั้น และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ และ ‘พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124’ ถือเป็นการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ โดยในส่วนของทาสนั้น ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก ทำให้วันที่ 1 เมษายนเป็นที่รู้จักกันใน ‘วันเลิกทาส’

11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ‘สมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ เสด็จสวรรคต กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปราสาททอง

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปราสาททอง กรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศ เมืองลพบุรี หลังจากประชวรหนักในช่วงที่ ‘พระเพทราชา’ กระทำการชิงราชสมบัติ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 4 ของราชวงศ์ปราสาททอง ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าปราสาททองและพระนางเจ้าสิริกัลยานี พระราชสมภพในปีพ.ศ. 2175 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199 มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะทรงมีพระชนมายุ 25 พรรษา

หลังจากประทับที่กรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับทุก ๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน กระทั่งเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2231 ขณะพระชนมายุได้ 56 พรรษา รวมเวลาที่ทรงครองราชสมบัติ 32 ปี

พระองค์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก ด้วยพระปรีชาสามารถหลายด้านของพระองค์ ทั้งด้านการปกครอง การทหาร ทรงชำนาญด้านการศึก ทรงปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ให้มาสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งเสด็จออกรับคณะฑูต ฝีมือวาดช่างฝรั่งเศส จากหนังสือนวนิยายเรื่อง รุกสยาม ในนามของพระเจ้า โดย มอร์กาน สปอร์แตช

ด้านการทูต ทรงสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เช่น พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะราชทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส การค้ากับต่างประเทศจึงเจริญมาก มีชาวต่างชาติเข้ามารับติดต่อค้าขาย และบางส่วนเข้ารับราชการในพระราชอาณาจักรด้วย

อีกทั้งยังทรงรับวิทยาการสมัยใหม่ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ การวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย

นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่วรรณคดีและศิลปะเจริญถึงขีดสุด มีงานวรรณคดีชิ้นสำคัญเกิดขึ้นหลายชิ้น อาทิ สมุทรโฆษคำฉันท์, คำฉันท์กล่อมช้าง, อนิรุทธคำฉันท์ และ จินดามณี ของพระโหราธิบดี ซึ่งจัดเป็นตำราเรียนเล่มแรกของไทย

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 วันสถาปนา ‘คณะครุศาสตร์’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งส่งเสริมมาตรฐานการสอน-เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์เป็นครู

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 คณะครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตาม ‘พระราชกฤษฎีกาแยกแผนกวิชาครุศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์’ ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 63 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2500 หน้า 1164 - 1166 ประกอบด้วย 4 มาตรา มาตราที่ 3 ระบุว่า ‘ให้จัดตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง’

โดยเหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกา ระบุท้ายประกาศว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเป็นครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา ได้เข้าศึกษาทางวิชาการและการวิจัยในวิชาครุศาสตร์ และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการสอน และการประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้นจนถึงขั้นปริญญาโท และปริญญาเอกในโอกาสต่อไป โดยมีศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นคณบดีคนแรก

ประกอบกับคณะครุศาสตร์มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทดลองฝึกปฏิบัติงานครูและวิจัยงานวิชาการของคณะครุศาสตร์ จึงได้รับการจัดสรรเนื้อที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนพญาไท จำนวน 4 หมอน หรือประมาณ 40 ไร่ (1 หมอน เท่ากับสิบไร่) นับเป็น ‘คณะแรกที่ได้บุกเบิกออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย’ และเมื่อเป็น ‘คณะครุศาสตร์’ ได้แบ่งการสอนออกเป็น 4 แผนกวิชา คือ 1. แผนกวิชาสารัตถศึกษา 2. แผนกวิชาประถมศึกษา 3. แผนกวิชามัธยมศึกษา และ 4. แผนกวิชาวิจัยการศึกษา

9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ โดนปรับ 3 ล้านดอลลาร์ฯ - ถูกแบนไม่ให้ขึ้นชกมวย หลังสร้างเรื่องช็อกโลก!! กัดหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์’ จนแหว่ง

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ เจ้าของฉายามฤตยูดำ ถูกปรับเงิน 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมถูกยึดใบอนุญาตชกมวย จากเหตุการณ์ช็อกโลกกัดใบหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์’ ในการชกชิงแชมป์โลก รุ่น เฮฟวีเวท

