Sunday, 5 May 2024
TODAY SPECIAL

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540  ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จุดเริ่มต้นสู่ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นไปที่ 40 บาททันที

วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 วันอีกหนึ่งวันที่คนไทยหลายคนยังจดจำไม่ลืม เมื่อรัฐบาลไทยในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปทันทีที่ 40 บาท และไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลายบริษัทที่ไปกู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาลงทุน

จากภาวการณ์ลดลงของค่าเงินบาทได้ส่งผลต่อภาระหนี้ต่างประเทศเป็นอันมาก เพราะดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืนเพิ่มสูงเป็นอันมาก (ก่อนเกิดวิกฤต กู้มาในอัตราเพียง 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท) ในปี 2533 ประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศ 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 82,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2539 และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ไทยเป็นหนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำแนกเป็นหนี้ภาครัฐ 24,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้ภาคเอกชน 85,200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นภาครัฐเท่ากับร้อยละ 22.5 และหนี้ภาคเอกชนเท่ากับ 77.5 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

จากวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและได้ขยายไปสู่ประเทศต่างในเอเชียอย่างรวดเร็ว จนถูกขนานนามว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี

วิกฤตครั้งนั้น ยังส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นอันมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2542) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบคือ เท่ากับ –2.6 โดยที่ภาคเกษตรกรรมขยายตัวเท่ากับร้อยละ 0.8 และภาคอุตสาหกรรมเท่ากับร้อยละ 0.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีผลให้รายได้ของคนไทยลดลงในปี พ.ศ. 2540 รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีของคนไทยเท่ากับ 75,991 บาท และลดลงเท่ากับ 73,771 บาท ในปี 2542 

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงได้สร้างแรงกดดันให้ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าขนส่งและค่าบริการสาธารณูปโภคสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ในปี พ.ศ. 2540 อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีสูงขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 6 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.1 ในปี พ.ศ. 2541 มีคนว่างงานเนื่องจากการถูกปลดและบริษัทล้มละลายเกือบ 1 ล้านคน

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา ‘กิจการลูกเสือไทย’ .

วันนี้ เมื่อ 112 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้น จึงยึดถือเอาวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ.
ลูกเสือได้กำเนิดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยท่านลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ กิจการลูกเสือในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร หลายประเทศที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร จึงได้จัดให้มีลูกเสืออย่างประเทศอังกฤษบ้าง หลังจากนั้นไม่นานกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมาใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติมีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู

เมื่อกิจการของเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้วพระองค์ จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะได้มีการอบรมของลูกเสือด้วย ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งลูกเสือขึ้นในประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก เป็นสื่อผูกมิตรไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ 10 ประการ ผูกสัมพันธ์กันไม่เว้นเชื้อชาติใด ศาสนาใดทั้งสิ้น ถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด

แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสวรรคตแล้วก็ตาม พระราชอนุสรณ์กิจการลูกเสือของพระองค์ท่านได้พัฒนารุ่งเรืองมาตามลำดับจน โดยปัจุบันกลายเป็นกิจการที่สร้างคุณประโยชน์สร้างชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักของนานาประเทศทั่วโลก และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่าน ทางราชการจึงได้กำหนดวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปีเป็น ‘วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ’ หรือ ‘วันลูกเสือ’
 

30 มิถุนายน พ.ศ. 2448 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ นำเสนอ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’

วันนี้ เมื่อ 118 ปีก่อน ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ เผยแพร่บทความ ‘On the Electrodynamics of Moving Bodies’ ซึ่งนำเสนอ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (The Special Theory of Relativity)

บทความ ‘On the Electrodynamics of Moving Bodies’ ซึ่งนำเสนอ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (The Special Theory of Relativity) ของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เป็นการรวมกลศาสตร์ดั้งเดิมเข้ากับ electrodynamics ของ Clark Maxwell โดยกล่าวถึงการเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ ในมิติของเวลา, สถานที่ และทิศทาง ต่อมาได้กล่าวถึงมวลสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ และพลังงานก็สามารถเปลี่ยนเป็นมวลสารได้ หรือมวลสารกับพลังงาน คือ ‘สิ่งเดียวกัน’ (mass and energy equivalent) ดังสมการที่ลือชื่อ คือ ‘E=mc2’ เมื่อ E เป็น พลังงาน m คือ มวลที่มีหน่วยเป็นกรัม c คือ ความเร็วของแสง มีหน่วยเป็นเซนติเมตรต่อวินาที

‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (Special Relativity) จะเกี่ยวข้องกับระบบที่มีความเร็วคงที่คือเป็น ระบบที่ไม่มีความเร่ง การอธิบายทฤษฎีนี้อย่างง่ายที่สุดก็เปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อเรารู้สึกว่าทุกสิ่งกำลังหยุดนิ่งหรือมีความเร็วที่เท่ากัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งใดกำลังเคลื่อนที่ เช่น โลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ เรายังรู้สึกว่าทุกสิ่งกำลังอยู่กับที่ แต่ที่จริงสิ่งที่เรานึกว่า หยุดอยู่กับที่กลับเคลื่อนที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity) ถูกเสนอขึ้นในปี พ.ศ.2448 (ค.ศ.1905) โดยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในบทความของเขา ‘เกี่ยวกับพลศาสตร์ไฟฟ้าของวัตถุซึ่งเคลื่อนที่ (On the Electrodynamics of Moving Bodies)’ 

สามศตวรรษก่อนหน้านั้น หลักสัมพัทธภาพของกาลิเลโอกล่าวไว้ว่า การเคลื่อนที่ ด้วยความเร็วคงที่ทั้งหมดเป็นการสัมพัทธ์ และไม่มีสถานะของการหยุดนิ่งสัมบูรณ์และนิยามได้ คนที่อยู่บนดาดฟ้าเรือคิดว่าตนอยู่นิ่ง แต่คนที่สังเกตบนชายฝั่งกลับบอกว่า ชายบนเรือกำลังเคลื่อนที่ทฤษฎีของไอน์สไตน์รวมหลักสัมพัทธภาพของกาลิเลโอเข้ากับสมมติฐานที่ว่า ผู้สังเกตทุกคนจะวัดอัตราเร็วของแสงได้เท่ากันเสมอ ไม่ว่าสภาวะการเคลื่อนที่เชิงเส้นด้วยความเร็วคงที่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

ทฤษฎีนี้มีข้อสรุปอันน่าประหลาดใจหลายอย่างซึ่งขัดกับสามัญสำนึก แต่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการทดลอง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษล้มล้างแนวคิดของสเปซสัมบูรณ์และเวลาสัมบูรณ์ของนิวตันโดยการยืนยันว่า ระยะทางและเวลาขึ้นอยู่กับผู้สังเกต และเวลากับสเปซนั้นถูกรับรู้ต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้สังเกต มันนำมาซึ่งหลักการสมมูลของสสารและพลังงาน ซึ่งสามารถแสดงเป็นสมการชื่อดัง ‘E=mc2’ เมื่อ c คือ อัตราเร็วของแสง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษสอดคล้องกับกลศาสตร์นิวตันในสำนึกทั่วไป และในการทดลองเมื่อความเร็วของสิ่งต่างๆ น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราเร็วแสง

ทฤษฎีนี้เรียกว่า ‘พิเศษ’ เนื่องจากมันประยุกต์หลักสัมพัทธภาพกับกรอบอ้างอิงเฉื่อยเท่านั้น ไอน์สไตน์พัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป โดยประยุกต์หลักสัมพัทธภาพให้ใช้ทั่วไปกล่าว คือ ใช้ได้กับทุกกรอบอ้างอิง และทฤษฎีดังกล่าวยังรวมผลของความโน้มถ่วง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษไม่ได้รวมผลของความโน้มถ่วง แต่มันสามารถจัดการกับความเร่งได้ ถึงแม้ว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพจะทำให้เกิดการสัมพัทธ์กันของปริมาณบางอย่าง เช่น เวลาซึ่งเรามักคิดว่าเป็นปริมาณสัมบูรณ์ เนื่องจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ถึงกระนั้น มันก็มีปริมาณบางอย่างที่เป็นปริมาณสัมบูรณ์ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นปริมาณสัมพัทธ์ กล่าวให้ชัดคือว่า อัตราเร็วของแสงจะเท่ากันสำหรับทุกผู้สังเกต แม้ว่าพวกเขาจะเคลื่อนที่สัมพัทธ์กันก็ตาม ทฤษฎีสัมพัทธภาพแสดงให้เห็นว่า c ไม่ใช่แค่ความเร็วของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘แสง’ เท่านั้น แต่ยังเป็นค่าพื้นฐานที่เชื่อมสเปซกับเวลาเข้าด้วยกัน กล่าวโดยเจาะจงคือว่า “ทฤษฎีสัมพัทธภาพยืนยันว่า ไม่มีวัตถุใดเคลื่อนที่เร็วเท่ากับแสงได้”