ซึ่งชนวนเหตุ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ไมค์ ไทสัน หรือที่ทั่วโลกรู้จักเขาในฉายา มฤตยูดำ ต้องพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 2 ในการชกมวยอาชีพ ด้วยน้ำมือของ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ด้วยการถูกน็อกในยก 11 พร้อมกับทำให้ ไทสัน เสียเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทของสมาคมมวยโลก (WBA) ไปแบบสุดเจ็บช้ำ ซึ่งจากความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ทำให้ไทสันพยายามที่จะขอรีแมตช์เพื่อแย่งแชมป์โลกคืนมา และในที่สุดทั้งคู่ก็ตกลงดวลกำปั้นกันอีกครั้งในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ที่สังเวียน เอ็มจีเอ็ม แกรนด์ ลาสเวกัส พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เมื่อเริ่มยกแรก โฮลีฟิลด์ คู่ปรับเดินหน้าเข้าใส่ทันที และทำได้ดีจนกระทั่งเข้าสู่ยกที่ 2 โฮลีฟิลด์ ได้เอาหัวไปโขกไทสันจนบริเวณตาขวาบวมขึ้นมา แต่กรรมการ มิลล์ เลน ไม่ได้ลงโทษใด ๆ เนื่องจากมองว่าเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งจากอุบัติเหตุครั้งนี้ก็ทำให้ ไทสัน เริ่มออกอาการหัวเสีย

เมื่อเข้าสู่ยกที่ 3 ไทสัน ดูจะฟิวส์ขาดอย่างชัดเจน เพียงแค่ 40 วินาทีสุดท้ายก่อนหมดยก ในขณะที่ทั้งคู่กำลังคลุกวงในอยู่ ไทสันที่ฟิวส์ขาดจนฉุดไม่อยู่ ก็ได้สร้างเหตุการณ์ช็อกโลก ไทสันแอบคายฟันยางและกัดเข้าที่ใบหูข้างขวาของ โฮลีฟิลด์ จนขาดติดปาก ก่อนจะถ่มลงพื้นเวที ทำเอา โฮลีฟิลด์ กระโดดไปทั่วด้วยความเจ็บปวดปนช็อกที่ไม่คิดว่าจะมาเจออะไรแบบนี้บนสังเวียน และการชกก็ต้องหยุดลงไปหลายนาทีเพื่อปฐมพยาบาล

โดยเมื่อแพทย์ได้ห้ามเลือดและดูบาดแผลแล้วก็ยังอนุญาตให้ชกได้ กรรมการจึงประกาศหักคะแนนไทสัน 2 แต้ม จากการทำผิดกติกาก่อนจะให้ชกกันต่อ แต่ดูเหมือนไทสันจะยังไม่หนำใจ เพราะเขาได้ทิ้งรอยแผลที่หูอีกข้าง ด้วยการกัดไปอีกหนึ่งรอบ ก่อนระฆังจะหมดยก ซึ่งกรรมการ มิลล์ เลน ก็ได้ ปรับให้ไทสันแพ้ฟาวล์ในการกัดหูรอบที่สอง

8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ‘พระธรรมโกศาจารย์’ (ท่านพุทธทาสภิกขุ) มรณภาพ ด้าน 'ยูเนสโก' ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

‘พระธรรมโกศาจารย์’ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม ‘ท่านพุทธทาสภิกขุ’ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ท่านได้ตัดสินใจมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านพร้อมปวารณาตนเองเป็น ‘พุทธทาส’ เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเรียนตามประเพณี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ

ทั้งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา

หลังจากที่ท่านได้มรณภาพไปแล้ว ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์

7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 ‘สะพานสารสิน’ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ สะพานแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อม 'พังงา-ภูเก็ต'

‘สะพานสารสิน’ เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต โดยเชื่อมต่อระหว่างบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงาและบ้านท่าฉัตรไชยของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสะพานสารสินมีความยาวทั้งหมด 660 เมตร รับผิดชอบดูแลโดย กรมทางหลวง