เรือดำน้ำชุดแรก 4 ลำ ที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อ เดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทย

รู้หรือไม่ ในอดีตประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2481 

29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เรือหลวงสินสมุทร, เรือหลวงพลายชุมพล, เรือหลวงมัจฉาณุ (ลำที่ 2) และ เรือหลวงวิรุณ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำชุดแรกที่รัฐบาลไทยสั่งต่อมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับการต่อที่อู่ต่อเรือ บริษัท มิตซูบิชิ ที่เมืองโกเบ เมื่อปี พ.ศ. 2479 ในสนนราคาลำละ 882,000 บาท วางกระดูกงูและปล่อยลงน้ำไล่เลี่ยกันคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม พ.ศ. 2479  ดังนี้ 

พิธีวางกระดูกงู ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2479

พิธีวางกระดูกงู ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 1 พ.ศ. ตุลาคม 2479

ปล่อยลงน้ำ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ โดยนางมิตรกรรมรักษา เมื่อ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2479

ปล่อยลงน้ำ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 (มีการถ่ายทำภาพยนตร์โดย ร.ท.นิตย์ สุขุม)

ทำพิธีมอบเรือ ร.ล.มัจฉาณุ และร.ล.วิรุณ เมื่อ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 ถือวันนี้เป็น “วันที่ระลึกเรือดำน้ำ”

พิธีมอบเรือ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2481 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ถอนสมอเคลื่อนที่ออกจากท่าน้ำประเทศญี่ปุ่น สู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2481 และเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2481 

หลังจากมาถึงประเทศไทยก็ได้ขึ้นระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 และปลดระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เมื่อครั้งกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจาก เรือหลวงธนบุรี และ เรือตอร์ปิโด ถูกเรือฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ได้ไปลาดตระเวนเป็น 4 แนวอยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาดำอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมง ขึ้นไปนับเป็นการดำที่นานที่สุด ตั้งแต่ได้เริ่มมีหมวดเรือดำน้ำมาจนกระทั่งได้ถูกยุบเลิกไป ปัจจุบันเรือหลวงมัจฉานุได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ

28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ถือเป็นวันกำเนิด ‘รัฐสภาไทย’ 

วันนี้ เมื่อ 91 ปีก่อน เป็นวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นวันกำเนิด ‘รัฐสภาไทย’

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ประเทศไทย (สยาม) ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมา ประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่เรียกว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ ทำหน้าที่ใช้สิทธิออกเสียงในการบริหารปกครองบ้านเมืองแทนประชาชน

เวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดห้องประชุมเป็นลักษณะครึ่งวงกลมตามระนาบพื้นห้อง การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อ่านรายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 70 คน และเป็นผู้กล่าวนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุม จากนั้น เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านเปิดประชุม เสร็จแล้วจึงได้ดำเนินการประชุมต่อไป จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อกำเนิดของรัฐสภาไทยมาจนถึงทุกวันนี้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนั้น ที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเห็นชอบให้หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก รวมทั้งมีมติเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกันด้วย

แม้จะล่วงเลยผ่านตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา รัฐสภาชุดต่าง ๆ ยังคงทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชน โดยออกกฎหมายมาใช้บังคับในสังคม ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศ รวมทั้งแสดงบทบาทในฐานะผู้แทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ และเป็นสิทธิเป็นเสียงแทนประชาชนทั้งประเทศต่อเนื่องตลอดมา

จากวันนั้น...ถึงวันนี้...เป็นระยะเวลา 91 ปี ที่รัฐสภาได้เกิดขึ้นเคียงคู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสมาชิกรัฐสภาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ รวม 25 ชุด มีประธานรัฐสภาทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและดูแลการบริหารราชการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพ รวม 31 คน มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นกลไกหลัก ในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร รวม 8 คน รวมทั้งได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกับคณะรัฐมนตรี รวม 52 คณะ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี รวม 29 คน

ตัวเลขเหล่านี้ ย่อมบ่งบอกถึงการผ่านร้อนผ่านหนาว สั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ประโยชน์แก่บ้านเมืองมาเป็นระยะเวลาพอสมควร เผชิญเหตุการณ์มากมายทั้งที่เป็นปัญหาอุปสรรค และส่งเสริมสนับสนุนต่อวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เข้มแข็ง พัฒนาและก้าวหน้าขึ้น

27 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับชั่วคราว’

วันนี้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว เป็นวันประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

โดยเป็นผลพวงหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยพระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญภายในคณะราษฎร โดยในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กลับพระนคร และในวันเดียวกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร 

นอกจากนี้คณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามด้วย แต่พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า 'ชั่วคราว' สืบเนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของผู้ก่อการฯ ไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 นี้ใช้เพื่อเป็นกติกาในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้ประกาศใช้ถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475เท่านั้น และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

26 มิถุนายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 

พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2483 โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ.2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปี พ.ศ.2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ

วันนี้ เมื่อ 107 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘สถานีรถไฟหัวลำโพง’

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง ตามชื่อคลองและฝูงวัววิ่งกันอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียกว่า ‘ทุ่งวัวลำพอง’ และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น ‘หัวลำโพง’ ในภายหลัง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ‘ต้นลำโพง’ ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้ 

สถานีรถไฟหัวลำโพงเริ่มก่อสร้างในปี 2453 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะเรอเนซองซ์ มีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟฟรังค์ฟูร์ท ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามานโญ มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ 

ด้านหน้ามี ‘อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร’  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีหัวลำโพงมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูปช้างสามเศียร มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน

ภายในประดับด้วยหินอ่อน เพดานมีการสลักลายนูนต่าง ๆ จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตรซึ่งสั่งทำเป็นพิเศษ ติดตั้งอยู่อย่างกลมกลืน นับเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุด เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย รองรับรถไฟประมาณ 200 ขบวนต่อวัน จากรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ ก่อนจะรถไฟทางไกล สายเหนือ อีสาน และใต้ จะเปลี่ยนไปให้บริการที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา
 

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตย

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี คณะราษฎรอันประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้นำกำลังทหารและพลเรือนมาชุมนุม ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรและยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพ ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือและส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

วันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความตอนหนึ่งว่า

“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมืองและความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวกฯ”

และในคืนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวให้เป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราวไปก่อน

คณะราษฎรนับเป็นกลุ่มบุคคลผู้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี กระทั่งสิ้นสุดบทบาทในปลาย พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหาร ของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ

ข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า
 

วันก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จุดเริ่มต้นมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

วันนี้ เมื่อ 129 ปีก่อน กำเนิด คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพื่อฟื้นฟูโอลิมปิกยุคโบราณสู่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2437 โดยมี ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้นำในการประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งจัด ณ มหาวิทยาลัยปารีส เพื่อฟื้นฟูกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณสู่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ 

ซึ่งเป็นระยะเวลาสองปีก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2439 โดย IOC เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสังคมแห่งมวลมนุษยชาติให้ดียิ่งขึ้นผ่านการเล่นกีฬาระดับสากล IOC เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระดับสากล

ขณะเดียวกัน วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น ‘วันโอลิมปิก’ หรือ ‘Olympic Day’ เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันก่อตั้งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล 

นอกจากนี้ วันโอลิมปิกยังมีเป้าหมาย ต้องการให้ผู้คนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมกีฬาในแบบฉบับของตัวเอง โดยไม่จำกัดเพศ อายุ หรือแม้กระทั่งความสามารถทางกีฬา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ หรือ National Olympic Committee (NOC) ในแต่ละประเทศได้พยายามจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงกีฬามากขึ้น
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top