ทั้งนี้ สะพานแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ ‘นายพจน์ สารสิน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยเปิดให้บริษัทรับเหมาทำการก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างในระยะแรกมีปัญหาเพราะขาดความชำนาญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มทำการก่อสร้างสะพานอีกครั้งจนสำเร็จ และเปิดทำการได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,770,000 บาท

ปัจจุบัน ‘สะพานสารสิน’ ไม่ให้รถยนต์สัญจรไปมาแล้ว โดยให้รถยนต์ใช้สะพานสารสิน 2 และ สะพานท้าวเทพกระษัตรีแทน

สะพานสารสินเดิม หรือ สะพานสารสิน 1 นั้นจึงถูกปรับปรุงให้เป็นสะพานคนเดินและสร้างหอชมวิวทิวทัศน์ สะพานแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ‘สะพานสารสิน’ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสถานที่ที่เป็นตำนานความรักของหนุ่มสาวสองคนที่ไม่สมหวัง คือ โกดำ (ดำ แซ่ตัน) กับ กิ๊ว (กาญจนา แซ่หงอ) ที่มีความแตกต่างกันทางฐานะ ด้วยโกดำเป็นเพียงคนขับรถสองแถวรับจ้างและรับจ้างกรีดยาง ขณะที่กิ๊วมีฐานะที่ดีกว่า และเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู โดยที่ผู้ใหญ่ทางบ้านของกิ๊วได้กีดกั้นทั้งสองคบหากัน ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายที่กลางสะพานสารสิน ด้วยการใช้ผ้าขาวม้ามัดตัวทั้งสองไว้ด้วยกัน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516

ต่อมาเรื่องราวของทั้งคู่ได้โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ คือ สะพานรักสารสิน ในปี พ.ศ. 2530 นำแสดงโดย รอน บรรจงสร้าง และจินตรา สุขพัฒน์ และ สะพานรักสารสิน ในปี พ.ศ. 2541 นำแสดงโดย นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล และคทรีน่า กลอส ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่ากันว่า ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง จะมีกระต่ายสีขาวตาสีแดงคู่หนึ่ง ออกมาอยู่คู่กันที่สะพานแห่งนี้ เชื่อว่าเป็นวิญญาณของทั้งคู่อีกด้วย

6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ทดสอบวัคซีนป้องกัน ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ สำเร็จ

‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ (Louis Pasteur) นักเคมี และนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส นอกจากจะโด่งดังจากความสำเร็จในการคิดค้นกระบวนการถนอมอาหารโดยการใช้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ หรือที่เรียกว่ากระบวนการ ‘พาสเจอร์ไรเซชัน (Pasteurization)’ แล้ว ยังเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จเป็นคนแรกของโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ‘โจเซฟ เมสเตร์’ (Joseph Meister) เด็กชายวัย 9 ขวบ ผู้มีบาดแผลจากการถูกสุนัขกัดถึง 14 รอย และกำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ใกล้ความตายเต็มทน ได้เดินทางมาพร้อมกับแม่ของเขาจากแคว้นอัลซาส ชายแดนของประเทศฝรั่งเศสมายังกรุงปารีสเพื่อพบกับ ‘หลุย ปาร์สเตอร์’ ซึ่งในขณะนั้นได้ทำการทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้ามาได้ระยะหนึ่ง หากแต่ยังไม่เคยทดลองใช้วัคซีนดังกล่าวกับมนุษย์

แม้ ‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ จะไม่มั่นใจว่าวัคซีนดังกล่าวจะใช้ได้ผลกับคนหรือไม่ก็ตัดสินใจฉีดวัคซีนให้กับเด็กชายด้วยความรู้สึกสงสารแม่ของเด็กชายที่ร้องไห้ด้วยความเศร้าใจ ที่จะต้องมองดูลูกชายของตนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา หลังจากเสร็จสิ้นการฉีดวัคซีน เขาได้เฝ้าติดตามอาการของเด็กชายอย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลใจอยู่กว่า 3 อาทิตย์ กระทั่งเด็กชายมีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหายดีเป็นปกติ

ในเวลาต่อมาเมื่อสถาบันวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่ข่าวความสำเร็จในการทดลองใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ผู้คนนับร้อยที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าก็แห่แหนกันมาขอรับวัคซีนที่ห้องทดลองของ ‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ ผู้เป็นความหวังเดียวของพวกเขา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top